Source :https://open.spotify.com/loft_optician_Podcast
หัวข้อนี้ผมตัดมาจากเทป podcast อีกเช่นเคย ซึ่ง part นี้เป็นการตอบคำถามของ ดร.แจ๊ก ในคำถามที่ว่า ทัศนมาตรเรียนกันกี่ปี เรียนหลักสูตรเหมือนหมอหรือไม่ และ ขึ้นตรงกับแพทยสภาหรือไม่ ซึ่ง ดร.แจ๊ค ตอบได้น่าฟัง ละมุนหู (กว่าผมเยอะเลย) ผมก็เลยอยากจะแกะมาให้แฟนเพจได้อ่านเล่นๆกัน แต่หากท่านไหน อยากจะฟังเสียง ก็กดไปฟังเอาใน podcast ตามสะดวก ตามลิ้งที่ผมได้แนบมานี้ ส่วนใครถนัดอ่านก็ตามสะดวก ส่วนผมถนัดพิมพ์ก็อยากจะพิมพ์
“ทัศนมาตรจริงๆ ก็แล้วแต่ประเทศนะครับ ก็ขึ้นอยู่กับการเรียน การศึกษา และ กฎหมาย บางประเทศก็เป็นหมอ บางประเทศก็อย่างที่เห็น ส่วนในบ้านเราก็เหมือนจะมีขอบข่ายอย่างชัดเจนว่า งานเของเราเป็นงาน functional เป็นเรื่องของ “ระบบ” ก็คือ “ระบบการมองเห็น” มันเป็นเรื่องของ neuro-physio optic ซึ่งอาจจะดูเป็นศัพท์ใหม่สำหรับบางคนแต่มันก็เป็นเรื่องที่เฉพาะทางของทัศนมาตรที่มีการเรียนการสอนที่ค่อนข้างเข้มข้น
สรุปแต่ละประเทศก็ขึ้นอยู่กับการเรียนการสอน บางประเทศเรียน 4 ปี (philipine) บางประเทศเรียน 2+4 บางประเทศเรียน 4+4 ก็แล้วแต่ประเทศ ส่วนบ้านเราก็เรียน 6 ปีเท่ากันกับทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร ซึ่งเป็นปริญญาสูงสุดทางด้านวิชาชีพ (Doctor of Science)
ส่วนเรื่องกฎหมายก็อย่างที่รู้กันว่ามีการตระเตรียมกันมาหลายปีแล้ว #แต่ยังไม่เรียบร้อย (จริงๆอย่างที่ทราบว่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้อยู่หลายกลุ่ม) ก็ต้องดูกันต่อไป ว่าจะทางกฎหมายจะเป็นอย่างไรกันต่อไป ส่วนการเรียนการสอนก็มีกันไปบ้างแล้ว ในหลายๆมหาวิทยาลัย ส่วนอาจารย์ผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถก็ยังหากันยากอยู่
ทัศนมาตรก็เป็นปริญญาสูงสุดทางด้านวิชาชีพนะครับ คงจะต้องรอมีสภาเป็นของตัวเอง และสูงสุดก็คงต้องรอให้มี พรบ.การประกอบวิชาชีพเป็นของตัวเอง ซึ่งตอนนี้ยังไม่เรียบร้อยอย่างที่พูดไปข้างต้น
ถ้าถามว่าขึ้นอยู่กับแพทย์สภาไหม ก็คงต้องบอกว่าไม่เกี่ยวกัน แพทยสภาเขาก็ดูแลวิชาชีพแพทย์ ส่วนเราทัศนมาตรก็เป็นอีกหนึ่งวิชาชีพที่ดูแลด้าน helthcare นะครับ ไม่เกี่ยวกัน
O.D. เป็นชื่อปริญญา ที่เป็น พรบ.ชื่อปริญญา แล้วตัวย่อแต่ละปริญญาก็ไม่เหมือนกัน และจะมีการบัญญัติรายละเอียดของปริญญานั้นๆเอาไว้ในพรบ.นี้
ตัวอย่างเช่น ถ้าแพทย์ก็ M.D. (Doctor of Medicine) ถ้าทัศนมาตรก็จะเป็น O.D.(Doctor of Optometry) ทันตแพทย์ก็เป็น D.D.S.(Doctor of Dental Surgery) สัตวแพทย์ D.V.M (Doctor of Veterinary Medicine) เภสัชกร Pharm.D (Doctor of Pharmacy) เหล่านี้ก็จะมีชื่อปริญญาเฉพาะของตัวเอง ซึ่งเป็นปริญญาสูงสุดในสาขาของตัวเอง และขึ้นชื่อปริญญาด้วย Doctor ทั้งหมด
บ้านเรามีการเรียนการสอนแค่ไหนอย่างไร ก็เป็นหลักสูตร 6 ปี พอเรียนจบม.6 ก็สอบเข้า แล้วก็เรียนปริญญาสูงสุดทางด้านวิชาชีพ 6 ปี (https://www.loftoptometry.com/schoolofoptometry) เหมือนกับแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกร
