เมื่อไม่กี่วันก่อน คุณหมอท่านหนึ่งซึ่งเป็นคนไข้เก่าผมมาหลายปี แวะเข้ามาตรวจเช็คสายตา และ ได้เปิดคำถามว่า "ผมมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ monovision เพราะเห็นมีความพยายามของบางคนในการทำ monovision ให้คนไข้ และ force ให้คนไข้ฝึกใช้ชีวิตกับ monovision ซึ่งคุณหมอก็ไม่ได้เห็นด้วยกับเรื่องนี้ จึงอยากถามความคิดเห็นจากผม" ซึ่งเรื่องนี้ผมในฐานะ optometrist นั้น สิ่งสูงสุดในการทำงานของวิชาชีพทัศนมาตรคือ ENHANCE VISION (Visual Acuity + Binocular Function + Accommodation) ให้มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด และคำว่าสูงสุดที่ว่านั่นก็คือ Binocular Vision ซึ่งจัดว่าเป็นพรสูงสุดที่ธรรมชาตินี้มองให้กับสัตว์นักล่าอย่างเรา ทำให้เราสามารถทำงานที่ละเอียดในระยะใกล้ได้ดี และ งานละเอียดเหล่านี้มันก็สร้างนวัตกรรมขึ้นมา ต่างจากสัตว์กินพืช วัว ควาย กบ เขียด ที่เป็นสัตว์กินพืชซึ่งไม่มี binocular vision วันๆไม่ต้องคิดอะไร เล็มๆหญ้าไปเรื่อยๆ ตามีเอาไว้ระวังภัยเดี๋ยวเสือมันจะมากิน
monovision สำหรับผม มันจึงเป็นการลดฐานะจากสัตว์นักล่าชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารไปอยู่หรือใช้ชีวิตแบบเดียวกับสัตว์กินพืช ซึ่งเรื่องราวในวันนี้ ผมจึงตั้งใจขยายความเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อเป็นวัคซีนให้ใครที่คิดจะทำได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งเนื้อหานั้นผมอ้างอิงมากจากหนังสือ Visual Perception ของ Steven H. Schwartz ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับระบบการรับรู้ภาพของมนุษย์ และมีอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งเคยสอนผมวิชานี้ร่วมจัดทำด้วยนั่นคือ Dr.James P.Comerford ,Ph.D. ,O.D. (New England U. ,Boston)
ปัญหาการมองเห็นที่ไม่ใช่โรคนั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ปัญหาของระบบหักเหของแสง (refractive error) ซึ่งก็คือปัญหาสายตาสั้น/ยาว/เอียง อย่างที่เราคุ้นเคยกัน ปัญหาถัดมาคือปัญหาเกี่ยวกับระบบบังคับการเคลื่อนที่ของลูกตา (motor system) เช่นตาเหล่หรือเหล่ซ่อนเร้น ซึ่งเป็นเหตุให้คนที่มีปัญหาดังกล่าวมีอาการปวดตา ล้าตา ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้นาน หนักสุดคือเห็นเป็นภาพซ้อน และ ปัญหาอีกหนึ่งปัญหาคลาสิกที่จะต้องเกิดกับทุกคนเมื่อมีอายุเข้าหลักสี่ ก็คือปัญหาของระบบเพ่ง (accommodation system) ที่เรารู้จักกันในปัญหาสายตาชรา (หรือสายตายาวในผู้สูงอายุนั่นเอง) ซึ่งบางทีก็รู้สึกเศร้าที่มาตรฐานการทำงานในบ้านเรายังวนๆอยู่แต่กับระบบแรกเพียงระบบเดียวคือ refractive error ซึ่งเอาจริงๆก็ยังทำได้ไม่ดีอยู่ ยังจัดสายตากันอยู่ ยังเกาะค่าสายตาตามความเคยชินกันอยู่ ยังเกาะสายตาจากเครื่องคอมพิวเตอร์วัดสายตาและไม่ยอมฝึกใช้เรติโนสโคปกันอยู่ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปแก้ไขระบบที่ซับซ้อนมากขึ้นอย่างระบบการทำงานร่วมกันของสองตา เมื่อ refractive error มันไม่ถูกต้อง accommodation system จึงพลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อมีปัญหา ก็ต้องมีความพยายามที่จะคิดค้นวิธีหรือเทคนิคที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในแต่ละแบบก็มีอยู่หลากหลายวิธี ทั้งวิธีการใส่อุปกรณ์ภายนอกเช่น แว่นตา/คอนแทคเลนส์ หรือ อุปกรณ์ภายในเช่นเลนส์แก้วตาเทียม (IOL) หรือ intraocular lens (IOL) และ อีกประเภทหนึ่งคือการใช้เลเซอร์เจียร์ปรับความโค้งลงบนกระจกตาโดยตรงที่เราเรียกว่า Lasik หรือ Relex ซึ่งผมคงไม่พูดถึงรายละเอียดว่าทำอย่างไร หรือ มี complication อะไร เพราะได้เขียนไปแล้วในบทความตามลิ้งที่แนบช่วงท้ายของบทความ
Optical Treatment is the best
แต่วิธีการรักษาเดียวที่สามารถรักษาได้ครอบคลุมทั้งหมด ไม่ว่าจะปัญหา refraction , motor dysfunction หรือ accommodation ได้ในอุปกรณ์เดียวก็คือ "เลนส์แว่นตา" ดังนั้นถ้าจะเรียกว่า การรักษาปัญหาการมองเห็นด้วยแว่นตาเป็นวิธีที่ดีที่สุดก็คงไม่ผิดอะไร เพราะวิธีการอื่นๆนั้นยังคงทำระดับเดียวคือ ปัญหาสายตา (refractive error) ส่วนปัญหากล้ามเนื้อตาหรือปัญหาของระบบเพ่งของเลนส์แก้วตานั้นยังไม่สามารถทำได้ หรือแม้ว่าพยายามทำอยู่เช่น multi-focal IOL หรือ Multi-fical conact lens ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเเท่าไดนัก ในทางกลับกันเลนส์สายตากลับมี success rete ที่สูงกว่ามาก prognosis ดี complication ต่ำ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้เลนส์สายตาแก้ระดับไหน เพราะเลนส์มันรองรับการรักษาอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะมีปัญหาในการตรวจวัด ตรวจสอบ คำนวณโดส แล้วสั่งผลิตเลนส์เพื่อรักษาคนไข้ได้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันก็มีความซับซ้ออยู่ระดับหนึ่ง (เอาจริงไม่ง่ายเลย ในการทำแว่นดีๆออกมาแต่ละชิ้นงาน)
