เปิดโลกโปรเกรสซีฟ

ตอนที่ 11 คอริดอร์คืออะไร และ สำคัญอย่างไรกับโครงสร้างโปรเกรสซีฟ 

Dr.Loft  

,update 26 December 2019

 

 

บทนำ 

 

พื้นฐานโปรเกรสซีฟตอนที่ 1 วันนี้ ผมจะมาพูดถึงเรื่องที่เรียกว่า เป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งเชื่อว่าหลายๆท่านคงเคยได้ยิน เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง สับสนบ้าง จำได้แต่ไม่เข้าใจบ้าง  ดังนั้นวันนี้ก็เลยอยากจะมา clear ใจสำหรับเรื่อง corridor ที่ถูกกำหนดมาบนเลนส์โปรเกรสซีฟ ว่ามีความหมายต่อการออกแบบเลนส์อย่างไร และแต่ละอันนั้นจะเหมาะกับใคร และนำไปใช้อย่างไร 

 

ในรูปเลนส์ที่นำมาให้ดูเป็นตัวอย่างด้านบนนั้น เป็น stamp เหลืองบอกตำแหน่ง reference point ต่างๆที่อยู่บนเลนส์ เพื่อใช้ในการ fitting เลนส์ให้เข้ากับกรอบให้ได้เซนเตอร์และได้จุดอ้างอิงสำหรับการใช้งานนั้น ถูกต้องและเหมาะสมตามที่ lens designer ออกแบบโครงสร้างมา 

 

"วงกลมวงบน" คือ "พื้นที่มองไกล" โดยจุดตรงกลางวงกลมวงใหญ่เป็นจุดชัดที่สุดสำหรับมองไกล เรียกว่า DF  หรือ Design point at far  หรือเป็นจุดที่ lens designer ออกแบบมาเพื่อให้มองไกลชัด

 

"วงกลมวงล่างสุด"  เรียกว่า "วงอ่านหนังสือ" โดยจุดศูนย์กลางวงกลม(ที่มีกากบาทอยู่)เรียกว่า จุด DN หรือ Design point at near ที่ lens designer เขาออกแบบมาให้เป็นจุดดูใกล้ที่ชัดที่สุด 

เลนส์โปรเกรสซีฟคือเลนส์ที่มีการ varies curve แบบ gradient ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นรอยต่อของมัน แต่จริงๆความโค้งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงของการเดินทางจากตำแหน่งมองไกลไปตำแหน่งมองใกล้  ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราสามารถใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟแล้วสามารถเห็นชัดได้ทุกระยะ 

 

"เส้นทางทั้งหมดที่มีการ varies curve จากจุด DF ไปยังจุด DN" เราเรียกว่า "progressiv zone length"

 

"ส่วน corridor คือสะพานที่ลากจากตำแหน่ง fitting cross หรือตำแหน่งฟิตติ้ง ลากมาเชื่อมระหว่าง border line ของ Reading Zone"

 

แล้วมันสำคัญอย่างไร 

 

ก่อนอื่นเราต้องยอมรับกันก่อนว่า  "lens progressive เป็นเลนส์ที่มี compromise"  คือมีเนื้อบางที่สามารถใช้งานได้ชัดและดูได้ทุกระยะอยู่จริงและก็มีภาพมัวหรือภาพบิดเบี้ยวด้านข้างเรียกว่า distortion  ซึ่งเป็น compromise ของเลนส์โปรเกรสซีฟ ไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่แพงเทคโนโลยีสูงสุดขนาดไหน ก็ยังคงหนีเรื่อง distortion นี้ไม่พ้น 

 

ถ้าเกิดว่าผู้อ่านได้ติดตามผมมาแต่ต้น  ผมได้พูดเสมอว่า "distortion ไม่ใช่ปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้คนไข้ไม่สามารถใช้งานหรือปรับตัวกับเลนส์โปรเกรสซีฟ   แต่ปัญหาคือ distortion นั้นไม่ได้อยู่ในที่ที่สมควรจะอยู่"   ซึ่งผมได้ยกตัวอย่างว่า  แม้ขยะจะเป็นสิ่งที่คนอยู่ในบ้านไม่ต้องการ  แต่ขยะไม่ใช่สาเหตุที่บ้านไม่น่าอยู่  แต่ขยะที่ไม่ได้ถูกเก็บไว้เป็นที่เป็นทาง หกเลอะเทอะออกมาทั่วบ้านไปหมดต่างหากที่เป็นปัญหา 

