Case history
คนไข้ชาย อายุ 41 ปี มาด้วยปัญหา ขับรถแล้วมองไม่คม เวลาดูใกล้ตอนเล่นกับลูกก็มองหน้าลูกไม่ชัด เป็นมา 3-4 ปี แต่ตอนนี้มีลูกเล็กก็เลยอยากเห็นหน้าลูกชัดๆ เดิมทีก็คิดว่าตัวเองเป็นสายตาแก่ เลยไปทำแว่นอ่านหนังสือไว้ดูใกล้ แต่ก็ไม่ได้ชัดอะไร แค่ดีกว่าตาเปล่าเฉยๆ ดังนั้นครั้งนี้มาด้วยต้องการแว่นที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ และเวลาเล่นกับลูกเล็ก ก็สามารถเห็นหน้าลูกได้ชัดเจน โดยไม่ต้องถอดเข้าถอดออก
อีกปัญหาหนึ่งคือ หนักๆหัว เมื่อยตาบ่อย ล้าๆ เหนื่อยๆ เหมือนพักผ่อนไม่พอ และ เป็นมานานกว่า 4-5 ปี ตรวจสุขภาพทั่วไปแล้วปกติ ไม่มีความดัน เบาหวาน
อาชีพ เป็นเจ้าของกิจการ ใช้สายตาทั่วไป ขับรถ ตรวจงาน เอกสาร มือถือ ไอแพด คอมพิวเตอร์บ้าง ขับรถ ทั่วๆไป
ผลตรวจทางคลินิก
VASC @ 6 m : OD 20/20 ,OS 20/20
VASC @ 40 cm : OD 20/50 ,OS 20/50
OD 0.00 -1.50x90 VA 20/20
OS +0.50 -1.00x90 VA 20/20
OD +0.75 -1.75x83 VA 20/20
OS +1.00 -1.75x90 VA 20/20
OD +1.37 -1.87x90 VA 20/20
OS +1.25 -1.75x90 VA 20/20
Horz.phoria : Ortho
Vertical Phoria : Ortho
BCC +0.75
NRA /PRA +1.25 /-1.25 (rely BCC)
Assessment
1.Mixed hyperopic astigmatism OD and OS
2.Normal Binocular Function
3.Prepresbyopia
Plan
1.Full Correction
OD +1.37 -1.87 x 90
OS +1.25 -1.75 x 90
Lens : Rodenstock Impression B.I.G. EXACT Mono Plus 1.1 w/ Solitaire Lay-R X-Clean
Frame : Lindberg rim titanium , William , Col.PGT/PGT (polished Gold)
2.F/U (follow up)
3. Prescribe mild addition +1.10D for relief at near work.
Analysis
ปัญหาการมองเห็นหลักของคนไข้คือ มีสายตายาวมาแต่กำเนิดร่วมกับสายตาเอียงชนิด mixed hyperopic astigmatism คือมีแนวโฟกัส (focal line) ส่วนหนึ่งตกหลังจอประสาทตา และ อีกแนวหนึ่งตกก่อนจอประสาทตา หรือ แนวโฟกัสทั้งสองนั้นตกคร่อมเรตินาอยู่นั่นเอง ซึ่งเราเรียกสายตาประเภทนี้ว่าสายตา มิกซ์ (mixed hyperopic astigmatism) เน้นกันอีกทีว่า สายตายาวที่มีมาแต่กำเนิดเรียกว่า hyperopia ส่วนยาวที่มามีเอาตอนแก่เขาเรียกว่า presbyopia มันคนละเรื่องกัน แต่บ้านเรามีปัญหาเรื่องศัพท์ที่จะนำมาใช้แทนคำอังกฤษ ซึ่งมักใช้ชื่อตามอาการแสดง ซึ่งบางทีก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในระดับประเทศ นำไปสู่ความไม่เข้าใจ และ ไม่ได้รับการแก้ไข ตัวอย่างเช่น
