คนไข้หญิง อายุ 42 ปี มาด้วยอาการ
รำคาญแว่นที่ใช้งานอยู่ซึ่งเป็นโปรเกรสซีฟ ตัวที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นตัวที่ 3 ในรอบ 1 ปี ตัวล่าสุดทำมา 6 เดือน ใส่แล้วปวดตา ปวดลูกตา ปวดต้นคอ ภาพวูบวาบ ใช้งานยาก บางวันก็ชัด บางวันก็ไม่ชัด นอนอิ่มก็ชัดนานหน่อย นอนน้อยก็ไม่ค่อยชัดต้องเพ่ง เป็นทุกวัน ไม่ใส่แว่นพออยู่ได้แต่ก็ไม่ชัดทั้งไกลและใกล้ ใช้สายตาทำงานหน้าคอมพิวเตอร์วันละมากกว่า 10 ชม. จึงต้องการแก้ไขปัญหาและเข้ามาตรวจ
เคยรับการตรวจตากับจักษุแพทย์เมื่อ 2 เดือนก่อน ไม่พบรอยโรคใดๆ
สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีประวัติโรค อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับดวงตา
PD 30/29
VAcc w/ Habitual Rx (PALs)
OD +0.75 ,Add +1.50 OD 20/30
OS +0.75 ,Add +1.50 OS 20/25
Cover Test : Ortho /Ortho’
OD +2.50 -0.75 x 95 ,VA20/25+2
OS +2.50 -0.75 x 95 ,VA20/25+2
Monocular Subjective
OD +2.25 -1.37 x 95 ,VA20/20
OS +2.50 -1.37 x 97 ,VA20/20
Best Correction Visual Acuity ,BCVA
OD +2.25 -1.50 x 95 ,VA20/20
OS +2.12 -1.50 x 97 ,VA20/20
BCVA ( fine tuning on trial frame )
OD +2.25 -1.50 x 92 ,VA20/20
OS +2.12 -1.62 x 97 ,VA20/20
Horizontal Phoria : 1 BI ,exophoria (norm)
BI-reserve : x /8 /2
Vertical Phoria : Ortho
BCC : +1.75D
NRA/PRA :+/-1.00
Hor.phoria : 2 BI
1.compound hyperopic astigmatism OD and OS
2.normal binocular vision
3.accommodative insufficiency ,presbyopia
1.Full Rx
OD +2.25 -1.50 x 92
OS +2.12 -1.62 x 97
2.Progressive lens Rx : Add +1.50D ,Rodenstock Impression FreeSign3 CMIQ 2 Gray w/ Solitaire protect plus 2 extra clean
ผลที่ได้จากการตรวจนั้น สาเหตุสำคัญที่นำคนไข้มาด้วยอาการดังกล่าวคือปัญหาสายตาชนิดสายตายาวมาแต่กำเนิดร่วมกับสายตาเอียงชนิดที่โฟกัสของสายตาทั้งคู่นั้นตกหลังจุดรับภาพภาพทั้งคู่คล้ายกันทั้งสองตา (compound hyperopic astigmatism) ศึกษาสายตาเอียงเพิ่มเติมได้จากลิ้ง https://www.loftoptometry.com/สายตาเอียงและแนวทางการแก้ไข
ดังนั้นสิ่งที่จะต้องระวังในการตรวจหา full correction ในคนไข้ประเภทนี้คือต้องบังคับให้ตานั้นคลายระบบเพ่งให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่การเตรียมตัวมาในการตรวจ
สำหรับคนไข้
ถ้าเป็นคนที่ชอบเครื่องดื่มแอลกอฮลล์ต้องงดอย่างน้อย 2 วัน นอนหลับพักผ่อนให้มากพอให้ได้ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ งดกิจกรรมที่ต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือก่อนเข้ารับการตรวจเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
ดังนั้นมีวิธีเดียวคือ ตรวจช่วงเช้าที่สุดเท่าที่จะเช้าได้ก่อนที่จะต้องทำกิจกรรมใดๆที่เกี่ยวข้องกับหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ ยิ่งบ่ายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งคลายการเพ่งของเลนส์แก้วตาได้ยากเท่านั้น เวลาหลังบ่ายสามไปแล้วหรือหลังทำงานหน้าจอมาทั้งวันไม่ควรตรวจ เพราะตรวจไปก็ได้ค่าที่ใช้ไม่ได้ (สำหรับการทำงานมาตรฐานของผมนะ แต่สาย business + compromise นั้นเขาจะตรวจกี่โมงก็ได้ เพราะ goal คนละอย่าง )
