ธรรมเทศนา

เรื่อง “ธรรมะคือหน้าที่” โลกวุ่นวายเพราะคนไม่รู้หน้าที่

ธรรมบรรยายโดย มหาลอฟท์ กิตติเมธี ป.ธ.3 ,ทศ.บ. (O.D)

เผยแพร่ 25 สิงหาคม 2563

 

พุทธตรัสว่า “การให้ธรรมเป็นทาน ชนะทานทั้งปวง” ดังนั้นวันนี้ ตมาภาพ อดีตพระมหาสมยศ กิตติเมธี หรือปัจจุบันเขาเรียกว่า ดร.ลอฟท์ จึงขออนุญาตแฟนานุแฟนวางชอล์คเลคเชอร์มาขึ้นธรรมาสน์​เทศนาสักกันฑ์หนึ่ง ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย สำรวจจิต สำรวมใจ และฟังด้วยสติ

 

เรื่องที่จะนำมาแสดงธรรมในวันนี้ ก็มีเหตุมาจากการเฝ้าดูและตั้งคำถามให้กับสรรพสิ่งที่เห็น ทั้งที่ได้ลงมือทำในช่วงที่ผ่านมา และจากเรื่องรอบๆตัว รวมถึงความวุ่นวายในบ้านในเมือง เรียกว่าต้องใจแข็งพอสมควรกับการที่ต้องเห็นฟีดของเด็กเล็ก เด็กโต และเด็กเพราะแคะแกร็นไม่ยอมโตในยุคนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟีดผักตบชวา ที่ดูเหมือนรู้แล้วโพล่งกลวงออกไป ซึ่งดูไปแล้วก็สงสารคนริ่มคลองที่ต้องคอยเขี่ยผักตบไปให้พ้นๆบ้าน

 

เหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราตอนนี้มีเหตุมาจาก “คนไม่รู้หน้าที่ตน” พอไม่รู้

หน้าที่ก็ไม่ทำหน้าที่ พอไม่ทำหน้าที่ ปัญหาความวุ่นวายก็เกิดตามมา

 

เจ้าอาวาสไม่ทำหน้าที่...วัดก็วุ่นวาย

 

พุทธศาสนิกไม่ภาวนา...ปัญญาก็ไม่เกิด

 

พระไม่ทำหน้าที่...ชาวบ้านก็งามงาย

 

ครูไม่ทำหน้าที่...เด็กก็ไม่ได้รับการอบรมบ่มนิสัย

 

นักเรียนไม่ทำหน้าที่...ก็สอบไม่ผ่าน

 

พ่อแม่ไม่ทำหน้าที่...ลูกก็เสียคน

 

หมอไม่ทำหน้าที่...คนไข้ก็ตาย

 

นักการเมืองไม่ทำหน้าที่...บ้านเมืองก็วุ่นวาย

 

ทัศนมาตรไม่ทำหน้าที่...ปัญหาการมองเห็นก็ไม่ได้แก้

 

ตำรวจไม่ทำหน้าที่...ผู้รายก็เต็มบ้านเต็มเมือง

 

เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ความวุ่นวายทั้งหลายเกิดจากผู้คนบางคนบางกลุ่มยังไม่รู้และไม่ทำหน้าที่หรือไม่ก็ทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ มันก็เลยดูยุ่งเหยิงอิรุงตุงนัง อีกนัยหนึ่งก็คือถ้าทุกคน รู้หน้าที่ ทำหน้าที่ ผลคือ ตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติก็มีความสงบสุข

 

 

ป่าไม่เคยวุ่นวาย

ป่าใหญ่ ไม่เคยวุ่นวาย เพราะสัตว์ป่าทุกตัวต้นไม้ทุกต้นต่างทำหน้าที่ตน

 

เสือสิงโตทำหน้าที่ล่ากวางเพื่อให้มีหญ้าเหลือพอกินกับสัตว์ทุกตัว

 

