ปัญหาสายตายาวแต่กำเนิด หรือ Hyperopia นั้นเป็นปัญหาที่สร้างความสับสนให้กับเราเป็นอย่างมากและมักเป็นเรื่องที่เราเข้าใจผิดคิดว่าเป็นปัญหาของคนสูงอายุไม่ใช่ปัญหาของเด็ก ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเรา เนื่องจากคำที่ใช้คำนิยามปัญหาสายตายาวนั้นไม่สมเหตุสมผล ทำให้เราตีความผิดพลาด
เช่น เมื่อคุณครูถามเด็กชายสมยศว่า "เด็กชายสมยศ ไหนบอกสิว่า สายตาสั้นกับสายตายาวต่างกันอย่างไร" เด็กชายสมยศก็จะตอบครูว่า "คนสายตาสั้น คือ คนที่มองไกลไม่ชัดแต่ดูใกล้ชัด ส่วนคนสายตายาว คือ คนที่มองไกลชัด อ่านหนังสือไม่ชัดครับครู" ครูบอกว่าถูกต้องเก่งมากและเด็กชายสมยศ แล้วดช.สมยศก็เข้าใจว่าตัวเองเข้าใจถูกต้อง แล้วเราก็เข้าใจถูกแค่บางส่วนเหมือน ดช.สมยศกันทั้งประเทศ
เพราะความเป็นจริงแล้ว คนสายตายาวส่วนใหญ่มองไกลชัดและอ่านหนังสือก็ชัด (โดยเฉพาะเด็กๆที่เป็นสายตายาว) แต่ก็มีคนสายตายาวบางคน มองไกลก็ไม่ชัด อ่านหนังสือก็ไม่ชัด (ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุที่มีสายตายาวแต่กำเนิดมากๆ), คนสายตายาวบางคนมองไกลชัด อ่านหนังสือไม่ชัด (พบได้ในคนสูงอายุที่สายตายาวไม่มากนัก) คนสายตายาวบางคนมองชัดทั้งไกลและใกล้แต่ปวดหัวบ่อยโดยเฉพาะเวลาอ่านหนังสือหรือเป็นคนเห็นชัดแต่ดูใกล้ได้ไม่นาน เพราะไม่สบายตา (พบได้ในเด็กที่มีสายตายาวมากๆ) หรือในเด็กเล็กที่มีปัญหาสายตายาวมากๆ อาจทำให้เกิดตาเหล่ได้เช่นกัน
เนื่องจากคนที่มีปัญหา "สายตายาวแต่กำเนิด" มีบางอาการที่มีลักษณะคล้ายอาการของคน "สายตายาวในคนสูงอายุ" คือ มองไกลชัดแต่อ่านหนังสือไม่ชัด เราก็เลยไปเข้าใจว่า สายตายาว คือ สายตายาวในคนแก่ ซึ่งมันคนละเรื่อง เพราะปัญหาสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง นั้นเป็นความผิดปกติของระบบหักเหแสงขณะมองไกล แต่สายตายาวในคนแก่นั้นเกิดมาจากความล้าของระบบเพ่งของเลนส์ตาขณะดูใกล้ซึ่งเกิดขึ้นในตอนเริ่มมีอายุมาก แต่ปัญหาการสับสนเหล่านี้จะไม่เกิดกับผู้ที่เข้าใจในกลไกลหรือความผิดปกติของสายตาจริงๆ และมีภาษาทางการแพทย์ที่ใช้เรียกแยกแตกต่างกัน จึงไม่มีความสับสน เช่น สายตาปกติ เรียกว่า Emmetropia ,สายตาสั้น เรียก Myopia , สายตายาวเรียก Hyperopia , สายตาคนแก่เรียก Presbyopia ซึ่งชื่อจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย เขาก็เลยไม่งง
และนอกจากเรื่องของความงงกับการใช้ภาษาแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมากก็คือปัญหาสายตายาวเป็นปัญหา ง่ายที่จะตรวจผิด ง่ายที่จะวินิจฉัยผิด และยากที่จะอธิบายให้คนไข้เข้าใจ ด้วยเหตุว่า "คนไข้สายตายาวส่วนใหญ่มองไกลชัด จึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกคนไข้ว่า ความชัดของเขาเป็นความชัดที่ไม่ปกติ" ดังนั้นคนไข้สายตายาว ถ้าปัญหานั้นไม่กระทบกับฟังก์ชั่นอื่นๆ เช่น เลนส์ตา หรือกล้ามเนื้อตา ไม่มีอาการปวดหัวหรือภาพซ้อน ก็มักจะไม่เข้าไปรับการตรวจ เพราะชีวิตปัจจุบันก็ปกติสุขดี
