สายตายาวแต่กำเนิด แต่มาเกิดและเพิ่มขึ้นเอาตอนอายุมากได้อย่างไร ?


สายตายาวแต่กำเนิด แต่มาเกิดและเพิ่มขึ้นเอาตอนอายุมากได้อย่างไร ?

By Dr.Loft ,O.D.

public 8 August 2024

 

Intro

 

ในบทความที่แล้ว ผมได้อธิบายความซับซ้อนของสายตายาวแต่กำเนิด หรือ hyperopia กันไปแล้ว ว่ามันก็เหมือนกับหินโสโครกที่จมอยู่ในน้ำทะเล ส่วนที่เห็นพ้นน้ำนั่นไม่ใช่หินทั้งหมด ส่วนจะลึกและใหญ่แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถดำน้ำไปดูหรือวิดน้ำทะเลออกได้มากแค่ไหนและนั่นก็เป็นที่มาว่าทำไมสายตายาวที่มีมาแต่กำเนิดที่ตรวจวัดมาไม่ดีจึงเกิดการเปลี่ยนของสายตาอยู่ตลอดเวลาหรือสายตาเปลี่ยนบ่อย เช่นใส่วันแรกชัด ผ่านไปไม่กี่เดือนก็เริ่มมัวกันอีกแล้ว (เพราะหินไม่ได้ถูกเอาออกไปทั้งหมดและน้ำทะเลก็มีช่วงที่น้ำขึ้นและน้ำลง) และแม้ว่าเราอาจจะตรวจได้ถูกต้องใน moment หนึ่งๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป (ระดับน้ำมีการลดลงตลอดเวลา) เราก็จะสามารถเห็นหินที่จมอยู่ในน้ำได้มากขึ้น

 

ตัวอย่างเชิงรูปธรรมข้างต้นคือเหตุผลว่าทำไม สายตายาวมีมาแต่กำเนิดแต่กลับมาพบเอาตอนอายุมากแล้ว (เพราะแก่และแรงเพ่งก็ลดลงตามอายุ) และ เมื่อเราแก้ค่าสายตายาวที่ตรวจได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่พอใช้ไปสัก 3-4 ปี เรามักจะพบว่าตรวจพบได้สายตายาวเพ่ิมขึ้น ซึ่งในความเป็นจริง สายตายาวที่ตรวจได้เพ่ิมขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นสายตายาวที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพียงแต่เป็นของเก่าหรือของเดิมที่ยอมให้เราตรวจเจอและแก้ไขได้มากขึ้นเท่านั้นเอง ทำให้สายตายาวแต่กำเนิดนั้นถูกแบ่งออกได้หลายชนิด (ศึกษาชนิดของสายตายาวเพ่ิมเติมได้จากลิ้ง..)

 

Case Study

เคสในวันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี ในการอธิบายสายตายาวแต่กำเนิดได้ดี เนื่องจากเป็นเคสคนไข้เก่าเมื่อหลายปีก่อน ที่ทำนัดเข้ามาตรวจสายตาเพื่อทำเลนส์ใหม่ ซึ่งแต่เดิมคนไข้ก็มี hyperopia อยู่แล้วและก็แก้ไขด้วยเลนส์และใช้มาหลายปี ซึ่งเลนส์ก็เก่าและมีรอยไปตามระเบียบวินัยของการดูแลรักษา (รักษาดีก็รอยน้อย รักษาไม่ดีก็รอยมาก) ก็เลยอยากได้เลนส์ใหม่ ด้วยความที่เป็นเคสที่เราดูแลเองมาตั้งแต่ต้น ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหนึ่งๆได้ชัดเจนมากขึ้น

 

Case History

ย้อนกลับไปปี 2564 เมื่อ 3 ปีก่อน (12-09-2021)

 