ช้างทำหน้าที่ปกครองคุมเชิงให้สัตว์ทำหน้าที่ตัวเอง

 

นกทำหน้าที่ขยายพันธุ์พืชด้วยการกินแล้วบินไปขับถ่าย

 

ไม้ใหญ่ใบร่วงเพื่อให้ต้นเล็กได้แทงยอด

 

ปลวกทำหน้าที่ย่อยไม้ เมื่อกลับไปเป็นปุ๋ยต้นไม้

 

แมลงทำหน้าที่ผมสมพันธุ์เกษร

 

ป่าจึงสวยงามเสมอ สมบูรณ์แบบ บูรณาการ พอเพียง ยั่งยืน ไม่มีของเสีย เพราะสัตว์ทุกตัวมีหน้าที่ต้องทำที่ควบคุมผ่าน DNA เรียกว่า สัญชาติญาณ​ดิบบริสุทธิ์ ทำให้สัตว์ป่าไม่ก่อมลภาวะ แม่น้ำลำธารไม่เน่าเสียเพราะมีการควบคุมสมดุลอย่างดี

 

มนุษย์อาจมีคติต่อป่าว่า เถื่อน แต่ป่าที่เถื่อนๆแบบนั้นไม่เคยทำลายโลก ไม่ทำลายมนุษย์ แต่สัตว์ที่จิตใจประเสริฐแบบมนุษย์ มีความคิด รู้ผิดชอบชั่วดีได้ดีกว่าป่า แต่มนุษย์ทำลายป่า ทำลายสัตว์ และมนุษย์ก็ทำลายกันเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก

 

“สมอง” “ความคิด” “ความตื่นรู้”

มนุษย์ แม้จะมีพลังทางกายภาพที่น้อย เมื่อเทียบกับสัตว์ต่อหนึ่งมวลน้ำหนักตัว เอาเป็นว่า คนสู้กับหมามือเปล่า ไม่น่าจะสู้หมาได้ แต่มนุษย์มีสมองที่(อาจ) ฉลาดกว่าหมา สามารถหยิบจับอาวุธไปฟัดกับหมาได้ มีชั้นเชิงในการสู้รบด้วยสมองมากกว่าการใช้กำลัง

 

ดังนั้นสมองของมนุษย์จึงเป็นเหมือนอาวุธ ทำลายล้างสูงเหนือกว่าสัตว์ป่าทั้งปวง

 

“สมอง” มีความสามารถในการคิดโดยการผูกตรรกะๆต่างๆได้ ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ต่างๆมากมาย และดูเหมือนจะไม่วันสิ้นสุด ทำให้เกิดนวัตกรรมที่ช่วยให้ชีวิตมนุษย์นั้นสะดวกขึ้น สบายขึ้น สุขภาพดีขึ้น การแพทย์ดีขึ้น นั่นคือ “ความคิดฝ่ายขาว”

 

แต่ก็จะมี “ความคิดฝ่ายดำ” ที่มีพื้นฐานความคิดมาจากอำนาจของกิเลส ไม่ว่าจะได้ด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ทำให้ความคิดนั้นเป็นความคิดที่เป็นอกุศล แล้วผลของความคิดที่อกุศลย่อมทำให้เกิดกรรมที่เป็นอกุศล ผลที่เกิดจากกรรมอกุศลก็เลยสร้างความเดือดร้อน แผดเผา เหมือนไฟนรก

 

ดังนั้น ความคิด สามารถคิดให้กุศลก็ได้ คิดให้อกุศลก็ได้ นั่นแหละความอันตรายของ “ตัวคิด”

 

