ในการทำความเข้าใจกับคำถามนี้จะต้องทำความเข้าในกับคำต่อไปนี้เสียก่อน
keyword : Optical Center / Optical Axis / visual axis / center of rotation / PD / FH
Pupillary Distant ,PD
PD คือระยะที่วัดจาก ศูนย์กลางรูม่านตาแต่ละข้างไปจนถึงกึ่งกลางสันจมูก (ระยะแกน x) ถ้าวัดแยกแต่ละข้างเรียกว่า Monocular PD ถ้าวัดรวมจากซ้ายไปขวาแล้วหารครึ่งจะเรียกว่า binocular PD (ซึ่งมีความหยาบระดับหนึ่ง) แต่ถ้าไม่วัดเลยแล้วกะๆเอา อันนี้เรียกว่าสร้างกรรม โดยเครื่องมือที่ใช้วัดนั้นเรียกว่า PD-meter
โดยปกติมนุษย์ทั่วไปนั้น ไม่เคยสมบูรณ์แบบ ดังนั้นใครจะมีหน้าสมมาตรก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะคนปกตินั้น คิ้วก็สูงไม่เท่ากัน หูก็สูงไม่เท่ากัน สันจมูกยังไม่ค่อยจะเท่ากัน ดังนั้น การจะไปวัดจากขวาไปซ้ายแล้วหารครึ่ง ก็คงจะดูหยาบไปหน่อย แต่ที่หยาบไปกว่านั้นคือการไม่วัดแล้วกะๆเอา ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนมักจะมี binocular pd ประมาณ 64 มม. พอจับหารครึ่งก็จะเดา pd ที่ 32/32 เป็นต้น (อย่าหาทำ)
Fitting Hight ,FH
FH คือระยะที่วัดจากขอบล่างของเลนส์ (จุดต่ำสุดของขอบล่างเลนส์) ไปจนถึงตำแหน่งศูนย์กลางของรูม่านตา ซึ่งวัดหลังจากดัดแว่นให้ได้ระดับแล้วเท่านั้น โดยสังเกตจากคานแว่น ต้องไม่เอียง ไม่เทไปด้านใดด้านหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงค่อยวัด และ อย่างที่พูดไปตอนต้นว่า เป็นเรื่องยากที่มนุษย์จะสมมาตร ดังนั้น ค่า FH ควรวัดแยกข้างแบบ monocular FH ไม่ใช่วัดข้างเดียวแล้วไปเหมาว่าอีกข้างจะต้องเท่ากัน วิธีวัดก็คือตีเส้นแนวนอน แล้วให้คนไข้มองตรง ว่ากลางรูม่านตานั้นวิ่งผ่านกลางเส้นหรือไม่ เมื่อได้แล้วก็วัดจากเส้นนั้นมาถึงขอบล่างสุดก็จะได้ค่า monocular FH
Optical Center,OC
คือศูนย์กลางเลนส์ คือจุดที่มีแต่ optical power ล้วนๆ ที่ทำหน้าที่บังคับการลู่เข้าหรือลู่ออก vergence ของแสงโดยไม่มี prism effect เกิดขึ้น หรือจะเรียกได้ว่า OC คือจุดที่ prism มีค่าเป็นศูนย์ก็ว่าได้ เมื่อเลนส์มี power และมีการมองหลุด OC ก็จะมีการ induced prism effect เกิดขึ้น มากน้อยขึ้นกับ กำลังเลนส์ (lens power,F) กับ ระยะหลุดเซนเตอร์ (c ในหน่วยเซนติเมตร) โดย induced prism = cF
(unwated) induced prism ที่เกิดขึ้น จะทำให้เกิดการย้ายตำแหน่งของภาพ ทำให้เกิดภาระของกล้ามเนื้อตาในการบังคับลูกตาให้วิ่งไปจับภาพที่หนีออกไปตามกำลังของปริซึม ทำให้เกิดความเครียดของกระบอกตา ปวดเมื่อยลูกตา คลื่นไส้ อาเจียน เรียกอาการรวมๆว่า asthenopia (แอส ทิ โน เปีย)
optical axis หรือ paraxial axis
นั้นคือแนวโฟกัสของเลนส์ที่ลากเป็นแนวเส้นตรงผ่านศูนย์กลางเลนส์ในทิศที่ตั้งฉากกับผิวเลนส์ (ซึ่งจะให้ power ในการรวมภาพของเลนส์บวก หรือ ถ่างโฟกัสของภาพของเลนส์ลบ) โดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก prism effect และ aberration ต่างๆจากการมองแบบ off-axis ซึ่งเมื่อเซนเตอร์เลนส์ถูกประกอบบนแว่นไปแล้ว Optical Axis ก็จะถูกกำหนดตายอยู่ที่ตำแหน่งนั้นๆด้วยตัวกรอบแว่นเอง
visual axis
คือแนวการมองของตาเรา ซึ่งแนวของ visual axis นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองไปยังตำแหน่งไหนขณะใส่แว่น ถ้ามองตรงๆไปไกลๆ ก็เรียกว่า visual axis อยู่ในแนว primary gaze คือมองตรง หรือจะตำแหน่งอื่นๆ up-gaze ,down-gaze ,left-gaze , right-gaze ก็สุดแท้ เรียกว่า visual axis ดังนั้น Visual axis เปลี่ยนไปตามตำแหน่งการเหลือบ ขณะที่ Optical Axis นั้นจะถูก fixed จากการประกอบเลนส์
center of ratation,COR.
