BVA ไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดในการทำงานของทัศนมาตร


Topic  BVA ไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดในการทำงานของทัศนมาตร

By         DRLOFT

Public       7 October 2021


 

BVA คืออะไร

 

BVA หรือ Best Visual Acuity  บ้างก็ใช้คำว่า BCVA หรือ Best Corrected Visual Acuity  ถ้าจะแปลเป็นคำของคนธรรมดาทั่วไปเข้าใจก็น่าจะเป็นคำว่า “เป็นค่าสายตาที่ดีที่สุด ที่ทำให้ (คนไข้นั้นๆ) เห็นชัดที่สุด" เรียกได้ว่า BVA คือ “ค่าดีที่สุดที่ช่วยให้เห็นชัดที่สุด” ว่าอย่างนั้นก็ไม่ผิดซะทีเดียว

 

คำว่า “ดีที่สุด” จริงๆ แล้วไม่เคยมีอยู่จริงและทำได้ยากมากๆ เพราะเป็นเรื่อง emmetropia ในอุดมคติ ส่วนใหญ่เราจึงเห็นคำว่า “ที่สุด” ในคำโฆษณามากกว่าที่จะเป็นคำจริง ดังนั้น การที่จะทำให้มันดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ต้องทำโดยอ้อมคือ “ทำผิดให้น้อยที่สุด” ทำผิดอย่างไรให้น้อย ก็ต้องกลับไปอ่านเรื่อง “แว่นดีคืออะไร” ที่ผมได้เขียนไปแล้ว ว่ามาจากองค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่น

 

“สายตาดี”

-หมอดี มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญ ขยันอ่านทบทวนตำราและศึกษาค้านคว้า ฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา มีคุณธรรมจริยธรรมเหมาะสมตามจรรยาบรรณวิชาชีพ

 

“เครื่องมือดี”

-มีเครื่องมือที่ได้มาตรฐานในแต่ละระบบการตรวจถูกต้อง ครบถ้วน ทั้งในส่วน refraction , binocular function และ ocular health assessment

 

“ห้องตรวจดี”

-มีห้องตรวจที่ได้มาตรฐาน 6 เมตร

 

“เวลาดี”

-ช่วงเวลาในการตรวจดี ยิ่งเช้ายิ่งดี ยิ่งบ่ายยิ่งไม่ดี  ยิ่งดึกยิ่งใช้ไม่ได้ และ ต้องห้ามในเวลาวิกาล

-ระยะเวลาในการตรวจเพียงพอ 1-2 ชม. เพื่อให้สามารถ assessment ดูได้ทั้งระบบ "ไม่มีการตรวจดีใดๆที่เกิดขึ้นได้ในเวลาเพียง 10 นาที"

 

“แว่นดี”

-วัสดุดี  น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่น ,คงรูป ,เสถียรภาพ ,ปรับมุมองศาได้ ,ฟิตกับหน้าได้ดี ไม่หลวม ไม่ไหล ไม่แน่น ใส่แล้วต้องให้ความรู้สึกว่าแว่นได้กลืนไปเป็นอวัยวะเดียวกับใบหน้าหรือร่างกาย

 

“เซนเตอร์ดี”

-วัดฟิตติ้งได้ดี

-ประกอบได้เซนเตอร์ตามฟิตติ้งดี

-ชดเชยมุมพารามิเตอร์แว่นได้ถูกต้อง

 

“เลนส์ดี”

-เนื้อดี : ค่าความใสสูง แสงผ่านได้ดี ลดการกระเจิงของสีได้ดี (abbe’ number สูง)

-เทคโนโลยีดี คือมีเทคโนโลยีที่ดีในการลด aberration (distortion,coma,oblique astigmatism,curvature of field) อันจะมีเหตุมาจากปัจจัยต่างๆได้ดี 

-ผิวโค้ตดี : กันรอย กันน้ำ กันไขมันจับ กันฝุ่นเกาะ กันการจับตัวของฝ้า ลดแสงสะท้อน ลด glare ,flare ได้ดี

 

การจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และป้องกันเหตุที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดที่น้อยให้ที่สุด จึงต้องการตัวแปรเหล่านี้ทั้งหมด

 