(ขณะนั้น) คนไข้(หญิง) อายุ 44 ปี ทำนัดเข้ามาตรวจด้วยอาการดูใกล้มัว เวลาจะดูหนัง Netflix แล้วอ่านซับลำบาก ส่วนมองไกลชัด ขับรถได้ ไม่ได้มีปัญหามองไกล ปัจจุบัน(ขณะนั้น)แก้ไขปัญหาด้วยการมีแว่นอ่านหนังสือ ซึ่งเป็น reading glasses ทั่วไป แต่ก็มีปัญหาว่า แว่นอ่านหนังสือใช้ดูหนังอ่าน sub-title บนทีวีไม่ได้ จึงเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มียาที่ต้องทานประจำ

 

ไม่มีปัญหาปวดหัว หรือ เห็นภาพซ้อน

 

ใช้สายตาในการดูบัญชี  ทำงานเอกสาร + ดูมือถือและเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก

 

Preliminary eye exam

PD    :  31.5/31.5

VAsc : OD 20/20 ,OS 20/20  (un-aided VA)

 

Retinoscopy

OD +1.00D VA 20/20

OS +1.00D VA 20/20

 

Monocular Subjective

OD +0.75 -0.25x65  VA 20/20

OS +1.00 -0.25x100 VA 20/20

 

BVA (on phoropter)

OD +1.25 -0.25x65 VA 20/15

OS +1.25 -0.37x95 VA 20/15

 

BVA ( fine tuning on trail lens )

OD +1.25 -0.25x65 VA 20/15

OS +1.25 -0.37x97 VA 20/15

 

Functional : vergence and accommodation ( distant 6 m.)

Horz.phoria : 10 BI ,exophoria

BI-reserve   : x/14/5

Vert Phoria : Ortho

 

Functional : vergence and accommodation ( near 40 cm.)

BCC          : +1.00

NRA/PRA : +1.00D/-1.25D (rely BCC)

 

Assessment

1.compound hyperopic astigmatism ,OD and OS

2.Presbyopia

3.Normal Binocular Function

 

Plan

1.Full Rx

OD +1.25 -0.25x65

OS +1.25 -0.37x97

2.Single Vision Lens w/ Plus addition +1.00D (Rodenstock Impression Mono 1.6  Plus +1.1 CMIQ Gray )

3.N/A

 

ผ่านไป 3 ปี (2567) ( 24-05-2024)

คนไข้ ปัจจุบันอายุ 47 ปี กลับมาอีกครั้งด้วยอาการอ่านหนังสือเริ่มจะต้องยื่นมือห่างออกไปอีกรอบ ส่วนมองไกลเริ่มจะไม่สามารถเห็นชัดด้วยตาเปล่า รู้สึกว่าต้องเริ่มเพ่งถ้าไม่ใส่แว่น และ ชัดกว่าเวลาใส่แว่น จึงต้องการทำเลนส์ใหม่

 

Retinoscopy

OD +1.75 -0.75x120  VA 20/20

OS +1.75 -1.00x90   VA 20/20

 

Monocular Subjective

OD +1.75 -0.50x87  VA 20/20

OS +1.75 -0.37x95  VA 20/20

 

BVA (on phoropter)

OD +1.62 -0.50x87  VA 20/15

OS +1.50 -0.37x95  VA 20/15

 

BCVA  (on trial frame)

OD +1.75-0.37x90  VA 20/15

OS +1.62-0.37x95  VA 20/15

 

Functional : Vergence and accommodation ( at 6 m)

Horz.phoria     : 3 BI ,exophora

Vertical phoria : Ortho

 

Functional : vergence and accommodation (at 40 cm)

BCC        : +1.50D

NRA/PRA : +1.00D/-1.00D (…rely BCC)

 

Assessment

1.compound hyperopic astigmatism ,OD and OS

2.Presbyopia

3.Normal Binocular Function

 

Plan

1.Full Rx

OD +1.75 -0.37x90

OS +1.62 -0.37x95

2.Progressive lens Rx : Add +1.50D ; Rodenstock Impression B.I.G. Exact 1.6 CMIQ3 SB

3.N/A

 

Analysis

 

