Case Study 18 วันนี้ ผมจะเล่าถึงเคสๆหนึ่ง ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับเลนส์โปรเกรสซีฟที่จ่ายไปครึ่งแสนอยู่แรมปี จากปัญหาปวดหัวทุกครั้งที่ใส่เลนส์คู่กรรม จนไม่สามารถทำงานกราฟิกดีไซน์และงานอดิเรกในการอ่านงานเขียนที่ตนเองชื่นชอบได้อย่างปกติสุข แม้ว่าจะอดทนมาได้เป็นแรมปี แต่ก็เริ่มทนไม่ไหวจึงเข้าไปหาข้อมูลในเว็บไซต์ก่อนที่จะเข้ามาปรึกษาเรื่องปัญหาเลนส์ที่ตนเองประสบอยู่ เพราะก่อนหน้านี้ก็เข้าใจว่า เลนส์โปรเกรสซีฟใส่แล้วมันจะคงทรมานแบบนี้กันทุกคน หลังจากที่ผมส่องเลนส์เพื่อดู laser mark engraving ของเลนส์แล้ว พบว่าเป็นเลนส์ดี เป็น well known ไม่ใช่ no name ดังนั้นปัญหาจึงไม่น่าจะอยู่ที่ correction ที่อยู่ในตัวเลนส์มากกว่าสาเหตุอื่น
สรุปความได้ว่า refractive correction ที่ทนใส่มาอยู่นั้น ไม่ใช่ correction ที่ถูกต้องของสายตาของคนไข้และประกอบด้วยคนไข้มีทั้งเหล่เข้าซ่อนเร้นทั้งมองไกล มองใกล้ และยังมีเหล่ในแนวสูงต่ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้เลนส์ดังกล่าวสร้างปัญหาเป็นอย่างมากให้กับคนไข้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในเคสนี้ผมแก้ปัญหาง่ายเพียงแค่ corrected สายตาให้มันถูกต้องก็เท่านั้นเอง และเลนส์ที่จ่ายให้นั้น ก็เป็นเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นมาตฐานของ Rodenstock ไม่ได้ใช้ hi-end ที่ใช้ชื่อหรูหรา หวือหวาพิศดารมากมายแต่อย่างใด เพียงแต่ correction ใกล้เคียงกับค่าจริงกว่าและคุมพารามิเตอร์กับเซนเตอร์ให้ถูกต้องเท่านั้น ปัญหาที่เป็นมาแรมปี ก็กลับหายไปในเวลาอันสั้นเพียง 1 นาที ซึ่งผมมองว่าเคสนี้อาจเป็นหนึ่งในหลายพันเคสที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ แต่ยังคงควานหาทางแก้ปัญหายังไม่เจอ ผมจึงยกเคสนี้ขึ้นมาเพื่อเป็น sample case เอาไว้เป็นแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาต่อไป และให้สติกับท่านที่ยึด "สายสิญจน์" เป็นหลักในการดำเนินชีวิต มายึด "สายศาสตร์" เป็นหลักในการดำเนินชีวิต ดูจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ตรวจสอบได้ ไม่มโนเอง เออเอง เริ่มเลยก็แล้วกัน
คนไข้ชาย อายุ 54 ปี เป็น Graphic Design มาด้วยอาการ
1st CC ; ปวดศีรษะเมื่อต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์และด้วยอาชีพที่ Graphic Design ทำให้ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน จริงๆเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมากและขับรถเยอะ ปัจจุบันต้องเลิกทำทั้งกราฟิกและเลิกอ่านหนังสือเพราะอาการปวดหัวที่เป็นมานานกว่า 1 ปี และมีอาการปวดศีรษะทุกครั้งหลังจากเริ่มใส่โปรเกรสซีฟที่ทำมาได้ปีกว่า แรกๆคิดว่าต้องปรับตัว แต่ปรับตัวมา 1 ปีแล้วปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาเดิมอยู่ไม่หาย คิดว่าไม่น่าใช่เรื่องการปรับตัว จึงเข้ามาปรึกษาเพื่อหาทางแก้ไข
2nd CC ; แว่นปัจจุบันที่ใช้อยู่มองไกลเริ่มมัวโดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็นที่แสงโพล้เพล้ ทำให้ขับรถในเวลากลางคืนหรือช่วงเย็นแสงน้อยลำบาก ถ้าแดดดีๆ สว่างมากๆ อาการมัวไม่ค่อยมี แม้ไม่ใส่แว่นก็มองไกลชัด
ไม่เคยไปพบจักษุแพทย์มาก่อน เพราะคิดว่าสุขภาพตาของตัวเองดีอยู่
ไม่มีประวัติ อุบัติเหตุกระทบกระเทือนกับดวงตาหรือศีรษะ มีหยักไย่จุดดำบ้างเล็กน้อย ปริมาณคงที่ เห็นเป็นบางครั้ง จำนวนและหน้าตาหยักไย่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีฟ้าแล๊บ
ปวดทุกวัน ปวดทุกครั้งเวลาที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ เริ่มเป็นทันทีหลังจากใส่แว่นทำงานดูใกล้ แต่ถ้าไม่ใส่ก็มองไม่เห็น ความปวดอยู่ที่ 7/10 จะอาการจะเป็นหนักมากขึ้นในช่วงบ่ายถึงค่ำๆ ถ้าไม่ดูคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือก็ไม่เป็นไร (ซึ่งอาการลัษณะนี้ มาจากสายตาแน่นอน)
ไม่ complain เรื่องภาพซ้อน (แต่สังเกตว่าคนไข้มี head tilt ตลอดเวลา)