อุปมา เหมือนตอไม้ที่อยู่ในน้ำ ยามที่น้ำสูง เราย่อมมองไม่เห็นตอไม้ แต่เมื่อไหร่ที่น้ำลด เราก็จะเริ่มเห็นส่วนบนของตอที่โผล่ขึ้นมาให้เห็น แต่ส่วนที่เราเห็นด้วยตานั้นเป็นเพียงบางส่วนเพราะยังมีอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ยังจมอยู่ในน้ำ ขึ้นกับว่าเราจะมีความสามารถในการวิดน้ำออกมาได้มากแค่ไหน และถ้าบ่อน้ำนั้นมีตาน้ำอยู่ ยังไงเสียเราคงวิดไม่ทันกับน้ำที่ไหลออกมาเติม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นและเราต้องการเห็นตอทั้งหมดเราอาจต้องรอจนกว่าหน้าแล้งและรอให้น้ำแห้งหรือก็ใช้เครื่องมือที่สามารถทำให้น้ำหายไป เราจึงจะเห็นตอทั้งหมด
สายตายาวแต่กำเนิดที่ถูกกลืนด้วยระบบ Accommodation ก็เช่นเดียวกัน เปรียบตอไม้ คือ สายตายาว เปรียบน้ำ คือ กำลังเพ่งของเลนส์ตา การที่เราจะรีดค่าสายตายาวออกมาทั้งหมดนั้น ต้องทำให้เลนส์ตาคลายตัวให้หมดให้ได้ ซึ่งถ้าในคนอายุน้อย กำลังเพ่งมีมาก จึงเป็นเรื่องยากที่เราจะทำให้เขาคายสายตาวออกมาทั้งหมด ซึ่งอาจต้องบังคับให้คลายด้วยการใช้ยาหยอด (cycloplegic drug) แต่ เมื่อเขาอายุมากขึ้น เมื่อกำลังเพ่งเริ่มอ่อนแรง เลนส์ตาเริ่มคลายตัว สายตายาวจะถูกคายออกมา ทำให้ค่าสายตายาวดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งความจริงมันไม่ได้เพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่ามันถูกคายออกมาต่างหาก
เนื่องจากปัญหาสายตายาวมีเรื่องของการเพ่งของเลนส์แก้วตามาควบคุมว่าคนไข้ที่มีสายตายาวแต่ละคนจะมีปัญหาเรื่องชัด/ไม่ชัดอยู่ ดังนั้น จึงมีการจัดระบบการจำแนกปัญหาสายตายาว ออกเป็น 2 แบบ คือ
1.1 Facultative Hyperopia คือ สายตายาวที่ระบบ Accommodation สามารถกลืนได้ทั้งหมด หรือเพ่งได้ทั้งหมด ทำให้คนไข้นั้นสามารถมองเห็นได้ชัดโดยไม่ต้องแก้ด้วยแว่นสายตา ซึ่งพบในคนไข้ที่มีปัญหาสายตายาวไม่มากนัก หรือ อาจจะมากแต่อายุยังไม่เยอะ ทำให้เลนส์ตายังมีแรงที่จะกลืนสายตายาวได้ทั้งหมด ทำให้ปัญหาไม่ได้ถูกคายออกมา ทำให้คนไข้ไม่รู้ตัว แต่มักจะมีปัญหาทางคลินิกอย่างอื่น คือ เมื่อยตา ล้าตา ตาพร่า เดี๋ยวชัดเดี๋ยวไม่ชัด ปวดศีรษะ คลื่นใส้เวลาดูใกล้นานๆ หรือในคนไข้ที่มีปัญหาสายตายาวมา ซึ่งตาต้องเพ่งมาก อาจทำให้คนไข้มีปัญหาตาเหล่เข้าแบบซ่อนเร้นได้
