Case Study 40 : สายตากลับในผู้สูงอายุ สัญญาณต้อกระจกในระยะเริ่มต้น


Case study 40 : สายตากลับในผู้สูงอายุ  สัญญาณต้อกระจกในระยะเริ่มต้น

Case by Dr.Loft 

Public : 20 August 2020


บทนำ 

สำหรับวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยกลางคน คงไม่เข้าใจอารมณ์ของผู้ใหญ่ที่เริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ (40ปีขึ้นไป) ว่า สิ่งที่ดูเหมือนจะทำได้ง่ายที่สุดในวัยเด็กแต่กลับทำไม่เลยเมื่ออายุนั้นข้ามหลักสี่ นั่นคือการดูใกล้ เช่น อ่านหนังสือ เขี่ยเฟส หรือตอบไลน์ ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อว่า "สายตาคนแก่" หรือ "สายตายาวในผู้สูงอายุ" สากลใช้คำว่า "presbyopia"

 

Presbyopia นี้มีพื้นฐานของปัญหาอยู่ที่ "ความสามารถในการเพ่งของเลนส์แก้วตาเพื่อโฟกัสวัตถุในระยะใกล้ให้ชัด หรือ amplitute of accommodation,AA ลดลง" ซึ่งจริงๆแล้ว amplitute ก็ลดลงทุกๆปี ทีละน้อยๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่เกิด เพียงแต่ว่า ลดลงจนเริ่มไม่พอสำหรับการใช้งานอ่านหนังสือที่ระยะ 40 ซม. เอาตอนอายุ 40 ปี  หากต้องการทราบว่าแต่ละวัยมี amplitute of accommodation เฉลี่ยอยู่เท่าไหร่ก็คำนวณได้จากสูตร  

 

AA = 16 - [อายุ/4]

 

เช่นเด็กอายุ 1 ปี  มี AA = 16-[1/4]=15.75D , ผู้ใหญ่อายุ 40 ปี มี AA =16-[40/4] =6.00D ,คนอายุ 60 ปี มี AA =16-[60/4]=1.00D  ดังนั้นยิ่งอายุมากขึ้น ค่า Amplitute of Accommodation ก็ลดลงทุกปี  เรียกอีกนัยหนึ่งว่า "กำลังเพ่งลดลงทุกปี" หรือ "supply ที่ใช้ในการโฟกัสเพื่อดูใกล้นั้นลดลงทุกปี"

 

แต่ระยะใกล้ที่ใช้ทำงานเป็นหลักซึ่งต้องใช้แรงกำลังเพ่งของระบบ accommodation นั้นคงที่ในแต่ละบุคคล  ซึ่งคนทั่วไปอ่านหนังสือเฉลี่ย 40 ซม. ซึ่งถ้าต้องการรู้ demand ที่จะมองให้เห็นชัดในระยะต่างๆ ก็สามารถคำนวณได้จากสมการง่ายๆ  F=1/f  (F หน่วยเป็น Dioptor,D   f ระยะดูใกล้ มีหน่วยเป็นเมตร ) เช่น 

อ่านหนังสือ 30 ซม. (0.3m)  มี demand ต้องออกแรงเพ่ง  = 1/0.3 =10/3 = 3.333 D

อ่านหนังสือ 40 ซม. (0.4m)  มี demand ต้องออกแรงเพ่ง  = 1/0.4 =10/4= 2.50D 

อ่านหนังสือ 50 ซม. (0.5m) มี demand ต้องออกแรงเพ่ง   = 1/0.5 =10/5 = 2.00D

ดูคอมพิวเตอร์ ที่ระยะ 1 ม. มี demand ที่ต้องออกแรงเพ่ง  =1/1 = 1.00D

พอจะสรุปคร่าวๆได้ว่า ระยะดูใกล้ในแต่ละระยะนั้นมี demand ที่ต้องเพ่งไม่เท่ากัน ยิ่งใกล้มากเลนส์ตาก็ต้องออกแรงเพ่งมาก 

 

