เมืองไทยมีเรื่องลี้ลับรอการพิสูจน์สิงอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งที่มีคำอธิบาย และ ยังหาคำอธิบายไม่ได้ หรือแท้จริงอาจไม่ต้องการคำอธิบาย เพราะถ้ามีคำอธิบายแล้วอาจทำให้คนบางคนบางกลุ่มหากินลำบาก ทำให้เกิดเป็นความเชื่อต่างๆขึ้นมา พ่อปู่ไบรอัน พ่อปู่โดราเอมอน ก็ยังมีคนที่กราบไหว้บูชา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีเรื่องลักษณะนี้ เพราะบ้านเรานั้นมีคำว่า "ถ้าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่" แทนที่ว่า "ถ้าไม่เชื่อ ก็ให้พิสูจน์" ซึ่งก็คงจะไม่ว่ากันในส่วนนี้เพราะความเชื่อเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน
แม้ความเชื่อเป็นสิ่งที่มีพลัง แต่ต้องกอปรไปด้วยปัญญา ซึ่งปัญญาจะเกิดมีได้มันต้องเป็นพหูสูตร เป็นผู้อ่านมาก ฟังมาก ศึกษามาก ปัญญาถึงจะเกิดได้ แต่ถ้าเชื่อด้วยการขาดปัญญา เขาเรียกว่า “งมงาย” ด้วยเหตุว่าบ้านเราอาจจะมีระบบที่สอนให้เชื่อไว้ก่อน “อวิชชา” ต่างๆ เลยเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่วงการวิทยาศาสตร์ มีเรื่องพูดเล่นกันว่า ด๊อกเตอร์นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นผู้รู้อย่างสุดซึ้งในสายสาขาวิชาที่ตนจบมา และจะไม่ยอมก้มหัวให้กับใครในความรู้ของตน ยกเว้น "หมอดู" ดังนั้นแนวคิดพื้นฐานของคนบ้านเรา จึงเอื้อให้เกิดไสยศาตร์ต่างๆขึ้นมาได้มากมายหลายรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่กับผู้ที่ได้ชื่อว่าฉลาดที่สุด
มองแคบลงมาถึงสาธารณสุขด้านสุขภาพตา สายตา ก็ยังมีสิ่งลี้ลับสิงอยู่มากมายเช่นกัน แม้จะเลยมาถึงยุค 4.0 แล้ว เราก็ยังทันได้เห็น D-contract ซึ่งรักษาตาไม่ได้สักโรค เราได้ทันเห็นน้ำยาป้าฉึ่งที่หยอดกันให้ตาบอดกันไปข้างหนึ่งแล้วค่อยไปให้หมอด่า เราได้ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีการสลายต้อกระจกในประเทศไทยที่แสนไฮเทคยิ่งกว่า Femto Laser Cataract Surgery ไปอีกขึ้น เกิดขึ้นที่ภูธร ในประเทศไทย คือการสลายต้อด้วยเอาหนามบ่งต้อ เราฟัง เราอ่าน เราเชื่อ ทุกอย่างที่เป็นความเชื่อและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เราไม่สนใจที่จะติดตามวิทยาการที่แท้จริง
มองให้แคบลงไปอีก ในวงการสาธารณสุขสายตา วงการแว่นตา อันนี้หนักเลย มีเชื่อศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย แบบไม่น่าเชื่อว่าจะมี เช่น
อย่าใส่แว่นบ่อยเดี๋ยวติดแว่น เพราะเมื่อก่อนไม่ติดแว่นก็อยู่ได้หลังๆถอดไม่ได้เลยเห็นไหมแว่นตาทำให้ตาเสีย
(เคยใส่แว่นที่จ่ายค่าไม่ตรงไหม ถ้าไม่ดีไม่มีใครทนใส่ได้ )
การใส่แว่นทำให้สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น
(ทั้งๆที่งานวิจัยออกมาตรงข้าม)
ฝึกความแข็งแกร่งของดวงตาด้วยการเพ่งมองดวงอาทิตย์
(อันนี้อาการหนัก ทำเป็นเข้าฟิตเนสเลยนะ)
ต้องจ่ายค่าสายตาอ่อนๆไว้เดี๋ยวคนไข้ปวดหัว
(อันนี้ไปกันใหญ่ เพราะเรื่องจริงคือหาค่าที่ถูกต้องไม่เจอ)
ชัดแปลว่าสายตาถูกต้อง
(อันนี้ก็ยิ่งสยอง เพราะ ชัด ไม่ได้บอกอะไรมากกว่าชัด เพราะความชัดอาจเกิดจากค่าสายตาสั้นที่จ่ายเกินไปแล้วเพ่งเอาก็ได้)
อย่าไปใช้ค่าสายตาเต็มเดี๋ยวสายตาสั้นเพิ่ม