 

ดังนั้น ขยะบิดเบี้ยวเหล่านี้ ถ้าสามารถตีขอบเขตให้อยู่ในวงจำกัดและไม่ออกมาเพ่นพ่านอยู่ในพื้นที่ใช้งาน  ก็ไม่มีเหตุอะไรเลยที่คนไม่สามารถใส่เลนส์โปรเกรสซีฟได้  แต่ที่ใส่ไม่ได้ก็เพราะว่า ขยะวิ่งออกมากวนเต็มสนามภาพไปหมด  ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุด ก็หนีไม่พ้น  refractive error ที่แก้ผิด  แก้ไม่หมด หรือ โครงสร้างเลนส์ไม่ดีจริงๆ  หรือเซนเตอร์ไม่ได้ศูนย์ หรือมุมแว่นไม่เหมาะสม เหล่านี้ เป็นสาเหตุของ ขยะบิดเบี้ยวไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ 

 

ทีนี้สมมติว่า โครงสร้างเลนส์ดีแล้ว สายตาดีแล้ว ตำแหน่งฟิตติ้งได้เซนเตอร์ดีแล้ว มุมพารามิเตอร์ต่างๆดีแล้ว  แล้วเลนส์แต่ละรุ่นมันแตกต่างกันอย่างไรหรือคอริดอร์ไปมีส่วนร่วมในการดีไซน์เลนส์นี้อย่างไร 

 

คอริดอร์ เป็นตัวแปรสำคัญในการเคลื่อนย้ายขยะ และ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจะเปิดพื้นที่ใช้งานว่าต้องการสนามภาพชัดที่ระยะไหนมากน้อยกว่ากัน  แต่ก่อนที่จะไปเข้าใจการออกแบบเลนส์ เราต้องเข้าใจพื้นฐานของเลนส์โปรเกรสซีฟก่อนว่า โปรเกรสนั้นมีพื้นที่ใช้งานที่ถูกจำกัดด้วยภาพบิดเบี้ยวด้านข้าง (distortion)  การออกแบบโครงสร้างเลนส์จึงเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถใช้งานได้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับแต่ละบุคคล (เพราะแต่ละคนมี lifestyle ต่างกัน ย่อมต้องการพื้นที่ใช้งานในแต่ละระยะมากน้อยไม่เท่ากัน)  และ การบริหารจัดการ visual field นั้นจะถูกควบคุมโดยความยาวของระยะทางในการไล่ผิวโปรเกรสซีฟ หรือ progressiv Zone length  หรือ ด้วยคอริดอร์  ดังนั้น คอริดอร์จึงเป็นหัวใจหลักในการออกแบบโครงสร้างเลนส์โปรเกรสซีฟ

 

คอริดอร์ คืออะไร 

ถ้าเอาง่ายและเห็นภาพที่สุดเลย จะขอยกคอริดอร์เทียบกับสะพานพระปิ่นเกล้า ดังรูปที่ได้ยกมาด้านล่างนี้  โดยถ้าฝั่งหนึ่งเป็นเขตพระนคร (พื้นที่มองไกล)   อีกฝั่งหนึ่งเป็นฝั่งธน (พื้นที่สำหรับอ่านหนังสือ) คอริดอร์ก็คือสะพานพระปิ่นเกล้านั่นเอง  

แต่สะพานนั้น(อาจจะ)ไม่ได้เชื่อมไปถึงใจกลางพระนคร หรือใจกลางฝั่งธนบุรี  แต่เป็นจุดเชื่อมไปถึงเขตพระนครให้ข้ามต่อไปได้ และที่เหลือก็มีทางให้เดินทางต่อไปจนถึงใจกลางเมือง 

 

