Case Study 70 : Hyperopic astig post-relex surgery : จากสายตาจากสั้นเป็นยาวหลังทำ Relex


Case Study

Topic : สายตาจากสั้นเป็นยาวหลังทำ Relex

By Dr.Loft ,O.D.

Public 15 Jan 2025

 

Intro

Case study วันนี้เป็นเป็นอีกหนึ่ง common case ที่พบได้บ่อยในคนไข้หลังเลสิก คือก่อนทำเลสิกเป็นสายตาสั้น (myopia) มองไกลมัว ดูใกล้ชัดโดยไม่ต้องพึ่งแว่น  แต่หลังทำเลสิกแล้วกลายเป็นสายตายาว (hyperopia) คือมองไกลชัด(แต่ต้องเพ่ง) ส่วนมองใกล้ต้องใช้แรงเพ่งเยอะเพื่อให้เห็นชัด ทำให้เวลาดูใกล้ต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้วจะมีอาการปวดหัวหรือตึงตาหรืออ่านหนังสือไม่ทน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าหลังทำเลสิกจะยาวมากหรือยาวน้อย หรือทนได้กับทนไม่ได้ และ หลายๆคนหลังเลสิกที่กลับไป follow up แล้วมีการ recheck สายตาด้วยเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ก็จะได้เป็นค่าสายตาสัั้นหรือยาวเล็กๆน้อยๆ ทั้งที่ความจริงนั้นยาวกว่านั้นเป็นร้อย ทำให้คนไข้เองก็สับสน เพราะคนไข้มักจะรู้สึกว่าการมองเห็นมันมีปัญหาเกี่ยวกับการเพ่ง แต่คอมพิวเตอร์วัดสายตาบอกว่าผลการผ่าตัดออกมาดีก็มักจะเชื่อคอมพิวเตอร์และยอมรับสภาพนั้นๆไป เว้นเสียแต่ว่าสายตายาวและเอียงที่หลงเหลืออยู่หลังผ่าตัดนั้นมากเกินกว่าที่จะทนก็จะมีอาการ ส่วนคนที่คนที่ทนไหวก็จะอยู่ได้ตราบเท่าที่แรงเพ่งยังดีอยู่ ดังนั้นวันนี้จึงอยากจะยกเคสนี้มาเป็นตัวอย่างในการศึกษา

 

Case History

 

คนไข้หญิง อายุ 35 ปี เข้ามาด้วยอาการแสงฟุ้งเวลากลางคืนขับรถลำบาก  ส่วนกลางวันนั้นมองไกลยังเห็นชัด ส่วนดูใกล้รู้สึกว่าต้องเพ่ง คนไข้เคยมีประวัติสายตาสั้น และ รับการผ่าตัดแก้สายตาสั้นด้วยเลเซอร์ (Relex) มาประมาณ​ 2 ปี ซึ่งก่อนทำ relex นั้นสายตาสั้น -5.00D (โดยประมาณ)

 

สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ใช้สายตาทั่วไป มือถือบ้าง คอมพิวเตอร์บ้าง แต่ไม่หนักมาก

 

Preliminary eye exam

VAsc : OD 20/30 ,OS 20/25

 

Refraction

Retinoscopy

OD +0.25-1.00x180 VA 20/20

OS +1.00-1.25x180  VA 20/20

 

Monocular Subjetive

OD +0.25-1.00x167  VA 20/20

OS +1.00-1.25x180   VA 20/20

 

BVA

OD +0.50-1.00x167 VA 20/15

OS +1.50-1.25x180  VA 20/15

 

Fine tuning on trial frame

OD +0.37-0.75x177 VA 20/15

OS +1.37-1.12x180 VA 20/15

 

Functional : vergence and accommodation at 6 m.

Horz.phoria : 3 BI ,exophoria

Vert.phoria  : ortho

 

Functional : at near 40 cm

Horz.phoria : 5 BI exophoria

BCC +0.50

NRA/PRA +2.00/-2.25 (rely BVA)

 

Assessment

1.Mixed hyperopic astigmatism OD and compound hyperopic astigmatism OS

2.Normal Binocular Function and Accommodation

 

Plan

1.Full Rx

OD +0.37-0.75x177

OS +1.37-1.12x180

2.F/U  2 years.