เมื่อลดปัจจัยที่เป็นบ่อเกิดของความผิดพลาดได้มากที่สุด การตวรจหา BVA จึงเริ่มขึ้น ดังนั้น BVA จึงป็นค่าความควาดหวังของคนทำงานแว่นตา เพราะหลังจากได้ค่าชัดมาแล้ว ก็หวังว่าค่าชัดนั้นจะคือค่า BVA  แต่ในความเป็นจริง อาจจะเป็นค่าชัดจากการเพ่งเอา แต่ไม่ใช่ค่า BVA ก็เป็นไปได้เช่นกัน

 

เพราะอย่างที่ทราบๆกันว่า “ความชัดไม่ได้บอกอะไร” เพราะชัดบอกเพียงแต่ว่า “เห็นได้เท่าที่คนปกติจะเห็นได้” อาจจะแปลว่ากำลังใส่แว่นที่ถูกต้องจริงๆ หรือ กำลังใส่แว่นค่าที่เกินจริงก็ได้ เป็นไปได้ทั้งคู่ และ สิ่งที่จะมาพิสูจน์เรื่องนี้คือ retinoscope เพราะไม่มีใครมีอำนาจพอที่จะทำงานเร็วกว่าแสง หรือจะมีอำนาจพอที่จะแทรกแซงกิจกรรมของแสงได้ จึงไม่มีใครที่จะสามารถบิดพร้ิวความจริงจากการส่องด้วยกล้องเรติโนสโคปได้  ถ้ายังไม่ตรวจด้วยวิธีนี้ก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะบอกว่าสายตาคู่นั้นๆ ถูกหรือผิด

 

ดังนั้น BVA ที่หมายถึง “ค่าดีที่ชัดที่สุด” จึงเป็นคำที่มีความเป็น subjective ค่อนข้างมาก เป็นรูปธรรมที่ตรวจจับได้ยากจนดูเหมือนเป็นนามธรรม ก็เลยไม่ค่อยมีใครจะไป prove ว่าถูกหรือผิด ซึ่งจริงๆมันสามารถ prove ได้ แต่มักไม่ค่อยทำกัน  ไปๆมาๆ ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “ศิลปะ” แต่พอทุกคนต่างก็อ้างเรื่อง ศิลปะ  ผิดถูกก็อ้างศิลปะ เรื่อง BVA เลยกลายเป็นเรื่องศิละสะเปะสะปะไม่มีหลักยึด ทุกคนถูกหมดเลย ไม่มีใครผิดและแตะไม่ได้เพราะมันคือศิลปะของฉัน....ถ้าคิดอย่างนี้เจริญช้า

 

การ prove BVA ว่าถูกหรือผิดทำได้อย่างไร

 

การได้มาซึ่ง BVA นั้นเริ่มจากการตรวจสายตาแบบไม่ต้องถามตอบหรือ objective test ด้วยเรติโนสโคปในห้องตรวจลึก 6 เมตร จะได้ค่าสายตาเร่ิมต้นในการนำไป fine tuning ต่อด้วยการตรวจแบบถามตอบ หรือ subjective test ถ้าทำบ่อยๆนั้น จะสามารถทำตาทั้งสองข้างเสร็จได้ใน 1-2 นาที ซึ่งให้ค่าใกล้เคียงกับสายตาจริงเฉลี่ย 85-95%


จากนั้นนำค่า objective refraction ที่ได้จากขั้นตอนการทำ retinoscopy ไปหาค่าที่ละเอียดลงไปอีกด้วยการตรวจแบบถามตอบ (subjective refraction) ซึ่งก็มีขั้นตอนย่อยอยู่ในนี้อยู่หลายจุด ซึ่งทัศนมาตรทุกคนก็คงจะทำคล่องกันแล้ว ซึ่งขั้นตอนส่วนใหญ่ในขั้นนี้ใช้ศิลปะของจิตวิทยาในการตั้งคำถามและตีความคำตอบและต้องมีความเข้าใจในวิทยาศาสตร์การมองเห็นหรือ visual science คือรู้ว่าคนไข้พูดแบบนี้แสดงว่าเขาเห็นอะไร คนไข้บางคนชอบคำถามบางประเภท บางลักษณะ ที่ไม่เหมือนกัน บางคนชอบดูรูป บางคนชอบดูเลข บางคนชอบตัวหนังสือ ซึ่งทำให้ responds ไม่เหมือนกัน เพราะ subjective นั้นมีเรื่องของความลำเอียงหรือ bias บางอย่างอยู่ และ แต่ละเทสของการทำ subjective test refraction มีหลายแบบ แต่ละแบบมีข้อบ่งใช้ไม่เหมือนกัน