1.2 Absolute Hyperopia คือ สายตายาวส่วนที่ Accommodation ไม่สามารถเพ่งช่วยได้ ถ้าเป็นตอไม้ก็คือส่วนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ทำให้คนไข้เริ่มจะมองไกลมัว ดูใกล้จะดูไม่ได้เลย เพราะเลนส์ตาเพ่งไม่ไหวแล้ว ซึ่งพบได้ในคนไข้สายตายาวมากๆ ที่เลนส์ตา Accommodate ไม่ไหวแล้ว ลักษณะอาการ คือ มองไกลมัวและดูใกล้ไม่ได้เลย ซึ่งอาการจะคล้ายๆกับปัญหาสายตาคนแก่ ดังนั้น สายตายาวทั้งหมด (Total Hyperopia) คือ สายตายาวที่รวมทั้งแบบ Facultaitve hyperopia และ Absolute hyperopia
ขณะที่เราเข้าห้องตรวจสายตานั้น ถ้าไม่ใช่เด็กเล็กและตรวจในโรงพยาบาล เราจะตรวจสายตาโดยไม่ใช้ยาหยอด แต่ระบบดวงตานั้นมีระบบหักเหแสงที่คงที่ คือ กระจกตา (Static refractive system ; Cornea) และระบบหักเหแสงที่สามารถปรับเปลี่ยนโฟกัสได้ ซึ่งมีการทำงานที่ไม่คงที่ขึ้นอยู่กับระยะที่มากระตุ้นนั่นก็คือ เลนส์แก้วตา (Dynamic refractve crystalline lens) และเนื่องจากเราต้องการวัดค่าสายตา (สายตาที่คงที่และหยุดนิ่ง) เราจะต้องควบคุมระบบที่ไม่คงที่ คือ ระบบการเพ่งของเลนส์ตาให้หยุด ซึ่งก็มีหลายตัวแปรที่ต้องควบคุม เช่น ชาร์ตตรวจตาที่อยู่ห่างออกไป 6 เมตร, การทำ Fog/Unfog ในขณะวัดสายตาบน Phoropter หรือการทำ Retinoscopy โดยใส่เลนส์ Fogging ขณะกวาดเรติโนสโคป เป็นต้น เหล่านี้เพื่อต้องการควบคุมให้ระบบเพ่งคลายตัวให้หมด แต่ในเด็กเล็กนั้นมีแรงเพ่งอยู่เยอะมากและสามารถกลืนสายตายาวได้ทั้งหมด ทำให้เลนส์ตาคลายด้วยวิธีปกตินั้นยากมาก แพทย์จึงมักจะใช้ยาหยอดเพื่อคลายการเพ่งของเลนส์ตา เช่น Atropine, Tropicamide, Cyclopentolate etc. หยอดก่อนทำการตรวจสายตา ดังนั้น ค่าที่ได้จากการหยอดและไม่หยอดยาคลายการเพ่ง จึงแบ่งสายตายาวออกเป็น
2.1 Manifest Hyperopia คือ สายตายาวที่วัดได้ด้วยวิธีปกติในห้องตรวจ โดยไม่ใช้ยาเพื่อช่วยลดการเพ่งในการตรวจ (Cycloplegic drug) เพราะฉะนั้นจะได้มาเฉพาะสายตายาวส่วนที่เลนส์ตายอมคายออกมาให้ตรวจเจอ
2.2 Latent Hyperopia คือ สายตายาวที่วัดได้ จากการใช้ยาหยอดเพื่อคลายการเพ่งของเลนส์ตา เพื่อให้กล้ามเนื้อที่คุมการเพ่งของเลนส์ตาเกิดอัมพาต ผลคือ สายตายาวจะถูกคายออกมาทั้งหมด ดังนั้น ค่าสายตาที่ได้จะเป็น Total hyperopia ซึ่งเท่ากับ Faculatative + Absolute ซึ่งในการวัดสายตาแบบนี้นั้น เราจะใช้วัดในเด็กที่มีลักษณะอาการว่าเป็น Latent hyperopia และมีลักษณะของอาการตาเหล่เข้า ซึ่งอาจะเกิดจากสายตายาวที่มากเกินจนทำให้เกิดตาเหล่ (Accommoative esotropia)
