Case Study 14 : ตาเปล่า ชัด อาจไม่ได้แปลว่า สายตาปกติ เสมอไป  


Case Study 14 :   ตาเปล่า "ชัด" อาจไม่ได้แปลว่า "สายตาปกติ" เสมอไป  

เรื่องโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี O.D.

เขียน 10 มี.ค.2562


อารัมภบท

วันนี้แวะเอาแว่นพี่เล็ก (Lek Ureka) มาให้ชมกัน  เป็น rim titanium รุ่น Max  อยากทำเป็นโปรเกรสซีฟกันแดดเพิ่มอีกสักอัน หลังจากหลงไหลในความเบาของ rim Robin ไปแล้วก่อนหน้านี้ เอาไว้ใส่เล่นแทน ic ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน หลังจากรู้สึกว่าที่ใช้อยู่นั้นเริ่มจะ mass แล้ว 

 

เบื่อ mass ทำไง

ในอดีตนั้นกรอบแว่นตาทุกแบรนด์บนโลกนี้เกือบ 100 % นั้นเป็นสินค้าสำเร็จ ดังนั้นการเลื่ยง mass นั้นเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก  วิธีแก้อาการเบื่อ mass ง่ายที่สุดก็คือสั่งทำตามใจชอบ แม้จะสั่งไปแล้วมันจะคล้ายคนอื่นบ้างก็ตาม แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างเช่น ความยาวขา  หรือลักษณะบานพับ การสั่งทำ option หุ้มปลายขา ก็ช่วยให้เรารู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับแว่นตาที่เราใส่อยู่บ้าง หรือย่างน้อยที่สุด การทำ name engraving laser ไปที่ขาก็ทำให้แว่นตาเราดูไม่ mass แล้ว 

แบรนด์แว่นที่ตอบสนองเรื่องนี้ได้ที่ที่สุดก็คงหนีไม่พ้น Lindberg อีกเหมือนเคย

 

Lindberg Red Devil Sun

แว่นตัวนี้ ความต้องการนั้นเน้นไปทางแฟชั่น ใส่สนุกๆ ไม่ต้องสุภาพมาก เป็นกันแดด ให้มองถนนชัด มองหน้าปัดรถชัด ใครโทรมาหยิบมือถือก็รู้ แต่ต้องมีความแอบหรูลึกๆ ดังนั้น main body ใช้ไทเทเนียมสีเงินปัดเงา P10  พี่เล็กเป็นคนขมับข้างโต ดังนั้นขาที่ใช้เป็นแบบ wide (W) ใช้ ring acetate เป็นสีแดงเลือดหมูแบบเงา K164  แล้วหุ้มปลอกปลายขาเป็นสีแดงเลือดหมู K182 ให้เหลือลวดไทเทเนียมเงาๆ โผล่แพลมๆ กลายเป็น Lindberg Red Devil Sun ที่สวยลงตัว 

ส่วนเลนส์นั้นขอใช้รุ่นเดิมที่ทำสายตาคือ Multigressiv MyView 2 สั่งทำไล่สีน้ำเงิน Steel Blue 85-40% แล้วเคลือบพรีเมี่ยมโค้ตติ้ง Solitaire Protect Sun 2 เข้าไป ก็เข้ากับกรอบดี เรื่องประสิทธิภาพเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นนี้แม้จะยังไม่สุด แต่ถ้ามองถึงความจำเป็น ทั้งปัจจัยค่าสายตา ค่าพีดี และแว่นที่เลือกแล้ว รุ่นนี้เรียกว่า best performance price หรือดีมากพอ และถ้าเทียบกับเลนส์ตลาดแล้วเรียกได้ว่า “มา! ใครก็ได้” ( Rodenstock ไม่ได้กล่าวไว้ )

 

