ทุกอย่างมี cost เว้นเสียแต่ว่าใครเป็นคนจ่าย cost อันนั้น ตัวอย่างเช่น แว่นโครงการต่างๆ ก็จะมี sponsor เป็นคนจ่าย แม้ว่าผู้รับแว่นไปนั้น จะไม่มีค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่คุณภาพก็คงจะทำได้เท่าที่งบบริจาคจะทำได้หรือเป็นการตรวจวัดสายตาเพื่อเป็นการเรียนรู้ของนักศึกษาที่ยังอยู่ในช่วงฝึกงานและหาเคสเพื่อทำการฝึกฝน ทางสถานศึกษาก็ต้องทำหน้าที่ absorb cost ที่เกิดขึ้น ผ่านค่าเทอมของเด็ก ดังนั้น cost มี แต่ไม่ได้ส่ง cost นี้ให้สู่ผู้รับบริการ ดังนั้นในกรณีแรกนี้ ตรวจวัดสายตาฟรี สามารถเกิดขึ้นได้ โดยมีบุคคลที่สามเป็นคนจ่ายให้
ประเภทต่อมาคือ ตรวจตาฟรีแต่แฝงไปกับการขายแว่น ซึ่งคำว่า ฟรี นั้นถูกนำไป mark up กับสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ มัก over price ไปมากเสียด้วย นั่นหมายความว่า ผู้บริโภคมักจะได้รับ สินค้าและบริการที่มี value น้อยกว่า price ที่จ่ายไปมากๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ เช่นการเอาคอมพิวเตอร์วัดสายตา เครื่องไม่กี่หมื่นบาทไปตั้งตามลิฟท์ บันไดเลื่อน ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งเอกชน และ รัฐบาล (หรือไม่ก็วิ่งไปเคาะตามประตูบ้าน) ใครเดินผ่านมาผ่านไป ก็จะชักชวนวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ และ ปัญหาคือ เครื่องพวกนี้ ยิงค่าออกมายังไงก็มีค่าสายตาไม่บวกก็ลบ เพราะมันมีความ error เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว (ผมมีเครื่องตัวละ 1.8 ล้านยังเชื่อไม่ได้ เครื่องญี่ปุ่น เครื่องจีนไม่ต้องพูดถึง)
คนที่คุมเครื่องก็ไม่ได้มีความรู้อะไรมากไปกว่า เครื่องหมาย +/- ของค่าสายตาที่ปริ้นมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตา ถ้าปริ้นค่าออกมาเป็น - ก็จะบอกว่าสายตาสั้น (จะต้องทำแว่น) ถ้ายิงมาเป็นบวก (แต่คนที่ถูกวัดนั้นบอกว่ามองไกลชัด) ก็จะได้แว่นกรองแสง (จะต้องทำแว่น) ถ้าคนที่ถูกตรวจรู้สึกลังเล เพราะไม่ได้ตั้งใจจะซื้อแต่แค่จะมาวัดสายตาเล่นๆดู ก็จะมีการเติมโปรโมชั่นเข้าไปเพื่อขอให้ได้ขาย พอได้ค่ามาแล้ว ก็มาดูเลนส์ที่สต๊อกมาว่า อันไหนใกล้เคียงที่สุด ก็เอาอันนั้น ส่วนเรื่อง precision นั้น ไม่ต้องพูดถึง ดังนั้นเลนส์รอรับได้เลยนั้น น้อยกว่า 0.01% ที่จะได้ค่าสายตาจริงที่ตรงกับของตัวเอง เพราะว่ามันตรวจผิดมาตั้งแต่ต้น จากนั้นก็เอาค่าที่ผิดมาเช็คเลนส์ในสต๊อก มันก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ผิดซ้อนผิดไปอีกทีหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ทำให้มีแนวโน้มที่คนไปลองวัดสายตาฟรีนั้น จะได้จ่ายให้กับของที่ไม่ดีที่ตัวเองก็ไม่ได้ต้องการกลับมาวางเกะกะเป็นภาระไว้ที่บ้านสูงมาก และ ของพวกนี้ไม่ได้ราคาถูกซะจนสามารถทิ้งถังขยะได้โดยไม่ต้องรู้สึกอะไร (แม้อยากจะทิ้งมากก็ตาม) ปู่ย่าตายาย ตามบ้านทำแว่นกับรถหน่วยทำไรเลื่อนลอยเหล่านี้ 7-8,000 บาท เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นปกติในบ้านเรา (เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามทำ) เช่นเดียวกับ ฟุตบอลไม่มีกติกา