คราวนี้ก็มาแคะกันเป็นเรื่องๆ ว่าในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของดวงตาอย่างไร จึงทำให้ไข้มีอาการที่เปลี่ยนไป

 

เมื่อ 3 ปี ก่อน  มองไกลชัด อ่านหนังสือมัว  ปัจจุบัน มองไกลก็มัว ดูใกล้ไม่เห็นอะไรเลยและผลจากการตรวจวัดสายตาครั้งหลังก็พบว่า สายตายาวแต่กำเนิด (hyperopia) เพ่ิมมากขึ้น จาก +1.00D (โดยประมาณ) เพ่ิมเป็น +1.75D  และ สายตาแก่ (presbyopia) ก็เพิ่มขึ้นจาก add +1.00D กลายเป็น +1.50D

 

Point แรกนี้คือ...

 

ทำไมเมื่อก่อนมองไกลชัดด้วยตาเปล่า ในขณะที่ปัจจุบันคนไข้มองไกลมัว  คนไข้เป็นสายตาสั้นหรือเปล่า (เพราะมีคนเคยพูดว่า “สายตาสั้นมองไกลมัว อ่านหนังสือชัด”) แต่คนไข้ท่านนี้แรกๆเมื่อหลายปีก่อนมองไกลชัดเจน แค่อ่านหนังสือมัว พอมาปัจจุบันมองไกลก็มัวและมัวมากขึ้นตามอายุที่เพ่ิมขึ้น ส่วนดูใกล้ก็ยิ่งมัวไปกันใหญ่ คำตอบคือ คนไข้มีสายตายาวแต่กำเนิด แรกๆเพ่งไหวก็ชัด พอเพ่งไม่ไหวก็มัว และ แรงเพ่งก็ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น

 

คำถามต่อมาคือ ไหนว่า มีคนพูดว่า “สายตายาวมองไกลชัด อ่านหนังสือมัว” คำตอบคือ “คำภาษาไทยที่ใช้เรียก hyperopia มันผิด พอเรียกผิด นิยามผิด ก็เลยเข้าใจผิด” เพราะสายตายาวแต่กำเนิด จะชัดได้กรณีที่เลนส์แก้วตาเราเพ่งไหวเท่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับแรงหรือกำลังเพ่ง (amplitute of accommodation ,AA) เหลือเพียงพอกับ demand ที่จะต้องเพ่งหรือไม่ ซึ่งแรงนี้จะลดลงเมื่ออายุเราเริ่มขึ้น ซึ่งแรงเฉลี่ยที่เหลืออยู่ เราสามารถคำนวณได้จาก  AA =16-(อายุ/4)

 

ตัวอย่างเช่น คนไข้อายุ 44 ปี จะมีแรงเพ่งเหลืออยู่ AA =16-(44/4)=+5.00D  โดยประมาณ ดังนั้น “แรงเพ่งจึงแปรผกผันกับอายุ” ยิ่งอายุมาก แรงเพ่งก็ยังคงเท่าเดิม  แต่ demand สิคงที่ เพราะถ้าเรายังคงอ่านหนังสือที่ระยะคงที่ แรงกระตุ้น (demand) ก็ต้องคงที่ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ demand คงที่แต่ supply ลดลงตลอดเวลา คำตอบก็คือ วันหนึ่ง supply มันจะไม่พอกับ demand ที่มี ทำให้เราต้องหาตัวช่วยนั่นก็คือการเติม addition ให้คนไข้นั่นเอง

 

อุปมาเหมือนกับเราต้องกินข้าววันละ 3 จาน (เช้า/เที่ยง/เย็น) แต่ข้าวในยุ้งมีเท่าเดิม เมื่อถึงวันหนึ่งข้าวไม่พอหุง เราก็ต้องไปหาข้าวที่อื่นมาเติม อีกนัยหนึ่ง คุณไม่สนใจหรอกว่าข้าวในยุ้งคุณจะมีเท่าไหร่ ถ้าตราบใดที่คุณยังมีข้าวกินอยู่ จนกระทั่งที่มันพร่องนั่นแหล่ะ คุณถึงจะเข้าใจความรู้สึกของการไม่มี

