Clinical news 

เรื่อง (อ)วิชชา "ศาสตร์แห่งการจัดค่าสายตา"

โดย ดร.ลอฟท์ O.D.

เผยแพร่ 2 มิถุนายน 2563

 

นำเรื่อง

 

“ศ า ส ต ร์ ก า ร จั ด ส า ย ต า” เป็นคำที่ผมได้ยินเมื่อไม่นานมานี้จากสหายคนในวงการระหว่างการ discuss เกี่ยวกับเคสที่ตรวจ ว่าบ้านเรามีศาสตร์จัดค่าสายตาให้คนไข้และยังสอนกันเป็นเรื่องเป็นราวอีกด้วย ถึงขึ้นมีการท่องจำเป็นสูตรสำเร็จว่าถ้ามาแบบนี้จ่ายแบบนั้นแบบนี้ เรียกได้ว่าเป็น "Rule of Thumb" กันเลยทีเดียว 

 

ครั้งแรกที่ได้ยินคำนี้ทำให้ผมนึกว่าตัวเองยังอยู่ในยุค 90s เพราะต้องยอมรับว่า ในยุคนั้นวิทยาการด้านศาสตร์ทัศนมาตรในประเทศไทยยังไม่เกิดและความรู้ด้านทัศนมาตรก็ไม่ได้เป็น worldwide อยู่บนโลกออนไลน์ที่พร้อมจะให้เราเข้าไปเรียนรู้ได้บนมือถือตลอด 24 ชม.และใช้เวลาเสี้ยววินาทีในการเข้าถึงอย่างในปัจจุบัน เพราะอินเตอร์เนตในยุคนั้นยังใหม่และช้ามาก

 

วิทยาการด้านแว่นตาในอดีตจึงเกิดจากประสบการณ์การทำงานในอาชีพช่างเป็นหลัก จากการสะสมความรู้ที่ถ่ายทอดกันมาเรื่อยๆ รุ่นสู่รุ่น เริ่มจากการเป็นช่างฝึกหัดร้านเถ้าแก่ แล้วพัฒนาตัวเองเป็นคนวัดตา และพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการ เป็นลำดับ  แต่เนื่องวิทยาการดังกล่าวนั้นมีจากฐานความรู้ที่เกิดจาก experience เป็นหลักโดยมี knowledge เป็น base อยู่น้อยนั้น  ความสามารถจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ช่างแต่ละคนจึงมีความสามารถที่ต่างกันมาก และถูก disrupt ได้ง่ายโดย knowledge  

 

อวิชชา

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่า "อวิชชา" กันเสียก่อน 

 

ความรู้นั้นมีอยู่ 2 อย่าง คือ "รู้ถูกหรือรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริง" เรียกว่า "วิชชา"  และอีกรู้หนึ่งคือ "รู้ผิดคือไม่รู้เห็นความจริงตามความเป็นจริง" เรียกว่า "อวิชชา"

 

โลกที่เราดำรงอยู่และดิ้นรนอยู่ทุกวันนี้ ที่ทำทุกอย่างก็เพื่อให้สุขและไม่ให้มันทุกข์ แต่ก็มักจะหนีไม่พ้นทุกข์เพราะมนุษย์นั้นมักไม่รู้ อริยสัจย์ คือไม่รู้ว่านั่นคือทุกข์ ไม่รู้นั่นคือเหตุแห่งทุกข์ การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์จึงผิด  ทุกข์จึงไม่ดับ และวนเวียนอยู่กับทุกข์โดยที่ตนก็ไม่รู้ตัวว่านั่นคือทุกข์ เพียงแต่รู้สึกว่าทุกข์เท่านั้น ทนไม่ได้ ซึมเศร้า ฆ่าตัวตายเพราะทนทุกข์จากการปรุงแต่งทางความคิดไม่ได้ 

 

ต้นเหตุแห่งความไม่รู้ คือ อวิชชา คือ ความไม่รู้  ดังนั้น อวิชชาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่ความทุกข์

 

พุทธเจ้าท่านตรัสไว้เรียกว่า "ปฏิจจสมุปาท" เริ่มพระสูตรว่า  อวิชชา ปัจจยา สังขารา > วิญญาณัง > นามะรูปัง> สฬายตนัง > ผัสโส> เวทนา> ตัณหา>อุปาทาน>ภพ>ชาติ>ชรา>มรณัง>[ ทุกข โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส]  ไปหาอ่านดูได้ไม่ยากใน google

 

แต่พอสรุปได้ว่า  
> ความไม่รู้ทำให้เกิดการปรุงแต่งในสังขาร

> การปรุงแต่งในสังขารทำให้เกิดตัวรับรู้ขึ้นมา

> พอมีตัวรับรู้ก็เกิดการมีเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเรียกว่านามรูปขึ้นมา  

> นามรูปก็ต้องการประสาทสัมผัสในการรับรู้ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ขึ้นมา  

> เมื่อผัสสะเกิดขึ้น ก็มีความรู้สึกสุข (ถ้าผัสสะแล้วชอบ)และรู้สึกทุกข์(ถ้าผัสสะแล้วไม่ชอบ)  

> พอเกิดความชอบไม่ชอบเกิดขึ้นมา ทีนี้ก็เกิดตัณหาคือความอยาก  อยากให้ของชอบอยู่นานๆจะได้สุขนานๆ  อยากให้ของไม่ชอบหายๆออกไปจะได้ไม่ทุกข์  

> กลายเป็นอุปาทานยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา  

> พอยึดมั่นเกิด ตัวกูของกูก็ตามมา นี่รถกู บ้านกู แฟนกู ลูกกู ผัวกู เมียกู  นาฬิกากู (จริงๆยืมเพื่อนแต่ "ยืมใช้คงรูป" มาเป็นของตัวเลยไม่ต้องคืน) ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ  

> เกิดเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเรียกว่า เกิด ภพ เกิดชาติ ตามขึ้นมา  

> เมื่อมีการเกิด ชรา และ ดับ ไม่มีการเกิดใดที่ปราศจากการดับ  พอมันดับ ใจไม่อยากให้ดับ ใจก็เป็นทุกข์ เพราะใจไม่อยากให้ดับ ไม่อยากให้เมียรักจากไป ไม่อยากให้รถพัง ไม่อยากให้นาฬิกาถูกยึดคืน ไม่อยากให้โควิทมาพรัดพรากของรักของเราไป  วนเวียนเป็นวัฎจักร เรียกว่า "หลัก ปฏิจจสมุปบาท"