ฟรี อีกประเภทหนึ่งคือ ตรวจฟรีนี่แหล่ะแต่ทำอยู่ในร้านที่มีหลักแหล่งและดูน่าเชื่อถือ แล้วเสนอตรวจสายตาฟรี(เพื่อหวังขาย) ซึ่งไม่ต่างจากสถานบริการความงามในห้างที่ชวนคนเดินผ่านไปผ่านมาไปแสกนหนัง(หน้า)ฟรี แน่นอนว่าทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่า ไม่มีหนังใครสมบูรณ์แบบและเขาคงจะไม่ใช้เครื่องแสกนหนังหน้าเราเพื่อที่จะบอกว่าหนังเราดีมากๆ ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยไว้ก็สวยแล้ว
ดังนั้นเรื่องประเภทนี้ทุกคนรู้ว่าไม่มีฟรีและจะต้องมีการจ่ายอะไรแน่นนอน หลายคนก็เลือกที่จะเดินหลบมากกว่าที่จะวิ่งเข้าหาของฟรี แต่ก็มีบ้างเช่นกันที่ยอมเสี่ยงเพื่อของ(ไม่)ฟรี เผื่อฟลุ๊ค
กรณีเดียวกัน ไม่มีใครที่จะเตรียมลงทุน จ่ายค่าเช่าแพงๆ อยู่ในทำเลทอง ให้บริการฟรีเพื่อที่จะตรวจสายตาแล้วบอกว่า คนที่มารับการตรวจนั้นสายตาดีมากๆ ไม่ต้องทำอะไร ถ้ามีก็คงจะอุดมคติมากๆ (บังเอิญว่าไม่มีเรื่องนั้น ขอให้สบายใจได้)
คิดกันง่ายๆ ว่า รพ.รัฐบาล ที่มีเงินทุนจากรัฐบาลสนับสนุนอยู่แล้ว เขายังต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจ แม้ว่าจะรักษาหรือไม่รักษาก็ตาม นับประสาอะไรกับ(แว่น)เอกชน
ทีนี้ลองมาคิดตามเล่นๆดู ว่า cost ที่เกิดขึ้นกับการทำคลินิกทัศนมาตรขึ้นมา ว่า cost ประมาณเท่าไหร่
1.Education cost ; ต้นทุนการศึกษา
การเรียนทัศนมาตร 6 ปี คิดเป็น 12 เทอม ค่าเทอมปัจจุบันประมาณ 65,000 บาท (สมัยที่ผมเรียน 85,000-90,000 บาท ไม่รวมค่าห้องพัก ค่าอาหาร ค่าตั้งใจเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือ ค่าเสียโอกาสในการทำงาน และค่าอื่นๆ อีกจิปาถะ ผมคิดกลมๆ 3 ล้านบาทก็แล้วกัน (ในขณะเดียวกันก็มีแบบไม่ต้องเรียนก็ขายแว่นได้เช่นกัน กฎหมายไม่ได้ห้าม)
2.Experience cost ; ต้นทุนประสบการณ์
ประสบการณ์นั้นเป็นต้นทุนที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้ เพราะของใครของมัน ขึ้นอยู่กับความขยัน ความตั้งใจ ในการศึกษาหาความรู้และฝึกฝน การมีเคสยากๆที่มากพอ ซึ่งจัดว่าเป็น big data ที่อยู่ในสมอง แต่ถ้าวันๆ เอาแต่คอมพิวเตอร์วัดสายตา ไม่เคยทำ binocular funciton ไม่เคยดู ocular helth ห่วงแต่จะขายแว่นปิดยอดปิดเป้า ต้นทุนประสบการณ์ส่วนนี้ คงไม่มีค่าอะไรให้ประเมินเช่นกัน
3.Investing Cost : ต้นทุนทำคลินิก
การจะเปิดคลินิก มันต้องมีทั้งสถานที่ เครื่องมือ และ สินค้า(กรอบและเลนส์)