ปัญหาทางภาษานี้ นำไปสู่ปัญหาเด็กสายตายาวที่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเด็กสายตายาวแต่กำเนิดจะมองเห็นชัด แต่ปวดหัว เวลาไปซื้อแว่น ร้านขายแว่นก็จะรู้สึกแปลกๆ และไม่กล้าจ่ายเลนส์ตาบวกในเด็ก เพราะกลัวจะมัว จะวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ก็ไม่กล้าเพราะคอมพิวเตอร์วัดสายตาเด็กไม่ได้ จะเรติโนสโคปก็ไม่เคยได้ฝึก จะ subjective เด็กก็สื่อสารไม่ดี ส่วนใหญ่จึงมักทดสอบแค่ VA ถ้าเด็กอ่านได้ถึงตัวเล็กได้ เด็กก็จะได้เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงินที่ไร้ซึ่งประโยชน์กลับบ้าน ดีไม่ดีบางเคสจ่ายเลนส์ลบให้เด็กตาเป็นบวกก็มี เพื่อเชื่อว่าจ่ายเลนส์ลบแล้วเด็กจะชัดขึ้น (เพราะเพ่งมากขึ้น) แต่เด็กก็จะถอดแล้วบอกว่าตาเปล่าชัดกว่า ซึ่งแบบนี้มีมาก และ มากไปกว่านั้นคือ คนเป็นตาบวกมีแนวโน้มว่าจะมีเหล่เข้าแบบซ่อนเร้น (esophoria) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งการไป over minus ก็จะยิ่งทำให้เหล่เข้าหนักยิ่งขึ้น ซึ่งต้องระวัง
คั่นอีกเรื่องหนึ่งเพราะมันต่อเนื่อง...(พิมพ์ไปก็แว๊บขึ้นมา)
เราหลายๆคน ยังเข้าใจสับสนกับคำว่า "ความคมชัดของการมองเห็น (visual acuity)" กับคำว่า "ความรู้สึกถึงความดำของตัวอักษร" (contrast sensitivity)
Visual Acuity หรือ ความคมชัดของการมองเห็น คือ resolution หรือ ความสามารถในการแยกแยะความละเอียดว่า "สิ่งสองสิ่งที่อยู่ใกล้กันที่สุดว่าห่างกันได้" คล้ายๆกับจำนวน Pixel นั่นแหล่ะ เช่นเวลาเราเห็น E คือเราเห็นช่องว่างระหว่างแถบดำได้ เราเลยรู้ว่าเป็น "E" ทีนี้การทดสอบก็คือ เราสามารถรู้ว่าเป็นตัว E ที่เล็กที่สุดได้แค่ไหน เช่นเราลองเดินให้ห่างจาก E ไปเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเป็น E เพราะเราแยกรายละเอียดไม่ได้ แบบนี้เขาเรียกว่าความชัด ซึ่งทางคลินิกจึงต้องมีการออกแบบตัวหนังสือเรียกว่า Snellen Chart ออกมาเป็นเครื่องมือตรวจสอบความคมชัด เราเรียกว่า Visual Acuity test หรือ VA test เพื่อตรวจสอบว่าเราเห็นชัดได้เท่ากับคนปกติหรือไม่ หรือ ถ้าน้อยกว่าคนปกติคิดเป็นหน่วยกี่เปอร์เซ็น (ศึกษา Sellen Acuity เพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ที่แนบมา https://www.loftoptometry.com/whatnew/view/107)
Contrast ก็อีกอย่างหนึ่ง คือคนส่วนใหญ่มักตีความเรื่อง contrast ว่าเป็นภาพที่คมชัด แต่ความจริงมันไม่ใช่ความชัด แต่มันเป็นความดำ เช่น สมมติว่าเราสายตาสั้น -1.00D ถ้าเราใส่เลนส์ -0.75D เราจะอ่านไม่ชัดถึง VA 20/20 แต่เมื่อเราใส่เลนส์ -1.00D เราจะอ่าน VA 20/20 ได้ และเมื่อเราเพิ่มกำลังเลนส์ลบไปเรื่อยๆ ด้วยการจ่ายเบอร์ให้เกินขึ้นไปเช่น -1.25 -1.50-1.75-2.00 ...-2.50D ไปเรื่อยๆ คนไข้ก็จะบอกว่า ชัด ชัด ชัด แต่ VA กลับคงที่ หรือ แย่ลงเสียด้วยซ้ำ อันนั้นแหล่ะที่เขาเรียกว่า contrast ไม่ใช่ความคมชัด
