ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องการออกร่างกฎหมายเพื่อกำหนดให้ทัศนมาตรขึ้นเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะที่เรียกได้ว่ายืดเยื้อยาวนานกว่าวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพใดๆทั้งหมด ตัวอย่างกฎหมายวิชาชีพที่สามารถออกมาได้อย่างรวดเร็วสดๆร้อนๆเมื่อปีที่แล้วคือ พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๖๓ เมื่อรัฐเห็นว่าการกำหนดอาหารนั้นส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนและเอาประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นที่ตั้ง ก็สามารถคลอดกฎหมายควบคุมออกมาได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนเข้าใจว่านักกำหนดอาหารคืออะไร มีหน้าที่ทำอะไรบ้าง มีการเรียนการสอนที่ไหนบ้างก็สามารถทำได้ทันที แม้ว่ากฎหมายนี้อาจทำให้บางอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดอาหารเช่นเทรนเนอร์สุขภาพที่ควบคุมอาหารได้รับความเดือดร้อนบ้าง แต่เพื่อประโยชน์กับคนหมู่มากกว่า รัฐก็ต้องทำทันที
แต่กฎหมายที่จะกำหนดทัศนมาตรศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนจริงๆให้เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะนั้น กลับทำได้ยากยิ่งและความขัดแย้งนี้ก็ยืดเยื้อกินเวลายาวนานร่วม 20 ปี และอย่างที่ทุกคนรู้ๆกันก็คือปัญหาเรื่องประโยชน์ทับซ้อนที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการร้านแว่นตาที่ทำอยู่เดิมว่าจะทำอย่างไรหากทัศนมาตรศาสตร์ถูกยกขึ้นเป็นสาขา ฝั่งหนึ่งมีความชอบธรรมจากการทำมาก่อน อีกฝั่งมีความชอบธรรมจากการทำงานในระดับวิชาชีพมีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา 6 ปี ซึ่งเป็นหลักสูตรสากล ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตร แต่ต้องทำในสถานพยาบาล แต่ร้านแว่นตาไม่ใช่สถานพยาบาล เพราะยังไม่ขึ้นเป็นสาขา จึงไม่สามารถทำงานเต็มศักยภาพในร้านแว่นตาได้ เราจึงดูว่าทัศนมาตรก็มีลักษณะงานที่คล้ายๆกับช่างคือวัดสายตาและขายแว่น แต่เนื้อแท้นั้นความเป็นทัศนมาตรมีเนื้อหาการประกอบโรคศิลปะที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก
แต่หลังจากเล่นชักกะเย่อกันมาหลายปี เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ก็เหมือนจะหาทางลงกันได้เสียที ซึ่งถือเป็นเรื่องดี จะได้ต่างคนต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตน ตามความรู้ความสามารถที่มี แต่ร่างก็ยังคงต้องเป็นร่าง จะออกหัวออกก้อยก็คงจะต้องมีการทำประชามติรับฟังความคิดเห็นกันอีกครั้งว่ามีเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผม "ผ่าน"
ดังนั้นวันนี้ ผมก็ถือโอกาสนี้ในการแสดงความคิดเห็นในมุมส่วนตัวเกี่ยวกับวิชาชีพของผม ส่วนท่านใหนจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็สุดแท้แต่ attitude ที่มี positive/negative mindset ก็แล้วแต่ ไม่มีถูกไม่มีผิดสำหรับสิ่งที่ยังคงเป็นร่างอยู่ แต่ถ้าร่างกลายเป็นตัวบทกฎหมายขึ้นมานั่นก็แสดงว่า ทุกคนต้องทำตาม ถ้าไม่ทำก็จะเริ่มมีผิดมีถูกกันแล้ว ดังนั้นก็คงต้องช่วยกันตกผลึกเรื่องนี้ให้ได้เพื่อยุติความขัดแย้ง แล้วไปสร้างประโยชน์ให้ประเทศเสียบัดนาว ชักช้าไปไยก็ดูจะเสียการใหญ่ได้
ดวงตานั้นเป็นอวัยวะของประบบประสาทการรับรู้ (sensory organ) ที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เรียกได้ว่าเป็นอวัยวะที่ใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพทั้งงานหลัก งานอดิเรก งานบันเทิง การเรียน การท่องเที่ยว ล้วนแต่ต้องอาศัยดวงตาเป็นหลักทั้งสิ้น เรียกได้ว่า ไม่มีดวงตานั้นใช้ชีวิตลำบากมากๆ ดังเราจะเห็นคนตาบอดว่าเขาจะขาดโอกาสมากมายในชีวิต
ด้วยความที่ดวงตาเป็นอวัยวะประสาทรับรู้ที่มีระบบที่ซับซ้อน ประกอบไปด้วย ระบบการหักเหของแสง ระบบการทำงานร่วมกันของสองตาและระบบประสาทการรับรู้แสงซึ่งไล่ตั้งแต่จอประสาทตาที่โยงไปถึงประสาทส่วนรับรู้การมองเห็นภายในสมอง ทำให้จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะมาดูแลในแต่ละส่วนของอวัยวะดวงตา เช่นจักษุแพทย์ซึ่งมีหน้าที่ดูแลในเรื่องสุขภาพของดวงตาและโรคที่จะเกิดขึ้นกับดวงตา ก็จะต้องมีจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละส่วนแยกย่อยลึกลงไปอีก เช่นหมอกระจกตา หมอจอประสาทตา หมอต้อหิน หมอจอประสาทตา หมอประสาทตา หมอกล้ามเนื้อตา หมอตาเด็ก เป็นต้นตามแต่ละตำแหน่งของรอยโรคที่เกิดขึ้น และการรักษาก็จะใช้วิธีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเช่น ยา ผ่าตัด และ เลเซอร์ เป็นต้น
