Optometry 4.0 

ตอนที่ 2 ดำเนินธุรกิจอย่างไรให้งามบนเส้นทางทัศนมาตร

เรื่องโดย ทัศนมาตร สมยศ เพ็งทวี ทม.,O.D.

เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2561


 

บทนำ

Optometry หรือ ทัศนมาตรศาสตร์ นั้นเป็นศาสตร์เก่าแก่ของทางประเทศที่เจริญแล้ว (150 ปีในอเมริกา) แต่พึ่งมาตั้งไข่ในเมืองไทย อะไรๆ ก็เลยดู ขลุกขลิก งงๆ ก่งก๊ง กันอยู่บ้างในบางทีว่่างานทัศนมาตรแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร หรือทัศนมาตรทำอะไรได้บ้าง เพราะเดิมคนที่ทำงานบริการเกี่ยวกับดวงตาในบ้านเรานั้นมีเพียงจักษุแพทย์ที่เป็นหมอตารักษาโรคตา มีผู้ช่วยจักษุแพทย์เป็นผู้ช่วยหมอในการทำเทสต่างๆเช่น วัดความดันตา ถ่ายจอประสาทตา วัดลานสายตา วัด VA  เป็นต้น  และมีช่างแว่นตาทำหน้าที่วัดตาทำแว่น แล้วทัศนมาตรพึ่งมาจะเข้าไปจุติตรงไหน

 

งานของหมอตา หรือ จักษุแพทย์ หรือ Ophthalmologist  นั้นเป็นงานที่เราคุ้นเคยและไม่สับสน เพราะถ้ามีโรคที่เกิดขึ้นกับตา เช่นตาแดง เจ็บตา แสบตา น้ำตาไหล ตามีหนอง ตามืด ตามัว  ต้อเนื้อ ต้อกระจก ต้อหิน ก็จะไปหาหมอตา

 

แต่ถ้าไปมาแล้วหมอตาบอกไม่มีโรค พวกเราก็ไปร้านแว่น ก็จะไปพบกับช่างแว่นตา ที่่มีหน้าที่วัดตาทำแว่นให้เรา ซึ่งแต่เดิมนั้นหมอตาเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจอะไรกับสายตาและไม่ได้มองว่าสายตาเป็นเรื่องของการแพทย์ ดังนั้นให้ใครทำก็ย่อมได้ เช่นปัญหาปวดหัวที่เกิดจากการใส่แว่นที่มีค่าสายตาที่ถูกต้องนั้น แต่เดิมหมอก็ไม่ได้ให้ความหมายอะไรกับมันมากมาย เพราะถ้ากายภาพมันปกติแปลว่าปกติ  ดังนั้นงานวัดสายตานั้นจะเป็นงานของช่างแว่นตาเสมอมา 

 

ช่างแว่นตา หรือ Optician ในอดีตขณะที่ยังไม่มีโรงเรียนสอนวัดตานั้น การที่จะเป็นช่างแว่นตาได้ จะเกิดจากการสั่งสมความรู้และสร้างประสบการณ์ด้วยตัวเอง โดยต้องไปฝากตัวเป็นศิษย์ผู้ช่วยช่างแว่นตากับร้านเถ้าแก่ประจำจังหวัด ซึ่งก็จะเรียนรู้จากประสบการณ์เช่น สายตาแบบนี้ หาแบบนี้ แก้แบบนี้ แล้วสายตาแบบนี้ พีดีแบบนี้ เลือกเลนส์แบบนี้ ของยี่ห้อนี้ หรือในการประกอบเลนส์ทำแบบนี้แล้วจะดี  ถ้าไม่ดีก็ค้นหาสูตรของตนเอง จนเจอสูตรนั้นขึ้นมา ก็จะกลายเป็นสูตรลับเฉพาะตนขึ้นมา บางครั้งก็เรียกว่าสูตรและเป็นความรู้ที่ต้องหวงแหน ไม่อยากจะถ่ายทอดให้ใคร น้องจากลูกหลานหรือช่างฝึกหัดมือขวาที่ใกล้ชนิด 

 

ว่ากันว่า กว่าจะได้วิชาช่างแว่นตามาจะต้องทำงานเป็นช่างฝนแว่นในห้องฝนแว่น 5-10 ปี กว่าเฮียจะยอมให้เข้าห้องวัดแว่น มันยากขนาดนั้น  แต่บางทีสูตรก็กลายเป็น “ธาตุไฟ” ครั้งหนึ่งเคยคุยกับเฮียท่านหนึ่งเกี่ยวกับเทคโนโลยีการออกแบบ individual inset ของเลนส์โปรเกรสซีฟ แกบอกว่าไม่เห็นยาก ก็บิดเลนส์สิ เดี๋ยวโครงสร้างมันเยื้องเอง แค่นี้ไม่เห็นต้องใช้เทคโนโลยีอะไร” ผมได้แต่บอกว่า “ครับ” เพราะถ้า แกเข้าใจเรื่อง binocular แกจะไม่พูดแบบนี้  