คนไข้ชาย อายุ 35 ปี มาตรวจเช็คสุขภาพสายตาประจำปี เคยใช้แว่นตาสำหรับอ่านหนังสืออย่างเดียว ทำมาเมื่อ 3 ปีก่อนและทำหายก่อนเข้ามารับการตรวจ 3 เดือน คนไข้เล่าให้ฟังว่า “มองไกลชัดดี แต่อ่านหนังสือหรือดูใกล้ไม่ค่อยสบายตาเท่าไหร่" สุขภาพโดยรวมแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มียาที่ต้องทานประจำ ไม่มีภูมิแพ้ หรือประวัติทางครอบครัวที่มีโรคเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
ความคมชัด (VA) : 6 m 40cm
OD 20/25 20/20
OS 20/25 20/20
Cover Test : Ortho Ortho’
Stereo Acuity at 40 cm : 70” (Randot)
OD : Plano - 0.75x180
OS : Plano - 0.75x180
Subjective Refraction
OD : +1.00 - 1.00 x10 (VA 20/15)
OS : +1.00 - 0.75x165 (VA 20/15)
Binocular Function : 6 m 40cm
Phoria : 1 XP 5 XP’
NRA /PRA : - +2.50/-2.00
Trial Frame : ให้คนไข้ลองใช้งานบนแว่นจริง คนไข้มองไกลคมชัด อ่านหนังสือสบายตา ดีทั้งไกลและใกล้
1. Rx จ่ายค่าสายตามองไกล
OD : +1.00 - 1.00 x10
OS : +1.00 - 0.75x165
2. Lens Design : เลนส์ชั้นเดียวแบบเปลี่ยนสีได้เอง (Photochromic lens) เนื่องจากคนไข้ต้องการใช้งานทั้งในร่มและกลางแจ้ง
3. ให้คำแนะนำว่า "ให้คนไข้ใส่แว่นตลอดเวลา ทั้งมองไกลและมองใกล้ และให้กลับมาวัดสายตาอีกครั้ง 2 ปีข้างหน้า" เวลาจะใช้แว่นให้เริ่มใส่แว่นตั้งแต่เริ่มอ่าน หรือเริ่มทำงานที่ระยะใกล้ ไม่ต้องรอให้ตาล้าแล้วค่อยใส่และบอกให้คนไข้เข้าใจว่า เมื่อเขาอายุมากขึ้น เขาจะต้องพึ่งพาแว่นทั้งสำหรับมองไกลและอ่านหนังสือเนื่องจากกำลังเพ่งเขาจะค่อยๆลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
คนไข้กลับมาอีกครั้งหลังจากผ่านไป 2 ปี ขณะนี้เขาอายุ 37 ปี เขาเล่าให้ฟังว่า “เขาใส่แว่นตลอดเวลาทั้งมองไกลและอ่านหนังสือ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา” เขาเล่าให้ฟังต่อว่า “มองไกลตาเปล่าเขาก็ยังชัดดีอยู่ แต่เนื่องจากงานที่ทำส่วนใหญ่ในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นงานดูใกล้เป็นหลัก ดังนั้น เขาขี้เกียจถอดเข้าถอดออก จึงใส่แว่นตลอดเวลาและแว่นที่ใส่อยู่ก็ยังคงคมชัดทั้งมองไกล อ่านหนังสือ และไม่มีปัญหาการใช้งานอะไรกับแว่นเดิม”
ความคมชัด : 6 m 40cm
OD 20/15 20/20 (w/ +1.00 - 1.00 x10 )
OS 20/15 20/20 (w/ +1.00 - 0.75x165)
Retinoscopy :
OD +2.25 - 1.00x10
OS +1.75 - 0.75x165
OD : +2.00 - 1.00 x10 (VA 20/15)
OS : +1.75 - 1.00 x165 (VA 20/15)
Trial Frame : ให้คนไข้ลองใส่แว่นที่เป็นค่าสายตาใหม่ คนไข้มองไกลคมชัด อ่านหนังสือสบายตา กับแว่นที่เพิ่มค่าบวกขึ้นไป แต่เนื่องจากแว่นเก่าก็ยังไม่สร้างปัญหาให้กับการใช้ชีวิตของคนไข้ ก็เลยให้คนไข้ใช้แว่นเก่าไปก่อน ยังไม่ต้องเปลี่ยนค่าสายตาในครั้งนี้ และบอกคนไข้ให้เข้าใจว่า ปัจจุบันนี้ค่าสายตายาวมองไกลของคนไข้เพิ่มมากขึ้น (Manifest hyperopia) เนื่องจากอายุเพิ่มขึ้น ทำให้แรงเพ่งนั้นลดลง จึงทำให้ค่าสายตายาวที่ถูกกลืนไว้ด้วยระบบเพ่งนั้นเริ่มคลายออกมา และนัดให้คนไข้มาตรวจอีกครั้งอีก 2 ปีข้างหน้า
