Case Study 71 : Presbyopic ,Compound Myopic Astigmatism with Hyperopia.


Hybrid Story

“Just Glasses ,not just Glasses”

by : Asst. Prof. Pramual Suteecharuwat, Ph.D. & Dr.Loft, O.D.

Public : 14/03/2025

 

วันนี้เขาลองงานเขียนแนว hybrid กันดูสักหน่อย โดยเป็นการผสมเรื่องราวส่วนหนึ่งจากความคิดของผมและกับอีกส่วนหนึ่งเป็นของ อ.ประมวล ซึ่งท่านได้เขียนไว้ใน facebook ส่วนตัว ซึ่งผมเห็นว่าท่านเขียนได้ดีมากและได้ขออนุญาตท่านนำมาแชร์เป็นธรรททานซึ่งท่านก็ยินดี จึงขอถือวิสาสะนำเนื้อหาในเฟสบุ๊คของอาจารย์สำเนามาทั้งดุ้นมาเป็นองค์ประกอบในเรื่องนี้ด้วยครับ

 

“trial and error”

 

ก่อนจะเข้าเรื่องผมขอเล่าเหตุการณ์วันนั้นสักเล็กน้อย ( 15/12/2020)  ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า อาจารย์ได้พาคุณพ่อซึ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัด มาตรวจสายตาเพื่อทำแว่น ด้วยเหตุว่าทำมาหลายที่ ปีเดียวทำแว่นไป 3 รอบแล้วก็ยังมองไม่เห็นชัด  ได้จังหวะขึ้นมา กทม.พอดี จึงพามาให้ผมตรวจดู  หลังจากที่ได้ซักประวัติพื้นฐานทั่วไป จากนั้นผมใช้เวลาในการตรวจ 1 นาทีโดยใช้เรติโนกวาดดู reflex จากรูม่านตาทั้งสองข้างและบอกคุณปู่ว่า

 

“ผมก็ทำแว่นให้ไม่ได้เพราะตาของปู่เป็นต้อกระจกเยอะแล้ว และเป็นตรงกลางตาด้วย เป็นขนาดนี้แว่นดีก็ดีไม่ได้  ต้องไปหาหมอเพื่อเอาต้อออกจึงจะทำแว่นได้ ” ทั้งบ้านก็แปลกใจว่า แล้วที่ไปทำแว่นมา 3 อันใน 3 ที่ เขาไม่รู้กันหรือว่าทำแว่นไม่ได้ หรือทำไปก็ไม่ดี แต่ก็ยังฝืนทำแว่นให้  แต่ก็อย่างที่รู้ๆกันในวงการนี้ว่า “ถ้าลูกค้าเข้าร้านต้องปิดการขายให้ได้” ถึงกับต้องมีการเทรนพนักงานว่าเรื่องโรคไม่ใช่หน้าที่เรา ไม่ต้องไปบอกเขา ให้เขาไปหาทางเขาเอง ส่วนเราต้องปิดการขายให้ได้” เรื่องนี้จากน้องๆทัศนมาตรที่รู้จักกันเล่าให้ฟังแล้วก็เจ็บปวด แต่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในวงการขายแว่นบ้านเรา แต่ก็มีส่วนที่เขาดีๆก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน (แต่มีน้อย)

 

ดังนั้นท่านทั้งหลายมีหน้าที่โดยตรง มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการจำแนกความผิดปกติ (differenctial diagnosis) ว่าที่คนไข้อ่าน VA ไม่ได้เท่ากับคนปกติแม้จะพยายามแก้ไขด้วยเลนส์สายตาแล้ว มีสาเหตุจากอะไร เป็นเหตุที่เราจัดการได้หรือไม่และถ้าไม่ได้จะต้องส่งต่อให้ใคร เหล่านี้คือสิ่งที่งานปฐมภูมิต้องทำ และ การจ่ายเลนส์ออกไปโดยที่ไม่ได้ช่วยให้คนไข้ดีขึ้นและไม่บอกถึงสาเหตุหรือแนวทางการรักษาแก้ไขตามลำดับความสำคัญนั้น (คิดตื้นๆขอแค่ได้ขาย) ไม่ควรกระทำ โดยเฉพาะกับทัศนมาตร เพราะถือว่าท่านมีความรู้พื้นฐานดีกว่าเขา ถือศีลจริยธรรมสูงกว่าเขา ก็ทำงานให้มันสมควรกับศีลที่รับมา (พักเรื่องนี้ไว้ก่อน)