เวลาการทำงานในคลินิกทัศนมาตรที่เหมาะสมจึงควรเป็นคลินิกเช้าและเลิกตรวจเร็ว 8:00-15:00 กำลังดี เพราะงานทัศนมาตรเป็นงานเรื่องฟังก์ชั่นถ้าระบบมันล้าฟังก์ชั่นมันก็ใช้ไม่ได้ ส่วนช่วงเย็นควรเป็นเรื่อง service อื่นๆเช่น นัดรับแว่น ดัดแว่น เปลี่ยนอะไหล่แว่น มากกว่าการตรวจวัดสายตา ส่วนกลางค่ำกลางคืนดึกดื่นเป็นเวลาอโคจรเหมาะกับการพักผ่อนมากกว่าทำอย่างอื่น โดย common sensse แล้วทุกคนรู้ว่าไม่ควรทำ ยกเว้นแผนก ER ซึ่งเป็นเคสที่คอขาดบาดตายจึงพักไม่ได้ แต่แว่นสายตาผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่รอกันได้ แว่นตาไม่ได้ใช้วันสองวัน แต่ใช้กันหลายปี ถ้าจ่ายเลนส์ผิดมันจะเกิดปัญหามากมายต่อไปต่อคนไข้และบางครั้งที่เห็นเขาใส่ได้เขาอาจจะทนจนปรับตัวกับค่าที่ผิดๆจนชินก็ได้ ซึ่งผลเสียระยะยาวนั้นหนักยิ่งกว่า เสียอย่างไรบ้างผมได้แนบล้ิงเรื่อง อันตรายจากการใช้ค่าสายตาที่ผิด มาให้อ่านกัน https://www.loftoptometry.com/อันตราย ! ! ! ที่เกิดจากการใช้แว่นที่ค่าสายตาผิด
ในการคลายการเพ่งสำคัญที่สุดก็คือระยะในการตรวจที่ได้ระยะ 6 เมตร ถ้าใกล้กว่านั้นจะทำให้เกิดการกระตุ้นระบบ convergence และ accommodation (ผ่านระบบ accommodative convergence ,AC) ทำให้ค่าสายตาที่ตรวจได้นั้นอาจให้ค่าที่ไม่ดีหรือจะตรวจฟังก์ชั่นไปก็ใช้ไม่ได้เพราะตำแหน่งตาไม่ได้อยู่ในลักษณะของ primary gaze คือมองตรงไปในระยะไกล
เมื่อได้ห้องตรวจที่ได้มาตรฐาน 6 เมตรแล้วจึงจะสามารถเค้นสายตา full correction ออกมาได้ อีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าห้องไม่ได้ 6 เมตรก็อย่าพึ่งคุยเรื่อง full correction หรือ binocular function เพราะจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดและการกระทำจากความเข้าใจผิดจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อคนไข้ ตัวอย่างเช่น refractive error ทำให้เกิดการ induce binocular disfunction ได้ ถ้าไปเข้าใจว่าค่า induced ดังกล่าวเป็นค่าความผิดปกติของสองตาจริงของคนไข้แล้วไปจ่ายปริซึมนี่มันจะยุ่งไปกันใหญ่ หรือ ถ้ายังจัดสายตาอยู่ เช่นปัดสายตาให้มันมีค่าเท่าๆกันสองตา แล้ว accommodation จะทำงานอย่างไร แล้วจะคุยเรื่อง binocular function ได้อย่างไร
ดังนั้นถ้ามีเคสที่ต้องการแก้ด้วยการจ่ายปริซึมได้จะต้องเกิดขึ้นหลังจากการหา full correction ที่ได้จากการตรวจในห้องที่ได้มาตรฐาน 6 เมตร ค่า binocular vision จึงจะให้ค่าที่ออกมาได้ถูกต้อง โดยผู้ตรวจจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการทำงานร่วมกันของสองตาได้ดี ถ้าเงื่อนไขไม่ได้ครบองค์ ก็อย่าไปยุ่งกับปริซึม ด้วยเหตุนี้ครูบาอาจารย์หลายๆท่านจึงไม่อยากให้ไปยุ่งกับปริซึม เพราะท่านทั้งหลายยังไม่มั่นใจใน correction ของนักเรียน และเขาคงไม่มีเวลามาอธิบายว่าทำไม
