Case Study 39 : ภาพเงาซ้อนขณะดูใกล้จากสายตาเอียงที่เกิดขึ้นจากการเพ่งของเลนส์ตา ,Lenticular Astigmat


Case Study 39 : ภาพเงาซ้อนขณะดูใกล้จากสายตาเอียงที่เกิดขึ้นจากการเพ่งของเลนส์ตา ,Lenticular Astigmatism .

Doctor : Dr.Jack ,O.D. ,

Patien : Dr.Loft O.D

Place : Loft Optometry ,Waharapol .

Exam date : 29 July 2020 

Story by : Dr.Loft 


 

Intro

เขียน case study ของคนอื่นมา 6 ปี วันนี้จะขอลองเขียนเคสของตัวเองดูบ้าง  ซึ่งดูน่าจะเป็นเรื่องที่ยาวมาก เพราะเป็นคนที่มีปัญหาสายตาตั้งแต่เด็กและมีความรู้สึกสงสัยเกี่ยวกับเรื่องการมองเห็นของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก  ลองอ่านดูว่าจะออกมายังไง

 

ความอาภัพอย่างหนึ่งของทัศนมาตรเมื่อต้องการจะแก้ไขปัญสายตาหรือตรวจการทำงานของฟังก์ชั่นต่างๆของตาตัวเองนั้น กลับเป็นเรื่องยาก แก้ปัญหาให้คนอื่นง่ายกว่า และ ยิ่งเรามีความรู้ความเข้าใจมากเท่าไหร่ ความกลัวความผิดพลาดก็มากขึ้นเท่านั้น เช่นเรามีความรู้ความเข้าใจเรื่องไฟฟ้า เราจะระมัดระวังการเดินระบบไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เกิดการช๊อตหรือลัดวงจรฉันนั้น และยิ่งเราต้องการคนที่สามารถมาทำงานลงรายละเอียดมากเท่าไหร่  ก็จะยิ่งหาคนที่จะมาตรวจให้ยากมากเท่านั้น  จะว่าไปก็คงคล้ายๆกับหมอทำเลสิกไม่สามารถทำเลสิกตาตัวเองได้ ต้องอาศัยหมอคนอื่นมาช่วยทำให้ และยิ่งมีความรู้ว่าเลสิกมีรายละเอียดหลายอย่างที่ต้องระวัง มี complication หลายอย่างที่จะตามมา ก็ย่อมจะต้องมองหาใครสักคนที่ตนไว้ใจมาช่วยแก้ปัญหาให้

 

ผมเองก็เช่นกัน มีความอยากจะรู้ปัญหาเกี่ยวกับสายตาและฟังก์ชั่นของสองตาที่แท้จริงของตัวเอง พอๆกับอยากหาสาเหตุของปัญหาสายตาที่แท้จริงของคนไข้  แต่ก็อยากที่จะหาคนที่เชื่อมือและไว้ใจได้ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่า คนที่เชื่อมือแต่ละคนนั้นอยู่ไกลเหลือเกิน  ดร.เดียร์ อยู่เชียงใหม่ และ ดร.แจ๊ค อยู่พิจิตร  กว่าจะได้เจอกันแต่ละครั้งก็ต้องหาจังหว่ะเหมาะๆ เพราะต่างคนก็ต่างมีหน้าที่ต้องทำ ทำให้ผมต้องทนใส่แว่นเก่าที่ไม่ได้เปลี่ยนค่าสายตามากว่า 4 ปี และเชื่อว่าเร่ิมมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว เพราะเริ่มมีอาการไม่สบายตากับแว่นเดิม  จึงชอบถอดแว่นแล้วอยู่แบบมัวๆ ดีกว่าชัดแต่ปวดหัว ซึ่งอาการนี้เป็นมาประมาณครึ่งปี และดูเหมือนอาการจะหนักขึ้นทุกวัน

 

ย้อนอดีตประสบการณ์​การทำแว่นตาในยุค 90s

 

ความโชคดีอย่างหนึ่งของผมคือ การได้เป็นคนที่มีปัญหาทางด้านสายตาตั้งแต่เด็กๆ แม้ไม่ได้เป็นเคสที่สั้นมากๆ หรือยาวมากๆ หรือเอียงมากๆ  แต่ก็เป็นเคสที่ยากพอควรสำหรับคนในยุค 20 ปีที่แล้วที่จะมีความรู้ความเข้าใจพอที่จะแก้ไขปัญหาผมได้  ทำปัจจุบันเมื่อต้องทำงานในการแก้ไขปัญหาการมองเห็นของคนไข้ ทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่มีปัญหาสายตา ว่าเวลาเขาพยายามเล่าปัญหานั้น เขาไม่ได้เรื่องมาก แต่เขารู้สึกอย่างนั้นจริง และพยายามถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเห็นผ่านคำพูด ไม่ใช่เป็นการก่อกวนหรือก่อรำคาญ 

 

ทำแว่นครั้งแรก อายุ 13 ปี (2539)

 

ผมเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นครั้งแรกตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งขณะนั้นกำลังบวชเป็นสามเณร เรียนบาลี อยู่ชั้น ป.ธ.1-2 อยู่สำนักเรียนปริญัติธรรม วัดเต็มรักสามัคคี บางบัวทอง นนทบุรี  ซึ่งถ้าใครที่เคยรู้มาบ้างว่าการเรียนภาษาบาลีนั้นมันยากขนาดไหนว่าจะได้แต่ละประโยค  ต้องเรียนวันละ 3 เวลา ภาคเช้า ภาคบ่าย และภาคค่ำ พอหลังทำวัตรเย็นก็ต้องเตรียมแปลธรรมบทส่งครูในตอนเช้า  การนอนตี1-2 ของเด็กน้อยเรียนบาลีนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ  ยิ่งช่วงที่ต้องท่องบาลีไวยากรณ์นั้น เรียกว่าไม่ต้องหลับต้องนอนกันต่อเนื่อง 3-4 เดือน

 

ปัญหาในตอนนั้นของผมก็คือ ตัวหนังสือจะเริ่มเกิดเป็นเงาซ้อนขึ้นมา หลังจากอ่านหนังสือไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งคล้ายเป็นลักษณะของอาการสายตาเอียง คือเห็นตัวหนังสือชัดแล้วมีเงาซ้อนขี่กันเป็นสองตัว แต่ต่างจากสายตาเอียงทั่วไปคือ จะเป็นหลังจากอ่านหนังสือไปสักระยะหนึ่ง แต่เริ่มต้นอ่านตอนแรกจะไม่ซ้อน  และถ้าได้ลองเกิดเงาซ้อนแล้ว มองไกลก็ซ้อน ดูใกล้ก็ซ้อน ต้องทำตาหรี่ๆ ภาพจะซ้อนน้อยลงเพื่อให้สามารถอ่านหนังสือได้ต่อ

