Loft Optometry Lecture 5 : ภาวะตาแห้ง (Dry eye) 


Loft Optometry Lecture 5

เรื่อง ภาวะตาแห้ง (Dry eye) 

เขียนโดย ทัศนมาตร ชัชวีร์ กิตติพงศ์วิวัฒน์ (Dr.Dear) ,O.D. ,BS.(RT) 


นำเรื่อง

สวัสดีครับ เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยิน ได้ฟัง เรื่องราวเกี่ยวกับภาวะตาแห้งมาไม่มาก ก็น้อย วันนี้ผมขอนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของภาวะตาแห้งว่าเกี่ยวข้องกับสายตาหรือการตรวจสายตาอย่างไร


 แน่นอนว่าตาแห้งเป็นความแปรปรวนของชั้นน้ำตาที่ฟังก์ชั่นทำงานผิดปกติไป ก่อนอื่นเราจึงควรทราบโครงสร้างและหลักการทำงานของชั้นน้ำตาก่อน

 

Anatomy & Physiology of tear film

น้ำตา (tear film) ประกอบไปด้วย 3 ชั้น วางตัวเคลือบอยู่บนชั้นผิวของกระจกตา

1.lipid layer หรือ ชั้นไขมัน สร้างจาก meibomian gland,Gland of Moll,Gland of Zeiss จะหลั่งน้ำมันทุกครั้งเมื่อกระพริบตา มีหน้าที่สำคัญคือลดการระเหยของน้ำตามีส่วนประกอบของ wax ester 32%,sterol ester 27%,fatty acid 2% ดังนั้นในคนที่เป็น meibomian gland dysfunction(MGD) จึงเกิดภาวะตาแห้งได้เช่นกัน

 

2. Aqueos Layer หรือ ชั้นน้ำ สร้างจาก Lacrimal gland มีหน้าที่สำคัญคือ เป็นแหล่งอาหารให้แก่กระจกตา มี lysozyme ทำลาย cell wall ของแบคทีเรีย และยังมี Lactoferrin ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

 

3.Mucous layer หรือ ชั้นเมือก สร้างจาก Goblet cells ซึ่งอยู่ชั้นในสุดของชั้นน้ำตาอยู่ชิดกับ ชั้น epithelium ของกระจกตา มีหน้าที่สำคัญคือทำให้ผิวสัมผัสกระจกตาเกาะตัวกับน้ำตาได้ดี และยังปกป้องชั้น epithelium ของกระจกตาจากแรงกดและบีบ 

รูป1 :  ชั้นน้ำตา (tear film) (a) การกระจายตัว; (b) โครงสร้าง  
(cr.image :© Springer Science+Business Media Singapore 2016) 

 

หน้าที่ของชั้นน้ำตา

1. เคลือบผิวกระจกตาและรักษาให้ผิวหักเหของกระจกตานั้นเรียบ 
2. รักษาสภาพของ epithelial cell ในชั้นกระจกตา และเยื่อบุตาขาว ให้เป็นปกติ
3. หล่อลื่นการขยับตัวของเปลือกตา
4. ป้องกันเชื้อ bacteria
5. ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการกระบวนการเผาผลาญในดวงตา
6. เป็นทางผ่านของเม็ดเลือดขาว ในกรณีที่มีการบาดเจ็บบริเวณดวงตา
7. ชะล้างสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอันตรายแก่ดวงตา เช่น ฝุ่น แมลง ขนตา เป็นต้น 

 

ภาวะน้ำตาไหล (tearing) แยกได้3กรณี

1. น้ำตาสร้างมากไป เกิดจากสิ่งเร้ามากระตุ้น เช่น ความร้อน ฝุ่นละออง แสงแดด อากาศแห้งๆจะกระตุ้นให้หลั่งน้ำตามาก
2. ตาแห้ง  ตาแห้งทำให้เกิดอาการระคายเคือง ซึ่งเป็นการกระตุ้นสมองให้หลั่งน้ำตาออกมามากกว่าปกติ
3. มีการอุดตันของระบบท่อทางเดินน้ำตาเอ่อล้นออกมานอกดวงตา

 