ไม่อยากใส่แว่น เพราะใส่แล้วดูแก่
แต่ก็มีคนที่ไม่อยากใส่แว่น อาจด้วยหลายๆปัจจัย บางคนก็ด้วยงานที่ทำอยู่ไม่สามารถใส่แว่นได้ ซึ่งเท่าที่นึกออกก็น่าจะเป็นพนักงานบริการบนเครื่องบิน นางงาม กีฬาบางชนิด เป็นต้น แต่บางคนก็ไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะนางงาม หรือ แอร์โฮสเตท หรือ นักกีฬา แต่รู้สึก(ไปเอง)ว่าการใส่แว่นทำให้ตัวเองไม่สวยไม่หล่อหรือดูแก่ ซึ่งแท้จริงนั้น สวยไม่สวยไม่ได้เกี่ยวกับแว่น บางคนสวยๆพอใส่แว่นแล้วไม่สวยก็เพราะเลือกแว่นอยาบๆมันก็ไม่สวย คนหน้าธรรมดาใส่แว่นดีๆแล้วดูดีก็มีเยอะแยะไป แต่พอแว่นสวยแว่นดี เลนส์ดี ราคามันก็แพง บางคนก็เลยคิดว่าเอาเงินส่วนนี้ไปทำเลสิกดีกว่า ราคาดีด้วยเพราะกำลังแข่งกันทำโปรโมชั่นกันเยอะเลย ราคาก็พอกับแว่นดีๆอันหนึ่ง ซึ่งก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้ แต่อย่าไปบอกว่าดีกว่าแว่น เพราะมันไม่ได้ดีกว่าจริงๆ และวันหนึ่งเราก็ต้องกลับมาใส่แว่นอยู่ดีหลังจากอายุ 40 ปี เพราะมองใกล้ไม่เห็นจากการปัญหาสายตาชรา เพราะเลสิกแก้ refractive error ได้เพียงระยะเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะแก้ที่ระยะไกล ซึ่งคนไข้หลังเลสิกอาจจะไม่ต้องใส่แว่นไปจนถึงอายุ 40 ปี แต่หลังจากนั้นก็จะมีปัญหาเรื่องการเพ่งดูใกล้ ทำให้ต้องกลับมาใช้แว่นกันอีกรอบ
Monovision treatment
ด้วยปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็เกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้การทำเลสิกออกไปแล้ว สามารถใช้งานได้ทั้งไกลและใกล้แม้จะอายุ 40 ปีไปแล้ว ก็ยังอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งแว่นตา ซึ่งเทคนิคเก่าแก่นี้ก็ถูกนำเอามาปัดฝุ่นอีกครั้ง นั่นก็คือ การทำ monovision ไม่ว่าจะด้วย lasik , IOL อะไรก็ตามแต่ แต่มันไม่ใช่ของใหม่ เพราะเดิมเขาก็ทำกัน แต่ทำด้วยการใช้ soft contact lens เบื่อก็แกะทิ้ง ตาก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่พอเทคโนโลยีมัน advance ขึ้นก็เลยมีการเอาเทคนิคเก่านี้มาเจียรกระจกตาด้วยเลสิกเข้าไปโดยตรงเลย ด้วยความเชื่อว่าคนไข้จะใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแว่น แต่มันไม่ต้องใส่แว่นจริงๆหรือ มันดีหรือคุ้มกันหรือเปล่าแล้วมันจะต้องแลกกับอะไร ผมจึงอยากจะหยิบเรื่องนี้ขึ้นมา discuss กัน
ดังนั้นวันนี้ ผมคงไม่อยากจะไปแทรกแซงถึงวิธีการทำเหล่านั้น แต่อยากจะติดอาวุธทางความคิดให้ท่านที่คิดหรือกำลังคิดที่จะไปทำ monovision lasik ว่าเราจะต้องแลกกับอะไร เราได้อะไร และ เสียอะไร คุ้มค่าหรือไม่ หนีแว่นพ้นจริงหรือไม่ ถ้าหนีไม่พ้นจะต้องเจอกับอะไร จะสามารถกลับไปชัดเท่ากับแว่นหรือเห็นดีเหมือนสมัยใส่แว่นได้อีกหรือไม่ ซึ่งในการจะเข้าใจเรื่อง monovision เราจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ depth perception กันเสียก่อน ว่ามนุษย์เรานั้นรับรู้ความลึกอย่างไรได้บ้าง เพราะว่า monovision จะต้องแลกกันกับ depth perception อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าพร้อมแล้วก็เชิญ...รับอ่านกัน
Depth Perception คือการรับรู้ถึงมิติระยะของความชัดลึกซึ่งเป็น Gift หรือ พรสวรรค์ที่จักรวาลนี้มอบให้กับสัตว์นักล่าที่อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ได้แก่ คน เสือ สิงโต เหยี่ยว นกฮูก ลิง หมา แมว ซึ่งสัตว์นักเล่าเหล่านี้จะมีดวงตา 2 ดวงอยู่บริเวณส่วนหน้าของกระโหลกทำงานร่วมกันแบบ binocular vision ทำให้สัตว์นักเล่าเหล่านี้สามารถมองเห็นระยะลึกของเหยื่อและสามารถตะปปเหยื่อได้แม่นยำ และการมองเห็นลึกแบบ 3 มิติ เช่นนี้ ทำให้สัตว์นักล่าไม่อดตาย