 

นั่นคือคำว่า "อวิชชา" ในทางธรรม  ว่าเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้อย่างไร 

 

อวิชชา ทางโลกก็มีให้เห็นเป็นธรรมดา เพียงแต่จะยกมาพิจารณาหรือไม่  ซึ่งตัวอย่างที่ยกมาในวันนี้ก็ยกมาให้เห็นชัดๆกันไปเลยว่า หน้าตาเป็นอย่างไร 

 

โลกกลม โลกแบน 

 

คนสมัยแต่ก่อน ใช้ประสบการณ์ของตนสังเกตสิ่งรอบๆตัวแล้วสร้างทฤษฎีขึ้นมาว่า โลกนั้นแบนและเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและพระอาทิตย์ก็วิ่งรอบโลกของเรา และเป็นความเชื่อที่ผู้นำศาสนาใช้ในการเผยแผ่ศาสนากันเลยทีเดียว

 

วันหนึ่ง กาลิเลโอ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้น ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องนี้เพื่อยืนยันว่าโลกแบนและโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตามคำภีร์ที่เขียนไว้ในตอนหนึ่งว่า “ในเริ่มแรกนั้นพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดินโลก…แผ่นดินโลกนั้นก็ปราศจากรูปร่างและว่างเปล่าอยู่ ความมืดอยู่เหนือผิวน้ำ และพระวิญญาณของพระเจ้าปกอยู่เหนือผิวน้ำนั้น…แล้วดวงอาทิตย์ก็ขึ้น เคลื่อนไปและหวนคืนสู่ตำแหน่งเดิม” และอีกตอนหนึ่งว่า “โลกได้ตั้งสัณฐานขึ้น และไม่อาจเคลื่อนไป” … “พระองค์ทรงตั้งแผ่นดินโลกไว้บนรากฐานของมัน เพื่อมิให้มันสั่นคลอนเป็นนิจนิรันดร์”

 

แต่จากการค้นพบของ กาลิโลโอ กลับให้ผลขัดแย้งกับรัฐที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครองอย่างรุนแรง เพราะเขาพบว่า "โลกกลม" และ "โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล"  จึงกล่าวหาว่า  กาลิโลโอ เป็นคนนอกรีด และโดนศาสนจักรลงโทษอย่างรุนแรง ทำให้ชีวิตเขาต้องเศร้าหมองตลอดชีวิตจนเสียชีวิตเพียงเพราะนำเสนอเรื่องจริงที่คนอื่นไม่ได้มีกล้องส่องดวงดาวอย่างกาลิเลโอ จึงมองไม่เห็นอย่างที่กาลิเลโอเห็น  เขาจึงมีความผิดเพราะเขามองเห็นต่างจากคนตาบอดที่มีจำนวนมากกว่า

 

วันหนึ่ง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้ออกพิสูจน์ความเชื่อเรื่องโลกแบนดังกล่าวว่ามันผิด ผ่านการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อปลายยุคศตวรรษที่ 14 แล้วสังเกตเห็นเสากระโดงของเรือก่อนที่จะเห็นตัวเรือ จึงบอกชัดเจนว่าโลกกลม ไม่ใช่แบนและนับจากนั้นเป็นต้นมา ความเชื่อเรื่องโลกแบน ก็แทบจะหมดสิ้นไปในที่สุด  

 

FLAT WORLD  THEORY , https://www.grunge.com

 

Experience & Knowledge 

 

ดังนั้น experience หลายพันปี ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะถูกต้องเสมอไป และถูก disrupt ได้ง่ายด้วย knowledge และเดี๋ยวนี้ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องโลกกลมเพราะมีภาพจาก สถานีอวกาศ แต่เชื่อหรือไม่ว่า  มีคนบอกว่าภาพเหล่านั้นโกหก เป็นการแต่งเติมขึ้นมาโดยประเทศมหาอำนาจ ที่บิดเบือนข้อเท็จจริงโดยสร้างภาพลวงขึ้นมา แล้วตั้งกลุ่มผู้เชื่อว่าโลกแบน และมีกลุ่มในกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมาก  ซึ่งคนเหล่านี้ พุทธเรียกว่า "ปทปรมะ" เป็นบัวเหล่าที่สี่ ที่อยู่ในโคลนตม เป็นไปเพียงอาหารของปลาและเต่าเท่านั้น 

 

มองย้อนกลับมา "ประสบการณ์จากการสังเกตุ" หรือ "ลองผิดลองถูก" เพียงอย่างเดียวที่ไม่มี "ความรู้" เป็นฐานฐานนั้น อาจสร้างทฤษฎีที่ห่างไกลจากความเป็นจริงได้มาก  สร้างความเชื่อที่ผิดๆ นำไปสู่การสอน แนะนำ บอกต่อแบบผิดๆ และ ให้โทษกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีที่ผิดๆเหล่านั้นด้วย  ตัวอย่างเช่น ในอดีต คนเราเวลาป่วยก็ไปหาหมอผี ให้ช่วยไล่ผี  ไล่ปอบ ไล่ผีแม่ม่าย ผู้ชายนอนต้องใส่ผ้าถุง ทาเล็บแดงเดี๋ยวผีแม่ม่ายจะเอาไปทำผัว  มีโรคระบาด ก็เอากล้วยแขวนไว้หน้าบ้าน แล้วเขียนบอกว่า "บ้านนี้ไม่มีคนชื่อ ส." เป็นต้น  เหล่านี้มันเกิดจากความไม่รู้  ไม่เข้าใจสมุทัย  มรรคก็ผิด แล้วมันจะนิโรธ ได้อย่างไร 

 

ศาสตร์การจัดค่าสายตา 

ผมมองว่า "ศาสตร์การจัดสายตาก็มีฐานไม่ต่างกัน" คือ "ความไม่รู้จริง" นำไปสู่การใช้ประสบการณ์นำความรู้ 

 

