Loft Optometry Lecture 6 : การจำแนกสายตายาว โดยระบบ accommodation


Loft Optometry Lecture 6 : การจำแนกสายตายาว โดยระบบ accommodation

เรื่องโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี O.D.

เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2562

_________________________________________________________________________________________________________

บทนำ 

สำหรับเรื่อง สายตายาวมองไกลแต่กำเนิด หรือ Hypermetropia นั้น มีเรื่องที่ต้องคุยกันอยู่เรื่อยๆ เพื่อเป็นการทบทวนซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าคนส่วนใหญ่จะเข้าใจและแยกสายตายาวแต่กำเนิดออกจากสายตาคนแก่ได้  เพราะคนไทยนั้นเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องสายตายาวมาโดยตลอด จากศัพท์ตั้งต้นที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นความเชื่อฝังกันมาว่า  "สายตายาวคือสายตาคนแก่ที่เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น"   ความเข้าใจผิดทั้งหมดเกิดจากการใช้ศัพท์ที่ไม่เหมาะสมมาตั้งแต่ต้น พอระบบเราเป็นระบบยึดในคำโดยไม่เข้าใจเหตุผลทที่แท้จริง ก็เลยทำให้ความเข้าใจความผิดปกติของสายตายาวนั้นคลาดเคลื่อนไปและเมื่อเข้าใจผิดก็นำไปสู่การแก้ไขปัญหากันผิดๆ เช่น ความเชื่อว่า สายตายาว เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูงอายุ พอตรวจตาพบ เด็กสายตายาว ก็จะเริ่มสับสน จนลงเอยด้วย wording สุดคลาสิกคือ มองจอคอมพ์มากไป ดูมือถือมากไปหรือปวดตาจากแสงสีน้ำเงิน  นี่ซื้อเลนส์ตัดแสงคอมพ์ไปใช้จะได้หายปวดตา  สุดท้ายได้เลนส์ตัดแสงสีน้ำเงินมาและไม่ได้ช่วยอะไร กลายเป็นขยะที่ใช้งานไม่ได้และไม่สามารถโยนทิ้งได้ เพราะซื้อมาแพง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยกเครื่องเรื่องความคิดกันเสียใหม่  แต่จะยกเครื่องได้มันก็ต้องเข้าใจแก่นให้ได้เสียก่อน เพราะถ้าไม่เข้าใจแก่น เมื่อเจอปัญหาจริงก็จะรู้สึกสับสน และแก้ไขผิดตามมาวนอยู่ในอย่างนั้นเรื่อยไป 

ดังนั้นวันนี้ เราจะคุยกันถึงเรื่องสายตายาวกันอีกครั้ง และหลายๆครั้งไปเรื่อยๆ ซึ่งเนื้อหาออกจะวิชาการสักเล็กน้อย  เพื่อให้สามารถแยกประเภทของสายตายาวได้ ไม่มากก็น้อย 

 

Hyperopia & Accommodation 

สายตายาว ( Hyperopia) 

คนไข้ที่เป็นสายตายาว คือ คนไข้ที่ "เมื่อเราวัดค่าสายตาออกมาแล้ว ได้สายตาออกมามากกว่า 0  หรือเป็นบวก"  ดังนั้นระบบ accommodation ของเลนส์ตาจะต้อง ออกแรงเพ่งเพื่อให้ได้กำลังบวกที่มากขึ้นเพื่อไป nutralize สายตาบวกที่ที่เกิดในคนสายตายาว เพื่อให้แสงนั้นโฟกัสที่จุดรับภาพพอดี

 

ความยากในการหาค่าสายตายาวที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากการเพ่งของของเลนส์ตาที่ถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราเค้นสายตายาวออกมาค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะในเด็กที่กำลังเพ่งสูงๆนั้นยิ่งทำได้ยาก และสายตายาวบางประเภทนั้น ไม่มีทางหาได้ด้วยวิธีปกติ เนื่อง accommodation ไม่ยอมคลายตัว จะต้องใช้วิธีพิเศษคือ การวัดสายตาด้วยวิธีหยอดยาคลายกล้ามเนื้อตา หรือการทำ cycloplegic refraction เพื่อให้เลนส์ตาคลายตัว จึงจะสามารถตรวจสายตายาวส่วนที่ถูกซ่อนไว้เจอ

