Lecture 8 : Q/A เลนส์ปริซึมจ่ายเพื่ออะไร ?


Loft Optometry Lecture 8

Topic : Q/A เลนส์ปริซึมจ่ายเพื่ออะไร ?

By dr.loft O.D.

Date 18 May 2020


 

สำหรับท่านที่ไม่ได้อยู่ในสายวิชาทัศนมาตรหรือคลินิกจักษุกรรม ก็อาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่าปริซึมสักเท่าไหร่และเมื่ออ่านบทความที่ผมเขียนถึงการแก้ไขปัญหาระบบการมองเห็นด้วยเลนส์ปริซึมแล้ว บางท่านอาจจะเกิดความสงสัยว่าเลนส์ปริซึมคืออะไร จ่ายให้ใคร จ่ายเมื่อไหร่  จ่ายอย่างไร เป็นต้น และอยากคำตอบเพื่อให้เข้าใจในการอ่าน case study มากขึ้น

 

เนื้อหาในคอนเทนท์นี้เป็น Question & Answer สั้นๆแบบพื้นฐานพอสังเขปเพื่อให้คนทั่วไปแม้ไม่เคยมีพื้นฐานด้านนี้มาก่อน ได้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผลในการจ่ายปริซึม ซึ่งผมรวบรวมคำถามคนน่าจะอยากรู้ซึ่งเบื้องต้นก็คิดได้เท่านี้ หากท่านไหนอยากจะได้ข้อมูลเรื่องใด ก็สอบถามเพิ่มเติมใน inbox เข้ามาได้ใน facebook fanpage www.facebook.com/lofotptometry ยินดีตอบทุกความสงสัยครับ

 

Question / Answer

Q : Prism คืออะไร

A : Prism เป็นเลนส์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายหลังคารูปจั่ว ซึ่งมีลักษณะของแท่งแก้วทรง 3 เหลี่ยม โดยมีด้านเรียบ 2 ด้าน ขอบด้านหนึ่งประกบกันเกิดเป็นมุมสามเหลี่ยมขึ้นมาเหมือนหลังคาจั่ว  ด้านแหลมกว่าเรียกว่า ยอดปริซึม หรือ apex ส่วนที่ไม่บรรจบกันเรียกว่าฐานปริซึม หรือ base โดยยอดกับฐานอยู่ในทิศตรงกันข้ามอยู่แล้ว เราก็เลยเรียกเฉพาะฐาน (base) ว่าชี้ไปทางองศาไหน  เช่น base in ,base out ,base up ,base down หรือ base@axis (0-360 degree)

 

Q : เลนส์ปริซึมทำงานต่างจากเลนส์สายตาอย่างไร

A : เลนส์สายตาทำงานโดยบังคับ vergence ของแสงที่ผ่านตัวมันนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเลนส์บวก(นูน) Vergence จะลู่เข้าหากันเรียกว่า convergence ถ้าเลนส์ลบ(เว้า) vergence จะถ่างออกจากกันเรียกว่า Divergence เลนส์สายตาจึงพูดถึงระยะโฟกัสของเลนส์

 

ปริซึม ทำงานโดยบังคับให้แสงที่ผ่านตัวมันมีการเปลี่ยนตำแหน่ง (direction) โดย Vergence ไม่เปลี่ยน ส่งผลให้ภาพย้ายที่ได้โดยที่กำลังหักเหไม่เปลี่ยนหรือโฟกัสชัดไม่เปลี่ยน เลนส์ปริซึมจึงพูดถึงตำแหน่งของภาพที่สัมพันธ์กับตำแหน่งของลูกตา

รูปประกอบ 1 : แสงเมื่อวิ่งผ่านตัวกลางที่มีดัชนีหักเหของแสงต่างกันแบบทำมุมจะเกิดการหักเหแสง รูป (a) แสงขาเข้าวิ่งผ่านผิวสัมผัสแรกแบบตั้งฉากแม้ว่าจะเป็นตัวกลางต่างชนิดกันแสงก็ไม่หักเหเนื่องจากว่าวิ่งผ่านแบบตั้งฉาก แต่เมื่อแสงขาออกจะต้องเดินทางจากแก้วที่มี index สูงกว่าอากาศ แสงจะเกิดการหักเหหนีห่างแนวปกติเป็นมุม i2  (เส้นแนวปกติคือเส้นที่ลากตั้งฉากกับผิวสัมผัส)  รูป (b) แสดงถึงความชันที่ต่างกัน ทำให้เกิดการหักเหที่ต่างกัน นั่นหมายความว่ายิ่งปริซึมมีกำลังมากฐานปริซึมยิ่งหนา 

 

Q : เลนส์ปริซึมเปลี่ยนตำแหน่งของภาพได้อย่างไร

A : เมื่อแสงเดินทางผ่านตัวกลางที่มีดัชนีหักเหของแสงไม่เท่ากันในลักษณะทำมุมกับผิวสัมผัสจะเกิดการหักเหของแสง (แต่ถ้าตั้งฉากกับผิวสัมผัสจะไม่เกิดการหักเห) เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ดูรูปล่างประกอบ

รูปประกอบ 2 สิ่งเมื่อเดินทางผ่านตัวกลางต่างชนิดกันจะเกิดการหักเห  ถ้าแสงวิ่งจากตัวกลางอากาศที่มี index ต่ำกว่าไปสู่ตัวกลางน้ำที่มี index ที่สูงกว่า แสงจะหักเหเข้าหาเส้นปกติ ในทางตรงกันข้าม ถ้าแสงเดินทางจากน้ำที่มี index สูงกว่าไปสู่อากาศที่มี index ต่ำกว่าแสงจะเบนหนีห่างจากเส้นปกติ   ทำให้ระยะจริงกับระยะปรากฎนั้นต่างไปจากเดิม (รูปขวา)

