Case Studry ใช่หรือ...ที่ว่ากันว่า Mixed Hyperopic Astigmatism เป็นสายตาปราบเซียน


Case study : Mixed Hyperopic Astigmatism 

by Somyot Phengtavee,O.D , exam date 24/67/2018


สวัสดีครับ หายหน้าไปนาน บิ้วอารมณ์ให้ลงมือเขียนสักที วันนี้ขอเริ่มด้วยเคสที่น่าสนใจ (สำหรับท่านที่สนใจ) เนื่องจากเป็นเคสที่พบได้บ่อยๆและถ้ามีความผิดปกติลักษณะนี้แล้ว ง่ายที่จะตรวจผิดพลาด แก้ไม่ค่อยจบ และมักจะถูกเชียร์ให้อัพเลนส์รุ่นที่สูงขึ้น แต่พออัพจนชนเพดานแล้ว ปัญหาก็ยังดูเหมือนจะยังคงมีอยู่ นั่นคือสายตาที่มีลักษณะของ mixed (higth) hyperopic astigmatism คือมองไกลมีสายตายาวมากและมีสายตาเอียงมากในเวลาเดียวกัน  สายตาลักษณะนี้จัดว่าสายตาปราบเซียน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจอคนไข้ประเภทที่ผลรวม hyperopia กับ astigmatism พอทำเป็น spherical equivalent แล้วเข้าใกล้ plano (สายตา 0.00) ด้วยแล้ว  จะทำให้มองไกลคนไข้จะ VA เข้าใกล้ 20/20 และถ้าให้มองชาร์ตเขียว/แดง ก็มักจะเท่ากัน และก็มักจะพ้องกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เอ๋อเวลาเจอสายตาลักษณะนี้ และได้ค่าสายตาเข้าใกล้ศูนย์ออกมา บางครั้งเป็นตาบวกแต่ยิงออกมาเป็นตาลบก็มี ทำให้เราหลงทางว่าคนไข้ไม่มีสายตามองไกล  และมุ่งหา addition เพียงอย่างเดียว บทสรุปคือสายตามองไกลไม่ได้แก้ แล้วไปเพิ่มที่แอดดิชั่น เกิดเป็น over add ขึ้นมา โครงสร้างโปรเกรสซีฟก็ดูแคบลง กลางใกล้ใช้งานลำบาก และคนไข้ก็คงจะต้อง shopping around ไปเรื่อยๆกว่าจะเจอคนที่เข้าใจเข้าปัญหาและแก้ไขได้ 

จริงๆถ้าจับหลักได้ เคสลักษณะนี้ง่ายมากถ้าสามารถเลิกพึ่งพาการวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์แล้วมาฝึกจับด้ามเรติโนสโคปแล้วกวาดหาค่าสายตาจาก reflect ให้ได้ แม้มันอาจจะต้องระยะเวลาฝึกฝนนานหน่อย ไม่ได้เรียนรู้ 5 นาทีเหมือนเรียนใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าสามารถทำเรติโนได้ เคสลักษณะนี้จะกลายเป็นเคสที่ง่ายขึ้นมาทันที ตัวอย่างของเคสนี้ผมใช้เวลากวาดเรติโนสโคปไม่ถึง 3 นาที/ตาสองข้าง ค่าที่ได้มานั้นแทบไม่ต่างจากค่าที่พยายามจะเฟ้นหาด้วยวิธี subjective เลย  

เรามาศึกษากันเลยดีกว่า

ข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ (case history)

คุณป.(นามสมมติ) คนไข้ชาย อายุ 62 ปี มาด้วยอาการ แว่นโปรเกรสซีฟที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ มองไกลต้องเพ่งก็พอมองเห็นได้บ้าง แต่ไม่คมชัด อ่านหนังสือแล้วจะมีอาการมึนๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องละสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ไปมองไกลนั้นต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะกลับมาคมชัดเหมือนสายตามันโฟกัสช้า  

อาการปวดหัว มีบ้างแบบมึนๆ แต่ไม่ปวดถึงกับทนไม่ได้และไม่ต้องกินยา แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่แทบไม่ได้ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้ว เพียงแต่ดูมือถือและอ่านหนังสือบ้างเท่านั้น จึงไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก  ไม่มีอาการภาพซ้อน 

