90 % ยังเข้าใจผิดว่า "สายตายาว" กับ "สายตาชรา" เป็นเรื่องเดียวกัน


THE   REFRACTIVE ERROR ,HYPEROPIA

90 % ยังเข้าใจผิดว่า "สายตายาว" กับ "สายตาชรา" เป็นเรื่องเดียวกัน

By Dr.Loft , 9 July 2017


 

บทนำ

ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า มากกว่า 90% ของประชากรในประเทศของเรานั้น ไม่เข้าใจคำว่า "สายตายาว" (แต่เกือบทุกคนรู้จักสายตาสั้น) และอีก 90% เช่นกันที่ยังเข้าใจผิดว่า "สายตายาวคือสายตาคนแก่หรือสายตาชรา"  ไม่เพียงแต่คนทั่วไปเท่านั้นที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ แม้แต่ผู้ให้บริการวัดสายตาในบ้านเราจำนวนมากเช่นกันที่ไม่ค่อยเข้าใจ โดยเฉพาะสายตายาวในเด็ก  เพราะคนไทยเข้าใจผิดว่า  "สายตายาว เป็นเรื่องของคนแก่ ส่วนเด็กนั้นจะมีเฉพาะสายตาสั้นหรือสายตาเอียง"

 

ด้วยความเข้าใจผิดเช่นนี้ ทำให้เด็กที่มีปัญหาสายตายาวในประเทศของเรานั้น ถูกปล่อยปละละเลย และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมามากมาย ร้ายที่สุดคือ เกิดเป็นตาเหล่เข้า(esotropia)และทำให้เกิดเป็นตาขี้เกียจ(amblyopia)ในที่สุด 

 

ดังนั้นเราจะพบบ่อยๆว่า ถ้าเด็กที่เป็นสายตายาว  เมื่อรู้สึกว่าตัวเองปวดตา หรือเมื่อยตา อ่านหนังสือนานไม่ได้  แล้วเข้าไปร้านแว่นเพราะคิดว่าตนเองมีปัญหาสายตา มีแนวโน้มว่า เมื่อวัดตาเสร็จมัก เด็กคนนั้นจะได้แว่นตาสายตาสั้นหรือไม่ก็ได้เลนส์ตัดแสงคอมพิวเตอร์ blue block ที่ไม่มีสายตากลับมา

พร้อมคำแนะนำว่า

"ใช้ตาดูหน้าจอมากเกินไป พักตาบ้างนะ" 

 

เนื่องจากสายตาที่ยาวไม่มากนักและมีสายตาเอียงมากๆร่วมด้วยนั้น เครื่องคอมพิวเตอร์มักจะตีค่าออกมากลายเป็นสายตาสั้นและเอียงที่น้อยกว่าค่าจริง หรือถ้าจะมียาวติดมาบ้างก็เป็นค่าที่ under plus อยู่มาก ซึ่งแม้จะทำให้คนไข้รู้สึกชัดขึ้น (บ้าง) แต่จะทำให้ยิ่งไปสร้างปัญหาให้เด็กมากขึ้นไปอีก เนื่องจากเด็กสายตายาวอยู่แล้ว ยิ่งจ่ายเลนส์ลบให้ ก็ยิ่งทำให้สายตายาวมากขึ้น เด็กจะปวดหัว ปวดตา มึนหัว มากสุดไปจนถึงตาเหล่เข้าซ่อนเร้น และโดยส่วนใหญ่แล้วคนไข้สายตายาวมากกว่า 70% นั้นมองไกลชัด ค่า VA ออกมาดี  ทำให้เรามักจะสรุปกันเอาเองว่า  "คนสายตายาวมองไกลชัด" แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็คือ

"คนสายตายาว มองไกลชัด ถ้าเลนส์ตานั้นมีแรงพอที่จะเพ่งไหว"

 

กรณีศึกษาจากเคสจริง

ตัวอย่างเช่น (เคสจริง) เบิร์ด คนไข้วัยรุ่น อายุ 20 ปี ไปทำแว่นมาจากร้านแว่นแห่งหนึ่ง จากการติดตามโฆษณาในเฟสบุ๊ก แต่ทำมาแล้วบ่นว่ามองเห็น แต่ไม่ค่อยชัด เมื่อยตา มึนๆ ไม่สบาย ถอดแว่นออกตาเปล่าชัดกว่า ทั้งๆที่ทำไปหลายหมื่นบาท   นำแว่นมาให้ดู

 

พบว่าค่าสายตาของแว่นที่ทำมาวัดได้ค่าสายตา -0.50D ทั้งสองข้าง ซึ่งเมื่อตรวจสายตาออกมาจริงๆในต้องตรวจกลับได้ค่าเป็นสายตายาวและมีเอียงร่วมด้วย คือ +0.50-1.50x90 เป็นต้น  ซึ่งค่าที่ได้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรกับเลนส์เดิมที่ทำมาเลย 

 

ถ้าพิจารณาจะเห็นว่า เมื่อนำค่าสายตาจริงไปทำ Spherical Equivalent จะได้ค่า (+0.50)+(-0.75)= -0.25D  ดังนั้นแว่นที่ทำมานั้น เห็นแต่ไม่ชัดและมีเงา อันนี้ยกเคสจริงมาเล่าให้ฟัง

 

อุทาหรณ์เรื่องนี้ก็คือ "ใช่ว่าใช้เลนส์แพงแล้วจะแก้ปัญหาชีวิตได้ เพราะถ้าหากสายตาไม่ถูกต้องเสียแล้ว เลนส์แพงคงไม่ได้ช่วยอะไร" ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น มุ่งเน้นในเรื่องการเชียร์ขายผลิตภัณฑ์มากกว่าที่จะเน้นตรวจค่าสายตาให้ถูกต้อง ทำให้สร้างปัญหากับผู้รับบริการมาก เพราะทำมาแล้ว ไม่เห็นดีอย่างที่เชียร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุจากการวัดสายตาที่ผิด ไม่ใช่ว่าเลนส์ไม่ดี 

 