ค่า addition คืออะไร 

ค่า addition เรียกสั้นๆว่า Add  คือค่าของเลนส์บวกที่เราใส่เข้าไปทับสายตามองไกล  เพื่อลด demand ที่จะต้องเพ่งในระยะต่างๆ ให้พอกับ demand ที่ต้องใช้ในการเพ่งในแต่ละระยะ  ดังนั้นถ้าเราอายุมากขึ้น  เลนส์ตาจะเพ่งด้วยตัวเองได้น้อยลง ทำให้เราต้องจ่ายค่า add เพิ่มขึ้น เมื่ออายุเพิ่มขึ้นเพื่อไปช่วยการเพ่ง  จนไปหยุดอีกครั้งเมื่อ supply ของเลนส์ตาไม่เหลือพอที่จะเพ่ง  สุดท้ายทำให้เราต้องจ่ายค่า add เท่ากับ demand ที่ต้องเพ่งในระยะนั้นๆ เช่นคนไข้อายุ 60 ปี  อ่านหนังสือ 40 ซม. มี demand ที่ต้องเพ่ง +2.50D แต่ไม่มีแรงเพ่งเหลือแล้ว ทำให้เราต้องจ่าย full add = demand คือ add +2.50 D เพื่อให้คนไข้อ่าน 40 ชัด เป็นต้น 

 

ดังนั้นทุกคน เมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปี จะเริ่มมีปัญหาดูใกล้ไม่ชัด ทำให้เริ่มต้องใช้ addition เข้าไปช่วยเพื่อให้ดูใกล้ชัด ซึ่งอาการเริ่มต้น จะมีลักษณะที่ดูใกล้มากๆไม่ค่อยชัด หรือถ้าชัดก็ต้องใช้ความพยายามในการเพ่งมาก และเมื่อเป็นมากๆเข้า  พยายามเพ่งก็ยังไม่ชัด ทำให้ต้องยื่นเอกสารหรือหนังสือให้ห่างออกไป หรือบางคนที่มีสายตาสั้นมองไกลก็จะเริ่มถอดแว่นเพื่อดูใกล้   แต่บางคนที่มีสายตายาวมองไกลแต่กำเนิดเดิมอยู่แล้วจะมีปัญหาดูใกล้เร็วกว่าคนปกติทั่วไปและตามมาด้วยมองไกลไม่ชัดเพราะเพ่งไม่ไหว เป็นต้น ทำให้ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ต้องใช้ add มากขึ้นดังที่กล่าวข้างต้น  

 

แต่ในการทำเคสจริงๆ เรากลับพบว่า  การเพิ่มขึ้นของค่า add ตามอายุ จะเพิ่มไปเรื่อยๆ แล้วพอถึงจุดหนึ่ง กลับมีแนวโน้มที่ค่า add ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีอายุเกิน 55 -60 ปีขึ้นไป และตลอดระยะเวลาที่ผมทำงานตรวจมานานกว่า 6 ปี ไม่เคยเลยที่เจอว่าใครมีค่า add มากกว่า 2.50D ที่ระยะอ่านหนังสือที่ 40 ซม. แต่กลับมีค่า add ที่ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น  ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ คนไทยเรียกว่า "สายตากลับ"

 

"สายตากลับ"

"สายตากลับ"นี้ บางคนก็เคยได้ยิน บางคนก็ไม่เคยได้ยิน บางคนเคยมีประสบการณ์กับตัวเองโดยเฉพาะในผู้ที่สูงอายุ บางคนอาจจะเคยได้ยินคุณปู่คุณย่าเล่าให้ฟังบ้างถึงอาการ "สายตากลับที่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ" ซึ่งเป็นเรื่อง surprise พอสมควรสำหรับผู้ที่เคยประสบว่า เมื่ออายุมากๆเข้า ร่างกายเสื่อมขึ้นทุกปีๆ แต่อยู่ๆทำไมตากลับมาชัดใสขึ้นมาอีกครั้ง  จากที่เคยต้องพึ่งพาอาศัยแว่นอ่านหนังสือก็รู้สึกว่า สามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น  หรือ เวลาตรวจหาค่า add เพื่อดูใกล้ก็กลับพบว่า ค่า add มีค่าลดลง  ประหนึ่งว่า อยู่ๆ เลนส์ตาก็ดันมีแรงเพ่งขึ้นมาอย่างนั้นแหละ 

 

