มีคนไข้หลายคนถามผมว่า “จะทำเลสิกดีไหม” ซึ่งเอาจริงๆก็ตอบได้ยาก เพราะบริบทและความต้องการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน จะว่าดีก็ดีไม่หมด จะว่าเสียก็มีดีอยู่ ในดีมีเสียส่วนในเสียก็มีดี ดังนั้นจะบอกว่าดีหรือไม่ ก็คงจับข้อดี/ข้อเสีย มาชั่งน้ำหนักกันดู เพราะโลกนี้ไม่มีเรื่อง one fit all เมื่อพิจารณาดีแล้วแล้วตัดสินใจดีแล้วก็ต้องยอมรับสิ่งที่ตามมา (ทั้งดีและเสีย)
ข้อดีของการทำเลสิกนั้นหาได้ไม่ยากเพราะโฆษณาบน facebook ที่ชักชวนให้มาทำเลสิก อ่านตรงไหนก็มีแต่เรื่องดีๆ จะหาข้อเสียในโฆษณานี่ก็ยากเพราะจุดประสงค์ของการซื้อโฆษณาก็เพื่อนำไปสู่การขาย ดังนั้นเราจึงหาข้อเสียในคำโฆษณาไม่เจอ แต่ก็มีสิ่งที่ต้องระวังก็คือว่า แต่อะไรที่มันดีเกินไป ไม่มีข้อเสียนี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวัง เนื่องจากการทำเลสิก เป็นการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการผ่าตัด เพื่อดัดแปลง เปลี่ยนทรงความโค้งของกระจกตา (re-shape) เพื่อให้ได้ผิวหักเหที่ต้องการ ด้วยการเอาเนื้อของกระจกตาบางส่วนออก เพื่อให้กระจกตาแบนลงหรือนูนขึ้น ตามแต่ละปัญหาสายตา เมื่อทำไปแล้วจะเปลี่ยนใจทีหลังไม่ได้ เพราะเนื้อกระจกตาถูกปาดออกไปแล้ว จะพอกกลับมาให้เหมือนเดิมก็คงจะไม่ได้
ดังนั้นการตัดสินใจในการทำเลสิกนั้น ก็คงต้องมองให้รอบด้าน และตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า "ต้องการหรือคาดหวังอะไรจากเลสิก แล้วเลสิกให้สิ่งที่เราต้องการนั้นได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับข้อเสียที่ตามมา
ดังนั้นบทความเรื่องนี้ผมจะเล่าทั้งหมดทั้งดีทั้งเสีย แล้วท่านๆก็พิจารณากันเอาเอง ถ้าอ่านจบแล้วอยากทำเลสิกก็ทำได้เลย ส่วนใครอ่านไปแล้วไม่อยากทำเลสิกก็ลองพิจารณาหาวิธีอื่นดู
และต้องขออนุญาตออกตัวก่อนว่า ทั้งหมดนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวทั้งสิ้น และอยากจะแชร์มุมมองความคิดให้ท่านที่สนใจได้ อ่าน และ พิจารณาดีแล้ว ก็หวังว่าการตัดสินใจก็คงจะผิดพลาดน้อยลง
หวังว่าบทความวันนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านที่สนใจไม่มากก็น้อย
อย่างแรกก็ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งก่อนว่า “ไม่มีอะไรที่ดี 100 หรือ เสีย 100” ทุกอย่างมีผลกระทบ มีความเสี่ยง มีความไม่สะดวก มีข้อดี มีข้อเสีย ได้อย่างและต้องแลกกับอีกอย่าง และ เรื่อง one fit all นั้นไม่เคยมีอยู่บนโลกใบนี้มากว่า 4000 ล้านปี การหาความสมบูรณ์มันย่อมเสียเวลาเหมือนหาหนวดเต่า เพราะไม่มีทางได้เห็น (ถ้าเห็นก็พยายามขูดเลขเอาแล้วบอกผมด้วย)
ดังนั้น เมื่อในดีมีเสีย ในเสียมีดี เราจึงต้องมานำข้อดีและข้อเสีย มาวางลงบนตาชั่ง ว่าเรื่องดีๆที่เราอยากได้แล้วเราสามารถยอมรับในเรื่องแย่ๆที่จะตามมาได้หรือไม่แล้วค่อยตัดสินใจ จะได้ไม่ต้องมานั่งร้องไข้ขี้มูกโป่งว่า “รู้งี้” เพราะคำว่า “รู้งี้” เรากำลังพูดถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วและไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้
ดังนั้นวันนี้ ผมจึงอยากจะนำเรื่องราวดีๆ และเรื่องไม่(ค่อย)ดี ที่เกิดขึ้นจากการทำ lasik มาให้แฟนเพจ แฟนคอลัมน์ ได้มาลองพิจารณากัน โดยไล่ไปดูตั้งแต่ option ต่างๆในการแก้ไขปัญหาสายตาที่มีอยู่ในยุคปี 2023 แต่ละอย่างทำอย่างไร มีข้อดี/เสียต่างกันอย่างไร
