ห้องตรวจ 6 เมตร จัดเป็น reference space ที่จำเป็นสำหรับการทำงานด้านคลินิกทัศนมาตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ให้ผลตรวจที่ออกมาที่สามารถเชื่อถือและนำไปอ้างอิงผลตรวจทางคลินิกด้วย เช่นเดียวกัน ถ้าเราคุยเรื่องน้ำหนัก น้ำหนักจะเท่ากับมวลคุณด้วยแรงดึดดูดของโลก (W=mg) W=น้ำหนัก , m= มวล(kg) , g = ค่าความเร่งเนื่องจากแรงดึดดูดของโลก(9.8 m/s2)
แรง g ซึ่งเป็นค่าความเร่งเนื่องจากแรงดึดดูดของโลก ซึ่งจะมากน้อยขึ้นอยู่กับมวลของดาวดวงนั้นๆ แรง g บนโลกย่อมมากกว่าดวงจันทร์ แต่น้อยกว่าดาวพฤหัส ดังนั้น เมื่อเราคุยกันเรื่องน้ำหนัก เราจะไม่เอาน้ำหนักที่ชั่งได้บนดวงจันทร์หรือดาวอังคารมาอ้างอิงกับน้ำหนักบนโลก เพราแรงโน้มถ่วงจำเพาะไม่เท่ากัน ฉันไดก็ฉันนั้น เราจึงไม่เอาค่าสายตาที่ตรวจได้ที่ระยะใกล้กว่า 6 เมตร มาอ้างอิงกับค่าสายตาที่ตรวจได้ในห้องตรวจมาตรฐาน 6 เมตร เช่นเดียวกัน
ห้องตรวจ 6 เมตร จึงคล้ายกับว่าเป็นสนามสำหรับการทำงานด้านคลินิกทัศนมาตร เหมือนประตูสู่การทำงานที่ต้องการความละเอียดแม่นยำขึ้นไปอีกระดับ ถ้าผู้ตรวจไม่เอาหรือไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ นั่นก็หมายความว่า เขาก็ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องความละเอียดหรือความถูกต้องด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าผู้รับบริการได้เจอผู้ให้บริการที่มีความรู้และทำงานบนสนามอ้างอิงถูกต้อง ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน
ห้องตรวจ 6 เมตรจึงส่ิงจำเป็นพื้นฐานที่สุดไม่แพ้การมีเครื่องมือดีๆที่ใช้ในการตรวจสายตาและระบบการมองเห็น แต่ทำไมถึงต้องลึกถึง 6 เมตร มีอะไรอยู่ในห้อง 6 เมตรที่เราต้องทำความรู้ความเข้าใจและถ้าเราไม่มีห้องที่ลึกขนาดนั้น เราจะทำอย่างไร เพื่อให้การตรวจสายตานั้น ได้ค่าที่สามารถเชื่อถือได้ และลดความผิดพลาดลงให้มากที่สุด
หลังจากผมดันเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อน เกี่ยวกับห้องตรวจ 6 เมตร ในกระทู้พันธ์ุทิพย์ชื่อหัวข้อว่า “วัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์เชื่อได้แค่ไหน" และในนั้นก็จะมีการพูดถึงมาตรฐานของห้องตรวจ รวมไปถึงการวัด VA นับเป็นกระทู้เล็กๆที่เกิด impact มากพอสมควร เกิดการตื่นตัวของผู้บริโภคในการมองหาตรฐานของการตรวจสายตา มีรายการ ไปทำ scoop เกี่ยวกับ การวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ ว่าสามารถวัดสายตาเชื่อถือได้แค่ไหนและมีการศึกษาทำสถิติถึงความไม่น่าเชื่อถือของเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพดวงตาและสายตาของตัวเอง เพราะบ้านเราตรวจวัดสายตาด้วยระบบคอมพิวเตอร์กันเกือบจะทั้งหมด ทั้งๆที่มันเป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือต่ำที่สุดในกระบวนการตรวจทางทัศนมาตร แต่ก็อาจจะดีกว่า สำหรับผู้ตรวจที่ไม่มีความรู้อะไรเลยและไม่รู้จะเริ่มที่อะไร การมีคอมพิวเตอร์วัดสายตาไว้กลางร้านก็สามารถเรียกแขกได้บ้างเล็กน้อย
ท่านที่สนใจอยากอ่านกระทู้พันธิพย์ก็ไปตามไปอ่านได้จากลิ้งค์ https://pantip.com/topic/วัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์เชื่อได้แค่ไหน หรือจะไปดู impact ที่เกิดขึ้นกับรายกาย PRIME TIME กับเทพชัย ความเสี่ยงที่มากับการตัดแว่นสายตา | ตอนที่ 2/3 | 15-04-60 ที่ไปศึกษาต่อเรื่องนี้ได้ที่ลิ้ง http://www.nationtv.tv/ความเสี่ยงที่มากับการตัดแว่นสายตา หรือที่ลิ้งที่ผมเคยทำเอาไว้ http://www.loftoptometry.com/whatnew/view/73