เริ่มใช้แว่นเพื่ออ่านหนังสือ ตอนอายุ 42 ปี ใช้เพื่อดูใกล้อย่างเดียว ส่วนแว่นที่ใช้อยู่ปัจจุเป็นแว่นโปรเกรสซีฟ ทำมาประมาณ 1 ปี มีปัญหาการใช้งานข้างต้นที่กล่าวมา แต่ก็ทนใช้มามาถึงปัจจุบัน ซึ่งเริ่มคนไม่ค่อยได้แล้ว แต่หลักๆยังคงมีแว่นอ่านหนังสือเอาไว้ใช้สำรองเวลาทนใช้โปรเกรสซีฟไม่ไหว
สุขภาพ : แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีภูมิแพ้ ไม่มียาที่ต้องทานประจำ
PD : 32 / 31.50
VAsc : 20/20 OD/OS/OU (ตาเปล่าชัดและอ่านได้เท่ากับคนสายตาปกติ)
VAcc : 20/20 OD/OS/OU (แว่นปัจจุบันอ่านได้เท่ากับคนสายตาปกติ)
แว่นเดิม ซึ่งเป็นแว่นโปรเกรสซีฟ ทำมา 1 ปี
OD + 0.25 VA 20/20
OS + 0.50 VA 20/20
Add +2.00
Cover Test : Esophoria @ Distant & Near (w/o correction)
OD : K1 45.25 @173/K2 46.25@8
Corneal astig. = -1.00x173
OS : K1 45.50 @8 / K2 46.13@98
Corneal astig. = -0.63 x 8
OD +1.25 -0.62 x 90 VA 20/20
OS +1.50 -1.00 x 65 VA 20/20
OD +1.25 -0.62 x 100 VA 20/20
OS +1.75 -1.00 x 75 VA 20/20
OD +1.25 -0.25 x 100 VA 20/15
OS +1.75 -0.75 x 70 VA 20/15
OD +1.00 -0.25 x 100 VA 20/10-1
OS +1.50 -0.75 x 70 VA 20/10-1
Horz. Phoria : 1 BO (esophoria)
Vert.phoria : 1BDOS (Left-Hyperphoria)
Maddox rod ; Vertical phoria 2.5 BDOS /Horz.phoria 2.5 BO*
BCC +2.25D
NRA/PRA +0.75 / -0.75
1.Compound Hyperopic Astigmatism
2.Esophoria at distant
3.Left Hyperphoria at distant
4.presbyopia
OD +1.00 -0.25 x 100
OS +1.50 -0.75 x 70
0.5 pd BUOD / 0.5 pd BDOS
0.5 pd BOOD / 0.5 pd BOOS
Add +2.25D : Rodenstock Multigressiv MyView 1.6 M ColorMatic IQ 2 Gray
รูปแบบของอาการปวดศีรษะของเคสนี้นั้นมีความคลาสิกและเป็น pattern ของคนไข้ที่ under corrected plus hyperopia หรือ over minus myopia ซึ่งในเคสนี้ แม้แว่นเดิมจะจ่าย Addition +2.00 มาบนตัวเลนส์โปรเกรสซีฟ แต่ add ที่คนไข้นำไปใช้งานจริงจากเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นใช้งานได้เพียง +1.00D เพราะสายตามองไกลนั้น under plus (over-minus) ถึง +1.00D ซึ่งถ้าคำนวณ reading power จากแว่นเดิม
OD + 0.25 Add +2.00
OS + 0.50 Add +2.00
เมื่อทำเป็น Reading Glasses สำหรับอ่านหนังสือ 40 ซม. เราจะได้ค่าแว่นอ่านหนังสือคือ
OD +2.25
OS +2.50
ในขณะที่ Reading power ที่ต้องการจริงๆ จากค่าสายตาที่ best corrected
OD +1.00 -0.25 x 100 ,Add +2.25
OS +1.50 -0.75 x 70 ,Add +2.25
เมื่อคิดเป็น Corrected reading power สำหรับอ่านหนังสือ
OD +3.25 -0.25 x 100
OS +3.75 -0.75 x 70
ด้วยสาเหตุนี้เองที่เป็นสาเหตุสำคัญให้คนไข้ปวดศีรษะตลอดเวลา เนื่องจากมองไกลนั้นคนไข้ก็ต้องใช้กำลังเพ่งของเลนส์ตามากถึง +1.00D เพื่อให้มองไกลชัด ทำให้เหลือ Amplitute of accommodation เพียงเล็กน้อยสำหรับดูใกล้ ทำให้ Dynamic reading range หรือ "ความชัดลึกในแต่ละตำแหน่ง" นั้นลดลงด้วย ผลคือเวลาใช้เลนส์โปรเกรสซีฟดูคอมพิวเตอร์คนไข้ต้องเงยหน้ามากเพื่อให้สามารถมองใกล้เห็น ซึ่งมันผิดทั้งกำลังค่าสายตาและตำแหน่งการใช้งาน และทนทรมานมาเป็นปีกับเลนส์ไฮเอนด์แบรนดที่อ้างว่าโครงสร้างกว้างอย่างนี้อย่างนั้น แท้จริงแล้ว เลนส์ดี แต่สายตาไม่ corrected ก็ไม่รู้จะให้มันดีได้อย่างไร
ขยายความ Dynamic Reading Rang กันสักหน่อย การมองเห็นของมนุษย์นั้นมีสิ่งหนึ่งที่ทำงานเป็น Dynamic ก็คือ การ accommodation ของ crystalline lens ซึ่งช่วยให้การมองเห็นของเรานั้นมี Dynamic vision depth คือชัดตั้งแต่ไกลสุดไปจนถึงใกล้สุด เหมือนที่เรายังเด็กหรือยังมีอายุขัยยังไม่ถึง 40 ปี เราสามารถมองไกลและหันมาอ่านหนังสือได้ในทันที
เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น Dynamic ของเลนส์ตาจะเริ่มลดลง ทำให้เราไม่เห็นความชัดลึกอย่างที่เคยทำได้ เราจึงจำเป็นต้องหาเลนส์มาช่วย นั่นคือแว่นสำหรับอ่านหนังสือ ซึ่งเวลาใส่เลนส์ประเภทนี้เราก็จะเห็นชัดในแนวกว้างแต่ไม่ลึก คือเห็นชัดอยู่ในช่วง 40 ซม. +/- 30 ซม.เต็มเลนส์ ซึ่งระยะ +/- จาก main viewing distant นี้เองคือ Dynamic ที่เกิดจากการ accommodate หรือ relax accommodate ยิ่งเมื่ออายุมากขึ้น Dynamic ของเลนส์ตาทำได้น้อยลง ก็ส่งผลให้ Dynamic reading range ของเราลดลง ค่า +/- ก็จะยิ่งแคบไปเรื่อยๆ