Lens : Impression B.I.G. Exact Mono plus 0.5 ,CMX-Brown Lay-R ,X-clean

Frame : Lindberg 5502 ,color : Polished Gold ( PGT/PGT ) temple length 130 mm.

 

Discussion

 

สาเหตุของแสงฟุ้งในเวลากลางคืน

 

แสงฟุ้ง (Glare) ในอีกความหมายหนึ่งก็คือแสงไม่เป็นทรง หรือ ไม่เป็นระเบียบ ซึ่งอย่างที่ทราบๆกันว่า แสงนั้นมีคุณสมบัติเป็นคลื่น ดังนั้นจะมีลักษณะสำคัญคือ หักเหได้ เลี้ยวเบนได้ สะท้อนได้ และ แทรกสอดได้ ซึ่งลักษณะพื้นผิวหักเหนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำให้แสงนั้นเสียทรงหรือเสียระเบียบไป

 

นึกง่ายๆว่า ถ้าเราส่องไฟฉายลงบนน้ำนิ่งๆ (เช่นน้ำในขัน) ไฟจะวิ่งผ่านน้ำไปโดยไม่มีการสะท้อน หรือน้ำนิ่งๆเราก็จะเห็นวัตถุไต้น้ำได้ดี เช่นน้ำในคลองหรือทะเลสาบนิ่งๆ  ในทางตรงกันข้าม เวลาเราไปทะเลที่มีคลื่น เราจะเห็นแสงสะท้อนจากผิวน้ำทะเลแว๊บๆ ๆ  หรือเวลามองอะไรที่อยู่ใต้น้ำที่ไม่นิ่ง เราก็จะเห็นภาพบิดๆเบี้ยวๆ ไม่คมชัด ดูรายละเอียดไม่ค่อยดี   

 

ดังนั้นลักษณะพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบหรือไม่เป็นทรง ก็จะทำให้การหักเหของแสงนั้นผิดเพี้ยนไป อาการผิดเพี้ยนเหล่านี้เราเรียกรวมๆว่า aberration ซึ่ง aberration เองก็มีอยู่หลายแบบ แต่ก็ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ lower order aberration หรือ LOA ซึ่งก็คือ สายตาสั้น ยาว เอียง ปริซึม เหล่านี้ ซึ่ง aberration ประเภทแรกนี้ ส่งผลการหักเหของแสงอย่างมาก เช่น คนที่มีปัญหาสายตา (uncorrected refractive error) ถ้าไม่ใส่แว่น ก็จะทำให้ไม่คมชัด มองไกลหรืออ่านหนังสือไม่ชัด อ่านตัวเล็กๆไม่ได้  แต่ก็มี aberration ที่ละเอียดลงไปอีกเรียกว่า Higer order aberration หรือ HOA ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อในระดับละเอียดลงไปอีก ซึ่งก็มีชื่อย่อยไปอีกหลายประเภทเช่น spherical aberration ,coma ,trefoil,tetrafoil ไปจนถึง aberration ที่ทำให้เกิดภาพแบบบิดเบี้ยวได้แก่ oblique astigmatism, curvature of field, เหล่านี้เป็นต้น ซึ่ง HOA นั้น เนื่องจากเป็น aberration ในระดับที่ละเอียดและเป็นความคลาดเคลื่อนโฟกัสที่ยังเหลืออยู่หลังจากแก้ LOA ไปจนหมดแล้ว และ HOA นี้เองที่สร้างปัญหาให้กับคนไข้หลังเลสิก นั่นก็คือปัญหาแสงฟุ้งกระจายที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืน  ในส่วนของพื้นฐาน HOA ท่านไปศึกษาเพ่ิมเติมได้จากบทความที่ผมเคยได้เขียนไว้แล้ว ( https://www.loftoptometry.com/Eyecare/viewcase/126/14) แต่ในตอนนี้เราจะไปดูกันว่า แสงฟุ้งที่เกิดขึ้นในเวลากลางคืนในคนไข้หลังทำเลสิกนั้นเกิดจากอะไร

