Case Study 9 : การแก้ปัญหาคนไข้สายตายาว สายตาชรา และเหล่เข้าซ่อนเร้น


Case Study 9 : การแก้ปัญหาคนไข้สายตายาว สายตาชรา และเหล่เข้าซ่อนเร้น 

ผู้เขียน  : ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี O.D.

เมื่อ 20 December 2018


บทนำ 

สวัสดีครับ วันนี้พักเรื่องเที่ยวมาคุยกันเรื่องงานกันบ้าง วันนี้ผมเอาเคสมาส่ง เป็นเคสไม่ได้ยากมากนัก แต่ผมก็เชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะได้วิธีคิดหรือมุมมองไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่งอย่างแน่นอน และทิ้งท้ายด้วยเรื่องการเมืองกฎหมายของวงการแว่นตาที่กำลังร้อนผ่าวกันอยู่ในขณะนี้ว่าจะยอมให้ผ่านร่างหรือไม่ผ่านดี เห็นแล้วก็อดกังวลไม่ได้ ก็เลยต้องตามซะหน่อย เอาหล่ะ เรามาเร่ิมเคสนี้กันเลยดีกว่า 

 

ข้อมูลทั่วไปคนไข้ 

คนไข้ชาย อายุ 48 ปี เป็นอาจารย์สอนวิศกรรมศาสตร์ มาด้วยอาการดูใกล้ไม่ชัด แต่มองไกลคมชัดดี  ปัจจุบันแก้ปัญหาการดูใกล้ด้วยการใช้แว่นอ่านหนังสือ (reading glasses) และถอดหรือมองลอดแว่นเพื่อมองไกล   ทำให้เกิดความรำคาญและไม่สะดวกเมื่อต้องมีกิจกรรมที่ต้องมองไกลและมองใกล้สลับกัน เช่นเวลาสอนที่ต้องมองทั้ง projector เอกสาร และเด็กที่นั่งอยู่ใน class  หรือขณะประชุม ที่ต้องมอง slide และ ดูเอกสารที่ต้องอยู่ตรงหน้า  หรือแม้แต่ตอนที่ขับรถแล้วโทรศัพท์มีสายเข้ามาก็ดูจะวุ่นวายเช่นกัน เพราะไม่สามารถรู้เลยว่าใครโทรมา และบ่อยครั้งที่เป็นเบอร์โทรมาขายประกัน หรือเบอร์มาบอกโชค "สวัสดีค่ะ...คุณคือผู้โชคดี ที่ได้รับ บลา บลาๆๆ"

แม้ว่าคนไข้รู้จะว่าตัวเองมีปัญหาสายตาชรา (presbyopia) และรู้ว่าต้องแก้ด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟ (progressive additional lens ,PALs) แต่ลึกๆคนไข้ก็กลัวเลนส์โปรเกรสซีฟ เพราะเคยได้ยินจากปากคนส่วนใหญ่มาว่ามันน่ากลัวและต้องการผู้ที่ตัวเองมั่นใจช่วยทำเลนส์โปรเกรสซีฟให้ พอดีมีเพื่อนสนิทเป็นคนไข้ที่คลิินิกจึงแนะนำให้เข้ามาปรึกษา  

 

ประวัติเกี่ยวกับสายตา 

คนไข้สุขภาพแข็งแรง สุขภาพตาดีไม่เคยพบจักษุแพทย์หรือตรวจสายตาโดยละเอียดกับทัศนมาตรมาก่อน  ส่วนแว่นที่ทำมาซึ่งเป็นแว่นอ่านหนังสือ ก็ทำตามร้านขายแว่นตาทั่วไป 

คนไข้ไม่มีโรคประจำตัว  ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี ไม่มีเบาหวาน ไม่มีความดัน ไม่มีโรคทางตาหรือร่างกายที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม 

 

ลักษณะการใช้สายตาในชีวิตประจำวัน 

เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องอ่านเอกสาร ดูโปรเจ็คเตอร์ขณะสอน ประชุม ดูงาน และทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นหลักและต้องการได้แว่นที่สามารถใช้งานได้ทุกระยะ 