แต่ถ้าทำใจให้เป็นกลางถือเสียว่าเราไม่มีความรู้อะไรก็คงจะคิดว่ามันน่าจะเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะถ้ามีความรู้นี้ก็จะได้เรียนเอาไปจัดสายตาให้คนลูกค้าใส่แว่นได้สบายๆ แว่นจะได้ขายดี เพราะถ้าจัดแว่นให้เขาใส่แล้วเขาใส่ไม่ได้ หรือใส่ไม่ดี เขาก็คงไม่กลับมาซื้อของเรา เราก็คงจะขายไม่ได้เพราะวงการแว่นตาเรายังอยู่ในสถานะ “ร้ า น ข า ย แ ว่ น” อยู่  ยังห่างไกลคำว่า “ค ลิ นิ ก ป ร ะ ส า ท ต า รั บ รู้ ก า ร ม อ ง เ ห็ น” อยู่มาก (แต่ส่วนตัวเชื่อว่าในยุค Educated Soceity อย่างในยุคปัจจุบันนี้ อวิชชาจะหายไปเร็วมาก)

 

แต่ก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า “ทำ ไ ม ต้ อ ง จั ด”  ก็ในเมื่อเรารู้ว่าคนไข้มีความผิดปกติอะไร ผิดอย่างไร แก้ไขอย่างไร ด้วยวิธีอะไร ก็แก้ไปตามนั้น ไม่เห็นจะต้องไปจัดอะไร  เว้นแต่เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร  อาจเพราะหาความผิดปกติไม่ได้หรือหาไม่เจอ  แต่การที่เราหาไม่ได้หรือหาไม่เจอนั้น อาจเกิดจากหาไม่เป็นก็ได้ ก็เลยไม่รู้จะหายังไงและไม่รู้จะแก้ด้วยค่าเท่าไหร่ นำไปสู่ “ศ า ส ต ร์ ก า ร จั ด ส า ย ต า” ดังกล่าว ซึ่งศาสตร์การจัดสายตาที่ว่า ส่วนตัวคิดว่า น่าจะมีฐานมาจากประสบการณ์ในการทำงานที่ "จ่ า ย แ ล้ ว ร อ ด" กับ "จ่ า ย แ ล้ ว ไ ม่ ร อ ด เ ป็ น ฐ า น"  แล้วก็จำๆ ถ่ายทอดกันมาเป็นสูตรสำเร็จ โดยไม่ได้เข้าใจเหตุผลที่แท้จริงในการจ่ายไม่รอดนั้น ว่ามาจากแก้ผิดหรือไม่

 

ตัวอย่าง อวิชชา ที่เราอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมา ตัวอย่างเช่น 

“โอ้ย!! สายตาเอียงขนาดนี้ใส่ไม่ได้หรอก ต้องตัดเอียงทิ้ง หรือ ปัดให้เท่ากัน (เดี๋ยวเราจะขายไม่ได้)”

“เอียงศาเอียงแกนนี้เขาใส่ไม่ได้หรอก ตบเข้าแกนหลัก แล้วปัดให้มันเท่าๆกัน (เดี๋ยวเราจะขายไม่ได้)”

“สายตาเอียงเดิมที่เขาใส่ผิดๆมาเขาชินกับค่านั้นแล้วก็อย่าไปแก้ให้เขาเดี๋ยวเขาใส่ไม่ได้(เดี๋ยวเราจะขายไม่ได้)” 

“สายตาต่างกันขนาดนี้ใส่ไม่ได้ (เดี๋ยวเราจะขายไม่ได้) ต้องปรับให้เท่าๆกันใส่ง่ายกว่า(ขายง่ายกว่า)” 

"ข้างหนึ่งเป็นสายตาบวก อีกข้างเป็นสายตาลบ ใส่ไม่ได้หรอก แก้ฝั่งลบอย่างเดียว ส่วนฝั่งบวกก็จ่ายให้มันเป็นศูนย์ไป(เดี๋ยวเราจะขายไม่ได้)"

“องศาเอียงคนละทิศละทางแบบนี้ใส่ยาก(เราขายไม่ได้)ตบเข้าแกนหลักเหมือนๆกันใส่ง่ายกว่า(ขายง่ายกว่า)”

“คนไข้ทำต้อกระจกมาข้างหนึ่งแอดดิชั่นต่างกัน ใส่ไม่ได้หรอก(เดี๋ยวเราจะขายไม่ได้)ต้องใส่แอดเท่ากันใส่ง่ายกว่า(ขายง่ายกว่า)”

 

หนักๆเข้า  Monocular PD ไม่เท่ากันก็ทำให้มันเท่ากัน  หรือ Fitting High ไม่เท่ากันก็ทำให้มันเท่ากัน แล้วก็เก็บเป็นสูตรลับว่า “นี่ คื อ ศ า ส ต ร์ ใ น ก า ร จั ด ส า ย ต า ร ะ ดั บ พ ร ะ ก า ฬ” ทำให้วงการแว่นตาของเราก็ดู Fantastic แบบนี้แหล่ะ มีอภินิหารเยอะ เล่นกันเสียจนเรื่องเล่นดูเหมือนเรื่องจริง 

 

ว่าไปก็เหมือนกับชาวพุทธบางกลุ่มที่หลงไปกับเครื่องรางของขลังหรือเทพบันดาลจนลืมแก่นไปว่า พุทธเจ้าท่านสอนให้ พึ่ ง ตั ว เ อ ง  สอนเรื่องทุกข์ ให้รู้ทุกข์  รู้ทางพ้นทุกข์ แล้วปฏิบัติให้พ้นทุกข์  มีเท่านี้

 