 

แต่สิ่งที่ทำให้ผมสะอึกคือหลังจากที่อาจารย์สังเกตผมทำงานและอธิบายให้ฟังอยู่สักพักหนึ่ง อาจารย์ถามผมว่า

 

“การวัดแว่นมันมีอะไรมากไปกว่าการ trial and error หรือ ? เพราะผมเข้าออกร้านแว่นตั้งแต่เด็กจนโต ก็เข้าใจว่าอย่างนั้นมาตลอด ไปวัดแว่นมากี่ที่ก็ทำแบบเดียวกันคือเสียบไปเรื่อยๆ ชัด/ไม่ชัด จนกว่าจะชัด ก็ไม่น่าจะมีอะไรยากหรือเปล่า ”

 

ผมก็ได้อธิบายให้ฟัง อาจารย์ก็สนใจอยากลองดู “การตรวจวัดสายตาและตรวจสอบระบบการมองเห็น” นั้นมันต่างจาก “การวัดแว่น” อย่างที่เคยๆวัดยังไง  แต่ผมเห็นว่ามันเย็นแล้ว จึงไม่ได้ตรวจให้ และได้อธิบายถึงความสำคัญของช่วงเวลาในการตรวจว่ามีความสำคัญอย่างไร ท่านก็โอเคและนัดตรวจในเช้าวันรุ่งขึ้น และ นี่คือผลตรวจที่ตรวจได้ในวันรุ่งถัดไป

 

Refraction

OD -5.37 -2.12 x 83 ,VA 20/20

OS -8.00 -1.37 x 75 ,VA 20/20

                                ,VAOU 20/15

 

Functional at 6 m

horz.phoria     : 1.5 BO

BI-vergence   : 8/10/4

BO-vergence : blur > 30 prism ( convergence ดีมาก)

Vertical phoria : 1.5 righ-hyperphoria …VonGrafe’s technique

                         1.5 BUOS right hyperphoria (Maddox Rod)

 

Functional at 40 cm

BCC +1.75D

NRA/PRA +0.75/-0.75  (…rely BCC)

 

Assessment

1.compund myopic astigmatism OD and OS : โฟกัสแบบสั้น +  เอียง โดยโฟกัสทั้งสองนั้นตกก่อนจอรับภาพทั้งคู่

2.Presbyopia : สายตาแก่

3.Right Hyperopia : ตาขวาเหล่ลอยแบบซ่อนเร้น 

 

Plan

1.Full Rx

OD -5.37 -2.12 x 83

OS -8.00 -1.37 x 75

2.Progressive Additional Lens Rx add +1.75D

   Rodenstock PureLife Free 1.6 CMIQ3 Gray

3.prism Rx : 0.75BDOD /0.75BUOS

 

Result

ผลที่ได้จากการ treat ระบบการมองเห็นด้วยการจ่ายค่าสายตา ปริซึม และ แอดดิชั่น ด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟแล้ว อาจารย์ก็ได้โพสต์บทความ ดังที่ผมคัดลอกมาให้อ่าน ซึ่งก่อนโพสต์ท่านก็ได้ขอให้ตรวจทานอยู่ครั้งสองครั้ง ว่าท่านเข้าใจถูกไหม เมื่อถูกต้องแล้วท่านก็โพสต์ ซึ่งผมได้ขออนุญาตท่านสำเนาของท่านแบบ copy & paste ท่านโพสต์ว่า (Reference : https://www.facebook.com/525324494/posts/10158265505334495/?d=n)                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              

 

“อยากเล่าเรื่องแว่นตาอีกสักหน่อยกันลืม"

“ผมใส่แว่นตาครั้งแรกเมื่อช่วงขึ้นชั้น ม.5 ตอนปี 2531 หรือราว 30 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นน่าจะใช้สายตาอ่านหนังสือเรียนมาก จนเริ่มมีปัญหามองกระดานดำในห้องเรียนไม่ชัด แม่พาไปตัดแว่นกับร้านอาเฮียชาวจีนแถวๆ บ้าน ในยุคสมัยนั้นร้านขายแว่นตามักขายนาฬิกาควบคู่ไปด้วย แว่นตาอันแรกเป็นกรอบโลหะราคาไม่สูง ช่วงแรกๆ สายตาผมสั้นราวๆ 150

