Binocular Vision I : “เหล่”  vs “เหล่ซ่อนเร้น” ต่างกันอย่างไร


Binocular Vision  I

ตอน “เหล่”  vs “เหล่ซ่อนเร้น” ต่างกันอย่างไร

โดย Dr.Loft ,8/03/2020

 

บทนำ 

"เหล่" กับ "เหล่ซ่อนเร้น" เป็นความผิดปกติของการทำงานร่วมกันของสองตาที่สร้างความสับสนให้กับทั้งผู้ให้บริการด้านสายตา ร้านแว่นตา รวมถึงคนทั่วไปได้พอสมควร เมื่อเกิดความไม่เข้าใจ  การตระหนักก็ลดลง  การมองข้ามก็มากขึ้น ทำให้คนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของสองตานั้น ไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องหรือไม่ก็ถูกปล่อยปละละเลย

 

ส่วนสาธารณสุขด้านประสาทตาการมองเห็นหรือที่เราใช้ศัพท์ว่าสายตานั้น  ปัจจุบันในเมืองไทยส่วนใหญ่ก็วัดสายตาเอากันแค่ชัดเท่านั้นและมักไม่ค่อยได้ concern อะไรไปมากกว่านั้น เพราะส่วนใหญ่ลำพังทำให้ชัดก็ยากแล้ว ถ้าต้องชัดและถูกต้องยิ่งยากไปกันใหญ่ พอพูดถึงเรื่อง binocular function ก็กลายเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง  ทำให้คนไข้จำนวนมากไม่ได้รับการรักษาแก้ไขให้สามารถใช้งานประสาทตาได้เต็มประสิทธิภาพ  

 

ปัญหาและอุปสัคอย่างหนึ่งของผมในการเขียนบทความก็คือ ถ้าคนอ่านไม่มีพื้นฐาน ทำให้เมื่อต้องเขียนเกี่ยวกับปัญหาการมองเห็นสองตานั้น ทำได้ยากและถ้าเขียนเรื่องที่ยากอยู่แล้วให้ยากก็ยิ่งไม่สร้างประโยชน์อะไร  ผมก็เลยคิดที่จะปูพรมเรื่องนี้ เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าใจ และอ่านคอนเทนท์ได้เข้าใจง่ายขึ้น

 

ดังนั้น บทความในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่เป็นพื้นฐานมากๆ ของปัญหาตาเหล่ และ ตาเหล่ซ่อนเร้น โดยเนื้อหานั้นเป็นเนื้อหาง่ายๆ ที่คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจว่า ตาเหล่ซ่อนเร้นนั้นเป็นอย่างไร  เมื่อเรารู้จักอาการแล้ว ต่อไปเราจะได้รู้ว่า พื้นฐานของการตรวจมุมเหล่ หรือ การทำงานร่วมกันของสองตานั้น มีพื้นฐานมาอย่างไร และถ้าต้องการเก็บข้อมูลความผิดปกติให้มีความน่าเชื่อถือ เราจะเก็บอย่างไร และ ก็เข้าใจเมื่อผมเขียน case study ว่าตรวจอะไร เจออะไร และ แก้อย่างไร เพื่อให้คนที่มีปัญหานั้นได้เข้าใจ และผู้ให้บริการได้ตรวจและแก้ไขได้ถูกต้อง 

 

ตาเหล่ กับ ตาเหล่ซ่อนเร้น  ต่างกันอย่างไร 

“ตาเหล่” (Tropia)

"ตาเหล่" เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาที่คนทั่วไปพอนึกออกและเข้าใจได้ เพราะมองก็เห็นได้ชัดเจนว่าคนนี้เป็นตาเหล่ จะเหล่เข้า เหล่ออก เหล่ขึ้นบน เหล่ลงล่าง ก็แล้วแต่ แต่เรามองแล้วรู้เลย เรียกว่าตาเหล่ หรือ ภาษาหมอเรียกว่า Strabismus หรือ tropia (ทโร-เปีย)