ในกระทู้นั้นผมก็ได้พูดถึง ความจำเป็นในการมีห้องตรวจที่ลึก 6 เมตรในคลินิกทัศนมาตรหรือร้านแว่นตาและก็เกิดแรงผลักให้ร้านแว่นตาตระหนักที่จะมีห้องตรวจที่ได้มาตรฐานขึ้นมาและก็น่ายินดีที่มีร้านแว่นตาเป็นจำนวนมากที่ยอมปรับขนาดห้องตรวจให้ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มากพอถ้าเทียบกับร้านแว่นตาที่มีอยู่ในประเทศไทย ที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งก็ผมก็คงต้องดันต่อไปในพื้นที่ที่ผมทำได้คือในเพจที่ผมทำ บางท่านก็ชอบเพราะจะได้ทำสิ่งที่ถูกต้องและทราบเหตุผลในการต้องเสียพื้นที่ showroom เพื่อให้ความสำคัญกับห้องตรวจ บางท่านก็ไม่ชอบเพราะอยากมีพื้นที่โชว์แว่นมากๆ จะได้ขายดีๆ ทางท่านก็ถึงขั้นเกลียดก็มี แต่ผมจำเป็นต้องทำเพื่อให้ร้านแว่นตาในประเทศไทยนั้น มาใช้มาตรฐานเดียวกันในการตรวจวัดสายตา เพราะบางทีผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า บางแห่งนั้นมีพื้นที่ใหญ่ถึง 2 คูหา แต่ไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ห้องตรวจที่ได้มาตรฐานได้ เพราะกรอบแว่นตาเยอะเกินไป ต้องเจียดให้กรอบแว่นตาจนลืมพื้นที่ห้องตรวจ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า จริงๆ แก่นธุรกิจแว่นตาคือ “การวัดสายตาให้ดี” เพื่อไปนำค่าที่ได้ไปทำแว่นให้ดี แก้ปัญหาคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับระบบการมองเห็นได้
ดังนั้น สำหรับสถานบริการด้านสายตาไม่ว่าจะเป็นคลินิกทัศนมาตรหรือร้านแว่นตา งานหลักจริงๆคืองานตรวจวัดสายตาและระบบการมองเห็น ส่วนกรอบแว่นหน่ะเรื่องรอง แต่บางทีเราก็หลงเพราะเราคิดว่าเราเป็นร้านแว่น เราก็เลยเอาแว่นนำหน้าธุรกิจ เห็นได้จากโปรโมชั่นกรอบแว่นตาลด 50% ที่เห็นกันจนชินชา (เห็นแล้วก็เหนื่อยใจ) ทีนี้เอาใหม่ เราจะต้องเอางานตรวจวัดสายตานำ ซึ่งพื้นฐานที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องห้องตรวจว่าทำไมต้อง 6 เมตร
หัวใจสำคัญที่สุดของการตรวจวัดสายตาคือ "ความคมชัด" หรือฝรั่งใช้คำว่า visual acuity ย่อว่า VA ซึ่งเป็นค่าที่บอกความคมชัดของคน ว่าขณะที่ใส่หรือไม่ใส่แว่นนั้นเห็นได้ชัดแค่ไหน ปกติหรือไม่ ถ้าไม่ปกติ มีความมัวระดับไหนเมื่อเทียบกับคนสายตาปกติ ซึ่งในการตรวจวัดสายตาต้องทำให้คนไข้นั้นสามารถมองเห็นได้เท่ากับคนปกติ คือ VA 20/20 หรือดีกว่า ถ้าตรวจวัดค่าสายตาออกมาแล้วได้แย่กว่า VA 20/20 เราต้องหาสาเหตุต่อให้ได้ว่า ที่อ่านไม่ได้นั้นเกิดจากอะไร เช่น วัดสายตาผิด หรือมีโรค ถ้าเป็นโรคตา เป็นโรคอะไร เช่น ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน หรือเป็นตาขี้เกียจ ก็จะต้องบอกได้และส่งต่อให้หมอที่เฉพาะทางด้านนั้นๆ เพื่อทำการรักษาต่อไป
ดังนั้นถ้าถามว่ามีอะไรในห้องตรวจที่ต้องลึกถึง 6 เมตร คำตอบก็คือมี snellen chart ซึ่งเป็นชาร์ตที่มีขนาดตัวหนังสือที่มาตรฐานที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานที่ระยะ 6 เมตร นั่นเอง พูดอีกนัยก็คือว่า ชาร์ตมาตรฐานนี้ถูกออกแบบมาให้มีขนาดสำหรับตรวจที่ระยะ 6 เมตร ดังนั้นถ้าเราเอาไปตรวจที่ระยะใกล้กว่านั้น ชาร์ตมาตรฐานนี้จะไม่สามารถเชื่อถือได้หรือนำไปอ้างอิงได้เพราะถูกกระทำนอกมาตรฐาน ซึ่งในวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจว่าทำไม snellen chart ต้องออกแบบขนาดของตัวหนังสือหรือตัวเลขมาสำหรับตรวจที่ระยะ 6 เมตร และเราจะได้เข้าใจต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างถ้าเราร่นห้องตรวจให้สั้นลง แล้วทดตัวหนังสือให้เล็กลง และเราจะยอมรับค่าความคลาดเคลื่อนนั้นได้แค่ไหน
การตรวจค่าความคมชัดหรือการทำ VA นั้นเป็นการตรวจความความสามารถของระบบ sensory หรือระบบประสาทรับรู้การมองเห็น ซึ่งเริ่มตั้งแต่จอประสาทตา(retina) เส้นประสาทตา (optic nerve) ไปจนถึงสมองส่วนการแปรภาพ (occipital lobe) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่อยู่ท้ายของกระโหลก โดยการทำงานนั้นเริ่มจาก "แสง"จากแหล่งกำเนิดแสง เดินทางไปกระทบกับวัตถุ แล้วสะท้อนเข้ามาในดวงตาของเราซึ่งดวงตาของเราก็มีระบบหักเหแสงทั้งแบบโฟกัสคงที่เช่นกระจกตา และ แบบที่ปรับเปลี่ยนโฟกัสได้เช่นเลนส์แก้วตา จากนั้นระบบหักเหแสงก็จะเบนแสงเพื่อให้ไปรวมกันเป็นจุดแล้วตกลงบนจุดรับภาพของจอประสาทตา ที่จอประสาทตาของเราจะมีเซลล์ประสาทที่มีความสามารถเปลี่ยนพลังงาน photon ที่อยู่ในแสงให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า แล้วส่งคลื่นไฟฟ้าเคมีไปตามเส้นประสาทตาไปยังสมองเพื่อให้สมองแปลงสัญญาณนั้นกลายเป็นภาพขึ้นมา ถ้าทุกอย่างปกติสมบูรณ์ดี คนไข้ก็จะสามารถแยกแยะตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กและละเอียดมากที่เราเรียกว่า "เห็นชัด"นั่นเอง แต่ถ้ามีความผิดปกติ อาจจะที่ปัญหาสายตา ปัญหาระบบการเห็นสองตา หรือ ปัญหาพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับดวงตา ก็จะทำให้โฟกัสอาจจะที่จอประสาทตา ไปจนถึงสมองนั้น แปลผลเป็นภาพแล้วให้ค่าออกมาไม่ดี ก็จะเรียกว่า "ไม่ชัด"