 

ต่อมาเริ่มมีโรงเรียนส่งเสริมวิชาการช่างแว่นตาไทย การเรียนการสอนเริ่มเป็นระบบมากขึ้น จากการเรียนแบบครูพักลักจำ ก็มาเรียนในระบบ  ซึ่งเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้น 3 เดือนเรียนเสาร์-อาทิตย์ เป็นโรงเรียนที่อบรมช่างแว่นตา ให้สามารถวัดสายตาประกอบแว่นได้ ซึ่งก็สามารถผลิตช่างแว่นตาออกมามากมายหลายรุ่น จบมาแล้วบ้างก็ออกไปทำอาชีพเป็นช่างแว่นตาในร้านแว่น บ้างก็ออกไปทำกิจการร้านแว่นของตนเอง บ้างพอทำแล้วไม่ใช่แนวก็ไปทำอย่างอื่น ก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล 

 

กำเนิดทัศนมาตร

พอทำงานมากๆเข้า รู้มากๆเข้า ก็เริ่มมองเห็นปัญหาการมองเห็นว่ามีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะปัญหาการมองเห็นไม่ได้มีเพียงแค่สายตาสั้น ยาว เอียง (ซึ่งปกติก็วัดไม่ค่อยจะถูกกันอยู่แล้ว) แต่มีเรื่องของฟังก์ชั่นการทำงานร่วมกันของสองตา มีเรื่อง visual function เข้ามาเกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหาการมองเห็นแบบเดิมที่ถ่ายทอดกันมา เริ่มจะไม่พอ

 

ทัศนมาตรในชั้นเรียนยุคนั้น แต่ละ class มีหน่อเท่าที่เห็น

 

ก็เริ่มมีการออกไปศึกษาเพ่ิมเติมนอกประเทศ​ ซึ่งประเทศที่ถือว่าเป็น แม่บทของทัศนมาตรก็คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็น doctor degree ,O.D.  เรียนกันยาวนานถึง 8 ปี (4ปีแรกเป็น bachelor's degree และต้องสอบเข้าเรียนต่ออีก 4 ปีเป็น Doctor of Optometry degree) เมื่อเรียนจบมาแล้ว ความรู้ก็เป็นของเฉพาะคนที่ไปเรียนมา เอาความรู้ที่ไปร่ำเรียนมาใช้ในการตรวจลูกค้าในร้านแว่นของตน คนไข้ก็ต้องไปเสาะหาเองว่าที่ไหนมี optometrist แต่ก็ยากเนื่องจากสมัยนั้น facebook ยังไม่เกิด และกฎหมายก็ยังไม่ได้ออกมารองรับคนที่ไปจบ optometry จากต่างประเทศมา 

 

จึงเกิดการรวมกลุ่มยื่นขอให้กฎหมายรองรับ เกิดเป็น มาตรา 31 ใน พรบ.การประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ พ.ศ.2542 ขึ้นมา มีการบัญญัติศัพท์ optometry ว่า ทัศนมาตรศาสตร์ เป็นต้นมา ทำให้ Optometrist ในยุคนั้นเริ่มมีตัวมีตนขึ้นมา กลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10 คนได้

 

หนังสือ Thai Optometry เล่มแรกของไทย อยู่ที่ผม 1 เล่ม

 

จากนั้นก็เกิดการผลักดันหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ให้เกิดขึ้นแห่งแรก โดย ดร.รังสรรค์ แสงสุข ซึ่งขณะนั้นเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำสัญญาความร่วมมือทางวิชาการกับทาง มหาวิทยาลัย อินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มผลิตบัณฑิตทัศนมาตรขึ้นครั้งแรกในปีในปี 2544  และมีนักศึกษาสนใจเข้าไปเรียนสาขานี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ  

 

ปัจจุบันการเรียนการสอนสาขาทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิตในระดับ doctor degree หลักสูตรปริญญาสูงสุด 6 ปี มีอยู่ 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัย​เนรศวร ซึ่งทั้งสามแห่งนี้สามารถผลิตบัณฑิตออกมาได้แล้ว และในปีนี้เอง 2561 มีบัณฑิตทัศนมาตรที่สามารถสอบผ่านใบอนุญาตเพ่ิมขึ้นอีก 58 คน รวมทัศนมาตรที่มีอยู่ในประเทศไทยที่ถือใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะอยู่ทั้งสิ้นประมาณเกือบๆ 300 คนแล้ว 

 

เมื่อทัศนมาตรมีมากขึ้น ก็เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับสถานบริการด้านสุขภาพสายตาที่มีอยู่ในประเทศไทย เพาะว่ามาตรฐานได้เกิดขึ้นแล้ว แม้กฎหมายจะออกมาไม่ทันก็ตามแต่ แต่ผู้บริโภคเริ่มรับรู้แล้วว่ามีวิชาชีพเฉพาะทางด้านสายตาเกิดขึ้น

 