 

"เหล่ซ่อนเร้น" (phoria)

ส่วนคำว่า “เหล่ซ่อนเร้น”​ ส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้ยิน หรือได้ยินมาบ้างแต่ยังไม่ค่อยเข้าใจ  เนื่องจากในสภาวะที่ตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันปกติเราจะไม่สามารถมองเห็นได้ว่าเป็นเหล่  เขาจึงเรียกว่า เหล่ชนิดนี้ว่า "เหล่ซ่อนเร้น" ภาษาหมอเรียกว่า  phoria (โฟ-เรีย) ซึ่งเป็นลักษณะของความผิดปกติของการทำงานร่วมกันของ 2 ตา Binocular Funcion Disorder   ดังนั้น เนื้อหาวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับเหล่ซ่อนเร้นในภาษาคนธรรมดาทั่วไปสามารถทำความเข้าใจได้

 

พื้นฐานการทำงานร่วมกันของสองตา (Basic Binocular Function)

 

ก่อนจะไปทำความเข้าใจกับตาเหล่ และ ตาเหล่ซ่อนเร้น เราต้องไปทำความเข้าใจพื้นฐานการทำงานร่วมกันในภาวะปกติของสองตาเสียก่อน

 

สัตว์ที่มีวิวัฒนาการที่สูงแล้ว เช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนโลกนี้ส่วนใหญ่จะมีดวงตา 2 ข้าง ถ้าไม่เชื่อลองไปดูสารคดีสัตว์ใน Netflix ดู ถ้ามีตามากกว่า 2 ดวง สัตว์ตัวนั้นจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เอาไว้กราบไหว้ขอหวยกันเป็นที่สนุกสนานสำหรับบ้านเรา เพราะจะกลายเป็นของ rare item ทำหน้าที่ให้โชคให้ลาภกันต่อไป 

 

และในบรรดาสัตว์ที่มีตาอยู่ 2 ข้างนั้น  แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีดวงตาทั้งคู่อยู่ส่วนหน้าของกระโหลก ซึ่งได้แก่สัตว์นักล่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงห์โต เหยี่ยว อินทรีย์ นกฮูก หมา แมว ทีเร็กซ์ และมนุษย์ และอีกกลุ่มหนึ่งคือมีตาทางด้านข้างของกระโหลก ซึ่งพบในสัตว์กินพืชและแมลง ช้าง ม้า วัว ควาย ม้าลาย นกกินเมล็ดพืช 

 

 

สัตว์กินพืชใช้ชีวิตกับการเล็มหญ้าไปเรื่อย ไม่ต้องรู้ความลึกของยอดหญ้า และไม่ต้องไล่ล่าสัตว์อื่น แค่มีตาทั้งสองที่สามารถทำงานอิสระต่อกัน มองระวังภัยได้รอบตัว 360 องศา ก็สามารถเอาตัวรอดจากสัตว์นักล่าได้แล้ว   

 

ในทางตรงข้าม สัตว์นักล่าต้องวิ่งไล่ตะปบเหยื่อ ดังนั้น การที่มีดวงตาอยู่ทางด้านหน้าของกระโหลกนั้นที่ทำงานร่วมกันนั้น ทำให้เกิด real dept perception คือมองเห็นความลึกจริงขึ้นมา เวลากะจังหวะตะปก ก็ทำได้ถูกต้อง แม่นยำ และ รวดเร็ว

 

ส่วนมนุษย์ก็ใช้ Dept Perception ในการกะความลึกและระยะในการเหยียบเบรคให้ทันท่วงทีก่อนที่จะไปสอยคนหน้าเข้า ดังนั้นการสอบใบขับขี่จึงต้องสามารถมองเห็นความลึก แต่การมองเห็นความลึกได้ตาทั้งสองข้างจะต้องทำงานร่วมกัน เกิดเป็น binocular vision อันมีผลสูงสุดคือ 3D

 