 

สาเหตุของแสงฟุ้งหลังเลสิก

 

อาการสำคัญของคนไข้หลังทำเลสิกนั้นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ แสงฟุ้งกระจาย การเห็นรุ้งรอบดวงไฟในเวลากลางคืน(halos) หรือ มองวัตถุในเวลากลางคืนลำบาก เหล่านี้เป็นอาการ common ของคนไข้หลังเลสิก ซึ่งสาเหตุนั้นก็มีอยู่หลายๆอย่าง แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างหลักของกระจกตาที่ถูกปรับผิวโค้งด้วยเลเซอร์ ซึ่งกระทบโดยตรงกับผิวหักเหของแสงเป็นผลให้แสงไม่เป็นระเบียบดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่จะขอแยกเรื่องเป็นส่วนๆดังนี้

 

1.กระจกตาบวมน้ำ (Corneal Edema)

 

ในช่วงแรกหลังจากผ่าตัดมาหมาดๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราไปรบกวนระบบทางชีวภาพ (เช่นการเอาเลเซอร์ไปเจียรเนื้อกระจกตา) มันก็จะเกิดการอักเสบขึ้นมา ซึ่งกลไลการอักเสบเช่น ปวด บวม แดง ร้อน และ สูญเสียฟังก์ชั่น ดังนั้น การบวมคือการที่น้ำเข้าไปแทรกอยู่ตามชั้นเซลล์ของกระจกตา ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เซลล์กระจกตานั้นมีลักษณะเป็นแผ่นๆซ้อนกันอยู่ ให้นึกถึงรีมกระดาษ A4 (หรือหนังสือใหม่ๆจากโรงพิมพ์ที่ยังไม่เคยเปิดอ่าน) ที่แต่ละแผ่นนั้นวางซ้อนทับกันอย่างสนิท โดยไม่มีอะไรไปแทรกอยู่ นั่นคือกระจกตาปกติ

 

เมื่อกระจกตาถูกรบกวนจนเกิดการอักเสบ น้ำก็จะเข้าไปแทรกอยู่ระหว่างชั้นของเซลล์ นึกถึงน้ำไปแทรกในปึกของรีมกระดาษ A4 มันก็จะทำให้กระดาษ (หรือหนังสือ) นั้นบวม พอแสงวิ่งผ่านพื้นผิวที่มีน้ำแรกอยู่ ก็จะเกิดการเลี้ยวเบน หักเห แทรกสอด สะท้อน ที่ไม่เป็นระเบียบ สรุปคือแสงไม่เป็นระเบียบ เราจึงเห็นวัตถุที่มองนั้นแตกต่างไปจากความจริง เช่น เห็นไฟแตกฟุ้งกระจาย หรือ เห็นรุ้งรอบๆดวงไฟ ซึ่งจริงๆมันก็เหมือนกับที่เราเห็นรุ้ง เนื่องจากชั้นบรรยากาศบวมน้ำหลังฝนตก เมื่อแสงวิ่งผ่านจึงมีการหักเหสเปกตรัมสีแยกแยกแสงขาวออกมาเป็นสีรุ้ง นั่นคือตัวอย่างหนึ่งของแสงที่ไม่เป็นระเบียบ

 

แต่อาการกระจกตาบวมน้ำนี้ ก็จะหายไปหลังจากที่กระจกตาหายอักเสบแล้ว ซึ่งระยะเวลาก็อยู่กับว่า จะอักเสบนานแค่ไหนในแต่ละบุคคล(ซึ่งสุขภาพพื้นฐานก็ต่างกัน) แต่โดยเฉลี่ยแล้วก็สัก 2-3 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็นช่วงๆ โดย

 

ช่วง 1-2 วันแรก จะเป็นช่วงเวลาที่กลไลการอักเสบนั้นมีอาการแสดงมากที่สุด ได้แก่ ตาแดง ระคายเคืองตา แพ้แสง  ซึ่งอาการเปล่านี้เป็นอาการธรรมดาของกลไกการอักเสบเพื่อที่รักษาตัวเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะคงอยู่ไม่นานก็จะหายไปเอง คนไข้ส่วนใหญ่ อาการข้างต้นจะหายไปในสัปดาห์แรกหลังผ่าตัด

