case Study 15 : เคสแก้ปัญหาคนไข้ปวดหัวจากการใช้โปรเกรสซีฟ


Case Study 15 : เคสแก้ปัญหาคนไข้ปวดหัวจากการใช้โปรเกรสซีฟ

เรื่องโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี O.D. 

เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2562  


 

บทนำ 

 

เลนส์โปรเกรสซีฟ แม้จะถือกำเนิดมายาวนานกว่าครึ่งศรรตวรรต (1956) ผ่านการคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตเพื่อพัฒนาโครงสร้างให้ดียิ่งขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันนั้นถือว่าดีมาก ส่วนตัวเชื่อว่าไกลมากจนเกือบถึงขอบเขตหรือขีดจำกัดทางฟิกสิกส์ทางด้านออพติกของเลนส์โปรเกรสซีฟแล้ว ดังนั้นเทคโนโลยีปัจจุบันจึงไม่ใช่ big change อย่างในอดีต แต่เป็น minor change เพื่อปรับปรุงเก็บรายละเอียดยิบย่อยเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้เลนส์นั้นมีโครงสร้างที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

 

ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟในปัจจุบัน แม้จะเป็นรุ่นพื้นฐานที่ราคาไม่สูงมาก ก็ยังเป็นเลนส์ที่ใส่ง่าย ปรับตัวง่าย อิสระในการเลือกกรอบแว่นหรือแม้แต่การออกแบบโครงสร้างเลนส์เพื่อตอบสนองการใช้งานของแต่ละบุคคล ก็สามารถทำได้ดีกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งยุคที่เทคโนโลยีโปรเกรสซีฟก้าวกระโดดนั้นพึ่งจะเกิดขึ้นมา 10 ปีหลังมานี้เอง จากยุคปฏิวัติคอมพิวเตอร์และ cnc-freeform technology ได้เข้ามาเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตเลนส์ จากแบบ mass product สู่ customized personally product  เลนส์สองชั้นจึงเริ่มถูก fade ออกไปจากตลาดเรื่อยๆ ในขณะที่ตลาดเลนส์โปรเกรสซีฟที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีทำให้การใช้งานโปรเกรสซีฟง่ายขึ้นนั่นเอง 

 

แต่กระนั้นก็ตาม ปัจจุบันเลนส์โปรเกรสซีฟก็ยังเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังคงกลัวหรือใจมันตุ่มๆต่ำเวลามีปัญหาสายตาชราที่ต้องใช้เลนส์ประเภทนี้เพื่อแก้ปัญหา  จากภาพหลอนในอดีตที่ประสบมา เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีแต่คนเขียนเสือไว้ทุกหนทุกแห่งเว้นแม้แต่คนใกล้ตัวที่ประสบความล้มเหลวในการใช้งานเลนส์ประเภทนี้มาก่อนแล้วแชร์ประสบการณ์ให้ฟัง  ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟยังคงดูเป็นเรื่อง "คลุมผ้า" กันอยู่จนถึงปัจจุบัน เช่น ทำมาใส่ไม่ได้ พอเจอคนที่เข้าใจดัดแว่น 1 นาที ใส่สบายในทันที 

 

ตัวอย่างการเขียนเสือเช่น อย่าไปใส่เลยโปรเกสรซีฟ ใส่แล้วเดินไม่ได้ ใส่แล้วตกบันได ใส่แล้วปวดหัว ปวดกระบอกตา ใส่แล้วภาพเบี้ยว พาลกระตุ้นไมเกรนอีก เที่ยวทำมาจนรอบแแล้วก็ใส่ไม่ได้เหมือนๆกัน  อย่าไปทำมันเลย เสียตังค์ ใช้ไม่ได้จริง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งคนส่วนใหญ่ในบ้านเราก็พูดต่อๆกันมาอย่างนี้ (แต่ต่างประเทศผมไม่ทราบเพราะไม่เคยอยู่อาศัย) คนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้มีความสุขกับการใช้โปรเกรสซีฟอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ  บางท่านที่มารับบริการที่ร้านถึงกับยอมทำเลนส์พร้อมกัน 2 อัน เพราะกลัว เผื่อปรับตัวกับโปรเกรสซีฟไม่ได้ (นับได้ 1 คนถ้วน) แต่สุดท้ายแว่นสองชั้นก็ต้องถูกเอาไปทิ้งไว้บนหิ้งรอการผุพังและย่อยสลายต่อไป 

 