ในการทำงานระดับละเอียดนั้นต้องการความลึกจริง เนื่องจากงานของมนุษย์นั้นเป็นงานละเอียดปราณีต เป็นงานที่ต้องกะน้ำหนักมือ ในการเอื้อมหยิบจับ ขีด เขียน ลองปิดตาข้างหนึ่งแล้วใช้ชีวิตแบบไม่มี real dept perception ดู จะรู้ว่าลำพังจะหยิบ จาน ชาม ช้อนกินข้าวยังดูเป็นเรื่องยากเลย  ถ้าทดสอบให้ยากเล็กน้อย คือ ให้ลองปิดตาข้างหนึ่งแล้ว ตักข้าวป้อนคนอื่น แล้วจะเข้าใจว่า real depth กับลึกจาก perspective depth นั้นต่างกันอย่างไร 

 

เช่นรูปสะพาน Golden Gate Bridge นี้ เป็นรูปที่เป็นภาพที่ทำให้เกิดการรับรู้ความลึกจาก perspective clue  เพราะเสาสะพาน 2 เสาที่เห็นว่าขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากันนั้น สมองเราไม่ได้คิดว่าสะพานใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ที่อีกอันที่ดูเล็กเพราะอยู่ไกล และตึกรามบ้านช่องยิ่งอยู่ไกลก็ยิ่งดูเล็ก  เหล่านี้เรียก clue depth perception ไม่ใช่ real depth 3 D

 

 

 

สรุปว่า  มนุษย์ เป็นหนึ่งในสัตว์นักล่า ที่มีดวงตา 2 ดวงอยู่ด้านหน้าของกระโหลก ทำงานร่วมกัน มองไปทางไหนก็ไปด้วยกัน ดูใกล้ก็เหลือบเข้าหากัน  เพื่อให้เกิด Dept Perception แต่ลานตาจะกว้างประมาณ 120 องศาเท่านั้น (รูปล่าง)  ในขณะที่สัตว์กินพืชไม่มี binocular vison เพราะตาก็ต่างคนต่างทำงาน ไม่ยุ่งเกี่ยวซึ่งกันและกัน ลานตาจะกว้าง 360 องศา แต่ไม่เห็นความลึกจริง  

ดังนั้นเราเป็นมนุษย์เราต้องรู้การทำงานของตามนุษย์ที่ปกติ และจะได้รู้ต่อไปว่าถ้าไม่ทำปกติจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

Binocular Vosion  กับ การทำงานร่วมกันของตามนุษย์

 

โลก 1 ใบ ที่เรามองเห็นนั้น เกิดจาก 2 โลกที่ได้รับจากตาข้างขวาและข้างซ้าย  ซึ่งเป็นภาพคนละภาพ แต่มีบางส่วนที่คล้ายกัน  ลองปิดตาสลับซ้ายขวาดู เราจะเห็นว่า ลานตาของตาขวาและตาซ้ายนั้น เก็บภาพได้กันคนละภาพ แต่จะมีบางส่วนที่เก็บภาพได้หน้าตาเหมือนกัน

 

ภาพส่วนที่หน้าตาเหมือนกัน จะทำหน้าที่เป็น “ตัวกระตุ้นให้เกิดการรวมภาพ” หรือ “fusion stimuli” วิ่งไปกระตุ้นสมอง เพื่อบอกว่า ภาพที่ตาขวาและตาซ้ายรับและนำมาส่งที่สมองนี้  “เป็นภาพเดียวกัน”  แต่สมองอาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อยู่ที่ดุลพินิจของสมอง  เพราะถ้าลานตาที่ได้มาของตาแต่ละข้างมันต่างกันมาก (ตาเหล่) สมองก็ไม่เชื่อว่าเป็นภาพเดียวกัน ก็จะตัดสัญญาณของตาข้างหนึ่งทิ้ง (suppression)  ตาข้างนั้นก็จะเหล่ตลอดไป (strabismus)

 