 

กลับมาที่  BVA

Binocular Balancing ก่อนจะเป็น BVA

 

หลังจากที่เราได้ monocular subjective refraction แล้ว ซึ่งค่าที่เราได้นั้นเราจะเรียกว่า MPMVA หรือ maximum plus maximum visual acuity แปลไทยได้ว่า ถ้าคนไข้เป็นสายตาสั้น(ตาลบ) ก็ต้องเป็นค่าลบที่น้อยที่สุดที่ยังทำให้คนไข้เห็น VA ได้ดีที่สุด  ถ้าเป็นตายาว (ตาบวก) ก็จะต้องเป็นค่าบวกที่มากที่สุดที่ยังทำให้คนไข้เห็น VA ได้ดีที่สุด ,ของตาแต่ละข้าง  ทั้งนี้ก็เพื่อให้โฟกัสที่เกิดขึ้นนั้นตกบนจุดรับภาพพอดีโดยที่เลนส์แก้วตาไม่มีการเพ่ง

 

เมื่อขวาดีสุด ซ้ายดีสุด แต่เราก็ไม่รู้ว่า ชัดที่สุดของตาแต่ละข้างนั้น โฟกัสของแสงนั้นห่างจุดรับภาพเท่ากันหรือไม่ เพราะชัดที่สุดก็ไม่ได้บอกอะไร บอกเพียงแต่ว่าเห็นดำชัด แต่อาจจะเพ่งอยู่ก็ได้

 

ดังนั้นจึงต้องมีขั้นตอนการทำบาลานซ์สายตาให้โฟกัสนั้นตกห่างจุดรับภาพเท่าๆกัน เพราะเรารู้ว่าการตอบสนองต่อการเพ่งของเลนส์แก้วตาหรือระบบ accommoation เป็นระบบที่เข้า 1 ออก 2 อย่างละเท่าๆกันหมายความว่า การตอบสนองของ accommodation นั้น มันจะตอบสนองเท่าๆกัน

 

เช่น ขณะที่เราปิดตาข้างหนึ่งอยู่ ให้คนไข้มองด้วยตาข้างเดียว ถ้าเรากระตุ้นให้ตาข้างหนึ่งเพ่ง อีกข้างหนึ่งตอบสนองการกระตุ้นให้เพ่งเท่าๆกัน

 

ณ จุดนี้ ถ้าเรา balance ไม่ดี โฟกัสขณะเลนส์ตาคลายตัวห่างจากจุดรับภาพไม่เท่ากัน เมื่อเกิด accommodation ที่ตอบสนองเท่าๆกัน มันจะทำให้โฟกันที่ห่างจากจุดรับภาพไม่เท่ากัน ให้มันตกบนจุดเดียวกันได้ยังไง ซึ่งคำตอบคือเป็นไปไม่ได้

 

ปัญหาที่ตามมาคือ ชัดไม่พร้อมกัน อยู่ที่ว่าเกิดจากการเพ่งของตาข้างไหน คนไข้ก็จะมีปัญหา โฟกัสช้าเพราะไม่รู้จะให้ตาไหนเพ่ง เดี๋ยวชัดเดี๋ยวไม่ชัด เกิดการ fluctuation ของ accommodation ตามมา เป็นการ stress ให้ระบบโดยไม่จำเป็น ตามมาด้วย eyestrain และ asthenipia แล้วโบ้ยเป็นเรื่อง computer vision syndrome ยัดข้อหาให้ blue light มันจะบ้ากันไปใหญ่

 

จากข้อความข้างต้น  คำว่า balance แท้จริงนั้น balance ไม่ใช่การจัดสายตาให้เท่ากัน  ไม่ใช่การปัดสายตาให้มันเท่าๆกัน ไม่ใช่การพยายามจะทำให้ค่าสายตาของทั้งสองตาเท่าๆกัน มันไม่ใช่ balance optical power แต่มันเป็นการ balance accommodation ให้การเพ่งนั้นมีการตอบสนองเท่าๆกัน ด้วยเหตุนี้ศาสตร์จัดสายตานั้นจึงเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับคลินิกทัศนมาตรและไม่ควรนำเรื่องผิดๆแบบนี้ไปสอนต่อ