จึงเกิดมีการพัฒนาเลนส์ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ Dynamic reading range ของเรานั้นกลับไปเป็นเหมือนอายุก่อน 40 ปี คือเห็นชัดในทุกระยะ ด้วยการออกแบบให้เลนส์เป็นสิบคู่นั้นมาอยู่ในเนื้อเลนส์ชิ้นเดียวโดยไม่มีรอยต่อ เราเรียกว่า progressive lens ซึ่งให้หลักการ varies power ด้วยการไล่ค่าความโค้งของผิวเลนส์แบบ gradient ละเอียดจนไม่สามารถจับต้องหรือลูบคลำด้วยตาเปล่าว่ามีชั้นอยู่ แล้วให้ตาของเรานั้นเลือกที่จะให้รูม่านตาของเรานั้นมองวัตถุผ่านส่วนไหนของผิวเลนส์
ถ้า Over Addition สูงมาเกินไป / หรือ Over Minus มากเกินไป เลนส์ตาของคนไข้จะกลายเป็นเลนส์ fixed ทันที (จาก Max relax accom และ full accom ตามลำดับ) คือไม่มี Dynamic reading range ทำให้วัตถุในหนึ่งๆ จะมีจุดชัดเพียงจุดเดียว แล้วลองนึกถึงเวลาทำงานหน้าจอมอนิเตอร์ ที่ต้องอ่านเอกสารขึ้นๆลงๆ แล้วจุดชัดมันมีอยู่จุดเดียวบนโปรเกรสซีฟ โดยที่ไม่มี Dynamic ของเลนส์แก้วตามาช่วยเลย คนไข้จะต้องก้มเงย ๆ เมื่อต้องอ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าเราสามารถช่วยคนไข้ได้ด้วย แก้สายตามองไกลให้หมดจด อย่า under plus และ อย่า over minus เราจะช่วยให้เลนส์ตาของคนไข้นั้นมี Dynamic มากขึ้น หรือมีระยะ +/- จากระยะชัดได้มากขึ้น คนไข้ก็ลดปัญหาการก้มเงยจนเกินเหตุ เมื่อทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ได้
ในเคสนี้ หลังจากที่ Full corrected hyperopia ไปแล้ว คนไข้ยังมีเหล่เข้าซ่อนเร้นเหลืออยู่ที่มองไกลอีก 1 prism base out แม้ผิวเผินจะดูไม่ได้มากนัก แต่ถ้ามองมุมกลับว่า ถ้าไม่ได้ corrected hyperopia เลย ซึ่งในการมองไกลในเคสนี้เลนส์ตาจะต้องเพ่งถึง +1.50D เพื่อให้มองไกลชัด ซึ่งการ accommodate ที่เกิดขึ้นก็ยิ่งทำให้ esophoria เดิมที่มีอยู่แล้ว กลับยิ่งเป็นหนักขึ้น ทำให้สามารถตรวจพบว่ามี eso ตั้งแต่ขณะทำ cover test ตอนช่วง prelim และนี่เป็นเหตุให้คนไข้เป็นปวดหัวง่าย ค่ำเริ่มโฟกัสไม่ค่อยดี เพราะเวลาค่ำแสงน้อย contrast ไม่ดี ส่งผลให้การ contrast ที่ช่วยในการ fusion ของภาพนั้นไม่ดี จึงเกิดภาพไม่ชัด และปวดเครียดลูกตาเวลามีแสงน้อย
ดังนั้นในคนไข้ที่มีสายตายาวมองไกลมาแต่กำเนิด ต้องระวังในการตรวจ เนื่องจากอาจเกิด under plus ได้ง่าย เพราะการ under plus แม้จะทำให้ไข้มองเห็นชัดจาก amplitude of accommodation (ถ้ามีมากพอ) แต่จะต้องตรวจดู esophoria เสมอเพราะมักจะมาคู่กัน และถ้าคนไข้เป็น esophoria จริง ต้อง full corrected เพื่อลด esophoria ให้ได้มากที่สุด ถ้า full แล้วก็ยังมี eso อยู่ ขาดเหลือก็ให้จ่ายปริซึม base out ช่วยไปอีกแรง แต่ต้องมั่นใจว่าได้แก้ hyperopia ไปจนหมดแล้วก่อนจึงจ่ายปริซึม ในขณะเดียวกัน ก่อนที่จะจ่ายปริซึมก็ควรศึกษาให้รอบด้านก่อนจ่าย เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดธาตุไฟเข้าแทรกได้ง่าย
ดังนั้นการตรวจสายตาและความผิดปกติของการมองเห็น ที่ผมย้ำตลอดมาคือ ไม่ได้เอาแค่ชัด แต่ต้องชัดบนพื้นฐานของระบบการมองทั้งสองตาทำงานสมดุลและเป็นปกติ จากนั้นก็ให้ร่างกายได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันให้สมดุล ขาดเหลือเราจึงค่อยจ่ายปริซึมเพื่อเข้าไปช่วยกล้ามเนื้อตาอีกที
Hyperphoria นั้นเป็นตาเหล่ซ่อนเร้นที่สร้างปัญหาให้กับคนไข้ได้มากที่สุด เพราะเหล่ซ่อนเร้นในแนวดิ่งนั้น กำลังในการรวมภาพของกล้ามเนื้อตาในแนวนี้นั้นมีน้อย จึงทำให้คนไข้เกิดภาพซ้อนขึ้นมาได้ง่าย ส่งผลให้คนไข้ต้องปรับศีรษะด้วยการเกิด head tilt ตามมา