ซึ่งเรื่องนี้จริงๆเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะได้รับการบริการด้านสายตาจากผู้ที่จบมาเฉพาะด้าน  เพื่อให้ปัญการมองเห็นนั้นได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง และลดปัญหาที่เป็นผลจากการแก้ปัญหาของการมองเห็นที่ผิดพลาดลง ซึ่งช่างแว่นตาเองจำเป็นต้องปรับตัว แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าจะเริ่มใฝ่รู้ตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้าเราไม่ปรับตัวด้วยการปรับฐานความรู้นั้น มันจะยุ่งสักหน่อย เพราะการ educate สมัยนนี้นั้น เสิร์ฟอยูบนจอมือถือกันแล้ว ผู้บริโภครู้จักตาตัวเองมากขึ้น รู้จักความผิดปกติของการมองเห็นมากขึ้น หรืออาจจะรู้ด้วยซ้ำว่า ในการตรวจตานั้น เราทำถูกหรือเปล่า ถ้าเราไม่เตรียมตัว มันจะเหนื่อย  

กลับมาที่เรื่องทัศนมาตร

 

บ้านใหญ่ขึ้น

 

บ้านเราใหญ่ขึ้น มีสมาชิกเพ่ิมมากขึ้น แน่นอนว่า ยิ่งมีคนมากก็มีข้อดีคือกำลังมาก เคลื่อนที่แล้วเสียงดังมาก เกิดโมเมนตัมมาก ในขณะเดียวกัน ในบ้านหลังๆหนึ่งพอมีีคนอยู่มาก ก็ย่อมมีความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ เป้าหมายชีวิต นิสัยใจคอ ที่แตกต่างกัน มีความดื้อ ความเกเรมากน้อย แตกต่างกันไป ก็เป็นเรื่องธรรมดาของบ้านใหญ่ 

 

พอเราอยู่บ้านหลังเดียวกัน  ก็แน่นอนว่า จะทำอะไรก็ตาม ก็จะถูกตรากลางกระบาลว่ามาจากบ้านนี้ หรือ เป็นคนจากบ้านนี้  ถ้าทำดีก็ได้รับคำชมว่าเด็กบ้านนี้นิสัยดี แสดงว่าถูกอบรมเลี้ยงดูมาดี  ถ้าเราไปทำไม่ดี ก็จะถูกตราหน้าว่าคนบ้านนี้มันนิสัยไม่ดี พ่อแม่ไม่สั่งสอน  ดังนั้นเราเลี่ยงไม่ได้เพราะทุกคนหลังเรียนจบก็คงมีตราติดตัวคือเป็น ทัศนมาตร  ซึ่งเราคงไม่อยากให้ใครเขามาด่าคนในบ้านของเราว่าเป็นคนไม่ดี  นั่นหมายความว่าเราทุกคนมีหน้าที่ส่วนรวมคือต้องช่วยกันทำ(ให้)ดี

 

ทำดีแปลว่าอะไร 

คำว่าดีนั้นเป็นเรื่องของ “สามัญสำนึก” หรือ “common sense” ไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้นิยามหรือข้อกำหนดอะไรมากมายว่าอะไรบ้างที่แปลว่าดี  ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าเด็กอายุเกิน 10 ขวบนั้นต้องสามารถแยกแยะได้ว่า “อย่างไหนดี อย่างไหนไม่ดี” “อย่างไหนควรทำ อย่างไหนไม่ควรทำ” “อย่างไหนทำแล้วดีกับตนและส่วนรวม อย่างไหนจะทำลายตนและส่วนรวม” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้ามีปัญญาระดับด๊อกเตอร์ดีกรี แล้วต้องเข้าใจและแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ 

แต่บางครั้งกิเลสหรือตัวอยากมันเกิดขึ้นมา มันพลุ่งพล่าน ทำให้ขาดสติ พอขาดสติก็จะทำให้ปัญญาในการพิจารณาโยนิโสมนสิการนั้นหย่อนประสิทธิภาพลง ขาดความยั้งคิด ขาดความยับยั้งชั่งใน รู้ทั้งรู้ด้วยสามัญสำนึก แต่ขาดสติรู้เท่าทัน เลยทำสิ่งที่ไม่ดีออกมา โดยอาจรู้หรือไม่รู้ตัว  ดังนั้น สตินั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีในการทำงานด้านทัศนมาตร 

 

ทัศนมาตรกับการดำเนินธุรกิจ 

การเรียนการสอนทัศนมาตรศาสตร์หล่อหลอมให้เราเป็นหมอ เป็นพ่อพระ เป็นแม่พระ ให้เรามีความสุขกับการทำงานบริการแก้ปัญหาให้กับคนไข้ของเรา มองความยากของเคสต่างๆเป็นความท้าทาย ในขณะเดียวกันเราก็ต้องทำธุรกิจ เพื่อเลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง เลี้ยงคนรัก เลี้ยงครอบครัว ให้อยู่สุขสบาย และบังเอิญว่า doctor fee หรือค่าธรรมเนียมทางการแพทย์ของทัศนมาตรนั้นยังไม่เกิด จะมีก็เพียงเล็กน้อยไม่พอรับประทาน