แต่กลายเป็นว่า รู้ทุกข์กับดับทุกข์ด้วยตัวเองมันยากเกินไป  เลยหันไปพกเครื่องรางของขลัง ไปบนบาลสานกล่าว แก้บน สะเดาะเคราะห์ ดูหมอ ต่อชะตา ง่ายกว่าเยอะ ไม่ต้องพึ่งตนเองดี ให้เทพดูแลให้แทน ถ้าชีวิตไม่ดีก็โทษเทพเอา โทษนักการเมือง โทษใครก็ได้ที่ไม่ต้องโทษตัวเอง มันง่ายดี  แบบนี้พระเรียกว่า “อวิชชา”  คือความไม่รู้ มันเข้ามาครอบงำ มันก็เลยโง่  ขลุกอยู่กับทุกข์ก็ไม่รู้ว่านั่นคือทุกข์  จมอยู่กับไฟก็ไม่รู้ว่านั่งอยู่ในกองไฟ แล้วก็บ่นว่ามันร้อน ด่ากองไฟว่ามันร้อน แต่ใครเขาให้นั่งบนกองไฟ ก็ลุกออกมาเสีย มันก็หายร้อน  หรือ ทุกข์ขายไม่ดีก็ไปด่าแต่เศรษฐกิจเพราะไปโมหะว่า สมุทัยคือเศรษฐกิจ แต่ไม่เคยดูว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาตัวเองทำงานอย่างไร เพราะแท้จริงแล้ว สมุทัยอาจจะคือการทำงานของเราที่ไม่ได้มาตรฐานก็ได้ 

 

คนมีปัญญาจึงจะรู้ว่าอะไรคือสมุทัยที่แท้จริง และการเลือก นิโรธ ก็จะถูกต้อง ที่เหลือก็แค่ปฏิบัติให้เหตุมันเกิด  เดี๋ยวผลมันก็ตามมาเอง  อยากได้หรือไม่อยากได้ อยากมีหรือไม่อยากมี อยากเป็นหรือไม่อยากเป็น ถ้าเหตุมันเกิดขึ้นแล้ว ผลก็ย่อมเกิดขึ้นตามมาแน่นอนแน่แท้  

 

จริงอยู่ว่าก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ศาสตร์อวิชชาทั้งหลายก็มีอยู่ก็ไม่ผิดอะไรเพราะผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ยังไม่เกิด  แต่ถ้าผู้รู้เกิดขึ้นแล้ว ก็ถือได้ว่า แสงสว่างแห่งปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ใยยังเลือกเดินในทางที่มืดๆนั้นอยู่  

 

พูดไปพูดมามาลงที่ อริยสัจได้อย่างไร  กลับเข้ามาสู่ “ศาสตร์จัดสายตา” กันต่อ แต่ก่อนจะเข้า ผมขอยกเคสตัวอย่างเคสหนึ่ง ซึ่งเป็นเคสเมื่อ 3 เดือนก่อน มาเล่าสูกันฟัง ถือเป็นบทความ case study ไปในตัว  เป็นเรื่องของคนไข้เด็กวัยรุ่นอายุ 22 ปี มีด้วยเรื่องแว่นที่ใช้อยู่ไม่ชัด โดยเฉพาะกับตาข้างซ้ายซึ่งไม่เคยเห็นภาพชัดเลย ก็ก็ปวดหัว เมื่อยตาตลอด  ซึ่งผลจากการตรวจก็ดั่งที่ได้ยกขึ้นมาต่อไปนี้

 

Clinical Finding 

ค่าสายตาแว่นเดิม (ทำมาประมาณ 6 เดือน )

OD -6.00                                      VA 20/80

OS -6.00                                      VA 20/400

 

Refraction

Retinoscopy

OD -6.50  -1.00 x180                    VA 20/20

OS -11.75 -1.25 x 170                  VA 20/20

 

Mono Subj.

OD -6.50  -0.50 x 165                   VA 20/20

OS -12.00 -1.25x173                    VA 20/20

 

BVA (phoropter)

OD -6.50 -0.50x165                      VA 20/20

OS -12.25 -1.25 x175                   VA 20/20

 

Functional : Vergence / Accommodation ( distant 6 m.)

Horz.phoria   : 3 BO (esophoria)

BI-reserve     : x/3/0

BO-reserver  : 10/24/14

Worth-4-dot : Diplopia (eso+hyper deviate)

Vert.phoria   : 2 BUOS (R-Hyperphoria)   w/ Von Graefe Technique

                      1 BUOS (R-Hyperphoria)   w/ Maddox Rod (free space)

Supra vergence (L) : 2/0   (w/ 3BO)

Infra vergence (L)   : 4/2   (w/3BO)

 

Functional : Vergence / Accommodation ( distant 40 cm.)

Horz.phoria : 0.5 BO

BI-reserve    : 12/20/12

BO-reserve  : x/18/10

BCC             : +0.50

NRA/PRA    :+1.75/-2.50  (rely BVA)

AC/A ratio    : 1:1

 

Assessment

1.Anisometropia : compound myopic astigmatism OD,OS

2.Divergence insufficiency ,DI

3.(mild) Right hyperphoria

 

Plans

1.Full correction : Single vision lens : Rodenstock Cosmolit 1.67 Solitaire protect plus2

  OD -6.50 -0.50x165 

  OS -12.25 -1.25 x175 

2.Prism Rx  :

  Tx : Divergence insuficiency : 1.5BO (split 0.75BO OD ,0.75BOOS)

  Tx : Right-Hyperphoria ; split prism 0.5BDOD / 0.5BUOS 

 

Case Analysis 

สำหรับเคสนี้ พบความผิดปกติที่น่าสนใจอยู่หลายจุด แต่ก็ค่อนข้างมีรูปแบบของอาการบ่งชี้ที่ค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ 

1.(High) Anisometropia  ซึ่งเป็นลักษณะความผิดปกติของสายตาที่สายตาของตาแต่ละข้างนั้นแตกต่างกันมาก 

    OD -6.50 -0.50 x 165 

    OS -12.25 -1.25 x175 

2.Esophoria @ FAR  > Esophoria @Near  .. เป็น sign ของ Divergence insufficiency

3.Low BI-vergence@Far (X/3/0 ) / Normal BI-vergence@Near (12/20/12 ) ... ตอกย้ำ sign ของ Divergence insufficiency

4.Low AC/A ratio  (AC/A 1:1) ... ตอกย้ำว่าเป็น sign ของ divergence insufficiency 

5.Vertical Phoria ..., มีเหล่ซ่อนเร้นในแนวดิ่ง 

6.Diplopia w/ Worth-4-dot ..., ภาพซ้อน ซึ่งอาจจะเกิดทั้งจาก vertical phoria + divergence insufficiency + Aniseikonia 

 