เพราะตลอด 4 ปีตั้งแต่ทำ loft optometry มา ผมจ่ายโปรเกรสซีฟให้คนไข้ทุกเคสที่เป็น presbyopia  และแทบไม่มีโอกาสจ่ายเลนส์ 2 ชั้นให้กับคนไข้ เพราะค่ายเลนส์ใหญ่เขาใช้เทคโนโลไฮเทคเกือบหมดและโละทิ้งเทคโนโลยีเก่าเข้าพิพิธภัณฑ์ไปหมดแล้ว ทำให้ทำเลนส์สองชั้นถูก discontinue ไปด้วย หาซื้อยาก และเทคโนโลยีเลนส์โปรเกรสซีฟในปัจจุบันนี้ก็ดีมาก แทบจะไม่ต้องปรับตัวแม้ในรุ่นพื้นฐาน สมัยก่อนถ้าอยากจะได้อารมณ์แบบปรับตัวเสี้ยววินาทีจะต้องใช้เลนส์ระดับไฮเอนด์ราคาสูง แต่สมัยนี้ไม่ต้องขนาดนั้นก็ได้  ดังนั้นถ้าคนไข้ใส่ไม่ได้หรือใส่ไม่สบายนั้น ปัญหา 90% เกิดจากค่าสายตาที่ใช้ยังไม่ใช่ค่าที่แท้จริงของคนไข้  เพราะเท่าที่จ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟตลอดมาเกือบ 5 ปีตั้งแต่เปิดร้าน  100% เป็นเลนส์โปรเกรสซีฟของ Rodenstock ทั้งหมด และ reject rate ก็ไม่เคยมี  แต่ถ้าจะมีก็มีเช่นคนไข้ที่ร้านไปทำเลนส์ Rodenstock มาแล้วใช้ไม่ได้ นำมาขอให้ช่วยแก้ สุดท้ายก็ได้ค่าสายตาใหม่กลับไปเคลมที่ร้านเดิม ปัญหาก็จบลงง่ายๆ เพียงแค่แก้สายตาให้ถูกต้อง ส่วนประเภทที่ว่า เชียร์อัพรุ่นเพื่อแก้ปัญหาคนไข้ใส่โปรเกรสซีฟไม่ได้นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นเพราะว่าผมเข้าใจว่า แต่ละปัญหาสายตานั้นควรจัดเลนส์ให้คนไข้รุ่นไหนและจัดอย่างไร 

 

และจากประสบการณ์ที่ได้เจอ คนไข้ที่ประสบปัญหาการใส่เลนส์โปรเกรสซีฟมานั้น  99% ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากเลนส์ แต่เป็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจาก การตรวจวิเคราะห์สายตาที่ผิดพลาด  เมื่อสายตาผิดการคำนวณโครงสร้างก็ผิด  คำนวณผิดทำให้การขัดโครงสร้างเลนส์มาผิด  ผลคือคนไข้ใส่ไม่ได้จริงหรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะโครงสร้างที่ใส่อยู่นั้นไม่ใช่โครงสร้างที่เหมาะกับสายตาตัวเอง  หรือแม้แต่ท่านที่ใส่ได้อยู่ เคยคิดไหมว่า เลนส์ที่ท่านใส่อยู่นั้น ใช้งานได้กี่เปอร์เซนต์จากประสิทธิภาพเต็มตามที่ผู้ผลิตเคลมเอาไว้ หรือจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ภาพที่เรามองเห็นผ่านโครงสร้างโปรเกรสซีฟที่ใช้งานอยู่นั้นเต็มร้อยแล้วหรือยัง จริงๆเราไม่สามารถรู้ได้ เพราะการมองเห็นเป็นเรื่อง subjective  เราทำได้เพียงแต่ควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้องให้ดีที่สุด  

 

ดังนั้นที่ถูกต้องคือ หลังจากได้ค่าสายตาจริงมาแล้ว ค่อยมาดูว่าเลนส์ตัวไหนเหมาะกับใคร เหมาะกับสายตาไหนหรือกรอบแว่นที่เลือกมีลักษณะอย่างไร เลนส์ตัวไหนรองรับค่าสายตานั้นๆและพารามิเตอร์นั้นๆได้   ไม่ใช่มาเชียร์ขายเลนส์ตั้งแต่ยังไม่ได้ตรวจวิเคราะห์ปัญหาสายตาในห้องตรวจ เพราะเลนส์เป็นเครื่องมือแพทย์และต้องผ่าน อย. ดังนั้นการจ่ายเครื่องมือแพทย์ โดยยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดปกตินั้น เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เหมือนการจ่ายยาโดยไม่ได้ถามโรค   การจะมานั่งไล่ถามว่าเลนส์รุ่นนี้รุ่นนั้น ราคาเท่าไหร่ เลนส์ไหนกว้างแค่ไหน ตั้งแต่ยังไม่รู้ค่าสายตา จึงเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ

 