ซึ่งเคสที่ยกขึ้นมาในวันนี้นั้น ไม่ได้เป็นสายตากลับถึงขนาดที่ว่า สามารถดูใกล้ได้โดยไม่ต้องอาศัยแว่น เนื่องจากมองไกลนั้นมีสายตายาวแต่กำเนิดอยู่มาก จะกลับยังไงก็คงยังกลับไม่ถึง  เพียงแต่ว่า ค่าแอดดิชั่นที่ตรวจได้จากค่า BCC นั้นลดลงเหลือเท่ากับคนอายุ 47-50 ปี (add +1.75D) ทั้งๆที่คนไข้นั้นมีอายุ 66 ปีแล้ว ให้พอเป็นเคสตัวอย่างเดียวกับเรื่อง "สายตากลับในผู้สูงอายุ" ซึ่งมีพื้นฐานจากภาวะเริ่มเข้าสู่ต้อกระจกชนิดเกิดที่นิวเคลียสของเลนส์ หรือ Nucleosclerosis

 

ตัวอย่างของเคสนี้ จะทำให้เราได้แง่คิดในการตรวจและจ่ายเลนส์ให้กับคนไข้ว่าถ้าเราตั้งใจตรวจตาดีๆ  เราจะพบว่า การจ่าย add โดยเดาตามอายุนั้นมีความเสี่ยงที่จะผิดพลาดอย่างมากๆ  เราต้องใช้การแก้ไขปัญหาหักเหแสงมองไกลให้เรียบร้อยและหาค่า add จากค่า Binocular Cross Cylinder และเช็ค monocular cross cylinder เพื่อ recheck ค่า balancing ของสายตามองไกล  และดูค่า NRA/PRA เพื่อประเมินค่า addition ที่เหมาะสม  จบด้วยการ trial บน trial lens ให้เหมาะสมกับระยะที่จะนำไปใช้งานจริง จึงค่อยเลือกเลนส์ที่เหมาะสม 

 

 

Case History 

คนไข้ชาย อายุ 66 ปี มาด้วยอาการ

ตาเปล่ามองไม่ชัด ทั้งไกลและใกล้

แว่นเดิมที่ทำมาและใช้งานมา 2 ปี ก็มองไกลไม่ชัด  ดูใกล้พอมองเห็น แต่ก็ยังไม่ค่อยชัด ใส่ๆถอดๆ ไม่ติดตา

 

Patient Ocular Health ,POHx

Disease : ไม่มีประวัติเป็นโรคตา 

 

Glasses : เริ่มใช้แว่นครั้งแรกตอนอายุ 45 ปี แว่นปัจจุบันที่ใช้งานอยู่ใช้งานมา 2 ปี มองไกลมัว อ่านหนังสือพอได้ ซึ่งมีปัญหาตั้งแต่แรกที่ใช้งานมา

 

Headace/Diplopia : ไม่มีประวัติปวดศีรษะ หรือ ภาพซ้อน

 

Health : สุขภาพแข็งแรง  มีความดัน ทานยาอยู่ ล่าสุดอยู่ในเกณฑ์ปกติ  ไม่มีเบาหวาน  ไม่มีภูมิแพ้

 

Social : ใช้สายตาในแต่ละวันในการอ่านและเซนต์เอกสาร 60% ที่เหลืออีก 40% ใช้งานทั่วๆไป เล่นมือถือตอบไลน์บ้าง

 

PreliminaryEyeExam

VAcc OD 20/40-1

         OS 20/40-1

 

Refraction

Retinoscopy

OD +2.25 -1.00x90   20/20

OS +2.25                  20/20

 

Monocular Subjective

OD +2.25 -1.25x93  20/20

OS +2.50 -0.37x90  20/20

 

BVA (phoropter)

OD +2.25 -1.25x93  20/20

OS +2.25 -0.37x90  20/20

 

BVA ( fine-tinning on trial frame and over refraction w/ retinoscope)

OD +2.50 -1.25x100  20/15

OS +2.00 -0.62x100  20/15

 

Functional @6m

Horz.phoria  : 2BI ,exophoria

BI-reserve    : x/6/2

BO-reserve  :  x/16/2

Vert.phoria  : 2.5BDOS (L-hyperphoria)  , VonGrafe’s technique (..false positive)

Vert.phoria  : Ortho w/ Maddox rod  on free space.