 

การสอนเด็กจึงควรมุ่งสู่การสอนสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนวิชากินหมู วิชามาร วิชาจัดสายตา อย่าไปสอน ควรเน้นที่ full correction ไอ้ที่มันถูกต้องเขาทำยังไง สร้างเด็กใสๆ สะอาดๆ  พอเด็กจบไปแล้ว ได้ทำงานจริง พบเจอประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป เด็กก็จะเอาความรู้บริสุทธิ์ที่ได้มาไปเข้าระบบพิจารณาเดี๋ยวก็เกิดปัญญาเป็นงานศิลปะที่สวยงามขึ้นมาเอง ผ้าขาวจะกลายเป็นผ้าสีที่มีลวดลายสวยงาม จึงจะเกิดงานศิลปะที่ทรงคุณค่า มีความหมาย จรรโลงโลก แต่ถ้าเราไปทาสีเทาๆเลอะๆ แล้วการลงสีใหม่ให้สวยงามมันทำได้ยากและมีแนวโน้มว่าจะเลอะเทอะยิ่งขึ้น

 

การตรรวจสายตา ไม่ได้จบแค่ BVA  แต่ต้องไป binocular function ต่อ

 

เมื่อเราทำ binocular balancing จนเสร็จพิธี fog / unfog เสร็จสรรพ เราก็จะได้ค่าที่เฝ้ารอคือ BVA หรือ BCVA คือตาขวาชัด ซ้ายชัด มองพร้อมกันสองตาก็ชัด และถ้าเราทำได้ถูกต้องทั้งหมด “มันจะเป็นความชัดจากค่าจริง ไม่ใช่ชัดจากการเพ่ง และชัดจริง ไม่ใช่ชัดเกินไป" แต่มันจะเกิดความรู้สึกอันหนึ่งขึ้นมาว่า “คนปกติเขาเห็นกันขนาดนี้เลยหรือ”

 

แต่จุดนี้เอง ทำให้หลายคนตกม้าตายมาเยอะ คือได้ BVA บน phoropter แล้วหยุดตรวจอย่างอื่นหมด คิดถึงแต่เรื่องจะขายแว่นกันแล้ว จะเชียร์เลนส์อะไร จะเชียร์กรอบอะไร จะปิดยอดเท่าไหร่ คิดอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เพราะหน้าที่ยังไม่จบ ต้องทำต่อ

 

ความรู้ผิดๆที่มักถูกถ่ายทอดกันต่อๆมาคือ “ refraction ส่วน refraction ไม่เกี่ยวกับ binocular function หรือ accommodation” ดังนั้นบางคนก็มักจะใช้ตรรกะวิบัติอันนี้ในการทำงาน คือทำ refraction อย่างเดียวแล้วจบไม่สนใจที่จะตรวจระบบอื่นต่อ เพราะคิดว่าตัวเองจะทำแค่ refraction และจะไม่ยุ่งเรื่อง binocular function

 

ซึ่งแท้จริง refraction และ accommodation และ Fusional Vergence  นั้นเป็นระบบที่แยกกันไม่ออก คือ accommodation ส่งผลกับ vergence และ ทำให้ refractive change ได้  หรือ vergence สามารถกระตุ้นหรือคลาย accommodation ทำให้ refractive change ได้เช่นกัน  ดังนั้นถ้าเราไม่ดูต่อ เราก็ไม่มีทางรู้ว่า refraction นั้นถูกต้องหรือไม่ ทำให้ระบบ accom และ vergence นั้นทำงานได้ full function หรือไม่  การทำ binocular Function จึงสามารถเป็นตัว backup test หรือเป็นตัว indicater ในการตรวจสอบความถูกผิดได้

 

 

ขอยกตัวอย่างจริงสักหนึ่งเคส ที่ดูภายนอกนั้นเรียบง่ายไม่มีอะไร แต่กลับซ่อนอะไรไว้เยอะพอสมควร

 

Case Study 

Case History

คนไข้ชาย อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาวิศกรรมศาสตร์ มาด้วย routine check  จากแว่นเดิมที่ใช้อยู่ก็ยังขวา -4.00 ซ้าย -4.00 เริ่มมัว ทั้งจากเรื่องของรอยขีดข่วนและสายตาน่าจะเปลี่ยน 