 

และเมื่อเริ่มทนไม่ไหว จึงเริ่มคิดว่าตัวเองมีปัญหาสายตาสักอย่าง  จึงคิดว่ามีปัญหาสายตา จึงเริ่มมองหาที่ทำแว่น

 

ข้อมูลข่าวสารในยุค 90s นั้นไม่ได้ค้นหากันง่ายๆด้วย google หรือ ผ่านทาง facebook fanpage ง่ายๆ อย่างในสมัยนี้ เพราะ internet ยังไม่ทั่วถึง และช้ามากด้วย speed เพียง 54kbps  การเข้า website ก็ยากลำบาก เพราะ google ยังไม่เกิด จะเข้าเว็บอะไรก็ต้องไปซื้อนิตยสารมาอ่าน เพราะ search engine ยังไม่มี

 

แน่นอนว่า การทำแว่นในสมัยก่อน จะรู้ว่าที่ไหนทำแว่นก็คงดูจากโฆษณาในโทรทัศน์หนวดกุ้ง และก็มีอยู่แบรนด์เดียวดังๆ สาขาเยอะๆ  ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่มีความรู้  ก็สรุปเอาเองว่า ของในทีวีน่าจะดี จึงไปลองใช้บริการ

 

เท่าที่พอจำเหตุการณ์ได้นั้น ผมเข้าไปตรวจสาขาที่ตลาดบางบัวทอง  หลังจากเข้าไปภายในร้าน ทันทีนั้น จะมีพนักงานเอาน้ำส้มมาเสิร์ฟ และให้นั่งสักครู่ จากนั้นก็จะให้เข้าไปในห้องตรวจ ซึ่งก็มีเครื่องคอมพิวเตอร์วัดแว่นอยู่เครื่องหนึ่ง เอาคางเกยแล้วค่ามันจะออกมา

 

จากนั้นพนักงานวัดแว่นก็จะเอาแว่นมาเสียบเลนส์ให้ลอง  แล้วให้มองไปที่ชาร์ตเป็นตู้กล่องไฟ ที่ห่างออกไปแระมาณ 2 วา แล้วถามเราว่า ชัดไหมๆ จริงๆเราจะบอกเขาว่า ไม่ใส่เลนส์เราก็เห็นตัวเล็กสุดนะ แต่พอใส่เลนส์ตัวมันจะดำๆ คมๆ  ซึ่งถ้าถามว่าชัดกว่าไหม ก็ต้องบอกว่าชัดกว่า  ซึ่งความหมายในตอนนี้ก็คือกำลังถูก over minus อยู่  พอเราบอกว่าชัด ก็เป็นการตกลงว่าเอาค่านั้น เพราะคนสมัยนั้นเขาวัดแว่นเอาชัดกัน ถ้าชัดแปลว่าใช่ ทำนองนั้น 

 

จากนั้นให้เลือกกรอบแว่น ​ ซึ่งด้วยความรู้เกี่ยวกับกรอบแว่นไม่มี พนักงานก็เลือกกรอบให้ตัวหนึ่ง ราคา 3,000 บาทในตอนนั้น (ทองบาทละประมาณ 4,500) เลนส์ราคา 1,200 บาท จำได้แม่นพอสมควร

 

พนักงานบอกให้รอ 3 วัน มารับได้  วันมารับ ก็เห็นชัด แต่ภาพบีบๆ แสบๆตา แสงหน้าร้านจะจ้าๆ และตึงบริเวณขมับและหัวตา  แต่พนักงานบอกว่า เป็นธรรมดาของการใส่แว่นใหม่ ให้ปรับตัว 5 วัน  หลังจากปรับตัว 5 วันยังมีปัญหาอยู่ จึงกลับมาแก้ไข แต่ก็ได้รับคำตอบว่า ให้ปรับต่ออีก 5 ว่าใกล้แล้ว และก็ยังปรับไม่ได้ กลับมาอีกครั้ง พบว่าประกันหมด เพราะประกัน 7 วัน ไม่สามารถทำอะไรได้  นั่นก็เป็นประสบการณ์การตัดแว่นครั้งแรก เป็นความ Fail รอบที่หนึ่ง 

 

หลังจากนั้น ก็มีรถหน่วย เข้ามาให้บริการในวัด เป็นรถตู้ มีเครื่องคอมพ์วัดแว่น ตั้งกลางศาลาหอฉัน และก็ให้พระเณรมาวัด  แล้วเครื่องก็จะให้ค่าออกมา แล้วก็ทำการเสียบเลนส์กันกลางศาลา  ผมก็เลยลองดูอีกครั้ง  ซึ่งราคาแว่นตัวที่สองนั้น ทำไป 3 พันบาทในเวลานั้น รอเลนส์ 1 สัปดาห์ ก็มีรถเอาแว่นมาให้ ซึ่งเมื่อลองใส่ความชัดนั้นใกล้เคียงกับไม่ได้ใส่แว่น  ปัญหาก็ยังอยู่ครบ ก็เลยถอดเก็บมากกว่าใส่  นั่นก็เป็นประสบการณ์กับแว่นตัวที่สอง เรียกได้ว่า fail รอบที่สอง 

 

พอเริ่มเรียน ป.ธ. 3 การเรียนเริ่มหนักมากขึ้น  ต้องอ่านหนังสืออย่างหนักมากขึ้น  อาการภาพซ้อนก็มากขึ้น ครั้งนี้ชักใจไม่ค่อยดี เพราะมันเป็นหนักมาก  หลังจากอ่านหนังสือพักหนึ่งแล้วมองโลกภายนอก เห็นอะไรเป็นภาพมีเงาซ้อนมองไม่เป็นคน  ตามี 4 ดวง  จมูก 2 ปาก 2 ขี่กันอยู่ หยีตาก็ดีขึ้นแต่เล็กน้อย ทำแว่นมาสองครั้งก็ไม่ช่วย  จึงคิดไปตรวจหาปัญหาต่อที่โรงพยาบาล เพราะกลัวจะตาบอด 

 