แต่ถ้าเราทำได้ดีแล้ว เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่อง “เขียนเสือให้วัวกลัวทันที” ถ้าเรายังเป็นวัวก็กลัวต่อไปไม่ผิดอะไร แต่ถ้ารู้ว่าตัวเองไม่ใช่วัวแล้วยังกลัวเสือกระดาษ อันนี้เกิดจากการถูกสะกดจิตให้กลัวให้ตั้งสติให้ไวแล้วรีบออกมาจากสภาวะวัว เราจะได้ไม่ต้องกลัว เพราะบางสิ่งบางอย่างก็ต้องเขียนให้กลัวเช่นพ่อแม่บอกเราให้กลัวผีในความมืด เพราะแท้จริงแล้วท่านกลัวว่าเราจะไปเจออุบัติเหตุในที่มืด แต่ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ก็ต้องหลอกว่ามันมีผี ซึ่งถ้าให้ถูกต้องพ่อแม่ควรเปิดไฟให้สว่างและเตรียมห้องให้ปลอดภัยมากกว่าสอนให้ลูกกลัว ครูบาอาจารย์ก็เช่นกัน ควรให้แสงสว่างทางปัญญามากกว่าการสอนให้กลัวความมืด เรื่องนี้เป็นส่ิงสำคัญต่อการพัฒนาการของศิษย์ซึ่งจะเป็นเสาหลักของวิชาชีพในอนาคต
ปัญหาสำคัญของเคสนี้หลักๆคือ “ค่าสายตาของแว่นทั้งหลายที่คนไข้ไปทำมามันไม่ถูกต้อง” พอค่าที่ตรวจวัดได้มันไม่ถูกต้อง เวลาสั่งเลนส์มันก็ไม่ถูกต้อง โครงสร้างที่ออกแบบมาจำเพาะบุคคลมันก็ไม่ถูกต้องและมันจะถูกต้องได้อย่างไรถ้าค่าที่ส่งไปมันไม่ถูกต้อง แล้วพอ input ไม่ถูก output จะได้ได้อย่างไร ผลก็คือใส่ไม่ได้ เรื่องจริงๆมีอยู่แค่นี้ ไม่มีเวทย์มนต์อะไรเลย
ในเรื่อง binocular function ของคนไข้นั้น หลังจาก correction ออกมาแล้ว ให้ค่าออกมาที่ดูดี มีเหล่ออกซ่อนเร้นเล็กน้อยทั้งไกลและใกล้ซึ่งก็ปกติดี โดยรวมแล้วถือว่าดี
แต่จะมีเล็กน้อยก็คือ ค่า Binocular Cross Cylinder หรือค่า BCC หรือค่า Addition ซึ่งให้ค่าออกมาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอายุปัจจุบันคือ 42 ปี ซึ่งถ้าค่า norm นั้นควรจะอยู่ที่ +1.00 ถึง + 1.25 แต่คนไข้นั้นมีค่า BCC +1.75D ซึ่งแสดงถึงค่าความล้าของกำลังเพ่งของคนไข้ที่ล้ามากกว่าค่าเฉลี่ยของอายุ เชื่อว่าล้าต่อเนื่องจากแว่น under plus ที่คนไข้ใช้งานอยู่ ดังนั้นส่วนตัวผมเชื่อว่า accommodative dysfunciton นี้เป็นความผิดปกติชั่วคราว ไม่ได้อยู่ยาวนานอะไร ซึ่งน่าจะถูก induce จาก refractive error ที่ยังไม่ได้ corrected และถ้าจ่าย full correction ไป ค่าต่างๆจะกลับมาทำงานปรกติ ซึ่งในเคสนี้ผมเลือกจ่ายที่ ADD +1.50 ร่วมกับ full correction และเชื่อว่าฟังก์ชั่นต่างๆจะกลับมาทำงานปกติ และจะนัดตรวจอีก 3 เดือนข้างหน้า และถ้ามีค่าฟังก์ชั่นต่างๆดีขึ้นจริง ก็จะเปลี่ยนค่าเลนส์เพื่อปรับแต่งค่า add ให้ใหม่อีกครั้ง
การตรวจสายตามันก็เหมือนกับการเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกที่ต้องเริ่มให้ดี เริ่มตรวจด้วยหลักการณ์ที่ถูกต้องในห้องตรวจที่ถูกต้อง แล้วตามมาด้วยเรื่องการฟิตติ้งให้ได้เซนเตอร์ที่ถูกต้อง แล้วจากนั้นก็จัดมุมแว่นที่กระทำกับตาให้ถูกต้อง แล้วเลือกเลนส์ให้ได้โครงสร้างตรงกับ lifestyle ของคนไข้ แล้วให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนไข้ จริงๆการทำงานมันก็มีอยู่แค่นี้