แต่ถ้าภาพนั้นดูเหมือนกันมาก ลานตาก็หน้าตาใกล้เคียงกันมาก  สมองก็จะเชื่อว่าเป็นภาพเดียวกัน แล้วสั่งงานไปยังเส้นประสาทที่บริเวณก้านสมองให้สั่งงานบังคับกล้ามเนื้อตา ให้อยู่ในแนวที่ภาพจากตาทั้งสองข้างนั้นสามารถรวมกันได้พอดี

 

ขยายความต่อเล็กน้อย   จอรับภาพของตาขวาและตาซ้ายนั้น จะมีเซลล์ประสาทตาเล็กๆอยู่ ทำหน้าที่รับภาพ ด้วยการเปลี่ยนพลังงานแสงที่อยู่ในรูป photon ให้กลายเป็นสัญญาณไฟฟ้าจากการทำปฏิกิริยาของสารชีวเคมี แล้วเกิดเป็นประจุไฟฟ้าเกิดขึ้น แล้วส่งไปแปรผลเป็นภาพที่สมอง คล้ายกับสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในสาย optic fiber  แล้วมาแปลเป็นภาพที่กล่องรับสัญญาณแล้วแสดงผลออกที่ทีวี

 

เซลล์ประสาทชนิดรับภาพคมชัด (cone cell) จะหนาแน่นที่จุดรับภาพของ fovea และเซลล์แต่ละตัว จะมีสายสัญญาณของตัวเอง ของใครของมัน ยิงตรงไปสมอง และการวางสายสัญญาณขณะวิ่งออกไป นั้นจะมีแยกสายสัญญาณที่บริเวณ optic chiasm  เพื่อให้สัญญาณของตาข้างหนึ่งไปสมองซีกซ้ายและอีกข้างไปที่สมองซีกขวา  ตาอีกข้างก็เช่นกัน 

 

ดังนั้น ภาพหนึ่งภาพที่เรามองเห็นนั้นเกิดจากการรวมสัญญาณจาก เซลล์ที่ได้จากตาขวาและตาซ้าย  ซึ่งเป็นเซลล์รับภาพคู่สมกัน  รับสัญญาณเดียวกัน ไปส่งไปยังสมองส่วนเดียวกัน   ดังนั้น จอรับภาพของเรา แต่ละจุดนั้นจะมีเซลล์ประสาทที่มีเนื้อคู่อยู่กับดวงตาอีกข้างหนึ่ง เราเรียกว่า retinal corresponding point (ดูรูปล่างประกอบ แต่ละสีแทนหนึ่งตำแหน่งภาพที่มอง)  ซึ่งกล้ามเนื้อตาจะต้องบังคับแสงของ visual axis ของตาข้างขวาและข้างซ้าย วิ่งไปตกบนเซลล์ประสาทคู่สมดังกล่าว การรวมภาพจึงจะสมบูรณ์ 

เมื่อได้ภาพหน้าตาเหมือนกันมากๆมาแล้ว สมองก็รวมภาพกันเป็นภาพเดียว ที่คมชัด และมีความลึก  เรียกว่าเป็นภาพที่ clear single depth and binocular vision

 

พอเข้าใจพื้นฐานแบบนี้แล้ว ต่อไปจะถึง Climax ของเรื่องนี้ก็คือ ทำไมถึงได้มี “เหล่” กับ “เหล่ซ่อนเร้น” แล้วทั้งสองอย่างนั้นมันต่างกันอย่างไร  แล้วอย่างไหนมีอาการมากน้อยกว่ากัน และแนวทางการรักษาจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

Point ของเรื่องนี้มีอยู่ว่า

1.มนุษย์มี 2 ตา

2.ตาแต่ละข้างรับภาพไม่เหมือนกัน (แต่ก็มีบางส่วนของภาพในลานสายตาที่มีหน้าตาเหมือนกัน)

3.ส่วนของภาพที่หน้าตาเหมือนกันทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรวมภาพ (fusion stimuli )