ดังนั้นในบ้านเราจึงมีคนที่เป็นสายตายาวอยู่มากมายที่ยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขหรือแก้ไขแต่แก้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีน้อยคนเข้าใจ แม้แต่ตัวคนไข้เองก็ไม่ค่อยเข้าใจตัวเองเท่าไหร่ หนำซ้ำบางครั้ง ไปรับบริการปัญหาสายตากลับได้รับคำตอบว่า “ก็ชัดดีนี่..สายตาปกติ..กลับบ้านได้” หรือได้ไปเจอผู้ให้บริการที่เข้าใจและวินิจฉัยว่าเป็นสายตายาว(Hyperopia)ก็ลำบากใจที่ต้องบอกใครว่า "ฉันสายตายาว" ก็จะมีเพื่อนล้อว่า "หือออ...แก่แล้วหรือนี่" ซึ่งจริงๆไม่เกี่ยวกันโดยประการทั้งปวง

 

คนสายตายาวจึงเป็นคนน่าสงสารและมันก็เป็นปัญหาสำหรับผมมากทีเดียวที่ต้องพยายามอธิบายให้คนไข้เข้าใจความแตก ต่างระหว่าง“สายตายาว”กับ“สายตาชรา”เนื่องจากที่มาของคำนั้นมันไม่ make sense!  เรียกได้ว่า

 

"ภาษามีความน่ากลัวและเป็นอุปสัคในการทำงานทางด้านคลินิกอย่างมาก"

 

 

ศัพท์มีปัญหา

เราบัญญัติศัพท์เรียก myopia ว่า "สายตาสั้น" ฟังแล้วก็เข้าใจได้ว่าสายตาสั้น คือ สายตามันสั้นมันก็เลยมองไกลไม่ชัด คนจึงไม่ค่อยงงกับคำว่าสายตาสั้น เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน แต่พอเป็น Hyperopia เราบัญญัติศัพท์ว่า “สายตายาว” เรื่องมันเลยยุ่ง เพราะเราไปให้ความหมายโดยอิงจากสายตาสั้นกลายเป็นคิดว่า "สายตายาว...คือมองไกลชัด...แต่อ่านหนังสือไม่ชัด"  ซึ่งความจริงแล้ว เป็นไปได้ทั้งสองอย่างคือ มองไกลอาจจะชัดหรือไม่ชัดก็ได้ หรือมองใกล้อาจจะชัดหรือไม่ชัดก็ได้ เป็นไปได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับกำลังเพ่งของเลนส์แก้วตา ว่าจะมีแรงเพ่งมากน้อยแค่ไหน

 

**การเพ่งในที่นี้คือ accommodation ซึ่งเป็นระบบประสาทอัตโนมัติ เหนือการควบคุมของจิตใจ  ไม่ใช่เพ่งจ้องดู stare ที่เป็นกริยาที่อยู่ในการควบคุมของเรา)

 

เรามาพิจารณาเป็นคำๆว่า "สายตายาวมองไกลชัด...ดูใกล้ไม่ชัด" ว่าเป็นจริงไหม

สายตายาว...มองไกลชัด

อืม...คนสายตาปกติทุกคนไม่ว่าจะเด็กผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุก็มองไกลชัดนะและรู้หรือไม่ว่า "เด็กทุกคนเกิดมาเป็นสายตายาวและมองไกลชัด และสายตายาวนั้นจะค่อยๆลดลงจนเป็น plano (สายตา 0.00) ช่วงอายุ 8-10 ขวบ เมื่อพ้น 10 ขวบไปแล้ว บางคนก็ยังคงเหลือสายตายาวอยู่ (hyperope) บางคนเป็นสายตาปกติ (emmetrope) บางคนกลายเป็นสายตาสั้น(myope)  ส่วนเด็กที่สายตายาวลงลงเร็วเกินไปก็จะกลายเป็นคนสายตาสั้นและจะสั้นหนักมากขึ้นเนื่องจากกระบอกตายาวขึ้นซึ่งจะไปคงที่อีกครั้งที่อายุประมาณ 20-22ปี  ส่วนคนสายตายาวมากๆ เมื่ออายุมากขึ้นมองไกลจะเริ่มมัว  

สิ่งที่ต้องคิดก็คือ ถ้าคนสายตาปกติและคนสายตายาวมองไกลชัด แล้วคนสองกลุ่มนี้ต่างกันอย่างไร 

 

สายตายาว...มองใกล้ไม่ชัด

คนสายตายาวส่วนใหญ่ (ที่ยังไม่เข้าวัยชรา) มองใกล้ชัด โดยเฉพาะเด็กตัวเล็กๆซึ่งทุกคนเป็นสายตายาว ก็มองใกล้ชัดปกติดี ไม่เห็นมีเด็กสายตายาวคนไหนบอกว่าอ่านหนังสือใกล้ไม่ชัด   ในทางกลับกันเมื่อทุกคนเข้าสู่วัยที่เลย 40 ปี ไม่ว่าคนสายตาปกติ หรือ คนสายตายาว (หรือคนสายตาสั้นที่ใส่แว่นอยู่) ก็ล้วนแต่อ่านหนังสือหรือดูใกล้ไม่ชัด แล้วถ้าเราเจอคนไข้สองคนนี้ที่ดูใกล้ไม่ชัด เราจะแยกได้อย่างไร 

 

"จุดเริ่มของความสับสน"

หลายคนเริ่มสับสนว่า "คนสายตาปกติมองไกลชัด ในขณะเดียวกันคนสายตายาวส่วนใหญ่ก็มองไกลชัดเช่นกัน แล้วคนทั้งสองกลุ่มนี้ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร"

ดังนั้นแค่ว่าด้วยนิยามของคำว่า “สายตายาว” ก็ดูจะสร้างปัญหาให้กับคนส่วนไปแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเราต้องวิ่งไปหานิยาม และเมื่อเราเกาะนิยามได้แล้ว เราก็จะไม่หลงอีกต่อไปและก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจศัพท์เจ้าปัญหา 2 ตัวก่อนคือ สายตายาว(Hyperopia) กับสายตาชรา(Presbyopia) มันต่างกันอย่างไร

 