 

กรรมวิธีวัดสายตาประกอบแว่นสมัยก่อน simple มาก มันเหมือน trial & error คือ ให้เรามองแผ่นป้ายทดสอบที่ติดอยู่บนผนัง มีตัวหนังสือขนาดต่างๆ แล้วก็ลองเอาเลนส์ระยะต่างๆ (ซึ่งเขามีเตรียมไว้เป็นกล่องๆ หลายสิบระยะ) มาให้เราลองใส่ แล้วช่างก็จะถามเราว่ามองเห็นตัวหนังสือขนาดต่างๆ ได้ชัดเจนแค่ไหน มองไม่ชัดก็เปลี่ยนความยาวโฟกัสของเลนส์ไปเรื่อยๆ แล้วก็มาแก้มุมเอียง ซึ่งทำให้เรามองเห็นภาพเป็นเงาซ้อนๆ เสร็จแล้วเขาก็จัดเลนส์ให้เรา ซึ่งช่วงที่เราอายุน้อยๆ สายตายังสั้นไม่มาก ร้านแว่นตาพวกนี้จะมีเลนส์สต็อกระยะมาตรฐานไว้จำนวนหนึ่ง เขาก็จะจัดเลนส์ให้เรา ตามที่มีสต็อก

 

แปลว่า บางทีเราอาจได้เลนส์ความยาวโฟกัสอ่อนไป บางทีก็แก่ไป

 

ช่างเดินไปหลังร้าน เอาคีมตัดเลนส์ง่ายๆ เหมือนบิแผ่นคุ้กกี้ ให้เข้ากับกรอบแว่นที่เราเลือก เจียรขอบเลนส์ให้สวยด้วยเครื่องขัด เป็นอันเสร็จพิธี

 

แรกๆ วัดสายตาวันไหน ก็ได้แว่นวันนั้น

 

พออายุเริ่มมากขึ้นๆ สายตาเริ่มสั้นมากขึ้นๆ ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย สายตาของผมขยับขึ้นไปสั้น 600 - 800 จนมาหยุดแถว 950 เมื่อเรียนหนังสือจบ ร้านแว่นเริ่มไม่มีสต็อกเลนส์สายตาสั้นมากๆ และต้องเริ่มให้เราสั่งเลนส์จากผู้ผลิต

 

ช่วงนั้น ร้านแว่นเริ่มรู้จักระบบวัดสายตาอัตโนมัติ เริ่มมีคำโฆษณาวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เขาจะให้เรามองเข้าไปในเครื่องวัด ดูรูปบอลลูน

 

แต่ก็มักจบลงด้วยการมา trial & error ในตอนท้ายเหมือนเดิม เข้าใจว่าใช้เครื่องวัดคร่าวๆก่อน แล้วมาปรับด้วยการเลือกเลนส์อีกที

 

ภาระมาตกอยู่ที่คนใส่แว่น เมื่อได้รับแว่นมาใช้ บางทีทางยาวโฟกัสมันก็แก่ไป ใส่แล้วบีบสายตาจนปวดหัว บางทีก็อ่อนไป มองดูก็ไม่คมชัดมาก แต่ช่างจะบอกให้เราอดทน “ปรับตัว"

 

ผมคิดว่านี่เป็นประสบการณ์ร่วมที่คนสายตาผิดปกติทุกคนต้องเคยเจอ

ผมจะเวียนหัวง่ายเวลานั่งรถโคลงๆ นั่งเครื่องเล่นในสวนสนุก ลงเรือ เรียกว่าอ้วกแตกประจำ

ชีวิตเป็นแบบนี้มาร่วม 30 ปี จนย่างข้าวัย 40+ สายตาก็เปลี่ยนไป

 

มันไม่ได้มีแค่สายตาสั้นอีกต่อไป แต่มีผสมสายตายาว(สายตาแก่) ที่ทำให้เริ่มเกิดปัญหาใหม่ในการใช้ชีวิต

 

บางทีอ่านหนังสือได้ แต่มองไกลๆ ไม่คมชัด อ่านป้ายจราจรไม่ได้ หรือบางทีมองไกลๆ ได้ แต่อ่านหนังสือไม่ได้ อ่านขวดยาไม่ได้ อ่านโทรศัพท์มือถือไม่ได้