คำว่า “คมชัด” นั้นเป็นเรื่อง subjective คือเป็นเรื่องการรับรู้เฉพาะคน หมายความว่า พันคนพูดก็พูดพันอย่าง เช่นถ้าเพื่อนบอกเราว่าเขามองไกลชัด คำถามก็คือแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขามองเห็นชัด โดยปกติเราก็มักจะเปรียบเทียบโดยให้มองรายละเอียดที่ระยะไกลแล้วเปรียบเทียบกันว่าใครจะสามารถมองเห็นได้ไกลกว่ากัน แต่ถ้าเพื่อนก็สายตาสั้นและไม่เคยใส่แว่น เราเองก็สายตาสั้นและไม่เคยใส่แว่น มองไกลต่างคนก็ต่างมัว แต่ต่างคนก็ต่างคิดว่าตัวเองมองชัดเพราะตัวเองไม่เคยเห็นชัด ถ้าสั้นไม่เท่ากันก็เห็นไกลชัดไม่เท่ากัน แล้วอย่างนี้ใครมันจะชัดกว่าใคร ก็เลยเป็นเรื่องที่ลำบากในการวัดความคมชัดด้วยความรู้สึก หรือในทางตรงกันข้าม บางคนสายตาขณะใส่แว่นคือชัดอยู่แล้ว อ่าน VA 20/15 แต่ก็บอกว่าไม่ชัด และการใส่เบอร์สายตาสั้นเพิ่มเข้าไป ก็ไม่ได้ช่วยให้อ่านได้มากกว่านั้นแค่รู้สึกดำขึ้น ก็ไปคิดว่านั่นคือความชัด ก็เพิ่มไปเรื่อยๆและนั่นแหล่ะยิ่งเป็นอันตราย เพราะการจ่ายค่าสายตาสั้นที่เกินค่าจริงนั้น สร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย
ดังนั้นมันจึงต้องตั้งมาตรฐานขึ้นมา เพื่อให้คนคุยเรื่องชัดเป็นเรื่องเดียวกัน คือประดิษฐ์ตัวหนังสือให้มีขนาดต่างๆ จากตัวใหญ่ไปตัวเล็ก เพื่อให้มีช่องไฟเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ยิ่งตัวเล็กช่องไฟจะเล็ก คนที่ระบบการมองเห็นดีก็จะอ่านได้ และ เซลล์มนุษย์นั้นก็มีขีดจำกัดในการแยกแยะความละเอียด ดังนั้น snellen chart ที่ออกมาจะออกแบบมาบนพื้นฐานทางกายภาพของระบบประสาทรับรู้การมองเห็นจริงของมนุษย์อย่างมีหลักการและต้องคำนวณ ไม่ใช่ว่าจะออกแบบเล็กใหญ่อะไรมาก็ได้ และตัวหนังสือดังกล่าวนั้นออกแบบมาจากการคำนวณที่ระยะ 6 เมตร เนื่องจากเป็นระยะที่ระบบเพ่งของเลนส์ตานั้นคลายตัวมากที่สุด
การตรวจ VA จึงไม่ใช่การวัด แต่เป็นการตรวจ sensory system ของระบบประสาทการรับรู้การมองเห็นว่าฟังก์ชั่นที่ปกติหรือไม่ และ คนที่มี funcitonal ที่สมบูรณ์นั้นต้องสามารถแยกแยะวัตถุที่มีขนาดเล็กที่สุดได้แค่ไหนจึงจะเรียกว่าคนปกติ ความสามารถในการแยกแยะนั้นก็คือเครื่องมือที่เรียกว่า snellen VA chart นั่นเอง
การตรวจสายตานั้น เรามุ่งสู่การแก้ไขปัญหาการมองเห็นเพื่อให้คนไข้สามารถอ่าน snellen chart ได้ครบแถว 20/20 หรือ 6/6 หรือดีกว่า และไม่จำเป็นที่จะต้องไปพยายามทำให้ชัดกว่ามาตรฐาน เพราะมันไม่มีเรื่องที่ชัดไปกว่านั้น เนื่องจากคนเราจะแยกแยะรายละเอียดได้เล็กสุดในระดับหนึ่งเท่านั้น ถ้าเล็กกว่านั้นเราก็แยกไม่ได้อยู่ดี และการไปพยายามดันค่าสายตาด้วยการไป over minus เช่น จ่ายค่าสายตาสั้นที่เกินค่าสายตาจริง (over minus) หรือด้วยการจ่ายค่าสายตายาวที่น้อยกว่าค่าจริง (under plus) ก็ไม่ได้ทำให้คนไข้เห็นได้ชัดกว่ามาตรฐาน เพียงแต่ว่า ทำให้ตัวมันดำขึ้นเท่านั้นเอง ทำให้เราหลงทางคิดว่านั่นคือความชัด ซึ่งจริงๆไม่ใช่
แต่ความท้าทายน่าจะอยู่ที่คนสายตายาว (hyperopia) เพราะว่าคนที่สายตายาวที่ยังมีกำลังเพ่งที่ดีนั้นจะสามารถเห็นชัดเหมือนคนปกติที่ไม่มีสายตา คือชัดทั้งไกลและใกล้ แต่จะดูใกล้ได้ไม่นาน อ่านหนังสือไม่ทน ปวดหัวปวดตาเวลาอ่านหนังสือ ดังนั้น VA 20/20 อาจจะเป็นไปได้ทั้งคนไข้สายตาปกติหรือสายตายาวก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป็นสายตายาวก็จะต้องแก้ด้วยเลนส์บวก (plus power)
