การจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น EP2

Dr.Somyot Phengtavee ,O.D. : เขียนและเรียบเรียง 

สวัสดีวันส่งท้ายปี 31 ธ.ค.2560  ซึ่งบทความส่งท้ายปีที่จะเขียนในวันนี้ ก็ยังคงเป็นเรื่องของโปรเกรสซีฟเลนส์กันอยู่ เพราะมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้อยู่เยอะมาก  ซึ่งในตอนแรกนั้น ผมได้พูดถึงในส่วนของการปรับแต่งแว่นและการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟก่อนส่งมอบ ส่วนใน EP2 นี้ผมจะเริ่มพูดถึงในส่วนหลังจากที่เราจ่่ายเลนส์ไปแล้วคนไข้มีปัญหาการใช้งาน  ว่าจะมีอะไรเป็นสาเหตุของปัญหาได้บ้าง และมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง  ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ทั้งกับช่างแว่นตาและผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้งานโปรเกรสซีฟ เพราะถ้าหากว่า ผู้สวมใส่สามารถเข้าใจอาการหรือปัญหาที่ตัวเองเป็นและสามารถบอกกับช่างแว่นตาได้ ก็จะทำให้การจัดการกับปัญหาโปรเกรสซีฟนั้นได้ตรงประเด็น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะว่าการแก้ไขแบบไม่มีเป้าหมายนั้น เหมือนการเดินทางอยู่ในป่าที่ไม่มีเข็มทิศ เช่นนึกอะไรไม่ออกก็โทษโครงสร้างเลนส์ และเคลมไว้ก่อน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า "ปัญาหาอยู่ที่เลนส์หรือว่าที่เรา" ปัญหาที่เลนส์นั้นเราคงเหนือความควบคุมของเราคงต้องเลือกแบรนด์ที่เราเชื่อถือและมั่นใจ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้คือ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากตัวเรา ผมจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเหมือนเป็นเข็มทิศ ให้การจัดการกับปัญหาโปรเกรสซีฟนั้น ตรงประเด็นและได้ประสิทธิภาพสูงสุด ผลสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคคือ “จ่ายร้อยแล้วได้ร้อยหรือมากกว่าร้อย” ไม่ใช่จ่ายร้อยแล้วได้มาแค่สิบอย่างที่เป็นๆกันอยู่ ซึ่งขาดทุนกันเห็น ๆ นอกจากเสียตังค์แล้วยังต้องทรมานในการปรับตัวแล้วดันใช้งานไม่ได้จริง  ดังนั้นเรามาเริ่มเลยเป็นข้อๆ 

ปัญหา 1

ต้องก้มหน้ามองเวลาขับรถหรือเวลามองไกลจะต้องก้มหน้าลงแล้วมองตรงจึงจะมองไกลชัด 

สาเหตุ  

ตำแหน่ง fitting cross (+) ซึ่งเป็นจุดสำหรับนำไปวางฟิตติ้ง เมื่อฝนประกอบเลนส์แล้วต้องให้จุดนี้ อยู่กลางรูม่านตาพอดี  ถ้าอยู่สูงมากเกินไป ทำให้เวลามองไกลนั้น ตำแหน่งของรูตาจะไปมองผ่านจุดชัดของระยะกลางซึ่งเป็นจุดที่มีการเริ่มไล่ค่าค่าแอดดิชั่นแล้ว จึงทำให้มองไกลมัว ดังนั้นคนไข้จะก้มหน้าแล้วมองไกลชัด เนื่องจากการก้มหน้าทำให้ตำแหน่งมองไกลอยู่ต่ำลงมา ทำให้ตานั้นสามารถมองผ่านจุดสำหรับมองไกลได้ 

การแก้ไข

  1. ดัดแป้นจมูกให้กว้างขึ้นเพื่อให้แว่นตกลงมา ให้ Fitting Cross (+) ต่ำลงมาอยู่ตรงกลางรูม่านตาพอดี 
  2. วางตำแหน่งเซนเตอร์ใหม่ สั่งเลนส์มาใหม่ แล้วฝนประกอบให้ได้เซนเตอร์ที่ถูกต้องเหมาะสม 