Hyperopia vs Presbyopia ต่างกันอย่างไร

จริงๆแล้ว “สายตายาว” กับ “สายตาชรา” มันคนละเรื่องกันอยู่แล้ว แต่ความสับสนเกิดขึ้นเมื่อเราอายเรื่องอายุ จึงไปเรียก “สายตาคนแก่” ว่า “สายตายาวในผู้สูงอายุ” และด้วยความเป็นคนไทย ก็มักเอาง่ายว่า เลยตัดคำว่า “-ในผู้สูงอายุ” ออกเหลือ แต่คำว่า“สายตายาว-”เลยไปชนกับสายตายาว (Hyperopia) แล้วก็มา งง กันเอง  ต่อไปถ้าเรียกว่า "สายตาคนแก่" หรือ "สายตาชรา" เราจะไม่งงเรื่องนี้อีกต่อไป เพราะทุกคนไม่ว่าจะสายตาปกติ สายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาว  วันหนึ่งก็ต้องชราทั้งสิ้น ดังนั้นเขาจะมีสายตาเดิมที่ติดตัวมาก่อนอายุ 40 ปี และมีสายตาชราเพิ่มเข้าไปอีกปัญหาหนึ่ง คือความชราของเลนส์แก้วตา ทำให้ไม่สามารถเพ่งเพื่อดูใกล้ให้คมชัดได้ 

 

ดังนั้นถ้าเราเข้าใจนิยาม เราจะไม่หลงและที่เราผิด  ผิดเพราะเราไม่เคยสนใจนิยามของสายตาทั้ง 3 อย่างคือ “สายตาปกติ สายตาสั้น และสายตายาว”ทั้ง 3 สายตานี้ ซึ่งฝรั่งไม่งงเพราะสากลใช้คำแยกกันว่า Emmetropia ,Myopia และ Hyperopia ตามลำดับ โดยนิยามของสายตาทั้ง 3 แบบอ้างอิงจากระยะอนันต์ ว่า

นิยามของสายตาทั้ง 4 แบบ คือ สั้น ยาว เอียง หรือ สายตาปกติ เราอิงจากนิยามว่า “เมื่อแสงขนาน (parallel ray) เดินทางจากระยะอนันต์ (infinity) ผ่าน optical system (น้ำตา กระจกตา เลนส์ตา) แล้วเกิดการหักเห แล้วโฟกัส ที่ตำแหน่งใดบนเรตินา”

 

(A) Emmetropia : parallel ray โฟกัสบนจุดรับภาพพอดี
(B)Hyperopia : paralleyl ray โฟกัสหลังจุดรับภาพ แก้ให้ปกติด้วยการใส่เลนส์นูน(C)เพื่อรวมแสงให้ตกบนจอตาพอดี 
(D)Myopia : parallel ray โฟกัสก่อนจุดรับภาพ แก้ด้วยเลนส์เว้า(E)เพื่อผลักแสงให้ตกบนจอตาพอดี 

 

 

Parallel Ray คือหัวใจของเรื่องนี้

Parallel ray คือตัวแปรสำคัญในการ สร้างนิยามให้กับสายตาต่างๆ และ parallel ray จะเกิดขึ้นได้ แสงต้องเดินทางจากอนันต์ ถ้าเราจับจุดนี้ได้ เราจะไม่หลง เวลาพูดว่าชัดหรือไม่ชัด ต้องถามต่อว่าชัดที่ระยะไหน 1 เมตร 3 เมตร 4 เมตร 5 เมตร หรืออนันต์(infinity) เมื่อใช้ฐานเดียวกันแล้ว เราจึงจะสามารถคุยเรื่องเดียวกันได้

 

ดังนั้นตราบใดที่ยังวัดสายตาที่ระยะของห้องตรวจสั้นกว่า 6 เมตร โดยไม่มีระบบกระจกสะท้อน ไม่ต้องมาคุยกันเรื่องสายตาว่าวัดถูกหรือผิด เพราะว่าผิดนิยามตั้งแต่ต้น ค่าสายตาที่ได้จึงไม่มีราคาพอที่จะนำมาอ้างอิง 

 

ถ้าแสงขนานจากอนันต์ ตกพอดีจอ…เรียกว่า “สายตาปกติ หรือ Emmetropia”

ถ้าแสงขนานจากอนันต์ ตกก่อนจอ…เรียกว่า “สายตาสั้น หรือ Myopia”

ถ้าแสงขนานจากอนันต์ ตกหลังจอ..เรียกว่า “สายตายาว หรือ Hyperopia”

 

ทำไมต้องแสงจากอนันต์(infinity)

ระยะอนันต์หรือ infinity เป็นระยะเดียวที่แสงเดินทางมาในรูปแบบแสงขนานแล้วเกิดเป็น parallel rays และยิ่งวัตถุเข้ามาใกล้มากเท่าไหร่ แสงก็จะมีลักษณะเป็น “แสงถ่าง”หรือ “Diverge ray” มากขึ้นเท่านั้น  ระยะ 6 เมตรเป็นระยะใกล้สุดที่แสงใกล้เคียงกับระยะอนันต์ที่สุด ถึงกระนั้นก็ตามระยะ 6 เมตรยังเป็นแสงที่มีลักษณะเป็น Diverge ray เล็กน้อย และทำให้โฟกัสนั้นตกหลังจอรับภาพปริมาณ +0.18D

 

แต่ความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยนี้ ระบบสามารถชดเชยได้ด้วย Depth of focus จากมนุษย์มีรูม่านตาที่มีขนาดเล็ก ทำให้ระบบ accommodation ไม่ต้องทำงานก็เห็นชัดได้ ดังนั้นในทางคลินิกจึงให้ระยะ 6 เมตรเป็นระยะอ้างอิงในการตรวจวัดทางคลินิก  พูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่า การตรวจในระยะที่ใกล้กว่า 6 เมตร แม้จะได้ค่าสายตาที่(อาจ)จะถูกต้อง(ในบางครั้ง) แต่ไม่สามารถนำค่าสายตานั้นมาอ้างอิงได้ว่าถูกหรือผิด เพราะว่าไม่ได้อยู่ในนิยาม 

 

แสงขนาน (parallel ray) เกิดขึ้นเมื่อแสงเดินทางจากระยะอนันต์


 

วิเคราะห์ภาพที่เห็นในแต่ละสายตา(อ้างอิงแสงจากอนันต์)

คนสายตาสั้น...แสงตกก่อนจอ...มองไกลไม่ชัดชัวร์

 

คนสายตาปกติ...แสงตกบนจอพอดี...มองไกลชัดชัวร์

 