ซึ่งจากรูปแบบความผิดปกติข้างต้นนั้นเป็นลักษณะอาการของ Divergence Insufficency ซึ่งคาดว่าเกิดจาก binocular ที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมานานมาก  เมื่อนานๆเข้า ตาก็จะเริ่มเสียศูนย์ ทำให้เกิดความผิดปกติหลายๆอย่างและการแก้ไขหลักๆก็ต้อง Full Correction เพื่อให้ตาทั้งสองข้างชัดเท่ากัน เพื่อจะได้ทำงานร่วมกันก่อน  จากนั้นก็แก้มุมเหล่ซ่อนเร้นทั้งในแนว horizontal phoria และ vertical phoria  และเนื่องจาก ESO นั้นดูใกล้มีน้อยมาก จึงต้องระวังในการจ่ายเพื่อแก้ ESO@FAR  ว่าจะไปกวน ESO@NEAR ด้วย ดังนั้นเคสนี้เลือกจะแก้ตามสูตรในตำรา เพื่อให้กระทบใกล้น้อยที่สุด และใช้ปริซึมแก้เหล่ในแนวดิ่ง เพื่อช่วยให้ตาทั้งสองที่ไม่เคยทำงานร่วมกันมาเป็นสิบปีสามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น 

 

Rx Day

 

ทันทีที่ใส่ น้องบอกว่า ชัดแต่มึน ผมให้นั่งพักค่อยๆมอง ค่อยๆหัน ประมาณอยู่ 5 นาที อาการดีขึ้นแล้วก็หาย จากนั้นผมจับเข้าห้องตรวจ ได้ VA ดีทั้งตาขวาและตาซ้าย รวมภาพสองตาได้ โดย VA OU 20/15-1  แต่เมื่อให้มองด้วย Worth-4-dot ยังเห็นเป็น Diplopia ในแนว Hyper อยู่ เหมือนว่า ปริซิมที่จ่ายไปนั้น บางเกินไป แต่ก็ให้นั่งดูทีวี Netflix อยู่ 20 นาที มองนุ่นนี่นั่น  อาการดีขึ้น ชัดขึ้น อาการมึนดีขึ้น  เข้าห้องตรวจเช็ค Worth-4-dot อีกรอบ คนไข้สามารถมองให้เกิดการรวมภาพได้

 

หลังจากตามอาการผ่านไป 3 วัน  คนไข้สบายดี ไม่มีปัญหาอะไร โทรมาบอกว่า จะไม่อยู่สักระยะ เพราะหนี COVID ไปอยู่ต่างจังหวัดสุพรรณสักเดือนหนึ่ง ก็เลยนัดคนไข้ว่า หลังกลับมาแล้ว จะขอดูการเปลี่ยนแปลงของ binocular function  ว่าเป็นอย่างไรบ้างหลังจากตาทั้งสองข้างได้ทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี และเคราะห์ดีที่เคสนี้นั้น คนไข้ไม่เป็นตาขี้เกียจ เพราะว่าตาซ้ายนั้น สั้นกว่าตาขวามากถึง -6.00D มี far point อยู่เพียง 8 ซม. แต่ก็น่าสงสารว่าในช่วงชีวิตที่ผ่านมานั้น ต้องใส่ค่าสายตา -6.00D มาตั้งแต่จำความได้

 

ผมคิดว่าเรื่องลักษณะนี้ไม่ได้พึ่งเกิดแต่กับน้องรัฐพงษ์ แต่เชื่อว่ายังมีอีกมากที่ยังต้องทนอยู่ในสภาพเดียวกันคือบังคับให้ทำใจว่า เห็นได้แค่นี้ ทำได้แค่นี้ ชัดได้แค่นี้ เอาชัดหรือเอาสบาย ชินกับอะไรมาก็ให้ใส่อย่างนั้น     

 

“(อ)วิชาการจัดค่าสายตา”

 

คนที่ทำงานอยู่ในวงการที่เกี่ยวข้องกับ “ป ร ะ ส า ท รั บ รู้ ก า ร ม อ ง เ ห็ น” ซึ่งมีเรื่องของ “ปั ญ ห า ส า ย ต า” เป็นขาหนึ่งนั้น เกือบทั้งหมดย่อมเคยพบกับเคสที่คนไข้มีสายตาสองข้างต่างกันมากและมักจะได้พบประสบการณ์หลังพยายามแก้ไข้ให้คล้ายๆกันคือ  “หลังจากที่เราแก้ไขปัญหาสายตาให้ตาแต่ละข้างชัดปกติแล้ว  แต่พอเปิดให้มองพร้อมกันทั้งสองตา  คนไข้กลับใส่มองไม่ได้  มึน ปวดศีรษะ อยากอาเจียน เห็นภาพซ้อน ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเลนส์คู่ใหม่ได้ ”

 

ในการแก้ไขปัญหาให้คนไข้กลุ่มนี้จึงมุ่งไปในทางเดียวกันคือการ “c o m p r o m i s e”  ให้กับคนไข้ด้วยการ ลดค่า ปรับค่า ตัดค่า ถัวเฉลี่ยค่า ทำให้มันเท่าๆกัน แล้วคนไข้ก็มักจะปรับตัวกับแว่นที่ compromise ได้ดีกว่าแว่นที่ full correction  ถึงแม้จะไม่ชัด หรือ เบลอจนไม่รู้ว่าซ้อน แต่ดีกว่าตาเปล่า แล้วก็ให้คนไข้ทำใจให้ชินอยู่กับชีวิตที่มัวๆ ไม่มี 3 มิติ เช่นนี้อย่างไร้ความหวัง แล้วฝังหัวคนไข้ว่า “อ ย่ า ชั ด เ กิ ด ไ ป เ ดี๋ ย ว ป ว ด หั ว” จนเกิดความเชื่อนี้กันทั้งประเทศว่า “อย่าชัดเกินไปเดี๋ยวปวดหัว”

 