ถ้าเรียนจบแล้วจะไปเรียนอะไรต่อนั้น ถ้าจะเรียนต่อปริญญาทางด้านวิชาชีพ ก็ไม่มีให้เรียนต่อแล้ว เพราะเป็นปริญญาสูงสุดทางด้านวิชาชีพอยู่แล้ว ถ้าจะไปเรียนต่อก็จะเป็นการเรียนเฉพาะทาง เขาเรียกว่า sub-board แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการเรียนการสอนในระดับนี้ แต่ถ้าเราอยากเรียนต่อในระดับ Master Degree หรือปริญญาโท หรือ เรียนต่อ Doctor of Phylosophy ,Ph.D. ซึ่งเป็นปริญญาเอกที่เรียนทางการการศึกษาและวิจัย อันนี้ก็เป็นอีกสายหนึ่ง ซึ่งมหาลัยที่กำลังจะเปิดก็เช่น ม.นเรศวร และ ม.รังสิต แต่เป็นการศึกษาระดับ master degree แต่ไม่ใช่เรื่อง sub-board หรือ วุฒิบัติเฉพาะทาง ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย
ก็จบไปสำหรับคำตอบสำหรับคำถามว่า ทัศนมาตรเรียนกี่ปี เรียนหลักสูตรเหมือนหมอหรือไม่และขึ้นตรงกับแพทยสภาหรือไม่
ทัศนมาตรแต่ละประเทศต่างกัน ด้วยการเรียน การศึกษา และ กฎหมาย ที่ต่างกันนั่นเอง ทำให้ขอบเขตการทำงานมากน้อยต่างกัน
สำหรับประเทศไทย ทัศนมาตรเป็นวิชาชีพเฉพาะทางที่มีปริญญาวิชาชีพสูงสุดเป็นของตัวเอง ใช้เวลาในการศึกษา 6 ปี โดยเริ่มการศึกษาหลังสำเร็จการศึกษามัธยม 6 เช่นเดียวกันกับปริญญาวิชาชีพสูงสุดที่มีคำว่า Doctor นำหน้า
ทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิต หรือ Doctor of Optometry ,O.D. เป็นปริญญาวิชาชีพที่สูงสุดด้วย พรบ.ชื่อปริญญาอยู่แล้ว จึงไม่มีปริญญาของสาขาในระดับ Master Degree หรือ Doctor of Phylosophy ,Ph.D. จะมีศึกษาต่อก็ในส่วนของ วุฒิบัติเฉพาะทาง (sub-board) แต่ก็มีเฉพาะในประเทศที่ทัศนมาตรเจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่มีในประเทศไทย
ในทางกฎหมาย ทัศนมาตร ทุกคนหลังสำเร็จการศึกษาทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิต ทศ.บ. แล้วจะต้องสอบบอร์ด เพื่อรับหนังสืออนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตร ซึ่งหนังสืออนุญาตดังกล่าวมีอายุ 2 ปี ซึ่งต้องต่ออายุทุกๆ 2 ปี และในทางกฎหมายปัจจุบัน ทัศนมาตรยังไม่ได้ถูกยกเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะของตัวเอง จึงต้องอาศัยอยู่ในกฎหมายพรบ.การประกอบโรคศิลปะ ซึ่งการยกวิชาชีพขึ้นเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะก็ยังอยู่ในกระบวนการที่ยังต้องดูกันต่อไป เพราะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องที่จะต้องตกลงกันในส่วนบทบาทและหน้าที่ในการทำงาน ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของคนที่มีหน้าที่ในการทำเรื่องกฎหมายกันต่อไป
ทัศนมาตร จึงเป็นวิชาชีพที่มีความเฉพาะของตัวเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแพทยสภา มีปริญญาสูงสุด มีรูปแบบการประกอบโรคศิลปะที่เฉพาะของตัวเอง ไม่ต้อง under หรือ ภายใต้การดูแลโดยวิชาชีพทางสาธารณสุขอื่น
อีกส่วนหนึ่งไม่มีรายการสัมภาษณ์แต่เกิดจาก คำถามใน comment จากโพสต์ที่แล้ว ว่าในโรงพยาบาล ใครเป็นคนตรวจสายตา จักษุแพทย์ หรือ ทัศนมาตร จริงๆ ก็ตอบไปแล้วแหล่ะ แต่ก็ได้คำตอบที่น่าสนใจจาก ดร.แจ๊คว่า