แต่ความยากในการแก้สายตายาวก็คงอยู่ที่ระบบกำลังเพ่งของเลนส์ตาที่ติดเพ่งเป็นเวลานานทำให้การจ่าย full correction ในช่วงแรกจะทำให้มองไกลมัว เพราะเมื่อเลนส์ตาติดเพ่ง มันจะดึงโฟกัสมาตกก่อนจอรับภาพ ซึ่งจะมีอาการคล้ายกับคนสายตาสั้นนิดๆ คือมองไกลมัวเล็กน้อย ในกรณีนี้นี้รวมไปถึงคนสายตาสั้นที่ใช้ค่าสายตาเกินมานาน ก็จะมีลักษณะอาการนี้เช่นกัน
ดังนั้นในคนไข้ hyperopia จะต้องประเมินดูว่าเลนส์ตาจะสามารถคลายตัวได้แค่ไหนหรือจะจ่ายเลนส์บวกแค่บางส่วนแล้วปล่อยให้เลนส์ตาเพ่งต่อด้วยความเคยชิน แต่การทำอย่างนั้นก็ควรจะได้ประเมินแล้วว่าคนไข้ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อตาเช่น เหล่เข้าซ่อนเร้นที่เกิดจากการเพ่งของเลนส์ตา (accommodative esophoria) ซึ่งแนวทางในการจัดการปัญหาของผมคือ full corrected แล้ว educate ให้คนไข้เข้าใจปัญหาตัวเอง เพื่อให้ยอมใส่เพื่อปรับตัวในช่วงแรก แล้วรอให้เวลาผ่านไปให้เลนส์ตาคลายตัว ระบบการมองเห็นก็จะกลับมาทำงานได้สมบูรณ์และสมดุลย์ทั้งเลนส์ตาและกล้ามเนื้อตา ซึ่งอาจจะใช้เวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือน ถ้าผ่านไปสองเดือนยังมีอาการมองไกลมัว ก็คงจำเป็นต้องจ่ายเลนส์ over minus (under plus) ให้เลนส์ตาเพ่งน้อยที่สุด ที่ยังสามารถเห็น VA ได้ดีที่สุด
แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดในวันนี้ก็คงจะเป็นเรื่องคำว่า “คมชัด” นี่แหละ ที่จะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน ว่าในทางคลินิกซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์นั้น เขาวัดความคมชัดด้วยวิธีการอย่างไร ชัดแค่ไหนที่เรียกว่ามาตรฐานและตัวหนังสือที่ดำขึ้นเฉยๆ แต่ไม่ได้อ่านได้ดีขึ้นนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการ over minus ซึ่งมีลักษณะตัวหนังสือที่ดำขึ้นและเล็กลง เราจะรู้สึกว่ามันจ้าๆ แสบๆตา และจะเริ่มปวดเบ้าตา ปวดขมับ ซึ่งบางคนที่เคยใส่แว่น ตอนทำแว่นมักจะได้ยินช่างบอกว่า “อย่าชัดเกินไป” เดี๋ยวปวดหัว ก็เลยจ่าย under minus ซะเลย มองไกลก็มัว VA 20/40 แล้วก็ทนๆใส่ไป จนชินกับความัวนั้น อีกแนวหนึ่งก็ดัน over minus ให้ดำๆ เพ่งๆ แล้วให้ปรับตัว อย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะความจริงนั้นมันมีสายตาที่พอดีและไม่ต้องปรับตัวอยู่ซึ่งต้องหาให้เจอ แต่การจะหาให้เจอนั้นจะต้องมีห้องตรวจ ชาร์ต และเครื่องมือที่มาตรฐานจึงจะสามารถรีดออกมาได้ ดังนั้นการเรียนรู้เรื่อง VA จึงสำคัญ
Visual Acuity (VA) หรือ “ความคมชัดของการมองเห็น” เป็นคำที่ใช้อธิบาย ความสามารถของดวงตาในการแยกแยะรายละเอียดของของภาพหรือวัตุถุ (object) เช่นในห้องตรวจเราจะเห็นตัวหนังสือที่ยิงจากเครื่องฉายโปรเจ็คเตอร์ออกไปใส่แผ่นรับชาร์ตตัวหนังสือที่อยู่ห่างออกไปที่ 6 เมตร เช่นชาร์ตตัว E เราจะมองรู้ว่าเป็น E ได้นั้น แสดงว่าเราต้องเห็นว่ามีแถบดำและช่องว่างระหว่างแถบดำหรือเราจะแยกเลข 3 8 9 ออกจากกันได้ แสดงว่าเราต้องเห็นเส้นและช่องไฟ ยิ่งตัวเล็กมาก็จะต้องต้องใช้ความสามารถในการแยกแยะรายละเอียดมาก
ท่านที่มี ipad สามารถโหลด app : eyesnellen ได้จาก app store มาตรวจสายตาตัวเองได้ฟรีที่ลิ้ง https://itunes.apple.com/us/app/eyesnellen
ดังนั้นหัวใจที่สำคัญที่สุดในการตรวจความคมชัดคือ ความสามารถในการเห็นช่องไฟที่เล็กที่สุดที่ยังแยกแยะได้ว่ามีวัตถุสองอันอยู่ใกล้กัน ซึ่งจุด 2 จุดที่ห่างกันนี้ จะมาบรรจบกันเกิดเป็นมุมที่ nodal point ภายในลูกตา ซึ่งมุมที่เล็กที่สุด (w) ที่เกิดจากจุด 2 จุด กระทำต่อกันที่ nodal point แล้วตายังสามารถมองเห็นรายละเอียดหรือแยกได้ว่า 2 จุดนั้นคือคนละจุดกัน มุมที่ว่านั้น เป็นมุมที่นำมาใช้ในการวัดค่าความคมชัดของดวงตา เราเรียกชื่อมุมนั้นว่า minimum angle of resolution (MAR)