คนที่โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคตานั้นคนเยอะมาก ต้องไปรอกดบัตรคิวตั้งแต่ตี 5 เพื่อรับคิวตรวจตอน 10 โมง ซึ่งใช้เวลาตรวจประมาณ 10 นาที ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆเกี่ยวกับโรคตา  แม้ผมเล่าอาการภาพซ้อนให้ฟัง  แต่เมื่อดูผลจาก VA chart ตาเปล่าก็ดูปกติดี และเมื่อดูใกล้เวลาขณะนั้นก็ไม่ซ้อน  หมอจึงบอกว่าเราอาจจะคิดมาก ไม่เป็นไรหรอก ผมอธิบายเหมือนหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เลอะบางหน้าแล้วมีตัวหนังสือซ้อนๆขี่กัน แต่ผมก็ต้องหยุด เพราะผลของ Visual Acuity ขณะนั้น ผมชัดเท่ากับคนปกติ อ่านได้ทุกตัว ผมจึงควรเป็นคนปกติ  นอกจากนี้แล้วเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจาก psycho  ได้ฟังดังนั้น จะว่าเบาใจเพราะไม่เป็นโรคก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งคือ ปัญหาที่เราเป็น ไม่มีคนเข้าใจเรา  ก็เลยต้องทำใจอยู่ในสภาวะภาพมีเงาซ้อนแบบนี้เรื่อยมา 

 

และหลังจากสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ได้ฉลองพัตรยศมหาเปรียญเรียบร้อยแล้ว ก็ลาสิกขามาศึกษาทางโลก ก็เป็นปัญหานี้เรื่อยมา คือตอนแรกชัด อ่านไปสักพักแล้วเกิดเงา และต้องหยุดอ่านพักใหญ่ๆ จึงจะสามารถกลับมาชัดใหม่ ผมเรียน ม.ปลายที่ ร.ร.วัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี  ต้องมาขึ้นต่อรถกลับบ้านแถวท่าน้ำนนท์ ก็ลองหยิบแว่นข้างถนนมาลองใส่  คนขายก็ให้เลือกๆเอาอันไหนชัดก็หยิบไป  ผมลองได้อันหนึ่ง มองว่าชัดแล้วก็จ่ายตังค์  แต่ใส่ไปแป๊บเดียวต้องโยนทิ้ง เพราะมันยิ่งกระตุ้นภาพซ้อนผมให้เกิดเร็วขึ้น จึงทิ้งแว่นและทนอยู่ยาว จนเรียนจบมัธยมปลาย 

 

ปี 48 เริ่มเข้าเรียนสาขาวิชาทัศนมาตร สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ ม.รามคำแหง  ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นคณะ และยังไม่มีคนจบการศึกษา ปีแรกๆ ก็เรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่ก็คุ้นชินกับปัญหาสายตาของตัวเอง คือสามารถอยู่กับความมัวนี้ได้ จนระทั่งเข้าปี 3 เริ่มมีวิชาคลินิกบ้าง จึงเริ่มเข้าใจปัญหาตัวเอง ว่าตัวเองนั้นน่าจะมีปัญหาสายตาเอียงที่เกิดขึ้นกับเลนส์ตาเรียกว่า lenticular astigmatism ซึ่งคนส่วนใหญ่นั้นมีสายตาเอียงเกิดขึ้นที่กระจกตามากกว่าเรียกว่า corneal astigmatism ทำให้สายตาเอียงมองไกลกับมองใกล้ของคนทั่วไปนั้นค่อนข้างจะคงที่  แต่คนที่เป็น lensticular astig. อย่างผมนั้น สายตาเอียงจะถูก induce มาตอนเลนส์ตามีการเพ่ง เมื่อตอนดูใกล้   ดังนั้นการแก้ไขปัญหานั้นทำได้ด้วยการลดการเพ่งของเลนส์ตาเพื่อไม่ให้การเพ่งไป induce สายตาเอียงให้เกิดขึ้น  ด้วยการใช้เลนส์โปรเกรสซีฟที่มีค่า add อ่อน ๆ ปัญหาก็บรรเทาและลดลงตามลำดับ

 

จนกระทั่งเริ่มมาได้สายตาเป็นเรื่องเป็นราวก็หลังจากเรียนจบแล้ว มีงานทำแล้ว ก็เริ่มได้ค่าสายตาที่ใกล้ค่าจริงตัวเองมากขึ้น แต่กระนั้นก็ถือว่า over minus ไปเยอะเหมือนกันถ้าเทียบกับปัจจุบัน เพราะยังไม่สามารถเข้าใจฟังก์ชั่นและตรวจสายตาตัวเองได้

 

จนกระทั่งมีเพื่อนที่ไว้ใจในความตั้งใจในงานทัศนมาตรและเชื่อมือกัน จึงขอไหว้วานกันมาตรวจให้หน่อย ซึ่งได้จังหว่ะ ดร.แจ๊คมีโอกาสลงมากรุงเทพเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ก็เลยขอให้มาช่วยตรวจสายตาให้  เป็นที่มีของเคสตัวเองที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

 

Case History

สมยศ คนไข้ชาย วัย 37 ปีกับอีก 6 เดือน มีปัญหากับแว่นปัจจุบันที่ไม่เคยเปลี่ยนค่าสายตามากว่า 4 ปี ว่าดูใกล้เริ่มตัวละลาย คล้ายๆกับมีสายตาคนแก่ เริ่มรู้สึกว่า ตึงๆ มึนๆ ปวดศีรษะเวลาต้องใส่แว่นดูใกล้ เป็นมาน่าจะเกือบๆปี  เรียกว่า ถอดแว่นดูใกล้พอเห็นตัวหนังสือมีเงาจางๆบ้างแต่ไม่ปวดหัว และถ้าถอดแว่นก็ต้องชะโงกหน้าเข้าหาหนังสือหรือจอมากกว่าระยะปกติ ทำให้ไม่สบายตา  ส่วนมองไกลก็เรียกได้ว่าชัดปกติ อ่าน VA ด้วยแว่นเดิมได้ 20/15 ทั้ง VA ไกล และ VA ใกล้ แต่เมื่อดูใกล้รู้สึกว่าต้องใช้พลังในการเพ่งให้ชัด

 

ประวัติเกี่ยวกับสุขภาพตา

ผมเคยพบหมอตาเพื่อไปตรวจปัญหาสายตาครั้งเดียวสมัยเป็นสามเณรตอนอายุ 13 ปี  สุขภาพตาดี ไม่มีพยาธิสภาพใดๆ

 