แต่ถ้าความผิดปกติของการมองเห็นนั้น ที่ไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพของดวงตา เช่น ปัญหาเรื่องระบบหักเหแสงของดวงตา หรือ ระบบของการทำงานร่วมกันของสองตา ก็จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านซึ่งวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทางเรื่องนี้โดยตรงก็คือทัศนมาตร (optometrist) และรูปแบบของการรักษาก็จะใช้เลนส์หรืออุปกรณ์ชนิดต่างๆหรือการบำบัดตามศาสตร์ทัศนมาตร
เดิมทีก่อนที่จะมีการเรียนการสอนสาขาทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิตเกิดขึ้นในระดับอุดมศึกษา ก็จะมีช่างที่ทำหน้าที่วัดแว่น ทำให้ลูกค้าชัด ด้วยอุปกรณ์คือแว่นตา แต่ด้วยความที่ยังไม่เคยมีกฎเกณฑ์บังคับ ทำให้มาตรฐานการทำงานของช่างแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันมากและบางครั้งเราจะเห็นว่ามีพ่อค้าแม่ค้าขายแว่นปนอยู่กับช่างแว่นด้วยเหมือนกัน(คือไม่มีทักษะใดๆเลยนอกจาการขายแว่น) แต่ช่างก็ไม่สามารถไปว่าแม่ค้าได้เพราะกฎหมายไม่เคยกำหนดว่า การตรวจสายตาเป็นหน้าที่ของใคร เพราะเมืองไทยใครๆก็วัดสายตายเพื่อขายแว่นขายคอนแทคเลนส์ได้
เมื่อศาสตร์ทัศนมาตรขึ้นมาในประเทศไทย (เมื่อ 20 ปีก่อน) จากเดิมที่มีการเอาคนไข้มาลองผิดลองถูกด้วยการจัดสายตา จ่ายแว่นถูกๆผิดๆ ตามความรู้ประสบการณ์และความเชื่อที่มี ก็เริ่มมีการตั้งคำถามว่า การมองเห็นคนไข้เป็นหนูและเป็นหมูในเวลาเดียวกันนี้มันถูกต้องแล้วหรือไม่ จึงมีความพยายามที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ในการทำงานเกี่ยวข้องกับสายตาขึ้นเป็นกฎหมายขึ้นมา เพื่อกำหนดขอบเขตของการทำงานของแต่ละคนนั้นว่า ทำได้มากน้อยแค่ไหน ตามความสามารถที่มี เพื่อปกป้องอันตรายกับสุขภาพตาของประชาชนไม่ให้ถูกกระทำการลองถูกลองผิดจนอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้
แต่ทัศนมาตรกับช่างแว่นตานั้นมีงานบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่คือคำว่า “วัดสายตา” และมีการขายแว่นตาและคอนแทคเลนส์คล้ายกัน (ที่เรียกว่าขาย เพราะปัจจุบันยังเป็นการทำในร้านขายของ แต่ถ้าเกิดเป็นคลินิกจะกลายเป็นการจ่ายเลนส์จ่ายคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นงาน optical treatmant ไม่ใช่งาน sell )
เรื่องนี้ ถ้ามองเพียงอุดมคติคือเอาสุขภาพของคนเป็นที่ตั้งก็ไม่น่าจะดูมีปัญหาอะไร มีจักษุแพทย์ที่คอยรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับดวงตาและมีทัศนมาตรที่คอยดูแลปัญหาระบบหักเหแสงและฟังก์ชั่นการทำงานร่วมกันของสองตา แต่จะทำอย่างไรกับอาชีพที่จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างช่างแว่นตาและอาชีพอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการขายแว่น ซึ่งกฎหมายไม่ควรสร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทั้งผู้ที่ให้บริการและรับบริการ
ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ต้องมีการประชุมหารือกันอย่างมะรุมมะตุ้มอยู่หลายปี เพราะติดอยู่เรื่องเดียวว่าทุกคนอยากมีคำว่า “วัดสายตา” อยู่ในกฎหมายของตน แต่ก็หาทางลงไม่ได้ เพราะถ้าฝั่งหนึ่งเอาคำว่า “วัดสายตา” ไปแล้วตนจะวัดสายตาไม่ได้ ประกอบอาชีพไม่ได้ แล้วจะเขียนกฎหมายอย่างไรให้คำว่าวัดสายตาสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่กระทบอาชีพอื่น
จนกระทั่งมาถึงการร่างปัจจุบัน ผมว่า “ใช่เลย” ถ้าใครมองว่าไม่ใช่ ผมว่าน่าจะต้องไปปรับทัศนคติเสียใหม่ คือหัดมองอะไรให้ไกลกว่าหม้อข้าวตัวเองบ้าง พักเรื่องลาเวนเดอร์เช่นว่า อยากให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพที่ดีและถูกต้อง เพราะกรรมที่ทำอยู่ปัจจุบันนั้นเป็นเครื่องชี้เจตนาด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ทำดีย่อมได้ดี ทำไม่ดีย่อมได้ไม่ดี มัวแต่นั่งมองสกอร์บอร์ดอยากให้แต้มขึ้นแต่กลับไม่ตั้งใจเล่นในเกมส์ให้ดี แล้วจะบังคับสกอร์ให้ขึ้นด้วยการออกกฎเตะหมูเข้าปากหมาให้เข้าทางตัวอย่างเดียว ถ้าคิดแบบนี้มันยังใช้ไม่ได้
ประกาศกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๖)