ดังนั้น เราจะเห็นว่า จุด 2 จุดนั้น เป็นคนละจุดและอยู่ห่างกันได้นั้น มุมที่สองจุดกระทำต่อกันจะต้องทำมุมต่อกันใหญ่กว่ามุม w (MAR) แต่ถ้ามุมที่สองจุดกระทำต่อกันแคบกว่ามุม w เราก็จะไม่สามารถแยกได้ว่ารายละเอียดของทั้งสองจุดนั้นได้ ถ้ามุมที่สองจุดกระทำต่อกัน มีค่าเท่ากับมุม w เราจะเริ่มมองเห็นได้ว่า สองจุดนี้เป็นคนละจุดกัน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราจะสามารถเห็นละเอียดลงไปได้อีกแค่ไหน เช่นถ้าเรามั่นใจว่าตาเราดีมาก เห็นชัดมากๆ รายละเอียดเล็กๆเราก็เห็น ซึ่งชาร์ตที่ให้มองเห็นในห้องตรวจนั้น เราอาจจะเห็นได้ละเอียดกว่านั้นก็ได้ ซึ่งในเรื่องนี้เราจะพบว่า เมื่อเราดูวัตถุที่เล็กๆมากๆ ถึงจุดหนึ่งไม่ว่าสายตาเราจะดีขนาดไหนมันก็จะถึงจุดที่ไม่สามารถแยกรายละเอียด เอาง่ายๆว่า ถ้าเราอ่านหนังสือได้คมชัด ลองวางหนังสือไว้แล้วเดินออกมาให้ห่างเมื่อถึงระยะหนึ่ง ตัวหนังสือจะติดกันเป็นพรืด แยกไม่ออกว่าเป็นตัวอะไร หรือเขียนว่าอะไร นั่นคือขีดจำกัดของการแยกแยะรายละเอียด ซึ่งขีดจำกัดนี้มีสาเหตุที่เกิดได้จากทั้งทาง optical limit และ neural limit
optic limiting factor ที่เป็นปัญหาทาง optic ที่ทำให้เราไม่สามารถแยกรายละเอียดที่เล็กไปกว่านั้นได้อีกคือ diffraction ของแสง ซึ่งหมายถึงการกระจายของแสงออกทางด้านข้างเมื่อเกิดการเดินทางผ่านช่องแคบๆ อธิบายคร่าวๆว่า แสงนั้นเดินทางในรูปแบบคลื่น และเมื่อคลื่นนั้นเดินทางผ่านช่องแคบๆจะเกิดการเลี้ยวเบนของคลื่นออกทางด้านข้าง ทำให้คลื่นเปลี่ยนรูปแบบไปเช่นคลื่นหน้าตรงก็จะกลายเป็นคลื่นหน้าโค้งเป็นต้น ทีนี้ถ้าเกิดว่าจุดกำเนิดแสงมีสองจุด ( 2 object) ที่ใกล้กันมาก และต่างคนก็ต่างเกิด diffraction ของตัวเอง ทำให้เกิดการซ้อนทับกันของหน้าคลื่น ทำให้เราแยกไม่ออก ตัวอย่างเช่น เวลาเราเห็นไฟหน้ารถยนต์ที่แล่นมาหาเรา ขณะที่รถยังอยู่ไกลๆนั้น เราแยกไม่ออกว่าไฟมีดวงเดียวหรือสองดวง จนกระทั่งเมื่อรถแล่นเข้ามาใกล้ขึ้นถึงระยะหนึ่ง เราถึงจะเริ่มแยกได้ว่าไฟหน้ารถยนต์นั้นมี 2 ดวง เป็นต้น
ซึ่งผู้ที่อธิบายปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกคือ Sir George Airy (1835) เขาอธิบายไว้ว่า ถ้าตาของเรามีการโฟกัสที่สมบูรณ์แบบโดยไม่มีความคลาดเคลื่อนของโฟกัสเลย จะมีเรื่องเดียวที่จะมารบกวนความสามารถในการแยกแยะรายละเอียดของเราคือปัญหา diffraction ซึ่งเกิดจากการกลืนทับกัน(overlap) ของภาพสองภาพที่อยู่ใกล้กันมากๆ ซึ่งนี่คือสาเหตุหนึ่งที่เรามีขีดจำกัดในการเห็นรายละเอียด อ่านเกี่ยวกับ diffraction เพิ่มเติมได้ที่ลิ้ง http://www.thestargarden.co.uk/diffraction
อีกขีดจำกัดอย่างหนึ่งก็คือ ขีดจำกัดทางกายภาพของเรานั่นเอง โดยจอประสาทตาในดวงตาของเราจะมีเซลล์รับภาพสีที่มีรายละเอียดสูงคือ cone cell ซึ่งทำหน้าที่ในการรับสัญญาณภาพเพื่อส่งต่อไปยังสมองเพื่อทำการตีความ ดังนั้นในการที่เราจะแยกว่ามีจุดสองจุดนั้น แสดงว่า ต้องมี cone cell หนึ่งเซลล์ที่อยู่ระห่างสองจุดนั้นที่ยังว่างอยู่ เช่นตัว E เล็กสุดที่เราสามารถยังรู้ว่าเป็นตัว E นั้น จะต้องไม่เล็กไปกว่า cone cell 5 เซลล์ คือ ดำ..ขาว..ดำ..ขาว..ดำ ซึ่งตกลงบนแต่ละเซลล์ แต่ถ้าตัว E เล็กกว่านั้น จะทำให้ทั้งแถบขาวดำ ตกลงบนเซลล์เดียวกัน และทำให้ไม่สามารถแยกแยะรายละเอียดของตัว E ได้ ดังนั้นการวัดความคมชัดจึงต้องออกแบบตัวหนังสือหรืออักษร เพื่อวัดให้ถึงขีดจำกัดของการมองเห็นทั้งทางฟิสิกส์เชิงแสงและทางกายภาพของระบบประสาทการมองเห็น
Visual Acuity กับ resolution acuity นั้นมีความหมายอย่างเดียวกัน คือความคมชัดในการแยกแยะรายละเอียดได้ ซึ่งในการตรวจทางคลินิกจะทำต้องทำการบันทึกค่าความคมชัดโดยให้คนไข้อ่านชาร์ตตัวเลข ตัวหนังสือ รูปภาพ ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อวัดความสามารถของคนไข้แต่ละคน
Vision กับ Visual acuity นั้นมีความหมายไปในเรื่องการมองเห็น แต่ต่างกันที่ว่า vision นั้นหมายถึงการมองเห็นทั่วๆไปที่ยังไม่ได้ใส่แว่นหรือแก้ปัญหาสายตาซึ่งอาจจะชัดหรือไม่ชัดก็ได้ขึ้นกับว่ามีปัญหาสายตาหรือไม่ ส่วน Visual acuity นั้นเป็นความคมชัดที่สามารถมองเห็นได้หลังจากแก้ปัญหาสายตาแล้ว ซึ่งต้องตรวจวัดจากตัวหนังสือที่ออกแบบโดยการคำนวณมุมที่แน่นอน และมีความละเอียดของตัวหนังสือเป็นสเกลที่แน่นอน และสามารถนำค่าที่ได้นี้ไปอ้างอิงทางคลินิกได้