หลักสรีระวิทยาของชั้นน้ำตา 

ฟังก์ชั่นของชั้นน้ำตามีความสัมพันธ์โดยตรงกับการกระพริบตา ดังนั้นก่อนอื่นเราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกระพริบตาก่อน
ในคนปกติจะกระพริบตา 18 ถึง 4 ครั้ง ต่อนาที แต่อัตรานี้จะลดลงขึ้นกับว่าทำกิจกรรมอะไรอยู่ เช่น มองหน้าจอมือถือนานๆไม่ค่อยกระพริบตาจะเกิดตาแห้งเคือง และมองไม่ชัด

 

ชนิดของการกระพริบตา

1. Spontaneous blinks คือ คนเราจะกระพริบตาเองโดยธรรมชาติไม่มีสิ่งใดมากระตุ้น กระพริบได้เองตั้งแต่อายุ 3 เดือน เป็นต้นไป การกระพริบแบบนี้ไม่ขึ้นกับการตอบสนองต่อแสงของจอประสาทตา ดังนั้น คนตาบอดจึงกระพริบตาได้

 

2. Reflex blinks คือการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น แสงจ้า ฝุ่น เสียงดังๆ หรือสิ่งใดก็ตามที่มาแตะสัมผัสก่อการระคายเคืองต่อผิวสัมผัสของดวงตา

 

Diagram สรุปการทำงานของระบบการกระพิบตา ซึ่งมีระบบประสาทที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นระบบประสาทรับรู้สัมผัส sensory (trigeminal nerve – สีเขียว), secretomotor (facial nerve –สีแดง) และระรบบประสาทอัตโนมัติ sympathetic (สีน้ำเงิน) ที่เข้าไปควบคุมการทำงานของต่อมน้ำตา ( lacrimal gland)

 

การผลิตและทางเดินน้ำตา

ความรู้สึกของผิวสัมผัสดวงตานั้นถูกควบคุมด้วย เส้นประสาท Trigeminal nerve (CN V) ไปยังสมองซึ่งเกี่ยวกับการผลิตและหลั่งน้ำตา

 

โดยปกติน้ำตาจะหลั่ง 1.2 ไมโครลิตรต่อนาที หรือประมาณ 1 มิลลิลิตรต่อวัน แต่การร้องไห้จะหลั่งมากถึง 100 ไมโครลิตรต่อนาที โดยปกติน้ำตาที่เคลือบผิวกระจกตาจะมีปริมาตร 8 ไมโครลิตร และมีความหนา 7 ไมครอน

 

Aqueous หรือน้ำตา ถูกสร้างจาก Lacrimal gland ที่อยู่ใต้เปลือกตาบนส่วนหางตา เมื่อกระพริบตาจะไล่น้ำตาออกไปที่ Lacrimal punctum ที่บริเวณหัวตา และไหลลงสู่ท่อน้ำตา Lacrimal sac และผ่านไปยังท่อน้ำตา nasolacrimal duct เพื่อลงไปยังโพรงจมูก และไหลลงสู่คอต่อไป  (ดูรูปล่างประกอบ)

 

การสร้างและทางเดินของระบบน้ำตา
cr : teachmeanatomy.info

 

Mechanism of Lacrimal Drainage

น้ำตาจะไหลตามจังหวะการกระพริบตา (ดูรูปล่างประกอบ)
1. เมื่อเปิดตา ท่อ canaliculi ซึ่งต่อกับ punctum จะมีขนาดปกติ
2. punctum เริ่มตีบ และดันน้ำตาไปตามท่อ
3. เปลือกตาจะไปชิดกับ canaliculi และ sac ท่อจะบีบตัวและไล่น้ำออก
4. เมื่อตาปิดสนิท ในcanaliculi จะไม่มีน้ำตาอยู่เลย โดยบีบไล่น้ำตาลงสู่ nasolacrimal duct
5. เมื่อเริ่มลืมตาท่อจะขยายตัว
6. เมื่อเปิดตาเต็มที่ น้ำตาชุดเก่าจะไหลออกหมด โดยมีแรงดันให้น้ำตาชุดใหม่เข้าสู่ท่อ canaliculi และน้ำตาชุดใหม่จะเข้ามาแทนที่เคลือบที่ผิวกระจกตา