ปัญหาสายตา คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการหักเหแสงของดวงตาดังนั้นอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ต้องเป็นอะไรที่เกี่ยวกับความโค้งที่ทำให้เกิดการหักเห จนเกิด refractive error ขึ้นมา อันได้แก่ กระจกตา (cornea) และ เลนส์แก้วตา (crystalline lens) อีกปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้อง แต่เราไม่สามารถไปยุ่งหรือแก้ไขได้คือ ความยาวของกระบอกตา (axial lenght)
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาสายตา (refractive error) ก็จะต้องทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับความโค้ง ซึ่งก็แบ่งเป็น 2 อย่างคือ ใช้อุปกรณ์ และ ไม่ใช่อุปกรณ์
แบบที่ใช้อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติทั้งในแง่ของความโปร่งใสและความโค้งเข้าไปแก้ไข ซึ่งก็มีทั้งแบบที่ใส่เข้าไปภายนอกลูกตา เช่นการใส่เข้าไปสัมผัสเช่นคอนแทคเลนส์ หรือ ใส่เกาะอยู่ภายนอกเช่นเลนส์แว่นสายตา และอีกแบบคือการใส่อุปกรณ์เข้าไปภายในลูกตาเช่นการทำเลนส์แก้วตาเทียม(IOL) หรือใส่เลนส์เสริมเข้าไปในช่องน้ำในลูกตา (PHAKIC INTRAOCULAR LENS)
ส่วนแบบที่ไม่ใช้อุปกรณ์ แต่ใช้มีดเลเซอร์ในการแก้ทรงกระจกตาให้เกิดความโค้งใหม่ที่มีค่ากำลังหักเหใหม่ไปหักล้างกับปัญหาสายตาที่เป็นอยู่ เพื่อให้ได้ค่าสายตาโดยรวมแล้วเกิดการหักเสมือนคนสายตาปกติ(emmetropia) หรือที่เราเรียกติดหูกันว่าเลสิก (Lasik) จริงๆ Lasik เป็นชื่อเรียกหนึ่งของเทคนิคการใช้เลเซอร์เข้าไปผ่าตัดกระจกตา ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ อาทิเช่น LASIK ,PRK,SMILE เป็นต้น ซึ่งเราจะพูดถึงรายเอียดของแต่ละวิธีต่อไป เริ่มจากการแก้ไขปัญหาสายตาโดยไม่ใช้อุปกรณ์เติมเข้าไปในระบบตาก่อน
เลสิกเป็นชนิดหนึ่งของการใช้เลเซอร์เจียร์แก้ทรงกระจกตา ซึ่งแก้สายตาสั้น(myopia) สายตายาวแต่กำเนิด(hyperopia) และสายตาเอียง(astigmatism) ได้ ซึ่งข้างหนึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที โดยคนไข้จะถูกหยอดยาชาที่กระจกตาเพื่อไม่ให้รู้สึกและใช้อุปกรณ์ถ่างเปลือกตาเปิดไว้ขณะทำการผ่าตัด และใช้ suction ring กดไปที่กระจกตาเพื่อให้กระจกตานั้นมีความเสถียร
จากนั้นแพทย์จะใช้เลเซอร์ microkeratome หรือ femtosecond laser ในการสร้าง flap เปิดผิวบางๆของกระจกตาชั้นบน (epithelial cornea) ออก หลังจากแพทย์เปิด flap ออกก็จะใช้ excimer laser ในการเจียร์เพื่อแก้ทรงของกระจกตาที่ชั้น stroma (ชั้นที่หนาที่สุดของกระจกตา) ให้ได้กำลังหักเหที่พอดีกับปัญหาสายตาที่เป็น จากนั้นก็ปิด flap เข้าที่เดิม ให้กระจกตาสมานแผลเอง คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกไม่สบายตาในช่วงแรก และ บางคนอาจมีอาการไม่ชัดในช่วงแรก แต่อาการจะค่อยๆดีขึ้นหลังจากผ่าตัด 1-2 สัปดาห์
PRK ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้เลเซอร์แก้ทรงกระจกตา แต่วิธีนี้จะออกแนวรุกรานกระจกตามากกว่าแบบ LASIK แต่ก็มีเป็นทางเลือกในกรณีที่คนไข้กระจกตาหนาไม่พอที่จะทำ LASIK
ระยะเวลาในการผ่าตัดก็ใกล้เคียงกับ LASIK คือประมาณ 15 นาที/ข้าง ใช้ยาชา อุปกรณ์ถ่างตา และ suction ring ในการทำให้กระจกตาเสถียรเช่นเดียวกับ LASIK
การผ่าตัดก็จะใช้เลเซอร์เจียร์กระจกตาตั้งแต่ชั้นผิวบนสุด หรือ corneal epithelium โดยแพทย์จะทำการโปรแกรมเครื่องเจียร์เลเซอร์ให้ปาดผิวกระจกตาผิวบนออก แล้วเอาเนื้อกระจกตาออก ทำความสะอาด้วยแอลกอฮอล์ แล้วปล่อยให้กระจกตาสร้างเซลล์ขึ้นมาคลุมใหม่