และเคสในวันนี้นั้น เป็นเคสตัวอย่างที่มีประสบการณ์ล้มเหลวกับการทำโปรเกรสซีฟราคาครึ่งแสนมา ด้วยสาเหตุจาก ค่าสายตาที่จ่ายให้มานั้น เกินค่าจริงจากการ over minus correction เกินมา -1.50D เป็นเหตุให้ปวดหัว ต้องเพ่ง จนต้องหาข้อมูลและได้มาเจอกัน  จึงขออนุญาตคนไข้เจ้าของเคส เพื่อทำ case study ที่จะเล่าต่อไปนี้ 

 

Case History 

อาการหลักที่มา (chief complain)

คนไข้หญิง อายุ 57 ปี มาด้วยอาการ ไม่สบายตาข้างซ้าย ปวดร้าวจากหัวตาเฉียงลงมาทางแก้ม แล้วลามไปที่ศีรษะ ซึ่งเป็นทันทีที่ใส่แว่นโปรเกรสซีฟถอดแว่นแล้วอาการดีขึ้น ให้ร้านเดิมที่ทำมาแก้ให้แล้วหนึ่งหนแต่ยังอาการไม่หาย ต้องการทราบปัญหาและแนวทางการแก้ไข ส่วนแว่นที่ใส่อยู่ปัจจุบันเป็นเลนส์ชั้นเดียวที่ใช้มา 4 ปี มองไกลเห็นชัดอยู่ แต่อ่านหนังสือไม่ได้ ต้องถอดแว่นอ่าน เพื่อนแนะนำให้ทำโปรเกรสซีฟ ไปลองแล้วแต่ก็เกิดปัญหาดังกล่าว

 

ก่อนที่คนไข้จะนัดเข้ามาที่ร้านนั้น  คนไข้ inbox คำถามมาก่อนว่า (ขออนุญาตินำมาเล่าสู่กันฟังนะครับ)

 

“เมื่อปลายปีที่แล้วได้ทำแว่นเลนส์โปรเกรสซีฟมาและทางร้านทำเคลมเลนส์ใหม่ให้แล้ว 1 ครั้ง เนื่องจากรู้สึกไม่สบายตาข้างซ้าย มีอาการปวดร้าวจากหัวตาเฉียงลงมาทางแก้ม ซึ่งมีอาการตั้งแต่ตอนใส่ลองวันแรกที่ไปรับแว่น ทางร้านบอกให้ลองใส่ปรับสายตาก่อน 2 อาทิตย์ ก็พยายามใส่จนครบ 1 อาทิตย์แล้วนำกลับไปที่ร้านๆเคลมคู่ใหม่ให้โดยลดสายตาลงมา 1 สเตป ตอนนี้ใส่เลนส์เคลมมาแล้ว 1 อาทิตย์ (ทางร้านบอกให้ลองปรับสายตา 2 อาทิตย์) อาการปวดร้าวเกือบหาย แต่ยังคงอาการไม่สบายตาข้างซ้ายเหมือนเดิม ประมาณว่าต้องกระพริบตาบ่อยและรู้สึกว่าลูกตาต้องทำงานเยอะขึ้น  คำถามคือควรทำอย่างไรดีสำหรับเคสนี้  ขอถาม ถ้าจะให้ทาง ดร. ลอฟท์วิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง ว่าเป็นที่ดวงตามีปัญหา หรือทางร้านออกค่าสายตาไม่ตรง พร้อมกับทำแว่นกันแดดใหม่เลย จะได้มั้ยคะ”

 

ความคิดในหัวของผมคือ “สายตาผิดแน่ๆ...เพราะแก้ด้วยการลดแล้วดีขึ้น แต่ยังไม่หมดอาการ” แต่ก็ตอบว่าให้เข้ามาตรวจดูก่อนก็แล้วกัน แล้วค่อยเอาค่าสายตาใหม่ไปเคลมเลนส์ เพราะพึ่งทำมาไม่นาน ครั้นจะเคลมไปเรื่อยๆ แบบชนิดที่ว่าไม่รู้สาเหตุนั้น ดูจะเป็นการเสียเวลาทั้งสองฝ่าย เพราะผมก็พอเข้าใจหัวอกของคนไข้ที่ต้องเดินทางไปมา โดยก็ไม่รู้ว่าจะแก้ได้ไหม ร้านแว่นเองก็ต้องทำงานเก่าซ้ำๆโดยไม่เกิดรายได้ใหม่และไม่รู้จะจบไหม บริษัทผู้ผลิตก็ต้องมี cost ที่เกิดจากการเคลมและไม่รู้ว่าจะจบไหม  มันเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรทุกภาคส่วนโดยใช่เหตุ

 

ผลจากการตรวจ 

Preliminary eye exam

PD 34/34

สายตาแว่นโปรเกรสซีฟที่ทำมาแล้วมีปัญหาและแก้ครั้งที่สองแล้วด้วยการลดค่าสายตาลง 1 step  

OD -4.50   VA 20/20
OS -4.50   VA 20/25
Add +2.50

 

Refraction

Retinoscope   

OD -4.00-0.50x30  ,VA 20/20

OS -3.25-0.50x180 ,VA 20/20

 

BVA (final rx)

OD -3.75 -0.62 x 65   VA20/15+2

OS -3.00 -0.62 x 5     VA20/15+2

 

Binocular Function 

Test  6 m.

