สายตาคนแก่ (เทียม) : Pseudo-Presbyopia

topic : สายตายาวในคนสูงอายุเทียม (Pseudo-Presbyopia) 

by ดร.ลอฟท์ 

ปรับปรุง 7 July 2019

 

มีด้วยรึ...สายตาคนแก่เทียม 

สวัสดีครับ วันนี้ขอพูดเรื่องเล็กๆ เกี่ยวกับสายตาผู้สูงอายุหรือที่เราเรียกกันว่าสายตาคนแก่ ฝรั่งใช้คำว่า presbyopia แต่บ้านเราชอบเรียกว่าตายาว ก็เลยมักจะไปงงกับตายาว hyperopia หนักๆเข้างงเองว่าตอนนี้สายตาสั้น แก่ไปแล้วสายตายาว เอะ! ฉันก็ไม่สายตาสั้นแล้วสิ เพราะสั้น+ยาว เจ๊ากันพอดี ถ้าคิดแบบนี้เรียก “โมหะ” เพราะไปเรียกชื่อผิดเอง เลยงงเอง เพราะมันคนละเรื่องกัน  เอาหล่ะ เข้าเรื่อง  

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ถ้าอายุเริ่มเข้าหลักสี่ (ที่เลี้ยวซ้ายไปศูนย์ราชการนั่นแหล่ะ ) ก็จะเริ่มเป็นเหมือนกันทุกคนคือ  “คนที่สายตาปกติ มองไกลชัด อ่านหนังสือจะเริ่มไม่ชัด” “คนสายตาสั้นที่ใส่แว่นมองไกลชัดอยู่ แต่จะต้องมองลอดแว่นเพื่ออ่านหนังสือ”  “คนที่เป็นสายตายาว(Hyperopia)อยู่แล้ว แต่ยาวไม่มากนัก  จะเริ่มอ่านหนังสือไม่ชัดตั้งแต่ก่อนอายุถึงหลักสี่  (เริ่มมัวตั้งแต่แยก ม.เกษตร )  แต่มองไกลก็ยังพอเห็นได้อยู่  (ใครไม่เคยวิ่งเส้นวิภา อาจงงมุขนิดหนึ่งนะครับ)

 

จูนคำศัพท์ให้ตรงกันก่อน 

มีความไม่เข้าใจศัพท์เกี่ยวกับ “ชื่อที่ใช้เรียกความปกติของการมองเห็นอยู่มาก” โดยเฉพะกับคำว่า “สายตายาวแต่กำเนิดกับสายตาคนแก่” คือมันคนละเรื่องคนละราวกัน แต่มักถูกนำไปเรียกปนกันและสร้างความสับสนกันเอง ไปๆมาๆ ทั้งผู้ให้บริการและคนไข้ก็งงเหมือนกัน แต่สาเหตุของเรื่องนี้ผมว่าเกิดจากผู้เริ่มบัญญัติศัพท์ และเราก็ไม่ค่อยสนใจนิยาม คือได้ยินปุ๊บสรุปปั๊บ ว่า 

“คนสายตาปกติมองไกลชัด อ่านหนังสือชัด” 

“คนสายตายาว(ก็)มองไกลชัด แต่อ่านหนังสือไม่ชัด”

“คนสายตาสั้น มองไกลไม่ชัด อ่านหนังสือชัด”

ทั้งหมดที่พูดมา...จริงบางเงื่อนไข...แต่ไม่เสมอไป 

คนที่มีสายตาปกติ มองไกลชัดหน่ะจริง แต่อ่านหนังสือชัดนี่ ไม่เสมอไป เพราะถ้าอายุ 40 ปีขึ้นไปก็อ่านไม่ชัด 