เช่นเดียวกัน คนไข้อาจจะมัวและไม่สบายตาในช่วงแรก แต่จะดีขึ้นเมื่อผ่านไปประมาณ 1 สัปดาห์
SMILE เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการผ่าตัดเปลี่ยนทรงกระจกตาด้วยเลเซอร์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ โดยใช้ femtosecond laser เจียร์เนื้อกระจกตาออกมาเป็นรูปทรงเลนส์เป็นแผ่นบางๆ แล้วดึงออกมาผ่านรูเปิดเล็กๆที่เจาะเปิดรูเอาไว้
ระยะเวลาในการผ่าตัดด้วย SMILE ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อข้าง ส่วนขั้นตอนอื่นๆก็คล้ายๆกัน และด้วยความแผลเล็กนี่เอง ทำให้ระยะการพักฟื้นนั้นเร็วกว่า LASIK และ PRK
ก็จบไปสำหรับ How to Operate สำหรับการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนทรงกระจกตาด้วยเทคนิคเลเซอร์ ในแต่ละวิธี ต่อไปเราลองมาดูผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ว่ามีอะไรบ้างที่พึงพิจารณา
FDA กำหนดไว้ว่า คนที่เหมาะสมที่อนุญาตให้สามารถทำเลสิกได้ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปี แต่โดยธรรมชาติแล้วหมอจะไม่ทำเลสิกให้กับคนที่อายุน้อยกว่า 21 ปีบริบูรณ์ ด้วยเหตุว่าช่วงอายุน้อยกว่านี้ ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงของสายตาอยู่
เคสหลังเลสิกโดยทั่วไปจะใช้เวลา 3-6 เดือน ในการฟื้นฟูตัวเองของกระจกตาจนสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงเวลานี้ การมองเห็นอาจจะชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง หรือมีอาการ ตาแห้ง(Dry Eye) เห็นแสงฟุ้ง(Glare) หรือ เห็นรุ้งรอบดวงไฟ(Halos) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ชั่วคราวและจะหายไปได้เอง แต่บางคนก็เป็นถาวรได้เช่นกัน
ต่อไปนี้คือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดกระจกตาด้วยเลสิก ซึ่งผมลีสรายกายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 1 หรือ 2 หรือทั้งหมด หรือไม่เกิดก็ได้ เรียกรวมๆว่า เสี่ยงก็แล้วกัน
ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยปกติเลยกับคนที่ทำเลสิกมาก็คือ dry eye ซึ่งคนที่เป็นโรคตาแห้งจะมีอาการดังนี้คือ ระคายเคืองตา เจ็บแสบตา รู้สึกเหมือนมีผงเข้าตา กะพริบตาแล้วเหมือนมีอะไรขูดๆในตา และ มัวซึ่งกะพริบตาเแล้วดีขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายๆสาเหตุ ได้แก่ น้ำตาไม่พอซึ่งน้ำตาของเรานั้นประกอบไปด้วย 3 ชั้นหลักๆคือ ชั้นน้ำมัน(oily layer) ชั้นน้ำ (watery layer) และ ชั้นเมือก(mucous layer)
ชั้นน้ำมัน (oily layer) ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำตานั้นระเหยออกไปได้ง่ายๆ
ชั้นน้ำ (watery layer) ทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นหลักกับดวงตา เรียกได้ว่ากว่า 90% เป็นชั้นน้ำ
ชั้นเมือก (mucous layer)ทำหน้ายึดเกาะให้น้ำตานั้นเกาะอยู่กับกระจกตาได้นานๆ ไม่ไหลไปไหนง่ายๆ
ในการทำเลสิก เราจะเจียร์เอาเนื้อเยื่อกระจกตาบางๆที่ผิวบนของกระจกตาออก ซึ่งเนื้อเยื่อชั้นนี้จะมีคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือเพิ่มการยึดเกาะของชั้นน้ำตาให้ติดกับกระจกตาได้ดี การที่นำชั้นนี้ออกก็จะทำให้การยึดเกาะของชั้นน้ำตานั้นลดลง น้ำตาก็ระเหยง่ายและไม่เสถียร
อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ การใช้เลเซอร์เจียร์กระจกตานั้น จะทำให้ปลายประสาทของกระจกตานั้นถูกทำลาย ซึ่งปลายประสาทตาที่กระจกตานี้ทำหน้าที่สำคัญคือควบคุมการผลิตน้ำตา โดยเป็นตัว feedback สัญญาณกลับไปที่ระบบประสาทอัตโนมัติ เมื่อตาแห้งจนเกิดการระคายเคืองที่กระจกตา สมองก็จะสั่งให้เกิดการผลิตน้ำตาแล้วส่งออกมาจนหายระคายเคือง เมื่อเมื่อระบบประสาทไม่ไวเหมือนเดิม การส่งสัญญาณก็น้อยลง การหลังน้ำตาก็จะน้อยลง
อีกปัญหาหนึ่งคือ การใช้เลสิกเจียร์กระจกตาเพื่อแก้ทรง ถ้าพูดให้เห็นภาพใหญ่คือ การใช้สิ่วในการเซาะเนื้อไม้เพื่อแกะสลักหรือแก้ทรงไม้ ซึ่งยากที่จะสิ่งจะสามารถเซาะไม้ได้เรียบเท่ากับไม้ที่มาจากต้น ซึ่งถ้าจะให้เรียบก็ต้องใช้กระดาษทรายลูบ พอเป็นเลสิก ก็เปลี่ยนสิ่วใหญ่ๆ มาเป็นสิ่วนาโน ดังนั้นกระจกตาไม่มีทางที่จะเรียบได้เหมือนกระจกตาธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อน้ำตาวิ่งไปเคลือบย่อมไม่สามารถเคลือบได้เป็นฟิล์มเหมือนกับกระจกตาเดิม
ด้วยเหตุนี้ คนที่ทำเลสิกมาจึงมักมีปัญหาตาแห้งกันโดยปกติ แต่บางคนก็หายได้ แต่ก็มีมากที่มีปัญหาตาแห้งต่อเนื่องแบบไม่หายก็มี ดังนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโรคตาแห้งแล้วค่อยพิจารณาอีกทีว่าจะทำเลสิกให้หรือไม่ แต่ปัญหาสำหรับบางคนที่หน้ามืดตามัว อยากทำเลสิก ไม่อยากใส่แว่น ไม่สนคำเตือนและดื้อที่จะทำทั้งๆที่ตัวเองไม่ควร หรือ บางทีการก็เชียร์ลูกค้าทำเลสิกเสียจนไม่ยอมบอกข้อเสีย บอกแต่ข้อดี แล้วก็มีปัญหาตามมาไม่รู้จบ
คนไข้หลังเลสิกมักจะมีปัญหา แสงฟุ้ง เห็นรุ้งรอบดวงไฟ และ เห็นเป็นเงาซ้อน ๆ ซึ่งสาเหตุหลักๆนั้นเกิดเนื่องมาจาก
ทรงของกระจกตาเปลี่ยน (cornea chang shape) อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การใช้เลเซอร์เพื่อแก้ทรงของกระจกตานั้น คล้ายกับการเอาสิ่วเจียรไม้ ซึ่งผิวใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถราบเรียบได้เหมือนกระจกตาธรรมชาติ และ จะเกิดเป็นแผลเล็กๆ (micro-scar) ทำให้แสงที่ตกกระทบพื้นผิวที่ไม่เรียบนั้นเกิดการกระเจิง ไม่เป็นระเบียบ ทำให้เกิดแสงฟุ้ง Glare เห็นรุ้งรอบดวงไฟ (Halos) โดยเฉพาะในเวลาแสงน้อย หรือ contrast น้อยๆ ที่รูม่านตาเปิดกว้าง บางคนก็เป็นมากในช่วงแรกๆของการผ่าตัด บางก็เป็นยาวๆจนทนไม่ได้ (แต่ช่วยไม่ได้) บางคนก็ทนเอาจนทนได้ก็มี แต่อย่างไรก็ตาม กระจกตาที่ไม่เรียบไปแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ แต่ก็มีข้อดีอยู่ว่าอย่างน้อยก็ไม่ต้องใส่แว่นตลอดเวลา
อีกอย่างหนึ่งก็คือ กระจกตาบวม หลังทำเลสิก ซึ่งกระจกตาบวมหมายถึงมีน้ำเข้าไปแซกอยู่ในเนื้อกระจกตามาก และ เมื่อแสงผ่านเข้าไปกระทบน้ำจะเกิดการกระเจิง ซึ่งทำให้คนไข้เห็นแสงฟุ้ง และ รุ้งรอบดวงไฟ
วิธีรับมือกับเรื่องนี้คือ ใส่แว่นกันแดด ใส่หมวกหลบแดดที่มีแสงจ้าๆ หลีกเลี่ยงการขับรถในเวลากลางคืน หรือ หลีกเลี่ยงที่มีแสงน้อยๆ ใช้น้ำตาเทียมพกติดตัว หยอดตลอดเพื่อความชุ่มชื้น หลีกเลี่ยงการขยี้ตา โดยเฉพาะในช่วงแรกหลังผ่าตัด
อีกปัญหาใหญ่ๆ (ใหญ่มาก) สำหรับการทำเลสิก คือ ความคาดหวังของคนไข้ที่เกินข้อเท็จจริงไปมาก นั่นคือเชื่อว่า หลังทำเลสิกแล้วตัวเองจะได้ค่าสาตา Plano แบบ 0.00D ซึ่งไม่ใช่ยากธรรมดา แต่ยากมากๆ ที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดได้ง่ายกว่าคือ Undercorrection or overcorrection
Undercorrection : หลังทำการผ่าตัดไปแล้วแก้สายตาสั้นได้ไม่พอ ทำให้มองไกลมัว ซึ่งเกิดจากการเจียร์กระจกตาแบนน้อยไป(เอาเนื้อกระจกตาออกได้น้อยเกินไป)