เรื่อง การอนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะ โดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ (Optometry)
“ทัศนมาตร” หมายความว่า การประกอบโรคศิลปะเกี่ยวกับสายตาของมนุษย์ ได้แก่ การวัด การวินิจฉัยความผิดปกติของการมองเห็นโดยใช้เครื่องมือที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด และแก้ไขฟื้นฟูความผิดปกติของการมองเห็นโดยกรรมวิธีการใช้แว่นตา เลนส์สัมผัส และการฝึกการบริหารกล้ามเนื้อตา โดยไม่รวมถึงการแก้ไขความผิดปกติเนื่องจากระบบประสาทตาหรือโรคทางตาที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของการหักเหของแสง และไม่รวมถึงการแก้ไขความผิดปกติโดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด และไม่รวมถึงการใช้เลเซอร์ชนิดต่าง ๆ ด้วย
เนื้อหาของร่างและเหตุผลในการแก้ไขร่างเดิม มีเนื้อความว่า...
“ทัศนมาตร” หมายความว่า การกระทำเกี่ยวกับสายตาและระบบการมองเห็นของมนุษย์ตามหลักการในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ การตรวจและการวัดสายตา เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของสายตา ระบบการมองเห็นและแก้ไขฟื้นฟูสภาพของระบบการมองเห็น รวมทั้งการใช้แว่นตา เลนส์สัมผัส หรือการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา โดยการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ น้ำตาเทียม หรือยา ทั้งนี้ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ แต่ไม่หมายรวมถึง
1. การแก้ไขความผิดปกติของการเห็นเนื่องจากระบบประสาทตา
2. การแก้ไขความผิดปกติของการเห็นและแก้ไขฟื้นฟูความผิดปกติของการเห็นโดยการผ่าตัด หรือการใช้เลเซอร์ชนิดต่างๆ
3. การปฏิบัติงานของบุคคลากรในวิชาชีพหรืออาชีพอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้
จากนิยามใหม่นี้ ได้ทำการเสนอให้คณะประชุมได้พิจารณาและทุกฝ่ายได้ทำการยอมรับเรียบร้อยแล้ว
“การกระทำเกี่ยวกับสายตาและระบบการมองเห็นของมนุษย์ตามหลักการในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์”
เหตุผลที่เพิ่มภาษา เพื่อให้ในอนาคตทัศนมาตร สามารถตรวจ หรือใช้เครื่องมือตรวจ หาความผิดปกติในการเห็น ที่มีเทคโนโลยีเหมือนหรือคล้ายคลึงกับกระบวนการในการตรวจวัดสายตาได้ รวมทั้งในปัจจุบันก็ยังเอื้อประโยชน์ให้กับนักทัศนมาตรที่ทำงานในโรงพยาบาล แต่ยังยึดหลักวิชาการด้านทัศนมาตรศาสตร์ไว้สูงสุดซึ่งในบางลักษณะนั้นก็เป็นหน้าที่ของวิชาชีพอื่น เช่น หน้าที่การรักษาโรคตาตามหลักการของจักษุแพทย์ เป็นต้น
“ตามหลักการในสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์"
นั่นหมายถึง หากวิธีการใหม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ที่มี และมหาวิทยาลัยบรรจุไว้ในหลักสูตรมาตรฐานของวิชาชีพซึ่งหากมีการบรรจุเป็นมาตรฐานกลางแล้วก็สามารถนำไปใช้ได้เลย
“การปฏิบัติงานของบุคคลากรในวิชาชีพหรืออาชีพอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้”
สาเหตุที่เพิ่ม นั่นเพราะ กฎหมายวิชาชีพต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ทั้งในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพที่อาจมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสายตาในบางครั้ง และ อาชีพ ในที่นี้ที่อาจจะหมายรวมถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การประกอบวิชาชีพ โดยในช่วงท้าย คือ “ตามที่กฎหมายกำหนดไว้” หมายถึง กิจกรรมที่ไม่ใช่วิชาชีพจะต้องถูกควบคุมโดยบทระเบียบหรือกฎหมาย ฉบับใดฉบับหนึ่งที่เหมาะสม ซึ่งในการออกกฎหมายสำหรับอาชีพ ก็จะต้องมีข้อกำหนดขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน และจะต้องไม่ก้าวก่ายในส่วนที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน แต่สามารถแชร์หรือร่วมกันปฏิบัติงานได้ในบางส่วน เช่น เรื่องของการวัดสายตาเพื่อประกอบแว่นในลักษณะที่กำหนดให้ปฏิบัติได้หรือทัศนมาตรเองก็ไม่สามารถปฏิบัติการบางอย่างในร้านแว่นได้เช่นกัน แต่ยังสามารถตรวจสายตาได้เป็นต้น
ในส่วนวิชาชีพอื่น เช่น จักษุแพทย์ พยาบาลเวชตา เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ ก็เป็นไปตามกฎหมายของวิชาชีพนั้น ๆ ได้กำหนดไว้ซึ่งเราก็ย่อมไม่มีอำนาจที่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้เช่นกัน
…………………………..
