case Study of Hyperopia : ตัวอย่างเคสสายตายาว ตอนที่ 4

กรณีศึกษาปัญหาสายตายาว,ตอนที่ 4

Case Study Hyperopia  ,EP.4

คนไข้ อายุ 31 ปี เป็นโปรแกรมเมอร์  มาด้วยอาการคือแว่นเก่ามองไกลเริ่มมัว  เริ่มใช้แว่นครั้งแรกตอนอายุ 29 ปี  แว่นที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ใช้เฉพาะเวลาทำงานดูใกล้ๆ หรือเวลาต้องขับรถตอนกลับบ้าน  สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีความผิดปกติอื่นๆที่ต้องเฝ้าระวัง 

สายตาแว่นเดิม 

OD  -0.50-1.00x80

OS  -0.75 -0.75x90

Clinical finding   6 m        40 cm  

               OD    20/25        20/20    

               OS    20/25        20/20    

Cover Test    Ortho        Ortho’

Stereo                -       40 sec’ (Randot)

Retinoscopy      

OD  -0.75-1.00x80

OS -0.75 -0.75x90 

Monocular Subjective

OD  -0.50 -1.00x80    ,20/20

OS  -0.75 -0.75x90   ,20/20

Binocular Subjective 

OD  +2.00 -1.00x80  ,20/20

OS  +0.75 -0.75x90  ,20/20

Note : 

สิ่งที่น่าสนใจ ค่อนไปทางประหลาดใจก็คือ  เริ่มต้นจากแว่นเก่าที่คนไข้ใช้อยู่ก็เป็นสายตาสั้น+เอียง เมื่อทำ Retinoscope ก็พบว่าเป็นสั้นกับเอียงใกล้เคียงสายตาเดิม  และเมื่อทำ monocular Subjective ก็พบว่าได้ค่าใกล้เคียงเดิม  แต่พอทำ Binocular Balancing ซึ่งเป็นขึ้นตอนสุดท้ายที่จะได้ค่าสายตาเพื่อจะไปลองแว่น กลับกลายเป็นว่าคนไข้ไม่ได้เป็นสายตาสั้นแต่เป็นสายตายาวร่วมกับสายตาเอียง  

ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะอาการของคนไข้ที่เป็น Pseudomyopia หรือสายตาสั้นเทียม ที่เกิดเนื่องจากเลนส์ตาเพ่งจนเลนส์ตาค้างอยู่ ซึ่งมักพบในคนที่เป็น Latent Hyperopia ซึ่งวิธีที่จะรีดค่าสายตาออกมาได้คือต้องใช้ยาไปคลายกล้ามเนื้อตา  และยาที่ใช้กันบ่อยๆคือ cyclopentolate 1% หยอดแล้วรอ 5 นาที และหยอดซ้ำอีกครั้ง และรอประมาณ 30-45 นาทีให้กล้ามเนื้อที่บังคับเลนส์ตาคลายตัวเต็มที่ แล้วจึงวัดสายตาซ้ำ ซึ่งการวัดสายตาลักษณะนี้เรียกว่าการทำ Cycloplegic Refraction 

Cycloplegic Refraction 

OD +1.75 -1.00x80   ,20/20

OS +1.00 -0.75x90   ,20/20

Trial 

เนื่องจากสายตาของคนไข้นั้นเปลี่ยนไปจากเดิมถึง +2.25D สำหรับตาขวา (เดิม -0.50) และเปลี่ยนถึง +0.75D สำหรับตาซ้าย (จาก -0.75D)  เมื่อให้คนไข้ลองแว่น โดยใช้สายตาจากค่าที่ได้จากการทำ cycloplegic refraction ( full correction) ปรากฏว่าคนไข้มองไกลมัว  จึงให้คนไข้มองออกไปข้างนอกในสภาวะแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ และค่อยๆลดบวก (over minus) ครั้งละ -0.25D จนกระทั่งคนไข้รู้สึกว่าคมชัด สบายตาจึงหยุดที่ค่าสายตา

Final Prescription 

OD  +1.25 -1.00x80  

OS +0.50 -0.75x90 

ซึ่งในตอนนี้นั้น เราจะพบว่างานของนักทัศนมาตร์นั้นเป็นเรื่องของ ศาสตร์และศิลป์อย่างแท้จริง  การได้มาซึ่งค่าสายตาที่ถูกต้องแท้จริงนั้น อาจจะไม่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้  จึงต้องเอาศิลป์ไปจับ เพื่อปรับแต่งค่าสายตาให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ให้คนไข้นั้นไม่ช๊อคกับการปรับตัวมากจนเกินไป  เช่นในเคสนี้ แม้เราจะทราบว่าแท้จริงคนไข้สายตาเท่าไหร่ แต่เราไม่สามารถจ่ายค่าจริงตามนั้นได้ จำเป็นต้องลดลงเพื่อให้คนไข้ชัดและสบายที่สุด  วันหนึ่งเมื่อเลนส์ตาคนไข้เริ่มคลายตัวแล้ว เราก็จะสามารถ full correction ได้ในวันหนึ่ง 

Assessment 

1.Latent Hyperopia  OU ( Compound myopic astigmatism OD, mixed astigmatism OS ) 

2.slightly decrease in Stereo but binocular vision still good.

