Introduction
หลังจากที่ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นฐานเลนส์โปรเกรสฟซีฟไปแล้วในหลายๆตอน ชุดความรู้ใหม่นี้จะเป็นเรื่องราวผลิตภัณฑ์เลนส์ของโรเด้นสต๊อกรุ่นต่างๆ ก็ตั้งใจว่าจะทำให้ครบทุก series เลนส์ ได้แก่ progressive lens , near vision comfort lens ,single vision lens และ sport lens เพื่อให้ท่านที่สนใจนั้น ได้มีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตามความเหมาะสม และ รู้ข้อบ่งใช้หรือขีดจำกัดต่างๆของเลนส์แต่ละรุ่น ด้วยเหตุว่าบางทีขณะที่เข้ารับบริการ เราอาจจะมีเวลาไม่มากพอที่จะอธิบายทุกสิ่งทุกอย่างได้ ดังนั้นเนื้อหาต่อไปนี้ก็น่าจะเป็นคำภีร์เอาไว้ศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งเลนส์โรเด้นสต๊อกมีดีอยู่อย่างคือ เลนส์รุ่นใหม่ๆ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยีเดิม ดังนั้นเนื้อหาจึงไม่มีการ outdate ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ทำให้การศึกษาเลนส์รุ่นต่อๆไปนั้นทำได้ง่ายขึ้น
อนึ่ง เนื้อหาทั้งหมดนี้ ผมไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรกับทางโรเด้นสต๊อก แต่เป็นการเขียนเพราะผมอยากจะเขียนเอง ด้วยความที่อยากให้คนได้เข้าใจตัวพื้นฐานเลนส์จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่เชียร์ขายจากรูปกราฟิกบนหน้า pricelist และ ผมเชื่อว่า ความรู้จะเป็นตัวผลักดันความเจริญของวงการหรือวิชาชีพ ยิ่งผู้บริโภครู้มากเท่าไหร่ ผู้ให้บริการก็ต้องอัพเดตความรู้ของตัวเองให้ทันผู้บริโภค ผลระยะยาวคือทุกคนต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้มากขึ้น สุดท้ายก็จะ win กันทุกฝ่าย และ คนไข้ไม่เป็นเหยื่อการตลาด และ ลดความสูญเสียเงินทองหรือเวลา
ยุคปฎิวัติอุตสาหกรรมเลนส์
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนั้น เลนส์สายตามีการพัฒนาเชิงโครงสร้างทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมที่ต่างไปจากเลนส์สายตาในอดีตมาก ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เลนส์ในสมัยปัจจุบันนั้นมีพื้นฐานโครงสร้างไปจากเดิมมากก็คือการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ที่สามารถควบคุมการทำงานของเครื่องจักรได้ละเอียดกว่ามนุษย์มาก นั่นก็คือการกำเนิดขึ้นของเรื่อง CNC-Freeform technology (computer numeral control) หรือที่เรามักเรียกกันว่าเครื่องฟรีฟอร์มนั่นแหละ ซึ่งในความหมายมันก็ตรงตัว คือ การสร้างรูปแบบอะไรก็ได้อย่างอิสระ คือทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ เพราะว่าทำอะไรก็ได้
(ศึกษาฟรีฟอร์มเพิ่มเติม: https://www.loftoptometry.com/3Dfreeform)
ดังนั้นฟรีฟอร์มดีไม่ดีจึงขึ้นอยู่กับทั้งมันสมอง( software computer) และร่างกาย (machine) ซึ่งสมองก็ต้องอาศัยร่างกายในการตอบสนองสิ่งที่สมองคิด เช่นเดียวกัน software ก็ต้องการ machine ที่ดีในการสร้างผลงานที่ดี ที่ปราณีต ออกมา คล้ายๆกับศิลปินนักวาดรูป ที่ลำพัง กระดาษ สี ภู่กัน ที่ดีก็ไม่ได้หมายความว่ารูปมันจะออกมาดี แต่ศิลปินจะต้องมีฝีมือดี มีทักษะ มีจินตนาการด้วย อ.เฉลิมชัย เป็นหนึ่งตัวอย่างของ software ที่อัจฉริยะ ซึ่งใครจะไปลอกเลียนแบบก็ยาก แต่กระดาษ สี ภู่กัน นั้นหาซื้อกันได้ ดังนั้น value ของภาพวาดอยูที่คนวาด ไม่ใช่เครื่องมือ เครื่อง CNC ก็เช่นกัน เครื่องซื้อได้ แต่ software ต้องพัฒนาเอง ไอ้ที่แถมมาติดเครื่องก็คงแค่พอใช้ เพราะถ้ามันง่ายขนาดนั้น บริษัท Schneider ทำเครื่อง cnc คงทำเลนส์ขายกันแล้ว
Paradam Shift
กระบวนทัศน์ในการพัฒนาเลนส์ในแต่ละช่วงเวลาก็แตกต่างกันไป ตามเทคโนโลยีที่รองรับในเวลานั้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปก่อนปี 2000 ที่คอมพิวเตอร์ไม่ได้ฉลาดมากอย่างทุกวันนี้ (และก็ช้ามากด้วย) ดังนั้นการพัฒนาซอฟท์แวร์ให้มันฉลาดนั่นก็เป็นเรื่องที่ยากไม่ใช่น้อย ทำให้เลนส์สมัยก่อนนั้นมีขีดจำกัดมากในเรื่องค่าพารามเตอร์เฉพาะบุคคล ดังนั้นการพัฒนาเลนส์ในยุคนั้นเราเรียกว่ายุค conventional ซึ่งก็ทำอะไรได้ไม่มาก เพราะโครงสร้างเลนส์หลักๆยังต้องอาศัยการหล่อออกมาจากแม่พิมพ์
การออกแบบแม่พิมพ์ ก็เหมือนการทำเสื้อโหลขาย คือจะทำ size ขนาดเท่าไหร่บ้าง x,m,l,xl ก็คงต้องไปศึกษาคนในชาตินั้นๆว่า ส่วนใหญ่ใส่เสื้อขนาดเท่าไหร่ และ จะสต๊อกปริมาณไซต์ไหนมากที่สุด เพื่อไม่ให้ทุนจม ครั้นจะมาทำไซต์ให้ฟิตกับทุกคนคงจะวุ่นวายน่าดู
เลนส์ก็เช่นกัน แม้ว่าเราจะรู้ว่า factor ที่มีผลต่อโครงสร้างเลนส์นั้นมีมาก แต่มันก็มีขีดจำกัดเรื่องต้นทุนการผลิต เพื่อให้คุ้มต่อการสต๊อกโมลหรือแม่พิมพ์ที่จะพิมพ์ simi-finished lens ออกมาเพื่อรอการขัดค่าสายตา
ดังนั้นจึงต้องมีการ set priority ขึ้นมา ว่าอย่างไหนจำเป็นมาก อย่างไหนจำเป็นน้อย แล้วก็คำนวณต้นทุนว่าจะเอากี่ตัวแปรที่จะนำไปออกแบบโครงสร้างบนแม่พิมพ์ ซึ่งตัวแปรพื้นฐานที่จำเป็นหลักๆ ได้แก่ Base curve , Inset , Frame Parameter etc. ซึ่งสำคัญอย่างไรนั้น ฝากท่านกดลิ้งเข้าไปอ่าน Progressive lens 101 (เปิดโลกโปรเกรสซีฟ ตอนที่ 1-9)