 

Hyperopia ก็เช่นกัน คุณจะไม่มีปัญหาใดในเรื่องความคมชัด (เว้นเสียแต่ว่ามันทำให้คุณมีตาเหล่เข้า) ตราบที่คุณยังมีแรงเพ่งที่เหลือเฟือแต่เมื่อไหร่ที่แรงเพ่งคุณเริ่มไม่พอ เมื่อนั้นแหล่ะที่คุณจะเริ่มเข้าใจ ว่ากะอิแค่มองให้ชัดทำไมมันถึงลำบากขนาดนั้น  และ คนกินมาก ข้าวก็หมดไว  hyperopia สูงๆ ก็ใช้แรงเพ่งเยอะ แรงก็หมดไว ฉันไดก็ฉันนั้น

 

 

Discussion

 

สายตายาวแต่กำเนิด (hyperopia) เพิ่มขึ้นได้อย่างไร

ถ้าว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา​ โดยปกติแล้ว เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับสายตายาวแต่กำเนิด (hyperopia) และ เมื่อเด็กเติบโตขึ้น สายตายาวจะค่อยๆลดลง ตามกระบอกตาที่ยืดยาวขึ้นตามร่างกายที่เติบโตขึ้น ทำให้สายตายาวลดลงจนกลายเป็นสายตาปกติ (0.00 หรือ emmetropia) เมื่ออายุประมาณ 7-8 ขวบ และ ถ้ากระบอกตาไม่หยุดยาวขึ้น เด็กก็จะกลายเป็นสายตาสั้นแทน จากกระบอกตาที่ยาวขึ้น และ สายตาสั้นจะเพ่ิมขึ้นไปเรื่อยๆตามร่างกาย จนการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นจะช้าลงเมื่อร่างกายโตเต็มวัย (ประมาณ 22 ปี) และ จะคงที่หรือเปลี่ยนแปลงน้อย

 

ขณะเดียวกัน ถ้าก่อน 8 ขวบ เด็กมีสายตายาวแต่กำเนิดมากๆ จะไม่กลายเป็นศูนย์ เพียงแต่ค่ายาวนั้นลดลงตามกระบอกตาที่ยาวขึ้น และ เมื่อเต็บใหญ่จนเต็มวัย กระบวกตาไม่ยาวขึ้นอีกแล้ว ทำให้สายตายาวแต่กำเนิดนั้นเหลืออยู่ ซึ่งเด็กกลุ่มหลังนี้ก็จะเป็นสายตาอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า hyperopia ซึ่งเด็กจะสามารถมองชัดได้ทั้งไกลและใกล้ แต่ต้องอาศัยแรงเพ่งของเลนส์แก้วตา ซึ่งการออกแรงเพ่งที่มากกว่าปกตินี่เอง ที่สามารถ induce ให้เด็กเกิดปัญหาของระบบการมองเห็นสองตา เช่น มีเหล่เข้า (accommodative esotropia) หรือเหล่เข้าซ่อนเร้น (accommodative esophoria)ได้

 

คนที่มาค่าสายตายาวแต่กำเนิดนั้น  การทำงานของเลนส์แก้วตาจะต้องทำงานหนักกว่าปกติ กล้ามเนื้อภายในดวงตา (ciliary muscle) ก็จะต้องหดเกร็งหนักกว่าปกติ ทำให้เกิดความเคยชินในการเพ่งของระบบ หรือ ที่เราชอบเรียกว่า “ติดเพ่ง” ทำให้การแก้ไขปัญหาสายตายาวแต่กำเนิดนัั้นต้องทำด้วยความเข้าใจในการจ่ายเลนส์ รวมไปถึงให้ความเข้าใจถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไข ไม่อย่างนั้นแล้ว คนไข้จะไม่ให้ความร่วมมือ ทำให้การรักษานั้นไม่ได้ประสิทธิภาพ