Supr. (L)      : 3/0

Infr. (L)        : 3/0

 

Function  @ 40 cm

Horz.phoria  : 10 BI ,exophoria

AC/A ratio    : N/A

BCC            : +1.75

NRA/PRA    : +1.25D/-1.25D (rely BCC)

 

Assessment

1.compound Hyperopic astigmatism

2.prebyopia

 

Plan

1.Full Correction

OD +2.50 -1.25x100

OS +2.00 -0.62x100

2. Progressive additional lens Rx

Add Rx +1.75

 

Case Talk

 

1.Refractive error

เคสนี้ในส่วนของความผิดปกติของระบบหักเหแสงของตานั้น ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากนัก เป็นเคส compund hyperopic astigmatism ทั่วไป และสาเหตุที่แว่นเดิมมองไกลไม่ชัด คาดว่าน่าจะมีเหตุมาจากแว่นเดิมไม่ได้ full correction hyperope เอาไว้ ประกอบกับอายุมาก เลนส์ตาเพ่งชดเชย hyperopia ไม่ไหว จึงทำให้มองไกลมัว แต่ไม่ได้เช็คค่าเก่าเพราะมองว่าไม่จำเป็นต้องรู้ 

 

2.สายตากลับ (myopic shift in nuclear cataract)

โดยธรรมชาติเมื่อเราอายุมากขึ้น สายตาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทาง hyperopic shift คือถ้ามองไกลเดิมเป็นสายตายาวอยู่ก็จะยาวเพิ่มขึ้น หรือถ้ามองไกลเป็นสายตาสั้นอยู่ก็มีแนวโน้มว่าจะสั้นน้อยลง อย่างนี้เรียก hyperopic shift ซึ่งจากการศึกษานั้นพบแนวโน้มอย่างนั้น

 

แต่พอเริ่มเป็นต้อกระจก hyperopic shift นั้นจะหายไปแล้วกลับมาเป็น myopic shift แทน ซึ่งต้อกระจกนั้นมักเกิดกับผู้สูงอายุ ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นต้อกระจกก็จะเป็นเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ

 

สิ่งที่จะตามมาพร้อมการเกิดขึ้นของต้อกระจกคือมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาในทิศทางที่เป็นสายตาสั้นมากขึ้น หรือ myopic shift  ซึ่งคนสมัยก่อนเรียกว่า “สายตากลับ” ซึ่งมีลักษณะสำคัญคัญคือ คนไข้สามารถกลับมาเห็นใกล้ได้ดีขึ้น  หรือ ค่า addition น้อยลง บางคนสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสายตาดั้งเดิมนั้นเป็นอย่างไร เพียงพอที่สายตากลับมาแล้วจะพอดีกับระยะที่จะใช้อ่านหนังสือหรือไม่

 

ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่า คนไข้ที่เป็นต้อกระจกชนิด Nuclear Cataract ซึ่งเป็นต้อกระจกที่เกิดขึ้นบริเวณใจกลางของเนื้อเลนส์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ sherical myopic shift  ยิ่งเป็นต้อกระจกมากเท่าไหร่ การเปลี่ยนสายตาไปในทางสายตาสั้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

 

ดังนั้น ณ จุดนี้ สิ่งที่อยากจะสื่อสารก็คือว่า  โอกาสที่คนจะมีค่า addition ที่ระยะ 40 ซม. มากกว่า +2.50D โดยทฤษฎีแล้วเป็นไปไม่ได้เลย (ซึ่งตลอดเวลาการทำงานมา 6 ปี ก็พบกว่าเป็นอย่างนั้น) เพราะ demand 40 ซม. คำนวณยังไงก็ +2.50D และขนาดรูม่านตามีขนาดเล็ก เกิด depth of focus ก็จะสามารถช่วยให้ชัดโดยเลนส์ตาไม่ต้องเพ่งเต็มร้อย และ ยิ่งมีอายุมากขึ้นเกิด myopic shift จากต้อกระจกอีก กลายเป็นสายตากลับ ย่ิงทำให้ค่า add นั้นลดลง จาก refractive index ของเลนส์ตาที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุก meridian ในตัวเลนส์ที่เท่าๆกันใน nuclear cataract  ก็เลยไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้ add นั้นทะลุ +2.50D ได้เลย