เลนส์กลุ่มนี้ของโรเด้นสต๊อกได้แก่ Progressiv SI , Progressiv ClassicLife , Progressiv PureLife ซึ่งปัจจุบันเลนส์เหล่านี้ได้ยกเลิกการผลิตทั้งหมดแล้วตั้งแต่ปี 2010 ด้วยความที่ Rodenstock ต้องการจะทิ้งโครงสร้างแม่พิมพ์ทิ้งทั้งหมดก่อนใครๆ ดังนั้นในปี 2010 จึงได้ประกาศว่าเลนส์ทุกตัวของโรเด้นสต๊อกนั้นเป็น 100% Backside-3D Free form technology และการที่จะรู้ว่าโครงสร้างโปรเกรสซีฟไหนหล่อมาจากแม่พิมพ์ทำได้ง่ายๆด้วยการเอา lens clock ไปจิ้มไล่ดูผิวโค้งได้เลย ผิวด้านไหนที่มีการ varied curve ก็แสดงว่าโครงสร้างมันอยู่ฝั่งนั้น ถ้าอยู่ฝั่งผิวหน้าแบบ front-progressive แสดงว่าหล่อผ่านโมล แต่อยู่ฝั่งหลังแปลว่าขัดขึ้นใหม่แบบ back-side progressive แต่ไม่ได้บอกว่าแบบไหนดีกว่าแบบไหน เพราะมันต้องอยู่ที่การออกแบบด้วย เช่นเดียวกันเราไม่ได้บอกว่า การเขียนสดลงบนกระดาษว่างๆจะสวยกว่าสมุดหัดวาดภาพระบายสี เพราะมันขึ้นอยู่กับหัวศิลปินของคนวาดด้วย
ตลาดเลนส์ช่วงเวลานั้นจึงแข่งขันกันว่าใครจะมีโครงสร้างแม่พิมพ์ที่ดีกว่ากัน ยิ่งเราใส่ตัวแปรไปมาก เราก็ต้องมีแม่พิมพ์จำนวนมาก แต่ถ้ามากเกินไป ทุนก็จม ขาดทุน ดังนั้นต้องแข่งกันเรื่องจำนวนแม่พิมพ์และ optimized ให้มีกำไร ช่วงเวลานั้นจึงแข่งขันกันได้เพียงเรื่อง base curve แล้ว fixed standard parameter , ส่วน inset ก็ varies ได้เล็กน้อยตามค่าสายตาและค่าแอดดิชั่น แล้วก็มี option เนื้อเลนส์ให้เลือก เช่น 1.5 1.6 1.67 1.74 หรือ จะเปลี่ยนสี/ไม่เปลี่ยนสี ก็สุดแท้
จนกระทั่งปี 2000 โรเด้นสต๊อกสามารถพัฒนาเครื่อง cnc ขึ้นมาได้เองและประสบความสำเร็จในการออกแบบซอฟท์แวร์ที่สามารถใส่ตัวแปรเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างเลนส์ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะตัวสำคัญยิ่งกับเรื่อง individual frame parameter หรือ พารามิเตอร์ของกรอบแว่นขณะสวมใส่จริงอยู่บนใบหน้าแต่ละคน เรานึกถึงแว่นโค้งกันแดดกับแว่นสายตาเมื่ออยู่บนหน้าเรา มุมมันก็ต่างกันอย่างนั้นแหล่ะ แล้วเราก็รู้ด้วยว่า ถ้าเลนส์มีค่าสายตาแล้วเอาไปใส่แว่นโค้งแล้วมันจะเมา ซึ่งอาการเมานี้เกิดจาก aberration ที่มีเหตุมาจาก แว่นโค้งทำให้แสงวิ่งผ่านเลนส์แบบทำมุม (off axis) ก่อนจะเข้าไปในรูม่านตา ทำให้เกิดภาพบิดเบี้ยวเกิดขึ้น เกิดปริซึมขึ้น ทำให้สมอง เลนส์แก้วตา กล้ามเนื้อตาทำงานหนัก ผลคืออาการ asthenopia ปวดหัว คลื่นไส้ อยากอาเจียน ล้าตา เมื่อยตา ปวดกระบอกตา แต่เมื่อเรามีเทคโนโลยีที่จะแก้ไข aberration เหล่านี้ ปัญหาทั้งหมดนี้ก็หมดไปได้ เมื่อ software พร้อม และ cnc-machine พร้อมทำตาม software ได้แล้ว การเดินทางสู่ยุคเลนส์เฉพาะบุคคลจึงเริ่มต้น
Individual lens technology ,ILT
Rodenstock ถือเป็นบริษัทแรกๆ ที่เริ่มใช้เทคโนโลยีตัวนี้ในการออกแบบโครงสร้างเลนส์ (1990) แต่ที่เรียกได้เต็มปากว่าฟรีฟอร์มจริงๆเลยก็ล่วงเลยมาในช่วงปี 2000 นั่นคือ การเปิดตัวเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลคู่แรกของโลกกับเลนส์ Impression ILT (Individual lens technology)
Impression ILT
Concept ของ ILT คือการที่เราสามารถใส่ค่าเฉพาะบุคคลทุกอย่างเข้าไปในการคำนวณโครงสร้างเลนส์ขึ้นมาใหม่สำหรับแต่ละคนที่มีตัวแปรต่างกัน ดังนั้น ILT จึงไม่มีเรื่องของแม่พิมพ์ไม่ว่าจะเป็น แม่พิมพ์ในรูปของ software หรือ hardware ก็ตามแต่ทุกอย่างคำนวณขึ้นมาใหม่ ตามแต่ละตัวแปร ซึ่งเทคโนโลยีเลนส์แบบนี้ถือว่าใหม่มากในช่วงเวลานั้น ทำให้เลนส์หลายๆค่ายที่ตามเทคโนโลยีนี้ไม่ทัน ต้องออกมาสกัดดาวรุ่งแรงๆกันเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น มี trainer ของเลนส์ค่ายหนึ่งออกมาโจมตีว่า ถ้าจะสั่งเลนส์โรเด้นสต๊อก จะต้องยิงน๊อตสกรูเพื่อยึดแว่นให้ติดกับกระโหลก เพราะเดี๋ยวแว่นจะเบี้ยวแล้วพารามิเตอร์มันจะเพี้ยน ซึ่งตรรกะวิบัติเช่นนี้ ก็คงคล้ายกับว่า ขับรถไม่ต้องไปตั้งศูนย์หรอก ตั้งทำไมเดี๋ยวขับๆไปศูนย์มันก็เบี้ยว (แบบนี้ก็ได้หรือ) ซึ่งก็น่าสนใจว่า ปัจจุบันเลนส์ค่ายดังกล่าวยังหล่อโครงสร้างผ่านแม่พิมพ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ และแม้แต่เรื่องง่ายๆอย่างการสั่ง base curve ก็ยังคงไม่สามารถสั่งตาม demo ได้จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนแว่นโค้งมากๆ ก็ยังไม่สามารถมีโครงสร้างเลนส์ที่รองรับได้ดี ถือว่าเป็นสีสันทางการตลาดก็แล้วกัน เวลานั้นก็ดูสนุกดี
ค่าพารามิเตอร์เฉพาะบุคคลที่ต้องสั่งเพ่ิมสำหรับเลนส์กลุ่มนี้ ได้แก่ สายตา แอดดิชั่น ค่าพีดีแบบแยกซ้ายขวา (monocular PD) และ ค่า invidual parameter (PTA,FFA,CVD) (และข้อมูลของกรอบแว่น กว้าง(A) สูง(B) ความกว้างของสะพานจมูก(DBL) เพื่อที่จะ optimium diameter ของวงเลนส์)
