public 25 June 2020
บางครั้งการวนเวียนมาพบกันบนโลกใบนี้ บางทีก็ดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญที่สร้างความประหลาดใจจนอดคิดไม่ได้ว่าชีวิตของเรานั้นอาจมีใครกำหนดไว้แล้วหรือไม่ก็ชีวิตก็ดูเหมือนมีพรหมหรือกรรมที่สร้างร่วมกันมาเป็นตัวกำหนดว่าเราต้องเจอใครและช่วยเหลือกันอย่างไรและเมื่อหาคำอธิบายไม่ได้ก็ต้องยกให้เป็นเรื่องของฟ้าที่มาลิขิตชีวิตคนและก็เชื่อว่าหลายๆคนก็คงเคยมีความรู้สึกเหมือนผมอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต
ดั่งเรื่องที่จะนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของคนไข้ผมในปัจจุบันที่เมื่อ 20 ปีก่อนนั้นเคยเป็นคนไข้ของอาจารย์ที่ผมเคารพรักในสมัยที่ผมไปเรียนและฝึกงานที่ศิริราช แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆของการเรียนฝึกงาน มีโอกาสได้ observe การทำงานและออกหน่วยให้บริการตรวจตาให้กับชาวบ้านในชุมชนกับอาจารย์ท่านนี้แล้ว ทำให้ผมรับรู้ถึงพลังเมตตาของอาจารย์ที่เผื่อแผ่ถึงลูกศิษย์ที่อย่างเสมอภาคทุกคน และแน่นอนว่า ผมจำชื่ออาจารย์ท่านนี้ได้แม่นมากและนำมาเป็นแบบอย่างในการทำงานอยู่เสมอและเมื่อวันที่ต้องจบการศึกษามาถึงลูกศิษย์ทุกคนก็ต้องออกไปเติบโตแต่ความรู้สึกในความเป็นศิษย์นั้นยังคงระลึกถึงครูบาอาจารย์อยู่เสมอ
ผ่านไป 10 ปี หลังจากผมเรียนจบทัศนมาตรศาสตร์ เป็น lens consultant ให้ Rodenstock 4 ปี จนกระทั่งทำออกมาทำ loft optometry 6 ปีจนเติบโตอย่างพอเพียงอย่างในวันนี้ ก็ต้องขอบคุณการอบรมสั่งสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่านทุกคนที่คอยพร่ำสอนให้เด็กทุกคนเป็นคนดี มีอุดมการณ์และจรรยาบรรณในการทำงาน ก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างราบเรียบรื่นได้ด้วยดี แม้จะเจอ COVID-19 ก็ดูจะทำอะไรคนตัวเล็กๆอย่างผมไม่ได้เท่าไหร่ เพราะตั้งใจเดินเล็กๆแบบพอเพียงมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เหมือนพายุรุนแรงที่โหมกระหน่ำไม่สามารถทำอะไรยอดหญ้าเล็กๆได้ ต้นหญ้าก็แค่โน้มไปมาเท่านั้น
วันเวลาผ่านไป ความสุขในการใช้ชีวิตก็อยู่ในระดับที่พอใจ เพราะไม่ได้มีความคิดที่จะยิ่งใหญ่อะไร แค่ทำหน้าที่รับผิดชอบให้มันดีก็ค่อยๆทำไป ให้สมดุลทั้งชีวิตงานและชีวิตส่วนตัว ฟังเพลง อ่านหนังสือ เขียน บทความ brew กาแฟ และ คราฟท์ ก็ดูเหมือนจะพอในใจ กระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อน คนไข้แวะมาดัดแว่น ก็เลยทำให้ผมนึกถึงเคสของคนไข้ท่านนี้และอยากจะเขียนให้แฟนคอลัมน์ได้อ่าน เพราะเป็นเรื่องที่ผมรู้สึกดี เขียนไว้นานแล้วแต่ไม่มีโอกาสได้โพสต์และอยากแชร์ความรู้สึกดีนี้ออกไป และ ขออนุญาตพี่ต้อง ตวงลาภ สำหรับ case story telling ณ ที่นี้ด้วย