กลับมาที่เรื่องของเคสกันสักหน่อย 

พี่เล็ก คนไข้ชาย อายุ 45 ปี มีปัญหาอ่านหนังสือไม่ชัด รู้สึกมาประมาณ 2 ปี แต่ช่วงหลังมานี้ อาการเริ่มจะเป็นมากขึ้น มีปัญหามากเวลาเข้าห้องประชุมที่ต้องใช้สายตาดูทั้งเอกสารใกล้ตัวและมองจอโปรเจคเตอร์  ปัจจุบันดูใกล้ใช้แว่นอ่านหนังสือ เป็นเลนส์ระยะเดียว แต่ใส่แล้วปวดหัว ตาลาย  เวลาใส่รู้สึกเหมือนแว่นขยาย ถ้าเอาไว้ด้นด้ายใส่รูเข็มน่าจะเหมาะ แต่ใช้ชีวิตจริงไม่ได้ เคยคิดอยากทำโปรเกรสซีฟ แต่คนรอบๆตัวที่ไปทำๆมานั้น fail กันทุกคน ก็เลยกลัว และอยากมาปรึกษาเรื่องทำโปรเกรสซีฟ  ส่วนตาเปล่ามองไกลขับรถชัดเจนดี ไม่ได้รู้สึกว่ามีปัญหาสายตาที่กระทบกับการมองไกล ดังนั้นปัจจุบันที่ใช้อยู่จึงเป็นแว่นกันแดดอย่างเดียว 

 

สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มียาทานประจำ  ดื่ม IPA บ้างตามโอกาส  (เพียงแต่โอกาสบ่อยเท่านั้นเอง)  

 

ทำงานบริหาร ใช้สายตา ขับรถเยอะ เข้าห้องประชุม ติดตามงานทางไลน์ อ่านรายงาน เซ็นเอกสารทั่วไป  ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์วันละ 1-2 ชม. 

 

Preliminary test 

VA @ 6 m

20/20  OD ,OS ,OU

Cover test :   Ortho / Ortho 

 

Refraction 

Retinoscopy 

OD   +1.00 - 0.50 x30  VA 20/20

OS   +0.75 - 0.50 x150 VA 20/20

BVA 

OD +0.75 -0.50 x 24    ,VA 20/15

OS +0.50 -0.37 x 150   ,VA 20/15

 

Functional
Ortho @ 6 m (ดี,ปกติ)

BI - reserve : x/12/6  (ดี)

Exophoria 3 BI @ 40 cm  (ดี,norm)

AC/A ratio : 6/1 (High AC/A ; แต่น่าจะเกิดจากระบบ AC/A ที่เริ่มไม่เสถียรแล้วจากการเป็น presbyopia)

BCC +1.25D ( accommodative insufficiency จาก presbyopia )

NRA/PRA +1.00/-1.00 ( บาลานซ์การเพ่งการคลายตัวของเลนส์ตาดี) 

 

Assessment 

1.compound hyperopic astigmatism  (มองไกลมีสายตายาวและเอียง)

2.presbyopia (สายตาสูงอายุ หรือ สายตาชรา)

 

Plan 

1.Full Correction 

OD +0.75 -0.50 x 24  

OS +0.50 -0.37 x 150 

2.progressive lens Rx : Add +1.25D

 

Case Analysis 

คนไข้มองไกลเป็นสายตายาวร่วมกับสายตาเอียง ชนิด compound hyperopic astigmatism และเป็นสายตาสูงอายุ ส่วนฟังก์ชั่นอื่นๆของการมองสองตานั้น ถือว่าเป็นค่าที่ปกติดี  ดังนั้นที่คนไข้ยังมองมองไกลเห็นได้ชัดอยู่เนื่องจากค่า Spherical equivalent ,SE นั้นคำนวณออกมาได้

OD +0.50

OS +0.25

ซึ่งโดยวัยแล้ว accommodation สามารถเพ่งให้ชัดได้โดยไม่ยาก แต่ตาเปล่าก็ไม่ชัดเท่ากับใส่แว่น เพราะเห็นชัดแบบมีเงา แสบตา แพ้แสง  แต่หลังจากได้รับแว่นแล้วคนไข้รู้สึกว่าชัดกว่าตาเปล่า และแสงฟุ้งในเวลากลางคืนนั้นเห็นชัดเจนว่าดีขึ้นมาก  

 

การใช้งานโปรเกรสซีฟครั้งแรก  เวลาที่ใช้ในการปรับตัวประมาณ 5 นาทีหรืออาจจะเร็วกว่านั้น จะเรียกว่า "เสี้ยววินาที" ก็ได้ แต่คำนี้เป็นคำโฆษณา จึงไม่อยากใช้ เพราะคนไข้ไม่ได้ complain อะไร  ชัดขึ้นทุกระยะ ไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่คนทั่วไปเขียนเสือไว้  ก็จบไปสำหรับเรื่่องของเคส 

 