คนสายตายาว...แสงตกหลังจอ....มองไกลควรจะมัวแต่จริงๆแล้วกลับชัด (แต่ในบางคนก็มัว และในบางคนตอนเด็กหรือหนุ่มสาวมองไกลชัดอยู่ แต่พอเริ่มอายุมากขึ้น ไกลก็เริ่มไม่ชัด) ทำไมเป็นเช่นนั้น

 

สายตายาวทำไมมองไกลชัด

ระบบการเพ่ง หรือ Accommodation System เป็นระบบ Natural Auto Focus ที่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิต ซึ่งมีหน้าที่ทำสำคัญคือช่วยให้เราสามารถมองเห็นได้ทุกระยะจากการเปลี่ยนความโค้งของผิวเลนส์แก้วตา ซึ่งถูกควบคุมการทำงานโดยสมองผ่านกล้ามเนื้อ cliliary muscle เพื่อให้เกิดผลคือภาพที่คมชัดบนจอรับภาพ (sharp retinal image)

 

จริงอยู่ที่สายตายาวนั้นทำให้โฟกัสตกหลังจอรับภาพทำให้เกิดภาพมัวบนจอรับภาพ (retina image blur) แต่มนุษย์และสัตว์ต่างก็มีเลนส์แก้วตาหรือ crystalline lens ซึ่งสามารถเปลี่ยนความโค้งของผิวเลนส์ตาได้โดยการทำงานของกล้ามเนื้อภายในลูกตาที่ชื่อว่า ciliary muscle และการหดตัวของ ciliary muscle ทำให้เกิดการโฟกัสภาพ หรือดึงภาพกลับมาให้โฟกัสบนเรตินา คนสายตายาว(ที่ยังมีแรงเพ่งของเลนส์ตาอยู่)จึงสามารถมองไกลชัด แต่ชัดโดยเลนส์ตาถูกกระตุ้นให้ทำงานและเมื่ออายุมากขึ้นแรงเพ่งนี้จะลดลงเรื่อย จนเพ่งต่อไม่ไหว จึงทำให้คนที่สายตายาวมากๆ หรือสายตายาวตอนอายุมาก จะเริ่มมองไกลมัว

 

อ่านการทำงานของเลนส์ตาเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์​ http://www.loftoptometry.com/กายภาพดวงตาที่ควรรู้

 

การมองไกลชัดของคนสายตายาวกับคนสายตาปกติ จึงต่างกันที่ “คนสายตายาวชัดแบบต้อง activate accommodation ในขณะที่คนสายตาปกติ relax accommodation”

 

ถ้าแสงเดินทางจากระยะใกล้ จะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อแสงไม่ได้มาจากอนันต์ แสงจะการ diverge ทำให้จุดโฟกัสเลื่อนถอยหลังและเลยจอรับภาพออกไป ซึ่งเลนส์ตามีหน้าที่ในการโฟกัสภาพแล้วดึงภาพกลับให้มาตกลงบนจอรับภาพ แต่สำหรับคนแก่ที่กำลังเพ่งลดลงทำให้ไม่สามารถโฟกัสที่ระยะใกล้ได้เรา เรียกว่าสายตาชรา หรือ presbyopia

 

เมื่อวัตถุเลื่อนจากระยะไกลมาที่ระยะใกล้ ด้วยการละสายตาจากระยะไกลสุดมาสู่หน้าจอ iphone แน่นอนเมื่อวัตถุมันเลื่อนเข้ามาใกล้ โดยหลักแล้วจุดโฟกัสก็ต้องเลื่อนร่นถอยหลังและเกิดภาพมัวบนจอรับภาพ (retina image blur) ซึ่งสมองจะสั่งงานเลนส์ตาให้เกิดการ accommodate เพื่อดึงภาพให้มาตกลงบนจอรับภาพ และให้ภาพที่คมชัด

 

ตอนที่อายุยังน้อย กำลังของเลนส์ตานั้นถือว่ามีเพียงพอที่จะเพ่งเพื่อโฟกัสในระยะใกล้ได้  แต่เมื่ออายุ 40 ปี ขึ้นไป(Presbyopia) กำลังโฟกัสจะลดลงทำให้ ไม่มีแรงพอที่จะ accommodate คนสูงอายุจึงไม่สามารถเพ่งเพื่อดูใกล้ได้อีกต่อไป นั่นก็หมายความว่า  ไม่ว่าคนสายตาปกติ  คนสายตาสั้น คนสายตาเอียง คนสายตายาว  จะต้องแก่ตัวลงไม่วันไดก็วันหนึ่ง  และเมื่อแก่ตัวลงแรงเพ่งนี้ก็จะลดลง และทำให้เขาทั้งหลายเหล่านี้ จะมีปัญหาสายตามองไกลข้างต้นอยู่ แล้วเกิดเป็นสายตาชราร่วมขึ้นมา ซึ่งจะเริ่มมีอาการต่อไปนี้

 

คนสายตาปกติ...จากที่เคยชัดทุกระยะ ตอนนี้..ไกลชัดแต่ใกล้มัว

คนสายตาสั้น...มองไกลใส่แว่น แต่พอดูใกล้ต้องถอดแว่นอ่านหนังสือ

คนสายตายาว...มองไกลเริ่มไม่ชัด  ดูใกล้ยิ่งมัว

 

ดังนั้นไม่ว่าใคร สายตายังไง พออายุย่างเข้า 40ปี ก็จะเริ่มมีอาการ “สายตาชรา หรือ Presbyopia” จากกำลังโฟกัสของเลนส์ตาเสื่อมตามอายุและต้องเริ่มยื่นหนังสือให้ห่างออกไปเมื่อต้องดูใกล้ๆ 

 

แต่การที่ยื่นห่างออกไปตัวหนังสือก็จะทำให้ตัวหนังสือนั้นเล็กลง อ่านลำบาก อ่านไม่ทน ก็จะต้องมองหาแว่น อ่านหนังสือ หรือเลนส์โปรเกรสซีฟมาแก้ปัญหา “สายตาชรา” จึงอ้างอิงที่ระยะ “ใกล้” ซึ่งมีสาเหตุจากกำลังเพ่งของเลนส์ตาไม่พอ

 

