What's ! เลนส์ย่อบาง


What’s ! เลนส์ย่อบาง

lecture by DR.LOFT 

public 25 June 2020 


 

นำเรื่อง

หลายคนที่ใส่แว่น เวลาทำแว่นคงจะคุ้นเคยกับคำว่า "รับเป็นเลนส์ย่อบางมั้ยค่ะคุณพรี่" ซึ่งเรียกได้ว่า "ถามได้จี้ใจดำชะมัด" เพราะถ้าให้พูดถึงความบางของเลนส์ ใครๆก็อยากได้เลนส์ที่บาง ๆ เบาๆ ใส่แล้วไม่หนักดั้ง 

 

แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้และเข้าใจว่าปัจจัยของความหนาบางของเลนส์นั้นมีอะไรบ้าง คนส่วนใหญ่ก็กลัวเลนส์จะหนาเป็นธรรมดา แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าเลนส์ที่ทำมาจะบางหรือหนาเท่าไหร่  เพราะส่วนใหญ่คนขายจะพูดเชียร์ขายถึง %ความหนาที่บางลงตามที่ product สอนให้พูดมามากกว่า เช่นเนื้อตัวนี้บางลง 30% ทั้งๆที่บางคนนั้น เลนส์ที่ยังไม่ย่อบาง ก็บางซะจนจะเป็นใบมีดกันอยู่แล้ว แต่ก็ยอมจ่ายค่าความกลัวเพิ่ม และเลนส์ย่อบางนั้น  มีราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มกันอยู่แล้ว  เรียกว่า "ฝันที่ขายได้จริง"

 

"เลนส์ย่อบาง" คืออะไร 

 

"เลนส์ย่อบาง" ในความหมายกลางที่คนเข้าใจตรงกันคือ "เลนส์ high index"  ดังนั้น "เลนส์ย่อบาง" คือ wording สำหรับการเชียร์ขายเลนส์ high index ที่ช่วย up value ให้การขายเลนส์รุ่นเดิมให้มีราคาขายต่อ billing ที่สูงขึ้น  โดยผู้ใช้นั้นจะได้เลนส์ที่บางลงเป็นสิ่งตอบแทน  

 

แน่นอนว่า เนื้อ 1.74 แพงกว่า 1.67 ,1,60 ,1.53 และ 1.5 ตามลำดับและว่ากันไปแล้ว ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน เนื้อต่างกัน ราคาสามารถต่างกันได้เป็นหมื่นบาท และ ผู้บริโภคมักจะคล้อยตามได้ง่ายถ้าไม่ติดในงบประมาณ เพราะใครๆก็อยากได้เลนส์บาง เรียกได้ว่าเป็น "marketing word" ที่ทรงพลังกันมากเลยทีเดียว  พูดน้อยขายมาก ตรงคอนเซปต์ "Less is More"

 

ก็ไม่ผิดอะไรสำหรับการค้าการขาย เพราะหลักการตลาดแล้ว ยิ่งขายมาก ยิ่งดี  ส่วนทำดีหรือทำไม่ดีนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักการตลาดบางคนก็สนใจบางคนก็ไม่สนใจ แต่ถ้าคนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นหมอสายตา หรือ สำคัญตนว่าเป็นหมอสายตา  จำเป็นต้อง concern ในการทำดีมากกว่าการขายดี และการทำดีย่อมอยู่ดี เพราะเหตุมันดี มีอะไรที่ผลมันจะไม่ดี  

 

กลับมาที่เรื่องหนาบาง

 

แต่มันก็มีข้อสังเกตุอยู่หลายเรื่องว่า แล้ว การช่วยทำให้เลนส์มันบางไม่ได้มีแค่เรื่องการอัพ index เป็น high index อย่างเดียว เพราะในความเป็นจริง index มาตรฐาน ที่เลือกกรอบได้เหมาะสม ร่วมกับการใช้เทคนิคทางแล๊ปในการช่วยขัดเลนส์ให้บางนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการช่วยให้เลนส์บางได้โดยที่คนไข้ช่วยประหยัด  เพราะบางสายตานั้นสามารถบางได้ด้วยการใช้เทคนิคการขัดเลนส์  บางกรอบแว่นไม่สามารถใช้เลนส์ที่บางเกินไปได้เช่นกรอบเจาะหรือเซาะร่อง  ถ้า budget ที่เตรียมมานั้นเหลือ ก็ไปให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นดูจะดีกว่า  

 

