เรื่องโดย ดร.ลอฟท์
ปรับปรุงเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2561
โรคตาขี้เกียจหรือ lazy eye มีชื่อทางการแพทย์ว่า Amblyopia หมอจะเรียกกันสั้นๆว่า “แอ็ม” เช่น “เป็นแอ็มไหม” หมายถึง “มีตาขี้เกียจไหม” เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่ “รักษาให้หายได้ ถ้ารักษาทัน และเป็นโรคที่เร่่งด่วนเพราะก็มีช่วงของการรักษาที่จำกัด”
ทีนี้ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าโรคตาขี้เกียจถ้าเป็นแล้วจะบอดไหม รักษาได้ไหม อายุเยอะแล้วเป็นตาขี้เกียจได้ไหม ใครบ้างที่เสี่ยง มีวิธีป้องกันรักษาอย่างไรบ้าง ซึ่งวันนี้ผมจะไล่เป็นข้อๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เอาไว้เป็นอาวุธในการป้องกันบุตรหลานของตัวเอง ให้รอดพ้นจากโรคตาขี้เกียจ เพราะที่ต้องบอกว่าป้องกันได้แค่บุตรหลานก็เพราะว่า ถ้าท่านที่อ่านอยู่นี้อายุมากกว่า 9 ขวบแล้ว ก็เห็นจะไม่ทันกาลที่จะรักษาแล้วเพราะสายเกินไป ทำได้แค่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันเท่านั้นเอง
เรามาเริ่มทำความรู้จักโรคตาขี้เกียจกันเลยดีกว่า เริ่มจากนิยามของมัน
ตาขี้เกียจ (Amblyopia) เป็นโรคที่เกิดขึ้นในระดับ Sensory หรือ สมองส่วนการรับรู้ภาพ ทำให้ความคมชัดของการมองเห็นหลังจากแก้ปัญหาสายตาแล้วนั้น ไม่สามารถทำให้คมชัดเหมือนคนปกติได้ คือไม่ว่าจะแก้สายตาให้ถูกต้องอย่างไร คนไข้ก็ยังไม่สามารถอ่าน VA 20/20 ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าคนไข้ต้องไม่มีปัญหาเรื่องโรคตาอย่างอื่นเช่นมีแผลเป็นที่กระจกตาหรือมีต้อกระจก หรือเป็นโรคจอตาใดๆอยู่ ซึ่งโรคตาขี้เกียจมักจะเกิดที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจเกิดทั้งสองตาก็ได้
โรคตาขี้เกียจนั้นเป็นความผิดปกติของการมองเห็นในระดับ “สมองส่วนรับภาพ” ซึ่งมีสาเหตุหลักจาก ขณะที่ระบบประสาทส่วนการรับรู้ภาพกำลังพัฒนาอยู่นั้น เกิดมีความผิดปกติอะไรบางอย่างไปรบกวนหรือไปขัดขวางการพัฒนาของสมองส่วนรับภาพในช่วงวัยที่สมองกำลังมีการพัฒนา (6-8ขวบ)
ซึ่งในการพัฒนาระบบประสาทการรับภาพนั้นจะถูกกระตุ้นให้พัฒนาด้วยภาพที่คมชัด เพราะภาพที่คมชัด ก็จะทำให้สัญญาณไฟฟ้าที่ส่งจากดวงตาไปยังสมองนั้นเป็นคลื่นไฟฟ้าที่คมชัด ไม่มี noise มารบกวน ทำให้เนื้อสมองนั้นเกิดการพัฒนาตัวรับได้สมบูรณ์
แต่หากเกิดมีความผิดปกติบางอย่างไปขวางภาพ หรือไปทำให้ภาพไม่คมชัด หรือไปทำให้ภาพที่เกิดจากตาข้างหนึ่งชัดกว่าข้างหนึ่งมากๆ สมองที่รับสัญญาณจากตาข้างที่ไม่ดีนั้น ก็จะไม่เคยรู้เลยว่า ภาพที่ชัดนั้นเป็นอย่างไร