Overcorrection : หลังทำเลสิกไปแล้วเจียร์กระจกตาออกมากเกินไป ทำให้กระจกตาแบนเกินไป เกิดเป็นสายตายาวมองไกล (อาการจะเหมือนคนที่ใส่แว่นที่สายตาสั้นมากเกินค่าจริง) ซึ่งส่วนมากจะเกิดอย่างหลังนี้ เนื่องจากทำให้เป็นศูนย์นั้นทำได้ยาก การทำให้เป็นบวกเหมือนสายตายาว แล้วปล่อยให้เลนส์แก้วตาเพ่งเอา(accommodate) ก็ชัดได้เหมือนกัน (แต่ฟังก์ชั่นของตาก็จะทำงานเพี้ยนๆไปเช่นกัน) บางคนก็ยาวเสียจนเพ่งไม่ไหว ทีนี้ไกลก็มี ใกล้ย่ิงมัว คราวนี้แก้ยากเพราะ การปาดกระจกตาให้แบนนั้นง่ายกว่าพอกกระจกตาให้นูนขึ้น เพราะกระจกตาถูกปาดออกไปแล้ว
ดังนั้นมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิด under หรือ overrefraction หลังทำเลสิก เช่น
ตรวจวัดสายตามาไม่ดี ซึ่งถ้าหมอผ่าตัดไม่ได้ระวังเรื่องความแม่นยำของสายตาจากการตรวจวัด ทำให้การตั้งความแรงของเลเซอร์นั้นอาจจะกินเนื้อกระจกตามากไปหรือน้อยไป ทำให้เกิด over หรือ under reraction ได้
สาเหตุถัดมาคือกลไกร่างกายในการรักษากระจกตาของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนก็ซ่อมแซมได้เร็ว บางคนก็ซ่อมแซมได้ช้า ซึ่งผลลัพธ์ของกลไกซ่อมแซมที่แตกต่างของแต่ละคนก็นำไปสู่ over หรือ under ได้เช่นกัน
อีกสาเหตุหนึ่งคือ การเปลี่ยนฟอร์มของกระจกตาของคนไข้เอง ซึ่งเป็นไปได้ที่กระจกตาจะมีการเปลี่ยนทรงทำให้เกิด over หรือ under ได้เช่นกัน
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ คนไข้เองมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกหมอที่มีประสบการณ์หรือชำนาญการด้านการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ ด้วยการศึกษาค้นหาด้วยตัวเอง ซึ่งพอจะสรุปสาเหตุหลักๆของ over/under ได้ดังนี้
Infection หรือ ตาติดเชื้อพบไม่บ่อยในการทำเลสิก แต่ก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นเรื่องที่ซีเรียส และต้องหยอดหรือกินยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษา
Cornea ectacia เป็นภาวะที่กระจกตาบางเกินไป ทำให้กระจกตาอ่อนตัวลง ส่งผลให้เกิดปัญหาการมองเห็นตามมา เช่น แสงฟุ้ง เห็นรู้งรอบดวงไฟ เห็นภาพซ้อน ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ค่อนข้างส่งผลกระทบรุนแรงแต่ก็พบได้น้อยมาก
Lasik สามารถทำให้เกิด micro-scar ได้เนื่องจากการทำเลสิก คือการใช้เลเซอร์มาใช้ในการเจียร์ปรับทรงโค้งของกระจกตา ดังนั้นการเกิดเป็นแผลเป็นเล็กๆ (micro-scar) ก็คงจะต้องมีกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำเลสิกกับคนที่มีกระจกตาบาง
Micro-scar ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของแสงและความคมชัดลดลงในที่ที่มีแสงน้อย (low contrast visual acuity) นึกถึงแสงที่ตกลงพื้นผิวที่ไม่เรียบ ย่อมทำให้เกิดการสะท้อนหรือเลี้ยวเบนที่ไม่เป็นระเบียบ เป็นเหตุให้เห็น glare หรือ lalos ได้
มีผู้สูงอายุไม่น้อย ที่ไม่อยากใส่แว่น จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ก็เลยอยากจะทำเลสิก แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า เมื่อเข้าสู่วัยอายุ 40 ปี ขึ้นไป ย่อมมีปัญหาสายตาชรา ( presbyopia) กันทุกคน คือเลนส์ชั้นเดียวธรรมดา มองไกลชัดแต่อ่านหนังสือมัว หรือ แว่นอ่านหนังสือใส่มองไกลไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีเลนส์โปรเกรสซีฟให้ใช้ แต่ก็ไม่อยากใส่แว่น เพราะรู้สึกว่าโปรเกรสซีฟดีๆก็แพงพอกับทำเลสิก จึงคิดอยากจะทำเลสิกจะได้ไม่ต้องใส่แว่น
