Ophthalmic Optic (ตอน 1)  : True Far point


____________________________________________________________________________

Ophthalmic Optic 1 

เรื่อง True Farpoint  (ตอน1)  ในแต่ละปัญหาสายตามองชัดได้ไกลแค่ไหน

เขียนโดย ดร.ลอฟท์ ,11 march 2019


อารัมภบท

การคำนวณเกี่ยวกับแสงนั้นมีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ระดับพืื้นฐานที่มองว่าแสงเดินทางเป็นเส้นตรง (light ray) ก็จะใช้การคำนวณแบบหนึ่ง หรือจะพิจารณาว่าแสงเดินทางเป็นคลื่น (wavefront) ก็คำนวณอีกแบบหนึ่ง ซึ่งก็ใช้ได้ทั้งคู่ อยู่ที่บริบทว่าจะให้แสงเป็นอะไร เพราะแสงก็เป็นได้ทั้งคู่ คือทั้งเส้นตรง และทั้งคลื่น 

 

การเรียนฟิสิกส์เชิงแสงนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่คำนวณเพื่อศึกษาพฤติกรรมของแสงในระบบทั่วไป เรียกว่า Geometrical optic เช่นคำนวณกำลังขยายของกล้องจุลทัศน์  คำนวณกำลังของกล้องโทรทัศน์ เป็นต้น และ ที่คำนวณเพื่อศึกษาพฤติกรรมของแสงที่อยู่ในระบบลูกตามนุษย์ เรียกว่า Ophthalmic Optic  ซึ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านทัศนมาตรมากที่สุดรวมไปถึงการคำนวณเลนส์สายตา เพื่อใช้การแก้ไขปัญหาการมองเห็น ก็คงจะเป็น ophthalmic optic ที่ดูจะเกี่ยวข้องที่สุด แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องเข้าใจพื้นฐานของ Geo Optic อยู่ดี

 

ผมก็เลยอยากจะรวบรวมเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับ ophthalmic opic  ฉบับประชาชน เอาไว้ให้ท่านที่สนใจได้อ่านศึกษากัน  

 

เรื่องแรกของ ophthalmic optic ที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ สืบเนื่องจากคำถามของแฟนเพจท่านหนึ่ง ถามถึงความจำเป็นว่าจะต้องใส่แว่นตาตลอดเวลาหรือไม่ เช่นถ้าสายตาสั้นแล้วถอดแว่นดูใกล้ชัด แล้วจำเป็นจะต้องใส่แว่นตาตลอดเวลาหรือไม่ ถ้าทำอย่างนั้นจะทำให้สายตาสั้นหรือไม่  ซึ่งผมได้เขียนอธิบายไปแล้ว ท่านที่สนใจเข้าไปอ่านใน loft optometry fanpage ได้ครับ ที่ลิ้ง https://www.facebook.com/406638952814855/posts/1679961272149277?sfns=mo

 

แต่ด้วยความที่เนื้อหาค่อนข้างแน่นเลยอธิบายเกี่ยวกับการคำนวณได้ยากกันอยู่สักหน่อย  ผมจึงอยากเขียนการคำวณเกี่ยวกับ Ophthalmic Optic ทิ้งไว้ในเว็บไซต์โดยเริ่มจากเรื่องที่ว่านี้คือ True Far point 

 

รู้เรื่อง Far Point ได้ประโยชน์อะไร 

หลายๆคนที่ได้มีโอกาสเข้ามารับการตรวจสายตาที่ ลอฟท์ ออพโตเมทรี นั้น คงจะเกิดความสงสัยในใจขึ้นมาว่า เพียงแค่ส่งแสงเข้าไปในตาก็รู้แล้วเหรอว่าสายตาเท่าไหร่ ? หรือเพียงแค่ผมแค่ส่องไฟเข้าไปในรูม่านตาแล้วผมรู้ได้อย่างไรว่า คนไข้ที่กำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ตรวจนั้น มองเห็นอะไร เห็นชัดแค่ไหน อ่าน VA ได้กี่ตัว โดยที่นั่งเฉยๆไม่ต้องพูดอะไรก็ได้  เกือบทุกคนที่มีประสบการณ์การตรวจมา มากกว่า 99% ไม่เคยได้รับการตรวจแบบนี้ จะรู้สึก surprise มาก  เพราะส่วนใหญ่จะใช้คอมพิวเตอร์วัดสายตาแล้วรอค่าจากเครื่องปริ้นแล้วมาลองเสียบเลนส์แล้วถามความชัดเสียมากกว่า 

 

และโดยธรรมชาติของคนทั่วไปย่อมรู้สึกว่า ถ้าฉันไม่พูดเสียอย่าง คนอื่นจะมารู้ได้อย่างไรว่าฉันเห็นอะไร ชัดหรือไม่ชัด ชัดแค่ไหน หรือไม่ชัดแค่ไหน และถ้าฉันแกล้งเป็นไบ้ หมอจะรู้ได้อย่างไรว่าฉันเห็นหรือฉันไม่เห็น หรือถ้าฉันเห็นแต่ฉันแกล้งบอกว่าไม่เห็น หมอจะทำยังไงกับฉันต่อ  แต่อยู่ๆหมอ กวาดไฟเข้าไปในรูม่านตา แล้วพูดออกมาเลยว่าสายตาเท่าไหร่ เป็นใครก็ต้องประหลาดใจเป็นธรรมดา  