(เป็นข้ออ้างให้กับคนที่หาค่าสายตาจริงไม่เจอเอาไว้พูด ว่าเขาไม่ได้จ่ายผิด แต่เขาตั้งใจไม่จ่ายเต็ม)
อย่าไปจ่ายเต็มในเด็กเล็กเดี๋ยวตาเขาปรับค่าสายตาให้ปกติได้เอง
(อันนี้เรื่องจริง คนที่คิดอย่างนี้ได้แสดงว่าเข้าใจกระบวนการ Emmetropization)
อย่าให้คนไข้ชัดเกินไป เดี๋ยวคนไข้ปวดหัว
(อันนี้โมหะหนัก)
ดังนั้นวันนี้เรามาให้ปัญญากันสักเรื่องหนึ่ง ที่ได้ยินมาบ่อยจนทนไม่ไหวแล้วว่า “อย่าไปจ่ายให้เขาชัดเกินไป เดี๋ยวปวดหัว” เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ไม่จริง หรือไม่ อย่างไร ในสากลโลก
เคยคิดไหมว่าฝรั่งจะมีสอนกันเหมือนคนไทยไหมว่า
“Do not make the patient see too sharp or too clear vision ,it can cause Headache”
แต่ที่เรียนทัศนมาตรมา 6 ปี อ่านตำรา texbook ฝรั่งหลายเล่ม เรียนก็เรียนกับอ.ฝรั่งหลายท่าน ก็ไม่เคยเห็นวลีประมาณนี้ มีแต่
“please do not prescribe Over minus to patient ,it’s can cuase Headache , eye strain , and binocular function anomalies”
เป็นต้น คือให้ระวัง ถ้าคนไข้สายตาสั้น อย่าไปจ่ายค่าสายตาสั้นที่เกินค่าสายตาสั้นจริง เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดหัว ปวดเครียดลูกตา และ ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานร่วมกันของสองตาได้ ความหมายของเรื่องนี้คือ “ให้จ่ายค่าที่ถูกต้อง หรือ Full Correction และห้ามจ่าย Over minus ”
ดังนั้นเรื่องราวเหล่านี้ วิทยาศาสตร์การแพทย์ของโลกเขาพิสูจน์มานานแล้วว่า “too sharp can cause headache” ไม่มีอยู่จริง แต่บ้านเราก็ยังคงเชื่อติดตัวกันมา แล้วถ้าว่าด้วยความเชื่อแล้วมันแก้กันยาก ตัวอย่างเช่นเรื่องที่จะพูดถึงในวันนี้คือ “อย่าจ่ายแว่นให้ชัดเกินไป เดี๋ยวปวดหัว” กลายเป็นการเปิดช่องให้คนที่หาค่าสายตาจริงไม่เป็นเอาไว้เป็นช่องหลบเมื่อไม่รู้หรือไม่มั่นใจว่าค่านั้นจริงที่ถูกต้องหรือไม่ พอมีช่องให้หลบได้ และปั่นให้ประชาชนเข้าใจได้แบบนั้น ผลก็คือ ใครก็สามารถตรวจตาได้ ขาดบ้าง เกินบ้าง ไม่เป็นไร เอาปลอดภัยหน่อยก็อย่าไปจ่ายให้ชัดเกินไป เดี๋ยวคนไข้ปวดหัว
จริงๆ ไม่มีศัพทย์แพทย์ว่า “ชัดเกินไป” ในพจนานุกรมทัศนมาตร หรือ อะไรก็ตามแต่ มีแต่คำว่าจ่ายค่าสายตาที่เกินค่าจริง หรือ over minus หรือ under plus
คำตอบก็คือ ค่าที่เกินจริง ก็ไม่ได้ช่วยให้คนไข้ชัดมากไปกว่าคนสายตาปกติ (emmetropia) หรือชัดมากไปกว่า VA 20/15 +
เช่น คนไข้สายตาแท้จริง -1.00D อ่าน VA ได้ 20/20 หรือดีกว่า แม้เราจะจ่ายค่าที่เกินจริงเช่น -1.25 -1.50 -1.75 -2.00 ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้ทำให้คนไข้เห็นได้มากกว่า VA 20/20 หรือดีกว่าค่า BCVA (best corrected visual acuity) เพียงแค่ดำขึ้นและตัวหนังสือดูเล็กลงเท่านั้นเอง และเป็นภาระที่เลนส์ตาต้องใช้กำลังในการ accommodate ให้ภาพคมชัด เกิดเป็นปัญหา eyestrain ตามมา
ดังนั้นหลักในการจ่ายเลนส์จึงถูกกำหนดขึ้นมาว่าต้องเป็นค่า Maximum Plus Maximum Visual Acuity หรือ MPMVA คือถ้าคนไข้เป็นสายตาสั้น ให้จ่ายเลนส์ลบที่น้อยที่สุด ที่ทำให้คนไข้เห็นเท่ากับคนปกติ คือ VA 20/20 หรือดีกว่า ซึ่งโดยปกติค่าสายตาที่ corrected ดีจริงๆ จะอ่านได้ถึง VA 20/15 หรือ 20/10 - ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าคนไข้เป็นสายตายาวมองไกลแต่กำเนิด ให้จ่ายค่าเลนส์เป็นบวกมากที่สุดที่ทำให้คนไข้เห็นได้ชัดเท่ากับคนปกติ คือ VA 20/20 หรือดีกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่อง Over Plus เพราะถ้า over plus เมื่อไหร่ คนไข้ไม่มีทางที่จะอ่าน 20/20 ได้อยู่แล้ว