 

ซึ่งเคสที่ยกมาในที่นี้ หลังจากที่ full corrected พบว่า addition (จากค่า BCC) นั้นลงมาอยู่ที่ +1.75D (คนไข้อายุ 66ปี) ในขณะเดียวกัน NRA/PRA ก็ให้ค่าออกมาที่ดีคือ +1.25/-1.25 ซึ่งประเมินแล้วเป็นค่า add ที่บาลานซ์ดี  ซึ่งที่ add น้อยลงนั้นเป็นลักษณะสัญญาณของการเริ่มเข้าสู่ภาวะ ต้อกระจกที่เกิดขึ้นที่นิวเคลียสของเลนส์ตาเรียกว่า nucleoscerosis  กวาดดูด้วย slit lamp แล้วก็พึ่งจะเริ่มเป็นในระยะแรกๆ ซึ่งก็คงอีกหลายปีกว่าจะ progress จนรบกวนความคมชัดของการมองเห็น

 

ดังนั้น เคสชีวิตจริงๆนั้น ถ้า corrected ดีๆ ไม่มีเคสไหนที่มีค่า add เกิน +2.50D เลย แม้ว่า add +2.50D ก็ยังยาก เพราะพออายุเข้าใกล้ 60 ปี ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะต้อกระจก ก็จะทำให้ add มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางลดลง

 

พูดอีกนัยหนึ่งว่า ถ้า add ที่ตรวจได้นั้นมากกว่า +2.50D ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า ค่าสายตามองไกลน่าจะยังแก้ไม่ดีพอเช่น over minus ในคนไข้สายตาสั้น หรือ under plus ในคนไข้สายตายาว ซึ่งเราสามารถ recheck ได้ด้วยค่า NRA ซึ่งไม่ควรมีค่าเกิน +2.50 (norm อยู่ที่ +1.75 ถึง+ 2.25 จาก BVA)  

 

และการ over addition จะทำให้ dynamic ของเลนส์ตานั้นไม่ได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ สิ่งที่ตามมาก็คือ ถ้าหาระยะชัดจะต้องคอยก้มๆเงยๆ หาจุดชัดบนเลนส์โปรเกรสซีฟ เนื่องจากไม่มีระยะชัดลึก ทำให้ใส่ไม่สบายตา และ โครงสร้างแคบ ภาพเบี้ยวสูง จากจ่ายค่า add ที่มากเกินไป  นั่นคือคำอธิบายว่า ในเมื่อคนไข้มี demand จะต้องเพ่ง +2.50D ที่ระยะ 40 ซม. แต่ยังไม่มีค่า add แต่เราไปจ่าย full add ให้เพื่อให้ไม่ต้องเพ่ง แต่กลับทำให้คนไข้ไม่สามารถใช้งานเลนส์ได้ เนื่องจากฟังก์ชั่นของเลนส์ตากับกล้ามเนื้อตาถูกแซกแซงการทำงาน จึงเกิดความไม่สบายตาตามมา 

 

3.Fales positive hyperphoria

Fales  positive นั้นหมายความว่า ความผิดปกติที่ตรวจพบว่ามี(แท้จริงไม่มี) เนื่องจากเกิดความผิดพลาดจากการตรวจ  ซึ่งมักพบได้บ่อยจากการ headtilt ขณะคนไข้อยู่หลัง phoropter  ทำให้ตาแต่ละข้างนั้นมองไม่ผ่านศูนย์กลางเดียวกัน ทำให้เกิด induce prism effect ขึ้นมา ทำให้เราอาจเข้าใจผิดว่า คนไข้มีความผิดปกติ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่มี

 

แม้ว่าเก้าอี้ที่ผมใช้นั้นเป็นเก้าอี้ที่สามารถปรับหมอนรองศีรษะและปรับมุมของ phoropter ได้ทุกมุม เพื่อทำการล๊อคเซนเตอร์ให้อยู่กับที่ได้แล้ว แต่ก็เป็นการยากที่คนไข้จะไม่มี headtilt เลยเมื่ออยู่หลัง phoropter  และยิ่งผมสังเกตชุด ophthalmic unit ตรวจตาในบ้านเราที่ล๊อกมุมอะไรไม่ได้เลย เป็นเพียงแขน Hydrolic ขึ้นลงได้แนวเดียว  คนไข้ต้องชะโงกเข้าหาเครื่อง เรื่องเซนเตอร์ก็คงจะตามยถาคตา  ก็ยากที่จะได้ค่า functional ที่ดีได้  