ถ้าแสงวิ่งจากตัวกลางที่มี refractive index ต่ำ เช่นอากาศ ไปหาสูงกว่าเช่น กระจก แบบทำมุม แสงจะหักเหเข้าแนวปกติ

ถ้าแสงวิ่งจากตัวกลางที่มี refracitve index สูงกว่าเช่นแก้ว ไปสู่ตัวกลางที่มีดัชนีหักเหแสงต่ำกว่าเช่นอากาศ​  แสงจะเบนหนีออกจากเส้นปกติ

 

ปริซึมคือเลนส์ที่มีผิวเป็นกระจกราบ 2 ด้าน มีมุมด้านหนึ่งบรรจบกันเป็นจั่ว 3 เหลี่ยม เมื่อแสงเดินทางแท่งปริซึมที่วางอยู่ในอากาศ ก็จะมีการเดินทางขาเข้า (อากาศ>>ปริซึม) และขาออก (ปริซึม>>อากาศ) จึงเกิดการเบนของแสงไปหาฐาน  เพื่อให้เห็นภาพโดยง่าย ดูรูปล่างประกอบ  สมมติให้แสงขาเข้านั้นทำมุมฉากกับผิวแรกของปริซึม เพื่อให้แสงไม่เกิดการเบน  แต่แสงขาออกจาก index สูง ไป index ต่ำ (ปริซึม>>อากาศ) จะเกิดแสงผ่านผิวสัมผัสแบบทำมุมเกิดขึ้นขึ้น ทำให้แสงมีการเลี้ยวเบนหนีจากแนวปกติ  ผลคือแสงมีการหักเหเบนเข้าหาฐาน แต่คนที่อยู่หลังแท่งปริซึมจะเห็นภาพ (X) เลื่อนไปทางยอดปริซึม 

รูปประกอบ 3 แสงจากวัตถุที่วิ่งผ่านปริซึมจะเบนเข้าหาฐาน แต่คนสังเกตุจะเห็นวัตถุเคลื่อนไปทางยอดปริซึม

 

Q :  คนที่ใส่ปริซึมจะเห็นภาพเป็นอย่างไร

A : อย่างที่พูดถึงไปตอนต้นว่า ปริซึมไปเปลี่ยน direction ของแสงแต่ไม่ได้เปลี่ยน vergence ดังนั้นคนไข้จะไม่รู้สึกเกี่ยวข้องกับความชัดหรือไม่ชัด แต่เขาจะเห็นตำแหน่งภาพย้ายที่เมื่อเทียบกับตาเปล่าที่ไม่ได้มองผ่านปริซึม

 

“แสง” ถ้าพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ “ภาพ” ที่เกิดจากแสงวิ่งไปกระทบวัตถุแล้วสะท้อนออกมาแล้ววิ่งผ่านปริซึมจะเบนเข้าหาฐานของปริซึม ส่วนผู้ที่ใส่ปริซึมอยู่ โดย sense แล้วตาไม่รู้หรอกว่า แสงเบนไปทางไหนเพราะเราไม่สามารถมองเห็นแสงวิ่งได้ (เว้นแต่ลำแสงเลเซอร์) แต่ที่เราเห็นได้ก็คือภาพของวัตถุที่แสงนำเข้ามาในตาเรา  เราจะเห็นภาพของวัตถุนั้นมีการย้าตำแหน่งไปทางยอดของปริซึม

 

Q : ปริซึมมีกำลังเบนแสงเป็นอย่างไร

A : กำลังในการเบนแสงของปริซึมนั้น มันมองได้ 2 มุม คือถ้ามองที่ต้นทาง(จากตาของเรา) เราก็จะดูว่ามันย้ายจากฐานเดิมไปกี่องศาหรืออีกอย่างก็คือมองไปที่ปลายทางคือวัตถุว่ามันย้ายที่จากตำแหน่งเดิมไปกี่เซนติเมตรหรือกี่เมตร

 

ถ้ามองเป็นองศา 1 prism diopter = 0.57 องศา หรือ  1องศา = 1.57 prsm diopter

 

ถ้ามองเป็นตำแหน่งภาพย้าย 1 prism diopter จะทำให้ภาพของวัตถุที่อยู่ห่างออกไปจากเลนส์ปริซึมเป็นระยะ 1 เมตร ย้ายตำแหน่งไป 1 ซม. หรือ เขียนเป็นสมการได้ว่า P(pd)=x(ระยะภาพที่ย้ายตำแหน่งเดิมในหน่วย ซม.)/y(ระยะจากวัตถุถึงปริซึมในหน่วยเมตร)

รูปประกอบที่ 4 รูปบน Ray displacement เป็นรูปแสดงการเบนของทิศทางของแสงเข้าหาฐานเมื่อวิ่งผ่านปริซึมจากตำแหน่งเดิมเป็นระยะ 1 cm ที่ระยะ 1 m. ,รูปล่าง image displacement เป็นการย้ายตำแหน่งของภาพที่ผู้สังเกตมองเห็นจากผลของ ray displacement 

 

ตัวอย่างการใช้งาน

ดังนั้นกำลังของปริซึมเรียกว่า prism diopter เขียนย่อว่า pd  โดย 1 pd คือประปริซึมที่ทำให้แสงเบนไปจากตำแหน่งเดิม 1 ซม.ที่ระยะ 1 เมตร  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่า เวลาเราใส่ 1 ปริซึม เราจะเห็นภาพย้ายไปจากตำแหน่งเดิม 1 ซม.ที่ระยะ 1 เมตร เมื่อเรามองวัตถุที่ห่างออกไป ภาพก็จะย้ายไกลมากขึ้นในอัตราส่วนคงที่คือ ถ้ามองที่ระยะ 10 เมตรก็ย้ายไป 10 ซม. ถ้ามองไปที่ 100 เมตร ก็ย้ายไป 100 ซม.(1เมตร) หรือถ้ามองไป 500 เมตร ก็ย้ายไป 500 ซม.(5 เมตร)  ถ้าปริซึมมากกว่า 1 pd ก็คูณเอาว่าในแตละระยะภาพย้ายไปกี่เมตร