ขณะที่วัว ควาย ม้าลาย เก้ง กวาง กระต่าย กบ เขียด ซึ่งมีตา 2 ดวงอยู่ทางด้านหน้าแต่ค่อนไปทางด้านข้างของกระโหลก ซึ่งทำงานแบบอิสระต่อกัน (mono vision) ทำให้มีพื้นที่ binocular vision น้อยกว่า แต่มีข้อดีคือสามารถมองได้รอบ 360 องศาในเวลาเดียวกันเพื่อระวังเสือสิงโตเข้ามากัดขณะแทะเล็มหญ้า และ วัวควายก็คงไม่ต้องสนใจว่าหญ้าจะอยู่ลึกไปเท่าไหร่ ก็ใช้ปากเล็มไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นเสือ สิงโตมา ก็แค่วิ่งหนีให้สุดชีวิตในทิศทางที่ไม่มีเสือก็เท่านั้น ทำให้สัตว์กินพืชเอาตัวรอดจากนักล่าด้วยการมองเห็นแบบ monovision ซึ่งมองเห็นกว้างแต่ไม่ลึก
ดังนั้น Depth Perception หรือการรับรู้ความลึกของวัตถุจึงมีความจำเป็นในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะสัตว์นักเล่าที่ต้องตะปปหรือเหยื่อที่ต้องวิ่งหนี หรือคนที่ต้องเบรครถไม่ให้ชนคนหน้า หมอที่กำลังทำการผ่าตัดที่วางใบมีดได้อย่างถูกต้อง หมอฟันที่กำลังทำหัตการฟันให้คนไข้ หรือ นักบินที่กำลังเอาเครื่องขึ้นหรือลงหรือแม้แต่หลบกันกลางอากาศ เหล่านี้ที่ทำให้รอดจากอันตรายได้ก็เพราะมี depth perception นี่แหล่ะ
ในการรับรู้เรื่องความลึกนั้น มันเป็นการทำงานของสมองในการที่จะเรียนรู้การกะระยะว่าวัตถุที่เห็นนั้นอยู่ไกลหรืออยู่ใกล้ แม้ว่าภาพที่เกิดขึ้นจอรับภาพของเรานั้นมีการเปลี่ยนแปลงขนาด (retinal image size) อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น เรากำลังยืนส่งเพื่อนขึ้นรถ เมื่อรถอยู่ใกล้ตัวเรา ภาพรถบนจอประสาทตาก็ต้องใหญ่ และ เราก็รู้ว่ารถมันใหญ่(จริงๆก็กะได้ด้วยว่าประมาณ กี่เมตร) และ เมื่อรถวิ่งออกไป ห่างออกไปเรื่อย รถจะมีขนาดเล็กลง ภาพรถบนจอประสาทตาของเราก็มีขนาดเล็กลงตามไปด้วย แต่สมองเราไม่ได้คิดว่าทำไมรถมันถึงเล็กลงได้ แต่มันมองว่าที่มันเล็กลงเพราะมันอยู่ห่างออกไปและจริงๆขนาดของรถในความรู้สึกเรายังคงใหญ่เท่าเดิม อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งต่อไปนี้เราจะได้เรียนรู้ว่ามีตัวกระตุ้นอะไรบ้างที่ทำให้สมองของเรานั้นตีความเป็นการรับรู้ความลึกของสิ่งต่างๆ ซึ่งเราเรียก "บริบทกระตุ้นความรู้สึกชัดลึก" เหล่านี้ว่า cues ซึ่งมีทั้งแบบ monocular cues และ binocular cues และ เมื่อเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้แล้วจะเข้าใจว่า พวก monovision จะได้มองเห็นความลึกได้เฉพาะความลึกที่เกิดจาก monocular cues เท่านั้น แต่จะไม่ได้จาก binocular cues จากนั้นเราค่อยพิจารณากันต่อว่า มันคุ้มกันไหม
การรับรู้ความลึกนั้นเกิดได้ทั้งจากบริบทของสิ่งแวดล้อมขณะที่เรามองอยู่ด้วยตาข้างเดียว (monocular cues ) หรือด้วยตาทั้งสองข้างมองพร้อมกัน (binocular cues) ซึ่งผมได้ยก diagram มาจากหนังสือ Visual Perception (Steven H. Schwartz) ซึ่งจัดกลุ่มไว้ดังนี้
การรับรู้ความลึกด้วยตาเพียงข้างเดียวนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะมองด้วยตาข้างเดียว หรือ มองพร้อมกันทั้งสองตา ซึ่ง cues เหล่านี้ก็จะเป็นการประเมินความลึกได้คร่าวๆ จากการตีความของสมอง ซึ่งได้แก่ สิ่งกระตุ้นเชิงภาพ (pictorial cues) แนวเส้นระดับสายตากับแนวเส้นขอบฟ้า (angular declination below the horizon) ปรากฏการณ์มุมมองเคลื่อนที่ (motion parallax) และ การเพ่ง (accommodation)
สัญญาณกระตุ้นเชิงภาพ ได้แก่ ขนาดสัมพัทธ์ (relative size), ขนาดที่คุ้นเคย (familiar size), ทัศนียภาพเชิงเส้น (linear perspective), พื้นผิว (texture), การบัง (interposition), ความคมชัด (clarity) และ แสงเงา (lighting and shadow) ซึ่งการรับรู้ความลึกจากสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ เราสามารถรับรู้ได้แม้การมองเห็นจากรูปถ่าย/วาด/วิดีโอแบบ 2 มิติ และ สามารถรับรู้ด้วยตาเพียงข้างเดียว ทำให้คนที่เหลือตาเพียงข้างเดียวก็ยังคงพอที่จะสามารถใช้ชีวิตกับโลกที่เป็น 3 มิติได้ดีในระดับหนึ่ง
ขนาดสัมพัทธ์ (Relative Size)
รูปล่างแสดงลูกโป่งสีส้ม 2 ลูกในห้องมืดสนิท คำถามคือ “ลูกโป่งลูกไหนดูใกล้ตัวเราที่สุด? ซึ่งคำตอบจากผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่มักจะให้คำตอบเดียวกันคือ “เห็นลูกโป่งลูกใหญ่กว่าว่าอยู่ใกล้กว่า” ทั้งๆที่ลูกโป่งทั้งสองรูปนี้ก็แค่รูปภาพ 2 มิติธรรมดาๆที่มีขนาดต่างกัน และ อยู่บนกระดาษที่ห่างจากตาของเราเท่าๆกัน แต่เรามักตีความว่า “ลูกใหญ่อยู่ใกล้กว่าลูกเล็ก” (Ittleson and Kilpatrick, 1951)
เนื่องฉากห้องเป็นสีดำและไม่มีบริบทอื่นใดให้เราเปรียบเทียบ เราจึงหาจุดอ้างอิงไม่ได้ ดังนั้นเราจึงคิดว่าลูกโป่งทั้งสองลูกมีขนาดเท่ากัน เมื่อรูปลูกโป่งที่ถูกสร้างเป็นภาพบนเรตินา (retinal image) ภาพที่มีขนาดเล็กกว่าจะถูกมองว่าอยู่ไกลกว่า