 

ทำให้ต้องมีสินค้าเพ่ิมเติมคือ กรอบแว่นตา และเลนส์สายตาเข้ามา ซึ่งยี่ห้อก็เหมือนสินค้าที่ขายตามร้านแว่นทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคเองก็แยกไม่ออกว่า แว่นตาในร้านแว่นตากับคลินิกทัศนมาตรมันต่างกันอย่างไร  เพราะเห็นว่าเป็น LINDBERG เหมือนกัน เป็น Rodenstock เหมือนๆกัน แล้วมันต่างกันยังไง ผู้บริโภคไม่เข้าใจ  หรือแม้แต่หมอทัศนมาตรเองก็ยังไม่เข้าใจว่า Lindberg หรือ Rodenstock ของตนนั้นต่างจากร้านแว่นตาทั่วไปอย่างไร เพราะการทำงานก็วัดด้วยคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ใส่แล้วก็มองเห็นเหมือนกัน

 

พอไม่เข้าใจในหน้าที่ของตัวเอง ก็เลยลงไปเล่น Red Ocean ดั๊ม! ราคา ทุบตลาด ทุบหม้อข้าวหม้อแกงแข่งกัน ว่าใครจะลดได้หนักกว่ากัน ใครมีหม้อข้าวมากกว่าก็ทุบได้มากกว่า จนกว่าจะหมดหม้อกันไปข้างหนึ่ง ผมเห็นแล้วก็ไม่สบายใจ เลยมาเขียนเพื่อเตือนสติกันสักหน่อย ใครที่ทำดีแล้วก็ขออนุโมทนา เพราะเป็นหน้าเป็นตาให้ทัศนมาตรต่อไป ใครยังทุบอยุ่ ก็เพลาๆมือหน่อย รู้ว่าหม้อข้าวเยอะ แต่ถ้าหม้อมันเยอะเกินก็บริจาคให้คนที่ไม่มีบ้างก็ดี ได้บุญ ตายแล้วเอาไปไม่ได้สักอย่าง

 

ธุรกิจทัศนมาตรควรเดินอย่างไรให้แตกต่าง 

ความคิดต่อไปนี้เป็นความคิดส่วนตัวที่ผมมองว่าดี (ในมุมของผม) ซึ่งดีทั้งต่อตัวท่านเองและดีต่อบ้านของเรา  อย่างแรกเลยเราต้องกลับมาถามตัวเองก่อนว่า “เราอยากเป็นใคร”  เราอยากเป็นหมอ หรือเราอยากเป็นพ่อค้า แล้วก็เอาให้ชัด อย่าครึ่งๆกลางๆ อย่าทำตัวเป็น “พ่อค้าใส่เสื้อกาวน์” ถ้าจะกาวน์ก็ขอให้กาวน์ทั้งภายนอกและภายใน 

 

ถ้าคิดว่าตัวเองคือหมอแล้ว ต้องถามตัวเองว่า หมอมีหน้าที่ทำอะไร ตอบให้ก็ได้ รักษาคนไข้ให้หายจากความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ  แปลว่าต้องตรวจ วินิจฉัย รักษา และอธิบายให้คนไข้เข้าใจ เรียกว่ารักษาทั้งกายและใจ พอคนไข้หายดีแล้วก็จงมีความสุขอยู่ที่ตรงนั้น เรียนรู้ ฝึกฝนในสิ่งที่คิดว่าตนเองอ่อนแอให้เข้มแข็ง  ฝึกฝนสิ่งที่เข้มแข็งอยู่แล้วให้อ่อนโยน เกิดเป็นศิลปะในการทำงานเฉพาะตัวขึ้นมา  

 

 

ส่วน การได้ขายไม่ได้ขาย ขายได้มาก ขายได้น้อย ไม่ใช่เรื่องที่หมอต้องคิด ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีหรือไม่น่ายินดี ให้คิดว่ามันเป็นผลจากการตั้งใจทำงาน  แต่ลึกๆก็เชื่อว่า ถ้าเราทำให้ดีอย่างเดียว อะไรๆมันก็จะดีขึ้นมาเอง  ความยั่งยืนจะเกิดขึ้น แต่เป็นการค่อยๆเกิดขึ้นแบบต้นไม้ ที่ค่อยๆแทงราง จากนั้นก็เริ่มผลิใบ แตกกิ่งก้านสาขา ผลิดอก ออกผลให้เก็บกิน เกิดเป็นร่มเงาให้พึ่งพาอาศัย  ส่วนรากแก้วก็แทงลึกลงไปในดิน เกิดความแข็งแกร่ง ทนทานต่อพายุที่ถาโถมเข้าใส่ ผ่าน ฝน ร้อน หนาว อย่างไม่ยำเกรงต่ออุปสัคที่จะมากระทบ 