ทำไปทำมาเลยเกิดเรื่อง “ม โ น ศ า ส ต ร์ ” ขึ้นมาเรียกว่า “ศ า ส ต ร์ แ ห่ ง ก า ร จั ด ค่ า ส า ย ต า”  ซึ่งหลักของเรื่องนี้ไม่มีสาระอะไรมากไปกว่า “การนั่งเทียน”  ลองไปเรื่อยๆ แล้วให้คนไข้เลือกเอาโดยไม่มีหลัก ไม่มีเกณฑ์และไม่สนใจอะไรไปมากกว่าชัด ถ้าชัดกว่าเดิมก็ถือว่าใช้ได้ และค่าที่ได้ก็มักจะไปกองอยู่ที่ค่ามัวๆ แต่ใส่ได้ แล้วทนๆกันไป ถ้าคนไข้บอกว่ามันไม่ชัด ก็มักจะมีไม้เด็ดว่า “จ ะ เ อ า ชั ด ” หรือ “ เ อ า ส บ า ย ”  ประหนึ่งว่า ถึงเวลาที่คนไข้ต้องเลือกค่าสายตาด้วยตัวเองและความรับผิดชอบก็จะตกไปอยู่กับคนไข้เพราะ “เ ป็ น ค น เ ลื อ ก เ อ ง”

 

คนไข้เลือกขนานยาไม่ได้

 

ว่ากันไปแล้ว  “ค น ไ ข้ ไ ม่ มี สิ ท ธิ์ ใ น ก า ร เ ลื อ ก แ ต่ เ ป็ น ห ม อ ต่ า ง ห า ก ที่ จ ะ ทำ ส่ิ ง ที่ ดี ที่ สุ ด ใ ห้ กั บ ค น ไ ข้ ” เช่นเดียวกันกับการจ่ายยา “คนไข้ไม่มีสิทธิ์เลือกขนานของยาในการรักษา แต่หมอต่างหากที่มีหน้าที่ในการเลือกยาที่ถูกต้อง เหมาะสม ให้กับคนไข้และบอก side effect ที่อาจจะเกิดตามมาให้คนไข้เข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือ รวมถึงให้กำลังใจ อธิบายประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้ง positive และ negative และเมื่อความผิดปกติได้หายไปแล้วคนไข้ชีวิตที่ดีอย่างไร และความรับผิดชอบกับสิ่งที่จ่ายออกไปคือจรรยาบรรณของวิชาชีพ” นี่ต่างหากคือการทำงานด้านสาธารณสุขการแพทย์

 

แต่การจ่ายแว่นในบ้านเรา ส่วนใหญ่เกิดจากฐานความรู้ที่ไม่พอ ประสบการณ์ก็น้อย  จึงไม่รู้ว่าค่าที่ดี เหมาะสม ที่จะแก้ไขควาามผิดปกตินั้น คืออะไร  ก็เลยลดโดส เพื่อหวังว่าอย่างน้อย side effect ก็คงไม่มากนัก แม้ effective มันจะไม่ดีก็ตาม เอาแค่คนไข้รู้สึกดีขึ้นก็ถือว่าใช้ได้  หนักไปกว่านั้นคือ ไม่รู้ว่าความผิดปกติเกี่ยวกับระบบการมองเห็นมีอะไรเกี่ยวมากมายกว่า "ไม่ชัด" จากสั้น ยาว เอียง และ สายตาคนแก่  เมื่อไม่รู้โรคแล้วจะหายารักษาโรคได้ยังไง  นำไปสู่เรื่อง "ก า ร เ ชี ย ร์ อั พ เ ก ร ด เ ล น ส์" ตัวอย่างเช่น  "อ๋อ รุ่นเลนส์ที่คนไข้ใช้ใช้มัน low tech เกินไป คนไข้เลยใส่ไม่ได้ ต้องใช้รุ่นที่ high tech มากกว่านี้ จึงจะรองรับกับค่าสายตาของคนไข้ได้" แล้วผลักภาระความรับผิดชอบไปสู่คนไข้แทนที่เลือกเลนส์ผิดเอง  แต่เป็นหน้าที่ของคนจ่ายเลนส์ไม่ใช่หรือที่ต้องบอกตั้งแต่ต้นว่าอะไรใช้ได้อะไรใช้ไม่ได้แล้วทำไมถึงไม่แนะนำตั้งแต่ต้น ดังนั้นความรับผิดชอบของเรื่องนี้ต้องอยู่ที่คนจ่ายเลนส์ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรก็ตาม เพราะเป็นผู้เลือกวิธีในการรักษาตั้งแต่ต้น ต้องรับผิดชอบการกระทำ ไม่ใช่เชียร์อัพรุ่น  

 

ถ้าเราดูซีรี่เกี่ยวกับชีวิตของแพทย์ในหนังเกาหลีหรือแม้แต่เรื่องจริงในสถานพยาบาลในบ้านเราซึ่งคนที่ทำงานในโรงพยาบาลก็จะเข้าใจ  เอาเป็นว่าเรื่อง “หมอเจ็บ” ก็ได้ที่พี่พอลเล่นเป็น“หมอพาย”เล่นเป็นหมอคู่กับตะวันซึ่งเล่นเป็น “หมอถุน”  เราจะเห็นได้ว่า เขามีความ Serious(ly) มากในการทำงาน  ออกแบบให้เกิดความรู้สึกแบบ perfectionist  ยึดเอา precision เป็นเครื่องอยู่  ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานด้านการแพทย์และเป็น priority สูงสุด  ส่วนการ compromise เป็นเรื่องที่ยอมรับกันไม่ได้ เพราะถ้าพลาดไปแล้วจะเกิดผลร้ายถึงชีวิตคนไข้ จะตามมาด้วยความเจริญทางวิชาชีพของตัวเองก็จะมีปัญหาด้วย ดังนั้น compromise จึงเป็นเรื่องที่จะต้องถูกตำหนิอย่างรุ่นแรงมาก ทำให้หมอในซี่รี่จะต้องผลักดันตัวเองให้เก่งอยู่ตลอดเวลาเพื่อลดความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด

 

 

ทีนี้หลับตาย้ายภาพในจินตนาการมาสู่ระบบการดูแล "สุขภาพประสาทรับรู้การมองเห็น" เรียกย่อว่า "สายตา" ในบ้านเราว่าเป็นอย่างไร  seriously แค่ไหน  precisly แค่ไหน และมีการฝึกที่จะเป็น perfectionist แค่ไหน  

 