แต่ก็ต้องระวังว่า hyperphoria ที่ตรวจออกมาได้จาก phoropter นั้น เพราะเท่าที่สังเกตมา "เก้าอี้ตรวจสายตาที่มีขายอยู่ในบ้านเรานั้น ไม่มีหมอนรองศีรษะ แล้วให้คนไข้ชะโงกหน้าเครื่อง phoropter ซึ่งการทำอย่างนั้น ถ้าหน้าคนไข้ไม่ได้ aligment อยู่ในแนวเซนเตอร์หรือมีคอเอียง จะสร้างปัญหาในการตรวจตามมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่อง refractive error จาก vertex distant หรือ headtilt ทำให้ axis astig shift หรือ induce prism ทำให้เกิด false positive ในการตรวจได้" ก็หวังว่าเสียงนี้จะไปถึง supplier ในประเทศว่า ช่วยเอาเก้าอี้ที่มาตรฐานโลกเขาใช้กันมาขายในราคามาตรฐานหน่อย ดูแบรนด์ Reliance เป็นตัวอย่างก็ได้ ไม่ใช่เอาของจีนมาขายในราคา Reliance"
กลับมาที่การตรวจ phoria หลังจากที่เราได้ค่า phoria มาจาก phoropter แล้ว สิ่งสำคัญก็คือดูว่าคนไข้มีเหล่ซ่อนเร้นในแนวดิ่ง ที่มีอยู่จริงหรือเกิดจากการถูก induce จากคนไข้มี head tilt ขณะมองชาร์ตอยู่หลัง phoropter หรือคนไข้อาจจะมีตาสูงต่ำของตาซ้ายและตาขวาที่ไม่เท่ากัน ทำให้ line of slight ของตาทั้งสองข้างนั้น ไม่ได้มองผ่านเซนเตอร์ หรือตำแหน่งเลนส์เดียวกัน ก็ทำให้ induce vertical phoria ได้เช่นกัน
ดังนั้นต้องทำ confirmation ให้รอบด้าน ทั้งวิธี VonGrafe’s Technique และ Maddox Rod ทั้งบน phoropter และ Trial Frame จึงจะสามารถยืนยันว่าคนไข้มี Vertical Phoria จริงหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาจ่ายอีกที
ในทรรศนะส่วนตัวผม ถ้าคนไข้มี vertical phoria ในแนวดิ่งผมเลือกที่จะจ่าย full corrected vertical phoria เพื่อช่วยให้คนไข้สามารถรวมภาพได้โดยไม่ต้องทำคอเอียง โดยผมไม่สนว่าคนไข้จะชินกับคอเอียงมาหลายสิบปี เพราะสรีระของคอนั้นไม่ได้ออกแบบมาให้คอเอียง แต่เพราะจำเป็นต้องทำคอเอียงเพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้อน พอเอียงนานเข้าก็ทำให้เป็นโรคเมื่อยคอ บางคนก็คิดว่ามาจาก office syndrome แต่จริงๆอาจมาจากเรื่องนี้ด้วยก็ได้ ดังนั้นการจ่ายเลนส์ในมุมของผมนั้น เพื่อการป้องกัน บรรเทาหรือรักษาความผิดปกติในการใช้ชีวิตอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่แค่วัดเอาชัดแล้วจะจบ
ค่า Final prescription ที่จ่ายให้คนไข้ท่านนี้นั้น ผมทำ confirmation test ด้วยการ over refraction Retinoscopy พบว่าเป็นแสง with movement เล็กน้อย ซึ่งฟ้องว่าเป็นค่าที่จ่ายนั้นเป็น under plus แต่แม้ว่า ค่าสายตาที่ extractly นั้นมีความเป็น + มากว่านี้ข้างละ 1 สเตป และคนไข้สามารถอ่านได้ถึง VA 20/15 ทั้งสองข้าง แต่คนไข้ complain ว่ามันก็เห็นชัดนะ เพียงแต่เหมือนมีติดหมอกๆบางๆ ไม่ใส ซึ่งเป็นอาการของ accommodation ยังไม่ relax เต็มที่ และก็ได้ให้คนไข้ใส่นั่งเลนส์ประมาณ ครึ่งชม.ก็ยังรู้สึกว่า ยังนวลๆ ก็เลยตัดสินใจ under plus ให้ 0.25 เป็นสายตา BCVA ดังกล่าว ซึ่งคนไข้ชอบความคมชัดและยังคงความสบายตาได้ดีมาก แม้สิ่งที่ผมเห็นจาก retinoscope ขณะนั้นเป็นแสง with ที่เกิดจาการ under plus ก็ตามแต่ แต่ก็ต้องยอมทำถูกใจแต่ไม่ค่อยถูกต้องเล็กน้อย ซึ่งผมยอมรับกับความคลาดเคลื่อนปริมาณนี้ได้ และก็บอกให้คนไข้เข้าใจว่า ค่าที่ถูกใจคนไข้นี้ไม่ใช่ค่าที่ถูกต้องนะ ซึ่งคนไข้ก็โอเค
การทำ Maddox เพื่อหา Horizontal phoria นั้นมักจะให้ค่า over estimate esophoria หรือ under estimate exophoria เนื่องจาก target ที่ให้คนไข้ fixate นั้นไม่ใช่ accommodative target แต่เป็นเพียงจุดไฟ ซึ่งทำให้ Accommodation ไม่สามารถ fixate ที่ target ได้ และไม่รู้ระยะที่แน่นอนของ target ส่งผลให้ระบบ accommodation เข้าสู่ resting positioning ซึ่งเป็นค่าที่มี accommodation อยู่ +0.25 ถึง +1.50 ผลคือ induce esophoria ให้สูงกว่าความเป็นจริง แต่ Maddox จะไม่รวบกวนในแนวดิ่ง เราจึงสามารถใช้ค่าที่ได้จาก Maddox ที่ใช้หาค่า vertical phoria ได้
ศึกษาการทำ Maddox Rod test เพิ่มเติมได้จากลิ้ง https://www.loftoptometry.com/Maddox-Rod
ถ้าสังเกตในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ผมนำ Machine ตัวนี้มาช่วยทำงาน มันทำให้งานของผมมีความซับซ้อนขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งให้ทั้งค่าที่ดีและค่าที่ไม่ดีหรือเชื่อไม่ได้ก็มีซึ่งต้องใช้ดุลยพินิจและวิจารณญาณอย่างมากในการวิเคราะห์ แต่ที่แน่ๆ มันทำให้การทำงานของเรานั้นละเอียดขึ้น เหมือนมีตัวเฝ้าดูการทำงานของเราอยู่ และเราต้องพยายามจะเหนือมัน