2 ปี ผ่านไป
คนไข้กลับมาอีกครั้งหลังจากครั้งล่าสุดเมื่อสองปีที่แล้ว ปัจจุบันคนไข้อายุ 39 ปี คนไข้บอกว่า แว่นเก่ายังใช้ได้ปกติดีอยู่ ไม่มีปัญหาอะไร
Clinical Finding 6 m 40cm
ความคมชัด : OD : 20/15 , 20/20 (w/ +1.00 - 1.00 x10 )
OS : 20/15 , 20/20 (w/ +1.00 - 0.75x165)
OD : +2.75 - 0.75x10
OS : +2.50 - 0.75x165
Subjective Refraction
OD : +2.50 - 1.00 x10 (VA 20/15)
OS : +2.25 - 1.00 x165 (VA 20/15)
ในครั้งนี้ พบว่า Manifest hyperopia ของคนไข้นั้นเพิ่มมากขึ้นอีกและให้คนไข้เปลี่ยนค่าสายตาเป็นค่าสายตาใหม่เป็น
OD : +2.50 - 1.00 x10 (VA 20/15)
OS : +2.25 - 1.00 x165 (VA 20/15)
และนัดตรวจอีกครั้งใน 2 ปีข้างหน้า
คนไข้กลับมาอีกครั้งตอนอายุ 43 ปี คนไข้เล่าให้ฟังว่า แว่นที่ใช้อยู่มองไกลคมชัดดี แต่ระยะกลางและระยะใกล้เริ่มจะมีอาการมัว โดยเฉพาะเมื่อดูใกล้นั้น จะรู้สึกล้ามากๆ เมื่ออ่านหนังสือไปเพียง 20 นาที
ผลที่ได้จากการตรวจตาใหม่
ความคมชัด 6 m 40cm
OD : 20/15 , 20/30 (+2.50 - 1.00 x10 )
OS : 20/15 ,20/30 (+2.25 - 1.00 x165)
Retinoscopy :
OD : +2.50 -1.00x10
OS : +2.25 -1.00x165
Subjective Refraction
OD : +2.50 - 1.00 x10 (VA 20/15)
OS : +2.25 - 1.00 x165 (VA 20/15)
Tentative Add (40 cm) : +1.00 (VA 20/20)
NRA /PRA (w/Add +1.00) : +0.75 / -0.50
Rage of clear vision (w/ add +1.00) : 25 cm. ไปจนถึงระยะสุดเอื้อมแขน
1. Rx. สายตามองไกลของคนไข้ไม่เปลี่ยน แต่ที่คนไข้เริ่มดูใกล้ไม่ชัด เนื่องจากเริ่มเป็นภาวะสายตาสูงอายุ (Presbyopia) ดังนั้น คงค่าสายตามองไกลไว้เช่นเดิม และจ่าย Addition เพื่ออ่านหนังสือ
OD : +2.50 - 1.00x10 , Add +1.00
OS : +2.25 - 1.00x165 , Add +1.00
2. Lens design : Progressive lens
คนไข้คนนี้ มาด้วยอาการหลัก คือ รู้สึกไม่สบายตาเมื่อต้องดูใกล้ และผลที่ได้จากการตรวจสายตาครั้งแรกเมื่อเขาอายุ 32 ปี พบว่าคนไข้เป็นสายตายาวมองไกล (Hyperopia) และเนื่องจากคนไข้ที่เป็นสายตายาวแต่ไมได้แก้ไขปัญหาตายาวนั้น ทำให้เลนส์ตาต้องมีภาระในการเพ่ง (Accommodation) มากกว่าคนสายตาปกติ เนื่องจากต้องเพ่งเพื่อชดเชยทั้งสายตามองไกลและเพ่งเพื่อชดเชยระยะดูใกล้เพื่ออ่านหนังสือ ทำให้คนไข้รู้สึกว่าไม่สบายตาเวลาอ่านหนังสือ