ดังนั้น Impression ILT จะเรียกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลคู่แรกก็ไม่น่าจะผิดอะไร เพราะเวลานั้นผู้ผลิตรายอื่นส่วนใหญ่ยังสาละวนอยู่กับการหล่อเลนส์ผ่านแม่พิมพ์กันอยู่เลย ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นนี้สามารถฟิตบนกรอบแว่นทุกประเภท จะโค้งมากโค้งน้อย มีมุมเทมากเทน้อย ได้หมด และ ยังให้ optical properties ดีในระดับอุดมคติ ขณะที่เลนส์ทั่วๆไปในขนะนั้นดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ตามตัวแปรที่เปลี่ยนไป
แต่กระนั้นก็ตาม Impression ILT ยังคง fixed corridor อยู่ 3 แบบ คือ XS , M และ L สำหรับท่านที่มาใหม่ศึกษาเรื่อง corridor เพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ที่แนบมานี้
หลังจากประสบความสำเร็จในการตลาดโลกสำหรับ Impression ILT พอผ่านไป 7 ปี โรเด้นสต๊อกได้เขย่าอุตสาหกรรมเลนส์อีกครั้งด้วยการปล่อยผลิตภัณฑ์เลนส์โปรเกรสซีฟ ที่ไม่ให้ corridor มาเป็นอุปสรรค์ในการกำหนดความอิสระของการออกแบบโครงสร้างเลนส์ จึงมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาในปี 2007 นั่นคือ Impression FreeSign
Impression FreeSign
FreeSign หรือ Free Design เปิดตัวครั้งแรกในปี 2007 โดยมี concept คือ จะไม่มีการกำหนดรูปแบบโครงสร้างเลนส์ด้วย corridor เพียง 3 แบบคือ XS ,M,L อีกต่อไป แต่ผู้สวมใส่ต้องสามารถออกแบบโครงสร้างเลนส์ตามจุดประสงค์ของการใช้สายตาของแต่ละคนได้ เพราะอาชีพเราต่างกัน ไลฟ์สไตล์ก็ต่างกัน วัตถุประสงค์ของการใช้สายตาก็ต่างกัน ทำไมจึงต้องกำหนดว่าทุกคน ทุกอาชีพต้องปรับตัวเข้าหาโครงสร้างเลนส์ ทำไมไม่ให้โครงสร้างเลนส์ปรับตัวให้เข้ากับแต่ละคนแทน จึงเกิดเป็นเทคโนโลยี Personal visual demand ขึ้นมา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะมี software เพื่อให้ผู้ใช้นั้น ป้อนค่าสายตาและค่าพารามิเตอร์ต่างๆเข้าไป จากนั้นโปรแกรมจะ demonstration ขึ้นมาว่า ด้วยสายตาปัจจุบันโครงสร้างมีหน้าตาเป็นอย่างไร กว้างตรงไหน แคบตรงไหน และที่เหลือผู้ใช้งานสามารถจูนหรือปรับแต่งได้เอง แล้วก็เอาค่าการออกแบบนั้นส่งให้ผู้ผลิต เขาก็จะผลิตเลนส์โครงสร้างเฉพาะพฤติกรรมการใช้งานแต่ละคนนั้นให้เรา
สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยใส่เลนส์โปรเกรสซีฟ ต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า เลนส์ประเภทนี้เป็นเลนส์ multi-focal ซึ่งสามารถโฟกัสได้หลายระยะ ตั้งแต่ไกลสุดจนใกล้สุด โดยไม่มีชั้นหรือรอยต่อของเลนส์ ซึ่งสนามภาพที่ใช้งานได้เราเรียกว่า visual field แต่ก็จะมีภาพมัวหรือบิดเบี้ยวด้านข้าง เราเรียกว่า aberration ดังนั้นพื้นที่โปรเกรสซีฟนั้นมีอยู่อย่างจำกัด การบริหารพื้นที่ใช้งานที่จำกัดให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานสูงสุด มันต้องต้องทำ priority ซึ่ง priority ของแต่ละคนก็ต่างกัน ด้วยอาชีพ ไลฟ์สไตล์ งานอดิเรก ความชอบ ที่ต่างกัน ดังนั้นจะมี one fit all ก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าเลนส์ค่ายใหญ่ๆหลายค่าย ยังคง fixed corridor 11 มม. กับ 14 มม. มาจนถึงปัจจุบันแม้กับตัวเลนส์รุ่นทอปราคาร่วมแสนก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกดี ที่สามารถเอาของเก่าไป mark up ได้ราคาสูงขนาดนั้น แล้วก็เสกชื่อเทคโนโลยีแปลกๆ ทำกราฟิกสวยๆ แล้วเปิดตัวให้แกรนด์ๆ หน่อย แค่นี้ก็ขายได้แล้ว ที่เหลือก็เคลม ทนเคลมไม่ไหวก็เปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ใหม่ วนไปเรื่อยๆ ร้านแว่นตาก็ไม่เคยเข็ด ก็แปลกดี
Multigressiv
เมื่อเทคโนโลยีถูก drive ไปจนถึงขีดสุด (ในเวลานั้น) ซึ่งเลนส์เองก็มีราคาสูงชนิดที่ว่าถ้า hi-end lens แล้วก็ต้อง rodenstock ดีและแพงมาก ทีนี้เมื่อผลิตภัณฑ์ตัวบนประสบความสำเร็จแล้ว โรเด้นสต๊อกจึงได้ปล่อยตัวรองลงมา โดยตัดบาง option ออกไป ก็คือ invividual parameter มาใช้ standard parameter และ กำหนด corridor ให้เลือก 3 แบบ XS ,M ,L แต่เรื่อง unique customization ก็ยังคงเหมือนเดิม เป็นผลิตภัณฑ์รุ่นกลางคือ Multigressiv ซึ่งเลนส์กลุ่มนี้ก็แตกย่อยเป็นผลิตภัณฑ์ MyView ,MyLife ในช่วงเวลานั้น และ ปัจจุบัน ก็คือ Multigresiv B.I.G. (ALLROUND , Expert ,Active)
ดังนั้นจุดแข็งของเลนส์กลุ่มนี้คือ Individual Inset ที่ออกแบบการเยื้องโครงสร้างให้สอดคล้องกับการเหลือบตาเพื่อดูใกล้ของแต่ละคน ซึ่งค่าที่ต้องนำไปคำนวณคือ ค่าสายตา ค่าแอดดิชั่น ปริซึม และ ค่า monocular PD จริงของแต่ละข้างในแต่ละคน
อนึ่ง unique customization เป็นเทคโนโลยีที่ คำนวณโครงสร้างขึ้นมาใหม่แบบ real-time หลังจากได้รับตัวแปรต่างๆแล้วเท่านั้น ดังนั้นถ้าค่า input ที่ส่ังไปไม่ผิด คือตรวจสายตาไม่ผิด ฟิตติ้งไม่ผิด PD ไม่ผิด ประกอบเลนส์ไม่ผิด เลนส์รุ่นนี้ถือว่าใส่ง่ายสำหรับทุกคนและทุกค่าสายตา แต่อยู่บนเงื่อนไขว่าแว่นไม่โค้งและสามารถให้ค่าพารามิเตอร์ โค้ง 5 องศา มุมเท 9 องศา และ ห่างตา 12.5 มม.