คนไข้เริ่มใช้แว่นครั้งแรก ตอนอายุ 40 ปี เริ่มจากแว่นอ่านหนังสืออย่างเดียว แว่นที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ ใช้งานมา 2 ปี อ่านหนังสือไม่ชัดตั้งแต่วันที่รับแว่น แต่ก็ยังดีกว่าตาเปล่าเพราะตาเปล่าอ่านหนังสือไม่ได้เลย ก็ทนๆใช้มาเรื่อยๆมา 2 ปี 

ไม่มีประวัติ ตาติดเชื้อ  ผ่าตัดดวงตา ฟ้าแล๊บ หรือเห็นรุ้งรอบดวงไฟ  สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มียาที่ต้องทานประจำ ไม่มีประวัติครอบครัวที่มีโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

doctor opinion : สิ้นสุดการซักประวัติ ผมทำนายความผิดปกติคนไข้ฟังได้ทันทีว่าอาการที่ว่าน่าจะ เป็น mixed astigmatism และสายตาที่ใช้อยู่ไม่ถูกต้อง รวมไปถึง over add ซึ่งค่อนข้างมั่นใจเนื่องจากเจอเคสลักษณะค่อนข้างบ่อย และอธิบายให้คนไข้ฟังในสิ่งที่ผมตั้งสมมติฐาน ก่อนเข้าห้องตรวจเพื่อยืนยันสมมติฐานจากหลักฐานที่ได้จากการตรวจ

ผลจากการตรวจเบื้องต้น (preliminary eye exam)

PD 33/33.5

VA : 20/25 OD , 20/20 OS, 20/20 OU  (ความคมชัดตาตาเปล่ามองไกลจัดว่าดี)

Cover Test :  Orhtophoria ทั้งมองไกล และมองใกล้ ( ไม่พบว่ามีเหล่ซ่อนเร้นทั้งขณะมองไกลและมองใกล้)

Amsler grid : Normal /Normal  (ไม่พบการบิดเบี้ยวหรือขาดแหว่งของตาราง  แสดงถึงสภาพจอตาที่ทำงานปกติ)

Visual Field :  normal both eye , confrontation test (ลานสายตาปกติ)

Doctor Opinion : ข้อมูลที่ได้จากการตรวจภาพรวมของระบบดวงตาพื้นฐาน ไม่พบความผิดปกติเกี่ยวพยาธิสภาพของดวงตา หรือปัญหาของดวงตา ส่วนในเรื่องของ functional ของการโฟกัสของเลนส์ตา ดูอายุเราก็รู้แล้วว่าเป็น presbyopia มานานกว่า 20 ปี ดังนั้นเทสที่ไม่มีความจำเป็นเช่น NPA ,NPC ,Stereo ,Color test  จึงเป็นเรื่องที่ข้ามการตรวจไป 

ผลที่ได้จากการตรวจสายตา (refraction)

Retinoscope 

OD +2.25 -2.00x90  ,VA 20/20

OS +2.00 -1.75x90  ,VA 20/20

Monocular Subjective 

OD +2.25 -2.00x97  ,VA 20/10-1

OS +2.00 -1.37x87  ,VA 20/10-1

Best Visual Acuity ,BVA (fine tuning on trial frame)

OD +2.12 -1.87x92  ,VA 20/10

OS +1.78 - 1.12x87 ,VA 20/10

Doctor Opinion : ค่าที่ได้จากการทำ retinoscope  ซึ่งใช้เวลา 3 นาทีตรวจตาทั้งสองข้าง แต่ใช้เวลาในการทำ subjective refraction อีก 45 นาที กับการ fine tunning เพื่อหาค่าสายตาที่ดีที่สุด จนได้VA 20/10 ทั้งสองข้างซึ่งแตกต่างจากค่าที่ได้จาก retinoscope เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และแม้ว่าค่าที่ได้จากการทำ retinoscope จะได้ VA ที่เท่ากับคนปกติแล้ว ก็ไม่ควรหยุดอยู่เท่านั้น แต่ต้องพยายาม find out เพื่อ enhance ค่าสายตาออกมาให้ดีที่สุด หมดก๊อกให้ได้ ซึ่งเมื่อใช้ handheld cross cylinder ไล่ค่าสายตาต่อจนได้ค่าสายตาที่ละเอียดลงไปอีกครึ่งเสตป และ VA ที่ออกมาก็คุ้มกับค่าเหนื่อย 