 

 

ส่วนต้นไม้ที่ซื้อต้นใหญ่มาปลูกนั้น ขาดรากแก้ว ทำให้ไม่แข็งแรง และต้องเอาไม้มาค้ำอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม้ค้ำนั้นเกิดผุสลาย ไม่นานต้นไม้ต้นนั้นก็จะล้มครืนลงมา ยิ่งใหญ่มากเวลาล้มก็จะดังมากเช่นกัน บางคนหนักเลย ทุนหนาเห็นเสาไฟนึกว่าต้นไม้ เอาตั้งโครมเหี่ยวแห้งอยู่อย่างนั้น ดูตระหง่านยิ่งใหญ่ สูงเสียดฟ้า แต่หาสาระไม่ได้ ไม่สามารถผลิดดอกออกผลอะไรได้เลย  ร่มเงาก็ไม่มี ถ้าแบบนั้นปลูกต้นมะเขือเทศเสียยังดีกว่า ยังพอเก็บผลกินได้ 

 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องคิดคือ เราทุกคน ที่จบ doctor มาแล้ว มีเมล็ดพันธุ์ที่ดี มีต้นทุนที่ดีกว่าคนอื่นแล้ว ก็อย่าไปเจาะยางตัวเอง ทำงานให้ดีเหมือนที่เรียนมา ฝึกที่จะพึ่งพาตาเองให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยอาศัยตัวช่วยทีหลัง 

 

อย่างไรที่เรียกว่าพึ่งพาตนเอง 

“การพึ่งพาตนเอง” นั้นเป็นหนึ่งปรัชญาสำคัญของในหลวง ร.9 ของเราที่ได้ฝากไว้ให้กับพสกนิกรของท่านได้เจริญรอยตาม แต่พวกเราก็ไม่ค่อยสนใจ คิดว่าเป็นเรื่อง “เบ เบ” ซึ่งเดิมทีผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่นัก จนได้คุยกับสหายท่านหนึ่งเจ้าสำนักแห่งมุกดาหาร  เขาอธิบายได้อย่างน่าสนใจว่า  

“การทำธุรกิจการงาน ใดๆก็ตามนั้น ในหลวงท่านสอนให้พึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยคิดที่จะพึ่งพาสิ่งอื่น” 

ถ้าพูดถึงในการทำธุรกิจร้านแว่นตานั้น  หัวใจนั้นอยู่ที่ “การวัดสายตาให้แม่นยำ” และเราจะต้องสามารถหา “ค่าสายตาที่แม่นยำให้ได้ ด้วยการพึ่งพาตนเอง” คือ 

ถ้าเรามีเครื่องมือเพียง trial lens set กับ retinoscope เราจะสามารถหาค่าสายตาที่ถูกต้องแม่นยำได้หรือไม่  

ถ้าไฟดับเรายังสามารถทำงานต่อไปได้หรือไม่ 

ถ้าไม่มีไฟฟ้าเลย เราขึ้นไปบนดอยบนเขา คอมพิวเตอร์วัดสายตาก็ไม่มีประโยชน์ มีเพียง retinoscope กับ trial lens เราเอาค่าสายตาที่ถูกต้องออกมาได้ไหม 

หรือถ้าไม่มีแม้กระทั่ง VA chart มีเพียง retinoscope เราสามารถบอกได้ไหมว่าคนไข้เห็นชัดปกติหรือไม่ 

ถ้าเราทำได้....นั่นหมายความว่าเราสามารถพึ่งพาตนเองได้  พอเราพึ่งพาตัวเองได้เป็นอย่างดีแล้ว เราจึงค่อยหาเครื่องมือช่วย เพื่อให้เราสามารถทำงานได้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น คล่องตัวขึ้น และมีประสิทธิภาพขึ้น 

 

#เชื่อหรือไม่ว่าถ้าฝึกมากพอ ชุดพอเพียงชุดนี้นั้นให้ค่าสายตาที่ถูกต้องและสามารถทำซ้ำได้แม่นยำกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะหลักแสนหรือหลักล้าน ตรวจได้ทั้งคนเด็กและผู้ใหญ่ มีสติและขาดสติ ตรวจหมาและแมว รู้แม้กระทั่งแว่นที่ใส่อยู่นั้นถูกหรือผิด ขาดหรือเกินหรือพอดี  ประเมินต้อกระจกได้ ประเมินชั้นน้ำตาได้ ประเมินการทำงานของรูม่านตาได้  เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ต้องฝึกฝนจนพึ่งพาตนเองได้  เพื่อทำได้แล้ว ค่อยไปพึ่งพาคอมพิวเตอร์ จึงจะเกิดความยั่งยืนในการทำงานด้านทัศนมาตรต่อไปได้ 

 