 

Q : ใช้ทำอะไร

A : ปริซึมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายอย่าง ทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการวัดค่าต่างๆ เช่นเครื่องวัดความดันตา goldman tonometer , keratometer เป็นต้น หรือ เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาความผิดปกติของระบบการมองเห็นเช่นเลนส์ปริซึมที่จ่ายให้กับคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อตา

 

Q : คนมีเลนส์ปริซึมในตาได้อย่างไร

A : ตาคนไม่ได้มีปริซึม แต่ปริซึมใส่เข้าไปเพื่อแก้ไขปัญหาการมองเห็นให้คน เหมือนกับเลนส์แว่นตาไม่ได้มีในลูกตา แต่ระบบหักเหแสงในลูกตาโฟกัสไม่ปกติ เราจึงใส่เลนส์เข้าไปเพื่อไขปัญหาโฟกัสของตา

 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า “เพียงแค่เห็น” นั้น เราใช้ระบบประสาทตาพร้อมกันถึง 3 ระบบ คือ

ระบบหักเหแสง(refractive system) ว่าด้วยเรื่องแว่น คอนแทคเลนส์ ทำเลสิก

ระบบการมองสองตา(binocular function)  ว่าด้วยเรื่องการบริหารกล้ามเนื้อตา การจ่ายเลนส์ addition และการจ่ายเลนส์ปริซึม

ระบบสุขภาพของตา (Ocular Health)  ว่าด้วยเรื่องสุขภาพของตาทั้งส่วนกายภาพและระบบประสาทตา ว่าด้วยเรื่องการแก้ไขพยาธิสภาพด้วย ยา การผ่าตัด หรือ ปล่อยให้ร่างกายเยียวยาตัวเอง

 

ถ้าพูดถึงแค่ตาข้างเดียว เราจะพูดถึงแค่ปัญหาสายตาที่เกี่ยวข้องกับความคมชัด หรือ refractive error ว่ามีสั้น ยาว เอียง อยู่เท่าไหร่ และพูดถึงเฉพาะการแก้ไขการหักเหแสง ไม่ว่าจะด้วย เลนส์สายตาย คอนแทคเลนส์ หรือการทำเลสิก  ความมุ่งหวังสูงสุดคือเห็นรายละเอียดชัดถึงขีดจำกัดของตา หรือ Visual Acuity

 

แต่ตามีอยู่ 2 ข้างแต่เรากลับเห็นเป็นภาพเดียว ซึ่งเกิดจากการรวมภาพของสมองเกิดเป็นเรื่อง binocular vision ขึ้นมาโดยมีศักยภาพสูงสุดคือทำให้มีการมองเห็นแบบ 3 มิติได้หรือเห็น stereo  ตาจึงต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ในคนที่ทำงานเป็นทีมดีอยู่แล้ว ก็คงไม่ต้องช่วยอะไร  แต่ถ้าตาทั้งสองข้างไม่ค่อยสามัคคีกัน ก็ต้องอาศัยปริซึมเข้าไปช่วยสมานสามัคคี

 

ดังนั้น ปริซึมจะเข้ามาแก้ไขในส่วนของคนไข้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการมองสองตาที่ผิดปกติ ( binocular dysfunction)

 

Q : เลนส์สายตาปกติธรรมดามีปริซึมอยู่ไหม

A : เลนส์สายตานั้นมีปริซึมอยู่โดยธรรมชาติ เพราะเลนส์ก็มีการเบนแสงเหมือนกัน แต่ต่างกันที่การเบนแสงของปริซึมนั้น เบนไปในทิศเดียวไม่มี vergence ในขณะที่เลนส์สายตามีลักษณะการเบนลู่หากันหรือเบนหนีออกจากกันเรียกว่ามี Vergence

รูปประกอบ 5 เลนส์สายตามีคุณสมบัติคล้ายปริซึมคือเบนแสงได้ แต่ต่างที่เลนส์สายตามี vergence แต่ปริซึมไม่มี

ดังนั้นคุณสมบัติของปริซึมก็คล้ายๆกับมีปริซึม 2 ชิ้นมาประกอบกัน  ถ้าเป็นเลนส์บวกก็เหมือนเอาฐานมาประกอบกัน แสงเบนหาฐาน แสงก็เลยวิ่งมาตัดกันเป็นจุดโฟกัส  ถ้าเลนส์ลบก็เหมือนกับเอายอดมาชนกัน เมื่อแสงเบนหาฐาน แนวแสงก็เลยเบนหนีออกจากกัน แต่เลนส์สายตาไม่ใช่เลนส์ปริซึมประกบกันทื่อๆแบบนั้น

 

ถ้าจะลงลึกไปกว่านี้ก็คือว่า แสงที่วิ่งผ่านปริซึมยิ่งห่างจากยอดหรือฐานมากขึ้น กำลังในการหักเหแสงก็มากขึ้นได้ ซึ่งคำนวณได้จากสมการ P=cF โดย P คือกำลังของปริซึมในหน่วย prism diopter , c คือระยะที่หลุดจากเซนเตอร์ของเลนส์ในหน่วย Centimeter และ F คือกำลังหักเหของเลนส์สายตาในหน่วย Diopter

 

ดังนั้นถ้าเลนส์สายตาเกิดจากปริซึมมาประกบกัน แสงในแต่ละจุดที่วิ่งตัดเลนส์สายตาที่ระห่างจากเซนเตอร์ไม่เท่ากัน จะไม่ไปรวมกันเป็นจุด จึงพูดได้เพียงแค่ว่า “คล้ายๆ” คือมีคุณสมบัติของปริซึมแต่ตัวมันไม่ได้เกิดจากเลนส์ปริซึม