4. Fusion stimuli กระตุ้นให้สมองสั่งงานกล้ามเนื้อตาทั้ง 6 มัดที่อยู่รอบดวงตา คอยบังคับลูกตาให้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้ภาพที่มองอยู่นั้น ไปโฟกัสลงบนเซลล์รับภาพที่เซลล์ประสาทคู่สมของตาแต่ละข้าง หรือ ตกบน retinal corresponding point นั่นเอง

5.สัญญาณภาพจากตาแต่ละข้าง รวมเป็นภาพเดียว ที่คมชัด และเกิดการรับรู้ความลึกเกิดขึ้น  หรือ 3D

 

นั่นหมายความว่า  “ดวงตา” ซึ่งมีกล้ามเนื้อตาทั้ง 6 มัด ควบคุมอยู่โดยรอบ ถูกบังคับจากสมอง ด้วยตัวกระตุ้นคือ fusion stimuli  ให้ทำงานร่วมกันได้อย่างปกติ เกิดเป็น binocular vision ที่สมบูรณ์

 

ดังนั้น สิ่งที่เราต้องคิดตามก็คือว่า “ถ้าไม่มีตัวมากระตุ้นหล่ะ” ตายังอยากที่จะอยู่ในตำแหน่งตรงและทำงานร่วมกันอยู่หรือไม่

 

เพราะแท้จริงแล้วตาที่เราเห็นว่า “ตาตรง” บางที อาจจะเป็นตำแหน่งดวงตาที่กำลังถูกบังคับโดยสมองผ่านกล้ามเนื้อตาอยู่ก็ได้ และตำแหน่งพักที่แท้จริงของดวงตานั้น อาจจะไม่ใช่ตำแหน่งตาตรง แต่อาจจะชอบที่จะเหล่หลบใน เหล่ออก เหล่ขึ้น หรือเหล่ลงก็ได้  แต่ที่จำเป็นต้องตรง เพราะถูกบังคับให้ตรง

 

ถ้าตามี "ตำแหน่งพัก" หรือ "resting positioning" ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตาตรง (ortho)  แสดงว่าที่ กล้ามเนื้อตามี demand ที่จะต้องออกแรงเพื่อดึงลูกตาให้มาอยู่ในตำแหน่งตาตรง เพื่อให้เกิดการรวมภาพกันให้ได้ โดยแรงที่ว่าก็คือแรงดึงของกล้ามเนื้อตา ซึ่งเสมือนกับ Supply ที่จะต้องมากพอในการทำให้ demand นั้นไม่ได้สร้างปัญหาให้กับมนุษย์คนนั้นๆ

 

ถ้า demand มีมากเกินไป และ Supply มีไม่พอ  คือมีมุมเหล่มากเกินไป แต่แรงของกล้ามเนื้อตาก็มีไม่พอ ย่อมทำให้ตาเหล่ หรือ เป็น tropia  เพราะว่าแรงมันดึงไม่ไหว  เมื่อรั้งไม่ไหว ก็คงต้องปล่อยให้ต่างคนต่างไป  ตาก็จะได้ไปสู่ที่ชอบๆ  ก็คือตำแหน่งตาเหล่นั่นเอง  ใช้ตามองทีละข้างกันไป ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้

 

แต่ถ้ามี demand คือมีตำแหน่งพักหรือตำแหน่งสบายไม่ใช่ตำแหน่งมองตรง หรือมีมุมเหล่อยู่ แต่มุมเหล่นั้น ยังไม่มากเกินที่จะรั้ง  กล้ามเนื้อตาก็จะออกแรงดึงรั้งเอาไว้ เพื่อให้ตานั้นยังสามารถทำงานร่วมกันได้ ใช้ชีวิตร่วมกันได้  แต่ก็ต้องออกแรงฝืนธรรมชาติ เพราะการอยู่ด้วยกันนั้นไม่ใช่สภาวะสบายของกล้ามเนื้อตา

 