 

แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรจะใช้หรือเชื่อผลจากการตรวจเพียงขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง แต่ควรจะมี test อื่นๆ นำมา backup ด้วย  เช่น ประเมินจาก  supra /infra vergence หรือ การทำงานบน free space ด้วย trial lens set เป็นต้น และที่สำคัญที่บ้านเรายังไม่มี supplier เจ้าไหนนำเข้ามาขาย และต้องหาทางเอาเข้ามากันเองคือ corrected curve trial lens set เพื่อลดการ induced  oblique astigmatism จาก base curve effct โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการมองไม่ผ่านเซนเตอร์ของเลนส์  ใครที่ใช้ trial lens แบบ biconcave / biconvex ต้อง besure ว่า ตาคนไข้นั้นอยู่ตรงกลางเลนส์จริงๆ จึงค่อยทำการวัดค่าออกมา  ไว้มีโอกาสจะมาคุยเรื่องนี้กันอีกครั้ง

 

4.Over refraction correction

การทำ over refraction เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะเป็นการทำ objective test ที่เราเห็นด้วยตาของเราว่า สิ่งที่คนไข้เห็นว่าดีจากการตรวจแบบถามตอบนั้น  จริงๆแล้วดีที่สุดแล้วหรือยังด้วยตาและสมองของเราเอง ด้วยการหยิบเรติโนสโคปไปกวาดทับแว่นลอง  ว่า reflect ที่สะท้อนออกมาจากรูม่านตานั้น nutral แล้วหรือยัง มีแกนไหนยังขาด/เกิน อยู่หรือไม่

 

สิ่งที่นำมาสู่ผิดพลาดมากที่สุดคือ การเชื่อ subjective test จาก phoropter หรือ trial frame ซึ่งเป็นผลจากการตรวจที่เกิดจากการถามตอบของคนไข้เพียงอย่างเดียว  นำไปสู่การอนุญาตให้คนไข้เลือกเอาเองว่าอยากจะชัดแบบไหน ซึ่งมีแนวโน้มจะจ่ายเลนส์ over minus สูงมาก  เพราะใครๆก็อยากชัด จริงไหม ?  เอาจริงๆแล้ว คนไข้ไม่รู้ว่าตัวเองมีความผิดปกติอย่างไร เขาไม่รู้ว่ามันจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างถ้าเขาเลือกผิด และก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขาถ้าเขาเลือกผิด  แต่เป็นหมอต่างหากที่ต้องบอกเขาว่า อะไรคือค่าที่ดีที่สุด ด้วยเหตุผลอะไร และอธิบายให้คนไข้เข้าใจ

 

ทิ้งท้าย

เมืองไทยของเรานั้นมีศาสตร์เทาๆอยู่มากเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพสายตา ทำให้เกิดโพรดักซ์เทาๆขึ้นมา   หน้าที่ทัศนมาตรไม่ใช่การไล่หรือทำลายความเทามืดนั้น แต่สิ่งที่ง่ายกว่าและทำได้จริงคือการสร้างแสงสว่างให้เกิดขึ้นและช่วยกันต่อเทียนแห่งแสงสว่างให้ไฟติดออกไปเรื่อยๆ   เพราะแสงสว่างที่เราแต่ละคนช่วยกันจุดขึ้น และต่อออกไปนั้น มันสามารถไล่ความมืดไปได้เอง และเมื่อสว่างจ้าขึ้น ความมืดก็จะไม่มีที่ให้อยู่  และจะหายไปเอง  เราก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง มากกว่าการนั่งเทียนเอา

 

พบกันใหม่ตอนหน้า สวัสดีครับ

DRLOFT.DRJACK.DRDEER

"แสงสว่างจะทำลายความมืดไปได้เอง"


ติดต่อรับบริการ 

Loft Optometry 

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220

mobile : 090 553 6554

line id : loftoptometry 

fb : www.facebook.com/loftoptometry