การทำเลสิก ต่างจากการทำเลนส์สายตาคือ เลสิกใช้เลเซอร์เจียร์ทรงกระจกตาเพื่อให้เกิดความโค้งใหม่ให้พอดีกับสายตา ขณะที่เลนส์สายตานั้นใช้ cnc-freeform เจียร์เข้าไปที่เนื้อเลนส์พลาสติกเพื่อเปลี่ยนแปลงความโค้งเลนส์ให้ได้กำลังที่เหมาะสมกับสายตาที่เป็นอยู่ และ cnc-freeform สามารถทำผิวกระจกเลนส์ให้เกิดการ varies curve เกิดเป็น multi-focal ได้ แต่เลสิกไม่สามารถทำให้เกิด varies curve บนกระจกตาได้ ดังนั้นเลสิกจึงทำผิวแบบ single curve หรือ single vision ได้เท่านั้น เลสิกจึงไม่สามารถใช้แก้ปัญหาสายตาของคนสูงอายุได้
แต่ก็มีวิธีที่ไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง (แต่ทำได้) คือการทำเป็น monovision โดยทำตาข้างหนึ่งเอาไว้มองไกล แล้วทำตาข้างหนึ่งเอาไว้มองใกล้ ผลสุดท้าย ไกลก็ไม่ชัด กลางก็ไม่ชัด ใกล้ก็ไม่ชัด อยากจะกลับมาชัดเหมือนตอนใส่แว่นก็ไม่ได้ เพราะผิวกระจกตามันไม่เรียบเหมือนก่อนแล้ว (ซวย)
ดังนั้นถ้าจะ(ดื้อ)ทำ monovision จะต้องรู้ความเสี่ยงต่อไปนี้
มนุษย์มีตาสองตาอยู่ส่วนหน้าของกระโหลก ไม่เหมือนวัวควายกบเขียด ที่มีตาอยู่ทางด้านข้าง ระบบการมองเห็นจึงทำงานต่างกัน
การมีตาอยู่ที่ส่วนหน้าของกระโหลกนั้น เป็นสิ่งประเสริฐที่เกิิดขึ้นกับสัตว์นักล่าอย่างมนุษย์และนักล่าอื่นๆ เพราะทำให้นักล่านั้นมีการมองเห็นความชัดลึกแบบ 3 มิติ หรือเรียกว่ามี depth perception เนื่องจากตาที่อยู่ด้านหน้าสองข้างนั้น สมองจะรับภาพจากตาแต่ละข้างที่มี “ลานสายตา” ต่างกันเล็กน้อย ซึ่งสมองตีความมุมของลานตาที่ต่างกันนั้นเป็นความลึกขึ้นมา เราจึงเห็นเป็นมิติ มีความชัดลึก หยิบจับวัตถุหรือตะปบเหยื่อได้แม่นยำ เราลองหลับตาข้างหนึ่งแล้วหยิบของสักอย่าง เราจะรู้ว่ามันหยิบไม่ถนัด เนื่องจาก depth perfection ไม่มี
การทำ monovision จึงเป็นการไป block depth perception โดยอัตโนมัติ เพราะ visual angle ที่ต่างกันจากตาแต่ละข้างนั้นมันหายไป ทำให้กะระยะลำบาก กะระยะเบรคเวลาขับรถลำบาก มองเห็นทุกระยะแต่ไม่ชัดสักระยะเช่นกัน ชัดด้วยตาอีกข้างก็จะมีมัวมากวนจากตาอีกข้างเช่นกันและเกิดขึ้นกับทุกระยะ
ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือสูญเสียการมองเห็นแบบ depth perception , blure vision ,glare ,halos ,dry eye หาดีไม่ได้ แล้วถ้าเปลี่ยนใจก็ไม่ได้เช่นกัน ต้องหนีกลับมาใส่แว่นโปรเกรสซีฟ ซึ่งทำยากย่ิงขึ้นเพราะสายตาสองข้างต่างกันมาก การทำเช่นนี้เป็นการหนีจระเข้ปะจระเข้ยักษ์แท้ๆ
ถ้าอยากลอง เริ่มด้วยการใส่แว่นลองดูก่อน ข้างหนึ่งเอาไกลชัด อีกข้างเอาใกล้ชัด ดูสิว่ามันอยู่ได้ไหม รับได้ไหม หรือ หาคอนแทคเลนส์มาใส่ดู ข้างหนึ่งเอามองไกลชัด อีกข้างเอาใกล้ชัด ดูว่าทนได้ไหม แต่ถ้าจะบอกว่าใส่คอนแทคเลนส์ไม่ได้เพราะตาแห้ง เลสิกนี่ยิ่งแห้งเลย
ศึกษา monovision เพิ่มเติม : https://www.loftoptometry.com/MonovisionLasik
คราวนี้ลองมีเทียบข้อดี ข้อเสียของการแก้ปัญหาสายตาด้วยวิธีต่างๆดูบ้าง
ถ้าไม่ใช่เป็นนักดำน้ำ นักมวย นักเจ๊ตสกี นักรบหน่วย SEAL ก็ยังนึกไม่ค่อยออกว่าใครที่สมควรทำเลสิก ถ้าห่วงสวยห่วงหล่อและไม่อยากใส่แว่นก็มีตั้งหลายวิธี เช่นใส่คอนแทคเลนส์ แต่ถ้าขี้เกียจรักษาความสะอาดก็ทำ Ortho-K lens ใส่กดกระจกตาก่อนนอน ตื่นมาก็ถอดออกและก็ชัดได้ทั้งวัน ถ้ามองเป็นภาระในการใส่ ถอด หรือ รักษาความสะอาด ก็คงจะใช้ แต่ถ้าแลกกับการถนอมรักษาดวงตาในระยะยาวก็น่าจะดีกว่า เพราะยังไงพออายุ 40ปี ก็หนีแว่นไม่พ้น เพราะ monovision ก็ไม่ work แต่ก็แล้วแต่สะดวก ผมก็ทำหน้าที่ของผม คือบอกข้อเท็จจริง ใครที่จะทำก็จะได้เตรียมทำใจยอมรับผลกระทบที่อาจจะเกิดตามมา