ดังนั้นการจ่ายเลนส์ จึงไม่มีเรื่องของการชัดเกินไป มีแต่การจ่ายเบอร์เกิน ที่เกิดจากการไม่สามารถหาค่าที่แท้จริงได้
ไม่จริง เพราะแท้จริงแล้ว คนที่ใช้ค่าที่เกินจริงนั้น ไม่ได้อ่านได้ VA ที่มากกว่า 20/15 (และความจริงก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมองอะไรที่เล็กขนาดนั้นในชีวิตจริง) แต่ที่เขาบอกว่าชัด เพราะเขาติดในความดำๆ บีบๆ เล็กๆ แสบๆ จ้าๆ ของตัวหนังสือ เขาเลยตีอาการของเลนส์ตาที่เพ่งอยู่นั้นว่าเป็นอาการชัดเกินไป จริงๆ ไม่ได้ชัด แต่เป็นอาการเครียดของเลนส์ตาที่ต้องเพ่งหนักกว่าปกติ ภาพที่เห็นจะดูบีบๆ คมๆ แสบๆ จ้าๆ แสบตา น้ำตาไหล เหมือนชัด แต่พอให้อ่าน VA ก็อ่านได้ไม่เกิน 20/15 หรือบางครั้งก็แย่กว่า 20/20 เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นในการทำงานทางคลินิก เวลาจะพูดว่าชัดหรือไม่ชัด ถ้าไม่วัดกันด้วย VA chart ก็คงตีกันไม่เลิก เพราะไม่มีมาตรฐานมาจับ
เรื่องมันยาว เข้าไปอ่านต่อในบทความที่ผมเคยเขียนมาแล้ว https://www.loftoptometry.com/whatnew/ห้องตรวจ 6 เมตรจำเป็นแค่ไหน
ดังนั้น วาทกรรม ข้ออ้างว่า อย่าชัดเกินไปเดี๋ยวปวดหัว จึงไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเพียงข้ออ้างเมื่อหาค่าที่แท้จริงไม่เจอ และเพื่อเป็นการพัฒนาวงการแว่นตาในประเทศไทย คำนี้จึงไม่ควรนำมาใช้เพื่อเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นให้คนไข้เขว และต้องทนใช้ค่าที่ไม่ใช่ค่าที่ best corrected
ตราบใดร้านแว่นตายังไม่ได้ใช้ VA chart ที่ระยะ 6 เมตร เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ก็ยากที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว และพูดได้ยากว่าใครถูกใครผิด เพราะเราไม่ได้อยู่บน standard หรือ reference เดียวกัน แต่ criteria ในงาน Optometrist ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำ refraction หรือ ทำเรื่อง binocular vision เราจะอ้างอิงว่าทำเป็นระยะ 6 เมตรทั้งหมด ถึงจะสามารถเล่าต่อไปได้ว่า อาการที่ตรวจเจอเป็นอย่างไร พบความผิดปกติอะไรบ้าง บน criteria ที่เราใช้
และในการตรวจสายตา เราต้องยึดหลักเดียวกันคือ Maximim Plus Maximum Visual Acuity หรือ MPMVA ในการตรวจหาค่าสายตา เพราะทัศนมาตรทำงานบนหลักของสเกลตัวเลขที่อยู่บนระบบที่มาตรฐาน ไม่ใช่ระบบมโน คือ คิดเอาเอง ก็จะช่วยให้เรื่องมโนว่า “อย่าจ่ายให้ชัดเกินไป เดี๋ยวปวดหัว” จะหมดไปจากประเทศไทย และมาตรฐานสาธารณสุขสายตาก็จะถูกยกขึ้นไปอีกระดับ
วันนี้ สรุปสั้นๆว่า “ชัดเกินไป ไม่มีอยู่จริง และค่าสายตาสั้นที่เกินจริงก็ไม่ได้ทำให้ชัดกว่าคนปกติ” ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วาทกรรม นี้ จะถูก fade ออกจากระบบสาธารณสุขไทย ด่วน!!! เพราะถ้าการชัดเกินไปทำให้ปวดหัวจริง เราจะต้องโทษบริษัทผู้ผลิตทีวี OLED แล้วหล่ะว่า ทำ 4K ,8K ออกมาทำไม เดี๋ยวชัดเกินไปคนจะปวดหัว