ในส่วนโครงสร้างเลนส์นั้นแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ ALLROUND กับ Personal visual Demand โดย AllRound มี corridor ให้เลือก 4 แบบ คือ XS 11 mm ,M 13 mm ,L 15 mm และ V คือ varies corridor ซึ่งปรับ corridor ตาม fitting hight ของแว่น ส่วน Personal visual Demand แบ่งออกเป็น Expert ซึ่งโครงสร้างจะออกแบบเพื่อเน้นการทำงานกลางใกล้หรือหน้าจอเป็นสำคัญ และ Active จะออกแบบเน้นใช้งาน outdoor สนามภาพกลางและไกลจะกว้าง นอกจากนี้เรายังสามารถปรับตำแหน่งอ่านหนังสือ(DN) โดยยกให้สูงขึ้นหรือกดให้ต่ำลง ได้เช่นกัน โดยความละเอียดของการปรับอยู่ที่ 0.1 มม
แต่ทั้งหมดทั้งมวลการจัดสายตา ด้วยการตรวจอย่างหนึ่ง จ่ายอีกอย่างหนึ่ง ก๊อบปี้ค่าแว่นเก่าที่ผิดๆมา การใส่ตัวแปร input แบบนี้ถือว่าเป็นตัวแปรที่ผิด หากจ่ายเลนส์รุ่นนี้ออกไปแล้วมีปัญหา ก็อย่าไปได้โทษเลนส์ ให้โทษตัวเอง ที่ได้ความมโนศาสตร์จัดสายตามาแบบผิดๆ แล้วก็ลำพองว่าเป็นศาสตร์มหัศจรรย์ จัดสายตายังไงให้รอด ได้ยินแล้วอยากเอาหัววิ่งชนกำแพง เลิกซะนะใครที่ยังส่งต่อความรู้ผิดๆนี้ต่อให้กับคนรุ่นหลัง มันเป็นการสร้างเวรสร้างกรรมเปล่าๆ
Progressiv
Progressive เป็นกลุ่มเทคโนโลยีพื้นฐานสำหรับผู้ที่เริ่มต้นใช้เลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งเลนส์กลุ่มนี้ เกิดขึ้นทีหลังเพื่อนทั้งหมด โดยโรเด้นสต๊อกพยายามทำให้ cost ของเทคโนโลยีลดลง ทำให้ต้องตัดบางตัวแปรเฉพาะบุคคลออกแล้วใช้ค่ากลางเข้าไปทดแทน แล้วเกิดเป็นเลนส์กลุ่มนี้ขึ้นมา
เดิมทีก่อนที่จะเกิด B.I.G. vision for all ขึ้นมา เลนส์ที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่ Progressiv Life Free และ Progressiv PureLife Free ปัจจุบันทั้งคู่ไม่มีแล้ว ถูกยุบเหลือเป็น Progressiv B.I.G. Norm / Exact แทน
เลนส์รุ่นพื้นฐานนี้ จะตัด unique customization ออก ดังนั้น การคำนวณโครงสร้างหลัก เช่น inset จะ varies ตามค่า ค่าสายตาและค่าแอดดิชั่น โดย fixed pd 32 มม. และระยะใช้งานที่ 40 ซม. และ การ concern มุมตกกระทบที่เปลี่ยนไปจาก parameter ของกรอบแว่นขณะสวมใส่นั้น ไม่ได้ optimise ละเอียดเท่ากับ multigressiv แต่กระนั้นก็ตาม base technology ที่โดดเด่นสำหรับเลนส์ budget รุ่นนี้เลยก็คือ spherical optimization หรือ zero base curve effect ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สามารถแก้ aberration (unwanted oblique astigmatism) ที่เกิดจาก base curve effect ได้ ดังนั้นถ้าสายตาไม่ได้หนักมาก คือเอียงไม่มากนัก มีพีดีที่มาตรฐาน (32 มม+/-) เลือกกรอบแว่นตามาตรฐาน หรือสามารถดัดให้มาตรฐานได้ และ พึ่งเริ่มใส่เลนส์โปรเกรสซีฟครั้งแรกๆ (แอดดิชั่นยังไม่มาก) เลนส์กลุ่มนี้ก็คือว่าใช้ได้เลย
Progressiv B.I.G. Norm/Exact แม้จะเป็นเลนส์ในรุ่นเริ่มต้นของ Rodenstock แต่พื้นฐานเทคโนโลยีแล้ว จัดว่าอยู่ในระดับสูง ในความคิดส่วนตัว ผมว่าน่าจะใกล้เคียงรุ่นบนๆของเลนส์ค่ายดัง และ ตั้งแต่จ่ายมา ผมก็ไม่เคยเห็นว่า ใครจะ reject กับเลนส์รุ่นนี้ ดังนั้นจะเรียกว่า best performance price ก็คงจะได้
Eye Lens Technology ,EyeLT
หลังจากที่ Rodenstock ประสบความสำเร็จกับเลนส์เฉพาะบุคคลอย่าง Impression ILT และ Impression FreeSign แล้ว ทำให้ช่วงปี 2000-2010 เป็นยุคทองของโรเด้นสต๊อกก็ว่าได้ เรียกได้ว่าทุกคนยอมรับในความเป็นเลนส์ไฮเทค และ ไฮเอนด์ ไม่มีตัวมาเปรียบเทียบ และ โรเด้นสต๊อกเริ่มเข้าไปอยู่ในตลาดบนของตลาดเลนส์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในยุค ILT โรเด้นสต๊อกจำกัดความของคำว่าเฉพาะบุคคลไว้ที่ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ค่าสายตา ค่าแอดดิชั่น ค่าพีดี ค่าฟิตติ้ง ค่าพารามิเตอร์ขณะสวมใส่ ส่วนปัจจัยภายในคือปัจจัยทางกายภาพดวงตานั้น ยังคงใช้เป็นค่ามาตรฐานที่ยังใช้กันอยู่ในเวลานั้นก็คือ ออกแบบเลนส์ให้เหมาะสมกับ eye model ของ Gullstrand’s eye model ซึ่งใช้กันร้อยปีพอดี (1924)
โรเด้นสต๊อกก็เลยเริ่มที่จะมองเข้าไปข้างในว่าจริงๆแล้ว physical ของมนุษย์เมื่อฟังก์ชั่นของตาเริ่มทำงาน กายภาพจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และ ส่งผลอย่างไรต่อระบบออพติก เขาก็พบว่า จริงๆเมื่อดวงตาสองข้างเร่ิมทำงานร่วมกัน ตาจะมีการเคลื่อนที่ซึ่งการเคลื่อนที่ก็จะมีอยู่ 2 แบบคือ เคลื่อนที่ไปด้วยกันเรียกว่า version และ เคลื่อนที่ในทิศที่ตรงข้ามกัน เรียกว่า vergence ซึ่งแบ่งเป็น convergence และ divergence ซึ่งการเคลื่อนที่ของดวงตา เป็นการเคลื่อนที่รอบจุดหมุน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่แบบโค้ง ไม่ใช่เลื่อนสไลด์ซ้ายขวา และมีการบิดตัว หรือ หมุนตัว เล็กน้อยเมื่อมองไปในแต่ละตำแหน่ง ซึ่งในแต่ละมุมที่มองนั้นจะให้ค่าองศาการบิดตัวที่จำเพาะ ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคนที่ค้นพบเรื่องนี้คือนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันเชื่อว่า Johann Benedict Listing (1808–1882), ซึ่งได้อธิบายทิศทางการเคลื่อนที่ของดวงตายังแกนต่างๆในรูปแบบ 3 มิติ และตั้งเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ขึ้นมา และ เรียกกฎการเคลื่อนที่นี้ว่า Lising’s Laws