 

ความยากของการแก้ไขปัญหาสายตายาวแต่กำเนิดคือ “คนไข้มองไกลชัด”​แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนไข้ไม่ได้มีปัญหาหรือไม่ต้องแก้ไข แต่จะอธิบายอย่างไรว่า ที่คนไข้ชัดด้วยตาเปล่าหรือไม่ใส่แว่นนั้นคือปัญหา และ จะต้องใส่แว่นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคนไข้ใส่เลนส์เพื่อแก้ไขสายตายาวแต่กำเนิดไปสักพัก คนไข้จะรู้สึกว่า ใส่แว่นชัดกว่า ถอดแว่นแล้วมัวกว่า  ถ้าคนไข้ไม่เข้าใจ ก็จะคิดว่า ตัวเองตาเสียเพราะว่าใส่แว่น เพราะก่อนหน้านี้ไม่ต้องมีแว่นก็มองไกลชัด แต่พอใส่แว่นแล้วกลายเป็นติดแว่น ถอดแว่นแล้วมัว อย่างนี้เป็นต้้น

 

นอกจากนี้แล้ว เมื่อหลายปีผ่านไป เวลาเราตรวจสายตาใหม่ เราก็มักจะพบว่า “สายตายาวแต่กำเนิดเพ่ิมขึ้น” ซึ่งคำถามก็คือ ในเมื่อสายตายาวมันมีมาแต่กำเนิด แล้วมันพาเพ่ิมเอาตอนอายุมากได้อย่างไร  ก็ในเมื่อมันมีแต่กำเนิด มันจะมาโผล่เอาตอนโตมาได้อย่างไร

 

ในมุมของคนไข้เองก็มักจะเข้าใจผิดๆว่า เมื่อก่อนไม่เห็นจะมีปัญหาสายตายาวเลย อยู่ๆมันจะขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งเราก็ต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่า “สายตายาวมันไม่ได้เพ่ิมขึ้น  มันมีมานานแล้วและเหลือมาตั้งแต่ร่างกายโตเต็มวัย ซึ่งคนไข้จะไม่มีปัญหาอะไรเลยถ้าแรงเพ่งนั้นเพียงพอต่อสายตายาวที่มีมาแต่กำเนิด และถ้าการเพ่งนั้นไม่ได้ไปทำให้เกิดตาเหล่เข้าหรือเหล่เข้าแบบซ่อนเร้น”

 

แต่ที่มันพึ่งมาแสดงอาการก็คือ เมื่อแรงเพ่งเราลดลง สิ่งที่มันกดเอาไว้ก็จะคายมาให้เราเห็นบางส่วน แต่ส่วนไหนที่มันยังเพ่งไหวมันก็กดเอาไว้เหมือนเดิม และ มันจะคายออกมาให้เราแก้ไขก็ต่อเมื่อมันเพ่งไม่ไหว เราจึงเห็นสายตายาวแต่กำเนิดเพ่ิมขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือ หลังจากผ่านการแก้ไขสายตายาวแต่กำเนิดด้วยการใส่เลนส์บวก

 

อุปมา เหมือนกับ ตอไม้ในน้ำ ถ้าน้ำหนุนสูงขึ้น เราย่อมไม่เห็นตอไม้ที่จมอยู่ในน้ำ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีตอไม้ เมื่อเข้าหน้าแล้ง น้ำลด ตอไม้ในน้ำก็โผล่มาบางส่วน  ซึ่งการโผล่มาของตอไม้นั้น ไม่ใช่ว่ามันพึ่งจะมี แต่มันมีนานแล้วเพียงแต่เพิ่งจะโผล่มาให้เห็นก็เท่านั้นเองและเมื่อแล้งหนักขึ้น เราก็จะเห็นตอที่ยาวขึ้น ซึ่งตอที่วัดได้ยาวขึ้น ไม่ใช่ตอมันยืดขึ้นมาใหม่ แต่น้ำต่างหากที่ลดลง ทำให้เราเห็นตอได้มากขึ้น แต่ตอที่เราเห็นก็อาจไม่ใช่ตอทั้งหมด เพราะมันยังมีบางส่วนที่ยังจมอยู่ในน้ำและบางส่วนที่เป็นรากที่ยังจมอยู่ในดินโคลน