แต่ถ้าเงินเหลือไม่รู้เอาไปทำอะไร แม้ว่าค่าสายตาทำเลนส์ก็ไม่หนา อยากใช้เงิน ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้ index สูงสุดแล้วจะดีกับการมองเห็นดีขึ้น เพราะ index ย่ิงสูง ความชัดยิ่งต่ำจาก chromatic aberration จาก  abbe ที่ต่ำในเลนส์ high  index  ดังนั้นจะดีกว่าถ้าเราสามารถหาสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมให้กับคนไข้ แทนที่จะเชียร์ขายเลนส์ย่อบางจาก high index  อ่านเรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลของ Abbe' Value ต่อ Chromatic aberration จากลิ้งที่แนบมา https://www.loftoptometry.com/Eyecare/viewcase/53/11

 

 

ความหนาบางไม่ได้ขึ้นกับ index เพียงอย่างเดียว 

 

เหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความหนาบางของเลนส์นั้นอยู่มาก  ไม่ว่าจะขนาดเล็ก/ใหญ่ของกรอบแว่น ประเภทของแว่นเช่น กรอบเต็ม เจาะ เซาะ นั้นก็ส่งผล หรือจะเป็นตำแหน่งฟิตติ้ง PD ,fitting hight ก็ส่งผลเช่นกัน  

 

ถ้าจะว่ากันไปแล้ว ศิลปะในการเลือกกรอบแว่น ให้มีขนาดที่เหมาะกับหน้า เหมาะกับค่าสายตา นั้นให้ความบางที่มากกว่าการดัน high index แต่กรอบไม่เหมาะสมอยู่มาก พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าเลือกกรอบแว่นเป็น ความจำเป็นในการใช้ high index ก็จะลดลง และสามารถใช้ budget ที่เตรียมมา ไปจ่ายให้กับค่าเทคโนโลยีสูงๆจะดีกว่า 

 

ให้ลองคิดตาม เช่น คนไข้ PD แคบ (28/28) เลือกกรอบกลมใหญ่สายแบ้ว 60 มม. สะพานจมูกกว้าง 20 มม. วัด fitting high ได้ 38มม. สายตา -2.00DS เอียง -3.00DC มีเหล่ซ่อนเร้นในแนว hyper อีก 2 prism มีเหล่เข้าซ่อนเร้นอีก 3 base out  เตรียม budget ค่าทำเลนส์มา 20,000 บาท  จะทำอย่างไรกับปัญหาสายตากับตัวแปรที่ดุดันขนาดนั้น

 

 

จะตามใจคนไข้ให้ใช้กรอบที่ว่า แล้วเชียร์ขายเลนส์ย่อบาง 1.74 ให้เลนส์บางลงเพื่อให้อยู่ในงบ ได้เลนส์ aspheric โง่ๆมาคู่หนึ่ง มีทอนนิดหน่อย แต่ก็ ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรที่จะมาช่วยแก้ปัญหาสายตาสั้น+เอียงระดับนี้ และผมไม่อยากจะจินตนาการแว่นหลังประกอบเสร็จว่ามันจะขี้เหร่เบอร์ไหนเมื่อใส่อยู่บนหน้าตาก็จะอยู่ใกล้สะพานจมูก เดิมแค่เหล่เข้าซ่อนเร้น แต่พอใส่นี่เหมือนตาเหล่จริงๆ  เลนส์ด้านข้างก็จะหนาและมี distortion มาก ขอบล่างก็หนามากเพราะ fitting high สูงขนาดนั้น  ใส่ก็เมาเพราะ aspheric ไม่ได้ช่วยอะไรในปัญหาสายตาระดับนี้ ไหลหลุดจากดั้งทั้งวัน ต้องคอยขยับเซนเตอร์อยู่เรื่อย  แนะนำถ้าชอบแนวนี้มาก ให้ใส่ contact แล้วก็ทำเลนส์ไม่มีสายตาใส่ สบายกว่า 

 

 

แต่ถ้าเราไม่ตามใจคนไข้ เลือกอันที่สวยพอดีกับใบหน้า  คนไข้หน้าเล็ก พีดีเล็ก ก็เลือกกรอบที่มันเล็กสะพานจมูกแคบสมใบหน้าเป็นกรอบ full rim ที่มีพลาสติกช่วยพรางความหนา ให้ตำแหน่งตานั้นอยู่ในช่วงกลางแว่นให้ได้มากที่สุด แล้วใช้เนื้อ index เนื้อ 1.5 แล้วเอางบลงกับเทคโนโลยีเลนส์ atoric /multi-aspheric design อย่าง Multigressiv Mono ที่ตอบโจทก์กับปัญหาสายตายากๆระดับนี้  คนไข้ก็ได้เห็นชัด  distortต่ำ  ลานชัดกว้าง  ใส่ไม่มึนไม่งง  มันจะไม่ดีกว่าหรือ  ศิลปะในการเลือกกรอบจึงจำเป็นกว่าศิลปะในการเชียร์ขายเลนส์ย่อบาง 

 