เมื่อตามองไปยังตำแหน่งต่างๆ และดวงตาก็มีการบิดตัวในองศาที่จำเพาะ ดังนั้นเมื่อคนมีสายตาเอียง (ซึ่งสายตาเอียงนั้นก็มีแกนขององศาเอียงอยู่) มองไปยังตำแน่งต่างๆ แกนขององศาเอียงของตาก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่องศาเอียงบนเลนส์นั้นอยู่กับที่ซึ่งได้จากการตรวจวัดขณะที่ตามองตรงไปยังตำแหน่ง primary gaze ดังนั้นเมื่อไปอยู่บนเลนส์แว่นตาจริง หรือ ใช้งานจริงๆ ตามีการเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งต่างๆ ก็ย่อมทำให้องศาที่คงที่บนเลนส์สายตานั้น ไม่ตรงกับองศาของตาที่เปลี่ยนไป หรือ แม้แต่เวลาดูใกล้ ตาก็จะมีการ convergence เข้าหากัน แต่มันไม่ได้ลงมาทื่อๆ แต่มีการบิดตัวออกจากกันด้วยแบบ excyclo-torsion
ดังนั้นการออกแบบเลนส์ที่ถูกต้อง จะต้องคำถึงถึงตัวแปรนี้ด้วย
อีกเรื่องหนึ่ง คนที่มีสายตาเอียง ซึ่งเกิดจากผิวโค้งของกระจกตาหรือเลนส์แก้วตาหรือทั้งสองโค้งไม่เท่ากัน จึงเกิดเป็นสายตาเอียงขึ้นมา สายตาเอียงรวม (total astigmatism) คือผลรวมแบบ vector ของ สายตาเอียงที่เกิดขึ้นบนกระจกตา (corneal astigmatism) รวมกับสายตาเอียงที่เกิดขึ้นบนเลนส์แก้วตา (lenticular Astigmatism)
เอียงที่เกิดขึ้นที่กระจกตา มักจะคงที่ เพราะทรงของกระจกตาของเรามักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ขณะที่สายตาเอียงที่เกิดจากเลนส์แก้วตานั้น มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเมื่อเลนส์มีการเพ่ง (accommodation) ผิวโค้งของเลนส์แก้วตาก็จะเปลี่ยนไปด้วย ทำให้สายตาเอียงเปลี่ยน ดังนั้นสำหรับคนที่มี lenticular astig. เมื่อมองไกลสายตาเอียงจะเป็นอย่างหนึ่ง เมื่อมองใกล้ก็จะเป็นอย่างหนึ่ง ดังนั้นเลนส์สายตาจะต้องแก้ไขทั้งกำลังสายตาเอียงและองศาของสายตาเอียงให้สอดคล้องกับการทำงานของดวงตาจริงๆ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทาง physical ขณะดวงตามีการทำงาน ดังนั้นโรเด้นสต๊อกเริ่มเล็งเห็นถึงปัญหาตรงนี้ จึงเกิดการปรับกระบวนทัศน์การผลิตใหม่ ด้วยการคง ILT technology เอาไว้ และ เริ่มใส่ตัวแปรทางกายภาพของดวงตาเข้าไปใหม่ เป็น new eye model ขึ้นมา เกิดเป็นยุคใหม่คือ EyeLT Technology ซึ่งเป็นการควรรวม ILT เดิม + Eye Model นั่นเอง
ดังนั้นในช่วงเวลาตั้งแต่ 2010 เป็นต้นไป เลนส์โรเด้นสต๊อกรุ่นเดิม ถูกปรับเปลี่ยนอัพเกรดเป็น EyeLT ทั้งหมด ซึ่งตัวแปรที่เพ่ิมเข้าไปก็แบ่งเป็น 2 ระดับ คือระดับที่ใช้ Listing’s law เข้าไปแก้ไขสายตาเอียงที่เปลี่ยนไปทั้งขณะมองไกลและดูใกล้ โดยเราสามารถสั่งค่าสายตามองไกล แยกจากสายตามองใกล้ ซึ่งจากเดิมที่สั่งแค่สายตามองไกล และ แอดดิชั่นขณะดูใกล้ ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะโลกใบนี้ไม่เคยคิดว่าเราจะสามารถมีเลนส์เดียวที่มีค่าสายตาเอียงในแต่ละจุดนั้นมี power และ axis ไม่เหมือนกัน และ เราก็เคยคิดแต่ว่า cylinder power และ axis ใกล้นั้น มันคือค่าเดียวกับมองไกล ทำให้ไม่เคยมีการเรียนการสอนใดที่จะสอนให้คน practice ในการตรวจหาค่าสายตาดูใกล้ ซึ่งปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็ยังคงจ่ายแค่ค่าสายตามองไกล กับ ค่าแอดดิชั่น เท่านั้น
ดังนั้น ในกรณีที่เราส่งเพียงค่าสายตามองไกลไปกับแอดดิชัน โปรแกรมจะคำนวณใส่ lising’s law ให้เอง แต่ถ้าเราสั่งค่าสายตาไกล/ใกล้ แยกจากกัน โปรแกรมก็จะคำนวณจริง ตามค่าจริง (ถ้าเราตรวจเป็นและตรวจถูกต้องอะนะ)
นอกจากนี้ Rodenstock ยังพัฒนาเครื่องมือสำหรับการแสกนลักษณะทางกายภาพของดวงตาของแต่ละข้างในแต่ละคน เพื่อเก็บเอาค่าพารามิเตอร์ต่างๆเข้าไปร่วมในการออกแบบโครงสร้างเลนส์นั้นก็คือเครื่อง DNEye Scan ซึ่งเครื่องมือตัวนี้ จะตรวจวัดค่าสายตาทั้งมองไกล และค่าสายตาขณะดูใกล้ เพื่อดูว่าค่าสายตา(โดยเฉพาะค่าสายตาเอียง)นั้นมีการเปลี่ยนไปอย่างไร รูม่านตาในที่มืด/สว่างหรือมองไกลกับดูใกล้โตต่างกันเท่าไหร่ ลักษณะผิวของความโค้งกระจกตา ความหนากระจกตา ความหนาของเลนส์ ความยาวของกระบอกตา และ ค่าอื่นๆอีกกว่า 7,000 parameter ก็จะถูกเก็บเป็นข้อมูลสำหรับการออกแบบเลนส์ให้เข้ากับดวงตาของแต่ละคน ซึ่ง EyeLT เทคโนโลยี ที่ใช้ร่วมกับ DNEye Scan เป็นจุดเริ่มต้นของ B.I.G. Exact Technology นั่นเอง จากนั้นข้อมูลที่เก็บมาตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2022 ก็กลายเป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่แล้วสร้าง AI ขึ้นมาเพื่อสร้าง eye model ในเลนส์ B.I.G.NORM
ดังนั้น B.I.G. Exact Technology จริงๆนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2010-2020 และพัฒนาต่อยอดเรื่อยมา ส่วนกลุ่มเลนส์ในช่วงเวลาของเทคโนโลยีนี้ ก็ยังแบ่งเป็น 3 กลุ่มเช่นเดิมคือ
Perfection : Impression 2 ,Impression FS 2 ,Impression FS3 (DNEye scan)
Excellent : Multigressiv MyVeiw2 ,Multigressiv MyLife 2
Superior : Progressiv PureLife Free 2 ,Progressiv Life Free 2
B.I.G. Vision For All