Horz.Phoria : 6 BI Exophoria (Vongrafe Techniqe)

BI-reserve : x/4/0

BO-reserve : 6/10/0

Vertical Phoria : 1 BDOD ,Right-hyperphoria  (Maddox Rod)

 

Test 40 cm 

Horz.phoria : 15 BI 

BCC : +2.00 D

NRA/PRA : +0.75/-0.75 (rely BCC)

 

Assessment 

1.compound myopic astigmatism  ; มองไกลเป็นสายตาสั้น + เอียง โดย focal line ทั้งสองตกก่อนจอรับภาพทั้งคู่ 

2.convergecne insufficiency : แรงของกล้ามเนื้อตาในการเหลือบเข้านั้นไม่พอ

3.Exophoria both distant and near  : มีเหล่ออกซ่อนเร้นเกินค่ากลางทั้งขณะมองไกลและมองใกล้

4.right hyperopia : มีเหล่ซ่อนเร้นในแนวดิ่ง 

5.presbyopia : มีสายตาชรา (ยาวในผู้สูงอายุ) 

 

Plan 

  1. Full Rx  : จ่ายค่าสายตาตามจริง  ลดลงจากแว่นเดิม -0.75 สำหรับตาขวา และลดลง -1.50 สำหรับตาซ้าย

OD -3.75 -0.62 x 65  

OS -3.00 -0.62 x 5    

 

2.visual training (push up test)  : สอนวิธีการบริหารกล้ามเนื้อตาด้วยวิธี push up method ฝึกก่อนอน วันละ 15-20 นาที เพื่อเพ่ิม tonic convergence และ fusion skill เพื่ิอช่วยเพ่ิมทักษะและความไวในการรวมภาพ และความสามารถในการเหลือบเข้าเพื่อดูใกล้นานๆได้อย่างต่อเนื่อง

 

3.prism rx : จ่ายปริซึม 3 BI เมื่อลด demand บางส่วนของมุมเหล่จากเหล่ออกซ่อนเร้น เพื่อให้พอเพียงกับ convergence strenght supply ที่มีอยู่   โดย split prism 1.5 Base @ 0 /1.5 pd base @180

 

4.Prism Rx : จ่ายปริซึม 1 pd  เพื่อแก้มุมเหล่ในแนวดิ่งจาก right-hyperphoria โดยการ Split 0.5 BDOD /0.5BUOS

 

5. Progressive additional lens ; จ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟเพื่อแก้ปัญหาสายตาชราตามวัย

 

 

 

Case Analysis 

เคสนี้จริงๆไม่ได้มีอะไรมากนัก เพียงแค่วิเคราะห์สายตาให้ถูกต้องก็เท่านั้นเอง แค่นั้นจริงๆ  ส่วน phoria สำหรับเคสนี้ถ้าหาไม่เจอ หรือตรวจไม่ได้ แม้จะไม่จ่ายก็ไม่ได้ทำให้คนไข้มีอาการถึงเพียงนี้ เพราะปัญหาที่คนไข้เล่ามาทั้งหมด 99% นั้นเกิดขึ้นมาจากสายตาที่ over minus correction ไปมากถึง -1.50D  ลองคิดดูว่าคนไข้อายุ 57 ปี จะไปต้องไปเอากำลังเพ่งของเลนส์ตาจากไหนถึง -1.50D เพื่อให้มองไกลชัด  ส่วนใกล้นั้นไม่ต้องพูดถึง ด้วยอายุด้วยวัยแล้ว คงมีแรงเหลือสัก +0.50D ก็บุญแล้ว

 

ส่วนที่คนไข้มีค่า addition น้อยนั้น เป็น sign อย่างหนึ่งของการเริ่มต้นของ "สายตากลับจากต้อกระจกชนิด necleosclerosis"  แต่จากที่ประเมินความใสของเลนส์ตานั้นอีกนานกว่าจะรบกวนการมองเห็น  

 

Add เกิน +2.50 เป็นไปได้หรือไม่ 

จุดนี้ที่จะต้องระมัดระวังก็คือ ส่วนตัวไม่เชื่อว่ามีคนอ่านหนังสือ 40 ซม.จะมีค่า addition เกิน +2.50D  ดังนั้นประเภทที่ add +3.00 ขึ้นไปย่ิงไม่ต้องพูดถึง  ถ้าเกิดขึ้นแสดงว่า สายตามองไกลผิด เช่น under correct hyperopia หรือ over minus myopia correction   ลำพังผู้สูงอายุจะ add +2.50 ยังยากเลยเนื่องจาก pupil ที่หดเล็กลงเมื่อายุมากขึ้น ย่อมช่วยเรื่อง depth of focus และภาวะเริ่มแรกของต้อกระจกแบบเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางเลนส์ทำให้เกิดสายตากลับทำให้ค่า add ลดลง