contrast ดังกล่าวเกิดจากค่ากำลังเลนส์ที่เกินพอดีไปกระตุ้นการเพ่งมากเกินไป ทำให้สัญญาณประสาทส่งไปยังสมองนั้นมีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งคนไข้จะรู้สึกว่าดำขึ้น (แต่มักเข้าใจผิดว่ามันชัด) ซึ่งคนที่มักมีอาการนี้เช่น คนไข้ hyperopia หรือสายตายาวมาแต่กำเนิดที่ยังมีแรงเพ่งได้ดี หรือ คนสายตาสั้นที่ใช้เลนส์เกินกำลังค่าสายตาตัวเองมานาน เมื่อเราไปแก้ไขให้มันถูกต้อง คนไข้จะบอกว่า "มัว" ซึ่งจริงๆไม่มัว เพราะคนไข้อ่านได้ถึง 20/20 หรือ 20/15 เสียด้วยซ้ำ แต่คนไข้ติด contrast ซึ่งกรณีแบบนี้ ถ้าไม่ระวัง เราก็จะเผลอเออออห่อหมก under plus หรือ over minus ตามใจคนไข้ ซึ่งมันจะทำให้เกิดปัญหา binocular dysfunction ตามมา
กลับมาที่เรื่องหลัก
ซึ่งถ้าเรายังพอจำกันได้จากเรื่องเก่าๆที่เขียนไปก็คือ ลักษณะสำคัญของโฟกัสของเลนส์สเฟียร์ (spherical lens) ที่ไม่มีสายตาเอียงกับเลนส์สายตาเอียง (cylinder-lens)นั้น มีลักษณะของโฟกัสที่ต่างกัน โดยเลนส์สเฟียริก การโฟกัสของแสงที่เข้ามาในทุก meridian จะรวมโฟกัสลงบนจุดเดียวกันหมด เกิดการโฟกัสแบบ focal point ในขณะที่เลนส์สายตาเอียงซึ่งเกิดจากระบบเลนส์ที่แต่ละแกนนั้นโค้งไม่เท่ากัน (ย่อมทำให้เกิดกำลังเลนส์ต่างกัน)
ความโค้งทำให้เกิด power ดังนั้น ถ้าโค้งไม่เท่ากันก็ย่อมทำให้เกิด power ที่ต่างกัน และในแต่ละ meridian ของเลนส์ cylinder นั้น โค้งไม่เหมือนกันเลย แต่เราจะสนใจเฉพาะแกนหลัก (principle meridian)คือแกนที่มีความโค้งมากสุด(มีกำลังสูงสุด) และ แกนที่มีความโค้งน้อยสุด(มีกำลังน้อยสุด) และ ผลต่างของกำลังเลนส์ระหว่างสองแกนหลักนั้นเองที่เราเรีกว่า “สายตาเอียง” ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับ การเขียนตัวหนังสือเอียงๆ หรือ ชอบเอียงคอ หรืออะไรที่มันเกี่ยวกับความเอียงทั้งสิ้น แต่มันเป็นความผิดของภาษาที่ใช้คำว่า “สายตาเอียง”แทนคำว่า “astigmatism” คือคนโบราณ เวลาเจอศัพท์ฝรั่งมา ก็จะพยายามแปลเป็นไทย นึกอะไรที่ดูคล้ายๆ ก็เอามาใช้เรียก ก็เลยทำเอางงกันทั้งประเทศ ซึ่งถ้าให้เดา ผมว่าเขาน่าจะเห็นว่า สายตาเอียงมันมีองศา ซึ่งองศามันก็เอียงๆตามแกนขอมันกระมัง ก็เลยเรียกว่า “สายตาเอียง”
Principle meridian คือแกนหลักของสายตาเอียง และเกิดระยะโฟกัสแบบเส้นหรือ focal line ซึ่งสองแกนนี้ตั้งฉากกันอยู่ (ให้นึกถึงลูกรักบี้) และ จุดที่ชัดที่สุดไม่ใช่โฟกัสของทั้งสองแกนนี้แต่กลับเป็น จุดที่ “มัวน้อยที่สุด” ซึ่งเป็นจุดที่อยู่กึ่งกลางระหว่างแนวโฟกัสทั้งสอง เราเรียกจุดนี้ว่า “circle of least confusion”