Mechanism of Lacrimal Drainage
cr. Sangly p. srinivas lecture slide

ปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะตาแห้ง

1. อายุมาก เพศหญิง วัยทอง
2. การใช้ยาบางประเภท เช่น ยาแก้แพ้
3. ผ่านการทำ LASIK มาก่อน
4. ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีอากาศแห้งๆ เช่น ห้องแอร์
5. ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง (SLE)
6. ผู้ป่วยมะเร็งบริเวณ ศีรษะและลำคอ ซึ่งได้รับการฉายแสง (Radiation Therapy)
 7. ผู้ที่มีประวัติใช้คอนแทคเลนส์ มาเป็นระยะเวลานาน
 8.ผู้ที่มีภาวะต้อลม ต้อเนื้อ   

อาการ

เคือง คัน แสบ มีน้ำตาไหล ต้องกระพริบตาบ่อยๆ หรือมองภาพไม่ชัด เช่น การดูมือถือเป็นเวลานาน อัตรากระพริบตาจะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ น้ำตาจะมาเคลือบผิวตาไม่เพียงพอ

 

กระบวนการระเหยตัวของชั้นน้ำตา

เมื่อไม่ได้กระพริบตา ชั้นน้ำตาที่เป็นลักษณะคล้ายๆเกาะจะสลายตัว ดังนั้นผิวเคลือบกระจกตาจะหายไป ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของชั้น lipid

 

วิธีการวินิจฉัยโรคตาแห้ง

ช่วงเวลาที่ปกติชั้นน้ำตาจะคงอยู่ได้โดยไม่กระพริบตาเราเรียกว่า Tear break up time(TBUT) ในคนสุขภาพตาปกติจะอยู่ที่ 10 ถึง 180 วินาที ถ้าน้อยกว่า 10 วินาที จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นตาแห้ง

 

TBUT

การทดสอบ TBUT ต้องใช้ slit lamp และย้อมสีกระจกตาด้วย Fluorescein โดยใช้ cobalt blue ร่วมกับ Yellow filter จะเห็นเป็นชั้นฟิล์มสีเขียว เริ่มจับเวลาตั้งแต่ให้ผู้ป่วยกระพริบตาครั้งสุดท้าย และห้ามกระพริบตาจนกระทั่งสังเกตเห็นจุดสีดำ ถ้าน้อยกว่า 10 วินาที ถือว่ามีภาวะตาแห้ง

Tear break-Up Time
cr: varpa.es/research/optics.html

 

Schirmer ‘s Tests

ใช้การตรวจที่เรียกว่า Schirmer Test มักจะตรวจในโรงพยาบาล ซึ่งมีการใช้ยาชาร่วมด้วย และใช้แผ่นกรองเช็คน้ำตาวางตรงหางตาทั้งสองข้าง ให้ผู้ป่วยหลับตา 5 นาที ดูขนาดความยาวของแถบน้ำตาที่ซับได้ โดยค่าปกติอยู่ที่ประมาณ 15- 25 mm. ใน 5 นาที แต่ถ้าได้ความยาวน้อยกว่า 5 mm. ใน 5 นาทีถือว่าตาแห้ง

Schirmer ‘s Tests

 

แนวทางการรักษาภาวะตาแห้ง

1. ใช้น้ำตาเทียมที่มีสารกันบูด (preservative) หรือไม่มีสารกันบูด (non-preservative) เสริมเข้าไป ส่วนจะเลือกใช้ตัวไหนนั้น ส่วนมากจะแนะนำให้ใช้ non –preservative หรือเลือกใช้ตัวที่รู้สึกสบายตาที่สุด

 

2. การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สายตา เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือ มือถือเป็นเวลานาน แนะนำให้ลดการใช้สายตาลง เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เมื่อจ้องอะไรนานๆ ตาจะกระพริบน้อยลง ยิ่งในออฟฟิตเป็นห้องแอร์ด้วย จึงก่อให้เกิดตาแห้งได้ แต่เมื่อต้องทำงานในภาวะเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจพิจารณาใช้น้ำตาเทียมเสริม พักสายตาบ่อยๆ ซึ่งถ้ามีการงานคอมพิวเตอร์หรือมือถือ ติดต่อกันเป็นเวลานาน เลนส์กลุ่ม blue control ก็คงช่วยอะไรไม่ได้ ยิ่งไม่รวมถึงปัญหาการทำงานร่วมกันสองตา (binocular function) ที่ไม่ได้รับการแก้ไข คงจะปวดหัวปวดตาทั้งวันเป็นแน่แท้ ดังนั้นคนไข้ควรจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีอาการไม่สบายตาต่างๆ แท้จริงแล้วมันเกิดจากอะไร