เริ่มใช้แว่นครั้งแรก ตั้งแต่อายุ 12 แต่ใส่ไม่ติดตา ใส่ๆถอดๆ เริ่มมาใส่จริงๆตอนเรียนมหาวิทยาลัย  ส่วนแว่นที่ใส่อยู่ปัจจุบันใช้งานมา 4 ปี  มองไกลยังชัด แต่ด้วยผิวโค้ตเริ่มย่นทำให้เห็นแสงฟุ้งเป็นเส้น ส่วนดูใกล้ตึงๆตา ถอดแว่นสบายกว่า

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีประวัติอุบัติเหตุทางศีรษะหรือดวงตาหรือประวัติบาดเจ็บเกี่ยวกับตา และไม่มีเรื่องตาติดเชื้อ

 

มีหยักไย่ floater บ้างก็เหมือนเดิม ตั้งแต่เด็ก หน้าตายังเหมือนเดิม ไม่เพิ่มขึ้น ไม่สังเกตก็มองไม่เห็น  และไม่มีประวัติฟ้าแล๊บ flash เกิดขึ้นในดวงตา

 

สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มียาที่ต้องทานประจำ ไม่มีภูมิแพ้ แต่ มี cholesterol สูง แต่ไม่ได้ทานยา ความดันปกติ  ตรวจเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

 

คนไข้เป็น ทัศนมาตรวิชาชีพ  ใช้สายตาอ่านหนังสือ ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์​ อ่านเอกสารผ่านมือถือ ไอแพด คอมพ์เตอร์  และใช้สายตาตรวจสายตาคนไข้

 

Clinical finding

PD 34.5/35

Habitual Rx

OD -2.25 -0.50 x 90    ,VA 20/15

OS -2.25 -0.25 x 104  ,VA 20/15

Cover Test  : Ortho /XP’

 

Retinoscopy

OD -1.50 -0.50 x 70   ,VA 20/15

OS -1.25 -0.75 x 90   ,VA 20/15

 

Monocular Subjective

OD -2.00 -0.75 x 75     ,VA 20/15

OS -1.00 -0.75 x 115   ,VA 20/15

 

BVA

OD -1.25 -0.50 x 70     ,VA 20/15

OS -1.50 -0.50 x 105   ,VA 20/15

 

Over refraction : เห็นว่าแสงยังมีติด with เล็ก ๆจึงทำการลดลงมาจากค่าจริงอีก -0.12D

 

Final Rx

OD -1.12 -0.50 x 70     ,VA 20/15

OS -1.37 -0.50 x 105   ,VA 20/15

 

Functional : Vergence & Accommodation at 6 m.

Horz.phoria        : 0.75 BO

BI-reserve          : x/6/2

Vertical Phoria  : 0.25 BDOS (L-hyperphoria) w/ VonGrafe’s Technique

                               : 0.50 BDOS (L-hyperphoria) w/ Maddox rod on free space

 

Functional : Vergence & Accommodation at 40 cm

Horz.phoria        : 1 XP’

BO-reserve        : x/>36/….

AC/A ratio         : 1:1

BCC                     : +0.75

NRA/PRA          : +0.50 /-1.50 ,rely BCC

 

Other Investigate Value from DNEye Scaner 2

ข้อมูลจาก รูปที่ 2-3 จะเห็นว่า internal abberration นั้นมีรูปแบบของสายตาเอียงที่เกิดขึ้นในเลนส์ตาหรือ lenticular astigmatism ในแนว againt the rule อย่างชัดเจน ในขณะที่สายตาเอียงที่เกิดขึ้นที่กระจกตานั้นเกิดขึ้นในแนว with the rule  แต่ total astig เมื่อรวมกันแบบ vector แล้วทำให้เกิดสายตาเอียงในแนว oblique astigmatism  

 

Assessment

1.compound myopic astigmatism O.D. ,OS w/ lenticular astigmatism 

2.Left Hyperphoria

3.Accommodative in facility (suspect)

 

Plans

1.Full Correction

    OD -1.12 -0.50 x 70

    OS -1.37 -0.50 x 105

2.Prism Correction

   Rx 0.25BUOD ,0.25DBOS

3.prescribe mild addition

   Rx Plus +0.80D ( Impression Mono Plus 2 P0.8)

 

Case Analysis

1.Over Correction

อย่างแรกที่เห็นได้ชัดว่าปัญหาที่ผมได้พูดถึงข้างต้นนั้น เห็นสาเหตุได้ชัดเจนว่า เกิดจากสายตาปัจจุบันนั้นลดลงจากเดิม จาก hyperopic shift เมื่ออายุเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็สายตาเดิมนั้น over minis correction มาจากการ error ในการตรวจเมื่อหลายปีก่อน  ทำให้ใช้ชีวิตด้วยการเพ่งเพื่อให้ชัดของเลนส์ตามาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ correct ที่ -2.50D (อาการหนักเลย)  และหนักไปกว่านั้น ค่าที่ได้จาก Wavefront Aberrometer ออกมาแล้วเรียกได้ว่า ไปกันใหญ่ (ดูค่าต่างๆในรูปที่ผ่านมา) เพราะให้ค่า over minus ที่เกินค่าจริงไปถึง -1.50D 

 

การ over minus correction ดังกล่าวที่เกินค่าจริงไปถึง -1.00D นั้นเลยทำให้ มองไกลยังสามารถเห็นได้ชัดจากเลนส์ตาที่ยังพอเพ่งไหว เพราะแรงยังมีเหลือ แต่อาการเริ่มจะแสดงที่ใกล้ซึ่งมี demand ในการเพ่งมากกว่า จึงเริ่มมองใกล้ไม่ชัด ต้องใช้ความพยายาม แม้ว่าเลนส์คู่เดิมจะใช้ add +0.80 ก็ตาม  แต่หลังๆนั้นผมสังเกตตัวเองว่าสามารถเงยห้ามองผ่าน reading zone แล้วยังคงเห็นไกลชัด ก็เลยเชื่อได้ว่า สายตาเรานั้นลดลงแล้ว และก็เป็นอย่างนั้นจริง

 

2. NRA ,PRA และ AC/A ratio ต่ำ

 