 

ดังนั้น การจะรู้ขนาดทั้งหมดของตอ จะต้องวิดน้ำออกให้หมด และ พยายามแหวกดินโคลนดูว่า ถ้าเราแวกทั้งน้ำทั้งโคลนออกแล้ว เราจะเห็นตอยาวเท่าไหร่ ก็ตัดทิ้งให้หมด แต่ในส่วนของรากแก้วที่จมอยู่ในดินนั้น โดยปกติถ้าไม่ขุดด้วยเครื่องมือ เราก็คงจะไม่เห็นทั้งหมดได้ และ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขุด

 

สายตายาวแต่กำเนิดก็เช่นกัน ถ้าตอไม้เปรียบเสมือนสายตายาว และ น้ำคือแรงเพ่งของ accommodation  การแก้ไขสายตายาวแต่กำเนิิด ต้องตัดให้ถึงตอ (manifest hyperopia (absolute + facultative) ส่วนรากแก้วที่จมอยู่ดิน (latent-hyperopia) อาจต้องรอเวลาให้น้ำแห้งแล้วรากมันจะโผล่ออกมาให้เราตัดเอง จากนั้นเราค่อยตัดทิ้ง

 

ยิ่งเราตัดทิ้งได้มากเท่าไหร่  คนไข้ก็จะมีแรงเพ่งเหลือมากขึ้นเท่านั้น  เมื่อแรงเพ่งเหลือมาก ค่าแอดดิชั่นที่เราจะจ่ายให้คนไข้ก็น้อยลงเท่านั้น เมื่อค่าแอดดิชั่นน้อยลง โครงสร้างโปรเกรสซีฟก็จะกว้างขึ้นเท่านั้นและคนไข้สามารถได้ใช้ประโยชน์เลนส์โปรเกรสซีฟได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย คือมี buffer ของ accommodation มากขึ้น ทำให้คนไข้สามารถมองเห็นชัดลึกได้มากขึ้นโดยไม่ต้องขยับหาโฟกัสบนเลนส์ แต่สามารถเห็นชัดด้วยการเพ่งหรือคลายเพ่งของเลนส์แก้วตา (ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังคิดไม่ถึงมุมข้างต้นนี้ เพราะยังไม่เข้าใจ accommodation จริงๆ)

 

ในทางตรงข้าม ถ้าเราแก้ไม่หมด คนไข้จะต้องใช้แรงเพ่งที่มีอยู่น้อยนิด ไปเพ่งสายตายาวแต่กำเนิดที่เหลืออยู่  ทำให้เหลือแรงเพ่งสำหรับดูใกล้น้อยลง เราก็จะต้องช่วยด้วยการจ่ายค่าแอดดิชั่นที่สูงขึ้น  โครงสร้างโปรเกรสซีฟจะแคบลง ประสิทธิภาพเลนส์ตำ่ลง การใช้งานเลนส์ก็ยากขึ้น หาระยะโฟกัสลำบากมากขึ้น ช่องมองแคบ ต้องขยับศีรษะเพื่อหาจุดชัดในระยะต่างๆอยู่ตลอดเวลา เนื่องจาก dynamic of accommodation (facility) ลดลง นอกจากนี้แล้วยังทำให้อายุใช้งานของเลนส์สั้นลงด้วย เพราะไม่นานกำลังจะเริ่มล้าจนไม่สามารถเพ่งได้เอง ทำให้ต้องเสียงเงินซื้อเลนส์ใหม่ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ แต่พ่อค้าแว่นที่ไร้จรรยาบรรณก็ชอบทำเพราะจะได้เพิ่มรอบในการขายแว่นได้ถี่ขึ้น