ข้อควรระวัง
ขณะที่เราหาตำแหน่งตาดำด้วยการฟิตติ้งนั้น ถ้าคนไข้ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งธรรมชาติจริงๆ เช่น คนไข้อาจจะ ก้มหน้า หรือเงยหน้า หรือตัวเอนไปข้างหลัง หรือแม้แต่เราที่กำลังฟิตติ้งอยู่นั้น ตำแหน่งตาของเราไม่อยู่ในระนาบเดียวกันกับคนไข้ ก็จะทำให้เราวางตำแหน่งเซนเตอร์ผิดพลาดได้จาก parallax  และนี่เป็นเหตุว่าทำไมแว่นตาที่จะนำมาทำเลนส์โปรเกรสซีฟควรจะเป็นแว่นที่มีแป้นจมูก เพื่อถ้ามีปัญหา fit สูง/ต่ำ ขึ้นมา มันสามารถปรับที่แป้นจมูกได้ 

ปัญหาที่ 2

มองตรงแล้วระยะไกลมัว

สาเหตุ      2.1 ตำแหน่งฟิตติ้ง อยู่สูงเกินไป (เช่นเดียวกับข้อแรก) 

การแก้ไข   2.1 แก้ไขโดยการดัดแป้นจมูกให้ตำแหน่ง fitting cross อยู่พอดีตำแหน่งรูม่านตาขณะมองไกล หรือวางเซนเตอร์ใหม่ และสั่งเลนส์มาประกอบใหม่ 

สาเหตุที่  2.2  วัดสายตามองไกลไม่ถูกต้อง 

การแก้ไข 2.2 recheck สายตามองไกลซ้ำอีกครั้ง 


ปัญหาที่ 3 

มองตรงไกลชัด แต่ข้างๆมัวและมีภาพบิดเบี้ยวมาก 

 

สาเหตุ 3.1 ใช้โครงสร้างเลนส์ที่ใช้เป็นแบบ soft design 

Soft Design จะทำให้ปีกของ distortion ถูกยกขึ้นไป และไปรบกวนสนามภาพใช้งาน ซึ่งเกิดขึ้นได้มากกับเลนส์ตระกูลก Advance Soft Design หรืออาจจะเกิดจากเลนส์อยู่ห่างตามากเกินไป(Vertex Distant (CVD) มากไป)  ทำให้ distortion ถูกทำให้ขยายมากขึ้น (ถ้าจำได้ เลนส์ที่มีค่าสายตา เมื่ออยู่ห่างตา จะมีกำลังขยายมากขึ้น) และเลนส์ที่ห่างตาจะทำให้ช่องมอง (visual field ) อยู่ห่างออกไป ทำให้ลานสายตาแคบลง เนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์จาก keyhole effect  คือถ้าอยากมองผ่านรูให้ได้ลานสายตากว้างๆ ต้องเอาตาเข้าไปใกล้รู ก็จะเห็นได้กว้างขึ้น

การแก้ไข 3.1 : เริ่มจากปรับแต่ง CVD ให้เหมาะสมก่อน (ประมาณ 13 องศา)  ถ้ายังไม่หายให้เปลี่ยนโครงสร้างให้มีความเป็น Hard มากขึ้น ใช้คอริดอร์ไปทาง short มากขึ้น หรือถ้าเป็นไปได้ ให้เลือกโครงสร้างที่ออกแบบตามพฤติกรรมการใช้งานแต่ละบุคคล (personal visual demand )

สาเหตุ 3.2 : Base Curve Effect 

เลนส์โปรเกรสซีฟนั้น ส่ิงสำคัญมากๆก็คือในเรื่อง base curve effect เนื่องจากจะส่งผลให้เกิด unwanted oblique astigmatism เกิดขึ้นเมื่อ  base curve ไม่เหมาะกับค่าสายตา ก่อให้ผลตามมาคือ เกิดภาพบิดเบี้ยวเพ่ิมมากขึ้น  ซึ่งนอกจากนี้ยังเกิดการย้ายที่ของ surface oblique astigmatism ที่จะต้องมีอยู่แล้วบนผิวโปรเกรสซีฟไปรบกวนบริเวณด้านข้างของสนามภาพใช้งาน ดังนั้นถ้าเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นที่ใช้อยู่นั้น ไม่ได้มีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหา base curve effect ก็จะเกิดปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งต้องระมัดระวังให้มากในคนไข้ที่สายตาเอียงมากกว่า Cylinder > -1.50D 

รูปแสดงผลกระทบที่เกิดจาก base curve Effect (บนกลาง) และ ผลของ unwnated oblique astigmatism จาก lens tilt (รูปบนขวา)

 