ใช้เแว่นครั้งแรก 8 ขวบ  แว่นปัจจุบันใช้มา 2 ปี ชัดอยู่ แต่ดูใกล้นานๆรู้สึกล้าตา ใส่คอนแทคเลนส์บางครั้ง

มีปัญหาปวดศรีษะหลังจากดูใกล้เป็นเวลานานๆ หรือ ดูคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มักเป็นช่วง บ่ายๆ เย็น ๆ ระดับความปวด 8/10

สุขภาพแข็งแรง

ใช้สายตาเรียนหน้าคอมพิวเตอร์วันละ 10-12 ชั่วโมง

 

Preliminary Eye Exam

PD 34/34

Habitual Rx

OD -4.00       VA 20/30-1

OS -4.00       VA 20/20

Version        : SAFE

Cover Test  : Ortho @ far  / Esophoria @ near

 

Refraction

Retinoscopy

OD -4.25 -0.50 x180   VA 20/20

OS -4.25 -0.50 x18     VA 20/20

 

Monocular Subjetive

OD -4.25 -0.25 x175  VA 20/20

OS -4.75                    VA 20/20

 

BVA

OD -4.25                   VA 20/20

OS -4.50                   VA 20/20

 

โอเค ถ้าเราเอากันเฉพาะในส่วนของความชัด หรือ BVA  เราพยายามเค้นออกมาจนแห้งแล้ว ได้ตาขวากับซ้ายเพิ่มจากเดิมมาอย่างละหน่อย และ ผมได้พยายามหาขุดหาสายตาเอียงแล้ว ไม่มี ได้ค่าขวามา -4.25 ซ้าย -4.50 ก็ดูไม่น่ามีอะไร VA ดีมาก ส่ง reflect ดูจากรูม่านตาด้วยเรติโนสโคปแล้วก็ nutral ดี  ก็น่าจะเรียกได้ว่านั่นคือ BVA และถ้าไม่มีความคิดแบบทัศนมาตร ก็คงจะเลิกตรวจต่อแล้วไปเชียร์ขายเลนส์ ขายกรอบแว่น ปิดการขายต่อไป แต่ทัศนมาตรควรทำ routine ให้เสร็จ ไม่ว่าคนไข้จะมี complain หรือไม่ก็ตาม เพราะบางครั้งคนไข้ไม่ได้คิดว่าอาการของตนเองจะเกี่ยวข้องกับสายตาหรือระบบการมองเห็นสองตา และเมื่อเราลงมือตรวจต่อ เราก็พบความผิดปรกติของระบบฟังก์ชั่นของสองตาว่ามีความผิดปกติ ที่น่าสนใจ

 

Functional  at far 6 m

Horz.phoria      : 6.5 base out ,esophoria  ...W/ VonGrafe' technique dissociated phoria

                          : 4 Base Out ,esophoria .... w/ associated phoria 

                          : 8 BO                             .... w/ maddox rod  

BI-reserve        : x7/0

 

Vertical phoria  : Orthophoria

Sup-vergence   :  2/0

Inf - vergence   :  2/0

 

Functional @ near 40 cm

Horz.phoria     : 1 Base out ,esohporia

BI-reserve       : x/18/6

BO-reserve     : x/18/12

AC/A ratio       : 4 : 1

BCC                : +0.50

NRA/PRA        : +2.50 / -2.00 rely BVA

 

Assessment

1.simple myopia

2.divergence infufficiency

3.mild esophoria @ near w/ normal ac/a ratio

 

Plan & treatment

1.full correction

OD -4.25

OS -4.50

 

2.prism treatment

1.5BOOD /1.5BOOS

 

3.Plus Addition Rx

Plus +0.50D  at near  : Perfalit Mono Plus 2 1.6

 

Analysis 

หลังจากที่เราตรวจฟังก์ชั่นการทำงานของสองตา เราพบว่ามองไกลนั้นคนไข้มีเหล่เข้าซ่อนเร้นถึง 6.5 BO และมี BI-reserve ,break อยู่ที่ 7 BI และ BI-recovery = 0   เมื่อเราถามอาการมองไกลว่ามีปัญหาล้าตาหรือง่วงเวลาขับรถทางไกล หรือไม่ คนไข้ก็ตอบว่ามี บางครั้งก็ปวดศีรษะ แต่ไม่ได้เป็นทุกครั้ง และ ถ้าจะปวดก็ปวดชนิดที่ว่า 8/10 ต้องกินยา แต่ส่วนใหญ่ช่วงนี้ไม่ได้เดินทางมาก ต้องเรียนอยู่หน้าคอมพ์เป็นหลัก และ ได้ค่าเหล่เข้าดูใกล้มาที่ 1 BO ได้ค่า AC/A ratio มาที่ 4 : 1 BI-reserve เหลือเฟือ กำลังเพ่งดูใกล้ดี  BCC ต่ำ ก็โอเค