"เหมือนเครื่องรับทีวีหลอดภาพสมัยโบราณ มาเจอไฟล์ ความละเอียดระดับ 5k ก็คงไม่สามารถแสดงภาพให้คมชัดได้ เพราะเครื่องถอดสัญญาณมันโบราณ พิกเซลไม่ละเอียดพอ แม้ว่าจะมีไฟล์ HD ขนาดไหนก็ไม่สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้"
ตาขี้เกียจก็เช่นกัน เมื่อสมองส่วนถอดสัญญาณมันไม่เคยเตรียมตัวให้รองรับไฟล์ HD ต่อให้เราทำแว่น วัดสายตาออกมาได้ดีที่สุด ใช้เลนส์ที่เทคโนโลยีสูงสุดอย่างไรก็ตามแต่ แล้วให้วิวทิวทัศน์ที่สวยงามที่สุด ก็ไม่สามารถเห็นภาพที่งดงามและคมชัดนั้นได้
สิ่งที่เป็นปัญหาเมื่อเกิดโรคตาขึ้เกียจขึ้นมาคือทำให้ความคมชัดของการมองเห็นจะลดลงกว่าปกติ คือ แก้สายตาไปแล้ว การมองเห็น ยังคงแย่กว่า VA 20/20 ซึ่งความรุนแรงมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของตาขี้เกียจ เช่นคนไข้ที่เป็นตาขี้เกียจจากตาเหล่นั้น ทำให้ความรุนแรงตาขี้เกียจเป็นไปได้ตั้งแต่ แย่กว่า 20/20 ไปจนถึงแย่กว่า 20/200 และยิ่งถ้าเป็นตาเหล่ร่วมกับมีปัญหาสายตาเข้ามาร่วมและไม่ได้แก้ ก็จะยิ่งไปกันใหญ่
โดยตาขี้เกียจนั้นจะมักเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็ก 6-8 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบประสาทมีการพัฒนารวดเร็วที่สุดและใกล้จะโตจนสมบูรณ์แล้ว และถ้าหากเกิดมีความผิดปกติในช่วงนี้ และไม่ได้รับการดูแลแก้ไขจนเลย 8 ขวบไปแล้ว ระบบการพัฒนาของสมองส่วนการมองเห็นจะหยุด และจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้หลังจากนั้น
สรุปก็คือ ถ้าเป็นตาขี้เกียจตั้งแต่เด็กแล้วไม่ได้รักษา เมื่อโตผู้ใหญ่ก็จะเป็นตาขี้เกียจตลอดไป แต่หากว่าในช่วงก่อน 8 ขวบไม่ได้เป็นตาขี้เกียจ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่มีทางเป็นตาขี้เกียจเช่นกัน (เช่นเดียวกับระบบทีวีที่รองรับความคมชัดระดับ 5k อยู่แล้ว แม้ว่าระหว่างนั้นจะมีแต่ไฟล์ความคมชัดต่ำ (เหมือนแว่นที่สายตาไม่ถูกกับสายตาจริง) ก็คงแสดงผลเท่าที่ทำได้ แต่หากว่าได้ไฟล์ที่ความคมชัดสูงมา ก็สามารถถ่ายทอดรายละเอียดได้สุดๆเช่นกัน (เหมือนได้แว่นที่สายตาถูกตอ้ง ใช้เลนส์ที่มีเทคโนโลยีสูงๆ))
การที่เราจะรู้ว่าเราเป็นตาขี้เกียจหรือไม่นั้น ทำได้อย่างเดียวคือต้องไปตรวจสายตาให้ถูกต้อง (ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่วัดตาผิดแล้วอ่านไม่ได้ 20/20 ) เมื่อพยายามแก้ไขสายตาให้ถูกต้องแล้ว ยังไม่สามารถอ่าน 20/20 และ ให้มองผ่านรูเล็ก(pin hole) แล้วความคมชัดก็ไม่ดีขึ้นนั่นแหล่ะถึงจะวินิจฉัยได้ว่าเป็นตาขี้เกียจ แต่ถ้าวัดสายตาผิด หรือแก้ไม่ถูกต้องแล้วอ่านไม่ได้ 20/20 ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเป็นตาขี้เกียจหรือไม่ เพราะมีจำนวนมาก ที่คนวัดบอกว่าเป็นตาขี้เกียจ เพราะทำแว่นยังไงก็ไม่ชัด ก็เลยโทษว่าคนไข้เป็นสายตาขี้เกียจ ทั้งที่จริงๆแล้วแก้ปัญหาสายตาผิด