ที่ต้องยกสายตาคนแก่มาคั่นสายตายาวเพื่อที่จะให้เข้าใจตรงกันว่า“มันคนละคำกัน” และ "สายตาสั้นกับสายตาคนแก่จึงไม่หักล้างกันเพราะไม่เกี่ยวกัน" มีสาเหตุการเกิดกันคนละแห่ง “สายตาสั้น/สายตายาว/สายตาปกติ เรากำลังพูดอ้างอิงที่ระยะอนันต์” แต่เมื่อคนเหล่านี้อายุมากขึ้นก็จะมีภาวะ“สายตาชรา”ร่วมด้วย สายตาชราจึงอ้างอิงความสามารถในการดูที่ระยะใกล้

 

ย้ำอีกทีว่า “สายตายาวกับสายตารา” คนละอันกัน (ทำไมถึงย้ำนักหนา...เพราะว่าเดี๋ยวก็จะมีคนถามผมในคลินิกอีกเหมือนเดิมว่า ทำไมหนูอายุยังน้อยแล้วเป็นสายตายาวหล่ะ หรือ ถ้าตอนนี้สายตาสั้นพอแก่แล้วสายตายาวแล้วมันจะหักล้างกันไหม อะไรทำนองนี้ " แต่สบายใจได้  เจออีกก็ถามอีก

 

สายตาชรา (presbyopia) ได้เป็นกันทุกคนเมื่อถึงเวลา โดยส่วนมากแล้วจะเริ่มเห็นอาการได้ชัดหลังจากอายุ 40 ปีเป็นต้นไป 

 

ความอาภัพ ไม่ได้จบลงเท่านี้ 

หลายครั้งที่คนสายตายาวเข้าไปรับบริการกับคนที่ไม่เข้าใจ  มักจะได้รับคำตอบว่า "การมองเห็นก็ชัดดีนี่ จะมาทำไม"  หรือ บางคนถึงคราวซวยหนัก ได้เลนส์สายตาสั้นมาแทน  พอใส่แล้วก็ชัดบางทีก็ไม่ชัดและปวดหัว ปวดเบ้าตา ถอดแว่นสบายกว่า(แล้วจะใส่ทำไม)  

 

แต่เราก็มีความ เชื่อกันว่า “ต้องปรับตัว” ปรับไป-ปรับมาระบบ binocular พัง เพราะนอกจากเลนส์สายตาสั้น (minus power) ไม่ได้แก้ปัญหาแล้ว หนำซ้ำการจ่ายเลนส์สายตาสั้นให้กับคนสายตายาว ทำให้คนไข้ยิ่งต้องเพิ่มภาระของ accommodate หนักยิ่งขึ้น เกิด Eso-deviate มากขึ้น สุดท้ายกลายเป็นตาเหล่เข้าซ่อนเร้น

 

บางทีก็ไปได้เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงินมาพร้อมกับ โยนบาปให้ไอแพด ว่า ที่มีอาการปวดหัว เมื่อยเพราะแสง สีน้ำเงินมาทำร้ายดวงตา (โถ..คอมพิวเตอร์ผู้น่าสงสาร ไม่มีโอกาสได้เถียงเลย ขอทนายให้ไอแพดหน่อยได้ไหม) เลยได้เลนส์ตัดแสงคอมพ์สายตา 0.00 มา ซึ่งจนแล้วจนเล่าก็ไม่มีทีท่าว่าอาการปวดหัว เมื่อยตาจะหายไป  นี่คือความทุกข์อันใหญ่หลวงของ คนสายตายาว บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า “อาการที่ฉันเป็น...ฉันคิดไปเองหรือเปล่า”

 

งานวิจัยมุ่งสู่การควบคุมสายตาสั้น ลืมสายตายาว

จริงๆก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนสายตายาวจะถูละเลยจากระบบการดูแลสุขภาพ ถ้าเราลองมองไปรอบๆ จะเห็นว่า "เรามีข้อมูลเกี่ยวกับสายตาสั้น (myopia) อยู่เยอะมาก เรามีการวิจัยมีการศึกษา สารพัดเกี่ยวกับการควบคุม สารพัดวิธีในการชะลอ ไม่ให้สายตาสั้นนั้นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการจ่ายเลนส์อ่านหนังสือ การแก้ไขสายตา  การใช้เลนส์โปรเกรสซีฟในเด็ก การทำ Ortho-keratology การแก้ไขด้วยคอนแทคเลนส์แบบกึ่งแข็ง(RGP) การทำเลสิกส์ เป็นต้น”

 

แต่พอพูดถึงสายตายาว เราแทบจะไม่รู้หรือไม่มีข้อมูลอะไรเลยเลยเกี่ยวกับสายตายาว (hyperopia) ไม่ค่อยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมสายตายาว เพียงเพราะคนสายตายาวมองไกลชัด ก็เลยเหมาว่าเขาไม่มีปัญหาการมองเห็นแต่ปัญหาคนสายตายาวนั้นคือ ปวดหัว ปวดเบ้าตา เมื่อยล้าตา อ่านหนังสือไม่ทน ทำคอมพิวเตอร์ นานๆไม่ได้  ต้องพักตาบ่อย(เกินไป) มีตาแดงๆก่ำๆ เหมือนคนอดหลับอดนาน ดวงตาไม่สดใส นำตาไหล แสบตา เปลี่ยนโฟกัสช้าเช่น ดูใกล้นานๆแล้วมองไกลมัว เดี๋ยวมัวเดี๋ยวชัด หรือมองไกลอยู่แล้วดูใกล้จะต้องใช้เวลาในการโฟกัส ....แต่ก็ชัดนะ  มันเลยยากที่จะหาอาการหรือบอกอาการ หรือแม้แต่จะอธิบายให้ผู้ให้บริการฟังว่าเรารู้สึกอย่างไร ก็เป็นเรื่องลำบาก บางทีก็โดนยัดเยียดข้อหาว่า “อยากใส่แว่นหรือเปล่า”

 

ความภาคภูมิใจในวัยเด็กของคนสายตายาว

แต่กระนั้นก็ตาม คนสายตายาวก็มีความภูมิใจในวัยเด็กคือ ตนเองนั้นสามารถมองเห็นตัวหนังสือเล็กๆที่อยู่ไกลออกไปได้ชัดกว่าคนอื่น เช่นมองป้ายรถเมล์ได้ตั้งแต่ไกลๆ  เพราะเด็กนั้นมีระบบโฟกัส (accommodation) เหลืออยู่มาก