ค่าต่ำกว่าเกณฑ์เหล่านี้สะท้อนถึงความเพี้ยนของฟังก์ชั่น จากการใส่แว่นที่ over correction มานานและไม่ยอมเปลี่ยนเป็นค่าใหม่ที่ถูกต้องเสียที  ซึ่ง NRA และ PRA ที่ต่ำนั้น สะท้อนถึง accommodative facility ที่ไม่ดี โดย NRA นั้นทำได้แค่ +0.50D  จาก BVA เท่านั้น ซึ่งแสดงถึง ความสามารถในการคลายตัวของเลนส์ตาน้ำต่ำโดยตรง (หรือ postive fusional vergence ต่ำโดยอ้อม) ดังนั้นเมื่อต้องทำงานดูใกล้แล้วเปลี่ยนระยะการมองจะโฟกัสจึงทำได้ช้า หรืออาจมี accommodative spasm ของเลนส์ตาได้ง่าย

 

แต่อีกนัยหนึ่งก็เชื่อว่า อาจจะมี latent ซ่อนอยู่ก่อนได้ เนื่องจากเลนส์ตาที่เพ่งมานาน อาจจะยังไม่ยอมคลายตัวทั้งหมด และเชื่อว่าสายตาจริงน่าจะลดลงกว่านี้ได้อีก  ทำให้ NRA ออกมาค่อนข้างต่ำ ประกอบกับ AC/A ที่ต่ำเพียง 1:1 นั้นทำให้เห็นว่า ฟังก์ชั่นของเลนส์ตากับกล้ามเนื้อตาแทบจะไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเลย ซึ่งเชื่อว่า ถ้า full correction ค่าปัจจุบันที่ถูกต้องกว่าก็น่าจะทำให้ค่าต่างๆกลับมาดีขึ้นในอนาคตได้และฟังก์ชั่นกลับมาทำงานปกติได้

 

ส่วน BCC +0.75 นั้น เป็นค่า lag of accommodation ตามค่า norm อยู่แล้ว แต่ที่ต้องจ่าย add +0.8D ก็เพื่อต้องการบังคับเลนส์ตาให้ relax เพื่อลด lenticular astigmatism เมื่อดูใกล้

 

สำหรับ phoria นั้นพบได้ว่า  มองไกล มี esophoria อยู่เล็กน้อย แต่เชื่อได้ว่า น่าจะถูก induce จากการ over minus correction มาเป็นเวลานาน และเชื่อได้ว่าหลังใช้ค่าใหม่ไปสักระยะแล้ว esophoria เล็กๆนี้จะหายไป จึงไม่ต้องแก้ไข

 

ส่วน hyperphoria ที่ resting positioning ของตาซ้ายนั้นสูงกว่าตาขวานั้น  ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ correction อยู่แล้ว แต่เป็นโดยธรรมชาติทางกายภาพของผมเอง  แม้มีเพียง 0.5 prism ก็ทำการแก้ไข  เพื่อให้การ alignment ของภาพในแนว vertical นั้นสมดุลมากขึ้น รวมภาพง่ายขึ้น และได้ทำ confermation หลายวิธีแล้วพบว่ามีจริง ก็ไม่ลังเลที่จะแก้ไข เพราะเลนส์จะแก้ละเอียดไม่ละเอียด  ค่าที่ผิดกับค่าที่ถูก ถ้าเลนส์รุ่นเดียวกัน cost ในการผลิตก็จะเท่ากัน ดังนั้น ในเมื่อ cost เท่ากันแล้ว ให้มันทำงานได้เต็มประสิทธิภาพสูงสุดจะดีกว่า เพราะเทคโนโลยีเลนส์นั้นเป็นเพียงวัตถุดิบที่สามารถนำมาใช้ปรุงค่าสายตาให้มีการมองเห็นดีหรือไม่อย่างไร  เลนส์รุ่นเดียวกัน แบรนด์เดียวกัน ถ้าปรุงไม่เหมือนกัน ก็ย่อมให้การมองเห็นที่ต่างกัน ฉันใดก็ฉันนั้น

 

ดังนั้น การนำเลนส์ไปทำโปรโมชั่น นั่นก็คือการทำโปรโมชั่นลดราคาวัตถุดิบ ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่  อาจจะด้วยวัตถุดิบกำลังจะหมดอายุ  กำลังจะ out แล้ว  หรือขายไม่ออกจากภาวะเศรษฐกิจ  ก็ย่อมนำวัตถุดิบออกมาเร่ขาย  ก็ไม่ผิดอะไร เพราะทุกคนก็ต่างมีเหตุผลที่จะอยู่ต่อ  แต่สิ่งที่คนต้องทำความเข้าใจก็คือ อย่าไปเหมาะว่า วัตถุดิบแบบเดียวกัน จากแหล่งเดียวกัน  เมื่อแต่ละคนนำไปปรุงแล้วจะได้รสชาติอาหารที่เหมือนกัน

 

ดังนั้นการคิดนำเอากระเพราร้านหนึ่ง ไปเทียบกับกระเพราอีกร้านหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะซื้อวัตถุดิบจากตลาดสดเดียวกัน  แต่เชฟที่ปรุงให้นั้น มีความรู้ ความเข้าใจ ในการเลือกวัตถุดิบ เข้าใจสัดส่วน ช่วงเวลา และมีทักษะการปรุงที่ไม่เหมือนกัน  วัตถุดิบที่เดียวกัน บางคนทำเต็มที่ได้รสชาติพอกินได้เหมือนกระเพราข้างถนน ซึ่งอาจอร่อยหรือไม่อร่อยก็ได้ ถ้าไม่อร่อยก็ลดราคาเอา เน้นคุ้ม   ส่วนบางคนทำแล้วให้รสชาติเหมือนนั่งกินในภัตตาคาร 5 ดาว ก็สามารถสร้าง value ให้สูงกว่าวต้นทุนวัตถุดิบมาก  แต่ก็มีบางคนทำแล้ว ตัวเองยังไม่ยอมกิน หรือครั้นจะเทให้สุนัข ๆก็ยังไม่อยากรับประทาน อย่างนี้ก็มี 

 

ดังนั้นเมื่อ keypoint อยู่ที่คนปรุง ก็อย่าไปน้อยใจถ้าหากเชฟภัตตาคาร มิชลินสตาร์ ไม่เคยทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย  แต่เราก็มั่นใจได้ว่า  เราจะไม่เสียดายความหิว คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์อย่างแน่นอน  เพราะเขาคือมืออาชีพ เชื่อมือได้  ไม่ใช่ทำครัวเลื่อนลอย  ทำไปย้ายไป เร่ไปเรื่อยๆ ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง เพราะต้องเที่ยวหาคนกินใหม่อยู่ตลอดเวลา เพราะคนเก่าไม่เคยกลับมากินซ้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น 