ซึ่งหลังจากได้ทำความรู้จักกับเครื่องตัวนี้ได้สักพัก ก็ได้พบว่า เจ้า machine ตัวนี้ก็มีดีในหลายๆเรื่อง ที่ช่วยให้ผมสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติของระบบการมองเห็น รวมถึงความผิดปกติหรือพยาธิสภาพที่ที่เกิดขึ้นกับคนไข้ดีและครอบคลุมมากขึ้น ส่วนเรื่องที่คนส่วนใหญ่โปรโมทว่า มันเป็นเครื่องที่วัดสายตาได้ละเอียดและแม่นยำที่สุดในโลก จุดผมยังมองว่าเรื่องนี้ ผู้ที่ทำการโปรโมทลักษณะนี้นั้น ยังไม่เข้าใจของเครื่องมือตัวนี้ดีพอ หรือ อาจจะยังไม่ได้อ่านคู่มือแต่อาจจะอ่านยากหน่อยเพราะคู่มือเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะถ้าอ่านแล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้ออกแบบมาให้ทำงานแบบนั้น และ ผู้ที่สร้าง machine นี้ขึ้นมาก็ไม่ได้คาดหวังเรื่องนั้น เขาก็เขียนคำเตือนชัดเจนว่า ในบางประเทศ ต้องใช้งานด้วยแพทย์หรือผู้ที่ได้รับ certified doctor ว่าให้สามารถใช้งานได้ เพราะเป็นเพียง investigation machine ไม่ใช่ diagnostic machine คือเอาไว้ช่วยหมอวิเคราะห์ ไม่ใช่เอาค่าไปวินิจฉัย แต่เมืองไทย certifed doctor คือไร ? ไม่เข้าใจ
เพราะหัวใจของเครื่องตัวนี้คือ เป็น aberrometer สำหรับประเมิน Higher order aberration (HOA) ที่เกิดขึ้นกับระบบหักเหแสงของดวงตา เพราะ Rodenstock เขาพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ HOA ที่เกิดจากตาแต่ละคนผ่านผิวเลนส์ได้ เรียกว่า DNEye Technology และใส่ function ต่างๆ เข้าไปเพื่อให้มีความครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น ส่วน Auto-refractometer เพื่อตรวจ สั้น ยาว เอียง นั้นก็เป็นอีก หนึ่งฟังก์ชั่นที่ใส่เข้าไปให้ครบ ถามว่าแม่นยำไหม ก็ต้องบอกว่า มันก็แม่นเท่าที่คอมพิวเตอร์วัดสายตามาตรฐานหนึ่งๆจะทำให้ได้ แต่มันก็ไม่ถึงขนาดที่จะนำไปโฆษณาว่ามันละเอียดแม่นยำที่สุดในโลก อันนี้ก็เข้าข่ายโฆษณาเกินจริงไปหน่อย (ระวังจะถูก สคบ.ฟ้องนะ) ถ้าฟัง Rodenstock พูดถึงเครื่องมือตัวนี้ เขาก็ไม่ได้เคยบอกอย่างที่เราๆ ชอบเอาไปโฆษณานะ เขาบอกแต่เพียงว่า มันทำอะไรได้บ้างเท่านั้นเอง ที่เหลือก็เพิ่มไข่ใส่นมเพิ่มเติมทั้งนั้น
แต่สำหรับเคสนี้ DNEye เขาทำได้ดี ปรบมือให้ เพราะหลังจากได้ค่าจากการตรวจในคลินิกตามปกติมาแล้ว ผมก็ใช้ DNEye Scan Pro มาตรวจดูก็ได้ค่าที่พ้องกับค่าที่ตรวจได้ในตอนต้น ซึ่งต้องบอกก่อนว่าในการทำงานปกติของผมนั้น ผมจะใช้ DNEye หลังจากผมตรวจได้ค่าทุกระบบมาทั้งหมดแล้วเท่านั้น เพราะต้องการรู้ว่า DNEye มองเห็นระบบอื่นๆมีความผิดปกติอย่างไรบ้างและเห็นแย้งจากที่ผมตรวจเจอหรือไม่ ถ้าเห็นแย้ง ผมจะต้องหาวิธีมา prove ว่าค่าที่ DNEye ได้มานั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใด แต่เนื่องจาก Reliability ของเครื่อง computer ที่กระทำกับมนุษย์นั้นน้อยอยู่แล้ว หรือมีความน่าเชื่อถือที่น้อย ผมจึงไม่นำชีวิตคนไข้ไปฝากไว้กับ machine ที่มี reliability น้อยแบบนั้น และถ้าเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้นมา ล้วนแต่เป็นจากความผิดเราทั้งสิ้น ไม่ใช่เพราะความร่วมมือของคนไข้หรือเพราะ machine
ตรงนี้ผมไม่ได้จะสื่อสารว่า machine ไม่ดี เพราะจริงแล้วมันดีมากๆในหลายๆเรื่อง มันช่วย investigate อะไรได้มากมาย เพื่อให้งานของเรานั้น มีความละเอียดมากขึ้น แต่ ผมไม่เห็นด้วยกับการบูชา machine ว่าเป็นสรณะ แล้วก็เชียร์ machine กันจนขาดสติ จนทำให้ผู้บริโภค เข้าใจผิด ว่า มี machine ที่ดีแล้ว ไม่ต้องมีหมอก็ได้ สุดท้ายแล้วกรรมก็ตกไปอยู่กับคนไข้ ที่ต้องเที่ยวแก้เลนส์ไม่จบไม่สิ้น แล้วไปบ่นว่า เทคโนโลยีไม่เห็นช่วยอะไร (เรื่องจริง) จริงๆแล้ว ช่วยมากมาย ถ้าใช้ถูกวิธี แต่มันมีบริบทมากมายที่ต้องพิจารณา