 

ดังนั้นการจ่ายแอดดิชั่นโดยดูจากอายุจึงสามารถทำให้ผิดพลาดได้ง่ายๆ  และที่ถูกต้องคือ  บาลานซ์สายตามองไกลให้ดี  fog/unfog เพื่อหา best visiual acuity ให้เจอ คือค่าที่ชัดโดยเลนส์ตาอยู่ในภาวะ relax  แล้ว confirmation test ด้วยการทำ over refraction ด้วย retinoscope ทับแว่นลองอีกที จากนั้นใช้ BCC ในการตรวจหาค่า addition โดยทำทั้ง binocular และ monocular เพื่อเป็น backup check ของการบาลานซ์สายตามองไกลอีกแรง 

 

คนไข้บอกว่า เขาไม่เคยตรวจตาแบบที่ผมตรวจ  ผมจึงได้ถามว่าการตรวจสายตาที่คนไข้ไปเจอมาว่าเขาตรวจอย่างไร 

 

คนไข้เล่าให้ฟังว่า  “เขาเอาแว่นเก่าไปเช็ค แล้วถามว่า ใส่มานานหรือยัง มองไกลยังชัดอยู่ไหม” 

คนไข้ก็ตอบว่า “มองไกลชัดอยู่ ใช้มา 4 ปี แต่อ่านหนังสือไม่เห็น ต้องถอดแว่น” 

เขาก็เลยเอาแว่นไปเช็คดู แล้วบอกว่า "ขยับเบอร์ขึ้นหน่อยนะ ใช้มานานสายตาคงเพ่ิมขึ้นแล้วหล่ะ”  แล้วก็ได้ค่าสายตาที่ยิ่งเกินไปกันใหญ่ เพราะของเก่าที่ใส่มาหลายปีก็ ใส่แบบเกินๆมาหลายปี 

20/20 ชัดแล้ว จบไหม 

คิดในใจว่า คนไข้จ่ายค่าเลนส์ไป 4 หมื่น ใจคอจะตรวจด้วยการเอาแว่นเก่าไปเช็คเพื่อหาค่าสายตากันจริงๆหรือทั้งๆที่ไม่รู้เลยว่าแว่นที่เขาใส่มานั้นถูกหรือผิด  เพียงแค่คนไข้บอกว่ามองไกลชัดไม่ได้หมายความว่าสามารถ "ทำสำเนา" แว่นที่ใส่อยู่ได้  ความชัดจึงไม่ได้บอกอะไรไปมากกว่าชัด เพราะปัญหาที่ฝังรากมาอย่างต่อเนื่องยาวนานก็คือ VA 20/20 แปลว่าชัดของคนปกติ ดังนั้นเราทำอะไรก็ได้ให้คนไข้เห็น 20/20 แล้วงานจบซึ่งมันก็ไม่ผิด แต่มันไม่ถูกต้อง เพราะมันต้องพูดต่อไปว่า ชัดแบบไหน  ชัดในภาวะผ่อนคลายของระบบเหมือนคนสายตาปกติ  หรือชัดภายใต้ระบบเพ่งถูกกระตุ้นอย่างคนสายตายาว  ดังนั้นถ้าคนไข้บอกว่ามองไกลชัด แล้วเขาอ่านได้ VA 20/20 ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ต้องตรวจ 

 

ด้วยเหตุลักษณะนี้เอง ผมจึงไม่เคยขอดูค่าสายตาแว่นเก่าของคนไข้ที่นำมาเลย เว้นแต่คนไข้อยากรู้ว่ามันห่างจากเดิมเยอะไหม ผมจึงนำไปเช็คดู  เพราะ ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ จึงไม่ค่อยเชื่ออะไรที่ตัวเองยังไม่พิสูจน์ และอีกอย่างหนึ่ง ผมไม่อยากให้คนไข้กังวลกับแว่นเก่าที่ใช้อยู่ ไม่เห็นต้องไปอยากรู้หรือสืบสาวเอาเรื่องว่าเลนส์เก่าที่ใส่อยู่ทำไมมันไม่ถูก  รู้แค่แว่นปัจจุบันมันแก้ปัญหาดีแล้วก็น่าจะพอดี 

 