 

ดังนั้นการตรวจด้วยวิธีคลาสิกอย่าง retinoscope นั้นสร้างความประหลาดใจให้คนไข้ได้มาก ซึ่งผมเชื่อว่ามากกว่า DNEye scan ที่ค่าตัวแพงกว่าเกือบ 100 เท่าตัวด้วย  เพราะการทำเรติโนสโคปนั้น เพียงแค่ส่องไฟเข้าไปก็รู้แล้วว่าเป็นอะไร ชัดไม่ชัด เห็นไม่เห็น หรือเป็นแบบไหน ซึ่งเป็นการตรวจที่ทำให้คนไข้ surprise ได้มาก แต่สาระไม่่ใช่เรื่องของ magic หรือ miracle อะไร แต่เป็นเรื่องที่ทัศนมาตรต้องทำ เพราะเป็น Gold Standard ในการตรวจวิเคราะห์สายตาทางทัศนมาตร  ก็คล้ายกับหมอเก่งๆที่ใช้เพียงเครื่องช่วยฟัง (stethoscope) ก็สามารถประเมินได้แล้วว่าคนไข้เป็นอะไร เป็นมากเป็นน้อย แตะฟังตรงไหนก็รู้ไปหมด  ดังนั้นวิชาเรติโนสโคป อย่าทิ้ง ขอจงฝึกให้เหมือน " โ ม ซ า ชิ    ฝึ ก ด า บ ซ า มู ไ ร"

 

เมื่อรู้ว่าสายตาเท่าไหร่ ก็ย่อมรู้ได้ว่าตาเปล่ามองชัดได้ไกลแค่ไหน

เมื่อเรารู้ว่า สายตาเป็นอย่างไร หรือมี refractive error เป็นอย่างไร เราก็จะรู้ต่อไปว่า คนไข้แต่ละคนนั้นมองเห็นชัดได้ไกลแค่ไหนหรือเวลานั่งอยู่ในห้องตรวจ 6 เมตร ก็สามารถทำนายว่า คนไข้สามารถอ่าน VA แถวไหนได้  หรือถ้านั่งที่ 6 เมตรอ่านแถวใหญ่ไม่ได้ คนไข้จะต้องเดินเข้าไปหาแผ่นชาร์ตกี่เมตรถึงจะอ่านแถว 20/20 ได้เป็นต้น 

 

จริงๆแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานหลักที่เราต้องเข้าใจ  มากกว่าการเอาคอมพิวเตอร์ยิงค่าสายตาออกมาแล้วก็บอกว่า คนไข้สั้นเท่านั้นเท่านี้จากค่าที่ได้จากเครื่องปริ้นและจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากว่า เครื่องยิงมา -2.00D แต่ตาเปล่าคนไข้ก็สามารถอ่านแถว 20/20 ได้ที่ 6 เมตร ซึ่งมันย่อมไม่ make sense กับค่าที่ได้จากเครื่องปริ้นและก็มีเรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายโดยเฉพาะในเด็ก ทำให้การวัดสายตาในเด็กนั้นถูกสงวนไว้สำหรับผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ 

 

Far Point มีกี่แบบ 

Far point แบ่งย่อยออกเป็น 4 เรื่องย่อยที่ต้องทำความเข้าใจ คือ

  1. true far point 
  2. true near far point 
  3. artificial far point 
  4. artificial near point 
  5. spectacle accommodation 
  6. ocular accommodation 

ซึ่งในตอนแรกนี้ เราไปทำความเข้าใจในส่วนแรกก่อนก็คือ true far point ซึ่งเมื่อเราเข้าใจ เราจะรู้ว่าคนสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาปกติ แต่ละค่าสายตานั้น  ถ้าไม่ได้แก้ไขสายตาแต่ละคนนั้นมองได้ไกลสุดได้แค่ไหน  

 

True Far Point  คืออะไร 

นิยามของ true far point คือ จุด conjugate foci หรือ จุ ด ที่ ไ ก ล ที่ สุ ด ที่ เ ป็ น คู่ ส ม กั บ จุ ด โ ฟ กั ส บ น จุ ด รั บ ภ า พ บ น macula  โดยที่ refractive error นั้น ยั ง ไ ม่ ไ ด้ รั บ ก า ร แ ก้ ไ ข และ เ ล น ส์ ต า นั้ น อ ยู่ ใ น ภ า ว ะ ค ล า ย ตั ว  (unaccommodated eye ) ใช้ตัวย่อว่า MR

 

"ร ะ ย ะ ข อ ง far point" คือระยะที่วัดจาก “ผิ ว หั ก เ ห แ ส ง ข อ ง ด ว ง ต า ถึ ง ต ำ แ ห น่ ง  Mให้ สั ญ ลั ก ษ ณ์ ย่ อ ว่ า “f” 

 

การจะหาตำแหน่งของ far point (MR) ได้นั้น เราจะต้องรู้ค่าสายตา หรือ Refractive Error (F)  โดยค่าสายตา (F) จะแปรผกผันกับค่าระยะของ far point (f)  ในหน่วยเมตร  

เขียนเป็นสมการได้ว่า

f =1/F

 

Ex.1  คนปกติ (สายตา plano หรือ 0.00D) มองไกลชัดได้แค่ไหน ? 