 

3. อาการตาแห้งอื่นๆที่ไม่ได้เกิดจากการระเหยของชั้นน้ำตา เช่นทางเดินท่อน้ำตาอุดตัน หรือต้องมีการใช้ยาต่างๆร่วมในการรักษา ควรปรึกษาจักษุแพทย์

 

Case study 

     ผู้ป่วยชายอายุ 42 ปี มาด้วยอาการเวลาอ่านเอกสาร หรือมือถือใกล้ๆไม่ค่อยชัด รู้สึกต้องเพ่งตลอดเวลาดูใกล้ๆ ต้องยืดออกจึงจะดีขึ้น เป็นมา 1 ปี มองไกลดูปกติดี แต่บางคร้งเห็นภาพเบลอบ้าง เวลากระพริบตามากๆอาการจะดีขึ้น  

 

ประวัติสุขภาพร่างกาย และสุขภาพตา
ไม่เคยตรวจตามาก่อน สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มียาที่ทานรักษาโรคเป็นประจำ และไม่เคยผ่าตัดหรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตามาก่อน ไม่เคยใช้แว่นสายตามาก่อน
อาชีพ นักบัญชี

 

Preliminary test
VA ไกล 20/20 OD,OS,OU
VA ใกล้ 20/40 OD,OS,OU
cover test : ortho

 

Refraction
Autorefraction   
OD + 0.25 - 4.75 x 154***    
OS + 0.25 - 500 x 168***


Retinoscopy
OD plano VA20/20
OS plano VA20/20


Subjective (BVA)
OD plano VA20/20
OSplano VA 20/20

 

Binocular function
BCC +1.00,
NRA/PRA : +1.00/-1.00 (rely BCC)
phoria : normal

 

Ocular health

TBUT R=5 Sec. ,L=6 Sec.

 

Assessment

1. Refraction : E M M E T R O P I A
2. Binoc & accommodation : P R E S B Y O P I A
3. Ocular health : Dry eye

 

Plan

1. correction 
   OD plano
   OS plano 
2.  Progressive Additional lens  correction = +1.00D
3. ให้ใช้น้ำตาเทียมหยดวันละ 4 ครั้ง ต่อวัน

 

Case analysis
เคสนี้พิจารณาจากประวัติ และดูจากอายุก็อาจจะวินิจฉัยได้แล้วว่ามีสายตายาวตามวัย (สายตาชรา) แต่ที่น่าสนใจคือมี มองไกลเบลอในบางครั้ง กระพริบตาชัดขึ้น เมื่อลองดูค่าสายตานั้น ซึ่งจากการยิง Autorefraction ซึ่งส่วนมากผมจะลองดูเพื่อเทียบกับค่าจาก retinoscope  พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันเลย เพราะดูจาก VA ตาเปล่าก็อ่านได้แถว 20/20 ทั้งสองข้าง แล้วสายตาจะออกมาเป็น hyperope และเอียงขนาดนั้นได้อย่างไร ปรากฏว่า ค่าจาก Retinoscope ก็เป็น plano ทั้งสองข้าง ที่เป็นเช่นนั้นผมเชื่อว่าคนไข้ที่มีภาวะตาแห้ง ผิวชั้นน้ำตาไม่สม่ำเสมอ เครื่อง Auto เลยไปจับคำนวณเอาซักจุดค่าเลยออกมาเป็นแบบนี้ 



ในขณะที่ refraction อยู่นั้นพบว่า คนไข้มองตัวเลขเห็นได้อยู่พักหนึ่ง อีกไม่กี่วินาทีต่อมาเบลอลง เนื่องจากห้องตรวจแสงน้อยใช้ไฟ dim light รูม่านตาจะขยายเต็มที่ ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะตาแห้งจะ sensitive ต่อแสงประเภทนี้มาก สมองจึงการให้น้ำตาหลั่งออกมาเคลือบผิวชั้นน้ำตามาก ดังนั้นจึงเกิดฝ้าหมอกเกาะตามเลนส์ในเครื่อง phoropter ทำให้คนไข้เห็นตัวเลขเบลอไปหมด

 