การเคลื่อนที่ของตานั้น ไม่ได้ใช้การ slide ซ้ายขวา บนล่าง หรือ เฉียงขึ้นลง แต่เป็นการเคลื่อนที่รอบจุดหมุน ซึ่งเราเรียกจุดหมุนของดวงตานั้นว่า "center of rotation" หรือ COR. ซึ่งเป็นจุดสมมติที่กำหนดไว้ที่กึ่งกลางลูกตา ลูกตาสั้น ลูกตายาว ก็คงจะมี COR คนละตำแหน่งกัน
การประกอบเลนส์
การประกอบเลนส์นั้นมีหัวใจสูงสุดคือ จะทำอย่างไรให้คนไข้เมื่อใส่แว่นนั้น จะได้รับเฉพาะผลในส่วนของกำลังหักเหของแสงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมี prism effect เกิดขึ้น หรือมองไปตรงไหนก็ให้ค่าปริซึมเป็นศูนย์ ดังนั้นจะต้องเริ่มจากหาจุดตัดแกน x แกน y ก็คือจุดตัดของ PD และ FH แบบ Monocular แบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่การกะ หรือ การเดา ต่อไปจะต้อง concern ในเรื่องของ COR ,Visual Axis และ Optical Axis ว่า แว่นที่จะใส่สบายโดยไม่เกิด unwated prism และเป็นเซนเตอร์ที่ทำให้ visual axis และ optical axis นั้นวิ่งไปตัดกันที่ COR ให้ได้
ดังนั้น Monocular PD นั้นต้อง fixed ลำดับที่หนึ่ง และ Monocular FH นั้นต้องไปดูมุมเทหน้าแว่นขณะที่คนไข้ใส่แว่นนั้นเกิดมุมเทหน้าแว่นอยู่กี่องศา ถ้ามุมเทหน้าแว่นไม่มีหรือเป็นศูนย์ ก็สามารถใช้จุดตัดของ Monocular PD/FH ในตาแต่ละข้างประกอบได้เลย (แยกข้างขวาซ้าย) แต่ถ้าหากว่าแว่นมีมุมเท (ซึ่งแว่นส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น) เราต้องชุดเชย FH กับมุม Pato เพื่อให้แสงของแนว optical axis กับ visual axis นั้นวิ่งไปตัดที่ center of rotation จึงจะทำให้เนื้อเลนส์ทั้งหมดที่ตามองผ่านนั้นให้ค่าที่ดีที่สุด โดยทุกๆ panto 2 องศา ให้ปรับ FH ลงมา 1 มม. (แบบ monocular)
prism ที่จ่ายให้คนไข้ที่มีปัญหา binocular dysfunction กับ unwanted prsim จากการ decenter นั้นต่างกัน
Prism Rx นั้นเกิดจากการตรวจสอบระบบการมองเห็นของสองตาเพื่อหาปัญหาการทำงานร่วมกันของสองตา ว่ามีมุมเหล่ซ่อนเร้นที่เป็นเหตุให้เกิดภาพซ้อน หรือ เครียดกล้ามเนื้อตามากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ต้องดูตั้งแต่มุมเหล่ ชนิดของมุมเหล่ กำลังของมุมเหล่ แรงชดเชยของกล้ามเนื้อตา และ คำนวณโดสของปริซึมที่เหมาะสม เพื่อแก้ไปปัญหา จึงทำให้คนไข้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อตาใส่ปริซึมแล้วสบาย
Unwanted induce prism เป็นปริซึมที่ไม่ตั้งใจให้เกิด เพราะไม่ได้เกิดจากการตรวจวัด ไม่ได้คำนวณโดส และ ไม่ต้องการ แต่มันเกิดจากความหยาบของช่างวัดหรือช่างประกอบ ทำให้เกิดภาระของกล้ามเนื้อตาที่ไม่จำเป็น แล้วเกิดอาการเครียดของลูกตาดังกล่าว
สุดท้าย จุดชัดมีจุดเดียวหรือไม่
เลนส์ทั้งแผ่นนั้นมีกำลังเลนส์เท่ากันหมด ไม่ว่าจะ optical center หรือ lens periphery แต่สิ่งที่ OC ไม่มีคือ prism ดังนั้นจุดอื่นๆจะชัดเหมือนกัน แต่มีเรื่องของปริซึมเอฟเฟก ดังที่กล่าวไปแล้ว การประกอบให้ได้เซนเตอร์นั้น สามารถทำให้ตาเมื่อมองหลุดเซนเตอร์ก็จะไม่ได้รับผลของ prism effect เนื่องจากเกิดการบาลานซ์หักล้างกันเองของ induced prism ที่เกิดจากตาข้างซ้ายและขวา
แต่ถ้าประกอบเลนส์ได้เซนเตอร์แล้ว ด้านข้างก็ย่อมชัดน้อยกว่าเซนเตอร์สำหรับเลนส์เทคโนโลยีต่ำๆ แต่ไม่ได้เกิดจาก prism imbalance แต่เกิดจาก aberration ที่เกิดจากแสงที่ผ่านเลนส์แบบ off-axis (ไม่ฉาก) ทำให้เกิด unwanted obliqe astigmatism เกิดขึ้น ซึ่งถ้าจะให้ชัดจนถึงขอบเลนส์ ก็ต้องใช้เลนส์ดีๆ ที่มีการแก้ aberration เหล่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเลนส์ conventional ทั่วไป
หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถโพสต์ถามต่อได้ครับ
ดร.ลอฟท์
เป็นคำถามจาก fanpage Facebook/loftoptometryเห็นว่ามีประโยชน์ จึงนำมาอธิบายในนี้