เมื่อวานมี feed หนึ่งขึ้นมาใน facebook ของผม ซึ่งมาจากเพจ “เหยื่อการตลาด ทาสโปรโมชั่น”และมี comment ตลกขบขันกันอย่างสนุกสนานเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในวงการแว่นตา
คือในป้ายร้าน (ดูจากภาพน่าจะเป็นออกหน่วยวัดสายตาเคลื่อนที่) เขียนว่า “บริการ ตรวจวัดสายตาฟรี ราคาเริ่มต้นที่ 300 บาท” จากนั้นก็มีการนำภาพถ่ายไปแชร์พร้อม moment ขำๆ เช่น
“ฟรีนะ”
“ตกลงมันยังไงกันแน่”
“ฟรียังไงหราาาาาาาาาาาาาาา”
“สรุปว่า ฟรี หรือ เสียตังค์”
“เอะ!! ยังไง”
“สับสน!!”
“อ่านฟรี แต่ตรวจตา 300”
“เดี๋ยวนะ ขอจูนสมองแพ๊พ ... เหมือนจะตั้งสติไม่ค่อยทัน”
และมีคอมเม้น ขำๆ (แต่ผมเศร้านะ...อยากร้องไห้ด้วย) ว่า
“ตอนตรวจน่ะ ฟรี ผลออกมา ยังไง สายตาก็มีปัญหา เเล้วก็ต้อง โดนโน้มน้าว ตัดเเว่น ซึ่งราคา ก็ตามนั้น เเพงกว่าเยอะ 55555”
“วัดแล้วไม่ตัดแว่นโดนตืบมั้ย”
“วัดสายตาน่ะฟรี แต่ค่ากรอบเเละเลนส์น่ะ300ขึ้น”
“ร้านพวกนี้จะเอาเครื่องวัดสายตามาตั้งทำทีว่าวัดฟรีแต่ผลออกมาก็จะบอกว่าเราสายตาเป็นโน่นนี่ให้เราซื้อให้ได้”
ซึ่งจริงๆทุกคนรู้ว่า ป้ายหมายความว่าอะไร ไม่มีใครไม่เข้าใจว่า ร้านแว่นตาต้องการสื่อสารว่าอะไร และการเห็นป้ายว่า ตรวจสายตาฟรี ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะใครๆเขาก็ทำกันจนกลายเป็นเรื่องถูกต้องไปเรียบร้อยแล้ว แต่ประเด็นก็คือ โพสต์จากเพจนี้เป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนจากคนนอกวงการแว่นตา ที่มองวงการแว่นตาว่าเป็นอย่างไร ทั้งๆที่เขาสามารถนำภาพถ่ายร้านแว่นที่เขาทำดีๆมาลงได้ แต่เขาเลือกที่จะเลือกเอาภาพที่ถือว่า เป็นจุดบอดที่เป็นปัญหาของวงการแว่นตาออกมาสะท้อนให้เห็นว่า "เขารู้สึกอย่างไรต่อวงการแว่นตาหรือธุรกิจแว่นตาหรือผู้ที่ให้บริการด้านสายตา"
แต่สิ่งที่น่าชวนคิดก็คือ “ทำไมคนทั่วไปถึงมองร้านแว่นตาเหมือนตัวตลก” เป็นเพราะใคร หรือเริ่มจากใครที่ทำให้วงการแว่นตาดิ่งลงเหวไปเรื่อยๆแบบนี้ 30 ปีที่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้ก็ไม่ได้ต่างจากเดิมสักเท่าไหร่ ในขณะที่รูปแบบการทำธุรกิจ การทำการตลาด ของธุรกิจสุขภาพอื่นๆ เขาพัฒนาคุณภาพการบริการให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ใส่ใจเรื่องสุขภาพเรื่อยๆ แต่ธุรกิจสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับแว่นตา ในอดีตเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น คนสร้างก็สร้างภาพลักษณ์ไป คนทำลายภาพลักษณ์ก็ทำลายไป ทำให้ผมต้องมานั่งมองดูว่า “จริงๆมันเกิดอะไรขึ้นในวงการแว่นตาในบ้านเรา”
เมืองไทยกับการตรวจสายตาฟรี
จริงๆจะว่ากันไปแล้ว “บริการตรวจวัดสายตาฟรี” สำหรับวงการแว่นตาแล้วเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิด และคิดว่าเป็นวงการเดียวของระบบสาธารณสุขที่ไม่มีการคิดค่าบริการในการตรวจ ทั้งๆที่ cost ที่เกิดขึ้นในการตรวจวินิจฉัยค่าสายตานั้นต้องบอกว่า “มหาศาล”
cost ในการตรวจมหาศาลจากอะไร
ถ้าพูดถึง cost ที่มาจากการเรียนสาย ทัศนมาตรศาสตร์
เรียน 6 ปี 12 เทอม ค่าเรียน 85,000 บาท / เทอม ไม่รวมค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ตลอด 6 ปี เป็น cost เท่าไหร่