ในเบื้องต้นผมคาดว่าคนไข้น่าจะมีอาการตาแห้ง จึงให้ไปหยอดน้ำตาเทียมก่อน และ10นาที กลับมาตรวจใหม่ ปรากฏว่าอาการดีขึ้น ตรวจต่อจนจบได้ ซึ่งค่า BVA ได้ออกมาเป็น plano ทั้งสองข้าง BCC+1.00 ค่า PRA และ NRA ก็ลดลงจากค่าปกติ เนื่องจากความยืดหยุ่นของเลนส์ตาลดลง ตามวัยก็สมเหตุสมผลกัน

 

สุดท้ายได้ตรวจ TBUT test เพื่อทดสอบสมมติฐานว่าคนไข้เป็นตาแห้งจริงๆ ผลออกมา ต่ำกว่า 10 Sec. ทั้งสองข้าง สรุปได้ทันทีว่า คนไข้คนนี้มีภาวะตาแห้งจริงๆ


สรุป


เคสนี้ correct ค่าสายตาไปตามอาการ และให้ใช้แว่น Progressive lens ไป เพื่อให้คนไข้ใช้สายตาได้เหมาะกับงานที่ทำ และแนะนำให้ใช้น้ำตาเทียม ชนิด non-preservative ไป วันละ 4 ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง หรือใช้เมื่อมีอาการ

 

การตรวจสายตานั้น ถ้าซักประวัติได้ดี เกือบ 65% ก็สามารถที่จะวินิจฉัยปัญหาจาก Chief Complaint ได้แล้ว เพียงแต่ร้านแว่นส่วนมากในประเทศไทยนั้น ลูกค้าเข้ามากด Auto 2 จึก เสียบค่าสายตา จ่ายแว่น ตกลงจะเอากันแบบนี้จริงๆหรือ แต่ถ้าร้านไหนทำตามหลักมาตรฐานอันนี้ก็ขอชื่นชม สมมุติเคสนี้ถ้าเล่นกันง่ายๆแบบนั้นจริง คงจะได้แว่นสายตาเอียงแบบ Hardcore ไปเมาเล่น ปรับซักปีนึงไม่รู้จะ adaptation ได้รึเปล่า ว่าไปว่ามาไหงมาเข้าเรื่องนี้ได้ สงสัยได้รับ DNA มา  เอาเป็นว่าอยากฝากไปถึงนักทัศนมาตรท่านอื่นๆ ให้ทำงานสมกับที่เรียนมาเป็น Doctor degree และมีใบอนุญาติให้ประกอบโรคศิลป์ ซึ่งควรจะรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพนี้ให้ดีที่สุด

 

Content นี้เขียนครั้งแรกในฐานะนักทัศนมาตรวิชาชีพ คิดเห็นอย่างไรติชมกันได้ครับ ไว้พบกันใหม่ในโอกาสต่อไป ขอบคุณ ดร.ลอฟท์ ที่ให้พื้นที่ผมในการแชร์และแบ่งปันข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ แก่ผู้อื่นไม่มากก็น้อย 

ขอบคุณและสวัสดีครับ


Chatchawee,O.D. ,BS.(RT)


 

ทิ้งท้าย (ดร.ลอฟท์)

ประการแรกเลยต้องขอขอบคุณ Dr.Dear  ที่เขียนบทความให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องตาแห้ง พร้อม case study ที่น่าสนใจมากๆ ด้วยมลภาวะทางอากาศปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่อง ฝุ่น ควัน ละอองควันพิษ หรือจะ P.M.2.5 เหล่านี้ล้วนทำอันตรายต่อดวงตาได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกับการกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ 

 

โลกทั้งใบที่เราเห็นว่ามีอยู่นั้น เข้าไปสู่ร่างกายของเราผ่านช่องเล็กๆที่เรียกว่า รูปม่านตา ดังนั้น ดวงตาคืออวัยวะเดียวที่ open และ expose กับสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยไม่มีเกราะป้องกันเหมือนกับอวัยวะอื่นๆ ที่มีผิวหนังห่อหุ้ม  ดังนั้น  ฝุ่น ควัน มลภาวะ เชื้อโรค เหล่านี้  ย่อมไปรวบกวนการทำงานของดวงตาให้ทำงานผิดปกติ นำไปสู่การเป็นโรคตาแห้ง และลามไปเป็นโรคอื่นๆตามลำดับ  

 