การแก้ไข 3.2  : เลือกโครงสร้างโปรเกรสซีฟที่มีเทคโนโลยีในการจัดการกับปัญหา base curve effect โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือคนที่มีปัญหาสายตาเอียงมากๆ ซึ่งเลนส์ Rodenstock ที่เริ่มใช้เทคโนโลยี Spherical Optimization (zero base curve effect) คือรุ่น Progressive PureLife Free เป็นต้นไป 

ศึกษาเพ่ิมเติมเกี่ยวกับ soft/hard progressive lens design และ base curve effect เพ่ิมเติ่มได้จากล้ิงค์​ : 

http://www.loftoptometry.com/Base Curve Effect 

http://www.loftoptometry.com/the fundamental of progressive lens design


ปัญหาที่ 4 

สนามภาพมองใกล้แคบมากๆ หรือ พื้นที่ดูใกล้นั้นแย่มากๆ 

 

สาเหตที่ 4.1 : เลนส์อยู่ห่างตามากเกินไป 

CVD ห่างตามากเกินไปทำให้ช่องมองโปรเกรสซีฟนั้นห่างตาออกไป ทำให้ลานสายตาที่มองชัดนั้นแคบลง อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น 

การแก้ไข 4.1  : ดัดแป้นจมูกให้เลนส์อยู่ใกล้ตาให้เหมาะสม (12-13 มม.) และดัดมุมเทหน้าแว่น (pantoscopic tilt angle) ให้มีมุมเทที่สวยงาม (8-9 องศา)  สำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น เมื่อไปอยู่บนแว่นที่ไม่มีมุม panto เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก และทำให้สนามภาพมองใกล้จะแย่เอามากๆทีเดียว เนื่องจากว่า แนวเลนส์ที่วางในแนวดิ่งและไม่มีมุมเทนั้น  เมื่อเหลือบตาลงต่ำจะทำให้ระยะห่างจากตาถึงผิวหลังของเลนส์ในแต่ละจุดนั้นไม่เท่ากัน (cvd เปลี่ยน) และเกิดการมองผ่านเลนส์แบทำมุมมากขึ้น (ไม่ฉาก) เกิดความคลาดเคลื่อนมากจาก unwanted oblique astigmatism ที่เกิดจาก lens tilt มาก ทำให้สนามภาพที่ระยะใกล้นั้นแคบมาก  ดังนั้นให้ระวังการเลือกแว่นที่ไม่สามารถดัดที่บริเวณบานพับไม่ได้  แว่นเสียแต่ว่าแว่นที่เลือกมานั้นมีมุมเทที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น ก็ถือว่าสามารถใช้ได้เช่นกัน  แต่สำหรับแว่นที่ไม่สามารถดัดมุมเทได้ แต่เราชอบก็ต้องใช้เลนส์โปรเกรสซีฟที่ใช้เทคโนโลยีกรอบแว่นเฉพาะบุคคลอย่าง Impression2 หรือ Impression FreeSign2 เป็นต้น 

สาเหตุ  4.2 : คนไข้ไม่เคยใช้เลนส์โปรเกรสซีฟมาก่อนและยังไม่ได้สอนวิธีใช้ 

การแก้ไข  4.2 : สอนวิธีใช้ ซึ่งผมได้เขียนโดยละเอียดแล้วในตอนที่ 1 ลองตามลิ้งไปอ่านดู http://www.loftoptometry.com/การส่งมอบเลนส์โปรเกรสซีฟและการจัดการปัญหาเบื้องต้น

สาเหตุที่  4.3 ​: ประกอบ PD ผิด 

เลนส์โปรเกรสซีฟนั้น เป็นเลนส์อเนกประสงค์ที่มีสนามภาพใช้งานที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น lens designer  ก็จะต้องทำการศึกษาวิจัยว่า จะออกแบบโครงสร้างที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้น ทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่  ซึ่งโครงสร้างส่วนใหญ่ก็ออกแบบมาแล้วหล่ะว่า สนามภาพที่ออกแบบมาลักษณะนี้ สามารถช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้รู้สึกใช้ลำบากอะไร และเป็นธรรมชาติ ซึ่งถ้าเราทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ก็คงไม่ต้องกังวลว่าจะใช้งานโปรเกรสซีฟไม่ได้ 

ดังนั้นตัวแปรก็คือว่า ถ้าเราประกอบเลนส์แล้วเกิดว่าเซนเตอร์ของ PD (pupillary distant) เกิดผิดขึ้นมา  ก็จะทำให้ตำแหน่งของลูกตานั้นไม่สอดคล้องกับจุดที่ใช้งาน ทำให้ไม่สามารถได้ประสิทธิภาพเลนส์เต็มที่ ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยคือ ขณะที่ทำ Fitting นั้นไม่ยอมวัด PD แยกซ้าย/ขวา (monocular PD) แต่ไปใช้ PD รวมแล้วหารครึ่งเอาในการประกอบ  