 

ดังนั้นเคสนี้ จ่าย full Rx สำหรับปัญหาสายตา  จ่าย 3 BO สำหรับมองไกล เพื่อลด demand ของมุมเหล่ลงมาให้เพียงพอกับ reserve ที่มี ส่วนที่ใกล้นั้นผมจ่าย plus add +0.80D ซึ่งการลดเพ่งไป 0.8D เพื่อให้ดูใกล้ได้เบาตาขึ้น สิ่งที่ทัศนมาตรมือใหม่ๆ จะกลัวเวลาต้องจ่ายปริซึมในเคสลักษณะที่ phoria ไกลกับใกล้นั้นไม่เท่ากัน ก็มักจะกังวลว่า ปริซึมมองไกลที่จ่ายไปนั้น จะไปกระทบกับปริซึมมองใกล้ที่มีน้อยกว่า  ซึ่งในกรณีนี้ เพียงเราเข้าใจว่า over base out induce exophoria ก็ไปดูต่อว่าคนไข้มี BO-reserve  เพียงพอหรือไม่ ถ้ามีพอก็ไม่ต้องกังวลอะไร 

 

จากข้อมูลเบื้องต้น ถ้าดูเพียง refracitve error อย่างเดียว ก็คงต้องบอกว่า ค่าสายตาไม่ได้มมีอะไร แต่พอเรามองลึกลงไป เราก็จะเห็นว่า แม้น้ำที่ดูสงบและราบเรียบ อาจจะมีน้ำลึกที่กำลังเชี่ยวกราดอยู่ก็เป็นได้ เราจึงไม่อาจสรุปว่า น้ำนิ่งหรือไม่นิ่งถ้ายังไม่ได้พิสูจน์ตรวจวัด

 

สายตา(refraction) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการมองเห็น(visual system) ปัญหาสายตาจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาของการระบบการมองเห็น การตรวจเอาแค่ชัดเพียงอย่างเดียวจึงยังไม่ใช่การทำงานระดับคลินิกทัศนมาตร แต่เป็น binocular function ที่โดดเด่นและแตกต่างจากการทำงานรูปแบบเดิมที่ทำๆต่อๆมา

 

ทัศนมาตรจึงไม่ได้หมายถึงคนตรวจที่สวมเสื้อกาวน์ ติดตราสัญลักษณ์ หรือ เกียรติประวัติตำแหน่งที่ดูโก้หรู บนใบกระดาษติดข้างฝา แต่หมายถึงการทำหน้าที่ให้ถูกต้องกับศีลธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพต่างหาก

 

แต่ถ้ายังทำแค่วัดแว่นอยู่ ก็อย่าพึ่งลำพองไป เพราะค่าที่ได้ยังห่างไกลความเป็นจริง

 

ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ผมเจอน้องๆถามมา พร้อมกับคำตอบที่ผมตอบออกไป 

ตรวจ functional ทุกเคสเลยหรือ...

"ถ้าคนไข้ไม่ตาบอดข้างเดียวหรือสองข้าง แล้วมี criteria แบบไหนหรือที่ไม่ต้องตรวจ binocular function  คำตอบคือไม่มี ดังนั้นการตรวจ binocular funciton เป็น routine check ที่เราต้องตรวจเพื่อประเมินทุกครั้ง และ binocular function data เหล่านี้ยังเป็นตัว backup check ให้กับเราอีกด้วยว่า BVA นั้นเป็นค่าจริงหรือไม่ หรือเป็นค่าที่ยังผิดๆอยู่ " 

 

แล้วมีเวลาหรือ...