Circle of least confusion มีอีกหลายชื่อที่ความหมายเดียวกันคือ best sphere หรือ spherical equivalent ,S.E. ซึ่งสามารถคำนวณหาจุดนี้ได้จากการคำนวณโดยการนำ “ครึ่งหนึ่งของค่าสายตาเอียง มารวมกันแบบพีชคณิตกับค่าสายตาสเฟียร์” [S.E. =Sph+[1/2(-Cylinder)] ค่าที่ได้คือกำลังของค่า circle of least confusion หรือค่าสเฟียร์ที่ดีสุด(เท่าที่จะดีได้) โดยไม่ต้องใส่ค่าสายตาเอียง ซึ่งมุกนี้มักใช้กับการจ่าย contact lens แบบที่ไม่มีค่าสายตาเอียง และลัทธิจัดสายตาก็มักจะเอามุกนี้ไปใช้เป็นเทคนิคลับๆในการจ่ายเลนส์ให้รอด (ขายแว่นให้ได้) อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ red/green test ในการหาค่า S.E. แต่เรามักใช้ในการหา Best sphere ก่อนที่จะทำ jackson cross cylidner มากกว่า
ดังนั้น เนื่องจากการโฟกัสของเลนส์ที่สายตาเอียงนั้น แนวโฟกัสของทั้งสอง (focal line) ที่ตกก่อนและตกหลังนั้นกลับเป็นโฟกัสที่แย่ที่สุด คือมีเงาซ้อนแบบขีดสุด ซึ่งสมองแปรผลได้ยาก ดังนั้นสมองจะบังคับเลนส์ตาเพื่อหาจุดที่ชัดที่สุดเพื่อส่งสัญญาณประสาทที่ดีที่สุดให้สมอง และ จุดที่ดีที่สุดก็คือภาพที่ตำแหน่ง circle of least confusion นั่นเอง (ไม่ใช่ focal line)
ดังนั้นในเคสคนไข้ mixed นั้นมักจะสามารถมองเห็นได้ทั้งไกล และ ใกล้ (ด้วย circle of least confusion) แม้ไม่ชัดมากแต่ก็พออยู่ได้หรือใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งแว่น แต่ก็จะมีปัญหาคือ ไม่เคยเห็นภาพที่ชัดๆใสๆเลย มันจะเป็นภาพที่มีขอบๆ มัวๆ เหมือนมีหมอกอยู่ตลอดเวลา กลางคืนก็จะมีแสงฟุ้ง ส่วนกลางวันก็จะแฟ้แสง แสบตา บางทีก็ปวดหัว ปวดตา เนื่องจากดวงตาต้องอาศัยกล้ามเนื้อตาในการเกร็งหรือเพ่งตัวตลอดเวลาเพื่อหาจุดชัด แต่ก็ทำไม่ได้เพราะมันไม่มีจุดชัด มันมีเพียงแต่จุดที่แย่น้อยที่สุด
และด้วยความที่คนที่เป็นสายตา มิกซ์ ที่ผลรวมแล้วค่า Spherical Equivalent เข้าใกล้ศูนย์หรือบวกเล็กน้อยแล้ว ความคมชัดด้วยตาเปล่าที่อ่านได้นั้น เกือบเท่ากับคนปกติ ซึ่งในเคสนี้ค่า SE ที่คำนวณได้คือ
ODS.E.=+1.37+[1/2(-1.87)] = +0.435D
OSS.E.=+1.25+[1/2(-1.75)] = +0.375D
ซึ่งด้วยค่าสายบวกหลังทำ S.E. แล้วเหลือเท่านี้ คนไข้ก็มักจะรู้สึกว่ามองไกลชัด เวลาไปร้านแว่นตาเพื่อการพาณิชย์ทั่วไปมักจะวัดแว่นเอาแค่ชัดและใส่ได้ (ขายได้) โดยที่ไม่สนใจถูกหรือผิด ยิ่งถ้าคนไข้มองเห็น VA 20/20 ด้วยตาเปล่า คนเหล่านี้ก็จะสันนิษฐานเอาเองว่า มองไกลคนไข้ไม่มีปัญหาไม่ต้องแก้(หนักๆไม่ตรวจก็มี) หรือบางคนก็รู้ว่าคนไข้มีสายตายาวมาแต่กำเนิด แต่ก็ไปได้รับความเชื่อผิดๆจากพวกลัทธิจัดสายตา ตัวอย่างเช่นว่า “เขาเพ่งจนชินแล้ว หรือ เขายังสามารถเพ่งให้ชัดได้ก็ไม่ต้องไปแก้ให้เขา” (เข้าตำรา if it don’t broke ,don’t fix it เป๊ะ) ตามมาด้วยการเสียบเลนส์เพื่อหาเบอร์แว่นอ่านหนังสือ พอใส่บวกจนอ่านหนังสือได้แล้วเขาก็จะเอาค่านั้นมาเป็น addition