เนื้อหาข้างต้น ผมลอกมาจากร่างกฎหมายทัศนมาตรที่กรรมการวิชาชีพได้ร่าง พร้อมทั้งหลักการและเหตุผล ซึ่งถ้าอ่านด้วยใจที่เป็นกลางก็จะเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่ชัดเจน สละสลวย และ สวยงาม เพราะไม่จำเป็นต้องมีใครต้องเดือดร้อนจากการออกวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งเป็นกฎหมาย ซึ่งส่วนตัวต้องขอชื่นชมทีมร่างที่มีความรู้ความเข้าใจในวิชาชีพเป็นอย่างดีและมีความละมุนละม่อม บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น ทำให้เป็นกฎหมายที่ยอมรับกันได้ทุกฝ่าย
ประชาชนในที่นี้หมายความถึง ประชาชนที่ทำหน้าที่ให้บริการสุขภาพสายตา (คนตรวจ) กับ ประชาชนที่เข้ามารับบริการทางสุขภาพสายตา (คนไข้)
คนไข้ มีสิทธิในการเลือกการเข้ารับบริการกับผู้ให้บริการกับกลุ่มผู้ให้บริการใหนก็ได้ ทัศนมาตร จักษุแพทย์ หรือ ช่างแว่น ได้อย่างอิสระ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละกลุ่มก็มีแนวคิด แนวทาง ในการตรวจและจัดการตามหลักการของตน คนไข้ชอบการแก้ไขปัญหาแบบไหนก็ไปใช้แบบนั้นตามความเห็นของตน รวมไปถึงต้องรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตนกับผลที่ได้รับที่จะเกิดขึ้นด้วย
ผู้ให้บริการตรวจสายตา ก็มีหน้าที่ทำเต็มที่ตามกฎหมายของตนกำหนด ไม่ถูกริดรอดสิทธิในการทำงานเดิมที่เคยทำมา ก็สามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ติดขัดด้วยกฎหมาย แต่ถ้าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือทำเกินหน้าที่ ก็ต้องได้รับโทษจากกฎหมายด้วยเช่นกัน
ให้คนไข้เป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเอง ก็แฟร์ดีกับประชาชนทั้งหมด ไม่มีการก้าวล่วงสิทธิ์ใคร
ความกังวลบางอย่างเช่น “กลัวว่าคนไข้จะได้รับบริการด้านสายตาไม่ดีหรือไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย แล้วจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา” เรื่องนี้ ถ้าพูดกันเมื่อ 30 ปีก่อน ในยุคที่ยังไม่มี internet ใช้ก็อาจจะถูกต้อง แต่ในศรรตวรรตที่ 21 แล้ว ความรู้มากมายอยู่บนหน้าจอมือถือ ซึ่งหนึ่งคนจะมีหน้าจอมากกว่าหนึ่งจอ มือถือ แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค จึงไม่ควรประเมินความสามารถสติปัญญาของประชาชนในการเลือกเข้ารับบริการหรือทำเหมือนว่าเขาอ่อนแอหรือดูแลตัวเองไม่ได้
ส่วนตัวผมเชื่อว่าคนยุคนี้ การจะรู้ว่าอะไรใช่อะไรไม่ใช่ อะไรของจริงอะไรของปลอมนั้น ไม่ยากที่จะหาสิ่งที่จะมา prove สมมติฐานของตนจากข้อมูลบนอินเตอร์เนต จะมีบ้างก็ส่วนน้อยที่ไม่รู้อะไรจริงอะไรเท็จ หลงเชื่อโฆษณาในเฟสบุ๊ค ก็ไม่เป็นไร เพราะอ่านน้อย แต่เราคงไม่สามารถยึดส่วนน้อยจนทำให้ส่วนใหญ่นั้นเสียประโยชน์ บางครั้งการเรียนรู้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ นั่นก็เป็นหนึ่งส่วนของหลักประชาธิปไตย
การที่ไม่มีกฎหมายเพื่อขึ้นทะเบียนวิชาชีพทัศนมาตรเป็นสาขาของการประกอบโรคศิลปะนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทัศนมาตรไม่พัฒนาและอัตลักษณ์ของวิชาชีพไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีคณะกรรมการวิชาชีพเข้าไปกำกับดูแลมาตรฐานของการทำงานตามหลักทัศนมาตร ทำให้มาตรฐานในการทำงานของทัศนมาตรนั้นไม่ได้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน
บางคนยังมองเพียงว่า “ทัศนมาตร” เป็นเพียงกระแส หรือ Marketing Gimmick เพื่อเอาไปส่งเสริมการขาย คล้ายๆกับในอดีตที่ใช้คำว่า “ตรวจวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์” มาใช้เป็น Marketing Gimmick เมื่อ 30 ปีก่อน และเมื่อคอมพิวเตอร์วัดสายตาเริ่ม out เพราะคนเริ่มรู้ว่ามันใช้ไม่ได้ พอมี “ทัศนมาตรศาสตร์เกิดขึ้นในประเทศไทย” ทำให้ Investor บางคนมองเห็นโอกาสในกระแสนี้ จึงจ้างทัศนมาตรให้ไปเป็นหน้าเป็นตาในการช่วยขายของ เอาไปยืนคุมเครื่องบ้าง เอาไปสักแต่ว่าให้มีบ้าง เอาไปถ่ายรูปเพียงทำ ads บ้าง และงานแท้จริงส่วนใหญ่ที่เห็นในร้านแว่นยังห่างไกลกับนี่ยามของงานที่แท้จริงของทัศนมาตรอยู่มาก
ดังนั้นสถานะของ “ทัศนมาตร” ในร้านแว่นส่วนใหญ่จึงเป็นเพียงเครื่องมือในการช่วยขาย พอจ้างแพงแล้วขายไม่ได้หรือขายไม่ดีก็เอาออก เพราะลืมไปว่าทัศนมาตรไม่ได้ถูกสอนให้มาเป็นนักขาย เพื่อล่ามงกุฎเพชร แต่ก็เห็นบ่อยครั้งที่หลังจากเอาทัศนมาตรออกแล้วก็ยังคงใช้คำโฆษณาเดิมอยู่ว่า ตรวจโดยทัศนมาตร หรือ optometry เป็นต้น เพราะมองว่ามันเป็น Gimmick ที่สามารถช่วยส่งเสริมการขายได้ แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่มี แต่มุมดีเล็กน้อยคือ "อย่างน้อยชื่อทัศนมาตรก็สามารขายได้" แต่อย่าลืมว่า การสร้าง expect แล้วงานที่ทำนั้นเกิด under perform แล้วผลที่ได้นั้น under expect จะเกิดอะไรขึ้นกับแบรนด์ทัศนมาตร ชื่อที่ขายได้จึงไม่คุ้มค่ากับแบรนด์ที่เสียหาย
“ทัศนมาตร”แท้จริงแล้ว มันควรเป็นภาพการทำงานของวิชาชีพหนึ่ง ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางทางด้านระบบประสาทการรับรู้ของดวงตา ปัญหาความผิดปกติของสายตาและอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบของการมองเห็น รวมไปถึงความผิดปกติของทางร่างกายอื่นๆ โรคทางกายอื่นๆหรือผลข้างเคียงของการใช้ยาอื่นๆแล้วส่งผลกระทบกับการมองเห็น รวมไปถึงการใช้ยาบางชนิดในการวินิจฉัยความผิดปกติของการมองเห็น ที่ไม่ใช่ใช้เพื่อการรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับระบบประสาทของตา ไม่ใช่เพียง “Gimmick”ในการเพิ่มยอดขายอย่างในปัจจุบัน
แต่ด้วยความที่ไม่มีกฎหมายกำหนด มันก็เหมือนกับเล่นฟุตบอลที่ไม่มีกติกา จะเล่นอย่างไรก็ย่อมได้ ตามอัธยาศัย จะเสียบ จะถีบ จะเจาะยาง ก็ไม่ผิด แม้สายตาผู้ดูบอกว่าผิด แต่ในเมื่อไม่มีกฎก็ย่อมไม่ผิด ดังนั้น แม้แต่กีฬายังมีกฎ แต่การดูแลทางสาธารณสุขสายตาไม่เคยมีกฎมาก่อนเป็น freedom play อย่างแท้จริง ไม่ต่างอะไรกับ Hunger game ที่ทุกคนจะยอมทำทุกอย่างเพื่อ Survive ไม่สนใจในเรื่องศีลธรรมหรือจรรยาบัน (ฟังดูแล้วน่าเศร้านะ)
เอาหล่ะ แต่ก็จะมีข่าวดีในเร็วๆนี้ ที่ทัศนมาตรจะมีกฎหมายเป็นของตัวเอง และอยู่บนความเกมส์ที่ fairplay ไม่มีใครที่เสียประโยชน์ และไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของใคร ซึ่งร่างนี้สำหรับเป็นร่างที่สวยงาม กฎหมายควรเป็นกฎหมายที่คุมจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยไม่ไปรบกวนอาชีพเดิมที่ทำอยู่ โดยให้สิทธิของคนไข้ในการเลือกรับบริการตามสติปัญญาของตนและรับผิดชอบผลจาการเลือกรับบริการ