บทบาททัศนมาตรในโรงพยาบาล ก็ต้องยอมรับว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในบทบาทของทัศนมาตรศาสตร์ในระบบสาธารณสุขสักเท่าไหร่ เพราะถ้าพูดถึงดวงตา คนก็คิดกันอยู่ 2 เรื่องคือ “โรคหรือไม่โรค” ถ้าเป็นโรคก็ต้องไปพบจักษุแพทย์ แต่ไม่ใช่โรคก็ไปวัดแว่น ไม่ก็ช่วยจักษุแพทย์คุมเครื่องทำเลสิกหรือเครื่องมือพิเศษต่างๆ
จริงๆ ต้นแบบคลินิกทัศนมาตรในโรงพยาบาลเกิดขึ้นบ้างแล้วที่ รพ.วัดไร่ขิง ซึ่ง concept ก็ดูดี แต่การปฎิบัติงานจริงก็อย่างที่รู้ๆกันอยู่คือ “วัดแว่น กับ คุมเครื่องมือพิเศษภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์กันอยู่ จริงๆก็ต้องยอมรับว่าค่าตอบแทนก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้คนมีศักยภาพไม่อยากมา และ พอเนื้องานไม่ท้าทายความสามารถก็ยิ่งเลยไปกันใหญ่ อีกอุปสัคหนึ่งที่สำคัญกว่าคือศักยภาพของทัศนมาตรผู้ปฏิบัติงานเอง ทำให้เขาไม่กล้ามอบหมายงานที่ท้าทายให้ ก็เลยจัดหมวดให้อยู่กับช่างเทคนิค เฝ้าเครื่องมือพิเศษไปแล้วเก็บข้อมูลส่งต่อให้เวชกรรมนำไปวินิจฉัย
ซึ่งย้อนไปก่อนหน้านี้เราก็เคยคุยกันว่า ทัศนมาตร เมื่อจบออกไปแล้วจะไปจุติ ได้ที่ไหน และ เราก็ได้คำตอบเดียวกันว่า “ไม่มี” นอกเสียจากทำเอง จึงจะสามารถใช้ศักยภาพได้เต็มที่ เวชกรรมเน้นโรค ร้านแว่นตาเน้นขาย ส่วนเรื่องงาน visual function ไม่มีที่ให้ทำทั้งสองแห่ง ซึ่งทัศนมาตรเป็นงาน neuro-physio optic ซึ่งมัมนคล้ายกับนามธรรม มองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษจำนวนมากและมีราคาสูง ต้องใช้ความรู้ ทักษะและเทคนิคที่พิเศษในการเก็บข้อมูลเป็นตัวเลขนำมาวิเคราะห์ จึงไม่แปลกอะไร ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ และ คิดว่าทัศนมาตรทำอยู่นี้ก็คือ วัดแว่นขายแว่น เหมือนๆกัน
การจะทำทัศนมาตรคลินิกดีๆขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง หนีไม่พ้นเงินลงทุนที่สูงมาก เพราะเครื่องมือทางทัศนมาตร(ดีๆ)สำหรับบ้านเราแพงทุกชิ้น ตัวอย่างเช่น แค่ trial frame ที่ผมพูดไปเมื่อสองตอนที่แล้วนั้นคือ Oculus UB6 ราคาบ้านเราอยู่ที่ 84,000 บาท (สูงกว่า retail ต่างประเทศเท่าตัว) และ trial lens set ที่เป็น corrected curve ผมได้มาจากต่างประเทศราคา 3,500 $ ก็ราวๆสองแสนบาท ไม่ต้องพูดถึงเครื่องมือพิเศษขนาดใหญ่อื่นๆ ดังนั้นการจะมีคลินิกดีๆสักแห่งหนึ่งอาจต้องเตรียมเงินทุนไว้อย่างต่ำ 3-10 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องการดีขนาดไหน พอเปิดคลินิกขึ้นมาแล้ว ก็ต้องต่อสู้กับพวกแว่นตาโปรโมชั่นกรอบแถมเลนส์อีก เพราะผู้บริโภคที่ไม่เข้าใจก็ยังคงมองว่า เป็นแว่นตาอันหนึ่งเหมือนๆกัน ใครทำโปรดีกว่า ฉันก็เอาอันนั้น แล้วก็มาวิ่งแก้งานกัน เพราะ "Just Glasses ,not Just Glasses"
ด้วยเงินลงทุนจำนวนมากดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทัศนมาตรที่อยากจะมีฝันของตัวเองได้ทำตามฝัน แต่ก็ไม่ยากเกินไป ถ้าใจเราได้