 

จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์ อาการอักเสบหลักๆจะหายไปหมด ไม่ว่าจะเป็นตาแดง ตาอักเสบ ความไวของประสาทกระจกตาก็จะเบาลง ซึ่งหลังจากนี้ที่จะยังคงหลงเหลือยู่คือปัญหาตาแห้ง บางคนแห้งมาก บางคนแห้งน้อย แต่แห้งแน่ๆ ก็บรรเทาด้วยการพกนำตาเทียมติดตัวแลกกับการที่ไม่ต้องใส่แว่น

 

โดยปกติ คนไข้หลังทำเลสิกมาใหม่ๆ ช่วงแรกจะดีใจจนลืม compromise ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของเลสิก เพื่อสามารถตื่นขึ้นมาโดยไม่ต้องคว้าแว่นมาใส่ คือเห็นได้โดยไม่ต้องพึ่งแว่น แต่ความคมชัดนั้นสู้แว่นไม่ได้ (เว้นเสียแต่แว่นนั้นค่าสายตาไม่ตรงกับปัญหาที่เป็น) พอเวลานานๆเข้า เมื่อจิตใจเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ก็จะเริ่มเห็น compromise ที่เกิดขึ้น เช่นทนแสงฟุ้งกลางคืนไม่ได้ ไม่กล้าขับรถกลางคืน อ่านหนังสือไม่ชัด มีเงาซ้อนๆ เหล่านี้เป็นต้น จากนั้นก็จะเริ่มหาข้อมูลในอินเตอร์เนต แล้วก็มาเจอบทความอย่างบางท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ จากนั้นก็จะทำนัดเพื่ออยากจะรู้ว่าปัญหาสายตาที่เหลืออยู่หลังเลสิกนั้นเป็นอย่างไร และ 95% ของคนไข้หลังเลสิก ที่ทำนัดเข้ามาตรวจกับผม พบว่า ก่อนทำเป็นสายตาสั้น (myopia)  และหลังทำจะกลายเป็น สายตายาว (Hyperopia) ซึ่งเป็นผลจากการเจียร์ปรับกระจกตาแบนมากเกินไป เคสนี้ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในหลายๆเคสที่ผมเจอที่คลินิก

 

2. สายตาที่เหลืออยู่หลังทำเลสิก (residual refractive error)

 

เป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถทำเลสิกออกมาแล้วปัญหาสายตาจะกลายเป็นศูนย์หรือเสมือนกับ emmetropia (โดยส่วนตัวผมยังไม่เชื่อว่าเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยก็ในปัจจุบัน) ด้วยเหตุว่า การปรับแต่งผิวโค้งกระจกตาด้วยเลเซอร์ ก็ไม่ได้ต่างกับการใช้ CNC ปรับแก้ความโค้งของผิวเลนส์แว่นตา ต่างกันที่ cnc ขัดเลนส์สายตาด้วยตัวแปรที่ชัดเจน เช่นสายตาที่เราสั่งเข้าไปนั้น cnc ปัจจุบันสามารถทำละเอียดถึงระดับ 0.01D แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ ใครเป็นคนตรวจวัดสายตามากกว่าว่าจะตรวจได้แม่นยำแค่ไหน

 

ดังนั้นปัญหาปัจจุบันของเลนส์สายตาไม่ได้เกิดจากทางโรงงานผู้ผลิต (แต่ไม่รวมถึงเลนส์จีนที่ไม่ได้มาตรฐาน) แต่อยู่ที่ผู้ให้บริการตรวจวัดสายตาว่าจะมีมาตรฐานในการทำงานแค่ไหน เพราะปัจจุบันบ้านเรายังคงจัดสายตากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลอกค่าแว่นเก่า หรือความเชื่อผิดๆหลายๆอย่างเช่น กลัวคนไข้จะปรับตัวไม่ได้กับค่าสายตาที่ตรวจได้ เช่นคนไข้สายตาเอียงเยอะก็ไม่กล้าจ่าย เพราะกลัวคนใส่จะปรับตัวไม่ได้ ก็เลยจัดสายตา แล้วเกิดคำพูดเช่นว่า เบอร์อ่อนไป เบอร์เข้มไป ชัดเกินไป หรืออะไรทำนองนั้น แต่จริงๆมันไม่มีเรื่องนั้น มันมีแต่ผิดหรือถูก แต่ที่ยังไม่รู้ว่าผิดหรือถูกคือไม่ยอมใช้ retinoscope ในการตรวจ ก็เลยไม่รู้ว่า