ดังนั้นขนาดสัมพัทธ์ (relative size) เป็นสัญญาณกระตุ้นการรับรู้ความลึกที่สำคัญ เมื่อมองเห็นฉากที่มีวัตถุที่สามารถนำมาเปรียบเทียบขนาดกันได้และการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า ขนาดสัมพัทธ์เป็น monocular cue ที่สำคัญมากตัวหนึ่งในกระกะความระยะลึก
ขนาดที่คุ้นเคย (Familiar Size)
สัญญาณกระตุ้นรับรู้ความลึกนี้ใช้เมื่อเรามองเห็นวัตถุที่มีขนาดที่เรารู้จัก จากรูปเราเห็นรางรถไฟส่วนล่างของภาพนั้นมีขนาดใหญ่ หมอนปูนรองรางก็ดูใหญ่ ส่วนรางช่วงกลางๆในภาพก็ดูเล็กลงและเห็นว่าหมอนรองรางนั้นถี่มากขึ้นจนไม่เห็นช่องว่าง และเมื่อภาพเหล่านี้เกิดบนเรตินา(retinal image) ภาพที่มีขนาดเล็กกว่าสมองจะตีความว่ามันอยู่ห่างออกไป และ ไกลออกไปนั้นเป็นตึกขนาดเล็กบนจอรับภาพ ซึ่งเราก็พอจะจำหรือนึกได้ว่า ในห้องๆหนึ่งของคอนโดนั้นมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ และที่เราเห็นห้องเล็กที่แทรกในตัวตึก ที่ดูว่าเล็กเพราะมันอยู่ห่างออกไป ดังนั้นในรูปนี้ แม้ว่า รูปรางรถไฟจะเกิดภาพบนจอตา (retinal imge) ที่ใหญ่กว่าภาพจากตึก แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ารางมันใหญ่กว่าตึก แต่ที่มันใหญ่เพราะมันอยู่ใกล้ต่างหาก
เหล่านี้เรียกว่าบริบทกระตุ้นความรับรู้ความลึกจากขนาดที่คุ้นเคย (Familiar Size) ซึ่งเราก็สามารถรู้ความลึกได้แม้มองในกระดาษ 2 มิติธรรมดา หรือ มองสถานที่จริงด้วยตาเปล่าเพียงข้างเดียว ความลึกเช่นนี้ไม่ต้องอาศัยระบบการมองสองตาก็ได้
ทิวทัศน์เชิงเส้น (Linear Perspective)
ทิวทัศน์เชิงเส้น(Linear Perspective)เป็นสัญญาณกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับขนาดสัมพัทธ์ (relative size) คือทำให้เรารู้ขนาดจริงของวัตถุแม้ว่ารูปมันจะหลอกตา เช่นรูปรางรถไฟที่แล้วมานั้น เราก็เห็นๆกันอยู่ว่ารางส่วนล่างในภาพนั้นมันดูใหญ่กว่า ส่วนรางในส่วนกลางภาพนั้นมันดูเล็กกว่า เมื่อภาพที่คุณดูนี้เกิดขึ้นบนเรตินาพร้อมๆกัน สัญญาณนี้ก็จะไปหลอกสมองเราเกิดเป็นการรับรู้ความลึกขึ้นมา ทั้งๆที่ภาพแบนๆเหล่านั้นทุกจุดบนรูปนั้นห่างตาเราเท่าๆกัน
พื้นผิว (Texture)
จากรูปด้านล่าง ปูนหมอนรองรางรถไฟบริเวณส่วนล่างของภาพนั้นดูใหญ่กว่า เห็นความห่างมากกว่า ขณะที่หมอนรองรางรถไฟส่วนกลางๆภาพนั้นดูมีขนาดถี่เล็กอยู่ชิดกันจนไม่เห็นว่าแยกกันอยู่ texure เหล่านี้ทำให้เรารับรู้เป็นความลึกเกิดขึ้นมาว่า อะไรที่อยู่ใกล้ตัวเรามันจะต้องก้อนใหญ่และมีรายละเอียด ส่วนอะไรที่อยู่ห่างออกไปจะดูเบียดๆ แน่ๆ รายละเอียดไม่ค่อยมี ซึ่งเมื่อภาพเหล่านี้ตกบนเรนาพร้อมๆกันก็จะเกิด ขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่สมองก็ไม่ได้มองว่ามันเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่มันมองว่า มันลึกไม่เท่ากัน ก็เลยมองเห็นเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน
อีกรูปหนึ่ง (รูปล่าง) ที่เกี่ยวกับ texture ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีความลึกคือ ลักษณะ background ของอิฐสีชมพูที่เรียงตัวเป็นห้องๆหนึ่ง อิฐที่อยู่ใกล้ตัวเรามันจะต้องก้อนใหญ่และมีรายละเอียด ส่วนอิฐที่อยู่ห่างออกไปจะดูเบียดๆ แน่ๆ รายละเอียดไม่ค่อยมี ซึ่งเมื่อภาพเหล่านี้ตกบนเรนาพร้อมๆกันก็จะเกิดขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่สมองก็ไม่ได้มองว่ามันเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่มันมองว่า มันลึกไม่เท่ากัน ก็เลยมองเห็นเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน เมื่อเราเอาลูกบอล 2 ลูก ซึ่งมีขนาดเท่ากัน นำไปวางในแต่ละจุด สมองของเราเลยถูกหลอก แล้วไปคิดลูกบอลด้านหลังมันดูใหญ่ ส่วนลูกบอลด้านหน้ามันดูเล็ก ทั้งๆที่ขนาดมันเท่ากัน
การบัง (Interposition)
อะไรที่ถูกบังแสดงว่าอยู่ข้างหลัง เหล่านี้ก็เป็นอีกบริบทที่ทำให้เรารู้ความลึก ว่าใครอยู่ก่อนใครอยู่หลัง เหมือนภาพที่นำมาให้ดูนี้ (เขาค้อ) การบังเกิดขึ้นได้เมื่อมุมมองของฉากถูกบังบางส่วน ในรูปภูแม่ย่า ถูกต้นสนหน้าบ้านบังอยู่ เราผู้ซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ย่อมรู้ว่า ภูเขานั้นอยู่ห่างไกลออกไป