ผลข้างเคียงของการทำเลสิก เป็นไปได้ทั้งแบบที่เป็นชั่วคราว หรือ เป็นถาวร
ดังนั้นพิจารณาข้อดีข้อด้วยให้ดี ก่อนตัดสินใจทำเลสิก เพราะเดินหน้าแล้วต้องยอมรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น จะได้ไม่ต้อง “รู้งี้”
จะให้เนื้อหาเลสิกจบแบบบริบูรณ์ก็คงจะต้องปิดด้วย case study ที่นำมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งเคสหนึ่งนั้นหยิบมาจากเคส ดร.เดียร์ (khunyai Optometry) และอีกเคสเป็นคนไข้ที่ลอฟท์ ก็เป็นเคสตัวอย่างที่น่าสนใจทั้งคู่
คนไข้มีสายตาเดิมก่อนทำเลสิก
R. -7.75 -1.25 x180
L. -7.00 - 1.50 x 5
ไม่อยากใส่แว่นจึงไปทำเลสิก
หลังทำเลสิกมาแล้ว ก็มองไกลชัดพอใจ เพราะ ไม่ต้องใส่แว่น แต่ก็มีปัญหาภาพมีเงาซ้อนเวลาดูใกล้ และปวดหัวไมเกรนบ่อย
ดร.เดียร์ตรวจแล้วก็พบว่ามองไกลเป็นสายตายาวร่วมกับสายตาเอียง ตรวจออกมาได้
R +0.50 -1.50 x 90
L +2.00 -2.25 x 90
ฟังก์ชั่นอื่นๆทำงานปกติ
เคสถัดมาเป็นเคสที่ลอฟท์ ซึ่งผมเป็นคนตรวจเอง ประวัติคือคนไข้เลยทำเลสิกตอนอายุ 33 ปี จากนั้นก็ค่อยๆสั้นมากขึ้น จนต้องเริ่มกลับมาใส่เลนส์สายตาสั้น พออายุ 45 ปี เลนส์สายตาสั้นมองไกลไม่ค่อยชัด ใกล้ก็ดูไม่ดี จึงเข้ามาตรวจเพื่อทำเลนส์โปรเกรสซีฟ
เคสตัวอย่างนี้เป็นเคส คนไข้ชาย อายุ 45 ปี มีประวัติผ่าตัดเลสิกมาเมื่อ 12 ปีก่อน มาด้วยอาการแว่นเก่าไม่ชัด
ปัจจุบันตรวจแล้วพบ เป็นสายตาสั้น ร่วมเอียง แบบ compound myopic astigmatism ได้ค่ามา
OD -1.75 -1.50 x 87 (20/15)
OS -1.25 -2.50 x 87 (20/15)
Add +1.25
ขณะที่คอมพิวเตอร์วัดสายตา ตรวจ(มั่ว)ได้ (DNEye Scan 2)
OD -4.13 -0.88 x 80
OS -4.00 -1.00 x 81
Add +2.50
ส่วนฟังก์ชั่นต่างๆของกล้ามเนื้อตาทำงานดี มีเขเข้าเล็กน้อย เหล่ในแนวดิ่งไม่มี
ทั้งสองเคสนี้ได้ทั้งสองตัวอย่างคือ
เคสแรกของ ดร.เดียร์นั้น หลังทำเลสิกแม้คนไข้จะสามารถมองไกลเห็น(ด้วยการเพ่ง) แต่ก็ไม่ชัด (คือเห็นอยู่ได้โดยไม่มีแว่นแต่ไม่ชัด) เพราะว่าก่อนทำเป็นสายตาสั้น แต่ทำเลสิกมาแล้ว น่าจะเจียร์กระจกตาออกบางเกินไปเลยไป induced ให้เกิดเป็นสายตายาว
ส่วนเคสที่สองนั้น คนไข้ก็ทำเลสิกเพราะไม่อยากใส่แว่น แต่พอทำไปแล้ว แรกๆก็ดี แต่อยู่ๆไปก็เริ่มกลับมาสั้น จนกระทั่งสั้นจนต้องใส่แว่นตลอดเวลา พอถึงวัย 40 ปี มีสายตาชราร่วมด้วย ก็ต้องใช้ multi-focal progressive lens
ดังนั้น ถ้าคิดว่าการทำเลสิกแล้วจะบอกลาแว่นได้ตลอดอายุขัย ก็ดูจะเป็นเรื่องฝันกลางวันไปหน่อย ก่อนคิดจะทำเลสิกจึงต้องกลับมาทำความเข้าใจกันให้ดีว่า การแก้ไขปัญหา refractive error นั้นมีอยู่หลายวิธี เช่น คอนแทคเลนส์ แว่นตา การผ่าตัดด้วยเลสิก หรือการใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไป ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดี ข้อเสียของตน แตกต่างกันไป
แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือคนไข้ต้องเข้าใจข้อดีข้อเสียแต่ละวิธีนั้นมีดีมีเสียแค่ไหน เพื่อให้คนไข้เกิดความคาดหวังที่ถูกต้องพอดี
การทำเลสิกดีในแง่ มองไกลชัด โดยไม่ต้องติดแว่นตลอดเวลา ลืมแว่นหรือแว่นพังก็คลำทางต่อไปได้ ขับรถได้ มีความอิสระ ใส่แว่นกันแดดสวยๆได้ ก็คือว่าตอบโจทก์มองไกลได้
แต่ชัดแค่ไหนที่ถือว่ายอมรับกันได้ บางคน 20/30 ก็ว่าชัดแล้ว บางคน 20/15 ยังบอกว่าไม่ชัด เพราะความชัดเป็นเรื่องของ subjective (ความพอใจของใครของมัน)