เมื่อกลางปีที่แล้ว ผมมีเคสซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นเคสที่ยากและแปลกอันดับต้นๆเท่าที่เคยทำมาและก่อนที่ผมจะส่งมอบแว่น ผมก็บอกคนไข้ว่า ปกติเขาไม่จ่ายเลนส์กันแบบนี้นะ โดยหลักการแล้วสายตาแบบนี้เขาไม่จ่าย full corrected กันเพราะมันใส่ไม่ได้ ถ้าใส่แล้วมีอาการทนไม่ไหวก็ให้ถอดพัก แล้วพอไหวก็กลับมาใส่ใหม่
พอผมพูดจบผมก็เชิญคนไข้เข้าห้องตรวจ ซึ่งเป็นห้องที่ผมควบคุมสภาพแวดล้อมได้ โดยผมปิดไฟห้องตรวจให้มืดเพื่อให้คนไข้มองอะไรไม่เห็นนอกจาก target ที่เป็นแผ่นรับ VA chart ที่ห่างออกไปจากเก้าอี้นั่งตรวจ 6 เมตรพอดิบพอดี
ผมเริ่มเปิดจากชาร์จตัวใหญ่ก่อน เพราะเกรงว่าเปิดตัวเล็กเดี๋ยวคนไข้มัว โดยไล่จาก VA 20/70 ลงมาเรื่อย จนกระทั่ง VA 20/15 คนไข้ก็ยังอ่านได้ทุกตัว และเล็กสุดถึง 20/10 คนไข้ก็ยังอ่านได้ 3 จาก 5 ตัว
เปิดให้มองพร้อมกัน 2 ตาก็ไม่เกิดภาพซ้อน
จากนั้นผมก็บอกให้ค่อยๆลุกขึ้นจากเก้าอี้ตรวจ เดินออกไปนอกห้อง แล้วค่อยๆ มองไปข้างนอก ว่ามีอาการอย่างไร เวลาหันซ้ายหันขวา มีภาพไหลๆ ไหวๆ หรือไม่
คนไข้ตอบว่า “มี ถ้าหันเร็ว ๆ รู้สึกเหมือนภาพมันจะวิ่งไม่ทันศีรษะที่หัน”
ผมก็ตอบว่า "ใช่ มันจะเป็นอย่างนั้นอยู่สัก 2-5 ชั่วโมง ดังนั้นในช่วงนี้ให้หันจมูกตามไปด้วยเวลาจะมองอะไร ภาพจะไหลน้อยลง เพราะตาเราจะสามารถเกาะเซนเตอร์ของแว่นได้ตลอดเวลา"
คนไข้ลองทำตาม ใช้จมูกมองตามวัตถุ ก็ภาพไหลน้อยลง เมื่อทดสอบการใช้งานจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มานั่งคุยกัน ซึ่งหลังจากได้ฟังเรื่องราวที่คนไข้เล่าให้ฟังนั้นผมรู้สึกว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้นั้นเหมือนเป็นเรื่องราวของฟ้าลิขิตที่ทำให้คนไข้มาเจอกับผมที่ลอฟท์ ออพโตเมทรี
“นี่เป็นครั้งแรกของชีวิตที่ได้เห็นอะไรที่ละเอียดได้มากขนาดนี้ เพราะค่าสายตาของแว่นปัจจุบันที่ใส่อยู่นี้ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่ผมอายุ 15 ปี ซึ่งหมอคนหนึ่งทำให้ผม
จากวันนั้นถึงวันนี้ จนผมอายุ40ปีก็ยังไม่เคยมีใครสามารถทำให้ผมได้อีกเลย ใครทำให้ก็เมา ปวดหัว ใส่ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องไปก๊อปปี้ค่าสายตาจากแว่นเดิมที่ใช้มา 15 ปี ซึ่งทุกคนพอเจอแว่นที่ผมใส่ก็บอกเหมือนกันว่า ไม่เคยเห็นแว่นค่าสายตาแบบนี้มาก่อน และก็พยายามจะแก้ไขค่าสายตาจากแว่นของผม โดยการตัดค่านั่นค่านี่ออก แต่พอใส่ผมก็เมา มัว ใส่ไม่ได้ เคลมหลายรอบก็ยังแก้ไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเอาแว่นเก่าผมไปวัดแล้วทำตามแว่นเก่า ซึ่งค่านี้ผมใช้มาตั้งแต่อายุ 15 ปี ตอนนี้ 40 ปี ก็ 25 ปีพอดี และก็ถอดใจไปแล้วว่า จะมีใครที่วัดสายตาให้ตัวเองได้"