 

คุณคงเคยเห็นบางคนพกแว่น 2-3 อัน ใส่สลับไปสลับมา อ่านหนังสือใส่อันหนึ่ง พูดคุยก็ใส่อีกอันหนึ่ง

 

5-6 ปีที่ผ่านมา ชีวิตของผมจึงถึงคราวต้องเริ่มรู้จักกับเลนส์แบบ progressive ที่เป็นทั้งเลนส์สายตาสั้น และสายตายาวในอันเดียวกัน

 

ปัญหาคือ มนุษย์ไม่ได้มีช่วงสายตาสั้น-ยาว เป็น combination ตายตัว บางคนสั้นน้อย ยาวมาก สั้นมาก ยาวน้อย ฯลฯ เลนส์แบบ progressive จึงต้องสั่งทำเฉพาะบุคคล ซึ่งความพิเศษจะอยู่ตรงนี้ว่าร้านที่วัดสายตามีอุปกรณ์วัดละเอียดได้มากแค่ไหน

 

วัดได้แล้ว จะไปสั่งทำเลนส์ได้ตามใจชอบแค่ไหน (วัดได้ แต่ทำไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อะไร)

 

ค่าสั่งทำเลนส์ progressive จึงแพงมาก ตั้งแต่หลักหลายพันบาท หลายหมื่นบาท จนเป็นหลักแสน

แต่ปัญหาของคนใส่แว่นไม่จบแค่นั้น

 

หัวของคนเราไม่ได้สมมาตร 100% ตำแหน่งลูกตา ซ้าย-ขวา ไม่ได้เสมอกันแบบสมบูรณ์ และระยะหู ซ้าย-ขวา ก็ไม่เท่ากันอีก

 

เวลาวัดสายตา ช่างจะวัดจากระนาบมาตรฐาน ด้วย assumption ว่าตาทั้ง 2 ข้างเสมอกัน สมมาตรกัน แต่เวลาเราใส่แว่นจริงๆ มันไม่ได้เป็นแบบนั้น

 

สายตาผิดปกติของคนสูงอายุจึงรบกวนชีวิตเป็นอย่างมาก

 

แน่นอนว่า ถ้าต้องการวัดสายตาประกอบแว่นแบบ fully customized มันต้องการทั้งช่างผู้ชำนาญ (ไม่ใช่อาเฮียร้านแว่นแบบเดิมๆ) ต้องการเครื่องมือวัดละเอียด (ซึ่งแพง) ต้องการ supplier ที่สามารถผลิตเลนส์ได้ตามค่าที่วัดได้ ผลิตกรอบแว่นได้ตามที่วัดได้ และต้องการช่างผู้ชำนาญที่จะทำ finishing & final assembly ได้แบบ high precision

 

ในอดีต นี่เป็นเรื่องยาก มีสตางค์ก็ไม่ใช่ว่าจะหาซื้อกันได้ง่ายๆ

 

แต่ยุค 4.0 การเกิดขึ้นของ flexible manufacturing systems ทำให้การทำ mass customization เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเคยๆ ยิ่งมาเจอกับยุค internet of things กับระบบ logistics ดีๆ สิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในอดีตก็เป็นไปได้ง่ายขึ้นๆ

 

ใครมันจะไปรู้

 

ในที่สุด ผมก็ได้ทันเห็นการวัดสายตาจากแล็บเล็กๆ ในตึกแถวข้างหมู่บ้าน ส่ง data ผ่าน internet ไป customized surface shape ของเลนส์ที่เยอรมัน พร้อมกับสั่งทำกรอบที่เดนมาร์ค แล้วทั้งหมดเดิทางผ้าน DHL กลับมาทำ finishing + final assembly โดยใช้เวลาทั้งหมด 10 วัน

 

สำหรับวิศวกรโรงงาน ความสนุกอยู่ที่ facility design + production scheduling ที่เยอรมัน และเดนมาร์ค

 

ตอนนี้มันอาจจะยังราคาสูง

 

อีกไม่นานชีวิตของพวกเราจะยิ่งเปลี่ยนไป

 