สหายท่านหนึ่งเล่าต่อไปอีกว่า แต่ในปัจจุบัน ปัญหาของร้านแว่นตาส่วนใหญ่ รวมไปถึงโอดีจบใหม่ ยังพึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย ยืนด้วยเท้าตัวเองยังไม่แข็งเลย ก็พยายามจะหาที่พึ่งอย่างอื่นกันเสียแล้ว เช่น ฝึกตรวจสายตาด้วยวิธีพื้นฐานยังไม่คล่อง ก็ไปหาอุปกรณ์เยอะแยะอะไรก็ไม่รู้ร้อยแปดพันเก้า เอามาโปรโมทว่าฉันมีเครื่องนั้น ฉันมีเครื่องนี้ ละเอียดเท่านั้น ละเอียดเท่านี้  แต่พอไฟดับ ทุกอย่างชะงักหมด หรือพอเครื่องเอ๋อนิดหน่อย คนตรวจเอ๋อตาม อย่างนี้เรียกว่า ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้  พอพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ก็เริ่มเขว พอเขว ก็เรียกแขกด้วยการการจุดพลุ เพื่อให้คนสนใจ 

 

อย่าทำธุรกิจเหมือนจุดพลุ 

การจุดพลุเพื่อให้เกิดแสงสว่างนั้นเป็นการลงทุนประเภทที่เรียกว่า ขี่ช้างจับตั๊กแตน แน่นอนว่า ตอนขึ้นหลังช้างนั้น ดูยิ่งใหญ่ราวกับไปรบกับพระเจ้านันทบุเรง แต่ที่ไหนได้เอาไปจับตั๊กแตน นั่นเรียกว่าเสียแรง 

 

การจุดพลุ  เสียงดัง ตู้มมมม.....ทุกคนหันไปมอง เห็นพลุระเบิดสว่างจ้าสวยงามเต็มท้องฟ้า ทุกคนร้องว้าวววว ตื่นเต้นที่ได้เห็น เหมือนงานเฉลิมฉลองกำลังจะเริ่มแล้ว ทุกคนยินดีปรีดากับสีสันสวยงามของพลุ แต่อีกไม่กี่วินาทีถัดมา พลุก็ดับ กลับไปสู่ความมืดอีกครั้ง แล้วความตื่นเต้นก็จบลง 

ทำยังไงต่อ ถ้าอยากให้คนในใจ ก็จุดพลุอีก...ตู้มม...สว่างจ้า....ดับสนิท  ทำไงต่อ..ก็ทำเหมือนเดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  

แล้วไฟสว่างจ้าบนท้องฟ้าแช่ชั่วประเดี๋ยวสร้างประโยชน์อะไรได้บ้างนอกจากความตื่นเต้น  เอาไปอ่านหนังสือก็ไม่ได้ เอาไว้ให้เห็นสิ่งรอบตัวก็ได้เพียงประเดี๋ยว หาประโยชน์ไม่มี

 

 

มันก็เหมือนกับการทำธุรกิจจากความไม่เข้าใจพื้นฐานธุรกิจ ลืมไปว่า Health care business มันมีเรื่องของ time frame มากำกับ ค่อยๆเก็บ ค่อยๆสะสม แล้วค่อยๆเติบโต  แต่ด้วยความใจร้อน อยากจะโตไวๆ ก็ต้องลงทุน เร่งให้คนสนใจหันมามอง ด้วยการระเบิดงบประมาณทุ่มทุนสร้าง ในการสร้างความสนใจ สร้างความหวัง สร้างโปรโมชั่น ฉลองเปิดร้านใหม่ 60% ทั้งร้าน  ซื้อชิ้นแรก ชิ้นต่อไปบาทเดียว  ลดกระหน่ำ troughtout the year sale 50.123456789%  เป็นวิธีการเรียกแขกในยุค 0.4 ถามว่า ตื่นเต้นไหม ก็คงจะตื่นเต้น (แป๊บหนึ่ง) คนก็แห่กันไปด้วยความหวัง  บางคนก็สมหวัง บางคนก็ไม่สมหวัง บางคนผิดหวัง บางคนได้ของถูกมาแต่ใช้ไม่ได้ก็เฉยๆไป  บางคนได้ของแพงมาก็ยังใช้ไม่ได้ก็โมโหเดือดร้อนวุ่นวายกันไปหมด พอคนเริ่มซา ตลาดเหงา ก็ลงทุนจุดพลุใหม่อีก เกิดเป็นโปรโมชั่นประจำเดือน วนเวียนเป็นวัฎจักร อยู่แบบนี้ร่ำไป

 

คนยืนมองในเหตุการณ์ เห็นเขาจุดพลุ ก็ยากจะจุดบ้างเผื่อคนจะสนใจ แต่ตังค์ซื้อพลุก็ไม่ค่อยจะมี  แต่อยากเอาอย่างเขา เข้าโบราณว่า เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง กลายเป็นไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจะมีพลุไว้จุดอย่างเขา แต่กู้มาได้น้อย จุดไม่ค่อยดัง ไฟพลุไม่ค่อยสวย ดับมอดเร็ว คนไม่สนใจ  เป็นทั้งหนี้ เสียทั้งเวลา และเรียกความสนใจไม่ได้ เสียความมั่นใจ ก็เป็นทุกข์อีก 