ค่าที่ต้องตั้งใจเรียน ตั้งใจสอบ ตั้งใจทำงาน ส่งการบ้าน ส่งเคส และต้นทุนของความพยายามจากการลงแรงตลอด 6 ปี คิดเป็น cost เท่าไหร่
จบออกมาแล้ว ต้องมีเครื่องมือในการประกอบวิชาชีพ ตั้งแต่ ophthalmic chair unit,phoropter ,slitlamp ,auto-refractometer ,retinoscope,trial-lens set ,trial frame ,chart projector ,fundus camera ,lensometer ,edging system เป็น cost อีกกี่ล้าน ( > 5 ล้าน)
ต้องมีค่าเช่า ค่าน้ำ ไฟ ค่าช่าง ค่าพนักงาน และค่า Decorate เป็น cost อีกเท่าไหร่
ต้องมีการ stock สินค้าเป็นกรอบแว่นตา เป็น cost อีกเท่าไหร่
เหล่านี้เรียกว่า “ต้นทุนในการทำงาน” ไม่ใช่ต้นทุนเป็นเรื่องแค่กรอบแว่นตาราคาเท่าไหร่ หรือต้นทุนเลนส์ราคาเท่าไหร่ แล้วจะขายเท่าไหร่ แล้วทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ใช่ต้นทุนหรืออย่างไร มีเลนส์กับกรอบไม่ต้องมีความรู้อะไรนี่ทำแว่นได้หรือ
แต่น่าสนใจคือ คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่า ไม่ต้องมีความรู้ก็วัดสายตาได้ เพียงแค่มีเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตา ยิงๆ ออกมา ได้ค่าอะไรออกมาก็ ลองเสียบเลนส์ดู แล้วดูว่าชัดไหม ถ้าชัดแล้วปวดหัวก็ลดเบอร์ ถ้าไม่ชัดก็เพ่ิมเบอร์ ขาดเหลือก็ให้ปรับตัวเอา ซึ่งคนทั่วไปส่วนใหญ่ก็เข้าใจอย่างนี้จริงๆ จะก็แต่คนที่มีปัญหาหาที่แก้ไม่จบ แล้วเริ่มค้นหาคนที่มาช่วยแก้ปัญหาให้ตัวเอง ถึงได้เข้าใจว่าการวัดสายตาไม่ใช่ของง่าย
นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยในปัจจุบัน เพราะไม่เคยมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานของผู้ให้บริการตรวจสายตาใดๆทั้งสิ้น มิหนำซ้ำผู้ใหญ่ในประเทศยังพยายามจะลดระดับความสำคัญของการให้บริการด้านสายตาลงมาไม่ให้เป็นเรื่องของการประกอบโรคศิลปะ แต่ให้เป็นเรื่องของการบริการสุขภาพเช่นเดียวกับ สปา ที่ลองผิดลองถูกกันต่อไปได้เท่านั้นเอง ทั้งๆภัยที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขปัญหาผิดก็มีมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง
ไปมองอีกมุมหนึ่งของธุรกิจเกี่ยวกับแว่นตา มองไปที่รถหน่วยเคลื่อนที่ตามงานวัด ตามตลาดนัด หรือแผงลอยตามที่ต่างๆ อย่างกับรูปในตัวอย่าง ผู้ให้บริการควรจะจบอะไรมา มี cost ที่เกิดขึ้นจากการศึกษากี่บาท มี cost ของเครื่องมือกี่บาท (เห็นคอมพิวเตอร์จีนมือสองอยู่เครื่องเดียว) บางที่ก็ไม่มี cost เพราะใช้ที่ศาลาวัดฟรี ใช้ที่ของสถานที่ราชการฟรี ค่าไฟวัดก็ฟรี ห้องน้ำฟรี มีเพียงค่าเติมน้ำมันรถ วิ่งไปตามที่ต่างๆ แล้วก็บอกว่า “ตรวจวัดสายตาฟรี”
แต่ถ้าจะมาอ้างดราม่าว่า ต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน ผมว่าคงจะอ้างเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะการวัดสายตาเป็นการกระทำกับดวงตามนุษย์โดยตรง เป็นการประกอบโรคศิลปะ มีการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา 6 ปี เพราะระบบการมองเห็นมันซับซ้อนและส่งผลต่อการใช้ชีวิตเกินกว่าสิ่งที่คุณคิดมาก แล้วคิดคิดหรือไม่ว่า สิ่งที่คุณทำมันส่งผลเสียหรือสร้างปัญหามากมายขนาดไหน เอากันตรงๆเลยก็คือ เริ่มจากวัดแว่นออกมามั่วๆ ซึ่งไม่ต้องพูดถึงเรื่องการวินิจฉัยระบบการมองเห็น จากนั้นก็เอาของไม่มีคุณภาพไปหลอกขายในราคาแพงให้กับตาสีตาสา เมื่อก่อนปู่กับย่าผมโดนประจำ นี่เรื่องจริง