มันก็เป็นเรื่องตลกเหมือนกัน ว่าเรื่องการกลัว hyperope นั้นเกิดขึ้นในการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาตรวจค่าสายตาออกมาเป็นบวก (คนไข้ hyperopia แต่ VA ตาเปล่าคนไข้ดีอยู่) เมื่อเด็กส่งเคส consult ก็จะถามกลับมาว่า "มันจะใส่ได้เหรอ VA เขาก็ดีนี่ ใส่ให้เขาทำไม ลองถอดออกดูก่อนไหม ว่าอย่างไหนดีกว่า " แต่เดี๋ยวๆๆ...แล้ว Binocular Function , Accommodation ที่ตรวจมาเยอะแยะ นี่ไม่สนใจเลยหรือแล้วจะให้ตรวจทำไม ? ซึ่งมันก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่เกิดขึ้นจริง จึงไม่แปลกอะไรที่คนไม่เข้าใจและกลัวที่จะ full correction ให้กับคนไข้ hyperopia
ดังนั้นคนไข้ที่เป็น hyperopia + presbyopia มักจะได้ค่า hyperopia ที่ต่ำกว่าค่าจริง (under plus) และ ได้ค่า addition ที่เกินจริง (over add) ส่งผลให้โครงสร้างตีบแคบ โครงสร้างเลนส์พัง ใช้งานไม่ได้จริง นั่นต่างหากที่เป็นความจริง ว่าทำไมวงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสายตาประชาชน ถึงได้กลัวที่จะแก้สายตายาวแต่กำเนิด
ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว Mixed hyperopic astigmatism จึงมักจะเป็นเคสที่ยากที่สุดในการขุดค่าสายตาออกมา แม้กระทั่งการใช้ retinoscope ก็ตาม ซึ่งจากเคสจะเห็นได้ว่า ขณะที่ผมกวาด retinoscope เพื่อดู reflect ที่สะท้อนออกมาจากรูม่านตาอยู่นั้น ค่าที่ผมได้คือ
OD 0.00-1.50x90 ,VA 20/20
OS +0.50-1.00x90 ,VA 20/20
ซึ่งจากค่าที่ได้นั้น แสงที่ผมอ่านได้นั้น ได้ค่าสายตายาวที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก (under plus) แต่กระนั้นก็ตาม คนไข้ก็ยังเห็น 20/20 ได้แม้ว่าจะยังเป็นค่าที่ยังไม่ถูกต้อง เนื่องจาก สายตา mixed hyperopic astig. นั้น เลนส์แก้วตาจะเพ่ง (accommodation) ให้ circle of least confusion นั้นอยู่บนจอรับภาพ ทำให้เราดูแล้วเหมือนว่า โฟกัสนั้นตกพอดี (เห็นแสงเป็น nutral) และ อาจเข้าใจผิดว่าคนไข้ไม่มีสายตายาวแต่กำเนิด และ เมื่อเลนส์ตาเพ่งอยู่ นอกจากค่าบอกจะบวกน้อยกว่าความเป็นจริงแล้ว ยังได้ค่าสายตาเอียงที่ต่ำกว่าความเป็นจริงอีกด้วย (เพราะทุกๆการ over-minus/under-plus แต่ละสเตป(0.25DS) นั้น สามารถกลืนค่าสายตาเอียงได้สองสเตป(-0.50DC)