 

การตรวจเบื้องต้น (Preliminary Eye Exam)

PD 34/35 ; ระยะห่างระหว่างกึ่งกลางตาดำถึงกลางจมูกค่อนข้างกว้างเมื่อเทียบกับคนทั่วไป 

VAsc : OD 20/15 , OS 20/15  (@ 6 m)  ; ความคมชัดของตาเปล่าในการมองไกลคมชัดดี

VAsc : OD 20/100 ,OS 20/100 (@ 40 cm) ; ความคมชัดของตาเปล่าในการมองใกล้ ไม่ดี

Version (EOM)  : SAFE ,no pain ,no constriction ; การทำงานของกล้ามเนื้อตาทั้ง 6 มัดทำงานได้ดี เคลื่อนที่ได้เรียบ ตามเป้าหมายได้แม่นยำ ไปได้สุดทุกตำแหน่ง และไม่รู้สึกปวดหรือเห็นภาพซ้อน แสดงถึงการทำงานของที่สมบูรณ์ทั้งกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่มาเลี้ยง

Cover Test : Ortho ,EP’ ; สังเกตไม่เห็นว่ามองไกลมีเหล่ซ่อนเร้น แต่ใกล้มีเหล่ซ่อนเร้นแบบเขเข้า 

Doctor Comment ; 
สิ่งที่น่าสนใจขณะทำ preliminary test นั้นพบความผิดปกติที่น่าสนใจคือ

1. คนไข้มี Esophoria ที่ระยะใกล้ ซึ่งสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ทดสอบเบื้องต้นด้วย prism bar แล้วเห็นตานิ่งที่ 3 prism base out

2. VA มองไกลคนไข้นั้นดีมาก แต่ในขณะที่มองใกล้นั้น VA กลับแย่มากเช่นกัน  ซึ่งถ้ามองไม่คิดอะไร อาจจะคิดว่ามองไกลคนไข้ไม่มีค่าสายตา (emmetropia) แต่ในการทำงานแบบทัศนมาตรนั้นจะมาพูดลอยๆว่า ชัดแล้วไม่ต้องแก้โดยไม่มีหลักฐานยืนยันไม่ได้ “มันผิดผี” เพราะการที่คนไข้ VA 20/20 นั้นไม่ได้บอกอะไรไปมากกว่าการ“อ่านได้” แต่ไม่ได้หมายความว่าการอ่านได้ชัดแล้วจะ “ไม่มีค่าสายตา หรือ ระบบการทำงานของตาทั้งสองจะปกติ” ซึ่งเราจะต้องทำ confirmation ต่อไป 

 

ผลที่ได้จากการตรวจสายตาและระบบการมองเห็น 

Retinoscope (on phoropter)

OD +1.00 -0.50 x 90  ,VA 20/20 @ 6 m

OS +1.00 -0.50 x 10  ,VA 20/20 @ 6 m

 

Monocular VA (on phoropter)

OD +0.50 -0.50 x 80  ,VA 20/20 @ 6 m

OS +1.00 -0.50 x 10  ,VA 20/20 @ 6 m

 

Monocular VA (on phoropter)

OD +0.75 -0.50 x 80  ,VA 20/20 @ 6 m

OS +0.75 -0.50 x 10  ,VA 20/20 @ 6 m 

 

BVA (fine tuning on trial frame)

OD +0.75 -0.37 x 87  ,VA 20/10 @ 6 m

OS +0.75 -0.50 x 15  ,VA 20/10 @ 6 m  

 

ผลการตรวจระบบการมองเห็น (Visual Function (Vergence / Accommodation))

ทดสอบที่ระยะ 6 เมตร

Horz.Phoria : 2 BO , esophoria  (มองไกลมีเหล่เข้าซ่อนเร้น)

BI-reserve : 6/12/2 ( BI-reserve มี blur แสดงว่ามองไกลคนไข้ยังมี accommodate อยู่ แสดงว่าค่าที่จ่าย under plus อยู่)

Vert.phoria : Ortho  (ไม่มีเหล่ซ่อนเร้นในแนวดิ่ง)

Sup-vergence : 3/1 (LE)

Inf-vergence   : 3/1 (LE)

 

ทดสอบที่ระยะ 40 ซม.