Case Discussion 

เคสนี้ไม่ยาก แต่ถ้าประมาทก็อาจจะพลาดได้ง่ายเช่นกัน  เพราะ complain มองไกลของคนไข้ไม่มี  เขารู้สึกว่าเขามองไกลชัด ขับรถชัด มีปัญหาเฉพาะดูใกล้เพียงอย่างเดียว  ซึ่งอาการคร่าวๆก็คล้ายกับคนที่มองไกลสายตาปกติ ดูใกล้เป็นสายตาชรา

 

ชัดเป็นเรื่อง subjective 

แต่คำว่า “ชัด” เป็นคำ subjective ที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ หรือความรู้สึกนึกคิดที่แต่ละคนมองเห็น จริงๆ “ชัด” ของบางคน อาจไม่ได้ชัดเหมือนคนปกติเห็นก็ได้ เพียงแต่คิดไปเองว่าชัดเพราะไม่เคยเห็นว่าภาพชัดนั้นเป็นอย่างไร  ตัวอย่างเช่น คนไข้สายตาสั้น -4.00D เกิดมาไม่เคยใส่แว่น ก็คงคิดว่าเขาก็ชัดในโลกของเขาที่เขารับรู้มาทั้งชีวิต 

 

ดังนั้น คำว่า “ชัด” จริงๆนั้นเป็นดาบสองคม เพราะเป็นคำที่คนไข้จะรู้สึกพะวงเพราะกลัวจะไม่ชัด ดังนั้นการตรวจสายตาด้วยการเสียบเลนส์ไปเรื่อยๆแล้วถามว่า ชัดไหมๆ จึงมีความเสียงที่จะ over minus หรือ under plus  เพราะคนไข้พยายามจะเอาที่เขารู้สึกว่าชัด ยิ่งเด็กที่กำลังของ accommodation เยอะๆ แล้วยิ่งต้องระวัง เพราะเลนส์ตาเด็กนั้นโฟกัสเพ่งได้มาก สามารถเพ่งสายตาที่เกินขึ้นมาหลายร้อยให้ชัดได้ ทำให้ใส่เกินจริงไปเท่าไหร่ก็ชัด แต่ปัญหาจะตามมาอีกมากมายโดยเฉพาะปัญหากล้ามเนื้อตาอย่างเหล่ซ่อนเร้นเป็นต้น

 

ซึ่งในเคสตัวอย่างนี้แม้ว่ามองไกลคนไข้คิดว่าเป็นปกติ  แต่เมื่อตรวจจริงแล้วพบว่าเป็นสายตายาว (Hyperopia) และมีสายตาเอียงร่วมด้วย 

 

ด้วยความที่คนไข้กลัวโปรเกรสซีฟมาก เพราะขนาดเลนส์ชั้นเดียวที่ทำมายังรู้สึกว่าเป็นแว่นขยาย ใส่แล้วมึน ปรับตัวไม่ได้ และคนรอบๆตัวที่รู้จักนั้น ล้วนแต่ล้มเหลวกับการใส่โปรเกรสซีฟมาทั้งนั้น ลึกๆเขาจึงหวั่นว่าเขาจะใส่ไม่ได้ 

 

แต่ถ้าเรามั่นใจว่าสายตาที่เราตรวจนั้นถูกต้องดีแล้ว จ่าย full corrected ได้เลย  ไม่ต้องใช้ความคิดเก่าที่ติดมาเช่น  "เขาชินกับการเพ่ง อย่าไปแก้ของเขา"  หลักก็คือ "ถ้าเรามั่นใจว่าเก่าผิด ทำไมเราถึงไม่แก้ให้ถูก ทำไมถึงยังให้คนไข้ชินกับของผิดๆ หรือเราเองก็หาที่ถูกไม่เจอ ก็เลย play safe โดย copy ค่าผิดๆจากสายตาเก่า" แต่ที่น่ากลัวกว่า คือ "ผิดแต่กลับมั่นใจว่าถูก แล้วไปบังคับให้คนไข้ปรับตัวกับสิ่งที่ผิด อันนี้ต่างหากที่อันตรายกว่า"  ดังนั้นผมจึงเป็นหนึ่งที่ทำงานโดยไม่เคยสนใจแว่นเก่าที่คนไข้ใส่มา ถ้าจะเช็คค่าเก่าก็คือหลังจากตรวจวิเคราะห์สายตาเสร็จแล้ว ได้ค่ามาแล้ว และคนไข้ถามว่า ทำไมแว่นเก่ามีปัญหา ผมจึงจะนำแว่นเก่าไปตรวจ เพื่ออธิบายว่า เหตุใดถึงใส่ไม่ได้ 