เอาจริงๆ ถ้าเป็นวิชาชีพแพทย์ศาสตร์ นั้น การประกอบวิชาชีพจากผู้ที่ไม่มีความรู้อาจส่งผลเสียถึงชีวิต ถือทุพลภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องห้ามกระทำบางอย่างโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ทัศนมาตรนั้น คุณภาพชีวิตของผู้มีปัญหาสายตาหรือระบบการมองเห็น ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเสียชีวิต จะมีก็แต่โดยอ้อม ว่าปัญหาสายตาอาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่ถึงกับชีวิตหรือทุพลภาพได้ แต่ก็ไม่มีใครเคยนำผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมาตรวจสายตาว่า มีปัญหาสายตาหรือมีปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ช่วยในการมองเห็นเช่นแว่นตา คอนแทคเลนส์นั้น ถูกต้องดีแล้วหรือไม่ ก็ถ้าไม่เคยศึกษาเรื่องนี้ จึงต้องจำเป็นสรุปเอาว่า “ใส่แว่นค่าสายตาผิดไม่เคยทำให้ใครตาย (มั้ง)”
ถ้าเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ร่างกฎหมายนี้ส่งผลดีชัดเจนในส่วนของนิยามทัศนมาตรที่เปิดกว้างให้ทัศนมาตรทำงานได้เต็มที่ตามความรู้ความสามารถที่เรียนรู้มาตามหลักทัศนมาตรศาสตร์ และกฎหมายยังเปิดช่องให้สามารถพัฒนาวิชาชีพทัศนมาตรศาสตร์ต่อไปได้
แต่ก็มีส่วนน้อยที่ไม่เข้าใจเนื้อหาแก่นแท้ของวิชาชีพ ที่ไปเข้าใจผิดว่า “ทัศนมาตร=วัดสายตา=วัดแว่น=ขายแว่น” ทำให้เกิดอาการหวงหม้อข้าวขึ้นมา จึงเกิดความคิดว่า “เรียนมาตั้งเยอะ จ่ายค่าเทอมแพง เรียนนาน แต่จบแล้วทำงานได้เท่ากัน เพื่ออะไรกัน” ซึ่งรากลึกของความรู้สึกนี้คืออยากได้เคสจัด เลยแยกแยะไม่ได้ว่า งานทัศนมาตรนั้นมีความเป็นอัตลักษณ์ไม่เหมือนใครและใครก็ทำได้ไม่เหมือน เพราะเราสามารถทำได้เต็มที่ตามหลักศาสตร์ทัศนมาตรเพื่อช่วยให้คนไข้ของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด เรียกว่างานของเราคือ Enhance visual performance ก็ว่าได้ ในขณะที่ช่างนั้นยังทำได้ตามหลักอาชีพของตน มันจึงเป็นคนละหลักการอยู่แล้ว เขาก็พัฒนามาตรฐานอาชีพของเขาไป เราก็พัฒนาวิชาชีพของเราไป แต่ถ้าเรียนมา 6 ปี แล้วไม่รู้ว่าเราต่างจากเขาอย่างไร ยังคิดว่าทัศนมาตรคืองานวัดแว่น จัดสายตา ขายแว่นตา อันนี้ก็ต้องให้เป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ว่าจะต้องปรับทัศนคติเด็กอย่างไรในระหว่างเรียนหนังสือ 6 ปี ให้เข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองให้ดีกว่าที่เป็น
ในตอนท้ายผมขอยกวิชาชีพหนึ่งที่มีการพัฒนาขึ้นมาและน่าจะสามารถนำไปอ้างอิงกับการเติบโตของวิชาชีพทัศนมาตรได้ คือนักรังสีเทคนิค ซึ่ง ดร.เดียร์ จบ med tech ด้านนี้มา ก่อนที่จะมาเป็นทัศนมาตรวิชาชีพในปัจจุบันได้เล่าให้ฟังว่า
เดิมทีนักรังสีเทคนิคนั้น เอาใครก็ได้มาฝึกให้ใช้เครื่องถ่าย x-ray ,MRI,CT อาจจะเป็นเวรเปล หรือเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งในโรงพยาบาลมาฝึกใช้เครื่องเหล่านี้ เวลาผ่านไปหมอก็เริ่มรู้สึกว่ามันต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการถ่ายภาพร่างกายด้วยเครื่องเหล่านี้ เพื่อให้การวินิจฉัยของแพทย์นั้นมีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น จึงผลักดันให้เกิดวิชาชีพรังสีขึ้นมา จากนั้นก็เริ่มมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเป็นหลักสูตร 4 ปี ในระหว่างนั้นก็เกิดความขาดแคลนนักรังสีอย่างมาก จึงเกิดเป็นช่างรังสีหลักสูตรระยะสั้นปีเดียวเพื่อเติมเต็มความต้องการ และถ้าใครอยากจะอัพเกรดจากอาชีพเป็นวิชาชีพก็ต้องไปเรียนต่อจึงจะได้เป็นนักรังสีเทคนิควิชาชีพ และจากนั้นช่างรังสีก็เริ่มลดความนิยมลงไปเรื่อยๆจน fade ไปเอง ซึ่งดูๆแล้ว ทัศนมาตรน่าจะต้องเดินแบบเดียวกันนี้ และนี่คือเงินเดือนของนักรังสีเทคนิคในปัจจุบัน ที่ใช้เวลาเรียน 4 ปี