ในปี 2020 Rodenstock ได้ปรับกระบวนทัศน์ในการออกแบบโครงสร้างเลนส์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวปรัชญาการออกแบบเลนส์ใหม่ทั้งหมดภายใต้คอนเซปต์ B.I.G. VISION™ FOR ALL และปี 2022 Rodenstock ก็ได้เปิดตัวนวัตกรรมใหมม่ที่ใช้ AI เข้ามาช่วยการพัฒนาโครงสร้างเลนส์ให้ดียิ่งขึ้นด้วยการสร้างค่า new norm eye model ใหม่กับ B.I.G. NORM™ technology ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินค่าหรือข้อมูลทางชีวภาพของแต่ละคนในแต่ละค่าสายตา โดยไม่ต้องใช้การเก็บพารามิเตอร์จริง DNEye Scan 2
ผลิตภัณฑ์เลนส์ Biometric Intelligence Glasses ,B.I.G นี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ B.I.G. Norm และ B.I.G. Exact ง่ายๆคือ B.I.G. Norm ใช้ AI ในการสร้างข้อมูลทาง Biometric จากข้อมูลเพียงค่าสายตาสั้น/ยาว/เอียง/แอดดิชั่น ขณะที่ B.I.G. Exact นั้นเป็นการใช้ค่าจริงที่ต้องเก็บข้อมูลจากเครื่อง DNEye Scan 2
B.I.G. lens technology เป็นเทคโนโลยีที่ยกระดับไปอีกขั้น เพราะการที่เราจะสร้าง optic ที่อยู่บนเลนส์ที่ดีได้นั้น เราจะต้องรู้จักตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตัวอย่างเช่น การที่จะคำนวณความยาวโฟกัสที่ถูกต้องแม่นยำได้นั้น เราต้องรู้ว่าฉากรับอยู่ที่ไหน หรือเราจะขัดโครงสร้างเลนส์เพื่อบังคับแสงที่ออกจากผิวหลังเลนส์ให้ไปตกบนจอรับภาพได้อย่างไรถ้าเราไม่รู้ว่าเรตินาอยู่ที่ไหน
ปัญหานี้มีเกิดขึ้นมา 100 ปีก่อน (1924) หมอ Gullstrand ได้สร้าง schematic eye model ขึ้นมาและเพื่อให้เราได้รู้จักลักษณะทางกายภาพของดวงตาเฉลี่ย ซึ่งถ้าไม่รู้ค่าเหล่านี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมเลนส์มันก็ไปต่อไม่ได้ ทั้งๆที่เราก็รู้ว่า ดวงตาแต่ข้างในแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แต่ก็จำเป็นต้องใช้ค่ากลางเหล่านี้ในการออกแบบเลนส์ และแม้ว่าจะผ่านมากว่า 100 ปีแล้ว ค่ายเลนส์ทุกค่ายก็ยังหนี Gullstrand eye model ไม่พ้น ขณะที่ Rodenstock นั้นได้หนีจากเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2010 สำหรับ EyeLT ที่ใช้ DNEye Scan และปัจจุบัน 2022 โรเด้นสต๊อกได้ say good bye Gullstrand eye model แล้วสำรับทุก portfolio
ในส่วนของเนื้อหาเกี่ยวกับ B.I.G. technology นั้นผมได้เขียนไว้โดยละเอียดใน 3 บทความดังนั้น สำหรับท่านสนใจสามารถเข้าไปหาศึกษาเพิ่มเติมได้จากลิ้งที่ผมแนบมานี้ https://www.loftoptometry.com/whatnew/page/lens-technology
ในส่วนของผลิตภัณฑ์เลนส์ในกลุ่ม B.I.G. Technology นี้ ก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่ม B.I.G. Norm ที่ใช้ AI-technology มาช่วยหา AI eye model จากข้อมูลค่าสายตาและแอดดิชั่นที่มี อีกกลุ่มหนึ่งคือ B.I.G. Exact ที่ใช้เครื่อง DNEye Scan 2 ในการแสกนพารามิเตอร์ของดวงตากว่า 7000 ค่าและนำไปใช้ในการสร้าง personal eye model
ดังนั้น portfolio สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เป็นดังนี้
Perfection : Impression B.I.G. NORM/EXACT ; ALLROUND ,Expert ,Active ,Individual
Excellent : Multigressiv B.I.G. NORM/EXACT : Allround ,Expert ,Active
Superior : Progressiv B.I.G. NORM / EXACT : AllRound
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อย่างไรให้เหมาะสม
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เลนส์ที่เหมาะสมกันเป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ดังนั้นการที่จะใช้เลนส์รุ่นไหน ก็ต้องกลับไปดูปัญหาสายตา และ ตัวแปรต่างๆ ของคนไข้แต่ละคนที่จะเป็นผู้ใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟ
สิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องเข้าใจก็คือ ธรรมชาติของโครงสร้างโปรเกรสซีฟ ดังนี้ว่าภาพบิดเบี้ยวด้านข้าง หรือ periphery distortion นี้ เป็นผลข้างเคียงที่เลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นเลนส์รุ่นทอปอย่าง Impression ก็ไม่สามารถทำให้ภาพบิดเบี้ยวนี้หายไปได้ และ ภาพบิดเบือนด้านข้างนี้จะแปรผันตามปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1.addition
ภาพบิดเบือนด้านข้างจะแปรผันตรงกับค่า addition ยิ่งแอดมากเท่าไหร่ distortion ก็จะเพ่ิมขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเป็นไปตามกฎของ Minkwitz’s Theorem
ดังนั้นการหาค่า addition ที่ถูกต้องแม่นยำเป็นเรื่องจำเป็น และ ค่าแอดดิชันจะถูกต้องได้มันต้องเริ่มจากการตรวจวัดค่าสายตามองไกลที่ถูกต้องและไม่ใช่ค่าสายตาที่ผ่านการจัดมา เช่น under plus ในคนไข้ hyperopia หรือ over minus ในคนไข้ myopia ล้วนทำให้เกิด over addition เสมอ ดังนั้นพวกจัดสายตาต้องคำถึงเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่วัดเอาชัด เพราะโปรเกรสซีฟไม่ได้เหมือนกับ single vision ที่ไม่มี distortion (อันเกิดจากการ varies curve ให้เกิดคุณสมบัติเป็น multifocal)
2.Frame Parameter
พารามิเตอร์กรอบแว่นขณะสวมใส่ เราเรียกว่า frame parameter ซึ่งลักษณะของกรอบแว่นที่เราเลือก มันจะไปกำหนดมุมที่ตากระทำกับเลนส์ขณะที่เราใส่แว่นว่าขณะที่เราใช้งานแว่นและมองไปยังตำแหน่งต่างๆนั้น แนวของการมองของตาที่ผ่านเลนส์ทำมุมต่อกันเกิดองศาเท่าไหร่