สะพานพระปิ่นเกล้า cr.wikipedia
 

ทีนี้ สะพานคอริดอร์ มักจะมีสเปค อยู่ไม่เกิน 2 หรือ 3 สเป๊ก (เพื่อให้คุ้มทุนค่าก่อสร้าง)  เช่นถ้ารุ่นมาตรฐานของ Rodenstock มีอยู่ 3 สเป๊ก 11 มม. 13 มม. 15 มม.​ โดยการสมมติเอาว่าขนาดของแม่น้ำนั้นมีอยู่ 2 หรือ 3 ขนาด  ยิ่งเลนส์สมัยก่อนอย่าง SI ,ClassicLife ,PureLife เหลือแค่ 2 คอริดอร์ 11 มม,15 มม เพราะเป็น conventional lens จะสิ้นเปลืองสต๊อก semi-finished blank จำนวนมาก ยิ่งมี choice เยอะยิ่งทุนจมเยอะ  ดังนั้นเลนส์โปรเกรสซีฟทุกค่ายหลักๆจึงมีขนาดสะพานคอริดอร์ให้เลือก 2-3 ขนาดเท่านั้น 

 

เข้าใจลักษณะสะพานแต่ละแบบ 

เวลาพูดถึงสะพาน เราจะพูดอยู่ 2 อย่างคือ ความยาวของสะพาน และ ความกว้างของสะพาน

 

สะพานที่สั้นกว่า ก็ใช้เวลาในการข้ามที่เร็วกว่า ดังนั้น คอริดอร์สั้นกว่า ก็สามารถเหลือบตาข้ามไปฝั่งโซนอ่านหนังสือได้ง่ายกว่า  แต่สะพานคอริดอร์ที่สั้นกว่า จะต้องแลกกันกับพื้นที่ใช้งานช่วงสะพานแคบ เพราะภาพบิดเบี้ยวด้านข้างจะขึ้นเร็วมาก ไปบีบช่วงกลางสะพานให้คอดแคบ ทำให้ระยะกลางสะพาน ( intermediat zone ) นั้นแคบ  ทำให้ short corridor นั้นไม่เหมาะกับคนที่ต้องทำงานกับ PC ตลอดเวลา เนื่องจากระยะคอมพิวเตอร์(กลาง)จะแคบ

 

ในทางกลับกัน สะพานคอริดอร์ที่ยาวกว่า ต้องใช้เวลาในการข้ามช้ากว่า เดินนานกว่า (เหลือบลึกเพื่อดูใกล้)  แต่มีข้อดีคือพื้นที่ช่วงกลางสะพานนั้นกว้างกว่า เพราะภาพบิดเบี้ยวค่อยๆเพิ่มขึ้น และไม่ชันมากนัก จึงไม่ไปบีบช่วงกลางสะพาน ทำให้ intermediat zone กว้างกว่า  เลนส์ที่มีสะพานคอริดอร์ยาวกว่า จึงเหมาะกับคนที่ต้องทำงานบน PC นานๆ มากกว่า  แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่ต้องทำงานบนกระดาษเอกสาร เพราะต้องเหลือบตาลงลึก 

 

ทีนี้พอจะสร้างสะพาน  ก็แล้วแต่งบประมาณว่าจะอยากจะได้กว้างขนาดไหน  งบน้อยหน่อยก็ได้สะพานย่อมๆ  งบเยอะหน่อยก็ได้สะพานกว้างหน่อยไม่อึดอัด  ทีนี้สมมติว่า มีงบมากพอที่จะทำสะพานกว้างเต็มที่ของความสามารถของนายช่างซึ่งถ้าใหญ่กว่านี้จะเริ่มไม่ใช่สะพานแล้ว เรียกว่า "ถมคลอง"  (เหมือนย่านสะพานเหล็กในตำนาน)  มันจึงเกิดสเป๊คขึ้นมาว่า สะพานในอุดมคติกว้างสุดได้แค่ไหน ซึ่งก็เป็นเรื่องของ addition เข้ามาเกี่ยว ซึ่งเราจะยังไม่พูดถึงเรื่องนี้ 

 

ทีนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่า  ถ้าขนาดของคลองหรือแม่น้ำหน้าบ้านของแต่ละคนกว้างไม่เท่ากัน  การล๊อกสเป๊คความยาวของสะพานคอริดอร์จึงอาจทำให้บางคนรู้สึกอึดอัด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่คลองหน้าบ้านแคบมากๆจะให้ทำสะพานยาวๆ ก็คงไม่ดีเท่าไหร่ หรือคลองกว้างกว่าชาวบ้านเขามากๆ ประเภทที่ยาวกว่าแบบมาตรฐาน ก็ทำลำบาก  แต่ก็ช่วยไม่ได้ เนื่องจากโครงสร้างจำเป็นต้องถูกกำหนดไว้แล้ว 