 

เคสนี้เมื่อรับแว่นจริง คนไข้ใส่ได้เลย ไม่มีภาพบิดเบี้ยวอย่างที่กังวล ชัดดีด้วย  เขาถามผมว่า "ทำไมมองไกลมันชัดกว่าตาเปล่าที่เขาเคยคิดว่าชัด" และผมแจ้งไปว่า "สายตายาวแบบนี้ ถ้าจ่ายเต็ม มองไกลอาจจะมัวในตอนแรกแต่ระยะกลางใกล้ชัดสบายดี  แต่ใส่จริงมันกลับชัดตั้งแต่ตอนแรก  ผมให้คำอธิบายว่า case by case  คนไข้ hyperope บางคนต้องให้เวลาเลนส์ตาคลายตัว 10 นาที ถึง 7 วัน แล้วมองไกลถึงจะเริ่มชัดขึ้นตามลำดับ  แต่ในเคสที่เลนส์ตาล้าอยู่แล้วหรือไม่อยากเพ่งอยู่แล้ว ก็คงจะคลายตัวได้ง่ายหน่อย  ดังนั้นถ้าจ่าย hyperope ในเด็กที่กำลังเพ่่งยังดีอยู่ ก็จะต้องให้เวลาในการคลายตัวนานกว่าผู้ใหญ่ที่กำลังเพ่งไม่ค่อยดี 

 

สรุปคือ 

1.มองชัด อาจจะแปลว่า “ไม่เคยรู้ว่าชัดเป็นอย่างไร” “ชัดแบบคนปกติ” หรือ “ชัดที่เกิดจากการเพ่งของระบบก็ได้เช่นคนสายตาสั้นที่ใช้ค่าสายตาเกินจริง หรือ คนสายตายาวที่ยังไม่ได้แก้ไขหรือแก้ไขไม่หมด ก็เป็นได้

 

2.อย่าไปกลัวที่จะ full corrected ให้คนไข้ hyperope   เพียงแต่ต้องมั่นใจว่าที่หาได้นั้นคือ full corrected จริงๆ  เพราะการ undper plus ในคนไข้ presbyopia ทำให้เกิดการ over addition ตามมา และทำให้ astigmatism ถูกกลืนไว้โดย spherical equivalent  เมื่อทำเลนส์โปรเกรสซีฟออกมาแล้ว มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาสูงมาก  จาก distortion ที่เพิ่มขึ้นจากการ over addition และ uncorrected astigmatism  ผลคือ สนามภาพแคบ ตำแหน่งใช้งานบนตัวเลนส์ไม่เหมาะสม

 

3.การ educate ให้คนไข้สายตายาว เข้าใจธรรมชาติว่า การมองไกลเห็นชัดของเขานั้นเกิดจากภาวะการเพ่งของระบบ accommodation การจ่าย full corrected อาจทำให้มองไกลมัวในช่วงเริ่มใส่ เพราะเลนส์ตาชินกับการเพ่งมา ไม่ยอมคลายตัวเต็มที่ ซึ่งต้องให้เวลาสักช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อระบบคลายตัว ฟังก์ชั่นต่างๆจะกลับมาทำงานปกติ 

 

4.เลนส์์โปรเกรสซีฟปัจจุบันเทคโนโลยีสูงมากพอ  จึงไม่ควรมีคนที่ใส่ไม่ได้ ถ้าใส่ไม่ได้ให้ไปดูว่าสายตาถูกต้องหรือไม่  เซนเตอร์ดีหรือไม่ ดัดแว่นได้องศาที่เหมาะสมหรือไม่  ถ้าทำได้ถูกต้องทั้งหมดนี้ เป็นไปได้ยากที่คนใส่โปรเกรสซีฟไม่ได้ 

 

ทิ้งท้าย

ขอบคุณแฟนคอลัมน์สำหรับการติดตาม หวังว่าจะได้สาระเกี่ยวกับเรื่องสายตาบ้าง ไม่มากก็น้อย พบกันใหม่ตอนหน้า 

สวัสดีครับ 

Optomery Class ,Visual Perception, with professor James P. Comoerford ,Ph.D.,O.D 
New England College of Optometry ,Boston

~ดร.ลอฟท์~​

578 ถ.วัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กทม.10220 

โทร 090-553-6554

contact QR

Facebook
line 
google maps