ย้อนกลับไปที่ขณะที่เราตรวจวัดสายตา ไม่ว่าจะตรวจวัดด้วย trial frame/ trial lens หรือ บน phoropter เราจะต้องจัดให้แนวของการมองของดวงตานั้นตั้งฉากกับผิวเลนส์ ค่าเลนส์จึงจะคงที่ แต่เมื่อเกิดการมองแบบทำมุม ค่าบนเลนส์จะกลายเป็นอย่างอื่น เราเรียกความคลาดเคลื่อนเชิงออพติกเมื่อแสงมีการว่ิงแบบทำมุม (off-axis) นี้ว่า unwanted obluque astigmatism ซึ่งเป็น aberration ขนิดหนึ่งที่ทำให้เกิด สายตาเคลื่อนเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะ sphere / cylinder /axis /prism ส่งผลให้เกิดภาพบิดเบี้ยว และไม่คมชัด
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม แว่นกรอบโค้งมากๆ อย่างเช่นแว่นสปอร์ตหรือกันแดดโค้งๆ เมื่อทำเป็นเลนส์สายตาแล้วแล้วมักจะเกิดอาการเมาแว่น ก็จากแว่นที่โค้ง ทำให้ position ของระนาบหน้าแว่นนั้นเกิดการทำมุมกับแนวของการมองนั่นเอง (ไว้ผมจะเขียนเรื่องแว่นสปอร์ต)
ดังนั้นเลนส์รุ่นมาตรฐานตั้งแต่ MGR ลงมานั้นจะใช้ค่า standard parameter ในการออกแบบโครงสร้าง คืือ หน้าแว่นโค้ง 5 องศา มุมเท 9 องศา และ ห่างลูกตา 13 มม. ดังนั้นการเลือกแว่นควรจะเลือกอันที่สามารถดัดหรือปรับแต่งให้มันอยู่กับค่าพารามิเตอร์มาตรฐานได้ และ ต้องระวังให้มากกับแว่นแฟชั่น ที่มักจะทำแว่นออกมาแบบไม่มีมุมเทและหน้าแว่นตรง ซึ่งไม่สมควรที่จะนำมาทำเลนส์โปรเรกสซีฟรุ่นมาตรฐาน
ในกรณีแว่นสปอร์ตหรือกันแดดกรอบโค้ง ต้องเลือกใช้เลนส์กลุ่ม Impression : Sport ,Mono Sport ที่มีเทคโนโลยีในการแก้ไข aberration ที่เกิดจากแสงที่ off-axis ได้ จึงจะสามารถใช้งานแว่นประเภทนี้ได้ ซึ่งเราต้องวัด individual frame paramter เพ่ิมเติมด้วยในการสั่งเลนส์
3.PD (pupillary Distant)
ระยะ PD ซึ่งวัดจากรูม่านตาของแต่ละข้างถึงกึ่งกลางจมูก เรียกว่า Monocular Pupillry Distant (Monoc-PD) ซึ่งค่าพีดีนี้ จะเป็นตัวกำหนดมุมเหลือบเข้าของดวงตา หรือ convergence ตัวอย่างเช่น ในการดูวัตถุระยะใกล้ที่ระยะหนึ่งๆ นั้น สมมติว่าอ่านหนังสือที่ระยะ 40 ซม. คนที่พีดีกว้าง ก็จะต้องมีการ convergence มาก ขณะที่คนที่มีพีดีแคบก็จะเหลือบเข้าน้อยกว่า คนที่พีดีขวาซ้ายไม่เท่ากันการเหลือบเข้าก็ไม่เท่ากัน
และคนๆเดียวกัน ที่มีพีดีคงที่ แต่เมื่อเปลี่ยนระยะการมอง มุมเหลือบก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน ยิ่งดูใกล้มากตาก็จะเหลือบเข้ามาก แต่ถ้าดูวัตถุที่ห่างออกไปมุมเหลือบก็จะน้อยลง ดังนั้นระยะดูใกล้ก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับมุมเหลือบเข้า
และคนเดิม ที่มีพีดีคงที่ อ่านหนังสือที่ระยะคงที่ แต่มองผ่านเลนส์สายตาที่มีค่าสายตาต่างกัน ก็ย่อมทำให้เกิดมุมเหลือบที่ต่างกันด้วยเช่นกันจาก prism effect ที่เกิดขึ้นจากเลนส์สายตาเมื่อเราไม่ได้มองผ่าน optical center
พื้นฐานทาง optic สำหรับเรื่องนี้มีอยู่ว่า lens power หรือ กำลังเลนส์ คือความสามารถในการเปลี่ยนเส้นทางการเดินของแสงให้ลู่เข้า(converge) หรือ ลู่ออก (diverge) ยิ่งกำลังเลนส์สูง การลู่ของแสงก็จะเร็วขึ้นเท่านั้น และ ถ้าเป็นเลนส์ที่มีกำลังเดียว ไม่ว่าจะตรงไหนของเลนส์ก็จะเกิดกำลังลู่เท่าๆกัน แต่ส่งที่ optical center มีคุณสมบัติต่างจากจุดอื่นๆ คือเป็นจุดที่ไม่มี prism อยู่ ( prism = 0) แต่เมื่อเรามองหลุดเซนเตอร์ เราก็จะเจอปริซึม ยิ่งห่างจากเซนเตอร์มากเท่าไหร่ ปริซึมก็จะมากตาม ซึ่งสามารถคำนวณได้จากสมการ prism ที่เกิดขึ้น = กำลังเลนส์ในหน่วย diopter (D) x ระยะหลุดเซนเตอร์ในหน่วยเซนติเมตร (cm)
ปริซึมไม่ได้ทำให้ vergence ray มีการเปลี่ยนแปลง แต่จะไปย้ายตำแหน่งของภาพหรือวัตถุ (position) ดังนั้น ณ จุดนี้ ขณะที่เราใส่แว่น แล้วอ่านหนังสือ เลนส์ซึ่งมีกำลังเลนส์ และ มีการมองหลุดเซนเตอร์เพราะมีการเหลือบเข้า ย่อมเจอปริซึมที่ทำให้วัตถุที่เรากำลังมองนั้นเกิดการย้ายตำแหน่ง จะย้ายไปทางไหนก็ยึ้นอยู่กับว่า สายตาเป็นแบบใด (เลนส์บวกหรือเลนส์ลบ)
สำหรับเลนส์บวก เมื่อเหลือบตาเข้าจะเจอ base out prism ภาพจะ shift in ทำให้เราต้องเหลือบตามากขึ้น ในทางตรงกันข้าม กรณีเป็นเลนส์ลบ เมื่อเหลือบเข้าจะเจอ base in prism ภาพจะ shift out ทำให้เราเหลือบน้อยกว่าปกติ
สรุป พีดี ค่าสายตา ระยะดูใกล้ มีผลทั้งหมดต่อการเหลือบเข้า (convergene) เมื่อจะออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟ ก็จะต้องแบบให้ distortion มันหลบไปจากแนวของการเหลือบ คือโปรเกรสซีฟมันก็เหมือนกับท่อ มันต้องออกแบบให้ท่อนั้นเยื้องให้เหมาะสมกับการเหลือบของตา เราเรียกการเยื้องของท่อนี้ว่า inset
เน้นย้ำอีกทีว่า ท่อที่ว่านี้ไม่ได้กว้างแบบที่ graphic ทำให้เราดูเล่นใน priclist ขายเลนส์ ซึ่งเขาก็ทำไปอย่างนั้นเองให้มันดูกว้าง มันจะได้ขายได้ แต่ในความจริงมันไม่ได้ใหญ่โตขนาดนั้น ดังนั้นการเยื้องของท่อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย หรือ ประกอบผิดเพียงเล็กน้อย ก็สามารถสร้างปัญหาได้มาก
สำหรับ Multigressiv B.I.G. และ Impression B.I.G จะออกแบบ inset ตามตัวแปรทั้ง 3 คือ สายตา แอดดิชั่น mono-PD และ ระยะอ่านหนังสือ ส่วน Progressiv B.I.G. นั้นจะ Varies ตามค่าสายตาและแอดดิชั่น แต่จะ fixed mono-PD 32 มม และ ระยะอ่านหนังสือที่ 40 ซม.