เลนส์หนา/ไม่หนา ขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง

ความหนาบางของเลนส์นั้น ขึ้นกับสายตามาก/น้อยโดยตรง ลำดับต่อมาคือขนาดของกรอบแว่นที่เลือก ถัดต่อมาคือตำแหน่งฟิตติ้ง PD/FH ของคนไข้เมื่อสวมใส่แว่น  ถัดมาคือประเภทของกรอบแว่นที่เลือก (เต็ม / เจาะ /เซาะ)  ถัดมาคือเทคนิคการผลิตเลนส์  และสุดท้ายคือการเพิ่ม high index  

 

ซึ่งเลนส์ย่อบางที่คนส่วนใหญ่หมายถึงก็คือส่วนสุดท้ายคือ index นั่นหล่ะ  ซึ่งในบทความเรื่องนี้เราจะได้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการพยายาม optimum ให้เลนส์เรานั้นมีลักษณะความบางที่สุดด้วยการคุมตัวแปรให้รอบด้าน เพื่อให้มี budget เหลือสำหรับการทำเลนส์ดีๆ กรอบแว่นดีๆ หรือ โค้ตดีๆ แทนที่จะหมดไปกับการย่อบางด้วย index เพียงอย่างเดียว

 

สายตาเป็นบวก

คนที่ต้องใช้เลนส์ที่มีค่าสายตาเป็นบวก(สายตายาว) จะต้องใช้เลนส์นูนแก้  ซึ่งเลนส์นูนเป็นเลนส์ที่ขอบบาง ตรงกลางหนา ดังนั้น ขนาดของเลนส์ (diameter) จะเกี่ยวข้องกับความหนาของศูนย์กลางเลนส์ (center thickness) โดยตรง  นั่นหมายความว่า ในค่าสายตาเดียวกัน ถ้าหล่อเลนส์ที่มีขนาดใหญ่ ก็จะต้องได้ความหนาบริเวณเซนเตอร์มากขึ้น  แต่ถ้าแว่นที่เลือกก็ไม่ต้องใช้เลนส์วงใหญ่  center thickness ก็จะบางลงมันเอง แม้ว่าจะใช้ index ต่ำๆก็ตาม

 

ขยายความเผื่อท่านที่คิดตามไม่ทัน  ถ้าเราเข้าใจว่า "ความโค้งทำให้เกิดกำลังหักเหของแสง" โค้งมากกำลังมาก โค้งน้อยกำลังน้อย ไม่โค้งเลยไม่มีกำลังเลย และถ้าโค้งเท่ากันค่าจะเท่ากันด้วยเช่นกัน  

 

ถ้าเราต้องการทำค่าสายตาเดียวกันก็ต้องทำเลนส์ให้โค้งมันเท่ากัน  เลนส์บวกความหนาอยู่ตรงกลาง เรียกว่า center thickness ส่วนขอบเลนส์นั้นจะบาง  ถ้าเราเอาโค้งหน้ากับโค้งหลังให้มันโค้งมาบรรจบกัน ก็จะเกิดเลนส์ตรงกลางป่อง ขอบบาง ถ้าใช้วงเล็ก ขอบบรรจบกันเรา CT ก็จะบาง  ถ้าเราเอาโค้งเท่าเดิม แต่จะเอาวงใหญ่ขึ้น CT ก็จะหนา  ดังนั้นวงเลนส์ที่จะนำมาทำค่าสายตาจึงสำคัญกับความหนา/บางของเลนส์บวก 

 

ในรูปล่าง center thickness optimisaiton นี้เป็นเลนส์ powerเป็นบวก เดียวกัน เพราะมีความโค้งเท่ากัน แต่ที่หนาต่างกันเพราะว่า center thickness ต่างกัน  ถ้าวงเลนส์ที่ใหญ่ แต่จะทำให้ได้ power เท่าเดิมต้องเพิ่มความหนาตรงกลางเลนส์  ในทางกลับกัน ถ้าลด center thickness ลงมา ความหนาบริเวณตรงกลางจะลดลง แต่วงเลนส์ก็จะลดลงด้วย  

 

ดังนั้นในค่าสายตาที่เป็นบวก ถ้าเราใช้กรอบแว่นเล็ก ก็สามารถสั่งทำวงเลนส์ขนาดเล็กแค่พอประกอบเข้าเลนส์ เราก็จะได้เลนส์ที่บางลงมา 

 

กรอบเป็นตัวเลือกหนาขอบเลนส์ (edge thickness ,ET)

 