โรคตาขี้เกียจนั้นมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิด แต่ก็มีหลักใหญ่ที่เป็นสาเหตุกคือว่า “มีความผิดปกติอะไรบางอย่างไปขวาง หรือไปทำให้การหักเหแสงที่ผ่านเข้ารูม่านตาเข้าไปเป็นโฟกัสที่ไม่คมชัดเช่น มีปัญหาสายตาที่ไม่ได้แก้หรือแนวของการมองของทั้งสองตาไม่สัมพันธ์กันเช่นตาเหล่ แล้วในช่วงนั้นไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดตาขี้เกียจได้
ดังนั้นก็พอจะรวมๆสาเหตุที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจในเด็กได้แก่ตาเหล่(Squint), สายตาสั้นมากๆ (high Myopia) สายตายาวมากๆ(High Hyperopia) สายตาเอียงมากๆ (High Astigmatism) สายตา 2 ข้างต่างกันเยอะๆ (High anisometripia) เปลือกตาตกมาบังรูม่านตา(ptosis)หรือมี เลนส์ตาขุ่นมัวจากต้อกระจก (congenital cataract) เป็นต้น ดังนั้นโรคตาขี้เกียจจึงแบ่งเป็น 3 กลุ่มตามสาเหตุของการเกิดได้แก่
1.Form Deprivation Amblyopia คือ เกิดรอยโรคเกิดขึ้นที่ดวงตาแล้วไปบล๊อคแสงที่จะเข้าไปโฟกัสบนจอรับภาพ ทำให้ภาพโฟกัสไม่ดี ไม่คมชัด ซึ่งโรคที่เกิดบ่อยคือ “ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด (congenital cataract) ส่วนโรคอื่นๆที่ก็พบได้เช่นกันได้แก่ ต้อกระจกจากอุบัติเหตุ กระจกตามีรอย หรือเกิดจากการควบคุมการปิดตาระหว่างการรักษาไม่ดี
2.Refractive Amblyopia คือตาขี้เกียจที่เกิดจาก ปัญหาสายตาที่ไม่ได้แก้ไขซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ มีปัญหาสายตาสองข้างเท่าๆกัน และ ปัญหาสายตาของทั้งข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน
กลุ่มแรกที่ มีปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาวมากแต่ตาซ้ายขวามีปัญหาเท่าๆกัน เรียกว่า isometripic amblyopia ซึ่งปัญหาสายตาสั้น/ยาว มากๆแล้วไม่ได้แก้ไข จะทำให้เกิดภาพที่มัวบนจอรับภาพและเมื่อมัวมากๆ และไม่ได้แก้ไข เมื่อปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็จะทำให้การพัฒนาของระบบประสาทส่วนการมองเห็นนั้นพัฒนาได้ต่ำกว่ากว่าปกติและเมื่อเลยช่วงอายุ 9 ขวบ ระบบประสาทจะหยุดพัฒนาต่อก็จะทำให้เป็นตาขี้เกียจทั้ง 2 ตา ซึ่งกลุ่มสายตาที่เสี่ยงคือ
ซึ่งความรุนแรงของตาขี้เกียจนั้นเป็นได้ตั้งแต่ VA แย่กว่า20/20 ไปจนถึง 20/200 แต่โดยส่วนใหญ่ตาขี้เกียจประเภทนี้จะมี VA อยู่ที่ 20/50 โดยเฉลี่ย
อีกกลุ่มคือ “ผู้ที่มีปัญหาสายตาสองข้างสั้น,ยาว,เอียงต่างกันมากกว่า 1.00D เรียกกว่า Anisometripic Amblyopia ซึ่งคนที่เป็นตาขี้เกียจมักเกิดมาจากปัญหานี้มากกว่าแบบแรก ด้วยเหตุว่า...