คนสายตายาว  มองไกลชัด ในกรณีที่เลนส์ตาพอเพ่งได้ แต่ถ้าเลนส์ตาหมดแรง ด้วยอายุที่มากขึ้น หรือสายตายาวมากๆ ก็มองไกลไม่ชัดเหมือนสายตาสั้น   ส่วนที่ว่าตายาวมองใกล้ไม่ชัดก็ไม่เสมอไป เพราะถ้าอายุน้อย เลนส์ตามีแรงเพ่งดี ก็อ่านชัดเหมือนกัน 

ส่วนสายตาสั้น มองไกลมัว อันนี้จริงทุกกรณี แต่ตาสั้นอ่านหนังสือชัดนี่ไม่เสมอไป เพราะต้องระบุว่าใกล้แค่ไหน เพราะคนสายตาสั้น -10.00D ถ้าจะชัดต้องอ่านที่ 10 ซม. ส่วนระยะปกติก็จะมัว หรือสั้น -0.50D แต่อายุ 50 ปี ก็อ่าน 40 ซม.ไม่ชัดอยู่ดี เพราะเลนส์ตาเพ่งไม่ได้ 

ที่จะบอกก็คือ เราไม่เคยสนใจนิยาม เรามักง่ายและด่วนสรุปเอาเอง ก็เลยงงและสับสนกันอยู่จวบจนทุกวันนี้ แต่ไม่เป็นไร วันนี้ผมจะเอานิยามมาเล่าให้ฟังด้วย จะได้เข้าใจตรงกัน  และถ้าเราเข้าใจแล้วก็ไม่ต้องจำ ผมเขียนบทความตอนต่อไปก็จะได้ไม่ห่วงเรื่องการปรับพื้น  เอาหล่ะเข้าเรื่องนิยามกันก่อน 

 

นิยาม

เวลาเราคุยกันว่า สายตาปกติหรือไม่ หรือว่าเป็น สายตาสั้น (Myopia) สายตายาว (Hyperopia) สายตาเอียง(Astigmatism)  เรากำลังพูดถึงสายตาที่กำลังมองไปที่ระยะไกลเสมอ คือระยะที่อยู่ตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไปเรียกว่าระยะไกล และเมื่อเราพยายามจะแก้ปัญหาสายตา   เราก็จะแก้เพื่อให้เขามองไกลชัดแบบที่คนปกติเขาชัด  แล้วคนปกติเล่า...ชัดอย่างไร 

 

สายตาปกติ (Emmetropia)

คนสายตาปกตินั้นมองไกลชัดโดยเลนส์ตาไม่ต้องเพ่ง (relax accommodation)  เนื่องจาก“แสงจากอนันต์ (6 เมตรหรือไกลกว่า) วิ่งผ่านกระจกตา เลนส์ตา แล้วโฟกัสบนจุดรับภาพพอดี  เลนส์ตาจึงไม่ต้องเพ่ง” (ดูรูปบนสุด)

 

สายตายาว (Hyperopia) 

สายตายาว เมื่อมองไกล (อาจ)ชัด  แต่ชัดภายใต้ภาวะการเพ่งของเลนส์ตา  เนื่องจาก “แสงจากอนันต์ (6 เมตรหรือไกลกว่า) วิ่งผ่านกระจกตา เลนส์ตา แล้วโฟกัสหลังจุดรับภาพ ทำให้เลนส์ตาต้องเพ่งเพื่อดึงจุดโฟกัสกลับมา” ทำให้คนสายตายาวอาจจะมองไกลชัด อ่าน VA 20/20 ได้ แต่ที่ต่างจากชัดแบบคนปกติคือ เลนส์แก้วตาต้องเพ่ง (accommodate)  แต่ถ้าสายตายาวมากเกินที่เลนส์ตาเพ่งไม่ไหว ก็ไม่ชัดเช่นกัน 

 