สังคมผู้สูงอายุ และการขาดแคลนแรงงาน อีกไม่นานเราจะอยากได้ รองเท้าแบบ customized เก้าอี้ wheel chair แบบ customized อาหารผูกปิ่นโตแบบ customized คุมปริมาณสารอาหาร ฯลฯ

 

และเราทุกๆ คน จะต้องรวมตัวกันเป็น global supply chain ในเรื่องที่เราถนัด

 

ผลการทดสอบแว่น

 

1.วินาทีแรกที่แว่นถูกวางลงบนหน้าครั้งแรก คำแรกที่หลุดออกมาจากปาก คือ ว้าววววว

2. distortion ที่เคยรู้สึกจากแว่นอันเดิมที่เคยใช้ หายไปแบบรู้สึกได้อย่างชัดเจน ผมคงพูดไม่ได้ว่าหายไปหมด แต่ไม่น่าต่ำกว่า 80-90%

3. รู้สึก สว่าง ใส เคลียร์ สบายตา อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

4. จากเดิมที่เคยต้องเบนหน้า เพื่อหาจุดมองระหว่างระยะใกล้ และไกล (สายตาผสม สั้น-ยาว) ตอนนี้สามารถกรอกตาได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น เพราะมีการปรับทิศทางการมองเห็น ซึ่งกระบวนการแบบเดิมทำไม่ได้ (ช่างบอกว่าใช้ปริซึ่ม)

5. ช่างตัดแว่นบอกว่า พี่น่าจะมีบุคคลิกเอียงคอเวลาพูดโดยไม่รู้สึกตัว เพราะระดับสายตา 2 ข้าง สูง-ต่ำ เหล่ ไม่เท่ากัน แต่ตอนนี้มันได้ถูกปรับแก้ในเลนส์แล้ว อีกไม่นานพี่น่าจะเอียงคอลดลงๆ โดยไม่รู้ตัว

6. ถ้าคุณมีงบประมาณเพียงพอ ผมแนะนำแบบ highly recommend ให้ตัดแว่นด้วยวิธีการวัดแบบนี้ ตอนนี้คิดว่าพูดได้เต็มปากว่ามันคือแว่นที่ดีที่สุดที่เคยตัดมาในชีวิต

 

…………………………………………………………………………………………………………………………………………

 

เวลาผ่านไป 5 ปี  อาจารย์กลับมาอีกครั้งด้วยอาการโค้ตเลนส์เริ่มเสื่อม และ ดูใกล้เริ่มต้องยื่นมือให้ห่างออกไปอีกครั้ง จึงทำนัดเพื่อทำการ recheck

 

ตรวจครั้งแรก 8/2/2025 (ซึ่งเป็นการตรวจช่วงเย็น)

Refraction

Retinoscopy

OD -5.75 -2.75 x 90  ,VA 20/20

OS -7.50 -2.00 x 90 ,VA 20/20

 

Monocular subjective

OD -5.00 -2.25 x 92 ,VA 20/20

OS -7.00 -2.25 x 92 ,VA 20/20

 

BCVA (fine tuning on trial frame)

OD -4.75-2.25 x 90 ,VA 20/20

OS -6.37-2.25 x 84 ,VA 20/20

 

Functional : vergence and accommodation at 6 m

Horz.phoria     : 1 BO ,mild esophoria

BI-vergence    : x/7/7

Vertical phoria : 2 BUOS ,Right Hyperphoria

                         1.5 right Hyperphoria

BD-vergence   : 2/0 (LE)

BU-vergence   : 4/2 (LE)

 

Assessment

1.compound mypopic astigmatism OD and OS

2.Presbyopia

3.Right Hyperphoria

 

Plan

1.Full Rx

OD -4.75-2.25x90 

OS -6.37-2.25x84 

2. Progressive additional lens : Add +2.00  ( Rodenstock Impression B.I.G. Exact CMX Gray 1.6)

3.prism Rx  0.75BDOD /0.75BUOS

 