เชื่อว่า ภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นคือ Nop! Almost just pricingly and promotionaly  มากกว่า แล้วทำตัวเป็น compromise health care business ขึ้นมา ไม่ใช่ professional optometry care อย่างในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน เพราะบ้านเราดูเป็น ร้านค้าขายแว่นตา ที่ซื้อมา ขายไป มากกว่าที่จะเป็น ธุรกิจบริการด้านสุขภาพการมองเห็น นี่คือภาพจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเรา

 

ผมเพียงกระตุ้นให้ผู้อ่านได้จินตภาพด้วยตัวเองและภาพที่เกิดขึ้นในใจท่าน ก็ไม่ต่างจากผมเท่าไหร่และผู้สร้างจินตภาพจะรับภาพนี้ได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้ารับใน compromise ได้ว่า มันก็ดีแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องเป็นแบบนี้  ก็ดูว่าจะมีความผิดปกติทางด้านจิตสาธารณะเพราะมีแนวโน้มอนาคตว่าจะไม่พัฒนาต่อ  แต่ถ้าดูแล้วทำใจยอมรับได้ยากและเข้าใจปัญหาก็จะได้หาทางในการแก้ไขต่อไป  ก็จะพัฒนาในอนาคตได้  

 

แต่ที่เขียนขึ้นมา เจตนาผมไม่ได้ว่าใครคนหนึ่ง แต่เขียนภาพจากเรื่องจริงเพื่อเล่าเรื่องจริงให้ทราบ  ไม่ได้เขียนให้รับได้หรือไม่ได้ แต่ถ้ารับไม่ได้ก็ขอให้ถามใจตัวเองว่า รับไม่ได้เพราะอะไร ถ้ามีคนมาบอกเราว่า “พริกติดฟัน ไฟเขียว ไฟแดง เต็มไปหมด” เราจะโกรธเขาหรือจะขอบคุณเขาดี อันนี้ก็น่าจะขึ้นอยู่กับคุณธรรมในใจของแต่ละคน

 

ถ้าท่านที่ตามงานเขียนผมมานาน จะพอสังเกตได้ว่าผมจะขยี้เรื่องนี้แทรกอยู่เรื่อยๆตามบทความต่างๆ ถึงความ compromise ในแวดวงธุรกิจบริการด้านสายตาในบ้านเรา เพราะมันเป็นความมัวหมองสำคัญจนนำไปสู่ความไม่พัฒนาทางวิชาชีพ  ทำให้เรื่อง “ปัญหาสายตา” เป็นเหมืองที่สาธารณสุขในประเทศเปิดให้สัมปทานฟรี  เมื่อเกิดความฟรีขึ้นมา ใครก็ขุดได้ กฎเกณฑ์กติกาในการขุดก็ไม่มี เมื่อกฎไม่เกิด มาตรฐานก็ไม่เกิด เมื่อคนเข้ามาขุดฟรีกันมากเข้าก็เร่ิมอ้างความชอบธรรมถึงสิทธิ์ในการขุดต่อไปและไม่ยอมรับกับกฎมาตรฐานที่สร้างขึ้นมาใหม่เพราะยังยึดสิทธิครอบครองโดยปฏิปักษ์ไว้อย่างเหนียวแน่น   ผลคือกฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานด้านการตรวจสายตาในประเทศของเราจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะผู้ที่จะทำงานให้ได้มาตรฐานนั้นมีเพียงหยิบมือ  ทำให้แม้แต่คนที่ศึกษาวิธีที่จะทำงานให้ได้มาตรฐาน ก็ยังเลือกที่จะลดมาตรฐานไปเล่นกับ pricing ซึ่งทำง่ายกว่าไม่เหนื่อยและได้ตังค์ ไม่ต้องเปลืองสมองคิดวิเคราะห์เคสให้ปวดหัว เปลี่ยน service business เป็นธุรกิจซื้อมาขายไป   เลยไม่ค่อยมีใครที่อยากจะสร้างมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น พอมาตรฐานมันไม่เกิด  impact ที่จะทำให้คนมอง value ในการทำงานของทัศนมาตรก็ไม่มี  ก็ถ้าแม้แต่เรายังไม่ให้  value ในงานของตัวเองแล้วใครจะให้ Value ในการทำงานของเรา

 

ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่เรียนทัศนมาตรนั้น  มันยาก หนัก มากมายแค่ไหนนั้น  ผู้ไม่เคยเรียนย่อมจินตนาการไม่ถึงว่า "การผ่ากระโหลกยัดความรู้" นั้นเขาทำกันอย่างไร   ถ้าถามคนทั่วไปว่าเขาคิดทัศนมาตรเรียนอะไร ก็คงจะได้คำตอบว่า “เรียนวัดตาทำแว่น” มั้ง

 

ตามมาด้วยคำถามว่า “แค่วัดแว่น...มันจะต้องเรียนกัน 6 ปีเชียวหรือ” นี่คือสิ่งที่คนทั่วไปคิดและเข้าใจเอาเองจากการเห็นการทำงานของทัศนมาตรที่แสดงออกมาบนสื่อโดยเฉพาะโซเลียล  ซึ่งทัศนมาตรเองรู้ดีว่า “ศาสตร์ทัศนมาตรนั้น” มันห่างไกลกว่าคำว่า “วัดแว่น” มาก พูดไปก็เหมือนเรากำลังอธิบาย "อภิธรรม" ให้คนในวงเหล้าฟัง ความเข้าใจในธรรมก็คงยากและ 6 ปีที่เรียนก็ไม่มี lecture วิชา “วัดแว่นขายแว่น” แต่จบออกมาทำไมถึงเกิดภาพลักษณ์ว่า “ทัศนมาตร=แว่น” หรือมันจะเป็นไปได้ไหมว่าเราเหล่าทัศนมาตรทั้งหลายควรจะ present เรื่องอื่นให้สังคมรับรู้เกี่ยวกับระบบประสาทตาที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นให้มากกว่าเรื่อง “แว่น” ผมก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ระหว่างที่เขียนเรื่องนี้มันผุดขึ้นมาแล้วก็ไหลลงทะเล  แต่แม้ไม่เกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง แต่ก็น่าเก็บเอาไปคิด

 