เนื่องจากเลนส์บวก ความบางที่สุดจะอยู่ที่ขอบเลนส์  ดังนั้นกรอบแว่นจะเป็นตัวกำหนดอีกทีว่า ขอบเลนส์จะยอมให้บางได้แค่ไหน  เพราะกรอบแว่นแต่ละแบบ ต้องการความหนาขอบไม่เท่ากัน   ถ้าเป็นกรอบเต็มพลาสติกหรือกรอบเต็มโลหะก็บางเป็นใบมีดได้เลย แต่ถ้ากรอบเจาะก็ต้องดูว่าตำแหน่งเจาะนั้นหนาพอที่จะรับแรงยึดเลนส์ได้ไหมหรือถ้าเป็นกรอบเซาะร่อง จะมีความหนาพอที่จะฝังเอ็นหรือโลหะลงไปในร่องได้ไหม  โดยความหนาขอบเลนส์ที่ต้องการในการเซาะร่องคือจุดที่บางที่สุดต้องไม่บางกว่า 1.8 -2 มม.

 

ดังนั้น เลนส์ที่เหมาะกับคนสายตามองไกลเป็นบวกมากๆ คือแว่นกรอบเต็มที่มีขนาดเล็กเพื่อให้เราสามารถสั่งเลนส์ทำบางใบมีดขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องเผื่อหนารูเจาะ หรือเซาะร่อง 2 มม. เพราะการทำเผื่อหนาขอบ นั่นก็หมายความว่า ต้องไปขยายความหนาที่เซนเตอร์ ทำให้ CT หนาขึ้นมาก่อน ความหนาจึงจะถ่ายไปที่ขอบเลนส์ได้  ทำให้เลนส์โดยรวมมีความหนาทั่วทั้งแผ่น 

 

แต่ที่ต้องระวังก็คือ การทำบางใบมีด หรือ การทำ center thickness optimisation (CTO) นั้นต้องสั่งทำโดยระบุ ขนาดความกว้าง ความสูง และสะพานจมูกของกรอบแว่นที่จะใช้งาน และ ตำแหน่งเซนเตอร์ที่จะประกอบให้คนไข้  แล้วเลนส์ที่ได้นั้นจะถูกทำให้มีขนาดพอดีกับกรอบแว่น ถ้าไม่กำหนดให้ดี อาจจะได้เลนส์ที่หนากว่าที่ควรจะเป็น หรือ อาจจะได้เลนส์บางเกินจนประกอบเข้ากรอบไม่ได้ หรือ อาจได้วงเล็กจนไม่สามารถประกอบตามเซนเตอร์ได้ 

 

ตัวอย่างผลการคำนวณความหนาบางที่ต่างกันระหว่างการทำกับไม่ทำ CTO  ในค่าสายตาเดียวกัน ฟิตติ้งเดียวกัน  

ตัวแปรควบคุม : ค่าสายตา +6.00 , PD 32/32 , FH 24/24 

โปรแกรมที่ใช้คำนวณ  Rodenstcok Wifit Reference (realtime online calculation)

จากผลการคำนวณสรุปได้ว่า 

1.ขนาดของกรอบแว่นที่เลือกส่งผลโดยตรงต่อความหนาบางของเลนส์บวก 

2.CTO เป็นเทคนิคการทำเลนส์บางใบมีด ที่ส่งผลต่อความหนาบางของเลนส์มากกว่าความเป็น high index 

3.high index ช่วยทำให้บางเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการทำ CTO ใน diameter ที่เท่าๆกัน 

4.การทำ CTO ส่งผลต่อน้ำหนักเลนส์ที่เบาลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการเพิ่ม index เพียงอย่างเดียว 

5.การเลือก dameter ที่เหมาะสม แล้วทำ CTO ให้ผลไม่ต่างกับการใช้ high index พร้อมกับการทำ CTO 

สรุปได้ว่า การเลือกขนาดของกรอบแว่นสำหรับตาบวกนั้นมีความสำคัญต่อการคำนวณวงเลนส์ที่จะใช้ในการประกอบเข้ากับเลนส์   ถ้าทำ CTO ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงว่าจะใช้ high index ในเมื่อมีวิธีบางที่ง่ายกว่าและไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม 

 

สายตาเป็นลบ

 

สายตาเป็นลบนั้นเป็นเลนส์สายตาสำหรับแก้ปัญหาคนสายตาสั้น  ซึ่งมีลักษณะเป็นเลนส์เว้า  จุดที่บางที่สุดจะอยู่ที่ศูนย์กลางเลนส์และค่อยๆหนาขึ้นเมื่อห่างจากศูนย์กลาง จนไปหนาที่สุดที่ขอบเลนส์

 

ตัวอย่าง ผลการคำนวณความหนาบางที่ต่างกันระหว่างการทำกับไม่ทำ CTO  ในค่าสายตาเดียวกัน ฟิตติ้งเดียวกัน  