แต่ถ้าคาดหวังว่าจะให้ชัดเท่ากับแว่นที่ corrected ดีๆกับการใช้เลนส์ดีๆ ก็คงไม่สามารถทำได้ขนาดนั้น เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ refractive error เป็น 0.00 ด้วยการการผ่าตัด แต่ไม่ยากถ้าจะแก้ด้วยการใส่แว่น
ในการตั้งเครื่องมือเลเซอร์นั้น มันจะต้องเริ่มคำนวณตั้งแต่ดูสายตาดั้งเดิมก่อนทำเลสิก ซึ่งก็ต้องอยู่ที่ความรู้ ประสบการณ์ และ ทักษะของคนผู้ตรวจวัดด้วย โดยเข้าใจว่าผู้ตรวจวัดในปัจจุบันน่าจะเป็นทัศนมาตรเป็นคนตรวจทั้งหมดแล้ว แต่กระนั้นก็ตามมาตรฐานการทำงานของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน
ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสายตาคนไข้ก่อนทำเลสิกจึงเป็นผู้ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ผลลัพธิ์ของการผ่าตัดนั้นดีหรือไม่
ดังนั้นเราคงต้องดูให้หมดรอบด้านว่า ปัญหาแท้จริงว่ามีอะไรบ้าง ระบบ binocular function ทำงานเป็นปกติหรือไม่ แล้วก็ educate ให้คนไข้เข้าใจถูกต้อง เพื่อสร้าง expect ที่ถูกต้อง อย่าไป over expect ให้กับคนไข้ เพราะถ้ามานั่งแก้(ตัว)กันทีหลังแล้วมันลำบาก
ถ้าถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ผลลัพธิ์ของการทำเลสิกย่อมสมบูรณ์แบบอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถ้าผิดมาตั้งแต่ต้น การตั้งเครื่องให้ถูกต้องก็ยาก ผลลัพธ์ก็ยากที่จะคาดเดาเช่นกัน
ถ้าความพอใจในการทำเลสิกคือ มองไกลชัดและไม่ต้องใส่แว่น ใช้ชีวิตได้ปกติสุข อิสระเสรี ไม่ต้องคอยเป็นคนติดแว่นตลอดเวลา การทำเลสิกก็เป็นทางเลือกที่ดี หรืออย่างน้อยที่สุดสายตาสั้นลดลง ก็ยังสามารถเลือกกรอบสวยๆ เลนส์บางๆ
แต่ถ้าคนไข้มีปัญหาเรื่อง binocular function อยู่ มีเหล่ซ่อนเร้นอยู่ เป็น presbyopia อยู่ การแก้ refractive errror ก็คงไม่สามารถช่วยอะไรได้ จุดนี้ทัศนมาตรที่มีหน้าที่ตรวจสายตาต้องไม่พลาดที่จะทำ
เมื่อเข้าใจข้อดี / ข้อเสีย ในแต่ละวิธีแล้ว ก็ตัดสินใจแก้ไขในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของตัวเอง ก็จะสามารถ enjoy กับชีวิตได้เต็มที่และมีความสุขอย่างไม่ต้องสงสัย
ขอบคุณสำหรับการสละเวลาในการเขียนแชร์ความรู้เคสของ ดร.เดียร์ มา ณ ที่นี้ด้วย มีหลายเคสในเพจ ดร.เดียร์ ท่านที่สนใจก็สามารถเข้าไปอ่านได้หรือท่านที่มีปัญหาสายตาและระบบการมองเห็นและอยู่เชียงใหม่ นัดหมายเข้าไปตรวจกับ ดร.เดียร์ได้ ทาง facebook fanpage จากลิ้งที่ผมแชร์มา
https://www.loftoptometry.com/Lasik...ดีไหม?
https://www.loftoptometry.com/สายตายาวหลังทำเลสิก
578 Wacharapol rd, Tharang , Bangkhen ,Bkk ,10220
Mobile : 090-553-6554
Line : loftoptometry (no @)
fb : www.facebook.com/loftoptometry
เวลาเปิด - ปิด : เสาร์-พฤหัส เวลาทำการ 10:00-18:00
สถานที่ร้าน : 345/51 หมู่บ้านไวซ์ซิกเนเจอร์ ถ. รอบเมืองเชียงใหม่ ตำบล สันปูเลย อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่ 50220
ช่องทางติดต่อ : เบอร์โทรศัพท์ 0621252601 , LineID 0621252601
ช่องทางโซเชี่ยล : https://www.facebook.com/KhunyaiOptometry
ลิ้งค์ Google map : คลิกแผนที่
เวลาเปิด - ปิด : ทุกวัน 9:00-18:00 (ทำนัดทุกครั้งก่อนเข้ารับบริการ)
สถานที่ร้าน : 9, 38-39 ถ. ศรีมาลา ในเมือง, เมือง, พิจิตร 66000
ช่องทางติดต่อ : เบอร์โทรศัพท์ 0824445649 , LineID jack-oculist
ช่องทางโซเชี่ยล : -
ลิ้งค์ Google map : คลิกแผนที่