ในเคสนี้เนื่องด้วยคนไข้มีปัญหาค่อนข้างมากกับการใช้สายตาเพราะต้องทำงานอยู่บนหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน บางครั้งก็ต้องตลอดคืนกับงานเทรด ทำให้มีความจำเป็นอย่างมากในการใช้สายตาเพื่อทำงาน แต่ด้วยปัญหาที่แก้ไม่จบซ้ำซาก คนไข้จึงให้ความสำคัญกับการตรวจสายตาครั้งนี้มากมาก จึงวางแผนเวลาเดินทางจากต่างจังหวัดเพื่อมาพักที่กรุงเทพเป็นเวลา 2 คืน 3 วันเผื่อกันพลาดจะได้ตรวจเช้าวันแรกและตื่นมาซ้ำอีกตอนเช้าของอีกวัน ก่อนจะบินกลับช่วงเย็นเพื่อให้ได้ค่าที่แน่นอน แล้วจึงค่อยสั่งเลนส์
จากประสบการณ์ความที่ fail กับแว่นหลายๆแห่งของคนไข้ที่เสียทั้งเงินเสียทั้งแวลา ระหว่างรอแว่นจึงเป็นช่วงเวลาที่บีบหัวใจทั้งคนไข้และหมอว่าผลจะเป็นอย่างไรและด้วยความที่ต้องส่งแว่นไปให้คนไข้ทางไปรษณีย์กลายเป็นเครื่องที่มีตัวแปรเพิ่มขึ้นอีก ก็ได้แต่บอกคนไข้กำชับในข้อความถึง worse case ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งคนไข้ก็รับรู้และเข้าใจ
หลังจากที่ได้รับแว่นก็ส่งข้อความมาบอกหลังได้รับแว่นว่า “ก็ไม่เป็นไรนะ ชัดดี ทั้งไกลทั้งใกล้เลย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิดและดีกว่าที่คาดเอาไว้เยอะ ไม่ได้มีอาการอะไรที่รู้สึกว่าต้องปรับตัวกับเลนส์คู่ใหม่” จึงแจ้งคนไข้ว่า ให้ใส่จับอาการไปเรื่อยๆ อีก 3 เดือนขึ้นมา กทม.อยากจะขอตรวจดูฟังก์เช่นการเพ่งของเลนส์ตาเพิ่มเติมว่ามันจะดีขึ้นตามสมมติฐานหรือไม่
การตรวจวัดสายตา หรือ comprehensive eye examination จึงมีนัยยะทางคลินิกมากกว่าการวัดแว่นมาก
ธรรมชาติของกลุ่มทัศนมาตรของผม ซึ่งมีกันอยู่ 3 คน คือผม ดร.เดียร์ (tokyo progressive เชียงใหม่) และดร.แจ๊ค (สุธนการแว่น พิจิตร) ดร.แจ๊คได้แสดงมุมมองการแก้ไขปัญหาได้อย่างน่าสนใจ ว่า
"แว่นตาแท้จริงแล้วมันเป็น optical treatment อย่างหนึ่งที่ต้องผ่านการคำนวณโดสที่ถูกต้องเหมาะสมให้ได้เซนเตอร์ที่แม่นยำ เพียงแต่เราไม่ได้เอาอุปกรณ์ทางการแพทย์คือเลนส์สายตาผ่าเข้าใส่เข้าไปในลูกตาเหมือนหมอที่เอาเลนส์เทียมใส่เข้าไปในลูกตาก็เท่านั้นเอง เมื่อเราทำได้ถูกต้องเหมาะสม คนไข้ก็จะได้รับการรักษาด้วยคุณสมบัติของออพติก แต่ถ้าเราทำไม่ถูกต้องก็จะเกิดปัญหาตามมามากมายเช่นอาการ asthenopia ได้แก่คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อยากจะอาเจียน ปวดเมื่อยเครียดบริเวณลูกตาและเบ้าตา อ่านหนังสือไม่ทน แสบตา แพ้แสง น้ำตาไหล อ่านช้า อ่านข้ามบรรทัด หัวตื้อๆ มึนๆ เห็นภาพซ้อน เหล่านี้ทั้งหมด เหล่านี้เป็น Disease ชนิดหนึ่ง เพียงแต่ว่ามันไม่รอยโรคทางกายภาพแสดงออกมาเท่านั้นเอง แต่เราไม่ยอมมองว่ามันเป็น Disease เรามองเป็นเพียง Error เราจึงไม่สนใจที่จะศึกษาแก้ไขหรือระหวังผลกระทบที่จะตามมาจากการักษาที่ผิดพลาด"
ซึ่งผมฟังแล้วก็เห็นด้วยกับความคิดนี้
ถ้าเข้าใจเรื่อง binocular เพียงสักเล็กน้อย แม้ไม่ต้องรู้ถึงขนาดว่าจะแก้ไขด้วยปริซึมหรืออะไรก็ตาม แต่ให้เข้าใจเพียงแต่ว่า refractive error ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขหรือได้รับการแก้ไขที่ไม่ถูกต้อง สามารถทำให้ระบบ binocular system เกิด disfunction ได้