 

 

ดังนั้น ช่วงโควิทนี้ เราคงจะเห็นกิจกรรมส่งเสริมการขายในเกือบทุกธุรกิจ เพื่อความอยู่รอดของการดำเนินธุรกิจ แต่การลดราคาช่วงนี้ของวงการแว่นตาไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับโควิทเพราะโปรโมชั่นแว่นตาลดราคา 50-70% ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการ แต่มีมานานตั้งแต่ยังไม่เคยมีโควิท เพียงแค่โควิทมาได้จังหว่ะในการเล่น hard sale เฉยๆ 

 

เรื่องนี้ผมเห็นต่างออกไปว่า จริงๆแล้วช่วงโควิทไม่ควรจะเป็นช่วงการส่งเสริมการขายแว่นตา  แต่เป็นช่วงให้ผู้คนได้ใช้ของที่คุ้มค่าทั้งด้านคุณภาพการให้บริการและราคา เพื่อจะได้ประหยัดและนำเงินไปใช้เรื่องจำเป็นตามลำดับความสำคัญก่อนหลังได้อย่างเหมาะสม  การสูญเสียเปล่ากับสินค้าที่ over price แต่ไม่สามารถใช้งานได้จริงต่างหากเป็นเรื่องสิ้นเปลือง  ก็คงต้องกลับไปตั้งคำถามว่า "การบริการแบบไหนที่เรียกว่าคุณภาพ" และ "การเลือกผลิตภัณฑ์แบบไหนที่เรียกว่าคุ้มค่า"  ผู้คนก็จะได้รับของดีเพียงพอและใช้งานได้จริง  

 

ดังนั้น  loft optometry ที่ไม่เคยมีกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพราะผมไม่คิดว่า การให้บริการด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยจะสามารถนำไปส่งเสริมความเจ็บไข้ได้ป่วยเพื่อก่อให้เกิดรายได้  และ วัตถุดิบที่จะนำมาทำแว่นก็มีให้เลือกหลายแบรนด์ หลายรุ่น หลายราคา  สามารถเลือกใช้ได้ตามกำลัง  เพียงแต่ทำให้มันสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ดูจะเป็นการเหมาะสมกว่าสำหรับธุรกิจด้านการบริการด้านสุขภาพ  

 

และ cost ในการดำเนินธุรกิจแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันมาก  ซึ่งมีทั้ง cost ที่ทิ้งเปล่าและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการได้เลนส์ที่ดีหรือไม่ดี เช่น ค่าเช่าสถานที่ที่มีราคาสูง   cost ที่มีราคาสูง มีความจำเป็น จับต้องได้ และเกี่ยวข้องกับการทำแว่นให้ดี เช่นเครื่องไม้เครื่องมือ และบุคลากร  และ cost ที่ไม่สามารถจับต้องได้ ซื้อไม่ได้โดยตรง เช่นการต้องเข้าไปเรียนทัศนมาตรศาสตร์ในมหาวิทยาลัย 6 ปี และประสบการณ์การทำงาน ซึ่งกว่าจะได้องค์ความรู้นั้นมา มันมี cost ที่แฝงอยู่สูงมาก  และ ถ้าเปิดใจมองเราจะเห็นได้ว่าคุณภาพการให้บริการในบ้านเรานั้นมีความหลากหลายมาก  บางแห่งนั้น แทบไม่มี cost อะไรเลย  เช่น แผงขายแว่นตามตลาดนัด  แต่บางแห่งนั้น cost มหาศาล เพราะมีครบ และคุณภาพสูง ทั้งสถานที่ เครื่องมือ สินค้า และบุคคลกร   เมื่อ cost ต่างกัน  ย่อมให้ value ที่ต่างกัน  ดังนั้น... 

 

"Just Glasses ! not Just Glasses"

 

 

ดังนั้น value ในการทำงานแต่ละคนก็มีความหลากหลาย บางคนก็  standard   บางคนก็ under-standard บางคนก็ over-standard ไป แต่ใช้ pricelist จาก supplier เดียวกัน  นั่นคือปัญหาว่าทำไมบางคนลดได้ บางคนไม่ลด บางคนคิดเกิน เพราะ standard ในการทำงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน  ส่วน value ในการทำงานของผมนั้น ผมคิดว่าการที่ผมไม่ over price ไปจาก pricelist ของ supplier ก็คิดว่าคุ้มมากเกินไปแล้ว  

 

อีกมุมหนึ่งคือการไปทำโปรโมชั่นคือการเอาตัวรอดมากกว่าการช่วยเหลือ  ลดคุณค่าการทำงาน  ลดคุณค่าวิชาชีพ ลดคุณค่าในตัวเอง และการ keep brand ในภาวะการนี้ก็มีความยากลำบากอยู่พอควร แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะแบรนด์ไม่ได้สร้างกันในวันเดียว ยิ่งเดินมาไกลก็ยิ่งต้องถนอมรักษาเอาไว้ให้ดี  และการทำงานที่ซื่อสัตย์ในวิชาชีพออกไปกลับมานั่งคิดทีไรเราก็มีความภาคภูมิใจและนั่นคือสิ่งที่เลี้ยง passion ในการทำงานของเราให้ทำดียิ่งขึ้น ศึกษา ค้นคว้า หาความรู้อยู่เสมอ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น 

 

"การเป็นตัวอย่างที่ดีนั้นมีค่ากว่าคำสอน" คำนี้เป็นคำคลาสสิกที่ใช้ได้ดีเสมอ  ยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยิ่งต้องระมัดระวังในการปฏิบัติตัว เพราะเด็กรุ่นหลังอาจเข้าใจว่า นั่นสามารถทำได้เพราะพี่ทำได้ เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด เอาจริงๆก็ไม่แน่  ถ้าแน่ๆ ให้เดินตามหลวงตา คือ “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น”  ตักเตือนบ้าง สั่งสอนบ้าง แต่สำคัญคือทำให้ดูอยู่ให้เห็นเป็นแบบอย่าง  ทำ routine ไปเรื่อยๆ มีกิจทำอะไรในแต่ละวันก็ทำไป  ตื่นเช้า บำเพ็ญเพียรภาวนา ทำวัตรเช้าตีสี่ ภาวนาจนรุ่ง ออกเดินบิณฑบาตรไม่ลาไม่ขาด  ฉันอย่างมีสติพิจารณา  กวาดวัดทำกิจในวัตร  อบรม สั่งสอนศิษย์  ทำวัตรเย็น บำเพ็ญเพียรเจริญภาวนา และหลับอย่างมีสติ และก็ทำอย่างนี้วนไปเรื่อยๆ ความดีจะประจักษ์ขึ้นมาเอง และยังเป็นไปเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับพระใหม่รุ่นหลังได้เจริญรอยตาม  วันหนึ่งพุทธศาสนาก็เข้มแข็ง  หลักก็มีเท่านี้