รูปประกอบ 6 ปริซึมที่ตัวเลนส์สายตานั้น กำลังของปริซึมขึ้นอยู่กับระยะที่หลุดเซนเตอร์และเพาเวอร์ของตัวเลนส์ ระยะหลุดเซนเตอร์ไม่เท่ากันสร้างปริซึมไม่เท่ากัน  ซึ่งต่างจากปริซึมที่แสงวิ่งผ่านส่วนไหนก็ได้กำลังปริซึมที่เท่ากันและไม่มีเซนเตอร์

ส่วนที่บริเวณ(คล้าย)ฐานปริซึมมาชนกันของเลนส์บวกหรือจุด(คล้าย)ยอดของปริซึมมาชนกันของเลนส์ลบนั้น เป็นตำแหน่งที่ ปริซึมมีค่าเป็นศูนย์ เราเรียกตำแหน่งนั้นว่า  optical center หรือเซนเตอร์ของเลนส์นั่นเอง

 

เมื่อเราต้องการประกอบเลนส์ให้ตาเห็นชัดโดยไม่ได้รับผลกระทบจากปริซึม เราก็ต้องวางเซนเตอร์ของเลนส์ให้อยู่ตรงกลางรูม่านตา เราก็รอดพ้นจาก prism effect  ซึ่งค่าที่จำเป็นในการประกอบให้ได้เซนเตอร์คือระยะห่างระหว่างรูม่านตาของทั้งสองข้างโดยวัดแยกข้าง หรือ Monocular  Pupillary Distant (เหมือนแกน x) และค่าตำแหน่งตาในแนวแกน y คือระยะ fitting height หรือ FH ซึ่งวัดจากขอบล่างของเลนส์แว่นจนถึงตำแหน่งตาดำ ดังนั้นตำแหน่งที่จะวางเซนเตอร์คือจุดตัดของแกน x,y  นั่นเอง

 

ถ้าเซนเตอร์ไม่ตรงก็จะได้เลนส์ปริซึมไปโดยปริยาย  ถ้าปริซึมนั้นบังเอิญเกิดไปตรงกับตาเหล่ของตัวเองก็สบายไป แต่ถ้าปริซึมกลายไปเป็นส่วนเกิน กล้ามเนื้อตาและระบบการมองสองตาก็พังกันไปข้างหนึ่ง

 

รูปที่7  รูปขวาแสดงการประกอบเลนส์ที่มีเซนเตอร์ตรงกับตาดำ ตาเมื่อมองผ่านเซนเตอร์จะไม่ได้รับผลกระทบจาก prism effect  ในขณะรูปซ้าย การประกอบเซนเตอร์ที่ใช้ PD มากกว่าค่าจริงในเคสสายตาสั้น (เลนส์เว้า) คนไข้เมื่อมองตรงจะเจอปริซึมที่เป็น base in ซึ่งภาพที่เห็นจะเคลื่อนออก ทำให้เสมือนว่าคนไข้มีเหล่เข้าซ่อนเร้น (induced esophoria)   ทำให้ตาต้อง diverge  และเกิดอาการปวดหัวตามมา  แต่ถ้าโชคดีบังเอิญว่าคนไข้มี exophoria หรือ เหล่ออกอยู่พอดี การประกอบผิดลักษณะนี้อาจทำให้คนไข้สบาย  แต่ในทางคลินิกแล้วเราไม่ทำงานบนความบังเอิญ  ถ้ามีก็ต้องจ่าย ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องจ่าย 

 

ดังนั้นคิดให้ดีก่อนที่จะซื้อแว่นสำเร็จรูปมาใช้ ระยะยาวแล้ว ได้ไม่คุ้มเสีย  ถ้าใครคิดว่าตาตัวเองไม่มีค่าพอกับการใส่แว่นดีๆที่ได้มาตรฐาน ผมขอซื้อต่อได้ไหม ขายเท่าไหร่ดี  มีคนที่มีปัญหาตามากที่เขาต้องการอวัยวะสำรองและยอมจ่ายขอให้ได้มองเห็น  ซึ่งผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะยากดีมีจนคงไม่มีใครคิดขายตาตัวเอง ถึงแม้จะมีคนขอซื้อกี่ล้านก็ตามแต่หรือบางทีคนเราอาจซาดิส ชอบทำลายดวงตาตัวเอง แต่ขายทิ้งก็ไม่ยอม แปลกดี

 

คนส่วนใหญ่เวลาจะซื้อจอทีวีเอาให้ชัดที่สุด 5K 8K กี่หมื่นกี่แสนก็จ่ายใช้ปีสองปีก็มีรุ่นใหม่ที่ชัดกว่ามาอีกแล้วและราคาถูกลงด้วยขายต่อก็ไม่ได้ราคา  หรือซื้อมือถือ iPhone ก็เอาแข่งกันที่หน้าจอชัดถ่ายรูปชัดๆราคาครึ่งแสนใช้ได้สองปีก็มาใหม่อีกแล้วซื้อใหม่อีกหรือแม้แต่คนที่เล่นเครื่องเสียงกับการจ่ายเงินหลายหมื่นหลายแสนหรือเป็นล้านให้กับสายสัญญาณเพื่อให้ได้เสียงที่ดีขึ้นไม่กี่ % ก็ยอมจ่าย แต่จะทำเลนส์สายตาดีๆให้ตัวเองได้เห็นชัดๆสบายๆ ใช้งานสบายๆ 3-4 ปี  ถ้าเกินหมื่นนี่ก็คิดว่าแพงแล้ว ก็น่าสนใจ

 