เด็กน้อยมองเห็นปุยเมฆลอยอยู่บนฟ้า สีขาวนวลนุ่มขาวราวสำลี ด้วยความที่ไร้เดียงสาก็ทำให้อดจินตนาการไม่ได้ว่ามีอะไรอยู่บนนั้น จึงถามตาว่ามีอะไรอยู่บนปุยเมฆก้อนนั้น แต่เพื่อไม่ให้จินตนาการเด็กถูกทำร้ายตาจึงต้องเล่าเรื่องโกหกหลานว่าข้างบนมันมีสวรรค์วิมานทำจากทองคำและเพชรนิลจินดา มีนางฟ้ามีเทวดาหน้าตาหล่อสวย มีอาหารที่เป็นทิพย์ แค่นึกก็อิ่มแล้วไม่ต้องออกหากิน เด็กได้ฟังก็เก็บความฝันนั้นเอาไว้ใต้หมอน เผื่อว่าวันหนึ่งตื่นขึ้นมาจะได้ไปเมืองสวรรค์บนปุยเมฆบ้าง แต่ทุกวันที่ตื่นก็ไม่เคยเห็นว่าความฝันมันจะเป็นจริง จนกระทั่งเด็กเติบใหญ่ เกิดปัญญาเห็นด้วยประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ก็ได้รู้ว่าไม่มีอะไรอยู่บนปุยเมฆนอกจากละอองน้ำมาเกาะตัวอยู่รวมกัน มันก็คือกันเดียวกันกับหมอกเวลามันลอยต่ำนั่นเอง และเด็กก็เลิกฝันถึงวิมานในก้อนเมฆตลอดไป และ ดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความเป็นจริง
ชีวิตจริงก็ดูจะไม่ต่างกันมากในเรื่องขั้นต้นสำหรับการเป็นทัศนมาตรจบใหม่ ก่อนตัดสินใจเข้าไปเรียนเราก็คงจะได้ยินนิทานที่ตาเล่าให้ฟังว่า ทัศนมาตรเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เงินเดือนสูงมาก เรียนแล้วไม่มีตกงาน และยังยกอ้างแหล่งข้อมูลที่ดูแล้วน่าเชื่อเช่น “องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า ประชากร 6,000 – 10,000 คนจะต้องมีนักทัศนมาตรอย่างน้อย 1 คน ซึ่งประเทศไทยจึงควรมีนักทัศนมาตรอย่างน้อยที่สุด 6,500 คน เพื่อดูแลประชาชน 65 ล้านคน และปัจจุบันมีทัศนมาตรเพียง xxx คนและยังขาดแคลนอย่างมาก จึงเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องมีนักทัศนมาตรเพิ่มขึ้น” เมื่อเด็กน้อยได้ฟังคุณตาเล่าให้ฟังอย่างนี้ และด้วยความเดียงสาคิดว่าจะสามารถฝากผีฝากไข้ได้ก็เลยตัดสินใจมาเส้นทางนี้และหลับอยู่ในฝัน 6 ปี ก่อนที่จะตื่นมาพบว่าโลกของความจริงนั้นไม่ได้ง่าย ไม่มีสวรรค์ ไม่มีวิมานบนก้อนเมฆเหมือนที่ตาเล่าให้ฟัง เรียนมาตั้ง 6 ปี จบมาได้ doctor degree แต่จะมีกี่คนที่จบออกมาแล้วได้เป็นเป็นทัศนมาตรที่ทำงานตามหลักของวิชาชีพจริงๆ ส่วนใหญ่จบแล้วทำงานเป็นช่างแว่นตา เงินเดือนเท่าช่างแว่นตา และ job description ก็เหมือนช่างแว่นตา เอาหมอทัศนมาตรไปคุมเครื่อง ไปเป็นผู้ช่วยวิชาชีพอื่นทำงานทั้งที่ศักดิ์ศรีปริญญาตัวเองนั้นสูงที่สุดในสายวิชาชีพอยู่แล้ว แต่ต้องลดตัวไปขายของกินคอมมิชั่นเหมือนเซลล์ขายของทั่วไป แต่แม้ว่าโปรดีขนาดนี้แล้วด็กยังต้องวิ่งหางานกันให้ควัก! บางทีก็อดสงสัยว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร และคุณตาไม่มีส่วนรับผิดชอบในการดูแลชีวิตของเด็กน้อยที่พึ่งตื่นจากฝันมาเจอโลกความเป็นจริงเลยหรืออย่างไร
ผมมานั่งพิจารณาดูเรื่องนี้แล้ว เหตุผลเรื่องเดียวเลยคือ วิชาชีพมันยังไม่ถูกยกขึ้นเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ การทำงานทัศนมาตรจึงทำได้เท่าที่ช่างแว่นตาทำในร้านแว่น การพัฒนาวิชาชีพมันเลยไม่เกิด พอมันไม่เกิด contrast มันก็ไม่เกิด brand จึงไม่เกิด ตามมาด้วย value ไม่เกิด นำไปสู่คำถามว่า ถ้าทำได้แค่นี้เหมือนๆกัน จำเป็นจะต้องมีทัศนมาตรอยู่ด้วยหรือ ? แต่เมื่อกฎหมายวิชาชีพออกมาเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะแล้ว ทัศนมาตรจะต้องทำงานเป็นทัศนมาตรวิชาชีพจริงๆ ไม่ใช่เป็นทัศนมาตรเพราะเรียนมา ไม่ใช่เป็นทัศนมาตรเพราะมีใบประกอบ ไม่ใช่เป็นทัศนมาตรเพราะปริญญา จะมาทำงานหยาบวัดแว่นขายแว่นแบบเดิมไม่ได้ รูปแบบ วิธีการ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามหลักการของทัศนมาตรศาสตร์และทุกคลินิกจะมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน การโฆษณาโอ้อวดเกินจริงหรืออยากขายจนเกินงาม เช่นตรวจสายตาฟรีโดยทัศนมาตรระดับ...