"คนที่มีปัญหาการมองเห็น ซึ่งอาจจะมีเหตุมาจากทั้งจากเรื่อง refractive error หรือ binocular function ควรได้รับการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องครบถ้วนและองค์รวม  เรื่องเวลาจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องหาว่ามีหรือไม่มี แต่เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบของปัญหาให้เจอ และแก้ไขให้ได้ หรือ ถ้ามีปัญหาอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งสองระบบนี้ ก็ต้องสามารถ refer ผู้ที่รู้รักษาแก้ไขต่อ" 

 

แล้วคนไข้เข้าใจสิ่งที่เราตรวจหรือ...

"การตรวจทางคลินิก เราไม่ได้ตรวจให้คนไข้เข้าใจหรือไม่เข้าใจ แต่ตรวจเพื่อหาเหตุของปัญหา เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องและรอบด้านโดยไม่ได้พลาดอะไรไป การคิดเอาเองว่า ตรวจไปคนไข้ก็ไม่เข้าใจเพราะกลัวถ้าไม่เข้าใจเขาก็ไม่ชมว่าเราเก่ง  ก็เลยไม่ตรวจนั้น เป็นตรรกะที่วิบัติไปเรียบร้อยแล้ว  แต่การ education ให้คนไข้เข้าใจในบางเรื่อง เมื่อพบปัญหา เราต้องทำ เพื่อให้คนไข้เข้าใจ และให้ความร่วมมือในการรักษาแก้ไข" 

 

ไม่เสียเวลาหรือ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหม

"การทำงานในวิชาชีพด้วยความรักนั้นทำให้เกิดความสุข  ดังนั้นการเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ซึ่งในความหมายคงเป็นเรื่องของเอาไปเชียร์ขายกรอบแว่น เชียร์ขายเลนส์  เพื่อให้เกิดยอดขาย เพื่อปิดเป้าเดือนในเชิงธุรกิจ ก็อาจทำให้บางคนมีความสุข  แต่บางที ความสุขสำหรับบางคนนั้นเกิดจากการได้ทำงานตามหลักวิชาชีพมากกว่าความสุขที่ได้จากการขาย ขึ้นอยู่กับคนนั้นๆ ว่าหัวใจเป็นหมอ หรือ หัวใจเป็นพ่อค้า ซึ่งก็ไม่ถูกไม่ผิด เพราะพ่อค้าที่ทำเรื่องดีๆ สินค้าดีๆ บริการดีๆ ก็มีมาก  พ่อค้าที่ cheating โกงในสินค้า โกงในการบริการ ก็มีมาก  แต่คำว่า "หมอ" นั้น แท้จริงคือจิตบริการที่บริสุทธิ์  ที่มองเห็นสิ่งเดียวคือหาทางแก้ไขปัญหาทางร่างกายให้ได้รับการแก้ไขให้ดีที่สุด 

 

ท้ายที่สุด

ถ้าทัศนมาตรยังทำงานเพียงแค่ BVA นั่นก็หมายความว่าทัศนมาตรคนนั้นๆ ทำงานเพียงครึ่งเดียว หรือ เป็นทัศนมาตรเพียงครึ่งเดียว และ ละเว้นในการปฏิบัติในวิชาชีพให้ครบถ้วนสมบูรณ์​ ก็ยากที่จะให้วิชาชีพนั้นเจริญเติบโตอย่างที่เราวาดฝันเอาไว้  ดังนั้นต้องช่วยกันทำให้ลึกลงไปกว่าชัดไม่ชัด ทำให้เกิดสิ่งใหม่ เกิดปรากฎการณ์ใหม่ อย่าให้เขาหาว่า เรียนทัศนมาตรมาเพื่อเอาใบไปแปะข้างฝาร้านเพื่อช่วยเรียกแขกหรือเพิ่มโอกาสในการขาย  ส่วนเสื้อกาวน์หรือเข็มเพื่อแสดงความแตกต่างนั้น ถ้าใครชอบของเปลือกๆ ก็เอาเปลือกมาห่อได้ ไม่ผิดกติกาอะไร แต่ก็ขอให้เปลือกสวยแล้วมีแก่นที่ดีด้วย ไม่โพรงเป็นต้นมะละกอ ที่เจอพายุหน่อยก็หักโค่น 

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม

ดร.ลอฟท์ 

 

ปรึกษาแก้ไขปัญหาสายตาและระบบการเห็นสองตาได้ที่

Loft Optometry 

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม.10220

090-553-6554

line : loftoptometry 

fb : www.facebook.com/loftoptometry 

maps : https://goo.gl/maps/YxVpELokXBSaBLMN7