ผมมานั่งคิดเรื่องการให้ value กับสุนทรียะแล้ว ต่างคนก็ต่างให้คุณค่ากับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกันจริงๆ  บางทีคนเราอาจจะอยากใช้ของที่คนอื่นก็สามารถสัมผัสได้ จะได้แชร์ประสบการณ์ เช่นกระเป๋า รองเท้า นาฬิกา เสื้อผ้าอาภรณ์ มือถือ รถยนต์ อะไรก็ตามที่เป็นของภายนอกที่ผู้อื่นจับต้องได้ แพงเท่าไหร่ก็ make sense เรียกว่ารสนิยม  ทั้งนี้ก็อาจจะคิดว่า จะได้ show-off ถึงสิ่งที่ตนเองมี เพื่อที่จะได้รับการยอมรับก็ได้  ส่วนเลนส์สายตามันเป็นของเราคนเดียว แก้ปัญหาของเราคนเดียว ประสบการณ์เราคนเดียว คนอื่นมาลองแว่นเราไม่ได้ จ่ายกี่หมื่นก็ไม่มีใครมาเห็นกับเรา ทำแว่นให้ดีก็ดีอยู่คนเดียว โชว์คนอื่นไม่ได้ ก็เลยมุ่งเฉพาะส่วนที่โชว์ได้คือกรอบแว่น ส่วนเลนส์เอาไว้ก่อน ไม่ต้องดีมาก ใครตรวจก็ได้ เอามาแก้ขัดไปก่อนแบบนี้ก็มี  ก็นุ่นแหล่ะ ถ้าทนไม่ไหวหรือตาจะพังแล้วค่อยมองหาของดีๆ  แต่ผมไม่ได้อะไรนะ รสนิยมไม่มีถูกไม่มีผิด ถ้าทำแล้วมีความสุขและไม่เป็นโทษกับตัว ก็คือว่าดีหมดครับ

 

Q : ปริซึมช่วยปัญหาการมองเห็นสองตาอย่างไร

A :  คนที่มีตาเหล่ไม่ว่าจะตาเหล่(tropia)หรือเหล่แบบซ่อนเร้น(phoria) หมายความว่า ตำแหน่งพักหรือตำแหน่งสบายของตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างนั้นไม่ได้อยู่ในตำแหน่งตาตรงหรือตำแหน่ง orthophoria แต่เป็นตำแหน่งอื่นๆ เช่น ถ้าตาชอบพักที่ตำแหน่งหลบในเรียกว่าเหล่เข้า (eso-phoria/tropia)  ถ้าตาชอบพักที่ตำแหน่งหลบออกเรียกว่าตาเหล่ออก (exo-phoria/tropia) หรือตาชอบพักในตำแหน่งตาลอยขึ้นหรือตกลงเรียกว่าเหล่ในแนวดิ่ง (Hyper(Hypo)-phoria/tropia  มุมที่เหล่ออกไปจากศูนย์หรือตำแหน่ง ortho เราวัดหน่วยเป็นมุมปริซึม หน่วยเป็นอย่างไรนั้นก็เหมือนที่ได้อธิบายกำลังของปริซึมไปแล้ว

 

Q : ถ้าชอบพัก หรือ สบายที่จะพัก ก็พักในตำแหน่งนั้นๆสิ แล้วจะฝืนทำไม

A : แม้คนที่มีตาเหล่ หรือ เหล่ซ่อนเร้น จะมีตำแหน่งพักที่สบายในตำแหน่งต่างๆที่ไม่ใช่ตำแหน่งตาตรง  แต่ตำแหน่งที่อยากจะพักนั้น ไม่ใช่ตำแหน่งที่สามารถพักได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดการรวมภาพไม่ได้ จนกลายเป็นภาพซ้อนเรียกว่า diplopia  เพราะภาพโลกใบนี้ที่เราเห็นเป็นภาพเดียวนั้น มีพื้นฐานจากภาพ 2 ภาพของตาแต่ละข้าง  แต่สองภาพนั้นถ้าตาของเราอยู่ในตำแหน่งมองตรง สมองจะได้รับภาพจากตาแต่ละข้างที่มีหน้าตาคล้ายกันบางส่วนและต่างกันบางส่วนและถ้าสองภาพนั้นอยู่ตำแหน่งใกล้กันมากพอ สมองก็จะเชื่อว่าเป็นภาพเดียวกัน  สมองจึงทำหน้าที่บังคับตาเพื่อให้ภาพของแต่ละข้างมาอยู่ใกล้กันให้มากพอ เพื่อให้มารวมภาพเดียว  ตาในสภาวะปกติก็เลยตรง

 

ในทางตรงข้าม ถ้าตาหนีไปพักกันคนละทิศละทางทำให้ภาพที่ตาขวาและตาซ้ายเห็นนั้นมีส่วนที่คล้ายกันอยู่ห่างกันมา  ถ้ามากพอ สมองจะไม่เชื่อว่าเป็นภาพเดียวกัน หรือ พยายามดึงตาให้ตรงไม่ได้ คนไข้ก็จะเห็นเป็นภาพซ้อนกัน  จะซ้อนเข้า ซ้อนออก ซ้อนขึ้นลง ก็อยู่ที่ว่าตำแหน่งเหล่อยู่แนวไหน

 

Q : ปริซึมไปช่วยคนตาเหล่หนีศูนย์อย่างไร

A : คนที่มีตาเหล่ เมื่อมองวัตถุที่ระยะต่างๆ ก็ต้องอาศัยแรงของกล้ามเนื้อในการดึงตาให้ตรงด้วยแรงที่เท่ากับแรงหนีศูนย์(มุมเหล่)เพื่อให้ภาพ alignment อยู่ในตำแหน่งตาตรง ถ้าดึงไหวเรียกว่าเหล่ซ่อนเร้น คือไม่สามารถเห็นได้ว่าเหล่ในภาวะการมองพร้อมกันสองตา ถ้าดึงไม่ไหวก็จะเห็นภาพซ้อนเรียกว่า tropia เราก็จะเห็นเลยว่าคนนี้เป็นคนตาเหล่

 