จึงเป็นการตอบคำถามหลายๆคนที่ถามผมว่า “ทำไมไม่โปรโมท machine อุตส่าห์ซื้อมาตั้งแพง และใครๆเขาก็โปรโมทกัน” ผมได้แต่ยิ้มๆ แล้วถามว่า “พี่กล้าใช้ค่าที่ได้จาก machine โดยที่ผมไม่ต้องตรวจไหม” และ ร้อยละร้อย ส่ายหน้าทุกคน ไม่มีใครกล้าเสี่ยงแม้แต่คนเดียว ผมเองก็ไม่กล้า
ดังนั้นท่านทั้งหลายที่เป็นอิสระภาพจาก machine แล้วก็ยินดีด้วย ส่วนท่านที่ยังเป็นทาส machine อยู่ก็วางแผนประกาศเอกราช แล้วเตรียมพึ่งพาตนเองได้แล้ว เพราะ machine ไม่เคยนำมาซึ่งความยั่งยืน จาก reliability ที่มันยังต่ำเกินไปที่จะพึ่งพาเป็นสรณะนั่นเอง เราต้องปลดแอกตัวเองออกจาก machine ไม่ใช่ให้ machine มาคุมว่าเราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามมัน แต่ตรงกันข้าม เราต้องใช้งานมันอย่าง "ชาญฉลาด" หรือ "ฉลาดที่จะใช้"
เท้าความถึงเลนส์โปรเกรสซีฟเดิม (ซึ่งคนไข้เล่าให้ฟังว่าทำมาครึ่งแสน) แม้จะเป็นแบรนด์ที่ดี เทคโนโลยีสูง และเคลมว่ามันจะกว้างอย่างนั้นอย่างนี้ และคนไข้ก็เชื่อในเทคโนโลยีว่าจะเป็นจริงอย่างนั้น แต่หารู้ไม่ว่า ความดีของเทคโนโยลีทั้งหมดที่เขากล่าวอ้างมานั้น "base on" หรือ “ขึ้นอยู่กับ” ความถูกต้องของ correction เพราะโครงสร้างเลนส์ดีๆนั้น เริ่มคำนวณจากได้รับ input จาก personal data ที่ถูกต้องแล้วเท่านั้น ถ้า "in put" มาผิด ก็คงไม่ต้องไปคิดต่อว่า "out put" จะเป็นอย่างไร ก็อย่างที่คนไข้ท่านนี้ประสบมา ได้ครบ คือ เสียเงิน เสียเวลา เสียงาน และเสียงานอดิเรก และเกิดทัศนคติที่ไม่ดีกับเลนส์โปรเกรสซีฟ และเชื่อว่ามีอยู่เยอะมากในบ้านเรา
ดังนั้นผมเห็นรูปแบบการเชียร์ขายหรือนำเสนอเลนส์โปรเกรสซีฟแล้วของ ย อ ด นั ก ข า ย แล้วก็อดห่วงผู้บริโภคไม่ได้ เพราะ supplier ที่เป็นตัวแทนขายเลนส์นั้นก็มักจะสอนให้ คนขายนั้น เชียร์ว่าเลนส์แพงแล้วมันจะกว้าง แต่กลับมีผู้บริโภคจำนวนมาก ที่นอกจากได้เลนส์ที่ไม่กว้างตามที่คาดหวังแล้วยังใส่ไม่ได้หรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอีกด้วย มีจำนวนมากที่เข้ามาปรึกษาและเกือบ 100% ผมพบว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่เลนส์ไม่ดีเพราะส่วนใหญ่ได้รับการเชียร์เลนส์ดีๆมาทั้งนั้น แต่พบว่าปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่ค่า correction ที่ไม่ดีและถูกต้องพอ จึงทำให้มีปัญหาการใช้งาน ถ้ายังทำมาไม่นาน ยังอยู่ในประกัน ผมก็จะวิเคราะห์สายตาให้นำกลับไปเคลม ซึ่งทั้งหมดก็แฮปปี้กับเลนส์เดิมสายตาใหม่ ใส่สบายสนามภาพกว้างพอในการใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเลนส์อย่างมีความสุข แต่นั่นไม่ใช่เพราะเคลมเปลี่ยนเทคโนโลยีเลนส์หรืออะไร แต่เป็นการเคลมจากค่าสายตาที่ไม่ correct ให้ corrected มากที่สุดก็เท่านั้นเอง
เรื่องนี้จึงอยากจะฝากว่า ฝากนักขายให้ เพลาๆการให้ความหวังเรื่องเลนส์กว้างหรือท่องจำวิธีทักษะการขายลงหน่อย หลักสูตรเชียร์ขายควรเกิดขึ้นกับธุรกิจอื่นแต่ไม่ใช่ธุรกิจบริการสุขภาพ แล้วเอาเวลาไปฝึกตรวจสายตา ฝึกใช้เรติโนสโคปให้คล่อง เอาให้ได้ เอาให้แม่น ค่อยๆทำ ค่อยๆศึกษาเป็นเคสๆไป แล้วปัญหาที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะลดลง วงการแว่นตาจะพัฒนาขึ้น ดูสง่างามขึ้น อย่าให้ใครเขามาว่า วงการแว่นตาเหมือนเด็กเลี้ยงแกะ (ซึ่งได้ยินมากับหู) ซึ่งจริงๆแล้ว เด็กเลี้ยงแกะมีอยู่ทุกวงการ เพียงแต่บางวงการจะมีอยู่มากหน่อย โดยเฉพาะวงการที่ Education ยังมีน้อยหรือเข้าถึงได้ยาก อย่างเช่นวงการที่เกี่ยวข้องกับการบริการด้านสายตาในประเทศไทย
ดังนั้นเด็กเลี้ยงแกะส่วนน้อยก็ให้เลิกเสีย อย่าไปทำให้คนส่วนใหญ่เขาเปื้อนมลทิน อย่าทำธุรกิจแว่นแบบไร่เลื่อนลอย ที่พอดินเสียก็ย้ายไปเรื่อยๆ ทำเสียก็เปลี่ยนชื่อใหม่ไปเรื่อยๆ ทำก็หลอกขายไปเรื่อยๆ แล้วจะไปหาความยั่งยืนได้จากที่ไหน