 

พูดไปพูดมา ก็วนมาเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

กลับมาที่เรื่องการแก้ไขปัญหาสายตา  ผมพึ่งได้รับแว่นเมื่อ อังคารที่ผ่านมา เลนส์ที่สั่งทำนี้ก็เรียกได้ว่า ดีที่สุด หรือเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศสุด ที่ปรุงโดยเชฟมิชลินสตาร์ ก็ว่าได้ โดยวัตถุดิบที่นำมาปรุงนั้นเป็น Rodenstock Impression Mono Plus 2  add0.8 , + DNEye Technology + Solitaire protect plus 2 x-clean  เรียกได้ว่า โลกนี้ทำดีได้แค่นี้

 

แว๊บแรก

ทันทีที่ใส่นั้น เริ่มต้นต้องบอกว่ามีเหวอ มิติภาพดูใหญ่ขึ้นจนทำให้ผมต้องมองสิ่งที่รอบๆตัว มือถือ โน้ตบุ๊ค ทีวี รูปแขวนฝาผนัง มันดีใหญ่ขึ้นชัดเจน มิติดีขึ้น สัดส่วนถูกต้อง และเมื่อนำแว่นเก่ามาสลับ ก็พบว่า ชัดแต่บีบเล็ก ทุกสิ่งอย่างชัดคมกริบแต่ดูหดเล็กบีบๆไปหมด  แต่เลนส์เก่านั้นดูคมดำ  แต่แว่นใหม่ดูฟุ้งๆ อาการคล้ายๆความมัว จึงเดินเข้าไปเช็ค VA ที่ห้องตรวจ

 

เมื่อตรวจ VA  แว่นใหม่ที่เรารู้สึกว่ามัว ก็สามารถอ่านตัวเล็กที่สุดบรรทัด 20/15 ได้ทั้งแถว และ 20/10 ได้เกือบครบ ก็ดูชัดดี  แต่เมื่อเอาแว่นเก่ามาใส่ เรารู้สึกว่าชัดดำ จอสกรีนหดเล็กลง เหมือนชัดแต่ก็อ่าน 20/10 ไม่ได้อยู่ดี แค่รู้สึกว่ามันดำเฉยๆ  ดังนั้นความรู้สึกชัดจึงเป็นความรู้สึกมากกว่าความจริง  และเป็นเพียงความคุ้นชินกับความเข้มดำจากการใช้สายตาที่เกิดค่าจริงเท่านั้น

 

เมื่อหยิบ ipad ขึ้นมาดู รู้สึกแปลกใจว่า จอ 10.5 นิ้วเราทำไมดูใหญ่จัง แต่มีลักษณะนูนกลางเล็กน้อย ด้านบนลีบกว่าด้านล่าง  คล้ายๆกับคางหมู ซึ่งเป็นอาการของ magnify ที่เกิดจากการไล่โครงสร้างแบบโปรเกรสซีฟ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วเดี๋ยวอาการนี้จะหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป 3-7 วัน ซึ่งวันที่เขียนนี้เป็นวันที่ 3 ก็เกือบจะหายดีแล้ว

 

ความคมชัดที่ใกล้นั้นเรียกได้ว่า ชัดขึ้นทันตาเห็น สบายตา ไม่เหนื่อยเมื่อยตา ใส่แว่นสบายกว่าถอดแว่น เงาซ้อนไม่มี ดูนานๆ ก็ไม่ค่อยซ้อน  นั่นแสดงถึง total astigmatism ได้แก้ไปแล้ว และการใช้ add ไปลดการเพ่งก็สามารถช่วยลดการ induce astigamatism ได้ด้วย ผมสามารถใส่แว่นทำงานทั้งวันได้ ซึ่งแว่นเก่านั้นถอดมากกว่าใส่  จะใส่ก็ต่อเมื่อจะเข้าห้องตรวจ หรือขับรถ  ส่วนอยู่ในบ้านก็มัวๆไม่เป็นไร จะอ่านหนังสือทำงานใกล้ก็ถอดแว่น

 

ส่วนความคมชัดที่ไกลนั้น แม้ VA จะดีถึง 20/10-2 (คือดีมาก) แต่มีความหลอนๆ อยู่เล็กน้อย วิ้งๆนิดๆ  ก้มๆเงยๆ นั้นเห็นความชัดมัวจากการไล่โปรเกรสซีฟอย่างเห็นได้ชัด และถ้าหากจะดูใบไม้ให้เรียงใบมีรายละเอียดต้องตั้งใจมอง  แต่พอเห็นแล้วก็เห็นรายละเอียดที่คมได้อย่างชัดเจน ซึ่งก็รู้ว่านั่นเกิดจากเลนส์ที่ยังไม่คลายตัว เนื่องจากใส่ค่าสายตาสั้นที่เกินจริงมานานมาก และผมก็พอจะจำได้ว่า การเปลี่ยนสายตาลดลงเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จาก -2.50 ลงมาเหลือ -2.00 นั้น ให้ความรู้สึกที่มัวเวอร์มาก ๆ แต่ชอบมาก จึงทนใส่ช่วงปรับตัว เพราะมิติภาพนั้นสมจริงกว่ามาก ความลึก ทรวดทรงนั้น ดี จึงทนใส่อยู่พักหนึ่ง พอเลย 2 สัปดาห์แล้วก็ค่อยๆ ชัดขึ้นๆ ตามลำดับ  แล้วพอกลับไปใส่แว่นเก่านั้น ใส่ไม่ได้เลย เพราะจะปวดหัวมาก และไม่สามารถเพ่งให้ชัดได้  ซึ่งผมก็รู้ว่า ครั้งนี้ก็เหมือนกัน เพราะสายตามองไกลนั้นหายไปตั้ง -0.75D  วันนี้เป็นวันที่ 3 ก็ใส่สบายๆไป 1 เดือน เก็บอาการไปเรื่อยๆ จนกว่าสมองจะปรับตัวได้ในทุกจุด ค่อยสรุปว่าเลนส์ดีไม่ดีขนาดไหน