 

ลืมไปหรือเปล่า

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากเราลืมไปว่า เราเปิดร้านแว่นตา หรือคลินิกทัศนมาตรขึ้นมาทำไม  เราลืมว่าหน้าที่เราเป็น service business  หมายความว่าเป็นธุรกิจรอรับบริการ เวลาเขาต้องการบริการ มีปัญหาอยากให้เราช่วย เขาก็จะมาให้เราบริการกับเรา เป็น passive business  แต่ถ้าพยายามกวักมือเรียกเขาขอให้เขามาใช้บริการ ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นอะไรเลย ก็อยากให้เขาเป็นจะได้ขายของได้ แบบนี้ดูท่าจะไม่เข้าท่าเท่าไหร่ 

 

เมื่อเราเข้าใจงานของเราแล้ว การพึ่งพาตนเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญ​ ยืนให้มั่นคงให้แข็งแกร่งด้วยตัวเองให้ได้ก่อน แล้วค่อยไปใช้เครื่องมือมาช่วย  อย่าเอาเครื่องมือมาช่วยทั้งๆที่ตัวเองก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ มันจะกลายเป็นการพึ่งพา เกิดความไม่ยั่งยืนขึ้น ซึ่งก็มีให้เห็นกันมากมาย  ดัง “ตู้มม...สว่างจ้าาา...ดับสนิท..” 

 

ธุรกิจทัศนมาตรทำแบบจุดเทียนจะดีกว่าจุดพลุไหม 

“เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง” เป็นสโลแกน ของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ผมจบมา ทำไมต้องเป็นแสงเทียน แสงพลุไม่ได้เหรอ  จริงๆแสงจากเปลวเทียนนั้นเป็นแสงที่หล่อเลี้ยงจรรโลงโลกให้งดงาม  สมัยผมอยู่บ้านนอก ไฟดับก็ได้ไฟจากเปลวเทียนนี่แหล่ะ ช่วยให้สามารถทำกิจต่อให้เสร็จ ทั้งทำการบ้าน อ่านหนังสือก่อนเข้านอน  คุณยายสวดมนต์ไหว้พระก็ได้ไฟจากเปลวเทียนนี่แหล่ะ พระเดินเวียนเทียนรอบโบสถ์ก็ด้วยเทียนนี่แหละ และที่รามคำแหงก็นำแสงเปลวเทียนมาเป็นคำขวัญ เพราะเทียนมันพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องชาร์จแบต เอาไปในป่า ลึกแค่ไหนก็จุดติด กลไงง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มีแค่ใส้เทียนกับไข ซึ่งหาตามธรรมชาตก็ไม่ยากเท่าไหร่ ทำเองก็ยังได้ เคยเห็นไหมพระหล่อเทียนเข้าพรรษาหน่ะ  ดูเล็กๆ ธรรมดา ๆ ไม่น่าตื่นเต้น แต่สร้างประโยชน์ได้มากมาย นั่นแหล่ะแสงจากเทียนหล่ะ 

 

 

ทัศนมาตรควรจะดำเนินธุรกิจแบบแสงไฟจากเปลวเทียนดีกว่าจุดพลุไหม  เทียนเล็กๆ แม้ให้แสงสว่างไม่น่าตื่นเต้นเท่าแสงพลุ แต่ก็มีประโยชน์มากมาย ใช่งานง่าย ลดการพึ่งฟาไฟฟ้าจาก กฟน. กฟผ. ติดตัวไปได้ทุกเมื่อ  เกิดคุณค่าในตัวของมัน 

ถ้าเราเอาปรัชญาเปลวเทียนมาเป็นหลักในการเดินธุรกิจได้  การทำธุรกิจจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และเกิดความงามต่อวิชาชีพ ทำให้บ้านเราดูดีอีกด้วย 

 

4.0 เป็นยุคปลาเล็กกินปลาใหญ่ 

ยุคนี้เป็นยุคที่ปลาใหญ่ต้องระวังปลาเล็ก เพราะเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร เป็นยุคของการ sharing  ความลับไม่มีอีกต่อไป จะมาหลอกขายของอย่าไปคิด เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันฉลาดกว่าในอดีตมาก อย่าไปดูถูกเค้าด้วยการ over price แล้วทำมาเนียน discount ด้วยข้อมูลรอบตัวที่เขามี เขาสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรคือหลุมพราง อะไรคือของจริง  อะไรคือไม้มีแก่น อะไรคือไม้โพรง 

 

 