ดังนั้นน้องๆทัศนมาตร อย่าทิ้งวิชาเรติโนสโคปโดยเด็ดขาด โรงเรียนทัศนมาตรของเราเราไม่เคยสอนให้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และเป็นเครื่องที่ต้องห้ามสำหรับเด็กที่กำลังฝึกคลินิก เพราะจะติดนิสัยมักง่ายจนเคยชิน แล้วเราจะลืมไปว่า เรติโนทำได้มากมาย กว่าที่เราคิด เช่นตรวจสายตาเด็กแรกเกิด ตรวจสายตาหมาแมว ตรวจสายตาคนขาดสติก็ยังได้ หรือดู media ทั้งกระจกตา หรือ เลนส์แก้วตา ว่า clear ดีหรือไม่ สังเกตุลักษณะรูท่านตาของคนไข้ว่าตอบสนองเป็นอย่างไร เป็นต้น เหล่านี้คือสเน่ห์ของเรติโนสโคป  เป็นเรื่องที่หน้าห่วงที่ต้องเห็นเครื่องคอมพิวเตอร์วางโชว์หราอยู่หน้าคลินิกหรือหน้าร้าน ทำเหมือนประหนึ่งมันเป็นเฟอร์นิเจอร์หรูราคาแพงที่ต้องโชว์กันแบบนั้น ส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นของประจานตัวเองมากกว่าของโชว์นะ 

Functional : Vergence and Accommodation 

  • Orthophoria @ 6 m
  • 6 exophoria @ 40 cm
  • BCC +2.00
  • NRA /PRA : +0.50/+0.50

Doctor Opinion :  คนไข้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับ binocular function จริงๆ ซึ่งก็พ้องกับการซักประวัติที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก เพียงแค่มึนๆ เวลาทำงานในระยะกลางใกล้ และขณะทำ prelim ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร ค่าที่ได้จากการทำ function ก็ปกติ 

แต่จุดที่น่าสังเกตคือ คนไข้อายุ 62 ปี ค่า addition ถ้ามองตามอายุควรจะมากกว่า +2.50D แต่ความจริงแล้ว คนที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเริ่มมีอาการเริ่มต้นของต้อกระจก ชนิด Nucler sclerosis ทำให้เกิดสายตากลับ ผลคือค่า addition (ฺBCC) ที่วัดได้จะน้อยกว่าค่าประเมินตามอายุ ซึ่งเราสามารถดู balance ของค่า addition จากค่า NRA/PRA และค่าที่ได้ออกมาน้อย แสดงถึงความยืดหยุ่นของเลนส์ตาไม่ดีแล้ว ซึ่งพ้องกับอาการเริ่มต้นของต้อกระจก สิ่งที่ได้สำหรับเรื่องนี้คือ ค่าแอดดิชั่นตามอายุนั้น เอาไว้เป็นค่ากลางสำหรับอ้างอิงกับค่า BCC ที่เราหาได้จากการตรวจเฉพาะแต่ละคน และเช็คบาลานซ์แอดดิชั่นด้วยการทำ PRA/NRA อีกครั้ง 

แว่นเดิมที่คนไข้ใช้งานอยู่คือ มองไกล +0.50D ทั้งตาขวาและตาซ้ายไม่มีการแก้สายตาเอียงและค่า addition อยู่ที่ +2.75D เป็นเหตุให้โครงสร้างโปรเกรสซีฟโดยรวมพังทั้งหมด  เพราะต้องไม่ลืมว่า ภาพ distortion ที่อยู่บนเลนส์โปรเกรสซีฟ ก็คือ unwanted oblique astigmatism ที่เกิดขึ้นกับการออกแบบโครงสร้างและเมื่อรวมกับ residual astigmatism ที่แก้ไม่หมดแล้ว รวมกันเข้าโครงสร้างโปรเกรสซีฟก็เละเป็นโจ๊ก ต้องระวัง 