Result

ระยะกลางดี อ่านหนังสือดี แต่มองไกลรู้สึกยังไม่ค่อยชัด (แต่ก็ยังสามารถอ่าน VA บรรทัดที่ 20/15 ได้) และ คนไข้รู้สึกว่า ตาข้างขวานั้นมัวกว่าข้างซ้ายเล็กน้อย ซึ่งหลังจากตรวจดูสุขภาพตา พบต้อกระจกข้างขวาเล็กน้อย เป็นเหตุให้คนไข้เห็นแสงฟุ้งๆเล็กน้อย  ซึ่งผมให้คนไข้ปรับตัวกับเลนส์ใหม่เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และเมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ คนไข้ยังรู้สึกว่ามองไกลยังติดมัวเล็กๆ ผมจึงทำนัดเพื่อตรวจใหม่ และ นัดเป็นช่วงเช้า 9 โมง เพื่อให้มั่นใจว่าเลนส์แก้วตานั้นไม่ถูกใช้งานหนัก ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าสายตามีการแกว่งตัว และ นำไปสู่ความคลาดเคลื่อนได้

 

นัดตรวจอีกครั้ง 12/02/2025 เวลา 9:00 น.

Refraction

Retinoscopy

OD -5.75-2.25x90 ,VA 20/20

OS -7.50-2.00x90 ,VA 20/20

 

Monocular subjective

OD -5.00-1.87x93 ,VA 20/20

OS -7.75-1.62x87 ,VA 20/20

 

BVA (on phoropter)

OD -5.25-187x87 ,VA 20/20

OS -6.75-1.75x83 ,VA 20/20

 

BCVA ( fine-tuning on trial frame)

OD -5.25-2.00x87 ,VA 20/20

OS -7.25-1.75x83 ,VA 20/20

 

Vertical phoria 1.5 BDOD , right Hyperphoria

BCC : OD +2.00D / OS +1.50D

 

mention

เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่บ่อย ที่ add ทั้งสองข้างนั้นจะไม่เท่ากัน ด้วยเหตุว่า ระบบเพ่งหรือ accommodation นั้นเป็นระบบที่เข้าหนึ่งออกสอง ดังนั้น ไม่ว่าจะกระตุ้นข้างใดข้างหนึ่ง อีกข้างจะต้องตอบสนองเท่ากับอีกข้าง (แบบเดียวกันกับการส่องไฟฉายเข้ารูม่านตา-ส่องข้างเดียวแต่หดสองข้าง) เว้นเสียแต่ว่า เลนส์สภาพของข้างนั้นไม่เหมือนกัน กล่าวคือ มีต้อกระจกของตาทั้งสองข้างนั้นไม่เท่ากัน จึงทำให้การตอบสนองต่อระยะกระตุ้นนั้นไม่เท่ากัน ซึ่งกรณีเช่นนี้ อาจจะต้องพิจารณาจ่าย addition ไม่เท่ากัน (ตามหลัก) แต่เมื่อลอง trial แล้ว คนไข้รู้สึกดีกว่าถ้าจ่าย add +2.00 เท่ากันทั้งสองข้าง และ ลองปิดตาสลับซ้ายขวาแล้วก็ยังรู้สึกดีกว่าถ้า add สองข้างเท่ากัน เพราะความคมชัดไม่ได้หนีกันมาก ดังนั้นจึงเลือกจ่าย add +2.00 เท่ากันทั้งสองตา

 

Result

มองไกลชัดเจนขึ้น ขวาซ้ายชัดใกล้เคียงกัน แต่ขวา drop กว่าซ้ายเล็กน้อย ส่วนดูใกล้ไม่มีปัญหาอะไร  เคสนี้จึงทำการแก้เลนส์ให้ใหม่เป็น

OD -5.25-2.00x87

OS -7.25-1.75x83

Add +2.00

Prism : 0.75BDOD /0.75BUOS

 

ปัญหาที่มองไกลติดไม่ค่อยชัด ก็รู้สึกว่าใช้ชีวิตง่ายขึ้น แต่ก็ได้ educate คนไข้ว่า สายตาปัจจุบัน ในความเป็นจริง ตาซ้ายจะต้องน้อยกว่านี้ แต่ด้วยสภาะวะเลนส์ตาที่มี tonic แบบนี้ ก็คงจำเป็นต้องจ่ายแบบนี้  ไว้วันหน้าอีกสัก 5 ปีข้างหน้า เลนส์ตาน่าจะไม่มีแรงที่จะเพ่งแล้ว ค่าสายตาสั้นน่าจะลดลงเป็นค่าที่ตรวจได้ก่อนหน้านี้ แล้วเราค่อยมาแก้กันอีกที

 

ก็จบไปสำหรับเคสของ อ.ประมวล ดังที่ได้เล่ามาข้างต้น

 