ดังนั้นอวัยวะส่วนหน้าสุดของดวงตา หรือ anterior segment  ทำหน้าที่เป็นด่านปราการแรกที่จะต้องสัมผัสกับมลภาวะ ทำให้อวัยวะต่างๆบริเวณนี้จึงต้องมีวิวัฒนาการให้มีความสามารถในการป้องกันตัวเองและอวัยวะภายใน และกลไกหนึ่งที่สำคัญมากก็คือฟังก์ชั่นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างชั้นน้ำตา ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับเรื่อง การสร้างน้ำตา การระบายน้ำตา รวมถึงภาวะของโรคตาแห้ง จึงเป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจ

 

บทความนี้แม้จะเป็นชิ้นแรกของ ดร.เดียร์ แต่ก็เขียนได้ดีมาก และผมและแฟนคอลัมน์หวังว่าจะได้บทความของ ดร.เดียร์ มาให้แฟนคอลัมน์ได้อ่านในโอกาสต่อไป  และหากน้องๆคนไหน มีทักษะทางด้านการเขียน หรือมีความรู้ มีเคส ที่อยากจะแชร์ให้กับคนอื่นๆได้ฟัง  ผมก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวกลางในการนำสารนั้นสู่ผู้อ่าน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพต่อๆไป 

 

เท้าความถึง ดร.เดียร์  

มหาเดียร์เป็นหนึ่งในกลุ่มโอดี 3 มหา ประกอบไปด้วย มหาแจ๊ค มหาลอฟท์ และ มหาเดียร์  ซึ่งเป็น 3 มหาที่มีจุดยืนที่ชัดเจนในการยกระดับวิชาชีพทัศนมาตรให้เป็นวิชาชีพสำคัญที่ดูแลด้านสุขภาพสายตาประชาชนคนไทย ให้ได้รับการดูแลที่ดีทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว  ด้วยการทำหน้าที่ของทัศนมาตรให้เต็มประสิทธิภาพอย่างคณาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สอนให้เราเป็นว่า " YOU ARE DOCTOR , YOU ARE VISION CARE PROFESSIONAL .SO, YOU HAVE TO LEARN  ,TO THINK ,TO DO LIKE A DOCTOR NOT like A SELLER "

 

ดังนั้นสิ่งที่หวังได้จากเราคือ มาตรฐานของการทำงานระดับวิชาชีพทัศนมาตร และพวกเราจะทำตัวเป็นแบบอย่างว่า ทัศนมาตรแท้จริงนั้น ทำงานอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการเดินตามของน้องๆทัศนมาตรรุ่นหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ  จริยวัตรที่งดงามบนเส้นทางวิชาชีพทัศนมาตร ให้ทัศนมาตรนั้นได้ถูกเรียกว่า หมอทัศนมาตร จากส่วนลึกในใจ  ไม่ว่าเส้นทางจะรกชัฏอย่างไร มีอุปสัคอย่างไร พวกเราเหล่า 3 มหา ก็จะคอยให้กำลังใจให้กันเสมอ เพื่อให้ยืนหยัดในอุดมการณ์และเดินต่อไปได้ 

 

ขอบคุณ มหาทั้งสอง ที่เลือกลงเรือลำเดียวกัน เพื่อไปสู่จุดหมายเดียวกัน  หากท่านไหนอยู่ต่างจังหวัด มหาทั้ง 2 ที่อยู่ใกล้ท่าน ดร.แจ๊ค พิจิตร (สุธน การแว่น) และ ดร.เดียร์ เชียงใหม่  (โตเกียว ออพติก เชียงใหม่ ไปถามดูว่าเขาอยู่สาขาไหน  สาขาไหนคนไม่วุ่นวาย เขาจะหนีไปอยู่สาขานั้น เพราะทัศนมาตรทำงานละเอียด ต้องคิดวิเคราะห์เยอะ ทำเคสเยอะไม่ได้ โทรถามที่ office ก็ได้ที่เบอร์ 053-212092 แล้วถามว่าเขาอยู่สาขาไหน ก็ไปพบเขาได้ที่นั่นครับ  ) เขาทั้ง 2 ช่วยให้ท่านให้ "ได้มองโลก....เห็นโลกงาม" ได้อย่างแน่นอน 

ขอบคุณครับ

ดร.ลอฟท์


Reference
- จักษุจุฬา,ผศ.พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ, ภาวะตาแห้ง;พิมพ์ครั้งที่2 เดือน ก.ย.2559
- เอกสารคำสอนวิชา Ocular Physiology โดย Dr.S.P.Srinivas,School Of Optometry ,Indiana University,Bloomington