ตัวอย่างในรูปเช่น คนไข้สามารถแยกได้หรือไม่ว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นแถบเส้นเล็ก เรียงกันเป็นสี่เหลี่ยม กับอีกรูปหนึ่งคือเห็นเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเทาๆ ซึ่งถ้าเราเป็นคนสายตาสั้น และไปยืนมองรูปนี้ไกลๆ เราก็จะเห็นเส้นแถบดำฝั่งซ้ายก็ดูเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเทาๆ
ดังนั้นการทดสอบคือ ให้คนไข้เดินห่างออกไปให้ห่างจนไม่สามารถแยกแถบขาวดำได้ จากนั้นให้ค่อยๆ เดินเข้ามาจนกระทั่งเริ่มสามารถแยกแยะรายละเอียดของภาพขาวดำได้ จากนั้นให้หยุดและวัดระยะ จากนั้นก็ทำซ้ำแล้วหาค่าเฉลี่ย จากนั้นก็ประดิษฐ์ระยะห่างของช่องไฟของแถบขาวดำที่คนปกติต้องสามารถมองเห็นได้ในแต่ละระยะ เพื่อให้คนไข้ดูว่า เขาสามารถมองเห็นได้คมชัดเท่ากับคนสายตาปกติหรือไม่
หลักการในการประดิษตัวหนังสือก็เช่นกัน แต่ตัวหนังสือหรือตัวเลขนั้น สามารถทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากทุกคนส่วนใหญ่รู้จักเลข หรือตัวหนังสือ หรือภาพ เราก็สามารถประดิษฐ์ตัวเล็กตัวใหญ่ โดยให้เกิดมุม w เท่าเดิม คือ 5 min of arc ก็จะสามารถทดแทนระยะ โดยให้คนไข้นั่งอยู่กับที่ แต่สามารถอ่านตัวหนังสือแต่ละระยะต่างๆได้ ซึ่งเราเรียกชาร์ตที่ว่านั้นว่า Snellen Chart
ตัวหนังสือ ตัวเลข ที่ใช้วัดความคมชัดกันในคลินิกปัจจุบันนี้ เราเรียกแผ่นชาร์ตวัดสสายตานั้นว่า Snellen Chart ซึ่งเริ่มมีใช้เป็นครั้งแรกในช่วงปี 1900 โดย Herman Snellen โดยได้รับแนวคิดการออกแบบตัวหนังสือจาก professor F C Donders ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ บอกว่า หลักพื้นฐานในการออกแบบตัวเลขสำหรับวัด VA นั้นควรออกแบบให้แต่ละช่องไฟนั้นรองรับมุม 1 minute of arc (1/60 องศา) โดยในตัวหนังสือหนึ่งตัวนั้นจะมีขนาดรองรับมุม 5 minute of arc
ดังนั้นในการออกแบบตัวอักษร จะทำเป็นตาราง 5 x 5 ช่อง ช่องละ 1 minute of arc โดยขนาดของตัวหนังสือนั้นจะออกแบบเป็นขนาดต่างๆในแต่ละระยะ คือที่ระยะ 6 9 12 18 24 36 60 เมตร ตามรูปล่าง
ในการตรวจค่าความคมชัดนั้น เราจะทำกันที่ระยะ 6 เมตร หรือระยะ 20 ฟุต ดังนั้นเราถูกกำหนดให้นั่งอยู่กับที่ แล้วนั่งอ่านตัวเลขหรือตัวหนังสือที่อยู่ห่างออกไป 6 เมตร แล้วผู้ตรวจจะให้เราอ่านตัวหนังสือที่มีขนาดเล็กที่สุดที่เรายังสามารถอ่านได้และทำการบันทึกค่า ได้เป็นค่า VA มา
หลักของการดูค่า VA = ระยะที่ใช้ทดสอบหน่วยเมตร(หรือฟุต) / ระยะที่สามารถอ่านตัวหนังสือที่เล็กที่สุดได้ในหน่วยเมตร(ฟุต)
หรือคิดให้ง่ายก็คือ ระยะนั่งที่คนไข้มองเห็น / ระยะที่คนสายตาปกติเห็น และเนื่องจากระยะในการนั่งทดสอบนั้นเป็นระยะคงที่คือ 20 ฟุต ดังนั้นตัวเลขชุดหน้าจะเป็น 20/xxx เสมอเช่น 20/200 ,20/70 ,20/40,20/25,20/20 ,/20/15 เป็นต้น
ดังนั้นในการแปลผลค่า VA
คนไข้อ่านตัวเล็กสุดที่สามารถอ่านได้คือตัว E ซึ่งเป็น VA 20/400 หมายความว่า ตัวใหญ่ขนาดนี้คนไข้ของเราเริ่มอ่านได้ที่ระยะ 20 ฟุต / แต่ในคนสายตาปกติ เขาไปยืนไกลๆที่ 400 ฟุตก็ยังคงมองเห็น ซึ่งแสดงว่าสายตาของคนไข้ของเรานั้นแย่กว่าคนปกติมากๆ
คนไข้อ่านได้แถว 20/20 หมายความว่า เมื่อให้คนไข้นั่งที่ 20 ฟุต แล้วให้อ่านตัวเลขนั้นคนไข้อ่านได้ทุกตัว / ตัวเล็กขนาดนี้คนปกติก็ต้องเข้ามาดูที่ระยะ 20 ฟุตเหมือนกันจึงจะมองเห็น แสดงว่าคนไข้ของเราเห็นได้ท่ากับมาตรฐานคนสายตาปกติ
คนไข้อ่านได้ 20/15 คนไข้ของเรานั่งที่ 20 ฟุต ก็ยังอ่านตัวเล็กขนาดนี้ได้ / ในขณะที่คนปกติต้องเดินเข้าไปใกล้ถึง 15 ฟุตถึงจะมองเห็น แสดงว่าคนไข้ของเรามองได้ละเอียดกว่ามาตรฐาน
ซึ่งโดยปกติ คนที่อายุน้อยๆ นั้นมักจะเห็นได้ละเอียดกว่า 20/20 คือ 20/15