วิธีคิด 
 ข้อมูลที่มี F= 0 และจากสมการ f =1/F 

แทนค่า f=1/0 ม. = infinity หรือ ระยะอนันต์​ 

ดังนั้น คนไม่มีสายตานั้นมี true far point (MR) เป็นอนันต์ จึงสามารถมองเห็นไกลชัดได้ถึงระยะอนันต์ 

รูป 1 : ในคนไม่มีสายตา (emmetropia)  ขณะที่ตาไม่มี accommodate  จะมี true far point (MR) อยู่ที่ระยะอนันต์ 

 

Ex.2 คนสายตาสั้น -4.00 D มองไกลชัดได้แค่ไหน 

วิธีคิด

ข้อมูลที่มี F=-4.00D และจากสมการ f =1/F

แทนค่า f = 1/-4.00 = -0.25 ม. 

ดังนั้น true far point (MR) ของคนสายตาสั้น -4.00D นั้น อยู่หน้า (ซ้ายมือ) ของจุดหักเหแสงของดวงตา 0.25 เมตร หรือ 25 ซม. หรือคนสายตาสั้น -4.00 มองไกลชัดได้ที่ระยะ 25 ซม. 

รูป 2 : ในคนสายตาสั้น (myopia)  ขณะที่ตาไม่มี accommodate  จะมี true far point (MR) อยู่ซ้ายมือของจุดหักเหแสงของดวงตา (reduced eye) หรืออยู่หน้าจุดหักเหแสงของดวงตา

 

Ex 3 คนไข้สายตายาว hyperopia +5.00 D มองไกลชัดได้แค่ไหน 

วิธีคิด

จากข้อมูล F = +5.00 D และ จากสมการ f =1/F

แทนค่า f = 1/5 =  0.2 ม.

ดังนั้นตำแหน่งของ far point (MR) อยู่หลังจุดหักเหของแสงในลูกตา 0.2 เมตร หรือ 20 ซม.  ซึ่งถ้าเราพูดถึงในกรณี true far point เรากำลังพูดอยู่สนามอ้างอิงว่า refractive error ไม่ได้แก้ไขและเลนส์ตาต้องอยู่ในสภาวะคลายตัว หรือ unaccommodated eye  ดังนั้นถ้ายังอยู่ในกรณีนี้ คนสายตายาวจะต้องมองไกลไม่ชัด และถ้าจะชัดได้ เลนส์ตาก็ต้อง accommodate เพื่อให้ MR ไปอยู่ที่ระยะอนันต์ได้ โดยเพ่งให้ F = 0  แต่ถ้า Accommodate ไม่ไหวคนไข้ก็จะมองไกลมัว จะมัวมากหรือน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า accommodation เหลือมากหรือน้อยแค่ไหน

รูปที่ 3 ในคนที่เป็นสายตายาว hyperopia ที่ไม่ได้แก้ไขสายตา และ เลนส์ตาไม่ได้เพ่ง จุด true far point (MR) จะอยู่ทางขวามือของจุดหักเหแสงของดวงตา  หรือจุด MR นั้นตกหลังจุดรับภาพของ macula  

 

ทิ้งท้าย

ในตอนแรกนี้เอาเท่านี้ก่อน เดี๋ยวพรุ่งนี้เราจะไปดูต่อว่า แล้ว True near far point  ว่าแต่ละคนที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาสายตาแล้ว (uncorrected refractive error)  แต่ละคนเมื่อ accommodation ทำงานเต็มที่นั้น ส า ม า ร ถ ม อ ง ใ ก ล้ สุ ด ไ ด้ แ ค่ ไ ห น คือหาตำแหน่ง True near point นั่นเอง จากนั้นก็จะได้ศึกษาต่อเรื่อง Artificial far point ,artificial near point ,spetacle accommodation ,ocular accommodation กันต่อ 

 

หวังว่า ความรู้ทาง ophthalmic optic  พื้นฐานนี้ จะเกิดประโยชน์ในการนำไปประเมิน คิด คำนวณ ระยะชัดของคนไข้สายตาสั้นแต่ละคนได้  เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้านคลินิกทัศนมาตรต่อไป

 

ผม ดร.ลอฟท์ ขอขอบคุณแฟนเพจทุกท่านสำหรับการติดตาม ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ก็กด save กด share หรือถ้าอยากใก้กำลังใจ sticker like ใกล้มือท่านก็กดเป็นกำลังใจให้ได้  และถ้าอ่านไม่รู้เรื่องก็กด angry ให้ก็ได้ไม่ว่ากัน ผมจะได้นำไปปรับปรุง  สาธุ

 

สวัสดีครับ 

~ดร.ลอฟท์~


L O F T   O P T O M E T R Y

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220 

โทร 090 553 6554