Horz.phoria : 3 BO ,esophoria

BI-reserve : x/16/16

AC/A 1:1 

 

Visual Function : Accommodation and Vergence 

BCC +1.50  (มีสายตาชรา ซึ่งต้องอาศัย add +1.50 ในการ add-on บน BVA เพื่อให้คนไข้ดูใกล้ชัดที่ 40 ซม.)

NRA/PRA  : +1.00/-1.00 ,base on BCC   (ที่ตำแหน่ง BCC คนไข้มี accommodation อยู่ +1.00D และสามารถเพ่ง accommodate ได้อีก +1.00D)

 

Doc Comment :
ชัดเจน เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า  “ตาเปล่าที่มองเห็นได้ชัดเจน หรืออ่าน VA ได้ดีกว่า 20/20 ไม่ได้หมายความว่าคนไข้ จะไม่มีปัญหาสายตา และไม่ได้หมายความว่า ฟังก์ชั่นการทำงานของดวงตาคนไข้จะเป็นปกติ” 

Manifest Hyperopia 
ซึ่งในเคสนี้ ความคมชัดด้วยตาเปล่าที่คนไข้มองเห็นชัดนั้น มีสายตาบวก (hyperopia) ซ่อนอยู่ถึง +0.75D (จริงๆมากกว่า) และมีสายตาเอียงแอบซ่อนอยู่ในสายตายาวอีกด้วย ซึ่งสายตาลักษณะนี้จะสร้างปัญหาอย่างหนึ่งคือ ทำให้เกิดการโฟกัสกลับไปกลับมาของการเพ่งของเลนส์ตา เรียกว่าภาวะ fluctuation ของระบบ accommodaion เนื่องจากสายตาเอียงปริมาณน้อยนี้ จุดโฟกัสที่ตกก่อน จุดโฟกัสที่ตกหลัง และ circle of least confusion ของทั้งสองจุดนี้ ไม่ห่างกันมาก ทำให้ Accommodation พยายามจะรวมโฟกัสให้เป็นหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถทำได้  จึงเกิดการกลับไปกลับมาของการ accommodation  ผลคือคนไข้จะรู้สึกชัดบ้าง ไม่ชัดบาง หรือเดี๋๋ยวชัดเดี๋ยวไม่ชัด เมื่อยล้าตาได้ง่าย เพราะอาการนี้จะเกิดขึ้นตลอดเวลา  ดวงตาจะดูกำ่ๆไม่สดใส  ดังนั้นถ้าเราเห็นคนไข้ที่ไม่ใสแว่นแต่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ปกติ ความคมชัดดี แต่พอดูดวงตาแล้วไม่สดใส ดูช้ำๆ แดงๆ โดยไม่มีต้อเนื้อหรือต้อลมร่วม ให้คิดไว้ก่อนว่าคนไข้ มี Hyperopia +astigmatism ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ 

Hyperopay (may) induce esophoria 
และอีกเรื่องหนึ่งคือ hyperopia ที่ค้างไว้อยู่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้เคสนี้ เป็น basic esophoria คือมี eso ทั้งไกล และ ใกล้ ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน  

Latent Hyperopia
อีกเรื่องหนึ่ง ที่ BVA +0.75D ที่เรา corrected เข้าไป ยังคงเป็นค่าที่คิดว่ายัง under plus หรือบวกน้อยกว่าค่าสายตาจริงอยู่ เนื่องจาก BVA ที่ได้เป็นค่าที่ได้จาก subjective test ซึ่งคนไข้อาจต้องการความชัดที่เกิดจากการ accommodation เล็กน้อยซึ่งเป็นความเคยชิน  ซึ่งค่าที่ฟ้องว่าเลนส์ตามีการ accommodate อยู่เพราะค่า  BI-reserve ที่มี blur (6/12/2)  ทำให้เชื่อได้ว่า คนไข้ยังคงมี latent hyperopia หลงเหลืออยู่บ้าง และจะคายออกมาในวันข้างหน้า ซึ่งวันนั้น hyperope ของคนไข้ อาจจะพุ่งไปถึง +1.25D ก็เป็นได้  ซึ่งต้อง Follow up กันต่อไป