 

แต่เมื่อเริ่มอายุมากกำลังโฟกัสลดลงเขาก็จะเริ่มมองไกลไม่ชัดและจะมัวหนักยิ่งขึ้นเมื่อดูใกล้กลายเป็นคนไม่ชอบดูใกล้ ไม่ชอบอ่านหนังสือ  ทำให้เราสามารถพบเด็กสายตายาวในสนามฟุตบอลมากกว่าในห้องสมุด เพราะธรรมชาติมัน serve กันเองตามธรรมชาติ และเราอาจจะไม่เคยเห็นคนสายตายาวบ่นปวดหัวเลยก็ได้ เพราะเขาแทบจะไม่ได้ใช้ชีวิตในการดูใกล้เลย

 

ปัญหาที่เกิดเฉพาะคนสายตายาว

สายตายาวนั้นทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา แต่ที่มีลักษณะของปัญหาที่แตกต่างจากสายตาสั้นหรือสายตาเอียง ได้แก่

1.หลุดรอดจากการตรวจคัดกรองสายตา

โดยปกติในโรงเรียนจะมีหน่วยงานเข้าไปตรวจหาความผิดปกติของการมองเห็นในเด็กเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งการตรวจคัดกรอง (Screening test) นั้นจะใช้แผ่น Snellen’ chart เป็นมาตรฐาน ว่าเด็กสามารถอ่านได้ถึงแถวมาตรฐาน (20/20) หรือไม่

 

ถ้าอ่าน 20/20 ได้แปลว่าเขามองเห็นชัด (ซึ่งเด็กอาจจะสายตาปกติจริงๆหรือมีปัญหาสายตายาวแต่ยังเพ่งได้อยู่ก็ได้ เนื่องเด็กนั้นมีกำลังของ Accommodation เหลืออยู่มาก ดังนั้นเด็กที่เป็นสายตายาว(Hyperopia) นั้นก็จะใช้กำลังเพ่งที่มีอยู่ในการอ่านตัวหนังสือบน แผ่น VA ได้และเขาก็สามารถอ่านตัวหนังสือได้ชัด ครบทุกบรรทัด อาจจะอ่านได้มากกว่ามาตรฐานที่ VA 20/15 ก็เป็นได้  ทำให้เด็กที่เป็น Hyperopia นั้นหลุดจากการคัดกรองก็เป็นได้ (99%ก็เป็นอย่างนั้น)

 

 2.ตาเหล่เข้า (Accommodative Esotropia)

อีกความผิดปกติที่มักมาคู่กับสายตายาวเลยก็คือ “ตาเหล่เข้า” ซึ่งเราสามารถพบความผิดปกตินี้ได้ทั่วไปโดยเฉพาะที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(ราชวิถี) ซึ่งจะมีเคสตาเขเข้าจากสายตายาวอยู่มากมาย

 

ทำไม Hyperopia ทำให้เด็กเกิดตาเขเข้า

คนที่เป็น Hyperopia ใช่ว่าจะใช้ Accommodation เพ่งให้เห็นชัดแล้วเรื่องจะจบ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เลนส์แก้วตามีการเพ่ง (Accommodate) กล้ามเนื้อตา (medial rectus) จะถูกกระตุ้นด้วยทำให้เกิดการเหลือบตาเข้า (accommodative convergence) และยิ่งเป็น Hyperopia สูงมาก เท่าไหร่ เลนส์ตาก็จะต้อง accommodate หนักขึ้น และผลของการเหลือบเข้า (Converge)อย่างหนัก ผลตามมาคือ "เหลือบเข้าจนเป็นภาพซ้อน" เนื่องจากมุมเหลือบมันมากเกินไปที่กล้ามเนื้อจะดึงกลับ

 

สมองไม่ชอบดูภาพซ้อนเพราะมันปวดหัว มันก็จะกดสัญญาณทิ้งข้างหนึ่ง (suppression) ทำให้ตาข้างที่ถูก กดสัญญาณทิ้งไปปล่อยให้ตาข้างนั้นเกิดเป็นตาเหล่เข้า ซึ่งมีชื่อทางการแพทย์ว่า “Refractive  accommodative esotropia” และคนไข้กลุ่มนี้มักจะมี High AC/A ร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นการลด accommodation ด้วยการแก้สายตายาว จึงสามารถทำให้ตากลับมาตรงได้

 

Accommodative Esotripia  (image : http://webeye.ophth.uiowa.edu/eyeforum/cases-i/case129/fig2.jpg)

 

ในบางคนแม้ไม่ถึงกับตาเหล่ แต่สถิติที่ผมตรวจในคลินิกพบว่าว่าคนสายตายาว มักมาพร้อมกับตา“เหล่เข้าแบบซ่อนเร้น”หรือที่เรา เรียกว่า Esophoria เนื่องจากมุมเหล่นั้นไม่มากเกินไ และกล้ามเนื้อตามีแรงพอที่จะชดเชย (compensate) ในการออกแรงดึงตาออก (Devergence) ซึ่งเป็นการทำงานของ negative fusional vergence แต่การทำงานที่หนักมากดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการ ปวดบริเวณ รอบดวงตา เบ้าตา หรืออาจมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียนได้ เป็นต้น

 

3.ขี้เกียจอ่านหนังสือ

image : https://cdn1.lockerdomecdn.com/

คนที่มีปัญหาสายตายาว มักมีอาการปวดหัว เมื่อยตา ตาล้าได้ง่าย เมื่อต้องจ้องหรือเพ่งมอง หรืออ่านหนังสือในระยะใกล้ ทำให้เด็กสายตายาว กลายเป็นเด็กที่ไม่ชอบอ่านหนังสือแต่ชอบวิชาพละหรือวิชาที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้งมากกว่า ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ครูประจำชั้นเข้าใจผิดว่าเด็กไม่ตั้งใจเรียนก็เป็นได้ ในขณะที่เด็กที่ปัญหาสายตาสั้นซึ่งมองไกลไม่ชัดกลับสามารถปรับตัวให้เข้ากับระยะใกล้ได้ดีกว่า อ่านหนังสือได้ทนกว่า ตั้งใจเรียนมากกว่า และเด็กหน้าห้องจึงมักเป็นเด็กสายตาสั้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