 

ทำให้คนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต้องการ การแก้ไขปัญหาที่เฉพาะกลุ่มขึ้นมา ให้มีการออกแบบตาม personal visual demand ของแต่ละคน โดยผู้ใช้งานจริง  ด้วยการ varies corridor จากทางฝ่ายผลิตเลนส์ 

 

ซึ่งเลนส์ที่มี option แบบ personal visual demand นั้นมี 2 รุ่น ที่สามารถดีไซน์แบบเฉพาะคน คือ Multigressiv MyLife2 กับ Impression FreeSign 3   ส่วนรุ่นอื่นๆ ตั้งแต่ Impression 2 ,Multigressiv MyView2  , Progressive PureLife Free2 และ Progressiv Life2 นั้น เป็นรุ่นที่สะพานคอริดอร์ถูกกำหนดสเป็คไว้แล้ว คือ 11 13 และ 15 มม.​ โดยแบบสะพานนั้นถูกกำหนดด้วยพิมพ์เขียวว่าต้องกว้าง-ยาว ในแต่ช่วงสะพานอย่างไร  

 

และอย่างที่บอกไว้ตอนต้นคือ คอริดอร์นั้นวัดจากตีนสะพานของฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง  ดังนั้นระยะคอริดอร์จึงไม่ใช่ระยะทางทั้งหมดที่มีการ varies power  ซึ่งถ้าเราอยากรู้ว่าระยะทั้งหมดมันเท่าไร หลังจากลงจากสะพานแล้วก็ให้เดินต่อไปอีก 3 มม. ก็จะถึงใจกลางของวงอ่านหนังสือ (ฝั่งธน)

 

สรุปว่า

ระยะทางทั้งหมดคือ progressiv zone lenght ส่วนสะพานข้ามจาก border ของเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่งเรียกว่า corridor 

 

การออกแบบเลนส์แต่ละค่าย จะวางตำแหน่ง reference point ไม่เหมือนกัน  ส่วนใหญ่ใช้แบบรูปบน  โดยให้จุดลงสะพานอยู่ห่างจากตำแหน่งมองไกล 4 ซม. และ 3 ซม.สำหรับจุดดูใกล้
 

ณ จุดตรงนี้ เลนส์แต่ละค่ายจะกำหนดจุดลงของสะพานไม่เหมือนกัน   

เลนส์อื่นๆทุกค่ายจะวางตีนสะพานจะอยู่ขอบ border ของ "วงกลมดูไกล" และ "วงกลมดูใกล้"  ดังนั้นที่จุดมองไกล หลังลงจากสะพานแล้วเดินต่ออีก 4 มม.  ส่วนฝั่งดูใกล้ หลังจากลงจากตีนสะพานแล้วเดินต่ออีก 3 มม. ( เหมือนรูปบน)  ดังนั้นผลรวมระยะทางทั้งหมดจากใจกลางมองไกล สู่ใจกลางมองใกล้ ต้องบวกเพิ่มจากความยาวคอริดอร์ไปอีก 4 มม.และ 3 มม. ตามลำดับ

 

ส่วนเลนส์โรเด้นสต๊อก  ตีนสะพานจะลงที่จุดศูนย์กลางเขตพระนคร (จุดมองไกล) พอลงก็ถึงเลย แต่ถ้าจะไปฝั่งธน(จุดดูใกล้) หลังจากลงสะพานพระปิ่น​(คอริดอร์) แล้วให้ตรงไป 3 มม. จะถึงใจกลางฝั่งธน ดังนั้น ระยะทางทั้งหมดคือ ความยาวของคอริดอร์ +3 (รูปล่าง)

เลนส์ Rodenstock จะวางตำแหน่งลงจากสะพานคอริดอร์ (fitting cross) ตรงกับตำแหน่งมองไกล  และลงที่ขอบวงดูใกล้ ห่าง DN 3 มม

 