“จริงๆตั้งแต่ผมตรวจมาผมก็พึ่งเคยเจอนี่แหละและต่อให้ผมเจอแบบนี้ ผมยังไม่รู้เลยว่าจะจ่ายให้เต็มดีไหม เพราะกลัวใส่ไม่ได้เหมือนกกันและวันนี้ที่ส่งมอบผมก็รอลุ้นส่งมอบแว่นให้พี่เหมือนกัน เพราะถ้าส่งมอบผ่าน มันจะได้ความคิดหลายเรื่องขึ้นมาทันที เพราะตำราเรียนมักบอกว่าต้องค่อยๆจ่ายปรับค่าสายตาเพิ่มขึ้น ให้ค่อยๆชินทีละสเตป แต่ผมมองว่านั่นเป็นการเลี้ยงไข้มากกว่า ก็ถ้าเราสามารถหาค่าที่แท้จริงแล้วทำไมถึงไม่จ่าย มีเหตุผลอะไรที่ร่างกายจะปฏิเสธสิ่งที่เป็นของตัวเองจริงๆ หรือถ้าจะต้องมีการปรับตัวก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งก็ไม่น่าจะต้องเป็นเหตุที่จะไม่จ่ายค่าที่ถูกต้อง และถ้าไม่กล้าจ่ายมีเหตุผลเดียวคือเราก็ไม่มั่นใจว่าค่าที่เราหาได้นั้นเป็นค่าที่ถูกต้องหรือไม่มากกว่า" ผมตอบ
ผมก็เลยพูดต่อไปว่า
“ว่าแต่ พี่ต้องนี่โชคดีมากๆ ที่ไม่เป็นตาขี้เกียจ เพราะสายตาก็เป็นแบบนี้ และยังเคยมีประวัติตาเหล่ ผ่าตัดกล้ามเนื้อตาตอนเป็นเด็กมาถึง 2 รอบ แสดงว่าคุณหมอเก่งมากๆ ที่เฝ้า monitor ตาของพี่ได้สมบูรณ์ขนาดนี้ คุณหมอที่ดูแลพี่ตอนเป็นเด็กชื่ออะไรจำได้ไหมครับ” ผมถามเผื่อว่าผมมีคนไข้ลักษณะนี้จะได้ส่งต่อไปให้คุณหมอท่านนี้ทำให้
คนไข้ตอบว่า “ใช่ คุณหมอเก่งมากๆ เป็นหมอผู้หญิงและใจดีมากๆ แต่บางทีถ้าไม่พูดก็ดูจะดุๆ วันที่ผ่าตัดคุณหมอก็ยังแซวผมว่า “นี่ถ้าไม่เห็นว่าเป็นเด็กผู้ชายจะทำตาสองชั้นให้แล้วนะเนี้ย” แต่ผมไม่รู้ว่าท่านยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่านะ เพราะเจอกันครั้งสุดท้ายก็ตั้งแต่ผมอายุ 15 ปี เพราะว่าท่านไม่ได้ทำคลินิกไปแล้ว ตอนนั้นอาจารย์ก็อายุมากแล้วแต่จำได้ว่าท่านเคยเป็นประธานราชจักษุด้วย ผมพอจะนึกออกคร่าวๆว่า อ.ไธวดี คร่าวประมาณนี้”
“ อ.คุณไธวดี หรือเปล่า ที่ศิริราช ใช่ไหม” ผมถาม
“ใช่ๆ ที่ศิริราช ยศรู้จักอาจารย์ด้วยหรือครับ” คนไข้ถาม
“รู้สิ อาจารย์ยังอยู่ครับ แข็งแรงด้วย ปัจจุบันก็ยังสอนนักศึกษาแพทย์อยู่ศิริราช และ consult Optometry clinic ให้กับนศ.ทัศนมาตรชั้นคลินิกด้วย อาจารย์เก่งมาก ผมก็มีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับคลินิกกล้ามเนื้อตาเด็กกับท่านตอนปี 6 ตอนนี้ท่านยังคงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาจักษุแพทย์ และเป็นอาจารย์ consult ในคลินิกที่คณะทัศนมาตร รามคำแหงด้วย ผมจำได้ว่าผมเคยไปออกหน่วยตรวจตากับท่าน ที่อำเภอ ไพศาลี จ.นครสวรรค์ หนหนึ่ง ท่านใจดี attitude ต่อวิชาชีพทัศนมาตรที่ดีมากด้วย” ผมตอบอย่างรู้สึกภาคภูมิใจ
“ผมนี่..ขนลุกเลย” คนไข้ยกแขนขึ้นมาลูบแล้วพูดต่อว่า
“ มันเหมือนกับเป็น อือมม..พรหมลิขิต อะไรสักอย่างที่พาผมมาที่นี่ ผมเจอชีวิตที่โหดร้ายมาตั้งแต่เด็กกับปัญหาสายตา อย่างที่เล่าให้ฟัง ผมเคยผ่าตัดตาเหล่รอบแรกตอนอายุ 5 ขวบ แล้วก็ทำปิดตาสลับเพื่อไม่ให้เป็นตาขี้เกียจ จากนั้นก็กลับไปเหล่อีก คุณหมอท่านแรกก็เลยส่งต่อให้ อ.คุณไธวดี ผ่าตัดต่อ แล้วจากนั้นมา อ.คุณไธวดี ก็ดูแลผมเรื่อยมาจนผมเติบใหญ่จนถึงอายุ 15 ปีและผมก็ไม่ได้เจอท่านอีกเลย เพราะท่านไม่ทำคลินิกแล้ว แล้วมาวันหนึ่งผมก็มาเจอลูกศิษย์ อ.คุณไธวดี แล้วช่วยชีวิตผมอีกครั้ง มันเป็น miracle อะไรสักอย่าง ผมรู้สึกอย่างนั้น” คนไข้ตอบ และเล่าให้ผมฟังต่อยาวว่า