Presbyopia (Addition) 
ค่าที่ได้มาคือ +1.50 D ซึ่งถ้าดูจากอายุแล้วก็เป็นค่าที่ make sense และก็เป็นค่าที่ถูก confirm ด้วยค่่า NRA/PRA (base on BCC) ที่บาลานซ์ คือ +1.00/-1.00

Accommodative convergence / accommodation  (AC/A ratio)
AC/A ratio =1:1  นั้นเป็นค่าบ่งชี้ที่ผมจะต้องจ่ายปริซึม 2.00 BO เพื่อแก้เขเข้าซ่อนเร้นให้กับคนไข้รายนี้ เนื่องจากว่า ขณะให้ดูใกล้ที่คนไข้มี Accommodation อยู่นั้น คนไข้ไม่ได้มี eso ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นั่นการ accommodate ไม่ได้ทำให้ eso เพ่ิมขึ้นแต่อย่างได ดังนั้นในเคสนี้ ต้องจ่ายปริซึมให้ visual function  ของคนไข้สามารถทำงานได้อย่างสมดุล 

 

Assessment 

   1.compound hyperopic astigmatism  (มองไกลเป็นสายตายาวและสายตาเอียง)

   2.Basic Esophoria  (มีเหล่ซ่อนเร้นในแนวเหล่เข้าซ่อนเร้น ทั้งมองไกลและมองใกล้ ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน)

   3.Presbyopia  (มีสายตาชรา จากการเสื่อมถอยของกำลังเพ่งของเลนส์แก้วตาที่ฟังก์ชั่นได้น้อยลง)

 

Plan 

  1. Full correction Rx

OD +0.75 -0.37 x 87  ,VA 20/10 @ 6 m

OS +0.75 -0.50 x 15  ,VA 20/10 @ 6 m       

  1. Prism correction ,Rx: split prism 1BO OD /1 BO OS
  2. Progressive additional lens prescription ,Rx : Rodenstock Multigressiv MyView PRO410 / Solitaire Protect PRO2

Case Analysis 

เคสนี้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายซะทีเดียว ซึ่งถ้าไม่ประมาทก็คงจะไม่พลาด แค่เคสลักษณะนี้เองที่พลาดกันเยอะ เนื่องจากคนไข้ hyperope นั้นง่ายที่จะผิด ผมถึงได้พูดซ้ำๆ ให้ค่อยๆซึม ทีละน้อยๆ จนกว่าจะเบื่อกันไปข้างหนึ่ง

 

"Not complain,  not (always) mean NO PROBLEM ! " 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนไข้เป็น hyperope ที่ตาเปล่าสามารถอ่าน VA 20/20 ได้ ก็มีแนวโน้มว่าจะได้ค่าสายตามองไกลมา 0.00 D + (Over) Addition มาให้เห็นเสมอๆ (และเข้ามาแก้อยู่เสมอๆ) เพราะการ over add ทำให้ประสิทธิเลนส์ลดลง โครงสร้างโปรเกรสซีฟแคบลงอย่างน่ากลัว  จ่าย 100 อาจได้มาแค่ 10 ถ้าสายตาผิดหรือจ่ายแอดดิชั่นผิด  ดังนั้นก่อนที่จะต้องคิดว่า จะใช้เลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นไหนดี  ให้คิดก่อนว่า "สายตาที่วัดได้มานั้น วัดมาถูกต้องแล้วหรือยัง แล้วเรามั่นใจได้แค่ไหนว่าถูกต้องแล้ว" ถ้ามั่นใจแล้วค่อยเลือกเลนส์ที่เหมาะกับสายตาหรือกรอบแว่นที่คนไข้เลือก 