 

สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ความเข้าใจของคนไข้กลุ่มนี้คือ เมื่อคนไข้ hyperope (ที่สามารถเพ่งและเห็นชัดด้วยตาเปล่า) เมื่อใส่แว่นเป็นครั้งแรก มักจะบอกว่า ตาเปล่าชัดกว่า  ซึ่งเรื่องนี้มักเป็นสิ่งที่คนไข้คิดไปเอง เพราะความจริงแล้ว ความคมชัดเหมือนเดิม คือเห็นอ่าน VA ได้เท่ากัน เช่น 20/15 ไม่ว่าจะด้วยตาเปล่าหรือขณะใส่แว่นที่แก้สายตายาว  แต่พอถอดแว่นคนไข้จะบอกว่าชัดกว่า แต่ก็ไม่สามารถอ่านแถวที่เล็กกว่า 20/15 ได้อยู่ดี เช่นเดียวกับขณะใส่แว่น

 

ดังนั้นสิ่งที่คนไข้บอกว่าถอดแว่นชัดกว่า แท้จริงจึงไม่ใช่ชัดกว่า เพราะ VA ไม่ได้ดีกว่า เพียงแต่เป็นความเข้มดำของตัวหนังสือที่มากขึ้นจากสัญญาณสมองที่ถูกกระตุ้นด้วยการเพ่งที่มากกว่า สมองจึงตีความว่าเข้มกว่า อีกหนึ่งสาเหตุคือการเพ่งของเลนส์แก้วตา ทำให้รูม่านตาหดเล็กลงด้วยทำให้ aberration ดูจะต่ำลง เลยดูเหมือนว่ามันชัดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว resolution ยังคงเท่าเดิม แต่เมื่อคนไข้ใส่ไปสักระยะหนึ่ง มองไกลที่เคย(รู้สึก)มัว ก็จะค่อยๆชัดขึ้น ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งการใส่แว่นจะชัดกว่าไม่ใส่ เนื่องจากสมองรู้ว่า จริงๆแล้วการเห็นชัดนั้นไม่ต้องอาศัยแรงเพ่งก็ชัดได้ ทำให้กล้ามเนื้อที่ควบคุมเลนส์ตานั้นเกิดการคลายตัว ซึ่งระยะเวลาการเรียนรู้นี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน

 

ดังนั้น ในการจ่ายเลนส์ในคนไข้ hyperope ผมจะเริ่มด้วยการ full correction ให้คนไข้เห็นถึง VA 20/15 ถ้าคนไข้บอกว่า มัวกว่าตาเปล่า ก็อธิบายให้คนไข้เข้าใจว่าความเป็นจริงคืออะไร Visual Acuity กับ Contrast นั้นต่างกัน   visual acuity คือ resolution หรือ ความสามารถในการแยกแยะรายละเอียด หรือ เห็นช่องว่างของช่องไฟ ทำให้สามารถรู้ได้ว่า ตัวอักษรที่เห็นนั้นเป็นตัวอะไร  ขณะที่ contrast ไม่ใช่ความชัด แต่เป็นความแตกต่างของสี เช่นเห็นสีขาวตัดกับสีดำได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ resolution ยังคงเหมือนเดิม หรือ อ่านได้เท่าเดิม แต่ตัวหนังสือเข้มดำขึ้น แบบนี้ไม่ใช่ความชัด แต่เป็นความดำจากค่าสายตาที่เกิน ซึ่งเกิดเมื่อมี hyperopia ที่ยังแก้ไม่หมด หรือ จ่ายกำลังเลนส์สายตาสั้นเกินค่าสายตาจริง ก็จะเห็นภาพดำ แต่ resolution ไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย  ดังนั้นเราต้องสอนให้คนเข้าเข้าใจว่าอะไรคือ resolution อะไรคือ contrast และ เรากำลังจะแก้อะไร เพื่ออะไร หรือ กำลังรักษาอะไรอยู่