แต่ไม่เป็นไร ผมตรวจวิเคราะห์และให้สายตาคนไข้ นำไปเคลมที่ร้านที่ทำมา และก็ได้ค่าใหม่มา นำมาวางเซนเตอร์และตัดเลนส์ที่ร้าน อาการปวดตาหายไป มองไกลชัดเชนดี แต่มีระยะกลาง/ใกล้  ที่ยังดูชัดแต่ไม่ชัดเปะ ผมดูมุมองศาแว่น เช็คเซนเตอร์ดีแล้ว ก็ถูกต้องทุกอย่าง  ให้คนไข้กลับไปปรับตัว 1 สัปดาห์ อาการก็ยังมีอยู่ที่ระยะกลางใกล้ไม่ค่อยชัด  จึงนัดเข้ามาตรวจใหม่ 

 

ค่าใหม่ที่ได้นั้น เหมือนเดิมทุกอย่าง ผมจึงคิดว่าเป็นที่โครงสร้างเลนส์ไม่ดี แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไรเลนส์ เพราะผมเองก็ไม่เคยใช้แบรนด์นี้ แม้จะเป็นแบรนด์ที่ดังและซื้อมาในราคาก็สูงมากก็ตาม  แต่คนไข้ก็พร้อมที่จะลองแบรนด์ Rodenstock ที่ผมคุ้นเคยและรู้จักมันดี ผมประเมินความผิดปกติและคิดว่า Multigressiv MyView 2 ถือว่าเพียงพอ ค่าทุกอย่างเหมือนเดิม ปัญหาทุกอย่างที่เป็นมาจบ ปัจจุบันเป็นพี่และเป็นแฟนเพจที่น่ารักมากๆของผม 

 

เรื่องนี้บอกอะไรเราได้บ้าง 

เรื่องนี้บอกเราว่า “ผู้บริโภค”  ต้องเข้าใจให้ชัดว่า “เลนส์โปรเกรสซีฟ” นั้นคือชื่อชนิดหรือประเภทของเลนส์เท่านั้นเอง จึงไม่สามารถพูดว่ามันดีหรือว่ามันไม่ดี เพราะตัวแปรที่จะให้มันดีหรือไม่ดีนั้นบางส่วนอยู่ที่ร้านที่ให้บริการตรวจสายตาอีกส่วนอยู่ที่เทคโนโลยีการออกแบบโครงสร้างของผู้ผลิต  ซึ่งมีอยู่ในตลาดหลายรุ่นจากหลายบริษัทผู้ผลิต  และในแต่ละผู้ผลิตก็มี knowhow ที่มาของพื้นฐานการดีไซน์ที่แตกต่างกัน ทำให้แนวคิดของเทคโนโลยีของแต่ละค่ายเลนส์นั้นแตกต่างกัน ผลก็คือบุคลิกเลนส์แต่ละค่ายนั้นแตกต่างกัน 

 

ความแตกต่างที่ว่านั้น ไม่ได้แตกต่างกันที่เนื้อเลนส์ แต่ต่างกันในด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อชดเชย aberration ต่างๆที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจุบันต่างๆ เช่น  base curve effect , lens tilt , PD optimise inset ,low order aberration , higher order aberration  ,frame parameter , position of wear เป็นต้น  ตลอดไปถึงการพัฒนาซอฟแวร์เพื่อให้ผู้ใช้นั้นสามารถเลือกโครงสร้างให้เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละบุคคลได้ เป็นต้น  ซึ่งแน่นอนว่า พื้นฐานที่มาของการต่อยอดเทคโนโลยีนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้การใช้งานเลนส์แต่ละค่ายนั้นไม่เหมือนกัน 

ดังนั้นแต่ละผู้ผลิตจะมีความถนัดไม่เหมือนกัน เลนส์บางค่ายก็ถนัดที่จะวิจัยและพัฒนาโครงสร้างเลนส์และคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยให้เลนส์ดีขึ้น ส่วนบางค่ายทุนหนาสนใจเพียงผลประกอบการก็เลือกที่จะ take over ผู้ผลิตรายอื่นซึ่งก็สามารถทำได้ ปั่นตลาดเล็กๆน้อยๆ ก็ขายได้แล้ว ถ้า launch แล้วมีปัญหาก็เปลี่ยนชื่อใหม่ไปเรื่อยๆ  เดี๋ยวคนก็ลืม  แต่เหนือสิ่งอื่นใด

เลนส์โปรเกรสซีฟนั้น คือวัตถุดิบ ไม่ใช่สินค้าสำเร็จ  

 

เลนส์โปรกรสซีฟ ไม่ใช่สินค้าสำเร็จอย่างเช่น รถยนต์ หรือ คอมพิวเตอร์ ที่มีสเป็คสำเสร็จมาตรฐานแต่ละรุ่นมาจากโรงงาน ซึ่งแต่ละรุ่นประสิทธิภาพการใช้งานก็จะเหมือนกันใช้งานเครื่องไหนก็เหมือนกันเพราะเขาทำสำเร็จมาตรฐานเดียวกัน 