เช่นเดียวกับเคสนี้ แม้ว่าตาเปล่าจะมองไกลได้คมชัด แต่ไม่ได้จะหมายความว่าฟังก์ชั่นอื่นๆของดวงตานั้นจะทำงานปกติ และก็ไม่ได้หมายความว่าสายตาจะปกติ เพราะเพียงแค่คำว่า “ชัดเพียงอย่างเดียว..ไม่ได้บอกอะไร” และไม่แก้ก็ไม่ได้เพราะว่าสายตาที่ไม่ได้แก้จะไปทำลายโครงสร้างโปรเกรสซีฟ ให้ประสิทธิภาพต่ำลง โดยเฉพาะกับสายตาเอียงที่ไม่ได้แก้ หรือแก้ผิดแกน หรือแก้ไม่หมด ล้วนส่งผลต่อสนามภาพโปรเกรสซีฟทั้งสิ้น 

ปัจจุบัน ระบบการดูแลสุขภาพสายตาของประเทศไทยมีปัญหากันมาก ยิ่งร้านเกิดใหม่มากก็ยิ่งสร้างปัญหามาก เพราะแข่งกันเรื่องพานิชย์อย่างเดียวโดยเน้นที่ราคาและโปรโมชั่นเป็นหลัก หนักไปกว่านั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณุสุขบางหน่วย ไม่ได้มองว่าการตรวจสุขภาพสายตาและระบบการมองเห็นไม่ใช่เรื่องการประกอบโรคศิลปะ ดังจะเห็นว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุข สถานบริการส่งเสริมสุขภาพ (สพส.) พยายามดันร่างกฎกระทรวงกิจการวัดสายตาประกอบแว่นในร้านแว่นตาออกให้ได้  เพื่อให้การตรวจสายตาเป็นเพียงเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ 

จึงไม่แปลกใจที่ว่า ระบบประกันสุขภาพหรือประกันสังคมไม่รับเรื่องสายตาเข้าไปในระบบ เพราะไม่มั่นใจว่า สายตาที่วัดกันอยู่ในบ้านเรานั้น มันได้มาตรฐานหรือเชื่อถือกันได้หรือเปล่า  ปวดฟัน ไปหาหมอฟันแล้วหายปวดฟัน  แต่ปวดตาไปหาร้านแว่น ได้แว่นมาจะหายปวดตาหรือเปล่า ถ้าเจอที่ที่เข้าใจก็ดีไป แต่เจอไม่ดีก็ซวยไป แต่ประกันสังคมเสี่ยงก็คงจะไม่กล้าเสี่ยงกับเรื่องซวย เพราะส่วนใหญ่ก็ยังเห็นๆกันอยู่ว่ายังมีปัญหาอยู่มาก  ยิ่งพยายามจะออกกฎกระทรวงสถานบริการว่าด้วยกิจการวัดสายตาประกอบแว่นในร้านแว่นตา โดยไม่สนใจเรื่องคุณภาพการให้บริการด้วยแล้ว  บอกได้คำเดียวว่า "เป็นเวรเป็นกรรมของ คนไทยโดยแท้" ที่มีผู้นำ ผู้มีอำนาจที่เห็นเพียงเฉพาะประโยชน์ตนเป็นที่ตั้งแบบนี้  (พูดแล้วพาขึ้น)  

 

กลับมาเรื่องเคส  ความคิดผิดๆเกี่ยวกับสายตาที่ว่า  “ของไม่เสีย...ก็อย่าไปซ่อม” “คนไข้ไม่ complain ก็ไม่ต้องไปแก้” ไม่รู้ว่าใครเริ่ม แต่ความคิดนี้แหล่ะ ที่เป็นช่องว่าง ให้เกิดการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานในการทำงานด้านบริการสายตาในบ้านเรา  เพราะเวลาจ่ายผิดๆไปก็บอกว่าให้คนไข้ปรับตัว หรืออย่าเอาชัด เพราะชัดแล้วมันจะปวดหัว  ได้ยินแล้วรู้สึกว่า "กรรมของไอ้เวรมัน"  จริงๆแล้ว เราต้องการสายตาที่คมชัดภายใต้ visual function ที่ทำงานปกติ ซึ่งถ้าหาจุดนั้นเจอรับรองได้ว่า “ทั้งคมชัด ทั้งสบายตา” แต่ปัญหาคือมันทำยากไง และส่วนใหญ่ยังใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือ Guideline มาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการตรวจสายตากันอยู่เลย 

ประเด็นคือ “จะดีกว่าไหม ถ้าเรารู้ปัญหาแล้วไม่ต้องให้เขาทนใช้ชีวิตอยู่กับระบบการทำงานที่ผิดปกติ  หรือจะดีกว่าไหม ถ้ารู้ว่ามีก้อนเนื้อที่อาจจะกลายเป็นเนื้อร้าย แล้วเอามันออกเสียแต่เนิ่นๆ ไม่เห็นต้องรอคนไข้ complain ว่าปวดแล้วค่อยผ่า”

 

"Sometime, VA 20/20 not (always) mean corrected" 

 

เรื่อง Hyperope พูดมาเยอะมากแล้ว พูดแล้วเจ็บคอ ผมทำเรื่องนี้ไว้โดยละเอียด ไม่อยากเขียนซ้ำ ไปย้อนอ่านกันดูนะครับ 

ลิ้ง... http://www.loftoptometry.com/Eyecare/viewcase/61/12

 

ทิ้งท้าย 

สิ่งที่อยากจะให้ท่องจำให้ขึ้นใจก็คือ “VA ที่ดีและคมชัด ไม่ได้หมายความว่า Visual Function จะทำงานปกติ” งานของทัศนมาตรไม่่ใช่แค่หา 20/20 แล้วเชียร์ขายแว่น ขายเลนส์ แล้วปิดการขาย แล้วชื่นชมกับ Volum เพราะนั่นมันวิถีพ่อค้า ไม่ใช่วิถีของคนที่คนเขานับถือว่าเป็นหมอ  "การเป็นหมอที่ใส่เสื้อกล้าม ยังดีกว่าพ่อค้าที่ใส่เสื้อกาวน์" 

 

ฝากถามให้คิดทิ้งท้ายว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า (ร่าง)กฎกระทรวง ว่าด้วยกิจการวัดสายตาประกอบแว่น เกิดบังคับใช้จริงขึ้นมา แล้วบังคับว่า ช่างแว่นตา ทำงานได้เพียง สั้น ยาว เอียง และสายตาชราและจะทำอย่างไรในกรณีคนไข้ที่มีเขเข้าซ่อนเร้น  ทำอย่างไรกับคนไข้ที่มี visual function anormalies  จะทำอย่างไรกับคนไข้เด็กที่มีปัญหากล้ามเนื้อตา  เพราะกฎหมายบอกห้ามไว้ชัดเจนว่าขอบเขตการทำงานนั้น ทำได้เพียง สั้น ยาว เอียง และสายตาชรา และทำในรูปแบบของร้านสปา (ส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่ การประกอบโรคศิลปะ)

 

ถ้าถามช่างแว่นที่ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าการทำ “พานิชยกรรม ตัวเลข กำไร ขาดทุน และความรู้ไม่ค่อยมี แต่เชียร์ขายของเก่ง” ก็คงบอกว่า “ก็ดี ไม่ให้ทำก็ไม่ต้องทำ(เพราะให้ทำก็ทำไม่ได้อยู่ดี) ก็เพียงแค่จ่าย สั้น ยาว เอียง และสายตาชรา และขายของได้เหมือนกัน เลนส์ที่จ่ายปริซึมกับไม่จ่ายปริซึมรุ่นเดียวกันก็ขายราคาเท่ากัน ที่เหนือกว่านั้น ลดราคา 51.7647% ได้อีกด้วย เพราะไม่ใช่สถานพยาบาลจึงสามารถทำตลาดในลักษณะนี้ได้ ดังนั้นในมุมมองของนักธุรกิจหรือนักลงทุนแล้ว ชนะใสๆ  ลูกค้าไม่รู้หรอก”  

 