ถ้าหากว่าตาข้างหนึ่งได้รับภาพที่คมชัดกว่าอีกข้างหนึ่งตลอดเวลาจะทำให้ตาอีกข้างที่แย่กว่าไม่มีโอกาสได้รับภาพที่คมชัดเลยซึ่งจะทำระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับตาข้างนั้นไม่เคยได้รับการพัฒนาและจะทำให้กลายเป็นตาขี้เกียจในที่สุด ดังนั้นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดตาขี้เกียจประเภทนี้คือ
ซึ่งความรุนแรงของตาขี้เกียจนั้นมีตั้งแต่ ความคมชัดหลังแก้ปัญหาแล้วได้ VA แย่กว่า 20/20 ไปจนถึง แย่กว่า 20/200 แต่โดยส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ 20/60
3.Strabismic Amblyopia เป็นโรคตาขี้เกียจที่เกิดขึ้นจากจากปัญหาตาเหล่ ซึ่งพบตาขี้เกียจที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6-8ขวบ เนื่องจากตาเหล่นั้นจะทำให้ภาพที่ไปตกบนจอรับภาพของตาแต่ละข้างนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้สมองเกิดความสับสนในการรวมภาพ และเกิดเป็นภาพซ้อน ซึ่งในการแก้ปัญหานี้ระบบสมองของเราจะกดสัญญาณภาพจากตาข้างที่เหล่ออกไป หากปล่อยทิ้งไว้ตาข้างที่ถูกกดสัญญาณภาพทิ้งก็จะกลายเป็นตาขี้เกียจในที่สุด
ตาเหล่ เป็นสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้เกิดตาขี้เกียจในเด็ก
credit image : Conroy Optometric Centre
นอกไปจากนี้แล้ว ร่างกายจะสร้างจุดรับภาพเทียม (pseudo-fovea) ขึ้นมานอกจุดรับภาพหลัก (fovea) ซึ่งการแก้ไขเช่นการผ่าตัดนั้นทำไปเพื่อทำให้แนวของการมองเห็นนั้นตกลงบนจุดรับภาพของทั้งสองตา เพื่อให้การพัฒนาของประสาทรับรู้นั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง ความรุนแรงของตาขี้เกียจที่เกิดจากตาเหล่นั้น อาจตั้งแต่แย่กว่า 20/20 ไปจนถึงแย่กว่า 20/200 โดยส่วนใหญ่เฉลี่ย VA 20/94
อัตราการเกิดโรค (EPIDEMIOLOGY)
ประมาณ 2% ของประชากรเด็ก
ประวัติ(HISTORY)
การซักประวัติก็เป็นขั้นตอนที่จะช่วยให้เราสามารถวินิจฉัย “โรคตาขี้เกียจ” ได้มากขึ้น เช่น ผู้ใหญ่ที่มีปัญหาการมองเห็นข้างหนึ่งแย่กว่าอีกข้างมาก หรือมีประวัติตาเหล่ตอนเป็นเด็ก หรือตอนเป็นเด็กหมอเคยให้ปิดตาสลับข้างซึ่งต้องไล่สาเหตุย้อนกลับไปในช่วงก่อน 9 ขวบ จะช่วยให้เราสามารถวินิจฉัยโรคตาขี้เกียจได้ดีขึ้น
credit image : www.betweencarpools.com
การตรวจ (EXAMINATION)
หากพบว่า ตาข้างหนึ่งเห็นได้แย่กว่าอีกข้าง แม้ว่าจะแก้ด้วยเลนส์หรือให้มองผ่านรูเข็มแล้วก็ไม่ดีขึ้น และส่วนใหญ่จะไม่พบรอยโรคอื่นๆเกิดขึ้นที่ดวงตา แต่ต้องมั่นใจว่าคนไข้ได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาที่ถูกต้องจริงๆ
การเกิดโรค (PATHOLOGY)
ในการพัฒนาประสาทส่วนรับรู้การมองเห็นนั้น เพื่อให้สามารถประมวลภาพที่ดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับ“โฟกัส” ของภาพที่ตกลงบนจุดรับภาพของตาทั้งสองข้าง ณ จุดคู่สม (Retinal corresponding area) ซึ่งในเงื่อนไขนี้ก็คือจุดรับภาพที่คมชัดที่สุดคือที่ “โฟเวีย” (fovea) ของตาทั้งสองข้าง
ทีนี้ถ้าหาก “โฟกัสไม่คมชัด ซึ่งให้ภาพที่ไม่คมชัด จากปัญหาสายตา สั้น ยาว เอียง ที่ไม่ได้แก้ไข หรือว่า เกิดมีตาเหล่(misaligne) ซึ่งทำให้แนวของแสงไม่ไปตกลงบนจุดคู่สม(fovea) และหากว่าปัญหานี้เกิดขึ้นในช่วงก่อน 9 ขวบ ก็จะทำให้เกิดการขัดขวางการพัฒนาการของสมองส่วนเห็นภาพเกิดเป็นตาขี้เกียจในที่สุด
การรักษา (MANAGEMENT)