หลักที่ควรยึดคือหลักของ Sufficiency Economy หรือ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงที่สอนให้ 1.พอประมาณ 2.มีเหตุผล 3.มีภูมิคุ้มกัน และหัวใจหลักก็คือ “พึ่งพาตนเองได้ อย่างยั่งยืน” ก็กลับไปถามดูว่า “เราพึ่งพาตนเองได้หรือยัง” เช่น ถ้าเราเป็นผู้ให้บริการด้านสายตา ถ้าไฟดับหรือไปตรวจสายตาให้คนบนเขาที่อุปกรณ์อิเลคโทรนิคทุกชิ้นไม่ทำงาน มีเพียง retinoscope ,trial lens set และ แผ่นกระดาษ VA chart เราสามารถหาค่าสายตาที่ถูกต้องแม่นยำให้กับคนไข้ได้หรือไม่ ถ้าทำได้ นั่นคือเราพึ่งตนเองได้ และถ้าทำได้และทำดีอย่างต่อเนื่อง และหมั่นสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาเพราะความรู้เกิดใหม่อยู่เสมอ ผมเชื่อว่าจะเกิดความยั่งยืนในการเดินทางในสายอาชีพนี้อย่างแน่นอน
มาถึงในช่วงท้าย สิ่งที่ผมอยากจะแสดงมุมมองในสิ่งที่ผมคิด 2 เรื่องหลัก เกี่ยวกับการจ่ายเลนส์เพื่อแก้ปัญหาสายตาให้คนไข้
ไม่ควรอ้างความเคยชินหรือความชัดของคนไข้ว่า ที่จ่ายอย่างนี้เพราะคนไข้เขาชินกับของเดิมมาแบบนี้ หรือที่จ่ายแบบนี้เพราะคนไข้เขาบอกเองว่าชัด เพราะในฐานะของเราผู้ให้บริการสายตา ต้องบอกคนไข้ให้ได้ว่า ความผิดปกติแท้จริงของเขาคืออะไร อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง และแนวทางในการแก้ไขคืออะไรบ้างที่เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
ไม่ควรใช้คำว่า “ศิลป์” มาเป็นข้ออ้างในการทำงานที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เพราะจะทำให้เกิด “ศิลป์ ธนญชัย” ออกลูกออกหลานตามมาไม่จบไม่สิ้น ตรวจผิดก็อ้างศิลป์ ตบค่าสายตาเข้าเลนส์ในสต๊อกตัวเองก็อ้างศิลป์ ตัดสายตาเอียงทิ้งก็อ้างศิลป์ ตบองศาเข้าแกนหลักก็อ้างศิลป์ นี่แหล่ะ “ศิลป์ ธนญชัย”
แต่ถ้ายึดเอา “ศาสตร์” นำ “ศิลป์” แล้วใช้ “ศิลป์” ในการขัดเกลาให้สวยงาม ปัญหาลักษณะนี้ในวงการแว่นตาของเราจะน้อยลง
แม้ว่า 100% ของเลนส์ที่ผมจ่ายจะเป็น Rodenstock ผมก็ไม่ได้หมายความว่า Rodenstock คือเลนส์ที่ดีที่สุด เพราะแท้จริงแล้ว คำว่า “ที่สุดไม่มีอยู่จริง” เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือเทวดายังมีพระพรหม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานบริการด้านสุขภาพหรือการแพทย์แล้วยิ่งไม่ควรใช้คำว่าที่สุด เพราะที่สุดไม่เคยมีอยู่จริง ผมเองก็ไม่ใช่ที่สุด และมีเรื่องอีกมากมายที่ผมยังต้องเรียน ยังต้องศึกษาค้นคว้าอยู่ หรือแม้แต่ความรักในวิชาชีพทัศนมาตร ก็อาจจะมีคนที่รักวิชาชีพมากกว่าผมอยู่เพียงแต่เขาไม่แสดงตัวออกสื่อเท่านั้นเอง
ดังนั้นผมคงไม่บอกว่า ใช้ Rodenstock แบรนด์เดียว เพราะว่าแบรนด์อื่นไม่ดีหมด จริงๆแล้ว ทุกแบรนด์มีบุคลิกของโครงสร้างที่เฉพาะตน เพราะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างออกแบบ บนพื้นฐาน knowledge knowhow และ technology ที่ตนเองมี เช่นเดียวกับรถ Benz , BMW , Bently หรือ Rolls Royce ก็มีบุคลิกของตนไม่เหมือนกัน อยู่ที่รสนิยม และ innovation ที่ไม่เหมือนกัน
แต่ถ้าผมเป็นช่างซ่อมรถ Rolls Royce ที่รู้จัก รู้ใส้รู้พุงของ Rolls Royce เป็นอย่างดี ผมรู้ว่าแต่ละจุด แต่ละปัญหา แต่ละข้อจำกัดของ Rolls Royce อยู่ที่ไหน ผมสามารถ service ได้ทุกรูปแบบ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมเพิ่ม line ซ่อมรถแบรนด์ที่ผมไม่ถนัด
เช่นเดียวกัน การที่ผมผมไปเป็น lens consult ให้ Rodenstock Asia อยู่ 4 ปี ย่อมรู้ใส้รู้พุง รู้โครงสร้าง ของเลนส์แต่ละตัว ได้ลึกซึ้ง รู้ขีดจำกัดของเลนส์ทุกตัว รู้ว่าสายตาอะไรควรจ่ายอย่างไร รู้ว่าถ้าปัญหาเกิดนั้นเกิดมาจากอะไร ส่วนไหน และแก้อย่างไร และที่จ่ายเลนส์ Rodenstock มา 5 ปี Reject Rate ผมไม่ถึง 0.1% ก็คงไม่ได้มีเหตุผลอะไรที่ผมต้องเปิด port เลนส์แบรนด์อื่นเพิ่ม ก็เท่านั้นเอง ผมยอมเป็นคนที่ถูกหาว่า “แคบแต่ลึกดีกว่ากว้างแต่ตื้น”
ดังนั้นแต่ละแบรนด์ที่คิดค้นกันมาหัวแทบแตกนั้น ผมเชื่อว่าเขามีความตั้งใจดี คิดค้นวิจัยมาดี มี knowhow ที่สั่งสมต่อเนื่องมาเป็นร้อยปีเพื่อคำนวณโครงสร้างเลนส์ให้ออกมาดี
แต่ปัญหาก็คือ เขาเหล่านี้ ไม่สามารถควบคุมตัวแปรที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อโครงสร้างเลนส์โดยตรงคือข้อมูลจากผู้ให้บริการด้านสายตาก็คือ “ค่าสายตา และค่าพารามิเตอร์ต่างๆที่ถูกต้อง” เพื่อนำไปออกแบบโครงสร้างและนำไปสู่การผลิตต่อไป