ถ้าถามช่างแว่นตาที่มีอุดมการณ์และรักในวิชาชีพ ก็คงไม่ยอมถ้ากฎหมายออกมาแล้วทำให้เขาไม่สามารถบริการคนไข้ของเขาได้เต็มประสิทธิภาพ  ออกกฎมาให้เขาเป็นอัมพฤษ์ อัมพาต พิกลพิกาลทางความรู้ความสามารถ ยังไงก็ไม่ยอมให้กฎแบบนี้ออกมา  ก็ในปัจจุบัน ก็ยังทำอยู่ ตรวจฟังก์ชั่นอยู่ จ่ายปริซึมอยู่ และก็ทำได้ แก้ไขได้ คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และช่างแว่นตาที่ทำงานลักษณะนี้ เกือบทุกคนส่งลูกหลานเรียนทัศนมาตรกันหมด ดังนั้นต่อให้กฎหมายวัดสายตาประกอบแว่นคลอดออกมา ก็คงไม่ได้รู้สึกอะไร  แล้วช่างแว่นเก่งๆ ที่ยังไม่มีลูกหรือลูกยังไม่โต จะต้องหยุดทำ visual function เลยใช่ไหม

 

ถ้าถามเถ้าแก่ chain-store เขาจะตอบว่า​ “ดีเลย!!!  ทำแค่นี้ก็ขายได้ตังค์แล้ว  ไม่ต้องรู้เรื่องกล้ามเนื้อตาก็ได้  ไม่ต้องจ่ายหรอกปริซึมก็ไม่เห็นเป็นไร คนไข้ทนมาทั้งชีวิตแล้วทนอีกไม่นานเดี๋ยวก็ละจากโลกไปแล้ว เอากำไรตรงหน้าก็พอ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทำกรรมดีสายตาก็ดี กรรมไม่ดีก็สายตาไม่ดีแล้วเจอการวัดสายตาที่ไม่ดี ก็เป็นเวรเป็นกรรมกันไป ส่วนฉันเป็นเจ้าของกิจการ มีตังค์เยอะ ก็ไปใช้บริการดีๆกับทัศนมาตรก็ได้”

 

ถ้าถามโรงเรียนสอนช่างแว่น บอก “ดีเลย กฎกระทรวงแบบนี้ เปิดโรงเรียนสอนช่างแว่นก็สอนไม่ยาก มีคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง สอนเอาคางวางหน้าผากชิด ยิงจึกๆๆๆ ได้ค่ามา ก็สอนวิธีถามว่า “ชัดไหม ชัดไหม อันไหนชัดกว่า” ไม่ต้องสอน binocular ส่วน visual function ก็บ่ต้องไปสนใจ  ก็ดีเพราะฉันก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกัน  ยิ่งไม่ต้องวัดสายตาเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี แล้ว ยิ่งง่ายเลย ตรวจง่าย ”

 

ถ้าถามทัศนมาตร เขาจะบอกว่า ก็ดี “แยกกันชัดเจนดี ไม่ต้องอยู่ปนๆ เนียนๆ ขุ่นๆ กันอีกต่อไป ผู้บริโภคจะได้เลือกรับบริการได้ชัดๆ และไม่สามารถแอบอ้างกันได้อีกต่อไป รูปแบบการให้บริการแบบสถานพยาบาล กับ สปา แยกกันชัดดี"

 

ถ้าถามผู้บริโภคหรือผู้มารับบริการหล่ะ เขาจะตอบอย่างไร ถ้าเขารู้ว่ามีคนที่สามารถรู้ปัญหาและแก้ปัญหาให้เขาได้ทั้งระบบและที่ที่ว่านั้น ต้องเป็นสถานบริการ การประกอบโรคศิลปะทัศนมาตรเท่านั้น  ไม่สามารถทำได้ในร้าน “สปาแว่น” แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับร้านแว่นตาทั่วไป 

 