ตัวแปรควบคุม : ค่าสายตา -6.00D/-6.00 , PD 32/32 , FH 24/24 

โปรแกรมที่ใช้คำนวณ  Rodenstcok Wifit Reference (realtime online calculation)

สรุปได้ว่า "การทำ CTO นั้นไม่ได้ช่วยในความหนาบางของเลนส์หลังประกอบเข้ากับกรอบแว่น  มีเพียง index และขนาดของวงเลนส์ และ ค่าฟิตติ้งเท่านั้นที่ส่งผล"

 

ตัวอย่าง :  ขนาดของกรอบแว่นนั้นส่งผลต่อความหนาบางของเลนส์ลบมากกว่าผลของ index 

ตัวแปรควบคุม : ค่าสายตา -10.00D /-10.00D, PD 32/32 , FH 24/24 

โปรแกรมที่ใช้คำนวณ  Rodenstcok Wifit Reference (realtime online calculation)

สรุปได้ว่า  high index นั้นช่วยในส่วนของเลนส์ที่บางกว่าในสายตาที่มากๆ  แต่เมื่อเมื่อเทียบกับความบางที่ได้จากขนาดวงเลนส์แว่นที่เล็กลงแล้ว แว่นขนาดเล็กให้ความบางที่บางกว่ามาก 

 

 

 

ดังนั้นคนที่สายตาสั้นมากๆ ถ้าเลือกแว่นที่ต้องการวงเลนส์ใหญ่มาก ก็จะได้ขอบหนาเลนส์ติดมาเยอะด้วยเช่นกัน แต่ถ้าสามารถหากรอบเล็กที่มันพอดีและดูดีได้ ก็จะสามารถตัดขอบเลนส์ทิ้งได้เยอะ เลนส์มันก็จะบางมันเอง แม้จะไม่ใช้ high index ก็ตาม

 

แต่ถ้าเกิดว่าชอบแว่นใหญ่ๆ ประเภทที่ว่า จะเอาให้ได้  ก็คงจะตัดขอบหนาทิ้งเท่าที่จะคุมเซนเตอร์ให้ตรงตำแหน่งตาดำแล้วสามารถทำได้แล้วไปใช้ index สูงๆอย่าง 1.74 มาช่วยให้บางได้อีกหน่อย แต่ความหนาที่ลดลงจากการเพิ่ม index นั้น ก็อย่าไปคาดหวังว่ามันจะบางลงตามราคาที่จ่ายเพิ่ม เพราะจะไปคิดเป็นเปอร์เซนต์อย่างนั้นไม่ได้ เช่น เลนส์ cosmolit  1.6  ราคา 10,000 บาท พอใช้ 1.74 ราคาแพงกว่าเกือบ 2 เท่า แล้วอย่าไปคิดว่าเลนส์มันจะบางลง 2 เท่า  เพราะโดยธรรมชาติแล้ว index ขยับไปหนึ่งสเตป นั้นให้ความบางลงมาได้ประมาณ 0.7 มม. เท่านั้นเอง แต่ความหนาที่เพิ่มขึ้นจากวงเลนส์ที่ใหญ่ขึ้นเล็กลงนั้นเปลี่ยนขึ้น/ลงแบบ พาราโบลา นั่นหมายความว่า การลดขนาดแต่ละมม.นั้นส่งผลต่อความหนาบางมาก

 

และสายตาเป็นลบนั้น ไม่สามารถทำขอบบางใบมีด (CTO)ได้ เพราะความหนาอยู่ที่ขอบแล้ว วงใหญ่วงเล็กไม่ได้เกี่ยวข้องกับ center thickness ดังนั้น ใน index เดียวกันไม่ว่าจะสั่งเลนส์ diameter ใหญ่หรือเล็ก เมื่อตัดเข้ากรอบเดียวกันบนเซนเตอร์เดียวกันเลนส์ก็หนาเท่ากัน  ซึ่งต่างจากเลนส์บวกที่ diameter ส่งผลกับ center thickness โดยตรง 

 

ในการทำ center thickness สำหรับเลนส์ลบนั้น จะทำเพื่อบาลานซ์ความหนาของเลนส์ให้หนาเท่ากันมากกว่า คือทำข้างที่บางกว่าให้หนาเท่ากับข้างที่หนาด้วยการเพิ่มความหนาของ CT ในเลนส์ข้างที่บาง ก็จะทำให้เลนส์บางนั้นหนาขึ้น ซึ่งใช้ในกรณีคนไข้มีสายตาสั้นสองข้างที่ต่างกันมาก 

 