การรักษาหรือจัดการกับโรคตาขี้เกียจนั้น ต้องทำตั้งแต่เด็ก และทำก่อนอายุ 9 ขวบ ยิ่งอายุมากขึ้น ผลการรักษาก็จะยิ่งแย่ลง โดยการรักษาหรือป้องกันนั้นก็มีอยู่หลากหลายวิธีว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เช่น ถ้ามีปัญหาตาเหล่ก็ดูต่อว่าเหล่จากอะไร ซึ่งอาจจะเกิดจากมีต้อกระจกข้างใดข้างหนึ่ง หรือเป็นเหล่จากสายตายาวในเด็ก หรือเหล่จากกล้ามเนื้อตาเอง ก็ทำการแก้ไขที่ต้นเหตุ ถ้าเป็นต้อกระจกก็เอาต้อออก ถ้ามีปัญหาสายตาก็แก้ให้เรียบร้อย ถ้าจำเป็นต้องผ่ากล้ามเนื้อตาก็ต้องผ่า หรืออาจจะต้องปิดตาข้าที่ดีเพื่อให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจกลับมาได้ใช้งาน เหล่านี้ก็จะเป็นการแก้ไขหรือป้องกันการเป็นโรคตาขี้เกียจได้ แต่เน้นอีกทีว่าต้องรีบทำ เพราะช่วงเวลาในการักษานั้นมีอยู่น้อยมาก
credit image : https://speakingofresearch.com
ผลข้างเคียงจากตาขี้เกียจ (COMPLICATIONS)
เมื่อเป็นตาขี้เกียจไปแล้วนั่นแปลว่า การทำงานร่วมกันของสองตานั้นก็จะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปกติ ทำให้ไม่สามารถมองภาพ 3 มิติได้ กะความลึกพลาดต้องระมัดระวังในการใช้รถ เพราะจะกะระยะเบรกไม่ถูก
คนที่เป็นตาขี้เกียจ จะไม่สามารถมองเห็น 3 มิติ ได้ แต่จะมองเห็นอะไรเป็นแบนๆ 2 มิติ ไปหมด เพราะ 3 มิติ นั้นเป็นสุดยอดของการทำงานร่วมกันของสองตา ที่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะกับคนและสัตว์นักล่า
ผลการรักษา (PROGNOSIS)
ย่ิงปล่อยไว้นาน ก็จะรักษาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ยากและยิ่งรักษาตั้งแต่เนิ่นๆก็จะยิ่งสามาถป้องกันการเกิดตาขี้เกียจได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นสำหรับท่านที่มีลูกหลานเล็กๆ ต้องหมั่นสังเกตุบุตรหลานของตน และพาไปพบนักทัศนมาตร หรือจักษุแพทย์หากพบความผิดปกติของเด็ก
สรุป
ยิ่งเราสามารถตรวจพบได้เร็วเท่าไหร่ การรักษาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพเร็วเท่านั้น และสามารถป้องกันการเกิดตาขี้เกียจได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรใส่ใจเรื่องการมองเห็นของลูกน้อยตั้งแต่ทารกแรกเกิด 4-6 สัปดาห์ และเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนั้นต้องได้รับการดูแลรักษาตลอดช่วงที่ระบบประสาทตายังมีการพัฒนาตลอดช่วงอายุ 6-8 ขวบ ย่ิงสามารถตรวจได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสามารถแก้ปัญหาได้เร็วเท่านั้น ซึ่งพบว่าการแก้ไขได้ผลดีที่สุดนั้นอยู่ในช่วง 4 ขวบ
แต่เนื่องจากระบบการดูแลสุขภาพตาในบ้านเรานั้นยังไม่ค่อยทั่วถึงเท่าไหร่นัก จึงทำให้มีเด็กที่เป็นตาขี้เกียจและไม่รู้ว่าตนเองเป็นจนกระทั่งมาเจอตอนโต ซึ่งแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ทำได้แค่เพียงว่า ดูแลตาข้างที่ดีให้ดีที่สุดและปกป้อง ป้องกันมันให้ดีที่สุด ใช้เลนส์ที่เหนียวที่สุด เช่นเนื้อ Trivex เพราะไม่มีโอกาสพลาดอีกแล้ว
ทิ้งท้าย
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านและเป็นกำลังใจให้กันเสมอมา หากอยากรู้อยากทราบเรื่องอะไร หรือมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับการมองเห็น สามารถโทรมาปรึกษาได้ที่เบอร์ 0905536554 หรือทาง lineid : loftoptometry หรือเข้ามาติดตามได้ที่ www.facebook.com/loftoptometry
ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม
~ดร.ลอฟท์~
www.facebook.com/loftoptometry
T.090 553 6554
อ้างอิง
Rapid of Ophthalmology : p 43 Amblyopia
ศึกษาเพิ่มเติม https://www.aoa.org/documents/optometrists/Amblyopia-4.pdf