และถ้าผมถามท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้ ถามแบบจริิงๆว่า “ถ้าเกิดคุณรู้หรือคุณสงสัย ว่าคุณมีอาการปวดเมื่อย ล้าดวงตา เห็นภาพซ้อน หรือใครสักคนที่มีปัญหาสายตาหรือระบบการเห็นอื่นๆ คุณจะไปหาใคร ระหว่างทัศนมาตรที่จบปริญญาเฉพาะทางมา เรียนมา 6 ปี  ทำงานประกอบโรคศิลปะทัศนมาตร มีเชี่ยวชาญเฉพาะทางสายตาและระบบการมองเห็นทุกระบบ ขอบเขตการทำงานด้านตาทุกระบบ เว้นเพียงการผ่าตัดกับการรักษาโรคตาด้วยยาซึ่งเป็นงานของจักษุแพทย์ กับช่างแว่นตาที่ถูก สพส. จับมาอบรม 300 ชั่วโมง จ่ายค่าเรียนให้โรงเรียนที่หลักสูตรจะสอนอะไรบ้างก็ยังไม่รู้ เพราะยังไม่มีรุ่นแรก (ได้ยินว่ามีโอดีกาฝาก 4 คนช่วยร่างหลักสูตร) แล้วให้ทำงานในลักษณะส่งเสริมสุขภาพไม่ใช่การประกอบโรคศิลปะ ในรูปแบบของ “สปา” มีขอบเขตการทำงานเพียง สั้น ยาว เอียง และสายตาชรา มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการทำการตลาดโปรโมชั่นลดราคาตลอดปี  ท่านจะเลือกใช้บริการกับใคร 

 

คำถามสุดท้าย อยากถามช่างแว่นตาว่า จะเอากฎกระทรวงนี้จริงๆหรือ  แต่ถ้าท่านมองว่า ท่านสามารถทำได้มากกว่า สั้น ยาว เอียง และสายตาชรา  ซึ่งท่านทำอยู่และทำได้ดี และอยากพัฒนาศักยภาพตัวเองให้สูงขึ้นไป ท่านต้องเปลี่ยนความคิดว่า การตรวจสายตาและระบบการมองเห็นเป็นเรื่องของการประกอบโรคศิลปะ นั่นหมายความว่า ท่านต้องช่วยกันคัดค้าน ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการวัดสายตาประกอบแว่นในร้านแว่นตาให้สำเร็จ แล้วเข้ามาอยู่ใน ร่าง พรฎ.การประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตร แล้วเราจะช่วยท่าน  เพื่อผลประโยชน์สูงสุดคือ ประชาชนในประเทศไทยของเราจะได้รับประโยชน์สูงสุดในการบริการ 

 

ฝากถาม "สมาคมแว่น" ว่าท่านจะนำพาคนไทยและสมาชิกช่างแว่นของท่าน ไปสู่จุดจบแบบนี้ จริงๆหรือ อย่าให้ท่านเป็นตราบาปให้ช่างแว่นตาต้องคิดถึงท่านว่าท่านพาเขามาลงเหวเลย  ผิดชอบชั่วดี เด็กอายุเกิน 7 ขวบ สามารถแยกแยะได้  อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด เอาวิญญาณพ่อค้าออกจากตัว แล้วมองถึงโลกที่น่าอยู่และงดงามบ้าง คนเราอายุไม่เกิน 100 ปีก็จากโลกนี้ไปทุกคน เอาไปได้เพียงคุณความความดี  แต่ถ้าคิดว่าดีแล้วก็ทำต่อไป  แต่ทางผมก็ต้องต่อสู้เพื่อวิชาชีพทัศนมาตรและช่างแว่นตาที่รักวิชาชีพเต็มที่เหมือนกัน แต่จะทำได้แค่ไหน ก็ต้องอาศัยทุกท่านช่วยกัน ถ้าช่วยดึงท่านขึ้นมาไม่ได้ผมก็เสียใจ เพราะเงินผมไม่หนาเท่านายทุน ที่จะใช้เงินเสกกฎอะไรออกมาก็ได้ 

 

สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์ 


578 ถ.วัชรพล บางเขน กทม 10220

090 553 6554

line : loftoptometry

fb: www.facebook.com/loftoptometry