 

แต่เลนส์โปรเกรสซีฟ เป็นเหมือนวัตถุดิบทำอาหารที่ต้องปรุงก่อนกิน  ซึ่งวัตถุดิบมันต้องดี สด ใหม่ และมีสูตรอาหารที่ผ่านศึกษาด้วยความรู้และประสบการณ์มาเป็นอย่างดีจึงจะสามารถทำอาหารหนึ่งจานให้อร่อยได้  ดังนั้นร้านอาหารแต่ละแห่ง แม้จะเป็นเมนูต้มยำกุ้งเดียวกัน รสชาติไม่มีทางเหมือนกัน แม้จะใช้วัตถุเดียวกันก็ตามแต่  เอาง่ายๆว่า ให้ไข่ กะทะ น้ำปลา เหมือนกัน แข่งกันทอดไข่เจียวยังอร่อยไม่เหมือนกัน ของแบบนี้มันคือของใครของมัน 

 

เช่นเดียวกัน  เลนส์โปรเกรสซีฟที่ดีนั้นโครงสร้างจะเริ่มการคำนวณหาโครงสร้างเฉพาะคนขึ้นมาก็ต่อเมื่อได้ตัวแปรต่างๆเป็นค่าจริงเฉพาะคนมาแล้วเท่านั้น เช่นค่าสายตาสั้น ยาว เอียง  ค่าแอดดิชั่น  ค่าพีดี ค่าฟิตติ้ง ค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่น รวมถึงค่าการดีไซน์ที่ต้องการใช้งานในชีวิตประจำวัน   

 

ถ้าตัวแปรที่ใส่เข้าไปผิด การคำนวณออกมาก็ผิด โครงสร้างผิดแล้วจะใส่ได้อย่างไร  ดังนั้นประสิทธิภาพของเลนส์นั้น แม้จะเป็นรุ่นเดียวกัน  ผู้ผลิตเดียวกัน  จะเต็มร้อยหรือไม่เต็มร้อยนั้นขึ้นอยู่กับว่า รายละเอียดของตัวแปรแต่ละตัวที่ใส่เข้าไปนั้น ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน  

 

ดังนั้น เลนส์โปรเกรสซีฟจึงไม่ใช่เรื่องของการเสียเวลาไปกับการปั่นชื่อเรียกของโปรเกรสซีฟให้มันพิสดารอะไร  แต่มัน เป็นเรื่องของการกลับมาเรียนรู้ที่จะใส่ใจในรายละเอียดของการตรวจวัดสายตาให้ถูกต้อง  วางเซนเตอร์ให้ถูกต้อง ฝนประกอบให้แม่นยำ และดัดแว่นให้ได้มุมองศาที่ถูกต้อง และอธิบายการใช้งานตอนส่งมอบแว่น ก็เท่านั้นเอง 

 

บ้านเราหลงอยู่กับ Gimmick Marketing เสียจนทำให้ผู้บริโภค แยกไม่ออกว่า "คำไหนเป็นคำจริง คำไหนเป็นคำโฆษณา" สุดท้ายก็กลายเป็นเหยื่อ เสียเงิน เสียเวลา เสียความรู้สึก เสียอารมณ์ แล้วก็ต้องมานั่ง search google หาทางแก้ปัญหาของตัวเอง  แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ด้วยเหตุนี้แหล่ะ จึงเป็นเหตุให้เรามาเจอกัน ว่าไหมครับ 

 

ถ้ามองในมุมนักการตลาดก็สามารถทำได้  แต่ถ้ามองในมุมของจริยะธรรม หรือมุมของผู้บริโภค ผมว่ามันไม่แฟร์ เพราะมันไปทำลายคุณภาพชีวิตของคนไข้ และจะส่งผลกระทบย้อนกลับต่ออาชีพแว่นตาและวิชาชีพทัศนมาตรโดยรวมในระยะยาว 

 

ทิ้งท้าย 

เสียงเล็กๆนี้ เป็นเพียงมุมมองส่วนตัว จากความรู้สึกเมื่อประสบกับเรื่องราวเหล่านี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งการพูดเรื่องที่จริงเกินไปก็ทำความขุ่นข้องหมองใจให้กับบางคน จนกลายเป็นไม่ชอบผมได้  แต่ถ้าเพื่อให้ระบบสาธารณสุขด้านสายตาถูกยกระดับให้มาตรฐานขึ้น ผมก็ยินดีที่จะเป็นคนที่ถูกไม่ชอบนั้น  เพราะคนเรานั้น มีความตายเป็นที่หมายเดียวกัน เร็วช้าไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญนั้นอยู่ที่ขณะมีชีวิตอยู่นั้นได้ทำอะไรที่มันมีคุณค่าต่อสังคมโดยรวมหรือโลกนี้บ้างก่อนตาย  ดังนั้นอยากให้โลกหรือคนในสังคมหรือวงการจำอะไรเราได้บ้าง ก็อยู่ที่ตัวของเราทำตัวเราเอง 