แต่มนุษย์เกือบร้อยละร้อย ไม่เคย Symmetry ดังนั้นเราจะมาใช้การหารเอาแบบนี้ไม่ได้ เช่น PD รวม วัดได้ 64 มม.​ แล้วเวลาประกอบเราจับหารครึ่ง เป็น 32/32 นั้นไม่ถูกต้อง เนื่งอจากความเป็นจริง คนไข้อาจจะ PD 30/34 ก็ได้ หรือ 31/33 ก็ได้ หรืออาจจะเป็น 30.5/33.5 ก็ได้ มันเป็นไปได้ทั้งหมด  และห้ามมองว่าเล็กน้อย เพราะสนามภาพโปรเกรสซีฟนั้นไม่ได้มีอย่างเหลือเฟือ การคลาดเคลื่อนของ PD จะทำให้สนามภาพที่คมชัดของของตาแต่ละข้างเวลามารวมภาพกัน จะรวมไม่สนิท ทำให้สนามภาพแคบลงโดยไม่ใช่เหตุอันควร และอย่าไปคิดเอาเองว่า เลนส์จ่ายแพงๆ โครงสร้างกว้างๆ มันจริงหรือเปล่าอันนี้เราก็ไม่แน่ใจหรือครั้นเราจะไปฝากกับความฝันลมๆแล้งๆแบบนั้นก็ดูจะไร้จุดหมายไปหน่อย ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือจัดการกับปัญหาที่เราสามารถควบคุมได้ก่อน แล้วถ้ายังมีปัญหา ก็จะได้รู้ว่าโครงสร้างเลนส์มันมีปัญหาจริงๆ และย้ายค่ายเลนส์เสีย และมั่นใจได้ว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเรา 

เส้นสีส้มนั้นแสดงแนวการกวาดของลูกตาตามแนว umbilical line  ซึ่งเป็นแนว sweet point ของ progressive lens

การประกอบ PD ไม่ตรงนั้น เกิดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะระยะกลางกับระยะใกล้ เนื่องจากตำแหน่งรูม่านตาที่กวาดตาลงต่ำเพื่อดูใกล้นั้น ไม่ได้อยู่ในแนวของ Umbilical line คือตาไปอยู่ชิดขอบท่อของภาพบิดเบี้ยว แทนที่จะอยู่กลางท่อ ทำให้ไม่สามารถใช้งานพื้นที่โปรเกรสซีฟได้เต็มที 

การแก้ไข 4.3 :  การประกอบ PD ผิดนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการดัดแว่น  จะต้องวางเซนเตอร์ใหม่ และสั่งเลนส์มาประกอบใหม่ให้ตรง 

 

สาเหตุที่ 4.4 : วางตำแหน่ง Fitting  ต่ำเกินไป  

การวางตำแหน่ง fitting cross ต่ำนั้น จะไม่ส่งผลกระทบกับสนามภาพมองไกล (คือมองไกลชัด) แต่การฟิตต่ำ จะทำให้ ตำแหน่งอ่านหนังสือ (reading zone ) นั้นอยู่ต่ำลงไปมาก  ทำให้การเหลือบตาต้องเหลือบทำมุมมาก มากเกินธรรมชาติ ทำให้คนไข้ต้องเงยหน้าปรับหาจุดชัด  นอกจากนี้แล้ว การคำนวณมุมตกกระทบที่อ้างอิงจากตำแหน่งมองตรง (reference point) นั้นคลาดเคลื่อนทั้งหมด และทุกๆ 1 มม. ที่ตำแหน่ง reading ต่ำลงมา กล้ามเนื้อตาต้องออกแรงทำมุมเพ่ิมขึ้นถึง 2 องศา เพื่อให้เจอตำแหน่งเดิม

การแก้ไข 4.4 ปรับแป้นจมูก เพื่อยกเซนเตอร์ (fitting cross) ให้อยู่กลางตาดำ  ถ้าแว่นไม่มีแป้นจมูก ให้วางเซนเตอร์ใหม่แล้วสั่งเลนส์มาประกอบใหม่ 