Plans 

1.RX

OD +1.25 -1.00x80  

OS +0.50 -0.75x90

2.lens design : Single Vision Lens 

3.Education : แนะนำให้คนไข้ใส่แว่นตลอดเวลา  เพื่อให้เลนส์ตาคลายตัวให้ได้มากที่สุด และนัดมาติดตามผลอีก 3 เดือนข้างหน้า 

Discussion 

ในเคสนี้เป็นเคสของ สายตายาวแบบซ่อนเร้น (latent hyperopia) จนทำให้เกิดเป็นสายตาสั้นเทียม (pseudomyopia) ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในผู้ใหญ่  สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ได้ชัดเจนสำหรับเคสนี้คือว่า ค่าสายตาที่ได้จากการทำ cycloplegic refraction แล้วได้ค่าสายตาที่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นแบบนี้คือกลับตาลปัตร จากสายตาสั้น เป็นสายตายาว  แต่อย่างไรก็ตามหลังจากการติดตามผลเคสนี้ คนไข้ยังคงชินกับการไม่ใส่แว่น และใส่แว่นนี้เป็นบางครั้ง เวลาปวดตาหรือเมื่อล้าดวงตา  ซึ่งเกิดจากเลนส์ตาก็ยังไม่ยอมคลายตัว  และความคมชัดที่วัดได้จากแว่นคือ 20/30  ระบบการทำงานร่วมกันของสองตาก็ยังคงเหมือนเดิม  และวัดสายตาใหม่ได้

OD +2.00 -1.00x80  (20/20)

OS +1.00 -0.75x90 ( 20/20)

แม้จะพบว่าค่าสายตาที่ได้จากการตรวจโดยละเอียดนั้นจะยังคงเหมือนเดิม แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนให้เป็น full corrected ได้เนื่องจากคนไข้ยังไม่ยอมที่จะใส่แว่นติดตา  จึงต้องสอนให้คนไข้เข้าใจความผิดปกติของสายตายาวของตัวเอง  และให้คนไข้ใส่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอให้ตาล้าแล้วค่อยใส่ เพื่อลดการเกร็งค้างของเลนส์ตา และเมื่อใส่ต่อเนื่องติดต่อกันทุกวัน  เลนส์ตาก็จะเรียนรู้ที่จะคลาย ซึ่งจะทำให้การมองเห็นค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ  และถ้าไม่ใส่แว่น เลนส์ตาก็จะเพ่งค้างอยู่แบบนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาที่แก้ไม่จบ  และนัดคนไข้มาตรวจตาอีกครั้ง  1 ปีข้างหน้า  ซึ่งคิดว่า การจัดการเคสจะง่ายขึ้นเนื่องจากคนไข้มีอายุเพิ่มขึ้น ทำให้เลนส์ตาก็จะเริ่มคลายตัว และลดการเพ่งค้างของเลนส์ตาได้ 

ก็จบไปอีกหนึ่งเคส  หวังว่าจะเป็นเคสที่เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจ ไม่มากก็น้อย และช่วยสร้างกระบวนการคิดให้กับท่านที่ทำงานด้านการตรวจสายตาคนไข้ ให้สามารถตรวจวัดและแก้ไขได้ถูกต้อง เพื่อให้คนไข้นั้นได้รับการแก้ไขที่ถูกต้องต่อไป 

ซึ่งในเคสนี้ ถ้าหากเราไม่ทำให้ครบทุกขึ้นตอน เราก็จะมีโอกาสพลาดได้ง่าย และเคสนี้บอกเราว่า  สายตาเดิม ที่คนไข้ใช้อยู่ แม้จะมองเห็น อ่าน  VA 20/20 ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าสายตานั้นจะเป็นสายตาที่ถูกต้อง   ซึ่งถ้าในเคสนี้จะเห็นว่า แว่นสายตาเดิมนั้น Over Minus มากถึง -2.25D ซึ่งเกินค่าจริงไปมาก แต่คนไข้ก็ทนใส่ไป เพราะใส่แล้วมองเห็นชัด  ซึ่งเกิดจากเลนส์ตาที่ยังเพ่งได้อยู่  แต่ผลของการทำแบบนี้ก็จะทำให้ระบบกล้ามเนื้อตาและเลนส์ตานั้น ทำงานร่วมกันแบบผิดปกติได้  และสร้างปัญหามากมายตามมา 

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเรียนรู้คือ  ในการหาค่าสายตานั้นมีอยู่หลายขึ้นตอน เช่น ทำเรติโนสโคป  ทำ Monocular subjective refraction ทำ binocular balancing  ซึ่งในแต่ละวิธีก็มีความพิเศษเฉพาะตัว  จะทิ้งขั้นตอนในขั้นตอนหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปไกลได้ 

ท้ายสุดแล้ว การให้ความรู้ความเข้าใจคนไข้ ให้เข้าใจถึงภาวะการที่ตัวเองเป็น และเหตุผลของการจ่ายเลนส์นั้น เราไม่ได้จ่ายเพียงแค่ชัด แต่เราต้องการรักษาสมดุลของทั้งระบบ เพื่อให้คนไข้เข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อให้การบำบัดรักษานั้นได้ผลสูงสุด เพราะการรักษาบางระบบนั้นต้องการความร่วมจากคนไข้ จึงจะสามารถแก้ไขได้  

ก็เห็นเคสน่าสนใจ จึงนำมาเล่าให้ฟัง 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตามครับ 

ดร.สมยศ เพ็งทวี ,O.D.