ดังนั้นที่เราเคยได้ยินเขาว่า “คนตายาวคือมองไกลชัด ดูใกล้ไม่ชัด” ความจริงคือ ถ้าเลนส์ตาเพ่งไหว แรงเยอะ โดยเฉพาะตอนเด็กๆ  ก็ชัดได้ทั้งไกลทั้งใกล้ แต่ถ้าเพ่งไม่ไหวไกลก็ไม่ชัด ใกล้ก็ไม่ชัด  เพราะคนตายาว ชัดได้ด้วยการเพ่งของเลนส์ตา  (ดูรูป B ประกอบ) ซึ่งถ้าจะให้คนสายตายาวมองเห็นเหมือนคนปกติ ต้องใช้เลนส์นูน (convex lens) หรือเลนส์บวก (plus lens) ในการดึงโฟกัสให้มาตกที่จุดรับภาพเหมือนรูป C

 

คนสายตาสั้น (Myopia)  

สายตาสั้น มองไกลมัวอยู่แล้ว เนื่องจากแสงที่หักเหผ่านกระจกตา ผ่านเลนส์ตา แล้วแสงไปตกก่อนจุดรับภาพ  ในภาวะแบบนี้เลนส์ตาเลือกที่จะคลายตัวอยู่แล้ว  เพราะถ้าเลนส์ตามีการ accommodate ยิ่งจะทำให้มัวกันใหญ่ เพราะเลนส์แก้วตาทำหน้าที่เป็นเลนส์นูน ยิ่งจะดึงแสงให้ห่างจอรับภาพ

 

ดังนั้นคนสายสั้น มองไกลมัวแน่ๆ  และที่คนสายตาสั้นดูใกล้ชัดเพราะว่า เมื่อวัตถุเคลื่อนเข้ามา จุดโฟกัสก็ต้องกระเถิบถอยหลังตาม  ถอยไปเรื่อยๆก็ไปเจอจุดรับภาพ มันก็เลยชัด  หรือถ้าถอยจนเลยจอ  เลนส์ตาก็จะเพ่งเพื่อดึงโฟกัสกลับ  ซึ่งใกล้แค่ไหนที่เริ่มเห็นนั้น ก็ต้องไปดู Far Point ว่าจุดไกลสุดที่มองเห็นชัดในแต่ละค่าสายตานั้นอยู่ที่ไหน 

 

สูตรบ้านๆเลย F=1/f  โดยให้ F เป็นค่าสายตามีหน่วยเป็น Dioptor (D)   ส่วน f เป็นความยาวโฟกัสมีหน่วยเป็น เมตร  เช่น ผมสายตาสั้น -2.00 D ก็แทนค่าในสูตรได้ f=1/2=0.5 เมตร หรือ 50 ซม.  

 

ดังนั้น ถ้าจะว่า  คนสายตาสั้นมองใกล้ชัด ก็ต้องดูว่า ใกล้แค่ไหน  ถ้าคนสายตาสั้น -10.00 D  ก็เห็นไกลสุดได้แค่ 10 ซม.  คนสายตาสั้นลองถอดแว่นแล้วเล่นดูนะ  

 

การแก้ไขสายตาสั้น จะใช้เลนส์เว้า หรือเลนส์ลบ (minus lens)  ให้พอดีกับสายตาที่เป็น แต่ถ้าเราจ่ายมากเกิน (over minus ) แสงก็ถูกผลักให้ตกเลยออกไป ซึ่งเป็นภาระของเลนส์ตาจะต้องดึงกลับ  และจะมีอาการแบบเดียวกับคนสายตายาว (Hyperopia) เปะ  คือชัดด้วยการเพ่งของระบบเลนส์ตา ไม่ใช่ชัดแบบผ่อนคลาย พูดอีกนัยหนึ่งก็คือคนสายตาสั้นที่ใช้ค่าสายตาเกินกับคนสายตายาวที่ไม่ได้แก้ไขค่าสายตาคือคนประเภทเดียวกัน 

 

สายตาเอียง (Astigmatism)  