Ocular Health 

ผละจากการตรวจสุขภาพตา รวมไปถึงจอประสาทตา พบว่าปกติทั้งระบบ มีเพียงเลนส์แก้วตาที่เริ่มเหลืองๆเป็นสีชาๆ ที่ตรงกลางเลนส์ ซึ่งเป็นลักษณะของต้อกระจกที่มักพบในคนไข้สูงอายุอยู่แล้ว ไม่มีต้อลม ต้อเนื้อ และไม่เสี่ยงต้อหิน โดยรวมถือว่าดีทั้งหมด 

สรุปปัญหาที่พบในเคสนี้ 

1.mixed Hyperopic astigmatism

OD +2.12 -1.87x92 ,VA 20/10

OS +1.78 - 1.12x87 ,VA 20/10

2.Presbyopia , Add +2.00

3. Nuclear Sclerosis  ,NS2

แผนการรักษา 

1+2.Full Correct Hyperopic astigmatism + Presbyopia  ด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟ

3.นัดตรวจอีก 1 ปีข้างหน้า เพื่อดูการ progress ของต้อกระจก 

ทิ้งท้าย 

วันที่รับแว่น ผมได้สนทนาธรรมกับคนไข้ ระหว่างนั้นคนไข้พูดมาคำหนึ่งทำให้ผมชะงักคิดไปครู่หนึ่งว่า

“กว่าจะได้เจอกัน ผมหมดเงินไปเป็นแสนกับแว่นที่ใช้งานไม่ได้” 

ย้อนกลับดูเรื่องของคนไข้ท่านนี้สักนิดหนึ่ง  เมื่อ 2 ปีที่แล้ว คนไข้ไปทำแว่นตาที่ร้านแว่นแห่งหนึ่ง (ร้านดัง เพราะว่าทำ PR ได้ดีมาก) คนไข้รู้จักจากโฆษณาทางอินเตอร์เนต เพราะดูจากความน่าเชื่อถือ จากเครื่องมือและการโฆษณาที่ภาพลักษณ์ดูดี คนไข้เล่าให้ฟังต่อไปว่า เข้าไปที่ร้าน ดูเครื่องไม้เครื่องมือแล้วดูทันสมัยไปหมด  มีขั้นตอนทางดิจิทัลมากมาย แค่เห็นเครื่องมือน่าจะดี  พอวัดสายตาเสร็จ ช่างกำชับว่า ด้วย 

ความสามารถและเครื่องมือที่เขาใช้นั้น ให้ความผิดพลาดน้อยกว่า 1% 

ฟังแล้วก็ชื่นใจ ทำไปร่วมแสนกับกรอบแว่นตาลินด์เบิร์กและเลนส์โปรเกรสซีฟพรีเมี่ยม 

แต่พอวันมารับจริง คนไข้ใส่ใช้งานไม่ได้เลย มอไกลไม่ได้ และกลางใกล้ใช้งานไม่ได้ แต่ด้วยความที่เกรงใจช่าง ที่เห็นช่างแว่นที่ทำแว่นให้มั่นใจขนาดนั้น เลยไม่อยากจะต่อว่าอะไรเขา และก็ไม่สะดวกไปๆมาๆ เพราะอยู่ต่างจังหวัด ก็เลยเสียเงินแสนรอบแรก  รอบที่สองก็ไปอีกแห่งหนึ่งตามโฆษณาในอินเตอร์เนต เครื่องไม้เครื่องมือก็ไฮเทคเช่นกัน เปลี่ยนเลนส์ไปหลายหมื่น มองไกลดีกว่าเก่าเล็กน้อย แต่กลางใกล้ใช้งานไม่ดี ดูใกล้ไม่ชัด  แต่ก็ยังพอทนใส่ได้  พอใส่มาได้สักระยะหนึ่งจึงเริ่มหาข้อมูลจนได้มาเจอกันและก็จบได้ความพึงพอใจ เลนส์ก็ต้องใช้รุ่นสูงอลังการอะไร เพียงแต่เอาสายตารีดให้หมด วางเซนเตอร์ให้ดี ดัดมุมแว่นให้เปะ ปิดงานได้