Hyperopia ทำให้เกิด Over Accommodation

ระบบโฟกัส ( Accommodation System) ในคนปกติ นั้นจะถูกกระตุ้นให้ใช้งานก็ต่อเมื่อมองวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ และจะคลายตัวเต็มที่เมื่อมองที่ระยะ 6 เมตร (หรือไกลกว่า) และระยะอ่านหนังสือที่ 40 ซม.นั้นเป็นระยะที่ระตุ้น ให้เลนส์ตาทำงาน +2.50D, แต่สำหรับคนที่มองไกลเป็นสายตายาว +1.00 D นั้นเลนส์ตากลับต้องใช้แรงถึง +3.50D ในการอ่านหนังสือที่ 40 ซม.เท่าๆกัน

 

และหากสมมติว่าคนไข้มีสายตา Hyperopia +2.00D จะต้องออกแรง Accommodation มากถึง +4.50D เพื่อให้เห็นชัดที่ 40 ซม.ซึ่งใช้แรงมากกว่าคนปกติ เกือบเท่าตัว และพอต้องใช้แรง Accommodation มากๆ การ Convergence ก็จะมากตามไปด้วย ทำให้คนสายตายาวนั้น มักจะมาด้วยอาการปวดหัว ปวดเบ้าตา ล้าตาเมื่อทำงานหรืออ่านหนังสือที่ระยะใกล้

 

จะเป็นอย่างไรถ้า Hyperopia ไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อคนไข้ที่เป็นสายตายาวและไม่ได้รับการรักษาแก้ไข ระบบโฟกัสของเลนส์ตาก็ต้องทำงานหนักมากกว่าปกติ (ตามความมากน้อยของสายตายาว) ซึ่งระบบการมองเห็น (Visual System) จะต้องปรับตัวต่อภาวะที่ว่านั้นด้วยการ

 

1.ปล่อยตามยถากรรม

ในเมื่อโฟกัสไม่ได้...ก็ไม่ต้องโฟกัส และปล่อยให้ตัวอักษรหรือตัวหนังสือนั้นมัวไป (อยากมัว..ก็มัวไป) ทำให้ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ และก็เลิกอ่านไปเอง ดีไม่ปวดหัวด้วย

 

2.ตาเขเข้าหาจมูก (Esotropia)

เด็กที่เป็น Hyperopia มากๆ เลนส์ตาต้องออกแรง Accommodate มากเช่นกันเพื่อให้ได้ภาพที่คมชัด แต่สิ่งที่ตามมาคือเกิด over  Convergence และกล้ามเนื้อตา ต้องพยายามสู้ด้วยการออกแรงดึงกล้ามเนื้อตากลับ (Negative fusional Vergene) และเมื่อทำไม่ไหวก็จะเกิดเป็นภาพซ้อน  ซึ่งสมองจะกดสัญญาณทิ้งข้างหนึ่ง(suppression) เพื่อลดภาระการรวมภาพและลดอาการเครียดของลูกตา และการ Suppression นี่เองทำให้เกิดตาเข และตาขี้เกียจในที่สุด

 

3. เกิดภาวะ Asthenopia

เนื่องจากสมองนั้นไม่ชอบภาพซ้อน และพยายามจะรวมภาพให้เป็นภาพเดียวอยู่เสมอ ซึ่งเราเรียกระบบนี้ว่า binocular Fusion  แต่ในคนสายตายาวนั้นระบบจะต้องทำงานหนักมากกว่าปกติมากๆเพื่อให้สามารถรวมเป็นภาพเดียว (Clear Single and binocular vision) และความพยายามโฟกัสของระบบนี้เองที่เป็น ต้นตอของอาการปวดหัว เครียดตา เมื่อยตา ตาล้า คลื่นไส้ อยากอาเจียน ซึ่งเราเรียกภาพวะรวมๆนี้ว่า Asthenopia

 

การแก้ไขปัญหาตาเขเข้าจากสายตายาว

ในกรณีที่ตาเขเข้าเกิดขึ้นจากปัญหาสายตายาว สามารถแก้ไขได้โดยการจ่ายเลนส์นูนเพื่อแก้สายตายาวซึ่งสามารถแก้ปัญหาตาเขเข้าให้ตรงได้ ซึ่งจะให้ผลได้ดี เมื่อรักษาแต่เนิ่นๆ

 

แต่หากรักษาล่าช้ามากไปหรือแก้ไขไม่ทันในช่วงวัยก่อนเข้าเรียน การแก้ไขจะให้ตาตรง ด้วยเลนส์สายตายาวนั้นทำได้ยากเนื่องจากในช่วง เวลาที่มีการตาเขเข้าอยู่นั้น สมองจะเกิดความสับสนเกี่ยวกับการรับภาพและสมองจะเรียนรู้วิธีการจัดการ ปัญหาให้ตัวเองโดย

 

1.การกดสัญญาณภาพ (Suppression)

เมื่อตาเขเข้า จะทำให้เกิดภาซ้อน ซึ่งทำให้สมองจะเกิดความสับสนในการตีความ ทำให้เกิดการกดสัญญาณไฟฟ้าจากตาข้างที่เขเข้า แล้วรับภาพจากตาข้างเดียว ซึ่งการกดสัญญาณนี้  จะเกิดขึ้นเฉพาะเวลาเปิดตาขึ้นพร้อมกันทั้งสองข้าง  ทำให้ตาข้างที่เขเข้านั้นไม่ได้ถูกใช้งานและไม่ได้พัฒนา และกลายเป็นตาขี้เกียจในที่สุด

 

2.ตาขี้เกียจ (Amblyopia)

ถ้าปล่อยจนกระทั่งเกิด Suppression และ Amblyopia เกิดขึ้นแล้ว เวลานั้นการไปจ่ายเลนส์แก้ปัญหาสายตาคงไม่ได้ช่วยอะไรได้ไม่มากและไม่สามารถทำให้ตากลับมาตรงได้ เพราะการหลังการเป็นตาขี้เกียจแล้ว เราจะไม่สามารถฟื้นฟูภาพกลับมาชัดมาได้เนื่องจากเป็นความผิดปกติในการพัฒนาระดับสมองส่วนรับรู้ (Sensory System) และเมื่อไม่สามารถทำภาพให้ชัดได้ ตาก็ไม่สามารถกระตุ้นระบบการรวมภาพ ให้ฟื้นกลับมาได้และตาก็จะเขตลอดไป