ดังนั้น  ความยาวของคอริดอร์ แม้จะดูเป็นเลขเดียวกัน แต่ระยะทางทั้งหมด (progressive zone length) จะยาวไม่เท่ากัน  

เลนส์รุ่นมาตรฐานของโรเด้นสต๊อก สเป๊คสะพานคอริดอร์ถูกกำหนดไว้แล้วที่ 11 13 15 มม. ส่วนเลนส์อื่นๆในตลาดถูกกำหนดไว้ 2 ขนาด คือ 11 กับ 14 

 

ดังนั้น "การจะเป็นเลนส์ที่เฉพาะบุคคลได้นั้น จะต้องไม่มีการกำหนดขนาดสะพาน และต้องออกแบบขนาดสะพานในแต่ละช่วงได้ตามใจเจ้าของสะพาน"  

บางคนใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ฝั่งพระนคร(มองไกลเป็นหลัก)ก็อยากจะทำสะพานช่วงพระนครให้ใหญ่หน่อย  

บางคนชอบวิวเหนือน้ำ (ระยะกลาง) ก็ต้องการพื้นที่ช่วงกลางสะพานให้กว้างหน่อย

บางคนชอบใช้ชีวิตอยู่แถวพาต้า (ชอบอ่านหนังสือพร้อมดูคิงคอง) ก็ต้องการพื้นที่สะพานฝั่งธนให้กว้างหน่อย  

ส่วนใครไปกลับทุกวัน ก็ใช้สเป็คบาลานซ์ไป เอาพอดีๆ ทั้งสามช่วง 

 

ดังนั้น  ดังนั้นทั้งความยาวของสะพานหรือความแคบกว้างของสะพานนั้น จะสามารถออกแบบได้ จะต้องไม่มีการล๊อคสเป๊คด้วยความยาวของคอริดอร์  

 

สรุปได้ว่า

เลนส์ที่จะเป็นเลนส์เฉพาะบุคลที่แท้จริงได้นั้น จะต้องสามารถออกแบบโครงสร้างได้ด้วยตัวเอง  ซึ่งสำหรับโรเด้นสต๊อกมีอยู่ 2 รุ่น Multigressiv MyLife2 กับ Impresion FreeSign 3 อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น 

การออกแบบให้ถูกใจนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าอยากได้ระยะไหนกว้างแค่ไหน ซึ่งสามารถ weight เป็นเปอร์เซนต์ได้ เช่น ผมเกษียรแล้ว ใช้ชีวิต ท่องเที่ยว ถ่ายภาพ เดินเล่น ขับรถ  เล่นไลน์บ้าง ต้องการมองไกลมากสุด ระยะกลางรองลงมา และอ่านหนังสือน้อยสุด ก็ออกแบบให้ Far 60%  intermediat 30% near 10% เป็นต้น ผู้ผลิตก็จะออกแบบ visual field แบบนั้นมาให้เรา เรียกว่า design parameter หรือไม่ก็ใช้ softwear ที่ Rodenstock ทำมาช่วยในการออกแบบ ก็สามารถ demonstration ให้เห็นสภาพภาพได้ง่ายขึ้นด้วยโปรแกรม rodenstock consulting tools  

 

ก็หวังว่าจะได้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคอริดอร์ ที่ส่งผลต่อการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟ ไม่มากก็น้อย 

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ  Multigressiv MyLife 2  ลิ้งค์​ https://www.loftoptometry.com/whatnew/MyLife2
ศึกษา Impression FreeSign 3 เพิ่มเติม  ล้ิง https://www.loftoptometry.com/whatnew/ImpressionFreeSign3 https://www.loftoptometry.com/whatnew/ImpressionFreeSign3_1

เรื่องอื่นๆ ลองไปไล่หาอ่านดูในบทความเก่าๆ ผมเขียนไว้มากพอสมควร ลองไปศึกษาดูนะครับ

 

ทิ้งท้าย

ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจในการติดตาม ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ก็กดแชร์ต่อออกไปให้เพื่อนๆเราได้อ่านด้วย ถือว่าเป็นวิทยาทาน 

 

สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์


contact us 

Loft Optometry , ถ.วัชรพล  ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220 

mobile : 090 553 6554 

line id : loftoptometry 

fb : www.facebook.com/loftoptometry