4.ค่าสายตา
ความยากของค่าสายตาในมุมของการทำเลนส์ก็คือจะมีขีดจัดกัดเรื่อง base curve ซึ่งเป็นกฎทางฟิสิกส์ ว่าค่าสายตาหนึ่งๆ จะมีค่าสายตาที่เหมาะสมกับ base curve เพียงหนึ่งค่าเท่านั้น ปัญหาตามมาคือ เลนส์ cylinder ที่มีค่าสายตามากกว่าหนึ่งค่า แล้วจะต้องใช้ base curve อะไร แต่แม้ค่าสายตาเอียงน้อยๆ ผลต่างระหว่างสองแกนไม่มากนัก การใช้ base curve ตามค่า SE ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าเอียงมากกว่า 2.00DC แล้ว จะใช้ BC ตาม S.E. ก็ดูจะกะไรอยู่
เมื่อ base curve ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิด unwanted oblique astigmatism แล้วเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย แบบเดียวกันกับแสงที่ผ่านเลนส์แบบ off-axis โครงสร้างเลนส์พัง ใช้งานไม่ได้
ดังนั้นไม่ใช่ว่า เลนส์อะไรจะดีกับทุกค่าสายตา แต่เราต้องไปดูว่าเลนส์นั้นๆที่จะจ่ายให้คนไข้มีเทคโนโลยีรองรับหรือไม่ ถ้าเทคโนโลยีรองรับไม่เต็มร้อย ก็ต้องบอกกับผู้ใช้ว่ามันจะมี aberration ที่จะต้องปรับตัว และอาจมี compromise อยู่บ้าง แต่ฝืนๆปรับตัวไปก็จะผ่านไปเอง แต่ต้องมั่นใจว่า ช่างฝนประกอบเลนส์ได้แม่นยำ ตรวจวัดสายตาได้แม่นยำ และ ดัดมุมองศาแว่นได้ถูกต้องตามสเป๊คเลนส์ เท่านี้เลนส์โปรเกรสซีฟก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ดังนั้น ถ้าแอดดิชั่นไม่มาก สายตาเอียงไม่มาก พีดีไม่ได้กว้างเกินหรือแคบเกิน (อิงจา 32 มม.) เลือกรอบแว่นมาตรฐานที่สามารถดัดได้ ก็สามารถใช้ PGR B.I.G. Norm/ Exact ได้อย่างสบายใจ
ถ้าคนไข้ สายตาเอียงมาก พีดีกว้างมาก หรือแคบมาก หรือต่างกันมาก MGR B.I.G. Norm/ Exact เลือกกรอบแว่นตามาตรฐาน จึงจะสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ดี
แต่ถ้าคนไข้ต้องการความสุด ไม่ต้องการ compromise ต้องการการมองเห็นที่มี aberration ต่ำสุด ก็คงต้องกระโดดไปที่ Impression B.I.G NORM/ Exact
ในส่วนของ Design type เราจะเห็นว่ามีทั้งแบบ AllRound (XS,M,L,V) ,Active , Expert และ Individual
อย่างหนึ่งเราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งที่ย้ำมาบ่อยครั้งว่า เลนส์โปรเกรสซีฟมีพื้นที่ใช้งานได้อย่างจำกัด จากตัวแปรต่างๆดังที่ได้ยกมาบางส่วนแล้วนั้น ดังนั้นการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นเป็นหน้าที่ของวิศวกรออกแบบเลนส์ ดังนั้นสมมติว่าการทำงานของเราไม่มีความผิดพลาด ตรวจสายตาถูกต้อง ไม่จัดสายตา เซนเตอร์ถูกต้อง พารามิเตอร์ถูกต้อง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น distortion ที่มีเหลืออยู่ ก็คงจะมีเท่าที่จำเป็นต้องมี ส่วนรูปแบบหรือรูปร่างของมันจะเป็นอย่างไรนั้นก็อยู่ที่ว่าดีไซน์ว่าจะเน้นการใช้งานอย่างไร
AllRound เป็นการออกแบบโคร้างสร้างแบบ Perfect Balance ที่เน้นการมใช้งานทั่วไป ไม่ได้ได้เน้นระยะใดระยะหนึ่งเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ผู้ผลิตกำหนดมาให้เรา และ เราก็ต้องเรียนรู้ที่ใช้งานโครงสร้างที่เขากำหนดมาให้เรา ซึ่งดีไซน์ Allround นี้จะมีอยู่ในเลนส์ครบทุก segment และ เราสามารถเลือกต่อได้ว่า จะเอา balance ที่เป็น corridor อะไร xs ,m ,l หรือ v
Active เป็นการออกแบบที่เน้นไกลและกลางเป็นสำคัญ ส่วนใกล้นั้นมีพื้นที่กว้างพอให้สามารถใช้มือถือ tablet ได้ ไม่ได้กว้างมากนัก เพราะเน้นกิจกรรม adventure outdoor มากกว่า
Expert เป็นการออกแบบที่เน้นการทำงานอยู่บนโต๊ะ ซึ่งเน้นระยะกลางและใกล้เป็นสำคัญ ส่วนมองไกลนั้นก็คงต้อง compromise ความกว้างไปบ้างเพื่อแลกกับระยะใช้งานหลัก
Individual เป็นการออกแบบที่ ผู้สวมใส่เลือกมาเลย ว่าต้องการในแต่ละระยกี่เปอร์เซ็น แต่รวมทั้ง 3 ระยะแล้วต้องไม่เกิน 99 % หรืออาจจะปรับแต่งบนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ได้ ก็จะสามารถมองเห็นการเปลี่ยนโครงสร้างเมื่อเราเปลี่ยนตัวแปร
รวมๆ ก็ประมาณนี้
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ท่านเข้าเข้าใจภาพรวมของเลนส์โปรเกรสซีฟของโรเด้นสต๊อกทั้งหมด ว่ามีการพัฒนาต่อยอดมาอย่างไร และทิศทางในการพัฒนาเลนส์ของเขานั้นไปทางไหน ตลอดจนสามารถเลือกเลนส์ที่เหมาะสมกับปัญหาสายตาตัวเอง หรือ ร้านก็สามารถจ่ายเลนส์ที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนได้
ก็หวังว่าจะเกิดประโยชน์กับท่านที่กำลังศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเลนส์อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย
Note : บทความนี้ ผมไม่ได้รับการสนับสนุนจากโรเด้นสต๊อกแต่อย่างใด แต่ที่เขียนให้เพราะผมเองยังคงเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของโรเด้นสต๊อก ตั้งแต่สมัยยังทำงานในตำแหน่ง lens consultant ให้กับ Rodenstock Asia (2010-2014) จนกระทั่งออกมาทำ loft optometry แล้วก็ยังไม่เคยจ่ายเลนส์แบรนด์ใดนอกจากโรเด้นสต๊อก เพราะผมไม่กล้าเสี่ยงที่จะเล่นกับสิ่งที่ผมไม่มั่นใจ แต่โรเด้นสต๊อกมีข้อดีอยู่ว่า ถ้าจ่ายเลนส์ออกไปแล้วมีปัญหา ปัญหามักจะไม่ได้อยู่ที่เลนส์ แต่อยู่ที่ความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆของเรา ซึ่งมันหาทางแก้ได้ง่ายกว่า และ ผมไม่เคยที่จะต้องแก้ไขปัญหาด้วยการให้คนไข้อัพเกรดเลนส์ให้มันแพงขึ้น เพราะมันไม่มีเครื่องการันตีว่าการทำอย่างนั้น แล้วมันจะแก้ไขปัญหาได้ แต่ที่แน่ ๆ ความเสี่ยงจากเงินที่จ่ายเพ่ิม ตามมาด้วยความหวังที่เพิ่ม แล้วถ้ามันแก้ไม่ได้ มันจะแหก แต่วงการนี้หนากว่าที่ท่านคิด ท่านทิ้งเขาไป เขาก็แค่ทำโปรโมชั่นเพื่อหาคนใหม่ เพราะคนที่ยังไม่เข้าถึงความรู้นี้ในบ้านเรานั้นมีมาก ดังนั้นการตลาดที่ใช้เหยื่อตกปลาราคาถูก ยังอุตส่าห์มีปลามาติดเบ็ดอยู่เสมอ แต่ปลาติดเบ็ดส่วนใหญ่ยังเป็นปลาหมอ กับปลาตะเพียน ก้างเยอะเสียมากกว่า เพราะปลาเหล่านั้นเขาอาจจะรู้ว่า จะต้องติดเบ็ด แต่เขาขอให้ได้กินเหยื่ออิ่มแค่สักเสี้ยวนาที แค่นี้ชีวิตเขาก็พอใจแล้ว สำหรับท่านที่ไม่กลัวก้าง ก็เชิญทำโปรโมชั่นกรอบแว่นตาพร้อมเลนส์ลด 70% กันต่อไปนะครับ (หยอกๆ)
ลาจริงๆละ สวัสดีครับ
ดร.ลอฟท์
click link contact us : https://www.loftoptometry.com/contact/