ประเด็นในเรื่องนี้ มันอยู่ที่ว่า 

1.ประเทศที่กำลังพัฒนา จะไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง value เช่น เนื้ออะไรมันก็เนื้อเหมือนกัน ทำไมต้องเป็นเนื้อ ribeye ผ่านกระบวนการทำ dryage กิโลตั้งหลายพัน  หรือ กาแฟอะไรก็เหมือนๆกัน อะไรก็ได้ที่มันขมๆ กินแล้วก็ไม่ง่วงเหมือนกัน กาแฟ D-7 ก็ได้แก้วละ 15 บาท  ทำไมต้องไปกินกาแฟแพงๆกับ barista เจ๋งๆ แก้วตั้งหลายร้อย  หรือเบียร์อะไรมันก็เมาเหมือนกัน ทำไมต้องไปกินคราฟท์เบียร์กระป๋องหลายร้อย  แต่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเขาทำสำเร็จเราก็เพียงไปชิม ไปสัมผัสว่า เบียร์กระป๋องไหน ของแบรนด์อะไรอร่อย วันหลังก็เลือกแบรนด์ที่ชอบ 

แต่เลนส์หน่ะมันชื่อเหมือนกัน Rodenstock เหมือนกัน รุ่น impression เหมือนกัน ทำไมบางที่ลดได้ บางที่ลดไม่ได้ เพราะมันก็ได้เลนส์โรเด้นสต๊อกเหมือนกัน จนลืมไปว่า เลนส์ใน pricelist ที่เราเห็นนั้น มันคือวัตถุดิบ ที่จะต้องให้คนตรวจสายตาเป็นคนปรุงให้  ตั้งแต่การวัดสายตา การตั้งเซนเตอร์ การตัดเลนส์ประกอบเข้ากรอบให้ได้เซนเตอร์ การดัดมุมให้ถูกต้อง  มูลค่าจริงๆมันอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่ารุ่นนี้ที่นี่ขายเท่านี้ ที่นั่นขายเท่านั้น  

อธิบายให้ง่ายขึ้นว่า รถดีๆ เครื่องยนต์ดีๆ แรงม้าดีๆ ถ้าเติมน้ำมันผิดประเภท รถเบนซินแต่ไปเติมดีเซลแล้วมันจะวิ่งยังไง เหมือนกับแว่นแสนแพง เทคโนโลยีไฮเอนด์ แต่ค่าสายตาผิด แล้วมันจะใส่ดีได้อย่างไร ฉันไดฉันนั้น 

2.ประเทศไทยนั้น อาศัยคอมพิวเตอร์ในการช่วยขายแว่นเป็นเวลามาช้านาน  นานมากๆ ดังจะเห็นได้จากการโฆษณาว่า

“วัดสายตาเที่ยงตรง แม่นยำ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์”

ปัจจุบันเริ่มมีการประดิษฐ์คำเพื่อช่วยขายอย่างสวยหรู เช่นดิจิทัล 3 มิติ 4 มิติ  3D 4D พร้อมวลีที่สวยหรู แต่พอไปมองความเป็นจริงกลับพบว่าเรายิ่งอาศัยคอมพ์เยอะเท่าไหร่ ความผิดพลาดก็เยอะมากตามเท่านั้น และไม่มีทางว่าคอมพิวเตอร์จะเข้ามาแทนที่ทักษะมนุษย์ได้เลย  เพราะความจริงแล้วคอมพิวเตอร์จะทำงานได้ดีกับระบบที่คงที่ (static) เท่านั้น เช่นเครื่อง topography ที่ใช้ทำ mapping กระจกตา หรือเครื่อง cnc ตัดเลนส์ประกอบแว่น  แต่ไม่สามารถทำงานกับระบบ Dynamic ของมนุษย์ไม่ได้ โดยเฉพาะกับระบบ accommodation และระบบ convergence และมีการเชื่อมต่อของระบบเป็น accommodative/convergence ซึ่งระบบเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก  หรือง่ายที่สุดแค่รูม่านตาคอมพิวเตอร์ก็วัดขนาดได้เฉพาะเวลาขณะใดขณะหนึ่งเท่านั้น เพราะมีการหดขยายอยู่ตลอดเวลาตามสภาวะแสง 