เนื่องจากขนาดของตัวหนังสือนั้นถูกออกแบบมาให้อ่านที่ระยะ 6 เมตร แต่เนื่องจากบางแห่งนั้นไม่สามารถหาที่มีความลึกขนาดนั้นได้ จึงมีการนำกระจกเงาสะท้อนมาใช้ โดยใช้ชาร์ตหัวกลับซ้าย/ขวา วางด้านหลังเก้าอี้คนไข้ และให้ห่างจากชาร์ต 3 เมตร ก็จะได้ระยะไปกลับเป็น 6 เมตรพอดี ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า indirect Visual acuity ส่วนวิธีที่ใช้ projector ยิ่งชาร์ตตัวหนังสือไปที่ชาร์ตรับตัวหนังสือที่ 6 เมตร โดยไม่อาศัยกระจกเรียกว่าวิธี direct Visual acuity
ในการตรวจสายตานั้น ถ้าให้ได้มาตรฐานควรจะทำในห้องตรวจที่มีระยะลึกอย่างน้อย 6 เมตร ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ระยะของ object จะทำให้เกิด incident vergence ขึ้นมา ซึ่งคำนวณได้จากสูตร
D = 1/l โดย D คือ vergence และ l คือระยะของวัตถุมีหน่วยเป็นเมตร (ใส่เรื่องหมายเป็นลบเนื่องจากวัตถุอย่างฝั่งซ้ายของการคำนวณ ซึ่งแสดงถึงการ diverge ของแสง )
ดังนั้น
ตัวอย่างที่ 1 : ถ้าห้องตรวจลึก 6 เมตร หรือเอาชาร์ตไปวางให้คนไข้ดูที่ระยะ 6 เมตร จะทำให้เกิด incident vergence เท่าไหร่
วิธีคิด แทนค่าลงไปในสูตร D=1/(-6) = -0.133 D
วิเคราะห์
ปริมาณ incident vergence ที่เกิดขึ้นปริมาณน้อยเพียง -0.133D นี้ จะไม่กระตุ้นให้เกิดการ Accommodation เนื่องจากตาของเรานั้นมี depth of focus ที่สามารถ compensate error ที่เกิดขึ้นปริมาณน้อยนี้ได้ โดยไม่ต้องอาศัยการ accommodation ของเลนส์ตา
ตัวอย่างที่ 2 : ถ้าเอาแผ่นชาร์ตวัดสายตาไปวางที่ระยะ 1 เมตร จะทำให้เกิด incident vergence เท่าไหร่
วิธีคิด แทนค่าลงไปในสูตร D=1/(-1) = -1.00 D
วิเคราะห์
จะเห็นว่า วัตถุที่อยู่ที่ระยะ 1 เมตร นั้นทำให้เกิด incident vergence ที่ต้องทำให้เลนส์ตาต้อง Accommodate ถึง +1.00D เพื่อทำให้โฟกัสตกบนจอรับภาพ ซึ่งเกินที่ depth of focus จะสามารถชดเชยค่าความคลาดเคลื่อนนี้ได้ ทำให้ไปกระตุ้นให้เลนส์ตาเกิดการเพ่งขึ้นมา ดังนั้นชาร์ตในการตรวจยิ่งใกล้เข้ามา ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการเพ่งมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ขนาดของตัวหนังสือของ snellen chart นั้นถูกออกแบบมาให้บันทึกที่ 6 เมตร ถ้าใกล้หรือไกลว่านั้น ก็จะทำให้มุม w นั้นเปลี่ยนไป ทำให้เราไม่สามารถนำ VA ที่วัดได้ไปอ้างอิง ตัวอย่างเช่น VA แถว 20/10 น้อยคนที่จะอ่านได้ที่ระยะ 20 ฟุต แต่ถ้าเราเดินเข้าไปใกล้ๆ เราก็จะอ่านได้ แต่การอ่านได้นั้นไม่ใช่ VA 20/10 อีกต่อไป แต่จะเป็น VA 10/10 อะไรทำนองนั้น
ดังนั้นในห้องตรวจสายตา ถ้ามีห้องขนาดเล็ก 3 เมตร ควรใช้ออกแบบห้องตรวจเป็น indirect visual acuity คือใช้กระจกสะท้อนมาช่วยก็สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้และสิ่งที่จะต้องระวังก็คือว่า incident vergence ที่เกิดขึ้น ทำให้แสงเกิดการ Diverge ตกหลังจอ นั่นหมายความว่า ในค่าสายตาที่วัดได้ในระยะที่ใกล้กว่า 6 เมตร จะเกิดความคลาดเคลื่อนในทิศทาง Over Plus หรือ Under minus
อีกเรื่องหนึ่งนอกจากเรื่อง optic ก็คือเรื่องของ vergence ที่ไม่ได้วัดขณะที่ตานั้นอยู่ในตำแหน่งมองตรง ดังนั้นในการทำ binocular vision เช่นในการหาเหล่ซ่อนเร้น จะได้ค่าที่ใช้งานไม่ได้ เนื่องจากตำแหน่งที่ตาต้อง fixate นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกบังคบ vergence ถูกบังคับให้อยู่ในตำแหน่ง convergence ตลอดเวลา การ convergence จะกระตุ้นให้เกิด accommodation ตามลำดับ ดังนั้นค่าที่ตรวจวัดได้ในทางคลินิก ถ้าเกิดเป็นการวัดแบบ monocular subjective ที่ระยะต่ำกว่า 6 เมตรจะดูเหมือนว่าค่า MPMVA ที่ได้จะเป็น under minus และดูเหมือนเราจะต้อง over minus ไปเพื่อให้ชัดที่ระยะอนันต์ แต่เมื่อทำสองตาเพื่อหา BVA ตาทั้งสองจะมี convergene ซึ่งจะไปกระตุ้น accommodation ทำให้ค่า BVA ที่ได้จากการตรวจที่ระยะใกล้กว่า 6 เมตรนั้น มีแนวโน้มที่จะ overminus หรือ under plus แต่อย่างไรก็ตาม binocular function ที่ระยะใกล้กว่า 6 เมตรนั้น ไม่สามารถนำมาอ้างได้ในทางคลินิกอยู่แล้ว จึงไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียดในที่นี้