 

เมื่อสายตาที่ตรวจวัดออกมาก็ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก แล้วเอาค่าที่ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกไปทำเลนส์ เลนส์ที่ออกมาก็ได้ค่าตามนั้น(คือไม่รู้ว่าผิดหรือถูก) และ เมื่อเอาค่าที่ไม่รู้ว่าผิดหรือถูกไปป้อนให้เครื่องเลสิก ผิวกระจกตาที่ออกมาก็ไม่รู้ว่าผิดหรือถูก เมื่อไม่รู้ว่าผิดหรือถูก แต่แน่ๆคือคนไข้ที่จะทำเลสิกนั้นอยากจะชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น ดังนั้นทำยังไงก็ได้ (แม้จะผิดก็ตาม) ให้คนไข้รู้สึกว่าชัด ด้วยการทำให้ค่านั้นเกินๆไว้ก่อน (over minus)

 

ด้วยเหตุนี้เอง คนไข้หลังเลสิกเกือบทั้งหมด จะมี residual refractive error เป็นสายตาย (hyperopia) คือมองไกลชัด แต่ต้องอาศัยการเพ่งของเลนส์แก้วตา ซึ่งมันก็คือคนสายตาสั้นที่ใช้ค่าสายตาแรงกว่าสายตาจริงนั่นเอง (over-minus) แต่คนไข้ก็รู้สึกพอใจ(ในช่วงแรกๆ) เพราะชัด โดยไม่ต้องใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ อีกนัยหนึ่งมันก็คือการย้าย refractive error หนึ่ง ที่มองไกลมัวแน่ๆ ไปสู่อีก refractive error หนึ่งที่มองไกลชัดด้วยการเพ่งของเลนส์แก้วตา

 

แต่ residual refractive error ที่เหลืออยู่นี่เอง ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่ม LOA ซึ่งส่งผลกระทบต่อการหักเหแสงมาก ทำให้เกิดการไม่โฟกัสรวมกันเป็นจุดจากสายตาเอียงเป็นต้น เมื่อแสงไม่เป็นระเบียบ มันก็เกิดเป็น glare ความคมชัดลดลง ซึ่งในเคสนี้แม้จะทำ Relex มาแล้ว แต่ความคมชัด (Visual Acutiy,VA) นั้นได้เพียง 20/30 หรือเท่ากับคนสายตาสั้น -0.75D แล้วไม่ใส่แว่น เนื่องจากหลังทำแล้วเหลือสายตาเอียงอยู่มากนั่นเอง

 

คำถามก็คือถ้าตรวจวัดสายตาผิดทำให้การป้อนค่าลงเครื่องเลเซอร์ผิด แล้วใครเป็นคนรับผิดชอบกับเรื่องนี้่ (นั่นสิ) แต่คนไทยน่ารักและส่วนใหญ่ก็ยอมรับสภาพ เพราะเรามีคำพูดที่ให้สบายใจคือ “คงเป็นกรรมเก่า หรือ ชาติที่แล้วเราคงไปทำเขาเอาไว้ ชาตินี้เขาเลยมาเอาคืน”

 

นอกจากนี้แล้ว การเอาเลเซอร์ไปเจียร์ปรับผิวกระจกตาให้เกิดเป็นทรงกลมแบบเดียวกับกระจกตาธรรมชาติมันเป็นเรื่องยาก แน่นอนว่ามันย่อมทำให้ผิวโค้งนั้นมีความไม่สม่ำเสมอ (irregular surface) เป็นเหตุให้เกิด glare นั่นเอง