แต่จะว่าไป งานเกือบทั้งหมดของทัศนมาตรคลินิกนั้น หลักๆอยู่บน retinoscope / phoropter / trial frame / trial lens / prism bar /chart projector/ophthalmoscope /penlight / PD-meter ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีและต้องใช้ของดีๆ และโดยราคาแล้วก็พอจะหาซื้อมาได้ และเพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้งานของเรานั้นสมบูรณ์กว่า 90% โดยงบการลงทุนนั้นก็พอที่จะสามารถเริ่มต้นให้เราทำงานเต็มศักยภาพได้ จากนั้นก็ค่อยๆเติมเครื่องมือที่เอาไว้ assessment เรื่องอื่นๆเช่น slit-lamp / fundus camera ซึ่งมีราคาสูง แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานของเราโดยตรง หามาทีหลังก็ไม่ผิดอะไร จากนั้นพอเหลือแล้วก็ค่อยไปเก็บของเล่น ที่จะมีหรือไม่มีก็ได้เช่น ImpressionIST4 /DNEye Scan 2 หรือของเล่นต่างๆ ที่บริษัทเลนส์ทำออกมาให้เราใช้งานบางและโชว์ออฟเพื่อส่งเสริม Marketing Gimmick การมีหรือไม่มีก็ไม่ได้ไปทำให้งานของเราดีหรือแย่อะไร ตรงๆก็คือเป็นเครื่องมือช่วยขาย เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีความรู้ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นกับคำว่า "ตรวจด้วยเครื่องมือทันสมัย ไฮเอนด์ สามมิติ สี่มิติ กันอยู่" ดังนั้น ถ้าสามารถ set priority ได้ รู้ว่าอะไรที่ต้องซื้อ หรือ รอให้มีก่อนค่อยซื้อ เราก็จะสามารถเริ่มต้นคลินิกได้ง่าย
นายทุนส่วนใหญ่ มีเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการขายมากกว่าที่จะอยากทำงานออกไปดีๆ จ้างทัศนมาตรมาทำงานก็เพื่อหวังยอดขายเป็นหลักมากกว่าที่จะเป็นเรื่องอยากจะทำเรื่องดีๆ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เร่งให้ตรวจให้เร็วเพื่อไปรับลูกค้าต่อ ให้พื้นที่ห้องตรวจแคบๆ แต่พื้นที่ดิสเพลย์แว่นนั้นใหญ่โตรโหฐาน เท่านี้ก็พอจะเห็นเจตนารมย์ ดังนั้นการที่เราไปอยู่องค์กรที่เน้นผลกำไรเป็นที่ตั้ง ก็คงหนีไม่พ้นที่ทำงานแค่ “วัดแว่น ขายแว่น ทำยอด” การจะได้ทำงานในระดับทัศนมาตรคลินิกนั้นคงยาก แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เช่นกัน เพราะ Goal ของนักลงทุนก็คงต้องเป็นเรื่องกำไรของผลกระกอบการเป็นสำคัญ
หลังจากเริ่มเซตคลินิกเล็กๆ เลือกทำเลที่ไม่แพง ที่เหลือก็แค่ค่อยๆทำดี สะสมความดีต่อไป เดี๋ยวมันก็เติบโตได้เอง เพราะการทำดี ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามความรู้ ทักษะ ความสามารถ เป็นหน้าที่ที่ทัศนมาตรทำได้โดยไม่ต้องรอกฎหมายออกก่อนแล้วค่อยทำดี คนจะทำดีไม่ต้องรอต่อศีลก็ได้ ไม่ต้องรอบวชเป็นพระภิกษุก็สามารถทำความดีได้ อย่าเอาแต่ทำตัวเป็นกาฝากวิชาชีพ ด้วยการชุบตัวแล้วแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวจากวิชาชีพเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องตอบแทนวิชาชีพด้วยการทำดีด้วย
ก็อยากจะฝากไว้เท่านี้ ขอบคุณแฟนเพจทุกท่านสำหรับการติดตามครับ สำหรับใครที่อยากฟังเสียง หล่อๆของ ดร.แจ๊ค เข้าไปฟังได้จาก podcast : https://open.spotify.com/episode/1gEe5qOO0DFzHPrfU9rG50 หรืออยากจะเจอ ดร.แจ๊ค ตัวเป็นๆ ก็แวะเข้าไปรับบริการทางทัศนมาตรคลินิกได้ที่ สุธน การแว่น จ.พิจิตร ตามที่อยู่ google maps นี้