 

ครั้งหนึ่ง ดร.แจ๊ค พี่ชายผมเล่าให้ฟังว่า ได้ไปร่วมงานขาวดำของเพื่อนแม่ แฟนผู้เสียชีวิตก็มาเล่าให้แม่ฟังว่า "ที่แฟนเขาเสียเพราะไม่มีเงินมากพอมาจ้างหมอดีๆให้มารักษา ถ้าเขามีเงินมากแฟนเขาคงจะไม่จากไปเร็วขนาดนี้"   แม่ก็บอกเฮียว่า "ดูสิเนี่ย ไหนแกว่าเงินไม่สำคัญ​เท่าไหร่ เห็นไหม เขาไม่ค่อยมีเงินเพื่อจ้างหมอมารักษา เขาก็เลยเสียชีวิต"  เฮียฟังก็รู้สึกย้อนแย้งและถามแม่ว่า " แล้วแม่จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ถ้ามีเงินมากมายแล้วจะจ้างหมอมารักษาให้หายได้  ไม่เห็นพ่อของเพื่อนฮ้วงเหรอ ที่พึ่งเผาไปอาทิตย์ที่แล้ว มีเงินจะเป็นร้อยล้าน  ยังไม่สามารถหาหมอมาช่วยยื้อชีวิตได้เลย"  คนเราถ้าหมดบุญหรือหมดอายุขัยก็ต้องตายเหมือนกันต่างแค่เพียงบริบทเท่านั้น 

 

นั่นสินะ  "เราทำงานเพื่อหาเงินเยอะๆ เพื่อหวังว่าเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้มีเงินรักษา  แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ถ้าหาเงินได้เยอะๆ แล้วเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมากะทันหันแล้วจะหาหมอหมอรักษาได้ทัน  สุดท้ายก็เรื่องเดียวกัน" 

 

ทิ้งทายในส่วนนี้ก็คือ อยากให้มองอะไรที่มากกว่าความ "Survival" หรือเพื่อ "ความอยู่รอดโดยไม่สนใจวิธีการ" กันบ้าง  ลองช้าบ้าง ชิมชาบ้าง ชิมกาแฟบ้าง  กินลมชมไม้ดอกข้างทางบ้าง  ชีวิตก็จะสามารถเก็บสาระรอบตัวได้ดีขึ้น  

 

คนขับรถแข่งนั้นถึงที่หมายเร็วแต่ต้องแลกกับความเสี่ยงอัตรายมากมาย ถ้าเกิด accidentเข้า นั่นอาจหมายถึงชีวิต ซึ่งอาจจะถึงหรือไม่ถึงเส้นชัยก็ได้ ผมเลยเห็นนักแข่ง motoGP ในทีวี ถีบรถเพื่อนร่วมแข่งให้คว่ำตอนแย่งกันเข้าโค้งเพียงเพื่อต้องการเป็นผู้นำ แล้วขึ้นโพเดียมรับรางวัลที่ 1 หรือนักฟุตบอล พุ่งล้มในเขตโทษ เพื่อเรียกจุดโทษ  หรือชาวประมงใช้ระเบิดในการการหาปลา โดยไม่สนว่าอาจมีลูกปลาหรือไข่ปลาที่พึ่งฟักต้องตายไปก่อนที่จะได้โต  ซึ่งเขาเหล่านั้นอาจจะได้ price ได้ความสุขจากการหลั่งอะดรีนาลีนด้วยความสะใจ แต่ value ในหัวใจเขาก็จะค่อยๆลดลงเช่นกัน  

 

ในขณะที่คนปั่นจักรยานบนเขาค้อ กำลังชื่นชมกับดอกไม้เรียงราย ที่เริงระบำพริ้วไหวอยู่ข้างทาง ได้ส่งยิ้มให้คุณยายขายแตงโมอยู่ข้างทาง เห็นเด็กกระโดดน้ำสุขอยู่ที่สะพานข้ามคลอง  ได้ความสุขจากการหลั่งเอนโดรฟิน  สุขแต่ไม่เหมือนกัน  price กับ value บางทีคงต้องเลือกสักทาง 

 

สวัสดีครับ

ดร.ลอฟท์
(สมยศ เพ็งทวี O.D. ,ทัศนมาตรวิชาชีพ)

 

_______________________________________________________________________________________________________________________________________

LOFT OPTOMETRY 

578 Wacharapol rd. ,Tharang ,Bangkhen ,Bangkok 10220
T.0905536554
line : loftoptometry