ไปมองมุมของผู้บริโภค ฉันไม่รู้และไม่สนอะไรหรอก มันก็อีแค่วัดสายตาทำแว่นเหมือนๆกัน ก็ใส่ได้เหมือนๆกัน ทำไมอันนั้นแพงกว่า ทำไมอันนี้ถูกกว่า ทำไมร้านนั้นลดได้ ทำไมของเธอลดไม่ได้ แต่ไม่เคยคิดต่อว่า แว่นที่ได้มานั้น จะทำลายสุขภาพดวงตาของตัวเองหรือจะส่งเสริมสุขภาพดวงตาของตนเองอย่างไร ใช้ไปแล้วดวงตาจะพังหรือดวงตาจะดีอย่างไร เพราะไม่เคยมีใครมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่เคยสนใจด้วย ทั้งๆที่ใช้แว่นตาทุกวัน เหมือนเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย ขาดแว่นเหมือนคนตาบอด ซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด เอาแพงๆได้ ยิ่งแพงยิ่งดี แต่พอจะทำแว่นดีๆให้ตัวเองใส่ กลับทำใจไม่ได้ เป็นมุมมองที่แปลกๆ แต่ถ้าตาใกล้จะพัง เท่าไหร่ก็จ่ายนะเพื่อให้ได้ตาคืนมา แต่ส่วนใหญ่ซื้อคืนไม่ได้ พังแล้วมักจะพังเลย
สิ่งที่ผู้บริโภคคิดผิดไปเองคือ “วัดสายตา ก็คือ วัดสายตา” แต่ไม่ได้รู้จริงถึงที่มาของผู้ให้บริการว่าเป็นใคร มี background มาจากไหน ต่างกันอย่างไร
ดังนั้นคนที่ไม่มี backgrond ที่ดีก็ต้องทำการตลาดด้วยการตรวจฟรี (เพราะต้นทุนไม่มี) ครั้นเรียนทัศนมาตร ที่มีต้นทุนในการทำงานมหาศาลก็ต้องกลายเป็นตรวจฟรีตามๆกันไป ไม่มีใครกล้าเก็บค่าตรวจวินิจฉัยปัญหาการมองเห็น
หันไปมองนวดจับเส้นแก้เมื่อยเขายังคิดค่าบริการชั่วโมงละ 300 บาทได้ โดยลงแรงเพียงอย่างเดียว และความรู้ในการจับเส้นนั้นสามารถไปเรียนฟรีๆได้จาก วัดโพธิ์ท่าเตียน (ซึ่งผมก็เคยไปเรียนมา และ นำความรู้ไปนวดแม่จนหายจากอัมพฤกษ์หลังผ่าตัดกระดูกทับเส้น) นี่เรื่องจริง
กลับมาที่การ “วัดสายตาฟรี” ที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติที่เราเห็นกันจนชินชา และก็ไม่ได้คิดอะไร ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ใครๆเขาก็ทำกัน ซึ่งลึกๆทุกคนต่างก็รู้ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” มีเหตุผลอะไรที่จะต้องลงทุนเป็นแสนเป็นล้าน หรือเป็นสิบล้าน เพื่อวัดสายตาฟรี ทำงานเป็นมูลนิธิหรือยังไง หรือทำเอาบุญ ซึ่งจริงๆ ทุกคนต่างก็รู้ว่านั่นคือรูปแบบการตลาด Marketing 0.4 ซึ่งทำกันมาหลายทศวรรตมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งผมก็ไม่ได้อะไรมากมายกับแนวคิดตรวจตาฟรี เพราะมองว่าเป็น way หนึ่งของการทำธุรกิจ ให้เกิด awearness ล่อให้คนเข้ามาในร้านให้ได้ก่อนจากนั้นค่อยลงมือเชือดหมู (จริงๆมีครูบางคนใช้คำลักษณะที่ว่า เคสนี้ "กินหมู" ใน classes จริงๆ ได้ยินแล้วไม่สบายใจเท่าไหร่)
เมื่อวงการ 0.4 หลงอยู่ในยุค 4.0
ใครๆเขาก็ว่ายุคนี้คือยุค 4.0 เราเห็นพัฒนาการมากมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งมีรถยนต์ไร้คนขับกันแล้วในปัจจุบัน และปีหน้า 5G กำลังเซตระบบอยู่ ถ้าเสร็จแล้วการติดต่อสื่อสารหรือเชื่อมโยงบนโลก cyber จะเกิดขึ้นแบบ realtime โดยไม่มี lag ทำให้คุณหมอผ่าตัดสามารถ ผ่าตัดระยะไกล ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาห้องผ่าตัด สามารถสั่งงานผ่านหุ่นยนต์ที่ระไกลข้ามประเทศได้เลย นั่นก็เรื่องหนึ่ง