อุปมาเหมือน  รถเสียศูนย์คือรถมันชอบเลี้ยวหนีศูนย์จากตรงแล้วจะลงข้างทาง เราไม่สามารถปล่อยรถให้ชอบหนีศูนย์ให้อิสระได้  เราก็ต้องพยายามดึงพวงมาลัยให้ตรงทาง  แต่ดึงนานๆ ก็เหนื่อย หรือถ้าดึงไม่ไหวก็ไหลลงคลอง ฉันไดก็ฉันนั้น

 

ถ้าขยายความถึงอุปมาคนขับรถ   ถ้าจะไม่ให้รถลงคลอง มีอยู่ 3 วิธี คือ ตั้งศูนย์ใหม่ (ผ่าตัด)  เข้าฟิตเนสยกเวตเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อในการเย่อพวงมาลัย ( Visual training) และ ย้ายถนนไปตามแนวล้อ ล้ออยากเลี้ยวไปไหนก็สร้างถนนตาม  (การจ่ายปริซึม)  ซึ่งก็ต้องดูแบบ case by case ว่าใครเหมาะกับแบบไหน

 

Q : ปริซึมมีหลักในการจ่ายอย่างไร

A : ปริซึม ทำให้ภาพย้ายตำแหน่ง  ดังนั้นภาพที่ย้ายตำแหน่ง ส่งผลกับคนไข้ทั้งในส่วน บังคับให้ตาย้ายไปหาภาพ (cause eye turn in direction )  หรือ ปล่อยให้ตาอยู่ในตำแหน่งที่ชอบแล้วภาพย้ายไปหาเอง (allow eye turn free direction)

 

การบังคับ (cause eye turn direction)

การบังคับตาให้วิ่งไปหาภาพน้ัน เราใช้เมื่อต้องการฝึกกล้ามเนื้อตาให้แข็งแรง คือไป stress มันเพื่อให้มันสู้ ยิ่งมันแข็งแรงเท่าไหร่ มันก็ยิ่งสู้ได้มากเท่านั้น พอมันแข็งแรงแล้วมันก็เอาแรงนี้ไปใช้ในยามปกติ  เหมือนการเข้าไปฟิตเนสเพื่อยกเวท ก็เพื่อให้กล้ามเนื้อมัน stress กว่าปกติแล้วสร้างกล้ามเนื้อส่วนเกินกว่าการใช้งานในยามปกติ เพื่อเอาแรงที่ได้ไปใช้ชีวิตในยามปกติ ทั้งทางตรงคือยกของหนัก หรือทางอ้อมคืออวดหนุ่มอวดสาว ก็ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งคู่  แต่ไม่มีใครเขาจ่ายแว่นปริซึมให้ตรงข้ามกับตำแหน่งสบายของตาเพื่อไปบังคับกันนะ ส่วนใหญ่จะใช้เป็น lens flipper เอา 

รูป 8  Vergence Training flipper สำหรับฝึกกล้ามเนื้อตาเพื่อเพิ่มแรงของกล้ามเนื้อตา

การปล่อย (allow eye turn freedom)

การปล่อยให้ตาได้อิสระในตำแหน่งที่ชอบนั้น เป็นการจ่ายปริซึมเพื่อแก้ไขปัญหาตาเหล่หรือเหล่ซ่อนเร้น เพื่อลด demand ของกล้ามเนื้อตาที่จะต้องออกแรงสู้กับตาเหล่ เพื่อลดอาการเครียดหรือความล้าของกล้ามเนื้อตา ด้วยการใช้ปริซึมย้ายภาพไปหาตำแหน่งสบายของตาก็คือตำแหน่งของ phoria นั้นเอง

รูป 9 (a)เป็นการจ่ายปริซึมในแนว up/down เพื่อแก้ไขปัญหาตาเหล่ซ่อนเร้นในแนวดิ่ง vertical phoria  (b) เป็นการจ่ายปริซึม base out ในคนไข้ esophoria และ (c)เป็นการจ่ายปริซึม base in ให้คนไข้ exophoria

เช่นคนไข้มีตาเหล่ในแนวดิ่ง หรือมี vertical phoria  สมมติให้เป็นตาขวาที่เป็น hyperphoria ซึ่งตำแหน่งสบายคือลอยตัวสูงขึ้นกว่าตาซ้าย ซึ่งถ้าปล่อยไว้แบบนั้น สมองจะไม่สามารถรวมภาพเป็นหนึ่งได้ และเกิดเป็นภาพซ้อน (diplopia) ปริซึมจะไปทำหน้าที่ย้ายภาพของตาขวาขึ้นไปหาตำแหน่งสบายของเขาด้วยการใช้ base down  ทำให้กล้ามเนื้อของตาขวาไม่ต้องออกแรงดึงตาลงมาหรือออกแรงน้อยลง  ก็จะช่วยให้คนไข้ไม่เกิดภาพซ้อนได้

 

ดังนั้นการจ่ายปริซึม ควรจะต้องประเมินว่า คนไข้เป็นตาเหล่ประเภทไหนและควรที่จะ training ก่อนเพื่อเพิ่มแรงของกล้ามเนื้อหรือจะจ่ายปริซึมเพื่อลด demand ในการดึงกล้ามเนื้อ เพราะในเหล่แต่ละมุมนั้น บางกล้ามเนื้อฝึกได้  บางกล้ามเนื้อฝึกยาก บางกล้ามเนื้อฝึกไม่ได้  ซึ่งเรียงจากยากไปง่าย ได้แก่ hyperphoria>>esophoria>>exophoria ตามลำดับ

 

ส่วนการจ่ายในทางคลินิกนั้นมีเรื่องที่จะต้อง monitor เยอะมาก คงไม่เหมาะที่จะนำมาเขียนในเรื่องนี้ ไว้เป็นโอกาสหน้าผมจะค่อยๆนำมาเขียนเป็นส่วนๆไป

 