สาเหตุ 4.5 : กรอบเล็กเกินไป  

กรอบที่เล็กเกินไปทำให้เนื้อเลนส์สำหรับดูใกล้นั้น ถูกตัดทิ้งไป เนื่องจากว่าเลนส์โปรเกรสซีฟ ชื่อมันบอกในตัวของมันเองว่าเป็นเลนส์ที่มีการ progress ของ plus power โดยเริ่มจากจุดมองไกลลงมาถึงกลางวงอ่านหนังสือ ซึ่งระยะที่มีการไล่โครงสร้างโปรเกรสซีฟนี้เราเรียกว่า progressive zone lenght  แต่ส่วนใหญ่จะใช้เป็น คอริดอร์ ซึ่งใช้เรียกระยะที่แบ่งระหว่างพื้นที่ชัดมองไกลและพื้นที่ชัดมองใกล้ ดังนั้น จะวัดจากจุด fitting cross ลงมาถึงขอบบนของวงอ่านหนังสือ ซึ่งเป็น 85% ของค่าแอดดิชั่น  ดังนั้นถ้าการ progress ของ power นั้นเร็วหรือไล่โค้งด้วยอัตราเร่งแอดที่สูง แอดดิชั่นก็จะสิ้นสุดเร็ว  ทำให้เกิดเป็น Short Corridor  ในทางกลับกัน long corridor คือค่อยๆไล่ค่าสายตา แอดดิชั่นก็จะจบช้า ทำให้เกิดโครงสร้างแบบ long corridor  ดังนั้นการเลือกคอริดอร์ จึงต้องเลือกให้เหมาะกับกรอบแว่นด้วยว่าเนื้อของแว่นมันพอที่จะวาง corridor ตัวไหน  ถ้าเราใช้ long corridor แล้วไปใช้กรอบเล็กๆ fitting hight น้อยๆ มันก็จะทำให้ reading zone ถูกตัดทิ้งออกไป  หาจุดอ่นหนังสือไม่เห็น 

การแก้ไข 4.5 : เลือกกรอบที่มีขนาดพอกับคอริดอร์ที่จะใช้ 

การเลือกกรอบให้มีขนาดในแนวดิ่ง ที่มีเนื้อมากพอสำหรับทำโปรเกรสซีฟ  แต่โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ค่อยมีแล้วสำหรับกรอบที่แบบว่ากรอบเล็กๆ เนื้อน้อยๆ เพราะเทรนของกรอบแว่นปัจจุบันนั้น ค่อนข้างใหญ่  แต่ถ้าชอบกรอบเล็กๆจริงๆ ก็คงจะต้องไปเลือกโครงสร้างโปรเกรสซีฟที่มีระยะของการไล่โครงสร้างให้สั้นลงอย่าง short corridor 

คอริดอร์สั้นแค่ไหนถึงจะพอ 
ขนาดของแต่ละคอริดอร์นั้น  ต้องการความยาวของ fitting hight ไม่เท่ากัน แต่สามารถคำนวณคร่าวๆได้โดย mininim fitting hight = ความยาวคอริดอร์ +5 มม. เช่น เราจะใช้ Corridor 15 เราจะต้องมี min.FH อย่างน้อย 15+5 =20 มม. เป็นต้น (ดูรูปประกอบ : คอริดอร์นั้นวัดจากจุด + ลงไปถึงขอบบนของวงอ่านหนังสือ แต่ยังไม่ใช่จุด full addition ซึ่ง reading zone จริงๆ จะอยู่กลางลงกลมดูใกล้ ซึ่งต้องวัดลงไปจากขอบบนอีก 3 มม. แต่เราหากรอบที่มันเลยจุดกลางวงอ่านหนังสือไปอีกอย่างน้อย 2 มม. เพื่อให้เหลือพื้นที่ดูใกล้ที่มากพอ  ดังนั้นจะจำสูตรง่ายๆคือ min.FH = corridor + 5  (ถ้าสามารถมีเนื้อได้มากกว่า 5 ก็จะยิ่งดี)

ข้อระวัง 

ไม่ควรแก้ไขปัญหานี้โดยการเพิ่มค่าแอดดิชั่นเพื่อหวังให้คนไข้สามารถมองใกล้ ด้วยเหตุผลว่า จะทำให้เกิดปัญหาตามมา 2 ประการคือ อย่างแรกก็คือ ระยะอ่านหนังสือที่เหมาะสมจริงๆ จะถูกยกขึ้นไปอยู่ที่บริเวณของคอขวด ซึ่งเป็นสนามภาพที่แคบที่สุดของโครงสร้างโปรเกรสซีฟ  และอีกอย่างหนึ่งคือ Distortion ด้านข้างจะเพ่ิมมากขึ้นจากแอดดิชั่นที่เพิ่มขึ้น โดย reate ของการเพ่ิมขึ้นนั้น 2:1 และถ้าใช้เป็น short corridor ก็จะยิ่งไปกันใหญ่  ทำให้โครงสร้างโปรเกรสซีฟพัง ใช้งานไม่ได้ 