แคบลงมาในเรื่องเกี่ยวกับสายตา เราเห็นการแก้ปัญหาการมองเห็นได้ด้วยการผ่าตัดกระจกตา ตั้งแต่ยุคที่ใช้การกรีดกระจกตา ถัดมาเมื่อมีเลเซอร์ก็เริ่มใช้เลเซอร์ขูดกระจกตา (PRK) ซึ่งเจ็บ แผลหายช้า จากนั้นก็เริ่มใช้ LESIK ซึ่งดีกว่า แม่นยำกว่า แผลหายเร็วกว่า และล่าสุดก็ดียิ่งขึ้นไปอีก แผลเล็ก หายเร็ว ไม่เจ็บ ผลการรักษาดีคือ RELEX ซึ่งเราจะเห็นว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นก็เดินทางไปไกลมาก
แต่พอกลับมาดู พัฒนาการเกี่ยวกับ กิจการวัดสายตาประกอบแว่นในประเทศไทย 30 ปีที่ผ่านมา เรามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ที่เห็นชัดๆเลยคือ เรามีวิชาชีพใหม่ที่ดูแลเกี่ยวกับสายตาและระบบการมองเห็นคือวิชาชีพทัศนมาตร เรามีเครื่องมือที่ช่วย investigate ค่าสายตาเช่นเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ เครื่อง Aberrometer ตั้งแต่รุ่นโบราณจนเป็นเครื่อง hi-tech แบบคอมโบตรวจได้สารพัด เรามีเครื่องวัดพารามิเตอร์แบบดิจิทัล มี phoropter ดีๆ และอื่นๆมากมายหลายอย่าง ที่มาช่วยให้การทำงานด้านสายตานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ความเป็นจริงเรากลับพบว่า สิ่งที่เพ่ิมเข้ามาใหม่คือ machine แต่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังเป็นคนกลุ่มเดิมที่ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าธุรกิจทำเงิน ทำให้ result ของการการทำงานบริการด้านสายตาในภาพรวมในประเทศแล้วก็ยังคงเหมือนเดิม มาตรฐานในการให้บริการวัดสายตาประกอบแว่นวันนี้กับ 20 ปีที่แล้ว ไม่ต่างกัน ยังคงมุ่งสู่การเชียร์ขายเลนส์ กรอบตัวไหนขายดี เลนส์ตัวไหนขายดี เชียร์ขายยังไง ทำเลตรงไหนดี คนนู้นขายดี คนนี้ขายดี เขาขายยังไง เกิดเป็นการสอนเทคนิคการขาย ทำยังกับว่าเรื่อง “สายตาเป็นสินค้าขายตรง” ที่ต้องมีเทคนิคการเชียร์ขาย คนไหนเชียร์ขายเก่ง ขายของแพงเก่ง แปลว่าดี ไม่เห็นมีใครอยากจะชื่นชมคนที่ตั้งใจทำงานดี มีอุดมการณ์ อยากทำงานให้ละเอียดปราณีตและถูกต้องที่สุด และปัญหาสูงสุดคือการตรวจของตนเองมีปัญหา แต่ไม่เคยรู้ตัวว่าเป็นปัญหา เพราะไปคิดว่าใครๆเขาก็ทำอย่างตัวทำ ปัญหามันก็เลยเกิดแบบนี้
“ขายแว่นตาขายน้ำอัดลมดีก่า”
คำนี้ เป็นคำจริง ที่ได้ยินจากปาก คนรากหญ้าแถวบ้านพูดให้ลุงผมฟังว่า “ขายแว่นตาขายน้ำอัดลมดีก่า”
เรื่องมีอยู่ว่า คนข้างบ้านผม ถามลุงผมว่า “ตี๋ ไอ้ทิดมันทำอะไร ไม่ค่อยเห็นมันมาบ้าน”
“มันยุ่ง มันทำงานที่ร้านของมัน” ลุงตอบ
“มันทำร้านอะไร” คนข้างบ้านถาม
“ฉันก็ไม่ค่อยรู้หรอก เห็นว่ามันเปิดร้านแว่น อะไรทำนองนั้น” ลุงตอบ
“โว๊..เปิดร้านแว่น เปิดทำไม ขายน้ำอัดลมดีก่า เห็นไอ้ร้านที่มาขายแว่นที่วัด สองร้อยบาท ใช้ได้ยันกุบเก่ากาเล ” คนข้างบ้านเหน็บ
“มันเรียนมาทางนี้ มันคงต้องทำที่มันเรียนมามั้ง” ลุงตอบ
“อะไร กะอีแค่วัดแว่น มันต้องเรียนด้วยเหร่อ ฉันเห็นไอ้คนที่มันเร่ขายแว่นตามงานวัดไม่เห็นมันต้องเรียนหนังสือเลย” คนข้างบ้านเหน็บซ้ำอีกที