สำหรับมองไกลนั้น คนไข้มองเห็นชัดเนื่องจากกำลังเพ่งของเลนส์ตานั้นมีมากพอที่จะชดเชยกับสายตายาวมองไกล จึงทำให้มองไกลชัด และไม่มีอาการมัว สายตาก่อนหน้านั้นเท่าไหร่ไม่ทราบเนื่องจากคนไข้ทำหาย แต่ค่าสายตาที่วัดได้ครั้งแรกตอนอายุ 35 ปี นั้นมีสายตายาว +1.00D และมีสายตาเอียงแบบ With-the-rule ร่วมด้วยเล็กน้อย และที่ VA ตาเปล่าขณะมองไกล ได้ 20/25 ซึ่งต่ำกว่าคนปกติเล็กน้อยนั้นเกิดจากที่คนไข้มีสายตาเอียงมากกว่าที่จะเกิดจากสายตายาว
ส่วนค่าของกำลังเพ่ง (Amplitute of accommodation) ของคนไข้นั้น ถ้าดูจากอายุแล้วควรจะมีประมาณ 5.50 D ซึ่งมีมากพอที่จะเพ่งเพื่อชดเชยสายตายาว +1.00D ได้ ทำให้คนไข้สามารถมองไกลชัดโดยไม่ต้องใส่แว่น แต่เมื่อคนไข้ดูใกล้ที่ 40 ซม. ซึ่งเป็นระยะที่เลนส์ตาต้องเพ่ง 2.50 D แต่เนื่องจากคนไข้มีสายตายาวมองไกลที่ไม่ได้แก้ไขอยู่อีก 1.00D ทำให้ขณะที่คนไข้ดูใกล้ จะต้องใช้กำลังเพ่งรวม 3.50D ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ เราก็น่าจะคาดเดาได้ว่าคนไข้น่าจะมีปัญหาไม่สบายตา หรือ มีอาการ Asthenopia ขณะที่ดูใกล้ เนื่องจากกำลังเพ่ง (Amplitute of accommodation) นั้นมีไม่ถึง 2 เท่า ของ Demand เช่นในเคสนี้นั้น ถ้าจะให้ไม่มีปัญหาดูใกล้ คนไข้ต้องมีกำลังเพ่งอย่างน้อย 7.00 D หรือมากกว่า จึงจะไม่มีอาการ
และค่าที่น่าสนใจขณะทำ Retinoscope ครั้งแรกแล้วได้ค่าสายตายาวน้อยกว่าค่าที่วัดได้ด้วยวิธี Subjective Refraction นั้นเกิดเนื่องมาจาก การใช้ Lens fogging ไม่เหมาะสม เนื่องจากคนไข้มี VA มองไกลค่อนข้างดี อาจทำให้เราไม่ระวัง ด้วยอาจคิดว่ามองไกลไม่มีปัญหาสายตา และไม่ระมัดระวังในการใช้ Lens fog ขณะทำ Retinoscopy แต่ก็ยังดีที่สามารถรีดค่าสายตายาวออกมาด้วยการทำ Subjective refraction ทำให้ได้ค่า Manifest Hyperopia ออกมา
การทำ Fog / Unfog ในขั้นตอนการทำ Subjective refraction นั้นสามารถทำให้ Accommodation นั้นสามารถคลายกำลังเพ่งได้ เนื่องจากเราค่อยๆเพิ่มบวกให้คนไข้ค่อยๆคลายกำลังเพ่ง จนกระทั่งคายจนหมด จากนั้นก็ค่อยๆลดกำลังค่าบวก ทีละน้อยจนกระทั่งคนไข้สามารถอ่านชัดที่แถว 20/20 โดยที่เลนส์ตายังอยู่ในภาวะคลายตัว (Relax accommodation)
แต่สิ่งที่ต้องระวังสำหรับคนไข้ที่เป็นสายตายาวมองไกลก็คือว่า เนื่องจากเลนส์ตานั้นคุ้นชินกับการ Accommodate ทำให้ในบางครั้งคนไข้จะมีอาการมองไกลมัว เนื่องจากเลนส์ตากลับไปเพ่งด้วยความเคยชิน ดังนั้น ในการจ่ายเลนส์บวกให้คนสายตายาวนั้นจะต้องประเมินให้ดี โดยการให้ค่าเลนส์บวกมากพอแต่ไม่มากจนไปทำให้คนไข้มองไกลมัว และควรแนะนำให้คนไข้ใส่ติดตา เพื่อให้เลนส์แก้วตานั้นเรียนรู้ที่จำทำงานแบบคนปกติ คือ มองไกลชัดโดยไม่ต้องเพ่ง และเพ่งเพียง 2.50D เมื่ออ่านหนังสือที่ 40 ซม.