หรือโปรเทพๆแข่งกับร้านแว่นก็คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในคลินิกทัศนมาตร
เมื่อนั้นมาถึง contrast จะเกิดขึ้นมาเองจากรูปแบบการทำงานที่เป็นเลิศ ก็จะทำให้ brand ทัศนมาตรเป็นที่ยอมรับและเห็นความต่างชัดเจน และเมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่ต้องเหนื่อยแข่งกันลด value ในการทำงานด้วยการ hardsale และไม่ต้องให้คุณตาเหนื่อยเล่าเรื่องสวรรค์บนก้อนเมฆให้ฟัง และไม่ต้องอ้าง WHO อีกต่อไป เพราะถ้าเด็กนั้นรู้ว่า วิชาชีพนั้นสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคมได้บ้าง เด็กก็จะมองเห็น value ของวิชาชีพและเห็นว่าตัวเองจะมาเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนประเทศด้านสายตาและระบบการมองเห็น ก็จะอยากเรียนด้วยตัวเอง กลายเป็นวิชาชีพในฝันที่เกิดกับเด็กตั้งแต่มัธยมต้น มัธยมปลาย และมองโลกตามความเป็นจริงว่าไม่ได้เดินอยู่บนกลีบกุหลาบ แต่เราสามารถสร้างสวรรค์วิมานให้เกิดขึ้นจริงได้บนดินด้วยมือของเราเอง ผมผ่านมาแล้วจึงเล่าให้ฟัง จบเรื่องนิทานของคุณตา
พวกเราทั้ง 3 ดร.แจ๊ค ดร.ลอฟท์ ดร.เดียร์ เห็นพ้องต้องกันว่า ร่างกฎหมายนี้ มีร่างที่ดีที่ต้องสนับสนุนให้เกิด ด้วยเหตุและผลที่ได้กล่าวมาในตอนต้น และหวังว่า ทุกท่านในวิชาชีพจะมีความคิดเห็นเช่นเดียวกัน เพื่อยกระดับวิชาชีพให้เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ เพื่อให้ทัศนมาตรนั้นสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ นำไปสู่การพัฒนาของวิชาชีพทั้งด้านการทำงานและการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย
เราควรเลิกหวงคำว่า “วัดสายตา” กันได้แล้ว ประชาชนมีสิทธิที่จะทำอย่างไรกับสุขภาพตัวเองก็ได้ และทัศนมาตรควรแสดงแสนยานุภาพอะไรที่มากกว่าการวัดแว่น จัดสายตา ขายแว่น และถ้าทัศนมาตรยังทำแค่เรื่องพรรณนี้อยู่ ก็อย่าบอกเลยว่าตัวเองเรียนมามากกว่า เรียนมาสูงกว่า เพราะถ้าทำเหมือนเขาเราก็ไม่ต่างซึ่งก็ถูกต้องแล้ว
ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความคิดเห็นส่วนตัวในร่างกฎหมายทัศนมาตรฉบับใหม่นี้ จะได้รับการยอมรับจากทุกคนทุกฝ่ายและสามารถนำไปสู่การยุติความขัดแย้งที่มีมานาน กงล้อจะได้หมุนต่อไปได้ แล้วใช้พลังงานไปทำงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตนให้เต็มศักยภาพตามความรู้ที่มีต่อไป
ความคิดเห็นนี้ เป็นมุมมองส่วนตัว ที่มองเห็นว่าร่างนี้จะเป็นประโยชน์กับคนทุกฝ่าย อาจจะถูกใจผิดใจใครไปบ้าง ก็ต้องขออภัย แต่โลกก็ต้องหมุนต่อไป เพราะต้องไม่ลืมว่า Block Chain Technology เกิดขึ้นแล้ว ความลับจะไม่มีในโลกต่อไป ของปลอมจะไม่มีในโลก ของไม่จริงจะถูก fade ออกไป จะเหลือแต่ของจริงเท่านั้น และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนได้เจอความจริงที่จริงยิ่งกว่า ก็ฝากทิ้งท้ายเอาไว้ให้คิด
บทความงานวิจัยการควบคุมการประกอบวิชาชีพทัศนมาตร
6 ปีทัศนมาตรศาสตร์ เรียนอะไรบ้าง