การระบุขนาดเลนส์บนกรอบสำหรับสายตาสั้น จึงไม่ได้ไปช่วยให้ lab ทำเลนส์ให้บางลงได้ จะได้ก็เพียงแต่ว่า เพื่อวางตำแหน่ง LOGO brand  เช่นการทำ R-Engraving เท่านั้น  ตรงกันข้ามกับสายตาเป็นบวก ข้อมูลกรอบแว่น ข้อมูลเซนเตอร์  จะมีการนำเอาไปคำนวณทำ center thickness optimisation เพื่อให้ได้วงเลนส์เล็กที่สุดเท่าที่จะสามารถประกอบให้เข้ากับกรอบและยังได้เซนเตอร์อยู่

 

ดังนั้น  คนที่สายตาสั้นมากๆ การเลือกกรอบแว่นให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่จำเป็นสูงสุดต่อความหนาบางของเลนส์  อย่าไปอยากแบ๊วมากนัก  ปล่อยให้คนที่สายตาน้อยๆเขาแบ๊วไป มีแว่นเล็กเยอะแยะที่ใส่แล้วน่ารัก และใช้งานได้จริง และแว่นนั้นเราใส่เพื่อให้เรามองเห็นชัด โลกสวยงาม สบายตา  แต่ถ้าอยากแบ๊วก็ไปหา contact lens มาใส่ แล้วหาแว่นแบ๊วมาใส่ทับเพื่อ selfy หรือทำกิจเป็นครั้งคราวก็น่าจะดีกว่า 

 

กรอบแว่นกับความหนาบางของเลนส์​

กรอบแว่นมีอยู่ 3 ประเภท คือ กรอบเต็ม ,กรอบเจาะ และ เซาะร่อง 

 

กรอบเต็ม (full rim)

กรอบเต็มนั้น มีทั้งกรอบเต็มที่มีโครงสร้างเป็นโลหะและพลาสติก ลักษณะของกรอบแว่นประเภทนี้คือมีร่องรับสันเลนส์อยู่ภายใน ซึ่งในการประกอบเลนส์ก็จะทำการขึ้นสันเลนส์ให้พอดีกับร่องแล้วใส่เข้าไป สำหรับกรอบพลาสติกจะใช้การอัดเลนส์เข้าไปโดยตรง  ส่วนกรอบโลหะจะให้การคลายน๊อตสกรูแล้วใส่เลนส์แล้วค่อยไขกลับ

ข้อดีของกรอบเต็ม

กรอบเต็มนั้นเราสามารถเลือก index ได้อิสระเนื่องจากเป็นกรอบที่ไม่ต้องสนใจเรื่องความเหนียวของเลนส์ ไม่ต้องสนว่าจะแตกไม่แตก เพราะมีขอบแว่นเป็นเกราะป้องกันเลนส์อยู่แล้ว การเลือกเนื้อเลนส์จึงสามารถเลือกได้ทุกแบบไม่ว่าจะ index  1.5 ,1.53,1.6, 1.67 และ 1.74  (ส่วน 1.56 เป็นเลนส์ middle คุณภาพไม่ค่อยดี เกิด chromatic aberration เยอะจึงไม่ค่อยนิยมใช้ในเลนส์แบรนด์มาตรฐานสักเท่าไหร่ จะมีก็แต่ในเลนส์เกรดล่าง) การขยับเป็น high index จึงมุ่งสู่ความต้องการให้เลนส์บางลงในกรณีที่เราไม่สามารถหากรอบเล็กที่สุดที่ชอบใจได้

 

จากการที่ไม่ต้องการความเหนียวในการรับแรงในการยึดโครงสร้างแว่น​อย่างกรอบเจาะ และ ไม่ต้องเผื่อหนาขอบเลนส์สำหรับทำเซาะร่อง ดังนั้น จะเกิดประโยขน์สำหรับคนที่เป็นตาบวก เพราะสามารถสั่งทำขอบบางใบมีดได้เลย ขอบเลนส์ก็จะบางเฉียบ  ความหนาบริเวณเซนเตอร์ก็จะบาง (พอที่จะให้ขนาด diameter นั้นพอดีที่จะประกอบเลนส์ให้ได้เซนเตอร์)

 

ดังนั้น คนที่เป็นตาบวกมากๆ ควรใช้กรอบไม่ใหญ่ที่เป็นกรอบเต็ม เพื่อลด diameter ผ่านการทำ center tickness optimisation ,CTO และให้สามารถสั่งทำบางใบมีดได้ไม่ต้องเผื่อหนาไว้เซาะหรือเจาะ เพราะการไปเพิ่ม edge thickness นั่นหมายความว่าต้องไปเพิ่มที่ center thickness ทำให้เลนส์โดยรวมนั้นหนาขึ้น และ ต้องสั่ง lab เท่านั้น เพราะ lab จะไม่ทำ CTO มาให้ในเลนส์สต๊อกเพราะวงมันอาจจะเล็กเกินไป จึงมักจะทำไว้เป็นขนาดมาตรฐาน เลนส์จึงมักหนา แต่สำหรับตาลบ อย่างที่ได้พูดไว้ข้างต้นว่า ทาง lab คงช่วยได้ไม่เยอะ ต้องพยายามหากรอบเล็กเอา แล้วดัน high index ถ้ารู้สึกว่าหนา 