ลุงยิ้ม...แล้วไม่ตอบอะไร แล้วมาเล่าให้ผมฟัง แต่ฟังแล้วก็ปกติไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะมีเรื่องไม่ดีอยู่ในวงการนี้เยอะ และทำกันจนกระทั่งเป็นความผิดเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วๆไปที่ใครๆก็ทำกัน เช่นไม่ได้รู้สึกอะไรกับการตรวจสายตาผิด จ่ายค่าเลนส์ผิด ประกอบเลนส์ไม่สนใจเซนเตอร์ หรืออะไรก็ตามแต่ ทำจนคิดว่าคนทั่วๆไปเขาก็ทำกันอย่างนี้ ขายได้อย่างเดียวเป็นพอ ใส่ไม่ได้ก็ปรับตัวเอา แก้ไขหน้างานไป เดี๋ยวลูกค้ามาบ่อยๆ ก็ขี้เกียจมาเอง แล้วก็ใช้มุกเดิมคือ โปรโมชั่นเรียกแขก เป็นวงจรไม่ดีต่อๆกันมา
แต่เรื่องจริงเรื่องนี้ มันทำให้ผมคิดว่า “อะไรที่ทำให้คนรากหญ้า ที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสายตาเลย เลือกที่จะมองร้านแว่นตาแบบนั้น ทำไมเขาไม่รู้สึก proud กับอาชีพแว่นตานี้เลย ทั้งๆที่ การทำแว่นตานั้นเป็นงานที่ควรภาคภูมิใจ เป็นงานที่มี value เป็นงานที่ทรงเกียรติ แต่ทำไมคนระดับรากหญ้าที่รู้อะไรเลยถึงได้ look down วงการแว่นตาได้ขนาดนี้
ทำให้ผมคิดไปคิดมาว่า เหตุมันคืออะไร ทำไมคนไม่ proud ในอาชีพ หรือแม้แต่คนที่ให้บริการเองก็ยังไม่ค่อย pround ในอาชีพตัวเอง บางคนเรียนมาแล้วก็ไม่อยากทำงานในอาชีพตนเอง ขนาดเด็กนักเรียนทัศนมาตร เวลาทำค่ายเปิดบ้านทัศนมาตร ยังพยายามใช้ชื่อค่ายว่า “เปิดบ้านหมอสายตาเลย” แทนที่จะใช้ชื่อว่า "เปิดค่ายทัศนมาตร" ถ้ามีเด็กถามว่า ทัศนมตรเรียนทำอะไร เปิดร้านตาหรือเปล่า เด็กก็จะพยายามตอบเลี่ยงๆว่าไม่ได้เรียนเพื่อ วัดสายตาประกอบแว่น แต่ทำอย่างอื่น แต่ก็ตอบวนๆ เหมือนงูกินหาง เพราะงานทัศนมาตรแม้จะเป็นเรื่องของการ ตรวจวินิจฉัยระบบการมองเห็น แต่ปัญหาสายตาก็เป็นหนึ่งในนั้นที่สำคัญ และการแก้ไขก็หนไม่พ้นเรื่องแว่นตา แต่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่รู้สึก proud ในความเป็นคนทำงานเกี่ยวกับแว่นตา ก็เลยต้องเลี่ยงตอบแบบนั้น แล้วอะไรหล่ะที่ทำให้เด็กไม่ proud ในการทำงานเกี่ยวกับสายตาหรือแว่นตา
ซึ่งก็คงต้องย้อนกลับไปดูว่า เด็กเก่งเรียนอะไร
ในอดีต คนเก่งๆ เขาต้องไปเรียนเป็น แพทย์ วิศวะ สถาปัต ของมหาลัยดังๆ มีคนเรียนเก่งกี่คนที่มีความฝันว่า โตไปแล้วอยากทำอาชีพเปิดร้านแว่นตา ตรวจสายตา หรือทำแว่นตา
แม้แต่ผมเอง สมัยเรียนอยู่ ร.ร.วัดเขมาภิรตาราม (โครงการวิทยาศาสตรฺ์) ผมเป็นเด็กวิทย์ห้อง King สอบเข้าโครงการวิทย์ด้วยคะแนนลำดับที่ 1 (แต่อยู่ๆแล้วบันเทิงไปหน่อย เลยร่วงจากหัวแถว มาอยู่รองจากหัวแถว) เพื่อนส่วนใหญ่เรียนวิศวะ เภสัช สัตวแพทย์ แพทย์ เทคนิคการแพทย์ มีผมคนเดียวที่เรียนทัศนมาตร จนกระทั่งปัจจุบัน เด็กโรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ก็ยังไม่มีเพ่ิมที่เข้ามาเรียนสาขาทัศนมาตรเพิ่ม (ถ้ามีช่วยแจ้งให้ทราบด้วยก็ดี อยากเจอรุ่นน้องมากๆ) คือคนส่วนใหญ่ถ้ารู้ว่าเรียนเกี่ยวกับงานที่ต้องไปทำแว่นแล้ว ขอบายดีกว่า ทั้งๆที่ตัวเองก็มีปัญหาสายตาและจำเป็นต้องใช้แว่น