ความคมชัด ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการบัง (interposition) ทำหน้าที่เป็นสัญญาณการรับรู้ความลึก เมื่อเรามองวัตถุที่มองเห็นชัดเจนในภาพถ่าย ภาพวาด หรือของจริง กล่าวคือเราจะตีความวัตถุที่มีความคมชัดที่ไม่ถูกบดบังด้วย หมอก หมอก ควัน ฝน และหมอกควัน ว่าอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่า ขณะที่เราดูอะไรที่มันหมอกๆ ควันๆ มาบัง ดูไม่ค่อยมีรายละเอียดว่ามันห่างออกไป เช่นในรูปบน วัตถุที่ห่างกว่าย่อมถูกเมฆหมอกบังมากกว่า ขณะที่วัตถุที่อยู่ใกล้กว่าย่อมมีความคมชัดกว่า
เมื่อแสงส่องกระทบวัตถุ วัตถุนั้นจะทอดเงาออกมา เงาถูกตีความว่าตกลงไปด้านหลังของวัตถุ ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงความลึกขึ้นมา
สมมติว่าเราสังเกตการณ์ด้วยตาข้างเดียว ยืนตัวตรงและอยู่นิ่งในห้องเปล่า มองเห็นวัตถุที่อยู่บนพื้นที่ระยะทางประมาณ 10 ฟุต แม้จะไม่มีสัญญาณการรับรู้ความลึกแบบภาพ (pictorial depth cues) เราซึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ก็สามารถกะระยะทางของวัตถุได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
วัตถุทำมุมกับเส้นขอบฟ้ากับระดับสายตา ซึ่งเรียกว่า การลดระดับเชิงมุมจากแนวระดับสายตากับแนวขอบฟ้า (angular declination below the horizon) ซึ่งดูเหมือนว่า ระบบการมองเห็นของเราจะใช้มุมนี้ในการกำหนดระยะทางของวัตถุ (Ooi et al., 2001)
Motion Parallax เป็นสัญญาณการรับรู้ความลึกแบบตาเดียวที่เกิดจากการเคลื่อนไหว (kinetic monocular depth cue) โดยที่ผู้สังเกตการณ์ที่กำลังเคลื่อนไหวเพ่งเล็งไปที่วัตถุหนึ่ง ขณะเดียวกันก็สังเกตการเคลื่อนที่สัมพัทธ์ของวัตถุรอบข้าง ซึ่งเราสามารถทดสอบได้โดยการยืดนิ้วชี้ทั้งสองข้างของคุณให้ตรงกัน โดยนิ้วหนึ่งอยู่ห่าง 15 เซนติเมตร และอีกนิ้วหนึ่งอยู่ห่าง 30 เซนติเมตร จากตาขวาของเรา แล้วปิดตาซ้าย จากนั้นให้เพ่งมองไปที่นิ้วที่อยู่ไกล
ขณะที่คุณขยับศีรษะไปด้านข้างไปมา โดยไม่เปลี่ยนจุดเพ่งมอง สังเกตว่านิ้วที่อยู่ใกล้ดูเหมือนจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับศีรษะของคุณ (against-motion) ต่อมาให้เพ่งมองไปที่นิ้วที่อยู่ใกล้ แล้วขยับศีรษะไปด้านข้างไปมาอีกครั้ง ครั้งนี้ สังเกตว่านิ้วที่อยู่ไกลดูเหมือนจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับศีรษะของคุณ (with-motion) ซึ่งทั้งสองกรณี การเคลื่อนที่สัมพัทธ์สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะทางสัมพัทธ์ได้
จากการบันทึกจากเซลล์ประสาทในบริเวณกลางสมองฝั่ง temporal (area MT/V5) ของเปลือกสมองลิง พบเซลล์ประสาทที่เข้ารหัสข้อมูล motion parallax (Nadler et al., 2008) นอกจากนี้ยังพบว่าบริเวณ area MT/V5 มีบทบาทสำคัญในการในการประมวลผลความต่างภาพที่เกิดจากสองตา (binocular disparity) และการเคลื่อนที่ (Movshon et al., 1985; Uka and DeAngelis, 2006)
Accommodation หรือระบบเพ่งของเลนส์แก้วตาของเรา ซึ่งสามารถทำให้เลนส์แก้วตาของเรานั้นเปลี่ยนแปลงความโค้งเพื่อให้สามารถเพ่งเพื่อโฟกัสวัตถุที่อยู่ในระยะต่างๆได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องดูวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ ทำให้ภาพจากวัตถุนั้นตกบนจุดรับภาพได้
ดังนั้นการ accommodate นี้เองก็ยังเป็น cues ตัวหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าระยะวัตถุนั้นอยู่ห่างออกไปเท่าไหร่จากปริมาณการเพ่งของเลนส์แก้วตา เช่นวัตถุที่อยู่ใกล้ก็จะต้องมีการ accommodate มากกว่าวัตถุที่อยู่ไกล และ วัตถุที่อยู่ระยะอนันต์จะต้องไม่มีการเพ่งเลยในกรณีคนที่สายตาปกติ หรือ มีปัญหาสายตาที่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว
ด้วยเหตุนี้ คนไข้ที่ใส่แว่นสายตาสั้นที่สั้นเกินจริง หรือ คนที่มีสายตายาวตั้งแต่กำเนิดที่ไม่เคยใส่แว่นแก้สายตายาวของตัวเอง จะรับรุ้ว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นนั้นเล็กกว่าความเป็นจริง ด้วยเหตุว่า เมื่อเลนส์แก้วตามีการเพ่ง สมองจะคิดว่าวัตถุนั้นอยู่ใกล้เข้ามา แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่มีอะไรที่เข้ามา มีเพียง accommodation ที่ถูกกระตุ้น จากค่าสายตาที่ over minus / under plus ทำให้เกิดการตีความที่ผิดพลาดว่าวัตถุมันอยู่ห่างอออกไปเลยดูว่ามีขนาดที่เล็กลง