 

 

กรอบเซาะร่อง  (Grooving)

กรอบเซาะร่องเป็นกรอบที่ใช้การฝังเอ็นหรือโลหะเข้าไปในกรอบแว่น  มีทั้งเซาะร่องโลหะที่ฝังโลหะรอบเลนส์เช่น linderg strip titanium หรือ ครึ่งบนเป็นโลหะ ครึ่งล่างเป็นเอ็นหรือเป็นเอ็นโดยรอบโดยเอ็นด้านบนจะฝังอยู่ในโลหะ ส่วนด้านล่างจะเปลือย บางครั้งจึงเรียกกรอบประเภทนี้ว่า ครึ่งกรอบหรือ half-rim

 

แว่นเซาะร่องนั้น ต้องการความหนาที่ขอบเลนส์ในระดับหนึ่ง คือถ้าเป็นเซาะร่องเอ็น จะต้องการความหนาขอบอย่างน้อย 1.8 มม.​ ซึ่งต้องดูว่าเอ็นนั้นมีความหนากี่มม.จะต้องเซาะกว้างเท่าไหร่ หรือถ้าเป็นกรอบโลหะจะต้องเซาะกว้างเท่าไหร่ จึงจะทำให้ขอบเลนส์ที่เหลืออยู่นั้นมีความหนาพอที่จะไม่กระเทาะ

ตัวอย่างเช่น  กรอบเซาะร่องโลหะ ic!Berlin ต้องการขนาดความกว้างร่อง 0.7มม.และลึกร่อง 0.7มม หรือ strip titanium ต้องการเซาะร่องกว้าง 0.8มม.ลึก 0.7 มม. และ กว้าง 1.0 มม.ลึก 0.7 มม. หรือถ้าเป็นเซาะร่องเส้นลวดอย่าง rim titanium ต้องการร่องกว้าง 1.00 มม.และร่องลึก 0.5 มม. ดังนั้นกรอบเซาะร่องส่วนใหญ่นั้นไม่เหมาะกับเลนส์ที่มีความหนาขอบบางกว่า 1.8 มม.

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราไม่สามารถทำให้ขอบเลนส์บางใบมีด(CTO)ได้ในเลนส์สายตาบวก แต่ะจะไม่กระทบกับเลนส์สายตาสั้น เพราะขอบหนาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าสายตาสั้นมากๆ มันจะโชว์ขอบหนาเลนส์ให้เห็นเท่านั้นเอง 

 

ดังนั้นคนที่สายตายาว (สายตาเป็นบวก) มากๆ หลีกเลี่ยงแว่นกรอบใหญ่ที่เป็นกรอบเซาะร่อง

 

กรอบเจาะ (rimless)

กรอบเจาะ คือกรอบที่ใช้เลนส์ในการรับแรงยึดในการประกอบเป็นแว่น ดังนั้นเลนส์ที่จะใช้ได้นั้นจำเป็นต้องมีความเหนียวพอ ตั้งแต่ index 1.53 ขึ้นไป  ซึ่งเลนส์ที่เนื้อเหนียวที่สุดคือเนื้อ trivex index 1.53 ,abbe 45  และเนื้อ polycarbonate index 1.59  abbe 29 และเนื้อที่มีความเหนียวอื่นๆเช่น 1.60 ,1.67 และ 1.74

 

แต่เนื้อที่ใช้ไม่ได้เลยคือ CR-39  index 1.5  abbe 58

 

กรอบเจาะเองก็มีรูปแบบการเจาะหลายรูปแบบ มีทั้งแบบที่เจาะแล้วเอาน๊อตยึดเช่น porsche design  แบบที่เจาะแล้วเอาปุ๊กพลาสติยึดเช่น shilouette และแบบที่เจาะแล้วเสียบโลหะเข้าไปโดยตรงโดยไม่มีอะช่วยยึดอย่าง lindberg spirit ,strip3p และ air classic

 

 

และ ตำแหน่งที่เป็นจุดยึดเป็นจุดที่ต้องการความแข็งแรงมากที่สุด ดังนั้นเลนส์ต้องมีความเหนียวและหนาพอ ซึ่งตำแหน่งรูเจาะนั้นควรมีความหนาไม่น้อยกว่า 1.8 มม. ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่รูเจาะนั้นสามารถบางกว่านี้ได้ เพราะไม่ใช่จุดรับแรง

 