ดังนั้นในคนเช่นนี้ เราเรียกว่ามี เหล่ซ่อนเร้น คือเรามองในสภาวะธรรมชาติแล้วไม่รู้ว่าตาเหล่ เพราะมีแรงคอย compensate อยู่  แต่การที่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างฝืนทนนี่เอง ไม่ยอมแยกทางต่างคนต่างไป ก็เลยทำให้คนที่มีเหล่ซ่อนเร้นนั้นมีปัญหามากกว่าคนที่เป็นตาเหล่ เพราะต้องคอยออกแรงประครับประคองกันตลอดเวลา ยิ่งเข้ากันไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ยิ่งบีบคั้นมากๆ ตาก็จะหนีไปอยู่ตำแหน่งพัก  เหมือนคนไม่ถูกกัน ต้องทนทำงานอยู่ด้วยกัน พอไม่ไหวก็หนีไปที่ชอบๆ   ทำให้คนที่มีตาเหล่ซ่อนเร้นบางคนนั้น เกิดเป็นภาพซ้อนบางครั้ง  บางทีก็เห็นชัดเป็นภาพเดียว บางทีก็เห็นเป็นภาพซ้อน  แต่จะซ้อนเฉพาะเมื่อมองพร้อมกันสองตา แต่ภาพซ้อนจะหายไปเมื่อปิดตาข้างหนึงแล้วมองด้วยตาข้างเดียว  ซึ่งต่างจากสายตาเอียง ที่ภาพซ้อนมีลักษณะเป็นเงา และปิดตามองด้วยข้างเดียวก็ยังคงเป็นเงาซ้อนอยู่ 

 

หลักการหามุมเหล่

 

ในการหามุมเหล่ซ่อนเร้น เราจะต้องทำให้ตาทั้งสองข้างนั้น ไม่ได้เห็นสภาวะของโลกปกติ  โดยทำให้ตาข้างหนึ่งเห็นภาพหนึ่ง อีกข้างเห็นอีกภาพหนึ่ง  เรียกว่าการ break fusion เพื่อไม่ให้ตาทั้งสองนั้นพยายามทำงานร่วมกัน 

 

เมื่อภาพต่างกันโดยสิ้นเชิง สมองก็ไม่จำเป็นต้องบังคับตาให้ตรง เพราะสมองไม่เชื่อว่าเป็นภาพเดียวกัน  เมื่อไม่เชื่อ การบังคับให้รวมภาพก็ไม่เกิด  เมื่อการบังคับไม่เกิด ตาก็จะหนีไปอยู่ในตำแหน่งสบาย หรือ resting positioning  ตำแหน่งที่ว่านั้นเรียกว่าตำแหน่งของ “เหล่ซ่อนเร้น” หรือ “phoria”

 

นั่นหมายความว่า  ถ้าเราต้องการรู้ตำแหน่งพักที่แท้จริง เราจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการกระตุ้นให้เกิดการรวมภาพ หรือ การ break fusion เช่นนอนหลับ ปิดตาสลับ หรือ ทำให้ภาพแยกจากกันสิ้นเชิงด้วยอุปกรณ์ เช่น Maddox Rod , VonGrafe’s Technique หรือจะเป็นวิธี objective test อย่าง Cover Test เป็นต้น  ก็จะสามารถรู้ตำแหน่งพักหรือตำแหน่งเหล่ซ่อนเร้นของคนไข้ได้

 

ส่วนวิธีการตรวจนั้น คงจะได้พูดถึงในโอกาสหน้า  ในตอนนี้ขอพูดหลักการและเหตุผลเสียก่อน 

 

อาการของคนไข้เหล่ซ่อนเร้น

เหล่ซ่อนเร้น นั้นเป็นภาวะตาเหล่ ที่มุมเหล่นั้น ยังไม่มากเกินแรงของกล้ามเนื้อตาจะดึงไหว  ทำให้กล้ามเนื้อตายังคงสามารถดึงตาให้ตรงอยู่ได้

 