สายตาเอียง ไม่ได้แปลว่าเอียงอะไร ไม่เกี่ยวกับเอียงคอ เอียงหัว หรือเขียนหนังสือเอียงแต่อย่างใด แต่เป็นความผิดปกติของการหักเหของแสง ที่ทำให้โฟกัสตกเป็น 2 จุด  คือมี 2 สายตาในตาข้างเดียว  ดังนั้น ถ้าจุดหนึ่งตกบนจุดรับภาพ อีกอันก็ต้องหลุดจากจุด  ถ้าไม่แก้ด้วยแว่น ก็ไม่สามารถมารวมโฟกัสเป็นจุดเดียวได้  การเพ่งก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเพ่งอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้โฟกัส 2 จุดรวมมาเป็นจุดเดียว เพราะการเพ่งเป็นการปรับโฟกัสทั้งยวง ไม่ใช่การปรับแบบบังคับแกนใดแกนหนึ่งได้ แต่เลนส์ตามักจะเลือกเลือกจุดที่ชัดที่สุดคือ circle of least confusion ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ระหว่าง 2 จุดนั้น ให้วางอยู่บนจอรับภาพ ซึ่งเป็นจุดที่ให้ภาพที่ดีที่สุด ซึ่งหลักการนี้ใช้ในการปรับค่าสายตาเวลาจ่ายคอนแทคเลนส์สายตาสั้นธรรมดาให้กับคนไข้ที่มีค่าสายตาเอียงด้วย  

 

ดังนั้นในการแก้ไขสายตาเอียง คือใช้เลนส์ที่มี 2 ค่าสายตาในเลนส์เดียวเรียกว่า toric lens  ซึ่งจะต้องมีการระบุแกน และหลังแก้ไขแล้ว  2 โฟกัสนั้นก็จะรวมกันเป็นจุดเดียว แล้วใช้กำลังเลนส์บวกหรือลบ ในการบังคับโฟกัสให้ไปตกบนจอรับภาพ 

 

พอสรุปได้ว่า 

ที่พูดเรื่องสายตามาทั้งหมดนี่ เราคุยกันที่ระยะอนันต์หรือระยะที่ไกลกว่า 6 เมตร ทั้งน้ันเลยนะ และที่เราพยายามวัดตา หรือแก้ปัญหาการมองเห็น ก็เพื่อให้เรามองเห็นแบบคนปกติคือ 

 

คนสายตาปกติ มองไกลชัด...โดยที่ระบบของเลนส์ตาไม่ต้องออกแรงเพ่ง (relax accommodation) เนื่องจากแสงเดินทางมาโฟกัสบนจุดรับภาพพอดี  ในขณะที่คนสายตายาว(Hyperopia) นั้น ถ้ายาวไม่มาก จะมองไกลเห็นชัด แต่ความชัดนั้นเกิดขึ้นจากการเพ่ง (accommodate) ในในลูกตา เพื่อดึงโฟกัสที่ไปตกหลังจอรับภาพให้มาตกพอดี  แต่ถ้ายาวมากๆและมากเกินที่เลนส์ตาจะเพ่งไหว คนสายตายาวก็จะเริ่มมองไกลมัวลง  เนื่องจากแสงไปตกหลังจุดรับมากมากเกินกว่าที่เลนส์ตาจะเพ่งไหว เพราะแรงของเลนส์ตาของเรา (Amplitute of accommodation) จะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุ   ถ้าอยากจะคำนวณเล่นๆว่าของตัวเองนั้นเลืออยู่เท่าไหร่ ก็ใช้สูตร Amplitute of accommoation=16-(อายุ/4) D

เช่นถ้าอายุ 40 ปี แรงเพ่ง (AA)= 16-(40/4)=6.00D  ดังนั้นคนที่อายุ 40 ปี จะมีแรงเหลือประมาณ 6.00D  ซึ่งในการมองไกล คนปกติไม่ต้องใช้แรงตัวนี้อยู่แล้วและจะเก็บไว้ใช้ดูใกล้อย่างเดียว  ส่วนคนที่สายตายาว และคนสายตาสั้นที่ใช้ค่าสายตาเกินอยู่ ก็จะต้องเอาแรงตรงนี้ไปใช้มองไกล  ยิ่งสายตายาวมองไกลหรือเบอร์สายตาสั้นที่ใช้อยู่เกินค่าจริงมากเท่าไหร่ ก็จะต้องใช้แรงตัวนี้มากขึ้นเท่านั้น   และจุดตรงนี้แหละที่จะเป็นเรื่องที่จะพูดในวันนี้