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไร ถ้าคนที่มีสายตายาวแต่กำเนิดแล้วไม่ได้แก้ไข ก็จะหาสายตาเอียงไม่เจอด้วย กรณีเดียวกันกับคนที่ over minus ก็มักจะได้ค่าสายตาเอียงที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ส่วนสาเหตุสำคัญตอนทำ retinoscopy แล้วได้ค่าที่ under plus มามากก็คือ fog ไม่มากพอ แต่ก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะเรามีวิธี backup check ต่ออยู่แล้ว วิธีแก้ไขก็คือ fog ให้มากพอ
ดังนั้นถ้าไม่ระวัง จะผิดทั้งหมดเลย คือย้ายจากผิดหนึ่งไปสู่ความผิดอีกแบบหนึ่ง และ นั่นไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่เป็นการย้ายปัญหา ซึ่งการย้ายปัญหาไม่นับว่าเป็นการประกอบโรคศิลป์
แต่สำหรับเคสนี้ เมื่อพยายาม ขุดด้วยการเก็บรายละเอียดในการทำ subjective test ออกมาแล้ว พบว่าสามารถรีดค่าสายตาจริงออกมาได้มากถึง
OD +1.37 -1.87x90 ,VA 20/15
OS +1.25-1.75x90 ,VA 20/15
ซึ่งซึ่งค่าดังกล่าวเป็นค่าของการแก้ไข full correction refractive error ทั้งหมด และเมื่อทำดังนี้เสร็จแล้ว คนไข้สามารถเห็นชัดเจนได้ทั้งมองไกลและอ่านหนังสือโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาแว่นอ่านหนังสือ เพราะเลนส์แก้วตาไม่ต้องเจียดแรงสำรองที่มีอยู่น้อยนิด(จากอายุที่มาก) ไปเพ่งมองไกล เมื่อมองไกลไม่ต้องเพ่ง ก็จะเหลือแรงไว้อ่านหนังสือ แต่ผมก็เลือกที่จะจ่ายเป็น plus +1.1D ในรุ่นเลนส์ Imp. B.I.G. Exact Mono Plus ก็ด้วยเหตุว่า แม้ว่าคนไข้จะสามารถอ่านหนังสือชัดด้วยแรงเพ่งของตัวเอง แต่ด้วยคนไข้ที่เริ่มเข้าสู่ภาวะสายตาแก่แล้ว ก็จ่ายไปเลยดีกว่า แว่นจะได้สามารถใช้งานได้นานๆ ซึ่งก็เป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำแว่นให้กับคนไข้ได้อีกทางหนึ่ง
The result
ผลของการจ่ายค่าเบื้องต้นนี้ออกไป คนไข้สามารถมองชัดได้ทั้งไกลและใกล้ โดยสามารถมอง VA ได้ถึง 20/15+2 ที่ระยะ 6 เมตรได้ทั้งสองตา และ ดูใกล้ได้ชัดเจน โดยไม่ได้รู้สึกถึงภาพบิดเบือนด้านข้างที่เกิดขึ้นกับเลนส์ที่มีโครงสร้างแบบโปรเกรสซีฟที่มี addition +1.1D เพียงแต่เกิดภาพมัวเล็กๆเวลามองไปที่ขอบๆของเลนส์ ซึ่งก็ไม่ใช่ตำแหน่งที่จะต้องเหลือบตาไปจนถึงขอบเลนส์ขนาดนั้น
Binocular Function
ในส่วนของปัญหาการทำงานร่วมกันของสองตานั้น ไม่พบความผิดปกติ ส่วนปัญหาของระบบเพ่งขณะดูใกล้นั้นก็ถือว่า มีอยู่บ้างตามค่า Norm คือ +0.75D ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะมีค่าความขี้เกียจเพ่งอยู่ประมาณนี้
เลนส์ที่เลือกใช้นั้น คนไข้ขอเลือกเป็นเลนส์ที่ดีที่สุดท่าที่จะมีได้ในปัจจุบัน ซึ่งเลนส์ที่ดีที่สุดในปัจจุบันและเหมาะสมกับเคสนี้ก็คงมีได้เพียง Impression B.I.G. Exact Mono Plus 1.1 กับ Cotating ที่เป็นรุ่นทอปสุดของโรเด้นสต๊อก นั่นคือ Solitare Lay-R X-clean