ผมยังจำได้ดีว่า หลังเรียนจบแล้วม.ปลายแล้ว ผมไปสมัคร ทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิตนั้น ผมถูกคัดค้านจากทุกคน ไม่มีใครสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับการที่ผมจะเลีืือกเรียนทัศนมาตร เพียงเพราะเรียนจบไปแล้วมันต้องไปทำงานเกี่ยวกับแว่นตา ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่า แว่นตาแล้วมันทำไมเหรอ แต่ก็ไม่รู้สิ คนทั่วไปไม่ค่อยเห็นด้วยกับการให้ลูกหลานไปเรียน และไม่ใช่เพียงแต่ในครอบครัวเท่านั้น เพื่อนเรา ครูเรา ที่ไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เราเลือก ก็ดูจะไม่ pround ในสิ่งที่เราคิดจะเรียนสักเท่าไหร่ คือเขาคิดว่า ถ้าเราเรียนดีขนาดนี้ เราน่าจะไปทำอะไรได้ดีกว่านี้ ประหนึ่งว่า สายตาเป็นเรื่องง่าย ใครๆก็ทำได้ ไม่ต้องเรียนหนังสือก็ได้ ทั้งๆที่ความจริงนั้นตรงกันข้าม มีแต่เด็กทัศนมาตรเท่านั้น ที่รู้ว่า สาขาทัศนมาตรนั้นเรียนยากและหนักขนาดไหน มันเป็นวิชาประเภท Bio+Chem + physic + Math+Psyco นั่นแหล่ะทัศนมาตร
เรียนสายตาแต่ต้องเรียน calculus I,II ต้องเรียน Physic 4 ตัว ส่วน chem กับ bio นี่เรียนตลอด ตั้งแต่ Gen chem , org. chem , bio-chem , เพื่อจะเรียน gen pharm และ oph pharmให้รู้เรื่อง เป็นต้น ต้องเข้าใจ calculus เพื่อให้สามารถคิดได้อย่างเป็นระบบ และให้เห็นความสำคัญของกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และระบบ backup recheck เขาเรียนอะไรบ้าง ไปอ่านในลิ้งดูนะครับ http://www.loftoptometry.com/Optometry-Program
คือมันยาก กว่าจะได้ซึ่งความรู้ทัศนมาตรมา มันไม่ได้ง่ายอย่างที่ แผงรถหน่วยเร่วัดสายตาเคลื่อนที่ทำกัน
แล้วอะไร หรือ ตัวอย่างอะไร ที่ทำให้คนทั่วไปมองร้านแว่นตาแบบ negative
ผมมานั่งมองและพิจารณาและได้ปรึกษากับเพื่อนๆ ในวงการแว่นตาว่า อะไรเป็นต้นเหตุให้คนทั่วไปมองร้านแว่นตาแบบ negative ออกแนว look down ด้วยซ้ำไป
ปัญหาจากการเรียนการสอนหรือเปล่า
ปัญหาจากการเรียนการสอนก็ไม่น่าใช่ เพราะทัศนมาตรนั้น มีการเรียนการสอนแบบเข้มข้น ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี รู้ลึก รู้จริง เกี่ยวกับปัญหาสายตาและระบบการมองเห็น แต่ก็เป็นส่วนน้อยเพราะทัศนมาตรในประเทศไทยนั้นยังมีไม่ถึง 300 คน แต่ก็จะเพ่ิมมากขึ้นในอนาคต จากกำลังการผลิตปีละ 100 คน จาก 3 มหาวิทยาลัย ไม่นานเราจะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆในการบริการด้านสุขภาพและปัญหาที่เกิดเกี่ยวกับระบบการมองเห็น
ปัญหาจากเครื่องมือในการทำงานหรือเปล่า
ปัญหาจากเทคโนโลยีการตวจ ก็ไม่น่าใช่ เพราะปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีที่เป็นเครื่องมือช่วยในการประเมินและนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาการมองเห็นนั้นถือว่า advance กว่าในอดีตมาก แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ การทำงานแบบ subjective หรือแม้แต่ objective เกี่ยวกับระบบการมองเห็นนั้น machine ไม่เคยทำได้ดีกว่ามนุษย์ machine จะทำงานได้ดีกับการ investigate ทางกายภาพเท่านั้น แต่ทำ visulual function ได้ไม่ดี
ปัญหาจากคนที่จะเข้ามาในวงการหรือเปล่า