 

เหตุของเรื่อง

มีคนไข้ 2 ท่าน  อายุใกล้เคียงกัน พึ่งเลยหลักสี่มานิดหนึ่ง (ยังไม่ถึงดอนเมือง)  มาด้วยอาการคลายคนเป็นสายตาคนแก่ หรือ presbyopia คืออ่านหนังสือไม่ชัด ต้องเพ่ง และดูใกล้ได้ไม่นาน ตัวหนังสือละลาย ไม่ชัด  และคนไข้ 2 ท่านนี้ เป็นคำอธิบายของเรื่องที่เกริ่นขึ้นมาข้างต้น

 

คนแรกไม่เคยมีปัญหาความคมชัดเรื่องการมองไกล (ไกลชัดเปะว่างั้น)  แต่อ่านหนังสือต้องเพ่งมาก ไปวัดแว่นมา ร้านบอกเป็นสายตาคนแก่ ได้เลนส์โปรเกรสซีฟกลับบ้าน ก็พอใช้งานได้ แต่มองไกลถอดแว่นดีกว่า อ่านหนังสือก็เห็น แต่อ่านนานไม่ได้ พอทนใส่ได้  แต่ใส่ไม่ติดตา เพราะไม่ค่อยสบาย  สรุปคือเลนส์โปรเกรสซีฟที่คนขายของอ้างว่ามันจะกว้างอย่างนั้นอย่างนี้ สรุปคือ มีปัญหามากกว่าตาเปล่า 

 

คนที่สอง สายตาสั้น ใส่แว่นมานานแล้ว แว่นที่ใส่ใช้มา 3 ปี แต่ค่าสายตานี้ใช้มานานมากแล้ว  ปัจจุบันมองไกลก็ยังพอเห็นชัดอยู่ แต่อ่านหนังสือต้องเพ่ง ด้วยอายุแล้วเริ่มคิดว่าตัวเองเป็น presbyopia ก็เลยแวะมาทำเลนส์โปรเกรสซีฟ  มาดูกันในแต่ละเคส 

 

คนแรก

แวะมา recheck ค่าสายตา เพราะพึ่งไปได้เลนส์โปรเกรสซีฟมา ผมให้คนไข้ใส่แว่น แล้วให้มองไกลที่ชาร์ตวัดสายตาที่ 6 เมตร แล้วกวาดเรติโนขณะคนไข้ใส่แว่นเดิม (over refraction)  ก็พบว่า เป็นแสง “with” คือเป็นสายตายาวประมาณ +1.00D ซึ่งคิดอยู่แล้วว่าจะต้องเป็นแบบนี้  ก็วัดสายตาดูโดยละเอียด  ได้ค่าสายตามองไกล เป็นสายตายาว (Hyperopia) และมีสายตาเอียง (Astigmatism) 

 

คือโดยปกติเวลาทำงานผมไม่สนใจ ค่าสายตาที่คนไข้วัดมาหรือได้มาจากไหน  ผมจะลงมือทำงาน แล้วหลังจากได้ค่าสายตาตัวเองมาแล้ว  ค่อยไปสืบเสาะปัญหาจากแว่นเดิม  แล้วก็เร่ิมทำการวัดสายตา ได้ออกมาเป็น

 

BVA 

OD+1.25-0.75x10       VA 20/15

OS +0.75-0.25x140.   VA 20/15  

BCC (Addition) = +0.50D

 

เอาแว่นที่พึ่งทำมาไปวัดได้ค่าสายตา ซึ่งเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ 