ดังนั้นเอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาวัดระบบที่ไม่หยุดนิ่ง ไม่มีทางที่จะได้ค่าแม่นยำ และไม่สามารถทำซ้ำ เราสามารถพิสูจน์ง่ายๆได้ด้วยตัวเอง คือ คน คนเดียวกัน ในวันเดียวกัน ไปเที่ยววัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ต่อให้เป็นเครื่องยี่ห้อเดียวกัน ไม่มีทางได้ค่าสายตาที่เท่ากัน หรือแม้แต่การยิงค่าแต่ละครั้งยังได้มาหลายค่าแล้วมาหาค่าเฉลี่ยเอา และก็ไม่รู้ว่าค่าที่เอามาเฉลี่ยนั้น ระบบเพ่งของเลนส์ตากำลังถูกกระตุ้นอยู่หรือเปล่า แล้วเราจะเอาค่าพวกนี้มาทำเพื่ออะไร 

เรื่องที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับร้านแว่นตาของเพื่อนที่รู้จักกัน คือเด็กมาที่ร้าน อยากทำแว่นตา มีแว่นเดิมที่ใส่อยู่สายตา -2.50D ทั้งสองข้างมา บอกใส่นานไม่ได้ปวดหัว  พอวัดออกมาจริงได้ +2.00DS เอียง -6.00DC มันเกิดเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นในสังคมไทย และไม่มีทีท่าที่จะแก้ไขอะไรได้เลย  ซึ่งฟังแล้วมันก็หดหู่ เพราะบ้านเราเป็นอย่างนี้  นี่แหล่ะคือเรื่องจริงของ การวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ที่เราถูกมอมเมามาช้านาน 

แต่ถ้าเกิดว่าเรากลับมาใช้ระบบพื้นฐานอย่าง retinoscope เราจะคุมตัวแปรได้เองทั้งหมด ไม่ว่าจะตรวจกี่ครั้ง เราจะได้ค่าเดิมเสมอถ้าทักษะเราดีมากพอ  ดังนั้นเลิกพึ่งพาสิ่งที่พึ่งพาไม่ได้ แล้วกลับไปเรียนรู้ทักษะที่เราไม่ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์อย่าง retinoscope แล้วปัญหาการเคลมเลนส์จะลดน้อยลง

3.มีความเศร้าในใจว่า  ครั้งหนึ่งในอดีต คนมีเงินซื้อคอมพิวเตอร์วัดสายตามาช่วยขายแว่น  ก็ขายดีจนร่ำรวย  จนกระทั่งยุคที่คนเริ่มชินชากับเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วมาเห่อทัศนมาตร  แต่ก็ไม่พ้นเอาทัศนมาตรไปคุมเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยขายแว่น ตกลงเราเพียงแค่เปลี่ยนคนคุมเครื่องคอมพิวเตร์ แล้วคาดหวังสิ่งใหม่จะเกิดขึ้นกระนั้นหรือ  คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม แล้วคาดหวังว่าอะไรๆจะดีขึ้น  แล้ววงการแว่นตา มันจะพัฒนากันไปต่ออย่างไร 

แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องของสุขภาพประชาชน แต่รัฐไม่สามารถจัดการเรื่องราวเหล่านี้ได้ ช่วงนี้มีการร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ แต่ดูจากเนื้อหาแล้ว ก็เป็นร่างประเภทเตะขยะไปข้างหน้า ไม่ได้ช่วยควบคุมให้ประชาชนปลอดภัยเลย แต่กลับเอื้อระบบนายทุน ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น  

วันนี้ นาย ก. เป็นใครมาจากไหนไม่รู้  วันนี้อยากจะเปิดร้านแว่นตา สามารถทำได้ง่ายๆ  เพียงมีเงิน 1 แสนบาท ซื้อคอมพิวเตอร์จีนมา 1 เครื่อง สามารถเปิดร้านแว่นได้แล้ว  มันง่ายขนาดนั้นเลย ง่ายกว่าเปิดร้านข้าวแกง 