3.1 ค่าสถานที่+ค่าออกแบบ : 700,000-2,000,000 บาท แล้วแต่ขนาดและพื้นที่ ห้างบางแห่งค่าเช่าต่อเดือนสูงถึง 7-800,000 บาท/เดือน การทำอยู่ในบ้านก็อย่าไปบอกว่าไม่มี cost เพราะมันต้องมองว่า ถ้าเราปล่อยเช่า นั่นแหล่ะคือ cost จริงที่เกิดขึ้นสำหรับค่าสถานที่
3.2 ค่าเครื่องมือ ผมลีสไว้คร่าวๆ ดังนี้
Need Instrument ; ของที่จำเป็นต้องมี
1.phoropter (reichert) 300,000 บาท
2.chart projector (nidek) 120,000 บาท
3.ophthalmic unit (topcon) 4-500,000 บาท
4.trial lens set (corrected curve trial lens 200,000 bath , biconcave/biconvex trial lens 23,500 bath)
5.trial frame ( oculus ub6 75,000 bath)
6.retinoscope/ophthalmoscope (keeler 50,000 bath)
7.accessories around 50,000 bath
8.slit lamp : Haag-streit BQ900 (920,000 bath )
9.Fundus camera : 850,000 bath
Wanted Instrument : ของที่อยากจะมี (ไม่มีก็ได้)
1.DNEye Scan2 ; 1,800,000 bath
2.ImpressionIST 4 ; 450,000 bath
Optician Lab
1.เครื่องตัดเลนส์: WECO E.6 ; 1,620,000 bath
2.Lensometer : Visionix 200,000 bath
3.accessories : 50,000 bath (around)
3.3 ค่า stock สินค้า ถ้าเป็นแบรนด์ดีๆ ไม่กี่ตัว เช่นถ้าจะลง Lindberg แบรนด์เดียว ขั้นต่ำเริ่มต้นสำหรับเปิดบัญชีก็ต้องมีร่วมล้าน รวมๆแบรนด์อื่นๆด้วยดังนั้นเตรียมเอาไว้ 1-2 ล้านบาทเป็นขึ้นต่ำ ถ้าเป็นกรอบ (แว่นจากสำเพ็ง ซึ่งขายเป็นพวง(โหล) ประมาณพวงละ 200 บาท ถ้าเตรียมไว้สัก 1-2 หมื่น ก็ได้เป็นร้อยตัว ใครไปเดินเล่นเยาวราชก็คงจะเคยเห็น) และ ส่วนเลนส์นั้นจ่ายเป็นคู่อยู่แล้ว (เว้นเสียแต่ซื้อเลนส์จีนที่ขายเป็นเข่งๆมีสายตาสำเร็จเสร็จสรรพ คุณภาพก็ตามมีตามเกิด) แต่ถ้าจะเปิดบัญชีสั่งเลนส์กับบริษัทใหญ่ๆ ก็มักจะต้องซื้อ coupon เลนส์ล่วงหน้า 1-200,000 บาท เพื่อเปิดบัญชี (ผมซื้อ Coupon lens ของ Rodenstcok ไว้ 6,000,000 บาท พร้อม DNEye Scan 2 และ ImpressionIST)
มารฐานการทำงานทางด้านนี้(แว่นตา) มีกว้างมากๆ ถึงมากที่สุด เพราะมีตั้งแต่แว่นสำเร็จรูปขายตามร้านสะดวกซื้อ แผงขายแว่นตามตลาดนัด งานวัด ร้านแว่นตาในห้าง ไปจนถึง ทัศนมาตรคลินิกเต็มรูปแบบ ซึ่งมาตรฐานต่างกันทั้ง cost และ value ที่เสียไปและได้รับ
แต่สิ่งที่ end user มองเห็นคือ แว่นตาอันหนึ่ง (just glasses ,but they know it's not just glasses) กับ โปรโมชั่นกรอบพร้อมเลนส์ ส่วน value อื่นๆนั้น ไม่เคยรู้ เพราะใครก็ทำ(ไม่ดี)เหมือนๆกัน แล้วทำไม่ต้องจ่ายแพงกว่าในเมื่อไม่ดีเหมือนๆกัน และที่เป็นกันอย่างนี้ก็อย่างที่ผมเคยพูดว่า ยิ่งทำแย่ยิ่งเสียงดัง ยิ่งทำดียิ่งอยู่เงียบๆ(เพราะเขามีหิริ โอตตัปปะ) ทำให้คนทำงานดีๆ นั้นเติบโตแน่นอนแต่ใช้เวลา (แต่ส่วนใหญ่ทนไม่ค่อยได้เพราะค่าใช้จ่ายมันค้ำคอ) และ ทำให้พวกแย่ๆนั้น โตฮวบๆเป็นไฟไหม้ฟางและยังส่งผลต่อวิชาชีพและอาชีพโดยรวมนั้นดูแย่ เป็นเหตุว่า ทำไม ทัศนมาตร ไม่ need ในสังคมไทย