OD 0.00   VA 20/15

OS 0.00   VA 20/15

Add +1.25

 

สรุปว่า คนแรก ไม่ได้มีปัญหาสายตาคนแก่ เพียงแต่เป็นคนสายตายาวแต่กำเนิดแล้วยังไม่ได้แก้ไขค่าสายตา ก็เลยมีอาการเหมือนคนที่เป็นสายตาคนแก่  ก็เท่านั้นเอง และสายตายาวขนาดนี้ ประกอบกับมีเอียงที่กำลังดี  รวมๆกันแล้ว เหลือยาวไม่เท่าไหร่จาก Spherical equivalent เลนส์ตาเพ่งได้ คนไข้ก็เลยไม่มีปัญหาการมองไกล  แต่แรงของเลนส์ตาที่ต้องเจียดมองไกล ทำให้หมดแรงที่จะเอาไว้เพ่งขณะดูใกล้ ก็เลยทำให้คนไข้อ่านหนังสือไม่ชัด เท่านั้นเอง 

 

 

คนที่สอง 

นำแว่นเดิมไปเช็คค่าสายตา 

OD -5.25

OS -5.25 

วัด VA บนแว่นเดิมที่ใช้อยู่ 

OS 20/30

OS 20/100

โดยธรรมชาติ ถ้าคนสายตาสั้น ใส่แว่นเดิมอยู่แล้ว มองไกลไม่ชัด เรามักจะไปคิดเอาเองว่า สั้นเพิ่มขึ้น  แต่เคสนี้กลับกัน เบอร์เก่ามันเยอะเกิน ตาเพ่งไม่ไหวแล้ว ก็เลยเห็นไม่ค่อยชัด คล้ายกับคนเป็นสายตายาวมากๆแล้วเลนส์ตาเพ่งสู้ไม่ไหว  ซึ่งวัดใหม่ได้ 

 

Preliminary eye exam  

Cover Test : Esophoria both Distant and Near  (w/ old rx)

 

Refraction 

OD -4.75 - 0.75x95   VA 20/15

OS -3.75 -1.25x85     VA 20/15

 

Binocular Function 

Dissociate phoria :  Esophoria 9 BO  ,

base in reserve : 12/18/4

Associate phoria  :  Esohporia  4 BO 

Maddox rod :  Esophoria 9 BO 

BCC (addition) : +0.50D 

คนไข้คนที่สองนี่ น่าสงสาร เพราะใช้แว่นสายตาเบอร์เกินไปถึง -1.50 D (เกิน -0.50D ก็รับได้ยากแล้ว) และไม่เคยแก้สายตาเอียงเลยมากว่า 10 ปี  ดังนั้นทุกวันที่คนไข้ท่านนี้ตื่นขึ้นมามองภาพ เลนส์แก้วตาเขาต้องเพ่งทุกวินาที วินาทีละ 1.50D มากว่า 10 ปี  และปัญหาอันหนึ่งที่เกิดมาพร้อมกับค่าสายตาที่จ่ายเกินไปก็คือ การทำงานร่วมกันของเลนส์ตากับกล้ามเนื้อตามีปัญหา 

 

คือธรรมชาติตามนุษย์ที่สายตาปกตินั้น เมื่อมองไกล ตาจะตรง และเลนส์ตาจะผ่อนคลาย (ต้องไม่มีการเพ่ง)  และเมื่อเราดูใกล้ ตาจะเริ่มมีการเหลือบเข้า (Convergence) พร้อมกับเลนส์ตามีการเพ่ง (accommodation) จะ accommodate เท่าไหร่นั้น ก็ใช้สูตร F=1/f D (หน่วยเป็นเมตร) เช่นคนสายตาปกติอ่านหนังสือ 40 ซม. หรือ 0.4 ม. จะต้องเพ่ง  F=1/0.4 = +2.50D เป็นต้น  (โดยการเหลือบตาเข้าของคนที่มีระยะห่างของลูกตา 62 มม. จะเหลือบเข้ามาประมาณ 15 prism dioptor ที่ระยะ 40 ซม.)