สาเหตุที่ 4.6 : ค่าแอดดิชั่นไม่ถูกต้อง  

แอดดิชั่นที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เกิดปัญหาตามมาแตกต่างกันไป  

ถ้าค่า addition มากเกินจริง จะทำให้ reading zone ถูกยกขึ้นมาอยู่ที่บริเวณคอขวด ทำให้สนามภาพดูใกล้แคบ  ส่วนตำแหน่งที่สบายกลับกลายเป็นต้องเลื่อนหนังสือใกล้เข้ามา  ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่เหมาะสมในการใช้งาน  

ถ้า addition น้อยเกินไป ก็จะทำให้จุดที่ดูใกล้ชัดซึ่งเป็นตำแหน่งของ full addition นั้นอยู่ต่ำมาก ทำให้เหลือบหาไม่เจอ หรือต้องเงยหน้าหา เพื่อยก rading zone ขึ้นมา

และปัญหาที่พบบ่อยที่ทำให้ค่าแอดดิชั่นไม่ถูกต้องคือ Balance ค่าสายตามองไกลไม่ถูก ทำให้ Accommodation ทำงานไม่ balance กัน เมื่อใส่โปรเกรสซีฟซึ่งใช้ค่า addition ที่เท่าๆกัน  ทำให้มีปัญหาเมื่อมองพร้อมๆกันทั้ง 2 ตา คือเมื่อตามองผ่านเลนส์ที่ตำแหน่งเดียวกัน ตาข้างหนึ่งชัดอีกข้างมัว พอรวมสองภาพก็เป็นภาพที่ไม่ค่อยชัด  

อีกปัญหาที่พบคือ การ over add จาก corrected ค่าสายตามองไกลไม่หมด เช่น คนไข้สายตามองไกล +1.00  Add +1.00 แต่ไปจ่ายค่าสายตา 0.00 Add +2.00  ซึ่งจริงอยู่ว่ามองไกลชัดทั้งคู่ อ่านหนังเห็นทั้งคู่ แค่โครงสร้างที่เป็น +1.00 Add +1.00 นั้นมีโครงสร้างที่ดี กว้าง บิดเบือนต่ำกว่า 0.00 Add +2.00 มากหลายเท่าตัว 

การแก้ปัญหา 4.6 : recheck ค่า addition เสียใหม่ โดยเริ่มจากค่าสายตามองไกลให้ถูกต้องเสียก่อน เพราะถ้าสายตามองไกลผิดเสียแล้ว add ก็ย่อมจะผิดตามแน่นอน 

 

สาเหตุที่ 4.7 : โครงสร้างโปรเกรสซีฟที่เลือกนั้นสนามภาพดูใกล้ ไม่กว้างมากพอต่อการใช้งาน  

สิ่งที่เราต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งก่อนว่า  บริษัทเลนส์นั้น ดำรงอยู่ได้ด้วยผลประกอบการ  ดังนั้นค้าขายต้องมีกำไรจึงจะดำเนินธุรกิจต่อไปได้  ดังนั้นโครงสร้างเลนส์จึงแบ่งลำดับขั้นเป็นหลายระดับ ตั้งแต่เลนส์ถูกๆ ไม่สนใจอะไรเลย ไปจนถึงเลนส์ระดับไฮเอนด์ซึ่งมีราคาสูง ที่ทำโครงสร้างให้ดีที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีตัวเองจะสามารถทำได้ และแน่นอน ย่อมมีราคาสูงกว่า  ดังนั้นเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นมีตั้งแต่โครงสร้างถูกๆโครงสร้างแคบๆ ไปจนถึงโครงสร้างดีๆราคาสูง  และด้วยความเป็นฟรีฟอร์มเทคโนโลยีปัจจุบันนั้น จะทำเลนส์ให้ดีหรือไม่ดีก็ได้ เพื่อวาง brand positioning ให้กับสินค้าตัวเอง เพื่อให้ผู้บริโภคจ่ายในราคาที่สูงขึ้น  เหมือนกับ Apple ที่ปรับ firmwear เพื่อลดประสิทธิภาพเลนส์รุ่นเก่าลง เพื่อให้ลูกค้าใช้มือถือรุ่นที่ใหม่กว่า เพราะรุ่นเก่าไม่พังสักที ทำนองนั้น 