ถ้าเราเข้าใจ เราก็ไม่กล้าที่จะมั่ว ไม่กล้าที่จะก๊อปปี้ค่าสายตาเก่าที่ผิดๆแต่ใส่มาจนชินด้วยอ้างอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราทำอย่างนั้น นั่นแสดงถึงว่าเราไม่เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องศึกษาฝึกฝน ทั้งปริยัติ ปฎิบัติ ปฎิเวชะ ให้มันรู้ลึกซึ้งถ่องแท้ แล้วแก้ให้มันถูกต้อง ก็จะสามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้น มีความสุขขึ้น ไม่ต้อง shopping around เสียเวลาเสียการเสียงาน
ผมเป็นคนหนึ่งที่จ่ายเลนส์โดยไม่เคยสนใจแม้แต่จะเอา prescription เก่าของคนไข้ไปตรวจวัดดู เว้นเสียแต่คนไข้อยากจะทราบว่าต่างจากค่าเดิมแค่ไหน เอาจริงๆคือ 1.เสียเวลา 2.ไม่ได้ให้ priority และผมไม่เคยเชื่อเรื่องการจัดค่าสายตาให้ใกล้เคียงกับค่าสายตาเดิมเพื่อให้คนไข้ปรับตัวง่าย ผมไม่เคยโอเคกับการที่คนไข้ชินแบบผิดๆแต่ไม่ยอมแก้ไข้ให้ถูกต้อง และ 100% ของคนไข้ที่เข้ามารับบริการ คือต้องการรู้ปัญหาสายตาที่แท้จริงของตัวเอง และ ยินดีจะได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง ให้ปัญหาที่มีอยู่นั้นออกไป ไม่ใช่การย้ายปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง การจัดสายตาหรือการรับทำแว่นตามใบสั่งหรือสำเนาค่าสายตาเดิมจึงไม่เคยเกิดขึ้นในร้านตั้งแต่เริ่มทำจนปัจจุบัน
โครงสร้างเลนส์ที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นนั่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึง ซึ่งเลนส์คู่นี้ คนไข้ขอเป็นเลนส์ที่ดีที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีโลกปัจจุบันจะสามารถ support ได้ ไหนๆก็ตั้งใจเต็มที่ขนาดนี้แล้วก็ต้องการที่จะให้หมดความสงสัยไปเลย ถ้าใช้งานแล้วมีปัญหาก็คงต้องตกอยู่ที่ผมคนเดียว
ดังนั้นเลนส์ที่ถูกเลือกมาแก้ไขปัญหาคนไข้จึงเป็นเลนส์จากเยอรมนี Rodenstock Impression FreeSign 3 plus DNEye Technolgoy + ColorMatic IQ 2 1.6 + Solitaire protect plus 2 + extra clean ส่วนข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับ Impression FreeSign 3 นั้นสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากลิ้งค์ https://www.loftoptometry.com/ImpressionFreeSign3
เรื่องที่นำมาเล่าให้ฟังวันนี้นั้น ไม่ได้มีความลับหรือสูตรสำเร็จพิเศษอะไรเลยในการแก้ไขปัญหาการมองเห็นขนาดที่ต้อง shopping around มาเป็นปีๆ เสียเวลา เสียเงิน ทำแว่นไปหลายตัวในปีเดียว และทุกข์เครียดจากไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร และก็มาจบปัญหาง่ายๆด้วยการจ่าย full correciton ให้คนไข้เท่านั้นเอง