ดังนั้น

สายตายาวแต่กำเนิดนั้นเกิดขึ้นได้ 3 กรณี คือ 

1.ค่าสายตายาว > กำลังของ Accommodaiton

2.ค่าสายตายาว = กำลังของ Accommodation 

3.ค่าสายตายาว < กำลังของ Accommodation 

 

ในกรณีแรกนี้ ไม่มีทางที่คนไข้จะสามารถมองไกลชัด เนื่องจากกำลังของเลนส์แก้วตา ไม่มีแรงพอที่จะเพ่งบังคับให้แสงนั้นไปโฟกัสบนจุดรับภาพได้ ทำให้ retinal image บน retinal นั้นไม่สามารถเกิดภาพที่คมชัดบนจอตาได้ 

 

จากกรณีแรกนี้ เราจึงจำแนกการเกิดขึ้นของสายตายาวเป็น Facultative Hyperopia (HF) คือ สายตายาวในส่วนที่กำลังเพ่งของเลนส์ตาสามารถเพ่งได้  และ Absolute Hyperopia (HA) คือส่วนของ สายตายาวที่กำลังเพ่งของเลนส์ตานั้นไม่สามารถเพ่งให้โฟกัสบนจุดรับภาพได้ 

ดังนั้น  HF=A , (A=Accommodaton)

        HF+HA =HT

เมื่อคนไข้อายุมากขึ้น กำลังเพ่งของเลนส์ตาจะลดลงไปเรื่อยๆ HFacultative  ก็จะลดลงตามกำลังการเพ่งของเลนส์ (A)  ในขณะที่ HAbsolute นั้นเพ่ิมขึ้นเรื่อย จนวันหนึ่ง เมื่อกำลังเพ่ง = 0  สายตายาวทั้งหมด  HTotal จะกลายเป็น HAbsolute 

Latent and Manifest Hyperopia 

ในอีกบริบทหนึ่ง  เด็กบางคนที่เป็นสายตายาวแต่กำเนิด  เราจะพบว่า แม้ว่าเราจะตรวจเจอสายตายาวที่มีอยู่จริงเป็นค่าเท่าไหร่ด้วยวิธี Objective (retinoscope / cycloplegic refraction)  แต่เรากลับพบว่าไม่สามารถจ่ายค่าสายตายาวเต็มซึ่งเป็นค่าจริงให้เด็กได้ เพราะจะทำให้เด็กนั้นเกิดอาการภาพไกลมัว 

ดังนั้นเราจึงจำแนกสายตายาวเป็นอีกกลุ่มหนึ่งคือ Latent  hyperopia and Manifest Hyperopia

โดยค่า สายตาบวกมากที่สุดที่เราสามารถจ่ายให้เด็กคนๆหนึ่งเห็นชัดที่ไกลได้ เรียกว่า Manifest hyperopia  (HM และ เราเรียก สายตายาวที่เหลือจาก accommodation ไม่ยอมคลาย ว่า latent Hyperopia (HL)

Latent Hyperopia  นั้นเป็นส่วนที่เหลือของสายตายาวที่เราไม่สามารถ corrected ส่วนนี้ได้เนื่องจากจะทำให้เด็กมองไกลมัว  ซึ่งในวัยเด็กเล็กๆที่กำลังเพ่งยังมีอยู่มาก ค่าของ latent hyperopia อาจจะมีค่าสูงถึงครึ่งหนึ่งของ total hyperopia  และเมื่ออายุมากขึ้นถึงวัยผู้ใหญ่ latent hyperopia จะลดลงจนแทบจะเป็นศูนย์​ และ total hyperopia จะกลายเป็น manifest hyperopia 

 

สิ่งที่ต้องระวังในคนไข้เด็กที่มี latent hyperopia คือเด็กจะเพ่งเยอะ และอาจทำให้เกิดตาเหล่เข้าจากเลนส์ตาที่เพ่งมากไป (accommodative esophoria /esotropia ) และถ้าปล่อยทิ้งไว้เด็กอาจเกิดเป็นตาขี้เกียจได้   ดังนั้นเด็กเล็กควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะตาเด็ก 

 

ทิ้งท้าย 

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า lecture สั้นๆ นี้ จะทำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจเรื่องสุขภาพสายตา ได้เข้าใจปัญหาสายตายาวมากขึ้น  พบกันใหม่ตอนหน้าครับ  

 

สวัสดีครับ

ดร.ลอฟท์ 

maps

LOFT OPTOMETRY 

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220

โทร 0905536554

line : loftoptometry