ในสำหรับเลนส์ลบที่มีขอบหนานั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องการเจาะเนื่องจากเลนส์มีความหนาที่ขอบอยู่แล้ว แต่เลนส์บวกที่ความหนาจะอยู่ที่บริเวณเซนเตอร์และจะบางที่ขอบเลนส์และถ้าจะทำ CTO ให้ center thickness บางลง ขอบเลนส์ก็จะบางลงไปด้วย แต่ถ้าบางมากเกินไปก็เจาะไม่ได้อีก เพราะว่าเลนส์จะไม่แข็งแรงพอที่จะรับแรงยึดของโครงแว่น 

 

ดังนั้นในกรอบเจาะ สำหรับสายตาที่เป็นบวกมากๆ ต้องไม่ใช้เลนส์ที่ใหญ่เกินไป และสั่งทำ CTO กดเลนส์ให้ minimum edge thickness บางที่สุดเท่าที่ตำแหน่งรูเจาะจะหนาพอเจาะได้ ส่วนที่ไม่ใช่ตำแหน่งรูเจาะบางได้ไม่เป็นไร  ซึ่งมีวิธีเดียวคือต้องคำนวณแบบ real time แล้วเช็คดูตำแหน่งรูเจาะว่าเลนส์หนาพอหรือไม่ ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันนั้นสามารถทำได้แล้วด้วยซอฟแวร์ที่เชื่อมต่อกับ server ของฝั่งผู้ผลิต ตัวอย่างเช่น rodenstock winfit reference  ทำให้เราสามารถปรับแต่งค่าก่อนสั่งเลนส์ได้ เพื่อให้ได้เลนส์ที่บางที่สุด เท่าที่ยังแข็งแรงอยู่

 

แต่ถ้าเป็นไปได้ สำหรับคนไข้สายตายาวมากๆ จะเลี่ยงกรอบเจาะกรอบเซาะไปใช้กรอบเต็มได้ก็จะย่ิงดี  แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้ทำตามเทคนิคที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

สรุป

ปัจจัยต่อความหนาบางของเลนส์นั้นมีอยู่หลายอย่าง ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราจะสามารถช่วยคนไข้ของเราให้ประหยัดเงินในกระเป๋าสตางค์  ได้เลนส์ที่บางโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองกับการจ่ายค่าความบางเลนส์​ หรือสามารถนำ budget ไปใช้เลนส์ที่ Hi Technology ดูจะมีประโยชน์กว่า เนื่องจากว่า cost ที่ต้องจ่ายกับสิ่งที่ได้มานั้นดูจะไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่  เอาส่วนต่างหมื่นบาทไปจ่ายให้กับเทคโนโลยีดีๆ ให้เรามองเห็นที่ดี  ดีกว่าใช้เงินก้อนเดียวกันไปซื้อความบางเลนส์อันน้อยนิดแล้วมองเห็นไม่ดี  เพราะมีวิธีที่ดีกว่าหลายอย่างที่จะช่วยให้เลนส์บางอย่างที่กล่าวมาข้างต้น 

 

การเลือกกรอบแว่นที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องความสวยงาม และ ฟังก์ชั่นของแว่นที่ช่วยในเรื่องเลนส์บาง และการคุมพารามิเตอร์ให้มีความเสถียรภาพนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ให้บริการแว่นตา จำเป็นต้องทำความเข้าใจ   อย่าไปอยากขายซะจนต้องไปตามใจคนไข้เสียทุกเรื่องและอย่าไปเชียร์ขายกรอบก่อนที่จะรู้สายตาของคนไข้เพราะกรอบแว่นนั้นเลือกทั้งหน้าและสายตาของคนใส่  ช่างจะได้ไม่ต้องมานั่งแก้งานกันทีหลัง 

 

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการขายของด้วยการก้มหน้าก้มตาดันเชียร์ขายความกลัวของคนไข้ด้วยวลี "เลนส์ย่อบาง" ทั้งๆที่สายตาคนไข้ก็ไม่ได้มากนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ ไปสร้าง value ให้กับงานที่ทำดีกว่า เช่นตรวจตาให้มันดี  ช่วยเลือกกรอบให้มันเหมาะสม  วางเซนเตอร์ให้มันดี  ดัดแว่นให้มันได้มุม  สอนให้รักษาของ  แบบนี้ดูจะยั่งยืนกว่า 

 

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราววันนี้จะทำให้หลายๆคนได้เข้าใจคำว่า “เลนส์ย่อบาง” ในทางที่ถูกที่ควรมากขึ้นและใช้ได้ถูกต้องเหมาะสม และเกิดความสง่างามในวิชาชีพและอาชีพมากขึ้น

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม

 

ดร.ลอฟท์

 

Contact Me

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม.10220 

www.facebook.com/loftoptometry

lineid: loftoptometry

www.loftoptometry.com