เราลองนึกถึงข่าว แม่ค้าปูไข่ ที่เอาไข่เค็มยัดเข้าไปในปู แล้วก็อ้างว่าใครๆเขาก็ทำกัน ทำให้คนที่ขายปูไข่อย่างตรงไปตรงมานั้น อยู่ยาก ขายยากเพราะราคาปูไข่แท้ๆย่อมแพงกว่า ส่วน end user ก็เห็นแต่ว่า ถูกหรือแพง แต่พอรู้ว่า ปูไข่ที่ตัวเองกินนั้นเป็นไข่เค็ม ก็ไปหาว่า ทั้งตลาดนั้นหลอกลวง เรื่องนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับวงการที่เกี่ยวข้องกับแว่นตา ที่คนส่วนใหญ่หลอกลวง ทำให้คนดีๆนั้นอยู่ยาก
ดังนั้น ที่อยากจะสื่อสารก็คือ ไม่มีฟรี และ ทุกอย่างมี cost ที่ต้องจ่าย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตระหนักคือ ทุกอย่างมี cost ดังนั้น ถ้าเราเห็นว่าคำว่า “ตรวจสายตาฟรี" ก็ให้รู้เลยว่า เรากำลังถูกหลอก เพราะไม่มีฟรี ในฝั่งของผู้ให้บริการก็เช่นกัน ในเมื่อคุณก็รู้ว่ามันไม่มี แต่ยังโฆษณาว่า ฟรี คุณก็กำลังหลอกตัวเองเช่นกัน และ ถ้าเริ่มต้นก็ไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง แล้วคุณจะซื่อสัตย์กับคนไข้ที่มารับบริการกับคุณได้อย่างไร ถ้าพูดให้ชัด สมมติว่า ผมเห็นโฆษณาตรวจวัดสายตาฟรีโดยทัศนมาตร แล้วผมเดินเข้าไปในร้าน แล้วแจ้งความประสงค์เลยว่า ผมต้องการมาตรวจวัดสายตาฟรีโดยทัศนมาตรอย่างละเอียดครบทุกระบบ โดยไม่ซื้อแว่น คุณจะยอมทำให้ผมหรือไม่ (แต่อย่าหลอกตัวเอง) และ คำตอบในใจมันก็ชัดอยู่แล้ว หรือว่า ผมจะซื้อแค่คอนแทคเลนส์คู่ละ 150 บาท คุณจะตรวจ full function หรือไม่ ??
ดังนั้น ส่ิงที่ฝั่งผู้ให้บริการพึงกระทำคือ คุณจะฟรีก็ฟรีในคลินิก ด้วยความใจบุญของคุณอะไรก็ตามเถอะ แต่ไม่ต้องโกหกทั้งโลกด้วยการยอมจ่ายค่าโฆษณาให้เฟสบุ๊คว่าคุณตรวจสายตาฟรี เพราะแม้แต่ facebook คุณก็ยังต้องจ่ายเพื่อจะให้คนรู้ว่าคุณฟรี หรือไม่ คนที่ทำอย่างนี้คงเป็นพ่อพระที่ใจบุญสุดๆ หรือไม่ก็เป็นมูลนิธิที่ไม่หวังประโยชน์ (มั้ง)
ดังนั้นเราทำเรื่องจริงที่มันตรงไปตรงมาดีกว่า ดูจะยั่งยืนกว่าการไม่ซื่อสัตย์ในวิชาชีพด้วยการปล่อยคำเท็จออกไป โลกจะได้ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งมันจะดีต่อการเติบโตของวิชาชีพและยั่งยืนต่อไป
พูดมากไปก็เหมือนสาวไส้ แต่ครั้นจะไม่พูดก็ดูเหมือนจะสนุกสนานกันไปหน่อย โดยไม่สนใจหน้าตาของวิชาชีพ มันทำให้วิชาชีพนั้นมัวหมอง ซึ่งผมก็คงไม่ยอมถ้าคนไม่กี่คนจะทำให้คนในวิชาชีพส่วนใหญ่หมองไปด้วย จึงเลือกที่จะพูดสักหน่อย อย่างน้อยก็ให้รู้ความจริงว่าอะไรเป็นอะไร ตลอดจนถึง end user จะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจว่ามาตรฐานการทำงานของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ความรู้ประสบการณ์ไม่เท่ากัน มาตรฐานเครื่องมือไม่เหมือนกัน เหมือนที่เรารู้ว่า มาตรฐานของ รพ.เอกชน กับ รัฐบาลไม่เหมือนกัน เครื่องมือไม่เหมือนกัน และ เราก็รู้ว่า cost ในการเข้ารับการรักษาไม่เหมือนกัน การเข้ารับบริการทางทัศนมาตรคลินิกก็เช่นเดียวกัน