เมื่อคนสายตาสั้น ที่ใส่แว่นค่าสายตาเกินจริงมานาน สมองจะจดจำขนาดของวัตถุต่างๆว่ามีขนาดเล็กประมาณหนึ่ง ดังนั้นเมื่อใส่แว่นที่ได้ค่าสายตาตรงกับตาตัวเองจริงๆ เขาจะรู้สึกว่ามันดูมีสัดส่วนที่ใหญ่ขึ้นในช่วงแรก เขาดูอะไรมันจะใหญ่ไปหมด ซึ่งแท้จริงนั้นมันไม่ได้ใหญ่ขึ้น แต่แว่นที่ค่าสายตาเกินต่างหากที่ทำให้วัตถุต่างๆดูเล็กลงกว่าความเป็นจริง
ดังนั้นในขณะที่มีการตรวจสายตาเพื่อหา BVA จึงต้องมีคำถามในช่วงท้ายในการ confirmation BVA ขณะเพิ่มเลนส์ลบเข้าไปว่า "ขนาดของตัวหนังสือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร เล็กลง คงที่ หรือ ใหญ่ขึ้น" ซึ่งถ้าคนไข้บอกว่า "เล็กลง ดำขึ้น แต่ไม่ได้รู้สึกถึงความชัด แค่ดำเฉยๆ" เราก็จะรู้ว่า นั่นคือค่าสายตาสั้นที่สั้นเกินจริง เป็นต้น
แต่ไม่ใช่มีเพียง accommodation เท่าานั้นที่ทำให้เกิดการตีความเช่นนี้ แต่เป็นระบบที่ทำงานร่วมกันระหว่าง accommodation และ convergenc ซึ่ง convergence เป็น cues ที่เกิดจากระบบการมองของสองตา ซึ่งจะกล่าวกันต่อไป
จากรูปบน ขณะที่ผู้สังเกตการณ์กำลังมองลูกบอลลูกหนึ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างลูกบอลอีกสองลูก ในขณะที่เพ่งไปที่ลูกบอลตรงกลาง ผู้สังเกตสามารถประเมินระยะทางสัมพัทธ์ของลูกบอลทั้งสามลูกได้ แม้ว่าจะตัดสัญญาณการรับรู้ความลึกแบบตาเดียว (monocular cues) เช่น ขนาดสัมพัทธ์, การบัง ที่กล่าวมาข้างต้นออกไปทั้งหมดแล้ว ความสามารถนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ลองพิจารณาภาพบนเรตินาที่เกิดจากลูกบอลที่อยู่ไกลที่สุด แสงที่มาจากลูกบอลนั้นกระทบกับเรตินาด้านฝั่ง nasal retina (ฝั่งใกล้จมูก) ต่อจุดรับภาพ (fovea) ส่งผลให้เกิด ความต่างภาพจากสองตาแบบ retinal uncross disparity ซึ่งเป็นสัญญาณการรับรู้ความลึกแบบสองตาเช่นนี้จะช่วยให้ระบบการมองเห็นสามารถระบุได้ว่าลูกบอลนั้นอยู่ไกลกว่าวัตถุที่เพ่งมอง
Note : nasal และ temporal เป็น technical term เพื่อระบุตำแหน่งอ้างอิงจากจุดที่เราสนใจ โดยถ้าเราผ่ากึ่งกลางร่างกายตรงแกนกลาง(เพราะมนุษย์มีความสมมาตรอยู่) คำว่า nasal นั้นหมายถึงส่วนหรือเนื้อที่ที่เข้าหาศูนย์กลาง (nasal แปลว่าจมูก) ส่วน temporal นั้นหมายถึงว่าฝั่งด้านนอก หรือ ฝั่งหู ก็ได้ เพื่อเป็นการระบุตำแหน่งที่เราสนใจ เช่น nasal retina คือ เนื้อของเรตินาส่วนที่มาฝั่งด้านในเข้าหาแกนกลาง โดยอิง fovea เป็นศูนย์กลาง ส่วน temporal retina คือเนื้อเรตินาฝั่งด้านนอก (ฝั่งหู) และ ต้องทำความเข้าใจต่อว่า เนื้อเรตินาฝั่งจมูก (nasal retina) ซึ่งเกิดลานภาพฝั่งหู หรือ nasal retina create temporal visual field ในทางตรงกันข้าม temporal retina create nasal visual field แต่ก็ช่างมันเถอะ “รู้ไว้ใช้ว่า ใส่บ่าแบกหาม”
ถัดมาลองพิจารณา กรณีของลูกบอลที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งมีภาพเกิดบนเรตินาด้านฝั่ง temporal retina (ฝั่งใกล้หู) ต่อจุดรับภาพ(fovea) ในกรณีนี้ ความต่างของภาพจากสองตาจะเป็นแบบไขว้ (retinal crossed disparity ) บ่งบอกว่าลูกบอลนั้นอยู่ใกล้กว่าวัตถุที่เพ่งมอง
การรับรู้ความลึกที่เกิดจากความต่างภาพสองตาเรียกว่าภาพ 3 มิติ (stereopsis) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรับรู้ความลึกอย่างละเอียดที่ระยะใกล้ (โดยเฉพาะภายในระยะที่มือเอื้อมถึงเมื่อสัญญาณการรับรู้ความลึกอื่นๆ (monocular cues) ไม่มี) ซึ่งมีความสำคัญมากในการมองวัตถุระยะใกล้เช่น งานหัตการ งานฝีมือ งานผ่าตัด เป็นต้น แต่ stereopsis จะมีความสำคัญน้อยลงเมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปมากๆ เนื่องจาก visual angle ที่อยู่ห่างไกลออกไปมากๆนั้น ยิ่งไกลมากเท่าไหร่ มุม visual angle ก็จะยิ่งแคบลง ๆ จนกระทั่งแคบเกินไปที่จะสามารถแยกได้ว่ามันห่างกันอยู่ ซึ่งในสถานการณ์แบบนั้นต้องใช้ monocular cues เข้ามาช่วยให้เกิดการรับรู้ความลึก ดังนั้นเวลามองอะไรที่ไกลออกไปมากๆ จะใช้ตาหลัก (diminance eye) ในการมอง ส่วนอีกข้างเอาไว้ประคองหรือสนับสนุนการมองของตาหลัก
Physiological Diplopia (ภาพซ้อนเชิงสรีระศาสตร์)
ความแตกต่างของภาพที่เกิดขึ้นจากตาทั้งสองข้าง (retina image disparity ) จะทำให้เกิด stereopsis เฉพาะในกรณีที่ความต่างมีขนาดเล็กพอที่จะทำให้เกิดการรวมภาพ (fusion) ได้เท่านั้น แต่ถ้าหากความแตกต่างภาพสองตานั้นมากเกินไป ภาพจะตกบนเรตินาที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เกิด ภาพซ้อนทางสรีรวิทยา (physiological diplopia) (การมองเห็นภาพซ้อน)