“ตัวคิด” สามารถคิดรู้เรื่องชาวบ้านได้ทุกเรื่อง แต่ตัวคิดมักไม่เคยรู้ว่าตัวเองกำลังคิด ตัวคิดจึงไม่เคย “รู้จริง” เพราะตัวคิดไม่สามารถคิดอยู่กับปัจจุบัน และก็มีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นความจริง แต่การคิดจะต้องเชื่อมโยงตรรกกะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วในอดีต หรือความคาดการณ์ในอนาคต แต่ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นไม่มีอะไรที่ตรรกะเข้าไปจับได้เพราะมันคือปัจจุบัน มีแต่ “ตัวรู้” เท่านั้นที่ “รู้จริงและเห็นจริง” ในปัจจุบัน

 

เมื่อ​ “ตัวคิด” ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน “ความจริงจึงไม่ปรากฎณ์แก่ตน” สิ่งที่ตัวคิด คิดได้จึงเป็นเพียงเรื่องอตีตที่อาจทำให้สุขหรือทุกข์ก็แล้วแต่เรื่อง หรือ เรื่องในอนาคตที่ได้จากการคาดการณ์จากข้อมูลในอดีต เราเรียกสั้นๆว่า “มโนเอาเอง ว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในอนาคต หรือไม่ก็ทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในอดีต” คือคิดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้กับตรรกะที่ตัวเองมี ทำให้เกิดเวทนาสุขทุกข์ขึ้นมา

 

ดังนั้น ผลิตผล จากการคาดการณ์ด้วยตรรกะจะถูกหรือจะผิด ก็ขึ้นอยู่กับองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ว่ามันถูกต้องมากน้อยเพียงใด ถ้าข้อมูลมันมาผิดๆ ผลของตรรกะก็ผิด เช่น องคุลีมาร ที่โดยอาจารย์หลอกให้ไปฆ่าคนเพื่อตัดนิ้วมาให้ครบ 1000 คน จะบรรลุจุดสุดยอดของวิชา ก็เชื่อ ก็ออกไปตัดนิ้วให้ครบ เพื่อจะได้บรรลุ และหลงทำผิดด้วยความคิดด้วยตรรกะ ที่มีพื้นฐานจาก โมหะ เป็นต้น (นี่ถ้าออกมาไล่ตัดตอนนี้ ได้คนละ 3 นิ้ว แป๊บเดียวครบพันนิ้ว)

 

พระพุทธองค์จึงสอนให้อยู่กับ “ตัวรู้” อย่าไปอยู่กับ “ตัวคิด” เพราะถ้าตัวคิดมันเกิด ตัวรู้มันก็ตาย สลับไปสลับมา

 

แต่สมอง ถูกออกแบบมาให้คิด ไม่ได้ออกแบบมาให้รู้ เพราะถ้ารู้จริง เราคงไม่ลืมว่าเราหายใจอยู่ แต่มีสักกี่คนที่หายใจแล้วรู้ว่าตัวเองหายใจ บางคนหลายเดือนหลายปียังไม่เคยรู้ว่าตัวเองหายใจ มารู้อีกทีก่อนจะสิ้นใจ หายใจไม่ออก เลยนึกได้ว่า มีลมหายใจอยู่

 

สมอง ทำงานผ่านการคิด ด้วยการส่องเข้าไปในอดีต และ ส่องเข้าไปในอนาคต จนลืมปัจจุบัน เช่นลืมสถานะปัจจุบัน ว่าตนเองเป็นใคร กำลังทำอะไร มีหน้าที่อะไร ได้ทำดีที่สุดแล้ว พอใจกับการกระทำที่สุดแล้วหรือยัง พอไม่รู้ตัว ก็ทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่(เสือก)คิดว่าตัวเองรู้ แล้วทำสิ่งโง่ๆออกมา คิดว่าตัวเองแน่ ตัวเองเจ๋ง เป็นแค่ “พญาแย้” กลับคิดเอาเองว่าเป็น “พระยาชาลวัน” แล้วออกมาขวางคลองอวดศักดิ์ดากลางถนน เห็นแล้วก็เป็นภาพที่น่าสมเพชเวทนายิ่งนัก (หลวงพี่กำลังขึ้น...นี่หลวงพ่อก็ยังขนาดสติ ไม่รู้หน้าที่ว่ากำลังทำอะไร)