ในการตรวจค่าความคมชัดของการมองเห็นหรือที่เรียกว่าการทำ VA test นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เรียกว่าสำคัญที่สุดและเป็นขั้นตอนที่ละเลยไม่ได้เลย มันสำคัญกว่าที่จะถามว่าแว่นที่เราใช้ค่าสายตาเดิมเท่าไหร่ เช่นเวลาหมอเขาจะ refer คนไข้มีปัญหาเกี่ยวกับตา สิ่งที่เขาจะต้องถามย้ำกันตลอดเลยก็คือคนไข้ VA ตาเปล่าเท่าไหร่ แก้แว่นแล้วหรือยัง แก้แล้วได้ VA ตอนใส่แว่นเท่าไหร่ ทำไม VA ไม่ถึง 20/20 ลอง pinhole หรือยัง improve หรือเปล่า และสุดท้ายคนไข้เป็นโรคอะไร และเมื่อเจอโรคก็จะ monitor ด้วย VA นี่แหล่ะที่จะขาดกันไม่ได้ ดังนั้นเมื่อเราวัดสายตาออกมาแล้วไม่ได้เท่ากับมาตรฐาน เราต้อง rule out ออกมาให้ได้ว่าทำไมเขาถึงเห็นอย่างนั้น เป็นโรคอะไร ส่งต่อให้ใคร แล้วถ้าส่งไปแล้วจักษุบอกระบบทุกอย่างทำงานปกติ แสดงว่าปัญหานั้นอยู่กับที่เราวัดสายตาผิด
ดังนั้นค่าสายตาจึงเป็น second priority ในการ refer เนื่องจากว่าค่าสายตาที่วัดได้นั้น มันง่ายที่จะผิดพลาด วัดออกมาแล้ว ถูกหรือผิด ขาดหรือเกิน หรืออย่างไรเราก็ไม่ทราบ เพราะมีปัจจัยมากมายที่จะทำให้ค่าสายตาที่วัดออกมานั้นมีความผิดพลาด โดยเฉพาะการวัดสายตาที่ยังต้องพึ่งพาสิ่งที่พึ่งพาไม่ได้อย่างเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ ย่ิงมีโอกาสพลาดยิ่งขึ้นไปอีก การวัดสายตาไม่ใช่เรื่องยาก แต่วัดสายตาให้ดีนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากๆ มีคนจำนวนมากที่ไม่เคยได้เห็นชัดเลยไม่ว่าทำแว่นไปกี่รอบก็ตาม จนคิดว่าตัวเองเป็นตาขี้เกียจ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงปัญหาสายตาที่ยังหาสายตาที่แท้จริงไม่เจอก็เท่านั้นเอง
ดังนั้นในทางคลินิก เราจะสนใจในเรื่อง VA มากกว่าค่าสายตา เพราะ VA ไม่เคยหลอก เห็นแปลว่าเห็น ไม่เห็นแปลว่าไม่เห็น และสามารถคาดเดาต่อได้ว่า VA ที่อ่านได้นั้น แสดงว่ามีปัญหาสายตาประมาณเท่าไหร่ หรือยังสามารถคาดเดาได้ถึงปัญหาสายตาเอียง เช่น คนไข้อ่านได้แม้แต่ตัวเล็กๆ แต่ผิดบางตัวตลอด ซึ่งเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของสายตาเอียง และการตรวจสายตา ถ้าไม่วัด VA เลย เราก็ไม่รู้จะไป reference กับอะไร หรือว่าแก้ไปแล้วมันดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน และการทำ VA นั้นยังใช้ในการ monitor คนไข้ว่า ว่าการมองเห็นปัจจุบันนั้น ดีขึ้น คงที่ หรือแย่ลงมากน้อยอย่างไร โดยเฉพาะในเคสที่มีพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับตา
และเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากๆ ที่เห็นร้านแว่นตาบางแห่งพาลูกค้าไปนั่งหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยังไม่ได้ตรวจ VA เสียด้วยซ้ำ หนักกว่านั้นคือยังไม่ได้ถามชื่อกันเลยก็มี พอเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ค่าสายตามา ก็เอาค่าสายตานั้นไปลองเสียบบนแว่นลอง แล้วถามว่าชัดไหมๆ สุดท้ายได้ค่าอะไรมาสักอย่าง จ่ายไปแล้วงงๆ ก็บอกให้ปรับตัวไป ตัวอย่างเช่นเครื่องยิงมาแล้วได้สายตา -1.00D เสียบแล้วเขาอ่านได้ 20/20 ความจริงๆเขาอาจจะสายตา 0.00 อยู่แล้วก็ได้ ไม่ต้องใส่ก็อ่านได้ 20/20 พูดเหมือนติดตลก แต่เกิดขึ้นจริงในบ้านเรา ซึ่งอันตรายมาก ถ้าต้องให้คนไข้ปรับตัวกับค่าที่ผิด เพราะจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมายเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ดังนั้นบทความเรื่องนี้ หวังว่าจะเป็นแรงกระตุกนิดๆ ให้ท่านที่เปิดให้บริการสายตาให้ลูกค้านั้น ไม่ลืมที่จะตรวจ VA ให้ลูกค้าทุกครั้งก่อนวัดสายตาจริงๆ และเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีห้องตรวจที่ได้มาตรฐาน 6 เมตร หรือถ้าหาห้องตรวจไม่ได้จริงๆ ก็ใช้ระบบกระจกมาช่วยก็ยังดี แต่อย่าใช้แผ่นชาร์ตทดระยะ เพราะค่าสายตาที่ได้ออกมานั้น มันเสี่ยงเกินไปที่จะจ่ายให้ลูกค้า และอ้างอิงอะไรไม่ได้
ก็อยากจะฝากไว้ พบกันใหม่ตอนหน้า