Q :  การจ่ายปริซึมจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงไหม

A : ความกังวลใจจากการคิดเอาเองของเราว่า  “ถ้าตาชอบหนีศูนย์คือมีเหล่ซ่อนเร้น แล้วเราเอาปริซึมไปให้เขาเพื่อให้เขาไม่ต้องออกแรง ก็แสดงว่าตาเขาก็จะอยู่เฉยๆตำแหน่งนั้น นานๆเข้ากล้ามเนื้อเขาจะอ่อนแรงมากขึ้นหรือเปล่า”

 

ความคิดข้างต้นนี้นั้น เป็นความมโนไปเอง เพราะว่ามนุษย์เรานั้นมีกิจกรรมที่ต้องใช้ Vergence ทั้งวันอยู่แล้วและในชีวิตประจำวันนั้น มันก็มีวัตถุในระยะต่างๆให้มอง เช่นขับรถมองไกล ดูกระจกข้างมองกลาง  ดูคอมพ์ ดูมือถือใกล้เข้ามา ดูหนังสือก็ดูใกล้  ทำให้ตามันมีกิจกรรม convergence /Divergence ทั้งวันมีการทำงานของระบบ positive / negative fusional vergence ทั้งวันอยู่แล้ว  ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่ามันจะอยู่เฉยๆจนอ่อนแรง  มันได้ทำงานทั้งวันแน่นอน เว้นเสียแต่ว่า จะใส่เลนส์ปริซึมแล้วเมากาวนั่งดึงดวงดาวบนท้องฟ้าทั้งวันทั้งคืน อย่างนั้นน่าจะเป็นบ้าก่่อนที่กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง

 

แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ  การจ่ายปริซึมที่ over correction จะไป induce ให้เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อตาอีกรูปแบบหนึ่ง

 

ก็คล้ายกับการจ่ายเลนส์ที่เกินความผิดปกติจริงก็จะ induced ให้เกิดความผิดปกติของสายตาอีกชนิดหนึ่งเช่น สายตาสั้นถ้าจ่ายเลนส์ลบเกินจริงส่วนเกินนั้นก็จะทำให้คนไข้มีอาการของคนสายตายาว  คนสายตายาวแล้วไปจ่ายเลนส์บวกที่มากเกินจริงก็จะทำให้เกิดอาการมัวเหมือนคนสายตาสั้น หรือคนสายตาเอียงในแกนหนึ่งถ้าจ่ายเอียงมากเกินไปสายตาเอียงจะย้ายแกนไปอยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นต้น

 

การจ่ายปริซึมที่เกินความผิดปกติหรือเกินความเหมาะสม ก็จะสร้างปัญหาใหม่ให้เช่นกัน  เช่น ถ้าคนไข้เป็น Right Hyper 5 pd BD OD แล้วเราไปจ่าย 7 pd BD OD ก็จะทำให้ตาขวากลับจาก Hyperphoria เป็น Hypophoria แทน หรือถ้าคนไข้มีเหล่เข้า แล้วเราจ่าย prism base out เกินไป ก็จะทำให้ตากลายเป็นเหล่ออกซ่อนเร้นแทนและจะลามหนักไปถึงการเกิดภาวะ prism adaptation  นั่นแหล่ะคือสิ่งที่ทำให้เรากลัวที่จะจ่ายปริซึมถ้าไม่เข้าใจจริงๆ เพราะการจ่าย over prism corretion มันไม่ได้มีสัญญาณบอกว่าชัดไม่ชัดเหมือนกับเลนส์สายตา ส่วนความรู้สึกตึงไม่ตึงก็ว่ากันที่ความรู้สึกวัดเป็นหน่วยออกมาไม่ได้  ส่วนใหญ่การจ่ายปริซึมจึงเกิดจากประสบการณ์ที่มีวิชาการเป็นพื้นฐาน มีการคำนวณที่แน่นอนและมีเคสที่มากพอ จึงจะทำให้การจ่ายเลนส์ปริซึมประสบความสำเร็จ

 

Q : การจ่ายปริซึมกับการผ่าตัดอย่างไหนดีกว่ากัน

A : ถ้าเราถามว่ามีดปอกผลไม้กับมีดอีโต้อย่างไรดีกว่ากันก็เป็นเรื่องเดียวกันว่าไม่มีอย่างไหนดีกว่าขึ้นอยู่กับ "หน้าที่และบริบท" ว่าจะเอามีดไปทำอะไร  ถ้าจะเอาไปปลอกหรือหั่นผลไม้ก็ใช้มีดปอกผลไม้ แต่ถ้าจะตัดไม้ก็คงต้องใช้มีดอีโต้  จะเอาไปใช้ผิดหน้าที่กันไม่ได้ เพราะนอกจากไม่ได้งานแล้ว มีดยังจะพังอีกด้วย 

 

แม้ว่าปริซึมจะสามารถย้ายภาพเพื่อแก้ไขให้คนไข้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อตาได้ แต่ก็แก้ได้ในมุมเหล่ที่ไม่ใหญ่มาก โดยปกติทั่วไปแล้วเลนส์สายตา สามารถสั่งทำปริซึมได้รวมตาสองข้างแล้วต้องไม่เกิน 10 prism diopter เพราะถ้าหากเกินกว่านี้แล้วนอกจากเลนส์จะหนามากแล้ว optic ที่ได้ก็จะไม่ดีมากๆ เพราะเราจะมองตัวหนังสือเป็นขอบรุ้งจาก chromatic aberration ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากปริซึมและพอมันกวนกันมากๆ ตาก็ไม่ยอมรวมภาพ สุดท้ายก็กลับไปเหล่เหมือนเดิม  ดังนั้นถ้ามีมุมเหล่มากเกินกว่าที่เลนส์ปริซึมจะจ่ายได้ ก็ต้องไปรับการผ่าตัด 

 