 

แต่คนไข้ท่านนี้ เลนส์ตาเพ่งไปแล้ว +1.50D แต่ตาต้องเกร็งให้ตรง และเมื่อดูใกล้ก็ต้องเพ่งเพิ่มจากเดิมอีก 2.50D เป็น  สิริรวมแล้วได้มา +4.00D ทุกครั้งที่อ่านหนังสือ 40 ซม. แต่เพ่งขนาดนั้น ตาจะต้องเกร็ง convergenc ไว้ที่ 15 prism เท่าเดิม เพื่อไม่ให้ตาเหล่  ก็เลยเกิดเป็นตาเหล่เข้าซ่อนเร้นแทน (Esophoria)  

 

แล้วที่เขาดูใกล้ไม่ชัด ไม่ใช่เพราะเขาเป็นสายตาคนแก่ แต่มันล้าจากการต้องทำงานหนักมากเกินไป ก็เลยมีอาการเหมือนคนสายตาคนแก่ 

 

สุดท้ายคนไข้ทั้งสองคนก็ได้เลนส์ชั้นเดียว ไปคนละคู่ แต่ก็เลือกตัวที่ดีหน่อยเป็น Multigressiv Mono Plus Technology ที่มีค่าอ่านหนังสืออ่อนๆ แบบของเด็ก  ซึ่งต่างจากโปรเกรสซีฟคือ   plus technology เป็นค่าแอดดิชั่นที่ใส่เข้าไป ไม่ใช่เพราะว่าเด็กไม่มีแรงเพ่ง แต่ไปช่วยผ่อนแรง ไม่ได้ต้องทำงานหนักเกินไป 

 

ก็เป็นที่มาของเรื่อง “สายตาคนแก่เทียม” หรือ pseudo-presbyopia (ตั้งเอง) ที่มาเล่าให้ฟัง และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ก็คือ 

1.สายตาที่ผิดปกติแล้วไม่ได้แก้ไขกับสายตาผิดปกติที่แก้ไขแล้วแต่แก้ไขผิด มันเรื่องเดียวกัน 

 

2.คนสายตาสั้น ที่ใช้ค่าสายตาสูงเกินค่าสายตาจริง กับคน สายตายาว(Hyperopia) ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขสายตานั้นคือคนที่มีปัญหาเดียวกัน คือมองไกล(อาจ)ชัด แต่ชัดภายใต้ภาพวะการเพ่งของระบบ  แต่มักจะมีปัญหาที่ใกล้มากกว่าไกล เนื่องจากธรรมชาติที่ใกล้นั้น ระบบเลนส์ตาต้องเพ่งอยู่แล้ว ยิ่งต้องเอาแรงที่มีอยู่น้อยนิดไปช่วยแบกสายตายาวมองไกลแล้ว  ก็เลยดูใกล้ได้ไม่นาน 

 

3.การแก้สายตาที่ผิด ไม่ใช่ส่งผลกระทบเพียงแค่ไม่ชัด แต่จะทำให้การทำงานร่วมกันของ เลนส์ตาและกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปรกติ  (binocular function anomalies ) 

 

4.สายตาสั้นแท้จริงไม่มีลด แต่ที่วัดได้ค่าน้อยลง เพราะค่าเดิมมันเกินไปเยอะ  

 

5.สายตาเปลี่ยน จริงๆแล้วเกิดได้ยากมาก  แต่ที่เกิดง่ายสุดคือ สายตาเปลี่ยนจากการวัดสายตาแล้วผิด ถ้าวัด 10 ครั้ง ได้มา 10 ค่าสายตา ไม่ได้แปลว่า เราสายตาเปลี่ยน 10 ครั้ง แต่บอกเราว่า เราวัดตาผิด 10 ครั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเชื่อการวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งผมได้เขียนไว้แล้ว ลองคลิ๊กเข้าไปอ่านเล่นๆดู คลิ๊ก >>  30 ปี เครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ไปไกลได้แค่ไหน