การแก้ไข 4.7

ใช้โครงสร้างที่เน้นการใช้งานในระยะใกล้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเลนส์โปรเกรสซีฟประเภทนี้คือ Personal visual demand progressive lens เช่น Rodenstock Mulitigressiv MyLife2 และ Impression FreeSign3 ซึ่งผู้ใช้งานสามารถ customized สนามภาพที่ตัวเองใช้งานหลักได้  หรือไม่ก็มีแว่นสำหรับทำงานดูใกล้โดยเฉพาะ  หรือจะใช้งานเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะทางอย่าง  Ergo ก็ได้ ไว้จะมาเล่าให้ฟังในโอกาสหน้า  ศึกษา personal visual demand progressive lens เพ่ิมเติมได้จากล้ิงค์ http://www.loftoptometry.com/Multigressiv MyLife2

หมายเหตุ : สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับกับ Universal Progressive lens ก็คือว่า “มันถูกออกแบบมาให้ใช้งานแบบอเนกประสงค์ ไม่ใช่เฉพาะกิจ” ดังนั้นมันจะต้องมี compromise ไม่อย่างได้ก็อย่างหนึ่ง คือเลนส์โปรเกรสซีฟมันจะมีส่วนที่ใช้งานได้กับส่วนที่ใช้งานไม่ได้  ทีนี้ส่วนที่ใช้งานได้ ก็เอามาแบ่งว่าจะเอาไว้มองไกลกี่ % กลางกี่% และใกล้กี่% โดยการ weight น้ำหนัก การให้ priority กับแต่ละสนามภาพนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ผลิตว่าเก็บข้อมูลมาจากไหน เก็บยังไง หรือคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ เขาใช้งานกันยังไง แล้วก็ออกแบบโครงสร้างสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งแบบนี้เขาเรียกว่าโครงสร้างแบบ balance  

แต่ถ้าเราจะบอกว่า เราไม่ใช่คนส่วนใหญ่ เช่น ชีวิตมีแต่ขับรถ ตีกอล์ฟ ดูทีวี แล้วก็เล่นไลน์ ก็คงจะต้องการโปรเกรสซีฟที่เน้นมองไกลเป็นหลัก กลางเป็นรอง และใกล้น้อยที่สุด เพื่อให้มีเนื้อที่สำหรับใช้งานได้เหมาะสมกับชีวิตจริงของตัวเองมากที่สุด ซึ่งโครงสร้างประเภทนี้เรียกว่า personal visual demand  เช่น MyLife และ FreeSign ที่ได้เกริ่นไปข้างต้น 

สาเหตุที่ 4.8  : inset ของโครงสร้างโปรเกรสซีฟไม่เหมาะสบกับการเหลือบ

เรื่องมันมีอยู่ว่า แม้เราจะเช็คเซนเตอร์ว่ามันตรงแล้วดัดแว่นก็ดัดได้มุมที่เหมาะสมแล้ว โครงสร้างที่ใช้ก็คิดว่าน่าจะดี (เพราะเซลล์ขายเลนส์บอกว่าดี จริงไม่จริงก็อีกเรื่องนึง)  มองไกลชัดดี แต่ทำไมกลางแคบ  ซึ่งเรามักจะพบกับคนที่มี PD มองไกล กว้างหรือแคบกว่าปกติ ถ้ามีอาการลักษณนี้ แสดงว่ามาจาก inset ของโครงสร้างโปรเกรสซีฟไม่เหมาะสมกับการเหลือบ 

inset คืออะไร

คนเรานั้น เวลาดูใกล้ ตาจะเหลือบเข้ามา เราเรียกว่า convergence และถ้าเรา fix ระยะที่มองให้เป็นระยะเดียวกัน คนที่ลูกตาห่างกันกันมาก (PD กว้าง) ก็จะต้องเหลือบเข้ามามาก  คนที่ลูกตาอยู่ใกล้กัน (PD แคบ) ก็จะเหลือบน้อยหน่อย   คนที่มี PD ซ้ายและขวาไม่เท่ากัน การเหลือบเข้ามาก็ไม่เท่ากัน  นั่นคือสิ่งที่เกิดกับคนแต่ละคนที่มีลักษณะทางกายภาพที่ไม่เหมือนกัน  กลับมามองที่เลนส์โปรเกรสซีฟ เลนส์โปรเกรสซีฟนั้นมีพื้นที่บางส่วนใช้งานได้และบางส่วนที่ใช้งานได้ ดังนั้นจะต้องบูรณาการให้พื้นที่ที่สามารถใช้งานได้นั้น อยู่ในตำแหน่งที่สามารถนำไปใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด 