 

3.Pupil Size

 

ขนาดของรูม่านตานั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพของการมองเห็น (optical performance) เช่น ความคมชัด (clearity)  ความชัดลึก(depth of focus) และความไวของประสาทต่อความคลาดเคลื่อนของแสง โดยหน้าที่หลักๆของม่านตา (iris) ที่่สำคัญคือ คุมปริมาณแสงที่จะเข้าไปสู่จอประสาทตา ซึ่งในเวลากลางวันนั้นแสงมาก รูม่านตาจะหดเพื่อลดแสงเข้า ในทางตรงกันข้ามเวลากลางคืนแสงน้อยรูม่านตาจะเบิกกว้างเพื่อให้แสงเข้าได้มากขึ้น

 

แล้วรูม่านตามันไปเกี่ยวกับความมัว ความชัด หรือแสงฟุ้งอย่างไร

 

อย่างแรกต้องเข้าใจว่า ระบบหักเหแสงใดๆนั้น ไม่มีชุดเลนส์ใหนที่เกิดโฟกัสแบบอุดมคติ ต่อให้เลนส์ leica ตัวละครึ่งล้านก็ตาม นั่นหมายความว่าทุกการหักเหมันมี optical imperfection อยู่ในตัวมันอยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็มีตัวแปรเยอะแยะไปหมด (เลนส์ถูกแพงมันก็เกี่ยวข้องกับ optical imperfection มากหรือน้อยนี่เอง)

 

ดังนั้น ถ้ารูม่านตากว้าง แสงเกิดการหักเหบนพื้นที่กว้างๆ  optical imperfection ก็จะมากตามไปด้วย เป็นเหตุให้เวลากลางคืนหรือแสงน้อยๆนั้น จะรู้สึกถึงปัญหาได้มากกว่า  ในทางตรงกันข้าม กลางวันแสงดีๆ รูม่านตาหดเล็ก แสงหักเหบนพื้นที่เล็กๆ optical imperfection ก็จะน้อยตามไปด้วยนั่นเอง

 

Depth of Field ,Depth of Focus

 

รูม่านตาเกี่ยวข้องโดยตรงกับความชัดตื้นหรือชัดลึก ถ้าคนเล่นกล้องจะเข้าใจเรื่องนี้คือการปรับขนาดม่านชัตเตอร์ หรือ ปรับ f นั่นเอง ถ้า f ต่ำๆ ม่านชัตเตอร์จะใหญ่ แสงจะเข้าได้มาก ถ่ายรูปกลางคืนหรือแสงน้อยดี และ จะได้ภาพหน้าชัดหลังเบลอหรือชัดตื้นนั่นเอง  แต่ถ้าเราปรับ f ให้สูงขึ้นเช่น f-22 ม่านชัตเตอร์จะเล็กลง ถ่ายแสงน้อยไม่ค่อยดีเพราะ speed shutter จะช้า ถ้ากล้องสั่นภาพจะมัว แต่ถ้าถ่ายแสงดีๆ จะได้ภาพที่ชัดลึก คือเห็นชัดตั้งแต่วัตถุที่อยู่ใกล้ๆ ไปจนถึงวัตถุไกลๆ

 

รูม่านตาก็เช่นเดียวกัน เมื่อรูม่านตาเล็กลง มันจะเกิด depth of focus หรือชัดลึก หมายความว่า แม้มีบางโฟกัสที่ไม่ได้ตกบนจุดรับภาพ แต่เราก็ยังสามารถเห็นภาพที่ชัดเสมือนตกบนจุดรับภาพได้จากผลของ depth of focus ในทางตรงกันข้าม ถ้ารูม่านตากว้างขึ้น (เวลากลางคืน)  error ที่ซ่อนอยู่ ที่ไม่ตกบนจุดรับภาพก็จะมัวกว่า ทำให้ปัญหาที่ซ่อนภายใต้รูม่านตา ถูกยกขึ้นมาในเวลามีแสงน้อยนั่นเอง

 