ปัจจัยรองที่มีผลอยู่บ้างก็คือผลิตภัณฑ์เลนส์ที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา เช่นเลนส์เดิมที่คนไข้ใช้อยู่นั้นก็เป็นเลนส์ที่ใช้เทคโนโลยีไฮเอนด์เช่นเดียวกันเพียงแต่มาจากคนละค่าย ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุที่จะใหม่ได้หรือมีปัญหาขนาดนั้น แต่สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยคือ ค่าสายตาใหม่กับค่าสายตาที่อยู่บนแว่นเก่านั้นไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย ดังนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า ปัญหาแท้จริงนั้นอยู่ที่ค่าสายตาไม่ใช่อยู่ที่เลนส์
ผมจึงอยากจะย้ำกันตรงนี้อีกครั้งว่า Value ในการทำงานด้านสายตาแท้จริงนั้นอยู่ที่ Prescription ที่เราจ่ายให้คนไข้ ไม่ใช่ที่เลนส์ เลนส์นั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เราสามารถสั่งให้ผู้ผลิตนั้นทำตามสเปคของเรา เหมือนกับการสั่งปรุงยาให้ตรงกับโรคที่เราวินิจฉัย ถ้าเราวินิจฉัยพลาด การสั่งยาก็พลาด ยาที่ผลิตออกมาแม้จะใช้เทคโนโลยีสูงระดับไหนก็คงไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้กับคนไข้ได้ เลนส์ก็เช่นเดียวกัน
ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราก็จะเร่งพัฒนาฝีมือในการทำงานด้านคลินิก อย่าไปเพ้อตาม Detail Lens ที่เชียร์ขายเทคโนโลยีเลนส์ เพราะเขามีหน้าที่ present ว่าปัจจุบันเขามีเทคโนโลยีในการปรุงเลนส์(ยา)ไปถึงไหนแล้ว ลดอาการข้างเคียงอย่างไรบ้าง มันดีกับคนไข้อย่างไรสำหรับเลนส์ในแต่ละรุ่น แต่ท้ายที่สุดมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราวินิจฉัยความผิดปกติถูกต้องหรือไม่ การเคลมเลนส์ด้วยการแก้ไขสายตาก็คือการวินิจฉัยผิดแล้วสั่งแก้สเปค ส่วนฝั่งปรุงยาก็แก้ส่วนผสมใหม่ตามคนสั่ง ถ้าสั่งผิดอีกก็แก้ผิดเหมือนเดิม ดังนั้นการเชียร์ขายเทคโนโลยีเลนส์ทั้งที่ความเชี่ยวชาญด้านการตรวจวิเคราะห์และวินิจฉัยนั้นต่ำถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับคนไข้โดยตรง ต้องระวัง
พอเข้าใจผิดว่า value อยู่ที่เลนส์ก็เลยเชียร์ขายเลนส์ พอเชียร์ขายเลนส์เหมือนๆกันแต่แก้ไขปัญหาได้ไม่ดีเหมือนๆกัน ก็เลยเถิดเป็นว่าเลนส์ใครขายถูกกว่า เกิดการแข่งโปรโมชั่นมากกว่าแข่งกันทำดี
สวัสดีครับ
ดร.ลอฟท์
Loft Optomery , 578 ถ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม.
นัดเวลาเข้ารับบริการได้ที่เบอร์ 090-553-6554 หรือทาง inbox หรือทางไลน์ไอดี loftoptometry
facebook : https://www.facebook.com/loftoptometry
maps : https://goo.gl/maps/VoLxmLotbYxiN2qXA
note : ท่านที่อยากจะรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นก็เข้า google แล้วพิมพ์เรื่องที่อยากรู้ตามด้วย loft optometry ก็อาจจะช่วยคลายความสงสัยหรือกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาการมองเห็นไม่มากก็น้อย
Lens : Rodenstock Impression FreeSign 3 1.6 CMIQ 2 Gray + DNEye technology + Solitaire Protect Plus 2 + extra clean
Frame : LINDBERG rim titanium
model : Esben 50#18 , basic temple 145 ,col. U16 U16 10
Tags : #Optometry #LoftOptometry #ทัศนมาตรวิชาชีพ #LindbergThailand #RodenstockThailand #Esben #rimtitanium #titaniumeyewear #ImpressionFreeSign #Bitcoin #Crypto #AcceptBitcoinHere