คำว่าเลนส์ดี หมายความว่า เป็นเลนส์ที่มีเทคโนโลยีในการที่จะลด aberration ที่จะเกิดจากปัจจัยต่าง อันเป็นเหตุของความไม่สบายตาในระหว่างการใช้งานเลนส์ ซึ่งเหตุของ aberration นั้นก็มากมายหลายอย่าง และ Impression B.I.G. Exact ก็ใช้เทคโนโลยีทุกอย่างที่มีในการแก้ aberration เหล่านั้น ในส่วนของรายละเอียดเทคโนโลยีว่ามีเทคโนโลอะไรที่น่าสนใจนั้น ไว้ผมจะเขียนแยกขึ้นมาเรื่องหนึ่งเลย เนื่องจาก Rodenstock มีเทคโนโลยีมาก และ ก็ต้องทำความเข้าใจในเชิงวิทยาศาสตร์เยอะ รวบรวมไว้ในเรื่องเดียวน่าจะง่ายต่อการค้นคว้ามากกว่า
Summary
สายตายาวแต่กำเนิด (hyperopia) เป็นปัญหาสายตาที่เหมือนกับขยะหมกอยู่ใต้พรม คือ มองไม่เห็นขยะ ไม่ใช่ว่าไม่มีขยะ หรือ ตอไม้ที่จมอยู่ในนำ้ มองไม่เห็นไม่ใช่ไม่มี แล้ววันดีคืนดีน้ำลดลงมาแล้วเห็นตอโผล่ขึ้นมาก็ไม่ต้องไปงงหรือสงสัยว่า อยู่ๆตอไม้นั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และ ก็อย่าไปคิดว่า ความยาวของตอไม้คือแค่ส่วนที่โผล่มาพ้นน้ำ เพราะสิ่งที่เราไม่รู้คือส่วนที่อยู่ในน้ำ และ ส่วนที่ฝังอยู่ในโคลน ถ้าอยากรู้ก็ต้องวิดน้ำออกมาแล้วก็วัดความยาว หรือ ถ้าให้ดีก็ต้องขุดขี้โคลนเพื่อดูเนื้อตอไม้ทั้งหมด และ ถ้าไม่ทำขนาดนี้ ก็ยากที่จะรู้ว่าตอไม้ที่จะต้องตัดออกนั้นมีทั้งหมดเท่าไหร่
สายตายาวแต่กำเนิด (hyperopia) ก็เช่นเดียวกัน เขาเห็นชัดก็อย่าไปทึกทักว่าเขาไม่มีปัญหาสายตา และ อย่าได้อ้างเรื่องการเพ่งได้ของเขาแล้วก็ปล่อยให้เขาเพ่งไป เพราะนั่นแสดงว่าคุณไม่ได้แคร์ว่า การเพ่งที่มัน overload นั้นจะทำให้เกิด binocular disfunction ต่อไปอย่างไร ดังนั้นตรวจให้เจอแล้วแก้ให้หมด “อย่าจัดสายตา”แต่ต้องมั่นใจว่าที่ตรวจเจอเป็นความจริง ไม่ใช่มั่วมาแล้วหลอนว่าเป็นจริง เพราะถ้าจริง คนไข้จะไม่ reject ถ้าเลนส์ดีพอกับปัญหาที่เป็น
ดังนั้นทัศนมาตรทั้งหลายที่ยังทำงานอยู่ในวิชาชีพทัศนมาตรศาสตร์ พึงตระหนักถึงการดำรงอยู่ว่า อยู่เพื่อช่วยให้คนมีการมองเห็นที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น การเรียน การงาน การใช้ชีวิตดีขึ้น แล้วก็มีความสุขซะ อย่าทำแค่สุกเอาเผากิน นั่นมันหยาบเกินกว่าที่จะเรียกว่าเป็นการประกอบวิชาชีพทัศนมาตรศาสตร์
ติดต่อทำนัด
578 Wacharapol Rd ,Tharang ,Bangkhen ,BKK 10220
Mobile : 0909-553-6554
Line : loftoptometry
Web : www.loftoptometry.com
Fb: www.facebook.com/loftoptometry
Recommend Optometry Clinic
1.สุธนการแว่น (บริการทางทัศนมาตรคลินิก) ,พิจิตร : Maps https://maps.app.goo.gl/SAsaPoMbTJZeowxq6
2.Khunyai Optometry ,เชียงใหม่ : www.facebook.com/khunyaioptometry
3.Vorada Optometry ,ฉะเชิงเทรา , www.facebook.com/voradaoptometry
Product :