Aberration

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ถ้ารูม่านตาเล็กๆ มันก็จะบีบหรือจำกัดรังสีของแสงให้เขาเฉพาะส่วนตรงกลาง แล้วจะบล๊อกแสงที่เข้ามาในแนวเฉียงๆ (off-axis ray) ออกไป ซึ่งแสงที่เข้ามาในแนวเฉียงๆจะทำให้เกิด aberration ต่างๆเช่น spherical aberratoin และ oblique astigmatism ที่จะทำให้ ค่าสายตาสั้นยาวเอียง มีการเปลี่ยนแปลงไป

 

พอรูม่านตาเปิดกว้าง แสงที่วิ่งเข้าในแนวเฉียงก็จะเข้าได้มากขึ้น เกิด aberration มากขึ้น ผลคือ เห็นแสงมีรุ้งรอบดวงไฟ  แสงฟุ้ง แตกกระจาย ภาพมัว เป็นต้น

 

นอกจากนี้แสงที่เข้าด้านข้างในคนไข้หลังเลสิกขณะที่รูม่านตาขยาย แสงอาจจะเข้าด้านข้างในส่วนที่เลสิกเจียร์ไปไม่ถึง ก็ทำให้เกิด aberration ได้เช่นกัน

 

เหล่านี้ก็เป็นเหตุผลว่าขนาดของรูม่านตาทำเกี่ยวข้องกับความมัวความชัดได้อย่างไร

 

4.ตาแห้ง (Dry Eye)

คนไข้เลสิก เป็นเหตุให้การสร้างน้ำตานั้นลดลงอยู่แล้ว ทำให้คนไข้เลสิกมักมีปัญหาตาแห้ง และ นำ้ตาทำหน้าที่เป็นฟิล์มเคลือบผิวกระจกตาที่ขรุขระให้ดูเรียบเพื่อให้เวลาแสงวิ่งผ่านนั้นมีความเป็นระเบียบ เมื่อตาแห้ง ผิวกระจกตาที่ขรุขระก็เกิดขึ้น แสงเมื่อวิ่งผ่านผิวสัมผัสที่ไม่เรียบ ย่อมทำให้เกิด glare ขึ้นมา

 

ทำไมทำเลสิกแล้วต้องตาแห้ง

 

กระจกตาของเรานั้นมีปลายประสาทอยู่หนาแน่นมาก ดังนั้นการเปิดผิวกระจกตา (flap) เพื่อที่จะใช้เลเซอร์ปรับแต่งผิวกระจกตานั้นย่อมทำให้ปลายประสาทถูกทำลายไปบางส่วน ทำให้ความไวต่อการรับรู้ที่กระจกตานั้นลดลง ผลคือเมื่อตาแห้งสมองก็ไม่รู้เพราะสัญญาณที่ส่งมานั้นน้อยลง ทำให้การที่สมองจะรับรู้แล้วสั่งการผลิตน้ำตานั้นลดลงตามไปด้วย

 

อีกสาเหตุหนึ่งคือ การที่ผิวกระจกตานั้นไม่เรียบทำให้ฟิล์มน้ำตานั้นแตกตัวได้ง่าย (คือมันไม่เสถียรนั่นเอง) ผลคือน้ำตาระเหยง่าย ฉาบผิวกระจกตาได้ไม่ได้นาน  ลองนึกถึงซองเครื่องปรุงมาม่าต้องทำให้เกิดหยักๆ ก็เพื่อให้มันง่ายต่อการฉีกนั่นเอง กระจกตาที่ไม่เรียบจะทำให้ฟิล์มน้ำตาแตกตัวได้ง่ายนั่นเอง

 

สรุป

การรักษาหรือแก้ไขปัญหาของการมองเห็นอันเกิดจากปัญหาหักเหแสงของดวงตานั้นก็มีอยู่หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีและเสียแตกต่างกันไป เลสิกเป็นอีกหนึ่งการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมักจะมีปัญหาหลักๆตามมาคือ มีสายตาหลงเหลืออยู่หลังเลสิก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น mixed hyperopic astigmatism หรือไม่ก็​ compound hyperopic astigmatism  ปัญหาต่อมาคือการเห็นแสงฟุ้งกระจายในเวลากลางคืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับขนาดของรูม่านตาในแต่ละสภาวะแสง และ ปัญหาตาแห้ง ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมใจยอมรับ 