เราสามารถสัมผัสกับภาพซ้อนทางสรีรวิทยาได้โดยการยืดนิ้วชี้ข้างหนึ่งไว้ประมาณ 15 เซนติเมตรจากปลายจมูกและยืดนิ้วชี้อีกข้างไว้ด้านหลังโดยตรงที่ระยะเอื้อมถึง เพ่งไปที่นิ้วที่อยู่ใกล้ สังเกตว่านิ้วที่อยู่ไกลนั้นเห็นเป็นสองภาพ ตอนนี้ ค่อยๆ เลื่อนนิ้วที่อยู่ไกลเข้ามาหาปลายจมูก โดยยังคงเพ่งไปที่นิ้วที่อยู่ใกล้ สังเกตว่าก่อนที่นิ้วจะมาถึงนิ้วที่อยู่ใกล้ ภาพซ้อนทางสรีรวิทยาจะหายไปและเหลือเพียงการรับรู้ความลึกเท่านั้น ดังนั้นที่จุดนี้ ความต่างภาพสองตานั้นมีขนาดเล็กพอที่จะทำให้เกิดการรวมภาพ (fusion) และ stereopsis เท่านั้น ถ้ามุมห่างมากเกินไป fusion ก็จะไม่ได้เกิด ทำให้เกิดเป็นภาพซ้อนขึ้นมา
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า accommodation กับ convergence เป็นระบบที่ตัดกันไม่ขาด และ ทั้งคู่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เรารู้ความลึกของวัตถุ ซึ่งโดยปกตินั้น ขณะที่เรามองไกลที่ระยะอนันต์คนที่ตาเป็นปกติจะตาตรงตามธรรมชาติ เพราะไม่เหล่หรือเหล่ซ่อนเร้นใดๆ แต่เมื่อมองใกล้ตาจะมี convergence และ ในแต่ละระยะนั้นก็จะกระตุ้น convertence ไม่เท่ากัน ดังนั้น convergene จึงเป็นตัวที่สามารถใช้ในการประเมินความลึกของวัตถุต่างๆได้
สรุปว่า การเลื่อนที่ของสองตาที่ลู่เข้าหากันเมื่อมองดูวัตถุที่อยู่ใกล้เราเรียกว่า convergence และ สองตาที่ลู่ออกจากกันเมื่อมองวัตถุที่อยู่ไกลออกไปเราเรียกว่า divergence ซึ่งมุมองศาของ vergence ที่เปลี่ยนไปนี้เอง สมองสามารถตีความเป็นระยะความลึกได้เช่นกัน แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสมองนำข้อมูลนี้ไปใช้ในการรับรู้ความลึกอย่างไร (Brenner and Van Damme, 1998)
มีวิธีการทางคลินิกชนิดหนึ่งในการหลอกสมอง คือเราให้คนไข้ fixed target มองไปที่ระยะคงที่ จากนั้นเราบังคับ vergence ของคนไข้ เราจะพบว่า ถ้าเราบังคับให้คนไข้ diverge ด้วย base in คนไข้จะรู้สึกว่าวัตถุดูใหญ่ขึ้น แต่หากบังคับให้ convergence ด้วย BO คนไข้จะรู้สึกว่าวัตถุเล็กลง ซึ่งสิ่งนี้เป็นความคลาดเคลื่อนของความตีความ เมื่อสมองถูกหลอกด้วยระบบที่ถูกแทรกแซงให้เข้าใจผิด ด้วยเหตุผลว่า ขณะที่เราใส่ BO ให้คนไข้เกิด convergene อยู่นั้น จะเป็นการกระตุ้น accommodation ไปด้วย (ผ่าน accommodative convergence system) เพื่อเลนส์ตามีการเพ่ง สมองจะคิดว่าวัตถุนั้นอยู่ใกล้เข้ามา (แต่จริงๆมันอยู่ที่เดิม) สมองจึงตีความว่ามันอยู่ไกลออกไป มันจึงมีขนาดที่เล็กลง ในทางกลับกัน เราบังคับให้เกิด divergence สมองคิดว่าวัตถุมันจริงมันน่าจะไกลออกไป แต่ความจริงมันอยู่ที่เดิมกลายเป็นเหมือนอยู่ใกล้ มันจึงคิดว่าขนาดของวัตถุนั้นดูใหญ่ขึ้น (ท่านที่ไม่ได้อยู่ในสาย optometrist อาจจะงงๆบ่างนะครับตอนนี้ แต่ไม่เป็นไร ปล่อยผ่านไปครับ)
ภาพลวงตาเกี่ยวกับขนาด (Size Illusions)
ภาพลวงตาเกี่ยวกับขนาด (visual illusions) เป็นการรับรู้ที่ผิดพลาด บทความนี้จะกล่าวถึงภาพลวงตาบางอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อใช้สัญญาณการรับรู้ความลึกแบบภาพ (pictorial depth cues) ในการกำหนดขนาดของวัตถุ
โดยปกติขนาดที่ปรากฏของวัตถุจะไม่เปลี่ยนแปลงตามระยะทางที่มองเห็น แม้ว่าขนาดภาพบนเรตินาจะเปลี่ยนไปก็ตาม ตัวอย่างเช่น แม้ว่ารถยนต์ที่อยู่ใกล้จะสร้างภาพบนเรตินาที่มีขนาดใหญ่กว่ารถยนต์ที่อยู่ไกล แต่เราก็ไม่รู้สึกว่ามันใหญ่กว่า ระบบการมองเห็นของเราจะชดเชยความแตกต่างของขนาดภาพบนเรตินา โดยการคำนึงถึงระยะทางสัมพัทธ์ของวัตถุ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ความคงอยู่ของขนาด (size constancy) แต่เมื่อการตัดสินระยะทางผิดพลาด เช่น เมื่อมองภาพจากรูป ความคงอยู่ของขนาด (size constancy) อาจล้มเหลว ส่งผลให้เกิดภาพลวงตาเกี่ยวกับขนาดจริงของวัตถุ
ในภาพลวงตาแนวเส้นทางเดิน (corridor illusion) ความคงอยู่ของขนาด (size constancy) ล้มเหลว เนื่องจากสัญญาณการรับรู้ความลึกแบบตาเดียว (monocular depth cues) ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับระยะทางสัมพัทธ์ (รูปลูกบอลสองลูกอยู่ในห้องอิฐ) ทั้งๆ ที่ลูกบอลสองลูกมีขนาดเท่ากันและอยู่ห่างจากดวงตาของคุณเท่ากัน แต่ลูกบอลด้านบนถูกมองว่าอยู่ไกลออกไป สิ่งนี้นำไปสู่ภาพลวงตาที่ลูกบอลด้านบนมีขนาดใหญ่กว่า ทั้งที่จริงแล้วลูกบอลทั้งสองลูกมีขนาดเท่ากัน
ทำไมดวงจันทร์ขณะขึ้นจึงดูใหญ่กว่าดวงจันทร์ที่อยู่กลางท้องฟ้า