 

จะรู้ได้อย่างไรว่ามี  Suppression

Worth-4-dot : เป็นเครื่องมืออย่างง่ายในการทดสอบว่าตามีการ suppresssion แล้วหรือยัง โดยคนไข้จะใส่แว่นสีเขียว/แดง และให้ดูจุดไฟ 4 แล้วให้คนไข้ดูว่าเห็นกี่ดวง ถ้าเห็น 2 หรือ 3 ดวงอย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงว่าคนไข้มี Suppression

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Worth-4-dot test สำหรับทดสอบ fusion/suppression/diplopia

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าคนไข้มีตาขี้เกียจ

หลักดูตาขี้เกียจคือ “ความคมชัดของการมองเห็นหลังจากแก้ปัญหาสายตาให้ถูกต้องแล้ว (เน้นว่าแก้ถูกต้องแล้ว) ไม่สามารถทำให้เป็น 20/20 เท่ากันได้ และข้างที่เป็นตาขี้เกียจ VA ของตาข้างที่แย่นั้นอ่านได้น้อยกว่าข้างที่ดีอย่างน้อย 2 บรรทัด และไม่สามารถทำให้เห็นขึ้นด้วยการมองผ่านรูเข็ม​ (pinhole)

 

สรุป Hyperopia 

สายตายาวนั้นสร้างปัญหาได้หลายๆอย่างเช่น ปวดหัว เวียนหัว ตื้อๆมึนๆในหัว บางทีก็มีอาการคลื่นไส้ อยากอาเจียน โดยเฉพาะเมื่อต้องดูใกล้เป็นเวลานาน อ่านหนังสือไม่ทน เด็กที่เป็นสายตายาวจึงมักไม่ชอบอ่านหนังสือ และสายตายาวทำให้เกิดเป็นตาเขเข้า (esotropia) หรือเขเข้าซ่อนเร้น (Esophoria) ตาขี้เกียจ (Amblyopia) ตามมามากมาย

 

แม้เราจะรู้ว่าสายตายาวนั้น สร้างปัญหาได้อย่างมากและเป็นสายตาที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจได้ง่ายที่สุด ทำให้เกิดตาเหล่ได้ง่ายที่สุด แต่ถึงกระนั้น สายตายาวก็มักไม่ได้ รับการตรวจรักษาและหลุดรอดจากการตรวจคัดกรองพื้นฐานในโรงเรียน เพียงเพราะเด็กที่สายตายาวนั้นมองไกลชัด

 

ที่หนักหนาไปกว่านั้น ผมมีคนไข้สายตายาวหลายคนที่เล่าให้ฟังว่า เขาเที่ยวทำแว่นมามากกว่าสิบปี มีแว่นเป็นหลายอันตลอดสิบปีที่ผ่านมา แต่กลับได้แว่นสายตาสั้นมาตลอด และแว่นที่ได้มากลับไม่ได้ช่วยอะไร ซ้ำแย่ลงไปกว่าเดิม ปรากฏว่าคนไข้ท่านนั้นเป็น hyperopia และเป็นมากด้วย

 

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  ผมมองว่ามันเป็นความผิดตั้งแต่ เราบัญญัติศัพท์ hyperopia ว่าสายตายาว แล้วเรียก presbyopia ว่าสายตายาวในผู้สูงอายุ เลยเกิดความ สับสนทั้งคนไง และร้านค้าผู้ให้บริการ บางทีก็มีความเชื่อผิดๆว่า

 

“if it’s not broke ,do not fix it !”

 

"ไม่พัง ก็อย่าไปซ่อม" คำนี้แม้จะถูกต้องกับเรื่องเครื่องยนต์ แต่ไม่สามารถนำมาใช้กับปัญหาสายตาได้ เพราะปัญหาสายตานั้น ไม่ได้มีแค่เรื่อง ชัดหรือไม่ชัด แต่มีเรื่องระบบการมองเห็นอื่นๆ เช่นระบบการใช้งานร่วมกันของสองตา ระบบกล้ามเนื้อตา ระบบการเพ่งของเลนส์แก้วตา ซึ่งทำงานเชื่อมโยงกันอยู่ ดังนั้นในบางความผิดปกติ แม้คนไข้จะมองไกลชัดเจน อ่าน VA ได้แถว 20/20 แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า " visual function" ของคนไข้จะปกติ 

 

บางคนชอบใช้มุกว่า คนไข้ชินกับการเพ่ง ก็ปล่อยให้เขาชินไป  ปล่อยให้เขาเพ่งไป เขาชินแบบนั้น คนสายตายาวก็เลยตกอยู่มุมที่ไม่มีคนสนใจแก้ไข ก็ทนๆใช้ชีวิตเพ่งๆต่อไป

 

แต่ปัญหาที่ยากไปกว่าคือคนไข้เองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็น หรือปัญหามีแต่ไม่คิดว่าเป็นมาจากปัญหาสายตา ทนๆเอา เลี่ยงๆอ่านหนังสือเอา จนกระทั่งทน ปวดหัวไม่ไหวก็มองหาที่ตัดแว่น แต่ก็มักได้แว่นสายตาสั้นมา แล้วก็บอกว่าทำแว่นแล้วก็ไม่หาย เพียงเพราะคนไข้เป็นเด็ก และบ้านเราก็มักคิดว่า เด็กต้องเป็นสายตาสั้น ไม่ใช่สายตายาว (ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน อย่างที่กล่าวมาแล้ว)  แม้ว่าคนไข้จะได้รับการวินิจฉัยว่า “สายตายาว” เพื่อนก็จะบอกว่าทำไมยาวเร็วจัง ยังไม่แก่เลย (ว่าไปนั่น)

 

ดังนั้นเพื่อให้เราได้เห็นความสำคัญของคนสายตายาวกันมากขึ้น มีความรู้ความเข้าใจและแก้ไขปัญหาให้ เขาได้มากขึ้น และผู้ปกครองที่สงสัยว่าบุตรหลานมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา ก็หาเวลาแวะมาดู เผื่อว่าพบความผิดปกติจะได้แก้ไขได้ทัน และช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น 

 

ขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม

~Dr.Loft~

 


578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220

โทร 090 553 6554 ,line : loftoptometry 

fb: www.facebook.com/loftoptometry