ดังนั้น แค่เราเป็นของจริง เพียงอย่างเดียว เราไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น  เพราะถ้าผู้บริโภครู้เรื่องจริงเมื่อไหร่ ปลาตัวใหญ่ที่เป็นเจ้าน่านน้ำของตลาดแว่นตาในปัจจุบัน จะต้องมีสะท้านแน่นอน ผมค่อนข้างมั่นใจ ถ้าความรู้นั้นถึงประชาชน ไม่ว่าเขาจะใช้พลุใหญ่และดังขนาดไหน  คนที่เคยเห็นบ่อยแล้วก็คงไม่ได้ตื่นเต้นอะไร เพราะรู้ว่าเดี๋ยวก็ต้องมอด พอมอดแล้วเดี๋ยวก็จุดใหม่ ซ้ำๆ ๆ จนกว่าจะเลิกไปเอง 

 

สิ่งที่ปลาเล็กต้องเตรียมพร้อมคือ “สู้ปลาใหญ่ด้วยปัญญา” เพราะนั่นเป็นสิ่งเดียวที่ปลาใหญ่ไม่มี การสร้างเม็ดเงิน อัดเม็ดเงินเข้าไปทำลายตลาด ขัดคู่แข่งนั้น ปลาใหญ่ย่อมทำได้ แต่จะเสริมทัพเรื่องปัญญาให้ปลาใหญ่นั้นเป็นเรื่องยาก  เพราะปลาใหญ่สนใจเพียงจะทำอย่างไรให้เกิดกำไรสูงสุด และลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด  และสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เขาเลือกที่ลดต้นทุนจากบุคลากรมนุษย์ และเลือกเอาจากคนที่ไม่ได้มีความรู้อะไร เอามาสอนให้ฝึกขาย พอขายเป็นก็ได้ลงไปในสาขา ถ้าขายเก่งแสดงว่าคนนั้นเก่ง ถ้าใส่ไม่ได้ก็ถูกทำโทษโดยริบค่าคอมมิชชั่น แต่เวลาจะฝึกให้ก็จะไม่ฝึกให้เก่งมากนัก เพราะกลัวว่าถ้าเก่งเกินเดี๋ยวจะลาออกไปทำธุรกิจเอง กลายเป็นคู่แข่งดึงลูกค้าไปอีก และถ้าใครกล้าดีแบบนั้นจะมีการเตะตัดขา ใช้กำลังพิเศษห้ามคนนี้เปิดหน้าบัญชีกับ supplier ที่ตัวเองซื้อขายอยู่ นี่คือจุดอ่อนของปัญหาระบบการดูแลสายตาในประเทศไทย ดูๆแล้วเหมือนเรื่องตลก แต่เป็นตลกร้ายนะ บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า เรามองเรื่องสายตาเป็นอะไร เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้ารองเท้ากระเป๋าหรือว่าเป็นเรื่องสุขภาพกันแน่ 

 

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในยุค 4.0 นั้น ไม่ต้องไปสนใจปลาใหญ่่ ไม่ต้องกลัว ให้พึ่งพาตัวเองให้ได้ แล้วทำงานตัวเองออกไปให้ดี  ค่อยๆโตเหมือนปลูกต้นไม้  ค่อยๆให้แสงสว่างเหมือนเปลวเทียน แม้สว่างไม่มาก แต่สว่างนาน จนกว่าใส้เทียนจะหมด และดับลงอย่างมีคุณค่า เพราะในระหว่างที่เปลวเทียนยังให้แสงสว่างอยู่นั้น ได้สร้างคุณค่าระหว่างนั้นได้มากมาย เช่น ได้สร้างบัณฑิตขึ้นมามากมายจากเปลวเทียนที่ช่วยให้อ่านหนังสือ สร้างคนดีมากมายจากการจุดเทียนไหว้พระ ให้คนได้หุงหาอาหารในยามมืดค่ำ ช่วยให้กิจการงานเสร็จสิ้นแม้ไฟจะดับ แล้วจากโลกนี้ไปโดยฝากคุณค่าต่างๆไว้กับคนรุ่นหลัง 

 

ทิ้งท้าย 

ขอบคุณ เฮียกรฤทธิ์ แห่งร้านแว่นตาสปอด มุกดาหาร  ดร.แจ๊ค แห่งร้านสุธน พิจิตร ที่มาคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันจนเกิดเป็นบทความนี้ขึ้นมา 

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเพียงความคิดเห็นเฉพาะผมและเพื่อนทีสนิทกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับวิถีทัศนมาตรที่ควรจะเป็น  ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และการก้าวไปข้างหน้า ควรจะก้าวต่อไปอย่างไรให้งดงาม 

 

ท่านที่มองว่าเป็นประโยชน์ ก็เอาไปใช้เป็นแง่คิดในการดำเนินธุรกิจได้ ส่วนท่านที่ฟังแล้วระคายเคืองหู ก็ปล่อยให้มันผ่านไป คิดเสียว่าเป็นเรื่องบรรเทิงเรื่องหนึ่งซึ่งคนเราคิดต่างกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องดี ตอนหน้า ถ้าผมได้คุยกันกับเพื่อนๆแล้วได้ความคิดอะไรดีๆ เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังใหม่

 

สวัสดีครับ

~ดร.ลอฟท์~