Think about it ,

จากเนื้อที่อาจารย์เล่าให้เราฟัง เราจะเห็นวิวัฒนาการของการทำงานในบ้านเราตั้งแต่ 30 ปี ก่อนมาจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นการเจริญเติบโตแบบ “บอนไซ” คือย่ำอยู่กับที่  ซึ่งผมสรุปจากที่อาจารย์เล่า ว่า

 

“การวัดสายตาเมื่อก่อนเป็น trial&error เสียบไปเรื่อยจนกว่าจะชัด บางทีก็อ่อนไป บางทีก็แข็งไป เดินไปหลังร้านเลือกเลนส์ในสต๊อกที่มี ขาดบ้าง เกินบ้าง ตัดเลนส์ด้วยคีมง่ายๆ บิดเลนส์ส่วนที่ไม่เอาออกเหมือนบิคุ๊กกี้ แล้วเจียร์ให้เงาสวยงามเข้ากรอบ วัดวันไหนได้วันนั้น หลังๆเริ่มรู้จักระบบวัดสายตาอัตโนมัติ เริ่มโฆษณาว่าวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จบด้วย trial&error เหมือนเดิม”

 

ผ่านไป 30 ปี วันนี้กับวันนั้น ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่และเมื่อเทียบกับวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาอื่นที่ล้ำไปมากในเวลาเดียวกัน เมื่อนำมาสัมพัทธ์กับศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสายตา เราก็จะเห็นชัดว่า “การย่ำอยู่กับที่นั้นก็เหมือนกับเดินถอยหลัง”  ไม่ต่างอะไรกับ “บอนไซ” ที่ทำได้เพียงเครื่องประดับแต่ใช้ประโยชน์จริงจาก ดอก ใบ ผล หรือแม้แต่ ร่มเงา ไม่ได้จริงๆ

 

ได้เวลาแล้วหรือยังที่จะ “เปลี่ยน”

 

เปลี่ยนจาก “แว่นตาเป็นเรื่อง “accessories” มาเป็นเรื่อง “สุขภาพ”

เปลี่ยนจาก “คนขายแว่น” มาเป็นเรื่อง “ผู้เชี่ยวชาญที่จะดูแลแก้ไขปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นให้คนไข้”

เปลี่ยนจาก “คำโฆษณาแล้วมาใช้แต่คำจริง และลงมือทำจริงๆ ”

เปลี่ยนจาก “การทำเพื่อ gimmick  มาทำแต่เพื่อความจริง”

เปลี่ยนจาก “การเอาการตลาดที่เอาแต่ทำโปรโมชั่นลดราคา มาทำแต่เรื่องการตลาดที่สร้างสรรค์”

เปลี่ยนจาก “วัดแว่น” มาเป็น “ตรวจวัดสายตาและตรวจสอบระบบการมองเห็น”

เปลี่ยนจาก “การขยายตัวแบบไร้คุณภาพ มาทำสิ่งเล็กๆแต่ดี”

เปลี่ยนจาก “การสวมเสื้อกาวน์แต่ทำหลอก มาเป็นใส่เสื้อกล้าม(ก็ได้)แต่ทำจริง”

เปลี่ยนจาก “ความโลภ-ที่กิเลสตัณหาเป็นตัวขับ” ให้กลายเป็น “passion-ที่ขับด้วยความรัก”

 

คนเราแท้จริงวันๆกินได้ไม่เท่าไหร่หรอก ส่วนใหญ่ทำเพื่อสนองอัตตาตัวกูของกู สนองอีโก้กันเสียมากกว่า ใหญ่เท่าไหร่มันก็ไม่เคยพอ มีแต่ทุกข์และตายเปล่า เราไม่ต้องเป็นฮีโร่ของโลก แต่เป็นฮีโร่ในกลุ่มเล็กๆของเราให้ได้นั่นก็พอมากแล้ว ทำแบบพอเพียงก็สุขอย่างเพียงพอ ดังนี้แล

ขอบคุณ​อาจารย์ ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน์  ที่อนุญาตให้แชร์เรื่องราวข้างต้นเพื่อเป็นธรรมทานนี้ด้วยครับ

Ref : https://www.facebook.com/525324494/posts/10158265505334495/?d=n

 

สวัสดีครับ

Dr.Loft O.D.