 

ภาวนาทำให้เกิดปัญญา

การหยุดคิดมันทำได้ยาก พระก็เลยสอนให้คิดอยู่กับเรื่องเดียว คือเรื่องอะไรก็ได้แต่เอาแค่เรื่องเดียว เช่นคิดเรื่องลมหายใจเข้าออกก็ได้ แล้วนึกคำบริกรรมขึ้นมา อาจจะนึกในใจ(คิด) ลมเข้าว่าพุทธ ลมออกว่าโธ เป็นต้น หรือจะพุทโธ รัวๆก็ได้ เมื่อจิตมันถูกหลอกให้อยู่กับปัจจุบัน ตัวคิดก็ไปในอดีตไม่ได้ ไปในอนาคตไม่ได้ มันก็จะตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน เรียกว่า การเจริญสติสัมปชัญญะ คือมีสติระลึกรู้ว่า กำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร กำลังส่งจิตออกนอกไปไหน และเจริญสัมปะชัญญะ คือรู้ตัวตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา เราเรียกรวมๆว่า การภาวนานั่นเอง

 

ภาวนาให้มันได้อะไร

“ภาวนา” ทำให้เกิด “ปัญญา” ปัญญาทำให้เห็นความจริง ตามความเป็นจริง คือเห็น สมุทัยได้ถูกต้อง ที่ไม่ได้ปรุงแต่งด้วยอวิชชา หรือเห็นจริงที่ปราศจากอำนาจกิเลส และแน่นอนว่า มันมีฐานของกุศลอยู่เต็มเปี่ยม การกระทำก็ย่อมเป็นกุศล ผลของกุศลย่อมสงบ ร่มเย็น มีความสุข

 

เช่นถ้าไม่มีปัญญา เราก็จะไม่รู้ว่าเราจะเปิดร้านแว่นขึ้นมาทำไม ถ้าคำตอบคือ “ก็เปิดมาเพื่อหาเงิน” อันนี้ไม่ต้องใช้ปัญญาก็ตอบได้ เพราะแสดงว่ายังไม่เห็นความจริง แต่มีฐานความคิดจากกิเลสคือความโลภ พอความโลภเข้าครอบงำ ทำเพราะอยากมีอยากได้ ก็จะเริ่มวางแผนการ cheating เกิดขึ้น

 

ตั้งแต่การโฆษณาเกินจริง การอวดอ้างแอบอ้างสรรพคุณ​ การอวดอุตริ การลดคุณภาพการทำงาน การใช้เครื่องมือและสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การใช้ของที่ไม่ปลอดภัย การเอาสินค้าลอกเลียนแบบมาขายปนสินค้าแท้ การมีห้องตรวจและเครื่องมือที่ไม่ได้มาตรฐาน การไม่ยอมศึกษาเพิ่มเติมเพราะมองเป็นการเสียเวลา คิดว่าเอาเวลาไปขายของดีกว่า  หรือบางคนก็แทนที่จะเอาเวลาว่างไปอ่านตำหรับตำรา ก็เอาแต่นั่งคิดแต่โปรโมชั่นว่าจะลดเท่าไหร่ดี  จะหลอกล่อเพื่อส่งเสริมการขายอย่างไรดี  เรียกว่าไม่มีปัญญาพอที่จะเห็นว่าอะไรคือหน้าที่ เลยทำผิดหน้าที่  สังคมเลยวุ่นวาย รุ่มร้อน  

 