 

ถ้าคนไข้ยังติดอยู่กับการเพ่ง  ผมก็จะบอกคนไข้ไปตรงๆว่า สิ่งที่คนไข้เลือกให้ผมทำนั้น ไม่ได้เกิดจากสิ่งที่ผมอยากทำ และ เป็นสิ่งที่ผิด แต่คนไข้เลือกที่จะใช้ค่าที่ผิดๆด้วยตัวเอง และ เราต้องมีหน้าที่ในการบอกผลกระทบที่จะตามมากับสิ่งที่คนไข้เลือกด้วยความเคยชิน และ จะบอกไปชัดเจนเลยว่า ค่าเหล่านี้ไม่ใช่ค่าที่ผมต้องการจ่าย แต่เป็นค่่าที่คนไข้เลือก ดังนั้นคนจะต้องยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วยตัวเอง

 

ถ้าจะให้อุปมาก็คงจะเหมือนกัน การที่จะให้เลิกสูบบุหรี่ในทันทีทันใดกับคนสูบบุหรี่มาทั้งชีวิตก็คงจะลงแดงตายกันพอดี ดังนั้นต้องพยายามลดให้ได้มากที่สุด จนวันหนึ่งก็จะเลิกได้ทั้งหมดและไม่พึ่งพาสารเสพติดก็สามารถมีความสุขได้ ฉันไดก็ฉันนั้น

 

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องตามใจว่า “เลิกไม่ได้ก็ไม่ต้องเลิก” เพียงเพราะเราขายบุหรี่ได้ ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ควรที่จะเป็นผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุข และ ควรเป็นความคิดของพ่อค้ายามากกว่า ร้านแว่นก็เช่นเดียวกัน  อย่าได้อ้างความเคยชินกับสิ่งผิดๆ แล้วยอมขายเลนส์ผิดๆเพียงเพราะคิดว่าได้ตังค์ เพราะบางทีแว่นที่คนไข้ใส่อยู่ อาจจะหลงผิดไปทำผิดๆกับผู้ที่ไม่มีความรู้มา เราที่มีความรู้มากว่า ต้องทำให้คนไข้รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ผลของการใช้ของผิดๆ และ แก้ไขให้มันถูกต้องเสีย สุขภาพคนไข้ของเราก็จะดี มีพลังเหลือๆในการใช้ชีวิต หรือ ทำงาน สร้าง productivity ไม่ต้องเที่ยว shopping around เข้าร้านนั้น ออกร้านนี้ เสียเวลา เสียเงิน เสียสุขภาพจิต เศรษฐกิจประเทศเสียหายกับแว่นตาที่ใช้ไม่ได้ ซึ่งแว่นที่ใช้ไม่ได้มันก็คือเงินไปแลกขยะดีๆนี่เอง

 

ทิ้งท้าย

สิ่งมีชีวิตที่จะขยายตัวหรือแพร่พันธ์ได้เร็วที่สุดมักเป็นเชื้อโรคหรือปรสิตมากกว่าสิ่งที่มีชีวิตที่มีประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะไวรัส แบคทีเรีย หรือแม้แต่ ปลาหมอคางดำ  ธุรกิจก็เช่นกัน ไม่ใช่ทุกการขยายตัวหรือสาขาจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ แต่มันอาจจะเป็นแค่ปลาหมอคางดำตัวหนึ่งก็เท่านั้น ดังนั้นอย่าไปลำพองกับสาขาที่มีมากที่สุด เพราะคุณภาพของระบบสาธารณสุข เขาวัดกันที่คุณภาพการรักษา ไม่ใช่ปริมาณสาขาที่มี

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม 

ดร.ลอฟท์ O.D.

 

Contact

Loft Optometry ,578 Wacharapol Rd ,Tharang ,Bangkhen BKK 10220

Mobile : 090-553-6554

lineID : loftoptometry

www.facebook.com/loftoptometry


Additional Data 

Product