 

6.อย่าพึ่งพาระบบ subjective มากจนเกินไป คือวัดตาอย่าไปชื่อคนไข้ทั้งหมด ว่าเวลาคนไข้บอกว่าชัด/ไม่ชัด บางทีเราก็อาจเชื่อไม่ได้  และต้องมีระบบ objective ให้มาก ขึ้น เพราะผลการตรวจมาจากเรา ไม่ได้มาจากคนไข้  และอย่าพึ่งพาบุคคลที่ 3 ที่ไม่เข้าใจอารมณ์มนุษย์ คือเครื่องคอมพิวเตอร์วัดตา ถ้าหากเราวัดสายตาแล้ว ต่างจากคอมพิวเตอร์ แล้วเกิดความไม่สบายใจ แล้วไปแก้สายตาตามคอมพ์ นี่อาการเข้าขั้นวิกฤตแล้ว 

 

7.Objective ที่ไม่เคยหลอกคือ การทำ retinoscope มันสามารถบอกเราได้ว่า เบอร์สายตาที่ได้จาก subjective นี้ ขาด หรือเกิน เท่าไหร่ อย่างไร ได้หมด

 

8.โครงสร้างโปรเกรสซีฟ 0.00 add +1.25 คู่ละแสน กับเลนส์ single vision มองไกล +1.25 คู่ละแปดพัน  single vision โครงสร้างดีกว่าล้านเท่า เพราะไม่มีภาพบิดเบี้ยวเลย และอ่านหนังสือได้สบาย มองไกลชัดแจ๋ว ปัญหาปวดหัวไม่มี ไม่ต้องเรียนรู้โครงสร้าง ยังไงก็ดีกว่า  ดังนั้นก่อนจะจ่ายเลือกเลนส์ที่เหมาะควรใช้ค่าสายตาให้ถูกต้องก่อน  เหมือนจะเลือกยาก็ต้องรู้ก่อนว่าเป็นโรคอะไร

 

9.คนไข้ไกลชัด ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีปัญหาสายตา  ตอไม้ที่จมอยู่ในน้ำ แล้วมองไม่เห็นอย่าไปคิดว่าไม่มี  ดังนั้นการจะดูว่าตอในน้ำมีทั้งหมดเท่าไหร่ สูงเท่าไหร่ ก็ต้องวิดน้ำออกแล้วค่อยดู 

แหม่...สรุปซะเยอะกว่าเนื้อหา เอาหล่ะพอหอมปากหอมคอ นานๆทีตามประสาคนบ้านน้ำลาย ก็ขอฝากๆไว้ เรติโนสโคป หามา แล้วก็ฝึกใช้ให้คล่อง  เครื่องคอมพ์วัดตาก็ไว้ให้ห่างๆ  ถ้าจะใช้ก็ใช้หลังวัดตาเสร็จเพื่อดูว่าเครื่องมันตามเราไหม แต่ถ้าเราวัดจากเครื่องก่อน มันจะมี bias ใจเราจะจูนหาเครื่อง  ถ้ากลัวเรื่องเสียเวลาเรติโน ที่จริงแล้วเร็วกว่าคอมพ์ด้วยซ้ำไปถ้าทำบ่อยๆ  เดี๋ยวเก่งเอง

 

ขอบคุณสำหรับ กำลังใจและการติดตามครับ

ดร.ลอฟท์​

 

ปรึกษาปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นกับผมได้ที่เบอร์ 090-553-6554 หรือ ทางไลน์ไอดี loftoptometry และสามารถติดตามงานเขียนผมได้ต่อทาง fb และ web ได้ที่ www.facebook.com/loftoptometry  , www.loftoptometry.com

 

คลินิกทัศนมาตร ลอฟท์ ออพโตเมทรี  

578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220 ,

โทร 0905536554 ,line : loftoptometry