เทคโนโลยีเลนส์ไม่ใช่เทคโนโลยีสำเร็จรูป อย่างรถยนต์หรือคอมพิวเตอร์ ที่จะสามารถใช้เงินจ่ายค่า option หรือจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้เทคโนโลยีรถยนต์ที่ดีขึ้นแบบตรงไปตรงมา เพราะแท้จริงแล้ว หัวใจอยู่ที่การตรวจวิเคราะห์สายตาที่แม่นยำและถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องของการเชียร์ขายเลนส์ไฮเอนด์ หรือการเชียร์ขายสรรพคุณเลนส์ว่ามันจะกว้างอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วสุดท้ายก็จ่ายค่าสายตาที่ uncorrected พอจ่ายแล้วคนไข้ใส่ไม่ได้ก็บอกว่า เลนส์ราคาถูกเกินไปใส่ไม่ได้เพราะโครงสร้างแคบ ก็เชียร์ขายรุ่นที่แพงๆขึ้นไปอีก แพงแล้วก็ยังใส่ไม่ได้อีก
คำถามถือ เลนส์ที่จ่ายไปแต่ละคู่นั้น ทำให้มันเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง หรือมั่นใจว่ามัน 100% แล้วหรือยัง แล้วจะไปรับผิดชอบกับความรู้สึกหรือเงินที่คนไข้ที่จ่ายไปอย่างไร หรือจะคิดว่า ลดให้เขา 30% แล้วแปลว่าคนไข้ต้องยอมรับกับประสิทธิภาพที่ต่ำลง 30-50% แต่บางคนโดนลดคุณภาพเลนส์ไป 100% เลยก็มี เพราะมันใช้งานไม่ได้ ต้องทิ้งอย่างเดียว ขอแนะนำผู้บริโภคนะครับ เวลาเข้ารับบริการ เวลาเจอ promotion 50% ถามเขาว่า "ไม่ต้องลด 50% แต่เปลี่ยนเป็นตรวจวิเคราะห์สายตาให้ถูกต้องสัก 90% ได้ไหม" ถ้าเขาบอกว่าได้ ผมยินดีกับท่านด้วย ทำเลยครับ ดวงตาของท่านมีค่ากว่าส่วนลด 50% มาก เพราะถ้าตาพังจากค่าผิด ดูไม่น่าจะคุ้มกันสักเท่าไหร่
ดังนั้นเรื่องนี้ ผมว่าควรเพลาๆการเชียร์ขายโครงสร้างประเภทว่า จ่ายเท่านี้ กว้างเท่านี้ จ่ายน้อยหน่อยโครงสร้างแคบหน่อย ซึ่งมันจะทำให้ผู้บริโภคไขว้เขวคลาดเคลื่อนจากความจริง เราเปลี่ยนมาตรวจสายตาให้มันดีแล้วจ่ายเลนส์ที่มันเหมาะกับปัญหาที่เขาเป็นดีกว่า เหมือนการตรวจโรค ตรวจเจอโรคอะไรก็จ่ายยาให้มันตรงโรค เพราะยาแพงก็ไม่ได้ช่วยอะไรถ้านำไปจ่ายผิดโรค เลนส์ก็เช่นเดียวกันตราบใดที่สายตายังไม่ corrected ยังหาค่าที่แท้จริงไม่ได้ ก็ป่วยการที่ไปเชียร์กับแบบนั้น แต่ถ้านั่นคือ ไพ่ใบสุดท้ายคือเป็นความสามารถสุดท้ายที่มีแล้ว ก็ไม่ว่ากัน
ก็อยากจะฝากเอาไว้ และขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตามอ่าน หวังว่าจะได้สาระหรือหรือแนวคิดติดตัวกลับไปไม่มากก็น้อย เนื้อหากระแทกกระทั้นใจหรือไม่สบหูบ้างก็ขออภัย แต่ถ้าคิดดีๆ แล้วมันเป็นเรื่องจริงทั้งหมด ที่คนไม่อยากพูดถึงก็เท่านั้นเอง แต่ 5G จะมาแล้วครับ ถ้าทุกคนไม่รีบสร้างภูมิต้านทานกับ educate ที่จะถาโถมเข้ามาสู่ผู้บริโภคแล้ว ของไม่จริงจะอยู่ไม่ได้ครับ ดังนั้นวันนี้ยังมีเวลา ศึกษา ฝึกฝน ทำงานในอาชีพให้สุดฝีมือ เราเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สังคมนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ครับ ส่วนดร.ลอฟท์ ขอลาไปเพียงเท่านี้
เร็วๆ นี้จะมี Columnist เพิ่มอีก 2 คนที่จะมาช่วยเขียนให้ความรู้ในเว็บไซต์ นั่นคือ ดร.เดียร์ กับ ดร.แจ๊ค และ ดร.เดียร์ กำลังเริ่งทำคลินิกทัศนมาตร ที่เชียงใหม่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เต็มที่เร็วๆนี้ ซึ่งผมก็ดีใจที่จะมีคลินิกทัศนมาตรดีๆ เกิดขึ้นในต่างจังหวัด และเป็นโมเดลแบบอย่างให้กับรุ่นหลังๆที่อยากกำลังมีแผนจะทำธุรกิจของตนเอง ท่านที่อยู่เชียงใหม่หรือจังหวัดใกล้เคียงก็แวะไปขอรับคำปรึกษากับ ดร.เดียร์ได้ ไว้จะมาอัพเดตให้ทราบในโอกาสถัดไป
ส่วนน้องๆ ทัศนมาตรคนไหนที่รักงานเขียน รักการสอนความรู้เกี่ยวกับวิชาการทางทัศนมาตร สนใจเป็น columnist เป็น part-time หลังเลิกงานประจำ ลองเขียน content ส่งมาให้ผมได้นะครับ งานสบายไม่ต้องเข้า office ได้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ได้ค่าตอบแทนตามสมควร ได้สร้าง personal brand ของตัวเอง มีตัวมีตนในวิชาชีพ ซึ่งถ้าได้หลายๆคนมาช่วยกัน งาน educate ให้กับคนไทยก็ทำได้เร็วมากขึ้น ครบถ้วนมากขึ้น การพัฒนาการของความรู้ด้านทัศนมาตรในประเทศไทยของเราก็จะเร็วขึ้น
578 Wacharapol Rd. Bangkhen Bangkok 10220
Mobile 0905536554
What you see.
What we done.