ประเด็นนี้ผมว่าเป็นไปได้มากที่สุด ผมถามเพื่อนในวงการที่อยู่มานาน และรักในอาชีพช่างแว่นตานี้มาก ผมถามเขาว่า “ผมเชื่อว่ามีจริงๆคนที่ อยากเป็นหมอ ครู ตำรวจ ทหาร วิศวกร สถาปิก ศิลปิน นักวาด หรือแม้แต่เจ้าของร้านกาแฟ แต่เฮียว่า...มีกี่ % ของคนที่ทำร้านแว่นตา ที่รู้สึกว่างานแว่นตาเป็นอาชีพที่รักมาก เรียนจบจะต้องจบเพื่อไปทำงานเกี่ยวกับตรวจสายตาหรือเปิดร้านแว่นตา ”
เฮียตอบว่า “จากประสบการณ์ 20 ปีในวงการแว่นตา ขอตอบว่า ... ไม่มี ถ้าเด็กคนไหนเรียนเก่งๆ ก็ส่งไปเรียนเป็น แพทย์ ทันต เภสัช วิศวะ สถาปัต ดังนั้นในอดีตคนที่มีความฝันว่าอยากจะมาเรียนทำแว่นนั้นไม่มี ปัจจุบันก็ไม่มี และอนาคตถ้ายังเป็นกันอยู่อย่างนี้ ก็คงจะตอบว่าไม่มีเหมือนเดิม ดังนั้นถ้าจะมีก็แต่คนที่มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจแว่นตา มองเห็น profit จากการขายแว่น เข้ามาเรียนทำแว่น เพื่อขายแว่น หรือที่จะมีก็คือพ่อแม่ทำร้านแว่นแล้วส่งลูกมาเรียนทัศนมาตรเพื่อสานต่อธุรกิจแว่นเดิม ส่วนจะรักในการทำงานแว่นตาแล้วเลือกมาเรียนโดยตรงนั้นยาก แล้วเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องเฮีย(หมายถึงผม) มีกี่คนที่จบแล้วออกไปทำร้านของตัวเอง ก็ไม่กี่คนใช่ไหมหล่ะ นั่นแหล่ะ มันเป็นเรื่องยาก เพราะคนไม่รู้เรื่องมันทำภาพพจน์วงการพังหมดแล้ว"
เฮียเล่าต่อว่า " จุดเริ่มต้นของการทำลายภาพลักษณ์ มันเริ่มจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับสายตาอย่างลึกซึ้ง ทำให้ไม่มีจุดแข็งอย่างอื่นเลย วิธีที่จะสู้ได้คือ นำโปรโมชั่นไปล่อผู้คนมาเพื่อรอเชือด ตัวล่อที่ดีในยุคนั้นสมัยนั้นคือเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็มาตั้งโชว์อยู่หน้าร้าน แล้วใครเดินผ่านมาผ่านไปก็โบกมือขวัก กวักมือเรียกมานั่งเอาคางวางหน้าผากชิด ยิงทีสองที ไม่ค่าจะออกมาเป็นอะไรก็จะเชียร์ทำแว่น พอมีคอมพิวเตอร์กันหมดทุกร้านแล้ว ตัวล่อประจำที่งัดมาเล่นคือโปรโมชั่น ซึ่งเขาก็ทำกันอย่างนี้ จนภาพพจน์ของวงการเสียหาย และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอย่างนี้ วงการแว่นตาในประเทศไทยจึงไม่เคยห่างหายจากโปรโมชั่น และดูจะรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ตรงข้ามกับความรู้ที่ยังดูทรงๆ ทรุดๆ และล้าหลัง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน"
ฟังแล้วก็จริง เพราะผมก็โตมากับโฆษณาในทีวีของร้านแว่นตาแบรนด์ดังที่มีโมเดลการทำธุรกิจแบบร้านสะดวกซื้อ ที่ไม่ได้ให้ภาพลักษณ์กับการตรวจสายตาว่าเป็นเรื่องสุขภาพ แต่ชี้นำว่า สายตาคือสินค้าที่มาพร้อมกับของแถมมากมาย และพลาดไม่ได้กับการ mark up over price เพื่อทำ discount promotion 50 % ดูก็ขำๆ แต่ลึกๆก็แอบ look down วงการนี้ในใจ แต่สุดท้ายก็ต้องมาอยู่ในวงการนี้จนได้
ดังนั้นคนที่จะเข้ามาในวงการนี้ และรักในอาชีพนี้จริงๆ คิดว่าไม่ได้มีมากมายนัก (ถ้ารักคงไม่ทำลายวงการ) ส่วนใหญ่ก็คงเห็นโอกาสในการทำธุรกิจเท่านั้นเอง ไม่ได้แคร์ภาพลักษณ์ของวงการ ทำให้ภาพลักษณ์ที่ออกไปนั้น เป็นภาพลักษณ์่ที่ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีปัญหา ก็ขนาดเรายัง look down นับประสาอะไรกับคนทั่วไป เพราะไม่มีภาพอะไรให้มองนอกจาก ใช้โปรโมชั่นหลอกหมูมาเชือด ได้ยินครูบางคนสอนเด็กว่า “กินหมูๆ” ได้ยินแล้วยังตกใจว่าอะไรคือกินหมู