แต่ภาวะที่ร่างกายต้องพยายามรวมภาพตลอดเวลาแบบนั้น ทำให้เกิดภาวะเครียดของกล้ามเนื้อตา เกิดเป็น eyestrain ขึ้นมา เช่นปวดศรีษะ มึน ๆ ล้าๆ เหนื่อยๆ ปวดหัวคิ้ว ปวดขมับ ปวดท้ายทอย บางทีอาจะมีอาการคลื่นไส้ อยากอาเจียน  รวมๆเรียกว่าอาการ Asthenopia

 

ในขณะที่คนไข้ตาเหล่แบบเห็นๆ หรือ tropia นั้นไม่มีอาการอะไรเลย  เพียงแค่มองความลึกจึงไม่เห็นเท่านั้น  เนื่องจากสมองไม่มีความพยายามที่จะบังคับตาให้ตรงกันอยู่ตลอดเวลา เพราะคนตาเหล่สมองจะตัดสัญญาณตาข้างหนึ่งทิ้ง ทำให้ตาแต่ละข้างนั้นอิสระต่อกัน  เหมือนกับคนไม่ถูกกัน พอแยกย้ายเลิกรากันไป ต่างคนต่างอยู่ ก็ดูสบายดี ความทุกข์จากความอึดอัดจึงไม่เกิด

 

สรุป

ตาตรง หรือ orthophoria คือสภาวะการทำงานของสองตาที่ปกติ คือตาทั้งสองข้างนั้นมีตำแหน่งพัก หรือ resting positionging อยู่ในตำแหน่งตาตรง  ดังนั้นไม่ว่าจะ break fusion หรือไม่ก็ตาม ตื่นหรือหลับ หรือจะปิดตาสลับ มองไกลมองใกล้ ตาก็ตรงเสมอ และไม่มี demand  ที่จะต้องบังคับให้ตาตรง เป็นประเภทปกติในอุดมคติ (ซึ่งมีน้อย)  คนเหล่านี้จึงมักไม่มีอาการ Asthenopia เมื่อใช้สายตานานๆ

 

ในทางตรงข้าม คนที่มีเหล่ซ่อนเร้น แสดงว่า ตำแหน่งพักของตานั้น ไม่ได้อยู่ในตำแหน่ง ortho  ทำให้กล้ามเนื้อตานั้นต้องออกแรงดึงรั้งตาทั้งสองข้างให้ตรงและทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีปัญหา Asthenopia

 

ส่วนคนที่เป็นตาเหล่ หรือ tropia นั้น ตาทั้งสองข้าง อิสระต่อกันอยู่แล้ว กล้ามเนื้อตาไม่ต้องพยายามออกแรงทำอะไร  ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องปวดตา เมื่อยหรือล้าตา แต่มีปัญหาเรื่อง ไม่สามารถมองเห็นความลึกจริงได้  สอบใบขับขี่ไม่ได้  ตาจะสลับกันมองทีละข้าง และในบางคนจะมีปัญหาตาขี้เกียจกับตาข้างที่ไม่เคยได้ใช้งาน  ชีวิตก็ลำบากอยู่

 

ส่วน how to find และ how to do นั้น เดี๋ยวเรามาว่ากันตอนหน้า  สำหรับวันนี้ ขอจบไว้เพียงเท่านี้ครับ

 

ทิ้งท้าย 

ขอบคุณแฟนเพจ แฟนคอลัมน์ทุกท่าน สำหรับการติดตาม สำหรับผม ดร.ลอฟท์ หวังว่าท่าน จะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ ไม่มากก็น้อย

รอบหน้าผมจะลงถึงอาการที่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีปัญหาตาเหล่ซ่อนเร้น น่าจะต้องใช้สักคอนเทน์หนึ่ง และ แนวทางการจัดการเป็นตอนต่อไป

พบกันใหม่ ตอนหน้า

 

สวัสดีครับ

ดร.ลอฟท์

 

Contact

Loft Optometry 

578  ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม.​ 10220  , โทร 090 553 6554

www.facebook.com/loftoptometry 

line : loftoptometry