“เอาจริงๆนะ ผมก็แค่บ่นปัญหาตาที่ผมเป็นให้น้องที่ทำงานฟัง ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะหมดหวังกับเรื่องตาตัวเองมานานแล้ว ก็พูดเฉยๆ”
พอน้องที่ทำงานได้ฟัง ก็บอกผมว่า “ถ้าปัญหาพี่จะ deep ขนาดนี้ ผมว่าต้องมาที่นี่ แล้วเขาก็เล่าเคสของเขาให้ฟังเมื่อตอนมาตรวจที่ลอฟท์ ออพโตเมทรี พบว่าเป็นตายาวและเอียงมาก มีภาพซ้อน ตรวจว่ามีเหล่ซ่อนเร้นในแนวสูง/ต่ำ แต่ไม่ยอมทำแว่นให้ ให้ผมไปดูระบบประสาท ก็ไม่พบความผิดปกติอะไร จากนั้นก็กลับมา เขาถึงทำแว่นให้ ก็ใส่สบายถึงวันนี้ ว่าแต่เคสของพี่ deep ขนาดนั้นเลยเหรอ...
ผมก็ตอบว่า deep ขนาดที่ไม่เคยมีใครทำให้ได้มาจนถึงทุกวันนี้ น้องที่ทำงานก็เลยบอกว่า ต้องมา ก็เลยมา ตอนที่มาก็คิดในใจว่า ถ้ามาร้านลอฟท์แล้ว ร้านเอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาวางอยู่กลางร้าน ให้ผมเอาคางวางหน้าผากชิด แล้วก็เสียบๆเลนส์ให้ผมลอง ผมจะบอกว่า ขอแต่ค่าสายตา ยังไม่ทำเลนส์ แต่ครั้งแรกที่ผมเปิดประตูเข้ามา มันไม่เหมือนกับร้านแว่นที่ผมเคยเจอมา ยิ่งเข้าห้องตรวจผมรู้สึกเหมือนเข้าไปในคลินิกของอาจารย์หมอที่ดูแลตาให้ผม เพราะเครื่องมือที่ใช้หน้าตาคล้ายๆ กัน หลังจากออกจากห้องตรวจ ผมกระซิบกับแฟนว่า แพงเท่าไหร่ก็จ่ายนะ และ ที่พาลูกสาวอายุ 5 ขวบมาช่วยเช็คสายตาให้ ผมก็อยากรู้ว่า คุณจะตรวจได้ไหม จริงๆก่อนหน้านี้ผมพาลูกไปหาหมอมาแล้ว เพราะห่วงว่าตาเขาจะเหมือนผม ก็เลยพาไปตรวจ หมอก็บอกว่าสายตาปกติ ก็เลยพามาทดสอบดูที่ร้านว่า ผมจะตรวจยังไงกับเด็ก แต่ผมเห็นยศถือแท่งๆที่มีไฟส่อง (retinoscope) แล้วก็บออกว่าเด็กชัดดี เป็นสายตายาวประมาณ +0.75D ถึง +1.00D และบอกว่าปกติให้มองไกลก็ชัดเป๊ะจริงๆ ผมก็รู้สึกได้ว่า นี่แหล่ะคือวิธีที่ใช่ ที่ผมไปเจอมากับหมอตาเด็ก” คนไข้เล่าย้อนให้ฟัง
ผมยิ้มอย่างปีติแล้วตอบว่า “จริงๆ ชีวิตอาจะมีใครกำหนดไว้อยู่แล้วก็ได้นะครับ ฮา”
แล้วผมก็นั่งคุยสัพเพเหระไปเรื่อย จนกระทั่งดูเวลาแล้วก็เลยมาถึง สามทุ่มกว่า คนไข้ก็ขอตัวกลับบ้าน เผื่อผมจะมีธุระไปทำอะไรต่อ เรื่องราวก็จบลงด้วยประการฉะนี้
ท่านที่อยากอ่านรายละเอียดของเคสนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิ้ง https://www.loftoptometry.com/Eyecare/viewcase/115/12
ก็หวังว่าเรื่องราวนี้ คงจะเกิดประโยชน์หลายๆอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกันระหว่าง ทัศนมาตร และ จักษุแพทย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไข้ต่อไป