แนวทางการแก้ไขปัญหาของเรื่องนี้นั้นคงอยู่ที่ทำให้คนที่ทำงานอยู่ในอาชีพนั้น รู้สึกรักอาชีพ/วิชาชีพตนเองขึ้นมาก่อน ช่างแว่นตาก็รักในอาชีพของการเป็นช่างแว่นตา ทัศนมาตรก็รักในวิชาชีพของทัศนมาตร ซึ่งจะรักตนเองได้มันต้องเกิดจากความรู้สึกภาคภูมิใจจากการได้ทำงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถ และไม่หยุดที่จะค้นหา ค้นควา ตำราและฝึกฝน ให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อมุ่งให้การบริการด้านสายตาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างค่านิยมใหม่ว่า ตรวจตาได้ดีแก้ปัญหาได้ดีและถูกต้องแปลว่าดี ไม่ใช่เชียร์ขายเก่งแปลว่าดี
ถ้าทุกคนเริ่มทำ วงการแว่นตาจะค่อยๆใส สว่าง กระจ่างใส ขึ้นเรื่อย ส่วนกระฝ้า ดำๆ ก็ค่อยๆ fade ออก อาจจะด้วยการพัฒนาตนเองให้ใสขึ้น หรืออาจจะด้วยการแพ้ภัยตนเอง เพราะในยุคที่ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างในปัจจุบันนี้ บอกเลยว่า “ถ้าคิดจะกินหมูนั้น ยาก เพราะไม่มีหมูให้กินมากมายอย่างในอดีตแล้ว”
สุดท้าย
มันน่าจะต้องถึงเวลาที่จะต้องยกเครื่องวงการแว่นตาในบ้านเราให้กลายเป็นเรื่องของการประกอบโรคศิลปะ มีการควบคุมมาตรฐานการบริการให้มีหลักมีเกณฑ์ ซึ่งแน่นนอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมเจ็บปวดเสมอ แต่ผลลัพธ์นั้นหวานหอมเสมอ โดยเริ่มจากเราปัจเจกชน เริ่มทำสิ่งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ให้รู้สึกผิดบ้างเวลาจ่ายค่าสายตามั่วๆออกไป และละอายแก่ใจบ้างเมื่อรู้สึกว่ากำลังหลอกเพื่อเชียร์ขาย ทั้งๆที่สายตาก็ยังวัดไม่ถูก แล้วก็ขืนใจให้คนไข้นั้นทนๆปรับตัวเอา ปรับไม่ไหวก็ย้ายหนีไปเอง แล้วก็มาหาเหยื่อใหม่ไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ดีแน่นอน และวงการจะเสียหายในระยะยาว และเหนือสิ่งอื่นใด ถึงเวลาที่จะมองเรื่องสายตาเป็นเรื่องสุขภาพได้แล้ว เพราะผู้บริโภคเขาเริ่มเข้าใจว่าสายตาเป็นเรื่องสุขภาพกันแล้ว แล้วเราในฐานะผู้ให้บริการด้านสายตา พร้อมแค่ไหนที่จะดูแลสุขภาพเขา หรือยังจะมองว่า แว่นตาคือ สินค้าที่ซื้อมาขายไป ใส่ไม่พอดีก็เอามาเปลี่ยน หรือลองไปเรื่อยๆจนกว่าจะถูกใจ มันต้องมีหลักมีเกณฑ์กว่านั้นไหมอะ
และขอชื่นชมกับทุกท่านที่ทำงานด้วยศักดิ์ศรี ด้วยความรักต่ออาชีพ/วิชาชีพ ขอให้ท่านเจริญรุ่งเรืองในอาชีพแว่นตาที่ท่านเดิน ขอให้ท่านมีความสุขกับการได้ช่วยเหลือคนไข้ของท่านให้มีความสุขกับการใช้ชีวิตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุดท้ายถ้ารู้จักพอเพียงก็สุขเพียงพอ
ทั้งหมดทั้งมวล พูดและติเพื่อก่อ เพื่อให้การดูแลเกี่ยวกับสุขภาพสายตาของคนไทยนั้นเป็นเรื่องสุขภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีมาตรฐานในการบริการที่เทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งหมดนี้แม้จะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และดูจากอาการแล้ว เหมือนคนป่วยเรื้อรังมานาน และผมก็คิดว่าเรื่องที่เล่ามานี้ พอจะขมวดให้เห็นว่า สาเหตุของโรคเรื้อรังนี้เกิดจากอะไร ใครเป็นเชื้อโรค และจะรักษาโรคนี้ได้อย่างไร เพื่อหวังว่าวันหนึ่งโรคนี้จะหายไป และจะอยู่อย่างมีความสุขกว่าวันวาน
สวัสดีครับ
ดร.ลอฟท์