เอาหล่ะ พอหอมปากหอมคอ  ผมไม่ได้ต่อต้านคอมพิวเตอร์ เพียงแต่ผลักดันให้เราลดการพึ่งพาคอมพิวเตอร์วัดสายตาลงหน่อย แล้วหันมาพึ่งตัวเองมากขึ้น  และเพื่อไม่ให้คนไปเข้าใจผิดคิดว่ามันพึงพาได้  แต่คอมพิวเตอร์อื่นๆที่ออกมาเพื่อ Diagnosis เพื่อดูกายกายของดวงตาเช่น pentacam ,OCT,topography, fundus camera เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ดีในการดูกายภาพที่เป็นของ static ไม่ใ่ช่ dynamic 

เดี๋ยวเคสต่อไปจะมาเล่าให้ฟัง มันส์ได้อีก ซึ่งคนไข้ขอให้เขียน เกริ่นเรื่องคร่าวๆคือ คนไข้ไปทำแว่นมา โจทก์คือเอาให้มันดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ก็ได้เลนส์โรเด้นสต๊อกรุ่นที่ดีที่สุดคู่เป็นแสน และกรอบแว่นตาที่ดีที่สุด แต่ในวันรับแว่นจริง มองไกลข้างหนึ่งชัด อีกข้างไม่ชัด ทั้งที่การวัดสายตาก็ใช้มือดี เครื่องมือดี ระบบดิจิทัลระดับที่ประเสริฐที่สุดในปัจจุบัน เขาว่ามันเป็นระบบดิจิทัล 4 มิติ แต่ข้างหนึ่งมองเห็นเพียง 60% ในขณะอีกข้างนั้นเห็นชัดปกติ  ร้านสรุปว่าคนไข้ตาข้างหนึ่งไม่ดีแล้ว มองเห็นได้เพียง 60% ทำให้คนไข้กังวลใจมาก ก็เลยไปหาหมอให้ช่วยดู ตรวจ MRI ,CT-Scan แสกนดูคลื่นสัญญาณประสาท ทุกอย่างปกติดี แต่ทำไมถึงเห็นได้แค่ 60 % ก็เลยหาข้อมูลแล้วมาถามที่ร้าน 

หลังจากฟังอาการเสร็จ ผมก็สรุปเลยว่าสายตาผิด แล้วหยิบเรติโนมากวาดบนแว่นที่ใส่อยู่ พบว่าผิดไปมากจริงๆ  ก็เลยให้เข้าตรวจละเอียด ใช้เวลากวาด retinoscope ไม่ถึง 3 นาที VA 20/20 ทั้งสองข้าง และพอ finetuning เสร็จเรียบร้อย VA 20/10 ทั้งสองข้าง กับตาข้างหนึ่ง +1.25D เอียง -1.00D/cและอีกข้างหนึ่ง +3.00D เอียง -2.75DC  ในขณะแว่นเดิมทำมานั้น +0.50D ทั้งสองข้าง คนไข้พูดมาคำหนึ่งว่า 

"ทำไมมันผิดพลาดได้ขนาดนั้น เขาใช้ระบบดิจิทัล 4 มิติ เลยนะ"

ผมตอบว่า

"ครับ"

ประเด็นคือ ดิจิทัล ผิดพลาดขนาดนั้นได้อย่างไร  ไม่แปลกหรอกครับ มันผิดพลาดได้มากกว่าที่คุณคิด  และสามารถยิ่งสายตาบวก เป็นสายตาลบ คนเรื่องคนละราวกันเลยก็มี  เลิกแข่งขันกันด้วยการวัดสายตาแบบดิจิทัลได้แล้ว แล้วกลับไปฝึกสิ่งที่ตนเองร่ำเรียนมาจะดีกว่า มหาลัยไม่เคยสอนใช้ใช้คอมพิวเตอร์ มีแค่ retinoscope กับ phoropter เราจะสามารถทำงานได้เปะ ชนิดที่ว่า คมชัด ใส่สบาย ตั้งแต่แรกใส่ และลืมเรื่องการปรับตัวไปได้เลย 

ขอบพระคุณสำหรับการติดตาม  พบกันใหม่เคสหน้า 

สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์