สิ่งที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ก็เพราะไม่มีปัญญาพอที่จะ เห็นความจริงตามความเป็นจริง ว่าคนไข้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพเขาต้องการอะไรกันแน่ระหว่างการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและจบกับการซื้อสินค้าราคาถูกที่มันใช้งานไม่ได้หรือใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ  แต่บางคนก็ยังหลงทำอยู่ เพราะเห็นว่า "ก็มันขายได้"  ซึ่งเรื่องนี้ ขายได้ก็ส่วนหนึ่ง แต่มันต้องลึกไปว่า ที่ขายได้เพราะอะไร ที่เขาซื้อเพราะอะไร ที่เขาซื้อ อาจเพราะไม่รู้ก็เป็นได้  ก็เห็นว่าเป็นของเหมือนกัน สินค้าเหมือนกัน ก็เลยหลงเชื่อด้วยตรรกะที่มีก็นึกว่า "ของจริง" เหมือนกัน  คล้ายกับกาแฟ คนกินกาแฟนั้นรู้ว่า กาแฟไม่เหมือนกัน  รู้ว่ากาแฟดีไม่ดี  มีตั้งแต่แก้วหลักบาทไปจนถึงหลักพัน  รู้ว่าเมล็ดพันธ์ุ Geisha แท้กิโลละ 4000 ก็แย่งกันซื้อ กับเมล็ดบางพันธุ์ให้ฟรียังเคือง นั่นคือ "รู้กับไม่รู้"  และต้องคิดให้ออกต่อว่า "ถ้าเขารู้แล้วว่ามีของจริงยิ่งกว่า แล้วเราที่จริงน้อยกว่าจะทำยังไง ของปลอมไม่ต้องพูดถึง" 

 

แต่เมื่อมีความรู้มากพอ ภาวนาเกิดแล้ว ปัญญาเกิดแล้ว ก็จะเห็น ความจริงที่จริงยิ่งกว่า เมื่อนั้น ของที่จริงน้อยกว่าก็จะถูก disrupt และล่มสลายในที่สุด  ซึ่งเหล่านี้เรียกว่า​ "ความยั่งยืน" ที่นักธุรกิจที่มองหาแต่เงินมักไม่ค่อยเข้าใจ จึงมุ่งสู่การสร้างเป้า เพิ่มเป้า มากกว่าที่จะดูแลฐานเดิม  หรือไม่ก็อาจเกิดปัญญารู้ว่าฐานเดิมหนีไปหมดแล้วก็เลยหาแต่ฐานใหม่ตลอดเวลา  ซึ่งเราเห็นอยู่บ่อยๆก็เช่น เครือข่ายมือถือ ที่มักจะให้แต่โปรโมชั่นย้ายค่ายสำหรับลูกค้าใหม่ แต่ลูกค้าเก่าที่อยู่กันมาหลายปี ไม่เคยได้ข้อเสนออะไรดีๆ แล้วมันจะเกิด brand royalty ได้ยังไง ผมก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ได้เท่ากับโปรลูกค้าใหม่ ผมก็ย้ายค้าย เพราะรู้สึกในใจว่า "ไม่แฟร์"  เหล่านี้เป็นการกระทำที่เกิดจากอวิชชาคือความไม่รู้

 

พอไม่รู้ก็ทำผิดๆ พอทำผิดๆมากๆเข้า ผลจากการทำผิดก็นำทุกข์มาให้ แล้วด้วยความที่ไม่มีปัญญาพอที่จะหา “สมุทัย” ว่าอะไรเป็นเหตุของทุกข์ ก็ไปคิดว่าเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เป็นเรื่องความความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องชนชั้น เป็นเรื่องขาดสิทธิเสรีภาพ ไปนั่น เพราะแท้จริงแล้ว “สมุทัย” คือ “พึ่งตาตนเองไม่ได้”

 

แต่ถ้าคนที่มีปัญญา จะมองออกว่า ทำร้านแว่นขึ้นมาทำไม เรียนทัศนมาตรมาทำไมตั้ง 6 ปี เขาก็จะเห็นด้วยปัญญาว่า คนที่เขามีปัญหาการมองเห็น เขาอยากได้การแก้ไขปัญหากับคนที่รู้จริงเรื่องปัญหาของเขา ทัศนมาตรจึงต้องทำคลินิกขึ้นมา“เพื่อแก้ปัญหาให้คนเห็นได้ดีขึ้น”