ทิ้งท้าย

ในความคิดผม ยังเชื่อเสมอว่า มนุษย์ไม่มีทางปฏิเสธสิ่งที่เป็นของตัวเอง เพราะมันมีเหตุผลอะไรที่จะปฏิเสธค่าที่แท้จริงของตัวเอง  ก็ในเมื่อค่าสายตาที่ผิดๆ ก็ยังทนๆ ปรับตัวกันได้ ทำไมถึงไม่ยอมให้คนไข้ได้ทนปรับตัวกับค่าที่แท้จริงของตนเองและถ้าค่านั้นเป็นค่าที่แท้จริง การปรับตัวจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แล้วก็สบายตลอดไปทั้งชีวิต จะมีกรณีเดียวที่คนไข้จะ rejcet คือค่านั้นไม่ใช่ค่าที่แท้จริง

 

ผมเชื่อว่า “ความผิดปกติของสายตา” นั้นก็เหมือนกับ “ก้อนมวลสารก้อนหนึ่ง”  ซึ่งมีปริมาตรรูปทรงและเนื้อมวลสารของมันอยู่ค่าหนึ่งและมันจะคงสภาวะอยู่เช่นนั้นในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งมากน้อยขึ้นอยู่กับช่วงอายุและพยาธิสภาพของกายภาพดวงตา

 

“ปัญหาสายตา” จึงไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนรวดเร็วหรือไม่คงที่ตลอดทั้งวัน  แต่เนื่องจากความเป็นก้อนมวลความผิดปกติที่สามารถถูกทำให้ปริมาตรหรือรูปทรงมีการเปลี่ยนแปลงมีได้จากหลายปัจจัยมาก แต่กระนั้นก็ตามมวลภายในยังคงเป็นค่าคงที่  

 

ปัญหามันอยู่ที่ว่า เมื่อมันมีการเปลี่ยนทรงหรือเปลี่ยนปริมาตรแบบไดนามิกเมื่อมีปัจจัยภายนอกมากระทำ  เรามีทักษณะพอที่จะทำให้มวลก้อนนั้นอยู่ในสภาวะคงที่ มีปริมาตรและรูปทรงที่เอื้อต่อการวัดค่าออกมาหรือไม่   ถ้ามีมากพอ ค่าที่เราได้จะคงที่เสมอ จะต่างไปบ้างก็น้อยชนิดที่ว่าไม่มีนัยยะสำคัญทางคลินิก 

 

มันก็เหมือนกันลูกโป่งน้ำ ที่รูปทรงสามารถเปลี่ยนไปมาได้ตามกำลังและทิศทางของแรงบีบ แต่กระนั้นก็ตามมวลน้ำยังคงที่เสมอเพียงแต่เปลี่ยนรูปทรง

 

ถ้าเราต้องการวัดปริมาตรของทรงกลมลูกโป่งน้ำด้วยสูตรหาปริมาตรของทรงกลม V = ⁴⁄₃πr³  เราต้องทำให้ลูกโป่งอยู่ในรูปทรงกลมเสียก่อนจึงจะใช้สูตรนี้ได้  แต่ถ้าลูกโป่งยังบิดๆเบี้ยวๆ  เราก็จะไม่มีสูตรที่จะวัดปริมาตรที่แน่นอนออกมาได้ ทำได้ก็แค่กะๆเอาเท่านั้นและทัศนมาตรก็เรียนสูตรทรงกลมและวิธีที่จะทำให้ลูกโป่งอยู่ในสถานะทรงกลม เพื่อให้ได้ค่าที่แน่นอนออกมา ปัญหาสำคัญคือทั้งคนไข้และผู้ให้บริการวัดแว่นจำนวนมาก ยังไม่รู้เลยว่าลูกโป่งน้ำมีทรงปกติเป็นอย่างไร ยิ่งสูตรนั้นไม่ต้องพูดถึง ที่ทำได้ถนัดที่สุดดูจะเป็นการกะหรือคาดคะเนจากความชัดเอา ถ้าชัดกว่าตาเปล่าก็ถือว่าชัด 

 

ผมเขียนย้ำเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะอยากให้เพลาๆเรื่องอวิชชาการจัดรูปทรงมวลสายตาที่ถ่ายทอดกันมาว่า ถ้าสายตาต่างกันมากๆ ให้ระวังคนไข้ใส่ไม่ได้  ใส่แล้วจะปวดหัว คลื่นไส้ วิงเวียน อยากอาเจียน เห็นภาพซ้อน ปรับตัวไม่ได้ แล้วนำไปสู่การปรับค่าสายตาให้เท่ากันทั้งสองข้าง ถัวๆ ทนๆ กันไป เพราะอวิชชาเหล่านี้มันคือโมหะและเป็นมิจฉาทิฎฐิ แล้วถ้ากระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว เม็ดต่อไปมันจะเป็นยังไง ใส่ออกไปข้างนอกแล้วมันจะทุกข์ไหม สร้างเวรสร้างกรรมกันเปล่าๆ

 

แต่กระนั้นก็ตามอวิชชาดังกล่าวมันดูเหมือนว่า "มีเหตุผลทางคลินิกสนับสนุนให้ต้องทำอย่างนั้นอยู่" ทำให้เราหลงว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นโดยที่ยังไม่ได้พยายามที่จะแก้ หรือ ให้โอกาสคนไข้พยายามที่จะปรับตัวกับสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อชีวิตของเขาเอง  ส่วนในเรื่องรายละเอียดทางคลินิกจะขอยกไปไว้ในบทความแยกอีกเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน

 

บทความทั้งหมดนี้ ให้ถือเป็นเพียงมุมมองหนึ่งในฐานะคนที่ทำงานในวิชาชีพทัศนมาตรและเป็นมุมมองส่วนตัว ที่มองเห็นสาธารณสุขด้านสายตาในประเทศไทย แล้วเขียนเรื่องจริงออกมาให้ได้ทราบ ไม่ได้จะต้องการว่าคนใดคนหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้วงการแว่นตานั้นได้ออกจากเงามืด เงาสลัว เงามัว มาสู่เส้นทางที่สว่างสไว สวยและงดงามกว่าที่เคยเป็น หวังว่าทุกท่านคงเข้าใจในเจตนารมณ์

 

สำหรับตอนนี้ ขอจบไปเพียงเท่านี้  ขอธรรมและความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่าน

สวัสดีครับ

DR.LOFT O.D.