Inset ที่เหมาะสม ทำให้การเหลือตาเพื่อดูใกล้นั้นอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้ประสิทธิภาพการใช้งาน โดยเฉพาะในระยะกลางและใกล้นั้นสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

ดังนั้น  โปรเกรสซีฟจะต้องมีการเยื้องสนามภาพสำหรับการใช้งาน หรือพื้นที่ที่สามารถใช้งานได้ เยื้องใมัมนสอดคล้องกับการเหลือบของแต่ละคน  เราเรียกการเยื้องของโครงสร้างนี้ว่า Inset 

ตัวแปรทีส่งผลกับการออกแบบ inset. 

ตัวแปรที่ต้องใช้ในการคำนวณ inset นั้นมี 3 อย่างคือ ค่าสายตา (สายตามองไกล+addition)  ค่า monocular-PD และระยะที่อ่านหนังสือ  ซึ่งเลนส์โปรเกรสซีฟส่วนใหญ่ในตลาดนั้น ออกแบบ inset โดยใช้ค่ามาตรฐานเช่น PD 32 มม. ระยะอ่านหนังสือ 40 ซม. และค่าสายตานั้นใช้จาก base curve ที่ใช้ในการคุมค่าสายตา ทำให้ inset ที่ออกแบบมานั้น มีค่าการเยื้องอยู่ที่ประมาณ 2.5 มม.  ซึ่งก็สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่มี PD 32 และอ่านหนังสือที่ 40 ซม. 

แต่สำหรับคนที่มี PD กว้างหรือแคบกว่านี้  inset ที่ออกแบบจากค่ามาตรฐานนี้ จะสร้างปัญหา โดยเฉพาะสนามภาพระยะกลางและระยะใกล้ ทำให้สนามภาพแคบ  จึงต้องมีโครงสร้างโปรเกรสซีฟที่ออกแบบ individual inset  ซึ่งเลนส์กลุ่มนี้ ของโรเด้นสต๊อกได้แก่ Multigressiv MyView2 ,Multigressiv MyLife2 ,Impression2 และ Impression FreeSign2 

Inset ที่ไม่เหมาะสม ทำให้การเหลือบเข้ามาดูใกล้นั้น ไม่อยู่ในตำแหน่งตรงกลางโซน ทำให้สนามภาพ กลางใกล้นั้นแคบลง ใช้งานลำบาก 

การแก้ไข : เลือกโครงสร้างเลนส์ที่ออกแบบค่า inset ตามค่าจริง เพื่อให้สามารถใช้สนามภาพใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ  

ทิ้งท้าย

เอาหล่ะ คิดว่าน่าจะพอหอมปากหอมคอ สำหรับการจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟ ปัญหาที่พบ และแนวทางการจัดการ ซึ่งหวังว่า ผู้ให้บริการเกี่ยวกับสายตาน่าจะได้ประโยชน์ที่จะนำไปวิเคราะห์ปัญหาโปรเกรสซีฟให้กับลูกค้าของตนเอง  รวมไปถึงผู้ที่ใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟก็เข้าใจปัญหาตัวเองมากขึ้น และสามารถใช้ความรู้นี้ ไปบอกช่างแว่นตาให้ปรับแต่งแว่นตา ให้ตัวเองสามารถใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีประโยชน์กับผู้ที่สนใจ ไม่มากก็น้อย  และขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม  ท่านที่อยากทราบเรื่องอะไรเป็นพิเศษ สามารถ โพสต์คอมเม้นได้ครับ จะพยายามตอบให้ได้ทุกคนถามครับ  

สวัสดีปีใหม่ครับ 

ดร.ลอฟท์ 

ติดต่อสอบถามปัญหาสายตา ได้ที่ facebook fanpage : www.facebook.com/loftoptometry 

line id : loftoptometry 

โทร. 090-553-6554 /091-565-3699

หรือแวะเข้ามาปรึกษาได้ที่ร้าน 

ลอฟท์ ออพโตเมทรี 

578  Wacharapol rd. Bangken  ,BKK ,10220