 

ปัญญาก็จะคิดแยกแยะต่อไปได้ว่า ทำอย่างไรจึงเห็นดีขึ้น อะไรที่ช่วยให้เห็นดีขึ้น อะไรที่ไม่ปลอดภัย อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเห็นดีขึ้น แล้วมันก็ไม่ได้ไปสนใจการเมืองเศรษฐกิจ เพราะมันคิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ดี เพราะเป้าหมายไม่ใช่ที่เงิน แต่อยู่ที่การได้แก้ปัญหาให้มันดี ดีที่สุดหรือยังก็ต้องหมั่นถาม แล้วเรียนเพิ่ม พัฒนาเพิ่ม ให้ดียิ่งๆขึ้นไป  

 

ถ้าคิดได้อย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ และทำอย่างนี้ แล้วมันจะไม่ดีได้อย่างไร มันจะไม่ยั่งยืนจากอะไร มันจะพึ่งพาตนเองไม่ได้จากอะไร มันจะเกิดทุกข์ได้จากอะไร ในเมื่อการพึ่งพาตนเองคือ การที่เราเป็นผู้ควบคุม สมุทัย ด้วยตัวเองได้ทั้งหมด

 

พึ่งพาตนเองให้ได้

ผัดไท อร่อยซะอย่าง ทำไมคนจะไม่กิน ผมไม่เคยกินผัดไทเจ๊ไฝประตูผี แต่ก็เชื่อว่าอร่อยมาก ไม่เห็นว่าเจ๊ไฝจะต้องโวยวายหาสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมจากอะไร เพราะเจ๊ไฝขายผัดไทย พึ่งพาตนเองได้ เพราะเขามีดี ผัดไทยเขาอร่อย

 

เจ๊ไฝ ผัดไทประตูผี

ดังนั้น เทศนาในวันนี้ ขอให้แฟยานุแฟนเพจ ได้มีสติ ฝึกรู้ตัว ด้วยการภาวนา เพื่อให้เกิดปัญญา รู้จำแนกแยกแยะหน้าที่ ว่าอย่างไหนเป็นหน้าที่ อย่างไหนไม่ใช่หน้าที่ เมื่อรู้หน้าที่แล้วก็ทำหน้าที่ตนให้สมบูรณ์ เช่นเป็นทัศนมาตร ก็ให้ถามตัวเองว่า ทัศนมาตรมีหน้าที่อะไร ตรวจอะไร ตรวจอย่างไร แก้ให้ดีที่สุดอย่างไร สุดแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่สุดจะสุดได้อย่างไร ถ้าทำได้ตนเองสุข วิชาชีพก็สุข งานออกมาดี ผลก็ออกมาดี แล้ว value มันจะตามมาเอง ชีวิตก็จะดีตามมา ตนเอง ครอบครัว ชุมชน บ้านเมืองก็จะผาสุข

 

ท่านพุทธทาส กล่าวไว้ว่า

“ธรรมมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ การปฏิบัติธรรมะคือการปฎิบัติหน้าที่ และการปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์คือการปฎิบัติธรรมให้สมบูรณ์ และผู้ปฎิบัติหน้าที่หรือปฎิบัติธรรม ย่อมนำมาซึ่งความสุข ความเจริญ เกิดปีติ สุข อย่างแน่แท้แน่นอน"

 

ใน อนิกฺขิตฺตธุโรกถา ว่าด้วยไม่ละทิ้งหน้าที่ ก็สมควรแก่เวลา จึงขอยุติการแสดงพระธรรมเทศนาลง คงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

เจิญพร

มหาลอฟท์ กิตติเมธี  ป.ธ.3 ,ทศ.บ. (O.D.)