การผ่าตัดก็เช่นกัน เนื่องจากการผ่าตัด ต้องใช้การเลาะจุดยึดกล้ามเนื้อตาเดิม (recession) แล้วสร้างจุดยึดกล้ามเนื้อใหม่ (resection) ซึ่งก็สามารถทำได้ทั้งเพื่อเพิ่มแรงกล้ามเนื้อตามัดใดมัดหนึ่งหรือลดแรงดึงของกล้ามเนื้อตามัดใดมันหนึ่ง เมื่อให้ทุกมัดนั้นทำงานบาลานซ์กันมากขึ้นและการขยับจุดยึดให้ตึงหรือร่นให้หย่อนแต่ละมิลลิเมตรนั้นสามารถลดแรงหรือเพิ่มแรงดึงได้มาก การผ่าตัดจึงเหมาะกับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาตาเหล่ชนิด tropia แต่ถ้าเป็นเหล่ซ่อนเร้นแบบ phoria มีดผ่าตัดก็ดูจะใหญ่เกินไปสำหรับปัญหาที่เป็น ดังนั้น ในบางเคสอาจจะต้องผ่าตัดเพื่อลดมุมเหล่แล้วขาดเหลือเท่าไหร่ก็ค่อยจ่ายปริซึม เพื่อรักษาต่อไป 

 

สรุป

 

ปริซึมเอาไว้ช่วยให้คนมีปัญหาตาทั้งสองข้างไม่ค่อยสามัคคีกัน  โดยปริซึมจะไปทำให้เกิดการรวมใจช่วยกันทำงานเป็นทีมได้ดีขึ้น  แต่ใครมีตาสองข้างที่ทำงานร่วมกันได้ดีอยู่แล้ว  ปริซึมก็ไม่จำเป็นเพราะจะกลายเป็นตัวยุยงให้แตกความสามัคคีกันเปล่าๆ

 

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ การ induce prism จากการประกอบเลนส์ที่ไม่ได้เซนเตอร์ ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่องที่อยากเน้นย้ำคือ  ผู้บริโภคอย่าไปซื้อแว่นตาสำเร็จรูปเพราะมันประกอบเสร็จตั้งแต่ยังไม่ได้เซตเซนเตอร์และช่างแว่นตาที่ประกอบแว่น อย่าใช้ PD ,FH แบบกะๆ เอา เพราะผลกระทบที่เกิดตามมานั้นมันมากเกินกว่าที่เราจะรับผิดชอบตาเขาไหวและ PD จากตาข้างหนึ่งถึงกลางจมูกของตาขวาและตาซ้ายมักไม่เท่ากัน ดังนั้นให้ใช้ monocular pd ในการประกอบเลนส์เสมอ ก็จะช่วยลดปัญหาจาก prism effect ได้

 

คอนแทคเลนส์ เซนเตอร์อยู่กลางตาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเคลื่อนตาไปทางไหนเซนเตอร์ก็ไปตาม ดังนั้น prism effect จึงไม่เกิดกับคอนแทคเลนส์  บางคนจึงอาจรู้สึกสบายเมื่อใส่คอนแทคมากกว่าแว่นของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเอาแว่นไปเช็คเซนเตอร์หน่อยก็ดีว่าศูนย์มันตรงหรือเปล่า ถ้าศูนย์ไม่ตรง ก็เรียกได้ว่าเป็นการยัดเยียดตาเหล่ให้กับเรา

 

เอาหล่ะคิดว่าพอสมควรแก่เวลา  เอวังก็คงมีด้วยประการฉะนี้  ขอบคุณมิตรรักแฟนเพจทุกท่านที่ช่วยให้กำลังใจในการติดตามด้วยดีเสมอมา ไม่ไลค์ ไม่แชร์ ไม่เป็นไร แค่อ่านแล้วท่านมีความรู้ที่จะไปดูแลคนไข้หรือลูกค้าของท่านหรือคนไข้ก็ได้รู้ปัญหาของตัวเอง เพราะจุดมุ่งหมายสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ยอดไลค์ ยอดแชร์ แต่อยากเห็นวงการแว่นตา วงการทัศนมาตรและสาธารณสุขด้านสายตาในประเทศไทยถูกยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล เราจะได้เป็น Heath Hub แบบไม่อายฝรั่งต่างชาติเขา

 

เมื่อเสร็จกิจแล้วผมก็จะวางทุกอย่าง โปรเจ๊คปัจจุบันคือเก็บเงินซื้อที่ดินเพื่อปลูกป่า เตรียมการอนาคตเพื่อศึกษาป่า เข้าป่าเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ต่อไป เขาว่าการให้ปัญญาเป็นทานนั้นชนะทานทั้งปวง ท่านก็สามารถอนุโมทนาทานนี้ได้ด้วยการแชร์ทานคือปัญญานี้ออกไป ก็จะได้รับบุญเช่นกัน เหมือนที่พุทธเจ้าตรัสว่า การให้ปัญญาหรือแผ่เมตตาก็เหมือนการต่อเทียน เทียนที่ต่อออกไปไม่เคยทำให้ความสว่างของเทียนเริ่มต้นลดลง ยิ่งต่อออกไปมากแสงสว่างแห่งปัญญาก็สว่างมากขึ้นจากเทียนแต่ละเล่ม เมื่อแสงสว่างพรึบคืนมา ความมืดมิดของอวิชชาก็จางหายไป เกิดความสว่างไสวสวยงามให้กับโลกต่อไป จนวันหนึ่งที่เทียนต้นหมดไส้ ไฟก็ดับลง แต่ความสว่างก็ยังคงอยู่จากการต่อเทียน ฉันไดก็ฉันนั้น  

เจริญพร

ดร.ลอฟท์ O.D. ,ปธ.3

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม.10220 

www.facebook.com/loftoptometry

lineid: loftoptometry

mobile : 090 553 6554

www.loftoptometry.com 


Google Maps