ตัวอย่างเช่นในเคสนี้นั้น เนื่องจากในช่วงแรกนั้นที่วัดสายตานั้น คนไข้อายุยังไม่มากนัก แรงเพ่งยังดีอยู่ การใส่แว่นมองไกลจึงดูไม่ค่อยสำคัญกับเขาเท่าไหร่นัก แต่หลังจากนั้น 2-4 ปี คนไข้จะเริ่มต้องอาศัยแว่นในการมองไกลให้ชัด เนื่องจากกำลังเพ่งเริ่มลดลง และ Manifest hyperopia เริ่มเพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถทำ Full Correction สำหรับค่าสายตามองไกลได้
ก็เป็นเคสตัวอย่างที่ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาในคนไข้สายตายาวกันได้ดีขึ้น ซึ่งมีความแตกต่างจากคนไข้สายตาสั้นที่มักจะมีปัญหามองไกลไม่ชัดและเป็นตั้งแต่เด็กจากนั้นสายตาก็สั้นเพิ่มเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุ 22 ปีก็จะเริ่มคงที่ และเปลี่ยนแปลงช้าลงและสายตาก็จะคงที่ต่อเนื่องไป จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปี คนสายตาสั้นจะเริ่มต้องยื่นหนังสือออกไปดูห่างๆ หรือมองลอดแว่น
ส่วนคนสายตายาวแต่กำเนิดนั้น มองไกลมักจะไม่ออกอาการในวัยเด็ก เนื่องจากในวัยเด็กนั้นกำลังเพ่งยังดีอยู่มาก ทำให้คนไข้ไม่มีปัญหามองไกล แต่เมื่อายุเพิ่มขึ้น คนไข้จะเริ่มมีปัญหาเวลาอ่านหนังสือหรือดูใกล้เป็นเวลานานๆ และจะรู้สึกไม่สบายตา เนื่องจากคนสายตายาวมองไกลนั้น จะต้องใช้กำลังเพ่งของเลนส์ตามากกว่าคนปกติ และสายตายาวมองไกลจะเริ่มเพิ่มขึ้นไปเรื่อยสวนทางกับกำลังเพ่งที่ลดลงเมื่อายุเพิ่มขึ้น ความจริงแล้วสายตายาวไม่ได้พึ่งเกิดตอนที่เราอายุมาก แต่มันมีอยู่แต่ไม่แสดงอาการเนื่องจากกำลังเพ่งของเราออกแรงเพ่งกลบทั้งหมด และจะเริ่มคายตัวเมื่อเราอายุเพิ่มมากขึ้น เท่านั้นเอง
และการแก้สายตายาวนั้น มีความซับซ้อนมากกว่าสายตาสั้นธรรมดา เนื่องจากเลนส์แก้วตานั้นพร้อมที่จะเพ่งตลอดเวลา ซึ่งผู้ที่มีสายตายาวมองไกล ควรเข้ารับการตรวจโดยละเอียด เพื่อสามารถหาค่าที่แท้จริง และสามารถแก้ได้เหมาะสม เพื่อให้การทำงานของดวงตานั้นสมบูรณ์ที่สุด
ซึ่งเคสที่ผมยกมานี้เป็นเคส Classic จากหนังสือ Refractive Management of Ametropia เขียนโดย Kenneth E. Brookman ซึ่งเป็นตำราอ่านนอกเวลาของนักเรียนทัศนมาตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักทัศนมาตร์ทุกคนรู้ดีกันอยู่แล้ว แต่ถือว่าเป็นการทบทวน และให้ความรู้กับท่านที่สนใจ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะได้ความรู้จากเรื่องนี้ ไม่มากก็น้อย
สำหรับท่านที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับสายตายาว สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ด้านล่างนะครับ
90 % ยังเข้าใจผิดว่า "สายตายาว" กับ "สายตาชรา" เป็นเรื่องเดียวกัน
และสำหรับ Hyperopia Case Study อ่านเพิ่มเติมได้ตามลิ้งด้านล่างครับ
ผม ดร.ลอฟท์ ขอบคุณแฟนเพจ แฟนเว็บทุกท่าน ที่ติดตามให้กำลังใจกัน เสมอมา และจะพยายามหาเรื่องมาให้ความรู้กับเรื่อยๆ หากมีเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสายตาหรือปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น โทรสายตรงเข้าที่เบอร์ผมที่ 0905536554 หรือ ทางไลน์ไอดี loftoptometry สำหรับวันนี้ขอกล่าวคำว่า “สวัสดีครับ”
ดร.ลอฟท์