 

ดังนั้นมาถึงตอนนี้ พอจะสรุปคร่าวๆได้ว่า ความเคยชินกับค่าผิดๆนั้น ทำให้เกิดความ panic กับคนไข้ได้มากหากเขาไม่เข้าใจ  ก็ไม่ต้องใคร ขนาดตัวผมเองยังใส่ over minus correction มาตั้งหลายปี จนกระทั่งเริ่มจะทนไม่ไหว เพราะเราตรวจสายตาเองไม่ได้  ทำ retinoscope เองไม่ได้  และฟังก์ชั่นก็เพี้ยนๆดังกล่าว  ดีที่ผมเป็นทัศนมาตร เราเข้าใจกลไกลการเปลี่ยนแปลงของระบบฟังก์ชั่น  การแก้ปัญหาการมองเห็นไม่ใช่แค่การแก้เอาชัด แต่เป็นการรักษาฟื้นฟู ระบบต่างๆ ให้กลับมาฟังก์ชั่นได้ปกติ ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู ซึ่งต้องรอได้  ดังนั้น เราควรให้คนไข้ได้เข้าใจถึงปัญหาปัจจุบันของเขา และรู้ถึง side effect ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนความเคยชินของเขา และอย่าได้อ้างความเคยชินของคนไข้เพื่อที่จะทำงานที่ผิดๆออกไป เพราะความผิดปกติที่ตามมากจากปัญหาที่ไม่ได้แก้นั้น มันไม่คุ้มที่จะแลก  

 

และให้ระวังอย่างหนึ่งคือการไปสร้างความหวังทีมันมากเกินจริง  การขายฝัน ที่มันมากเกินไป ทำให้เกิด over expect ได้ พอเกิดการ over expect ขึ้นมา มันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เขาได้ขึ้นสวรรค์อย่างที่เขาจินตนาการไว้ มันจะกลายเป็นแหลมคมของหอกย้อนกลับมาทิ่มแทงเรา  เลนส์แต่ละตัวนั้นมี concept design ในการออกแบบ และมีเหตุมีผลที่จะทำอย่างนั้น  จึงต้องรู้เข้าใจจริงก่อนที่จะจ่ายมันออกไป  ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจตามมาทีหลั ก็อยากจะฝากเอาไว้ 

 

เดี๋ยวผมจะมา edit content ถึงการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นผ่านแว่นตัวนี้ไปเรื่อยๆในทุกสัปดาห์  วันนี้ร่ายมายาวแล้ว ขอพักไว้เพียงเท่านี้ก่อน

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจในการติดตาม

สวัสดีครับ

Dr.Loft /Dr.Jack/Dr.Dear

 

Credit :

ขอบคุณ ดร.จักรพันธ์ เทียนเฮง (ดร.แจ๊ค) สุธนการแว่น จ.พิจิตร ที่มาช่วยให้ผมได้มี correction ที่ถูกต้องในครั้งนี้ ซึ่งแม้ว่าเราทั้งสองจะเข้าใจรูปแบบของการตรวจเป็นอย่างดี แต่ยิ่งรู้ดีมากก็เก็บรายละเอียดได้มาก และเราใช้เวลากันในห้องตรวจประมาณ 1.5 ชม. ในการเก็บค่าเพื่อนำมาวิเคราะห์ในการจ่ายเลนส์

 

ในทางกลับกัน ถ้าคนที่ไม่มีความรู้ด้านทัศนมาตรกำลังตรวจคนไข้ที่ก็ไม่รู้เรื่องสายตาเช่นกัน แล้วตรวจเสร็จใน 10 นาทีหรือเร็วกว่า  อันนี้ต้องเรียกว่าตัวใครตัวมัน

 

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ถ้าต่างคนต่างรู้เรื่องทัศนมาตรใช้เวลาในการตรวจวิเคราะห์สายตากัน 1.5 ชม ถ้าวันหนึ่งทำเคสต่อเนื่อง 8 ชม. แบบไม่กินข้าวกินปลา จะได้เคสเต็มที่วันละ 5 เคส นั่นหมายความว่า ถ้าทัศนมาตรรับเคสมากกว่า 10 เคสต่อวัน ก็ตัวใครตัวมันเช่นกัน

 

ผมกำลังจะบอกว่า  ทัศนมาตรไม่สามารถเป็น mass ได้ คือไม่สามารถดันตลาดให้เข้าสู่แมสได้  แม้เราจะเล่นตลาดให้คนไข้เข้ามามาก เราก็ทำมากไม่ได้อยู่ดี แต่ถ้ากำลังดันทุรังอยู่ นั่นคือเรากำลังทำผิดกันอยู่ และความผิดก็สะสมไปเรื่อยๆแต่ เพียงแต่ว่ายังไม่มีตำรวจมาจับเฉยๆ เราก็เลยดูเหมือนว่ายังรอด  ดูเหมือนไม่ผิด เพราะยังไม่มีกรรมการวิชาชีพมากำหนดความผิด แต่กรรมเกิดขึ้นแล้ว ผลของกรรมคือความไม่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นตามมาแน่นอน  ดังนั้นต้องระวัง  จึงขอฝากเอาไว้

 

ส่วนท่านใดที่อยู่จังหวัดพิจิตรหรือใกล้เคียงก็สามารถเข้าไปโทรนัดเพื่อรับบริการกันได้  เน้นว่าต้องนัดอย่างเดียว เพราะดร.แจ๊ค อยู่บ้างไม่อยู่บ้าง เขาอินดี้ ต้องมีกิจไปสอนทัศนมาตร ม.นเรศวร ไม่ทำเพจ ไม่เล่น social  ไม่เล่นเฟสบุ๊ค ไม่รับคนไข้ walk in  ต้องค้นหาใน google maps ว่า “สุธนการแว่น พิจิตร” ในนั้นมีเบอร์ 056 611 435 โทรนัดหมายกันเอาเอง  เมื่อโทรแล้วเขาจะบอกเองว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ามารับบริการ (ซึ่งเคี่ยวกว่าผม)  ส่วนรูปห้องตรวจ ผมก็อาศัยการ crop จาก google map เหมือนกัน และก็แอบประชาสัมพันธ์ให้ เพราะดร.แจ๊คไม่เล่น social  จึงเรียนให้ทราบ สวัสดีครับ

 

ห้องทำงาน DR.JACK ,สุธน ออพติก Optometry Care

google map : https://g.page/SuthonOptic.maps