 

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ที่วางแผนที่จะทำเลสิก ประเมินผลข้างเคียงที่อาจจะกระทบการใช้ชีวิต และ มีความคาดหวังที่พอดี ไม่ใช่ไปคาดหวังเกินความจริงว่าทำเลสิกแล้วมันจะ full-HD หรือ 4K อะไรทำนองนั้นอย่างที่เห็นตามฟีดโฆษณาในเฟสบุ๊ค ซึ่งก็เกินจริงไปมาก แต่เรื่องนี้ก็พอเข้าใจได้ว่า คนที่ทำโฆษณาลักษณะนั้นก็เกิดจากความไม่รู้ของนักการตลาดหรือมีอะไรมาบังตาให้ยอมโฆษณาผิดๆออกไป แล้วไปสร้างความคาดหวังให้กับคนไข้เกินความจำเป็น

 

แต่ที่เขียนนี้ก็ไม่ได้ห้ามทำเลสิก เพียงแต่อย่าหวังเกินจริงเพราะมันจะผิดหวัง  สิ่งที่หวังได้มีเรื่องเดียวคือ เราอาจจะลดการพึ่งแว่นเวลามองไกล เล่นกิจกรรมโลดโผนได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องกลัวแว่นหัก แว่นเบี้ยว คอนแทคเลนส์หลุด ส่วนดูใกล้เราจะดูได้อยู่พักหนึ่ง เมื่อเราอายุ 40 ปี เราก็จะเป็นตายาวคนแก่ ก็หนีแว่นอ่านหนังสือไม่พ้นอยู่ดี และอย่าไปหวังว่าทำแว่นหลังเลสิกแล้วมันจะออกมาดีเท่ากับแว่นก่อนทำเลสิก เพราะกระจกตาเราไม่เหมือนเดิมแล้ว และปัญหาที่แก้ยากก็คือ HOA แม้จะลดได้บ้างแต่ก็ไม่สามารถทำให้มันหายไปได้ และเลนส์ก็ราคาสูงอีกด้วย แต่ก็เอาหน่ะ บรรลุนิติภาวะกันแล้ว ก็พิจารณากันเอา รับผิดชอบการตัดสินใจกันเอา

 

แต่อยากจะขอเรื่องเดียว ถ้าจะทำเลสิกจริงๆ ก็อย่าไปทำ mono-vision lasik ก็พอ เพราะนั่นคือเรากำลังทำลายพรสวรรค์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้เรามีดวงตาสองข้างไว้ใช้งานพร้อมๆกัน เราจะเสียการมองเห็นแบบ 3 มิติ  การกะระยะชัดลึกจะหายไป ระบบ binocular function จะเพี้ยนไป ลามไปถึงระบบเพ่งของเลนส์แก้วตา มันจะยุ่งกันไปใหญ่  ผมเขียนเรื่องนี้อย่างละเอียดไว้แล้วในบทความนี้

1.ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับ “Monovision-Lasik” (https://www.loftoptometry.com/whatnew/view/196)

2.mono vision ดี/เสีย...อย่างไหนมากกว่ากัน ?? (https://www.loftoptometry.com/Eyecare/viewcase/133/12)

แต่ถ้ามัน want ที่จะทำ mono-vision จริงๆ ก็ลองใส่ contact lens ข้างหนึ่งไว้มองไกล อีกข้างไว้อ่านหนังสือ ถ้ามันอยู่ได้จริงๆ ก็ค่อยทำ mono-vision  ถ้าอยู่ไม่ได้จะได้ไม่ต้องเสียกระจกตาฟรี

ก็อยากจะฝากไว้เพียงเท่านี้ กับ case study วันนี้

 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม

ดร.ลอฟท์ ,O.D.

 

Biometric Data (DNEye Scan2)

 

Product 

Rodenstock Impression B.I.G. Exact Mono 1.6 CMX-Brown ,Lay-R X-clean

Lindberg : Thintanium 5502  48 color PGT/PGT 

 

.