ภาพลวงตา มิลเลอร์-ไลเออร์ (Müller–Lyer illusion) จากรูปล่าง เส้นตรงแนวตั้งให้ถือว่าเป็นมุมห้อง และเมื่อนำเส้นที่เท่ากันนี้ไปเข้ามุมที่ออกด้านนอกกับเข้ามุมที่เข้าด้านใน สมองจะตัดสินว่าเส้นที่ก่อเข้ามุมด้านในนั้นอยู่ไกลกว่าเส้นที่เก่าเข้าด้านนอก ทั้งๆที่เส้นทั้งสองนั้นเกิดภาพบนเรตินามีขนาดที่เท่าๆกัน แต่เส้นที่ถูกสมองตัดสินว่าอยู่ไกลกว่าจึงถูกมองว่ายาวกว่า
เรื่องทั้งหมดนี้ก็เพียงแต่จะชี้ให้เห็นว่า ตาข้างเดียวก็สามารถรับรู้ถึงความลึกได้ แต่เป็นความลึกที่เกิดจาก monocular cues แต่ไม่ใช่ควมลึกจริงที่เกิดจากระบบการมองสองตา ดังนั้นก็ไม่ได้แปลกอะไรที่คนที่ทำ monovision มาก็พอรู้ได้ว่าอะไรอยู่ลึกแค่ไหนในระดับที่หยาบๆ แต่ถ้างานที่ต้องดูใกล้ ต้องการ stereopsis ในการทำงาน เช่นงานฝีมือต่างๆ เย็บปักถักร้อย งานแกะสลัก งานผ่าตัด การขับรถ ขับเครื่องบิน เล่นกีฬา จะต้องการความชัดลึกจริงแบบ binocular vision
ความสามารถในการมองแบบ 3 มิติ เรียกว่า stereopis ซึ่งการตรวจวัด stereopsis ทำโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า stereo test ซึ่งก็มีอยู่หลายแบบ ไม่ว่าจะ Random dot หรือ butterfly chart ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะมีสมุดภาพให้มอง ซึ่งภาพนั้นในสมุดนั้นถูกออกแบบด้วยเทคนิค polarized image คือภาพที่เกิดขึ้นนั้นใช้มุมสะท้อนของภาพคนละทิศกัน แต่หน้าตาเหมือนกัน วางอยู่ใกล้กัน และ ใช้ร่วมกับแว่นตาโพลารอยด์ ซึ่งจะเป็นตัวที่จะยอมให้แสงเข้าได้เพียงทิศทางเดียว เพื่อให้ภาพหนึ่งเข้าตาข้างหนึ่ง ส่วนอีกภาพก็เข้าสู่รูม่านตาของอีกข้าง และ ด้วยทั้งสองภาพนี้ออกแบบมาให้มี visual angle ต่างกัน ก็จะเป็นหน้าที่ของสมองในการ detect และประมวลผลเป็นความลึกขึ้นมา
เครื่องมือนี้จะตรวจวัดระดับความสามารถในการมองเห็นระยะห่างที่น้อยที่สุดของทั้งสองภาพนี้แล้วยังรับรู้ถึงความลึกของภาพอยู่ ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถตรวจได้ละเอียดถึงระดับ 3 seconds of arc หรือ (0.000833°)
note : 1 minute of arc =1/60 degree , 1 seconds of arc =1/3600 degree
ดังนั้นการตรวจคนไข้จะต้องใส่โพลารอยด์เพื่อให้ตาข้างหนึ่งจะเห็นภาพข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างก็จะเห็นอีกภาพหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่ทั้งสองภาพนี้มันวางห่างกัน มันจึงเกิด disparity ขึ้นมาบนเรตินา และ สมองก็จะตีความห่างของของสองภาพนั้นเกิดเป็นความลึกขึ้นมาเกิดเป็นภาพ 3 มิติลอยนูนหรือบุ๋มเข้าไป แล้วเครื่องมือก็จะสร้างความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการทำให้ระยะห่างของภาพนั้นใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อดูว่า ถ้าห่างกันแค่ 10” second of arc (0.002778°) นั้นคนไข้จะสามารถเห็นว่ามันห่างกันอยู่ไหม ซึ่งคนที่มีระบบต่างๆปกติ (สายตาที่ได้รับการแก้ไขแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อตาหรือปัญหาการรวมภาพ) จะสามารถแยกว่าภาพห่างกันน้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 sec of arc (0.011111°) แต่ถ้าแย่กว่านี้ ก็ต้องไล่หาสาเหตุว่าเป็นจากอะไร refraction หรือ binocular function และแน่นอนว่า สำหรับ monovision มัน fail อยู่แล้ว ชนิดที่ไม่ต้องตรวจก็รู้ เพราะ refraction มันห่างกันขนาดนั้น stereopsis ซึ่งเป็นเรื่องระดับ binocular vision ไม่ต้องพูดถึง
Monovison เป็นแนวความคิดทางคลินิกในการแก้ไขปัญหาสายตาชรา(presbyopia) โดยแก้ไขตาข้างหนึ่งให้มองเห็นระยะไกล อีกข้างหนึ่งให้มองเห็นระยะใกล้ ช่วยให้คนไข้สามารถสลับสับเปลี่ยนการใช้สายตาสองข้างเพื่อมองเห็นวัตถุทั้งไกลและใกล้ได้(แต่ไม่ชัดเจน) ด้วยความเชื่อว่าตาที่ไม่ได้ใช้งานนั้นถูกยับยั้ง (suppress) การมองเห็นเป็นส่วนใหญ่(แต่ไม่ทั้งหมด) ดังนั้น จึงมักไม่ค่อยเกิดภาพซ้อน (diplopia) แต่มันไม่ชัดไม่ว่าจะมองที่ระยะไหนก็ตาม เนื่องจากมันทำให้ความสามารถในการมองเห็นแบบสองตาของคนไข้ลดลงในทุกระยะ แม้ว่าคนไข้จะยังสามารถรับรู้ความลึกได้ในระดับที่เพียงพอ (กับการดูลิเก ตัดกิ่งไม้ ดายหญ้า ตอบไลน์ และ คลุกข้าวให้หมา) เนื่องจากยังมีสัญญาณกระตุ้นการรับรู้ความลึกหลายอย่างเป็นสัญญาณแบบตาเดียว (monocular cues ) แต่ stereo มันสำคัญมากในระยะใกล้โดยเฉพาะระยะที่มือเอื้อมถึง เส้นสนเข็ม ผ่าตัด หัตกรรม ทำฟัน แกะสลัก วาดรูป งานฝือมือทั้งหลาย ล้วนต้องการ stereopis กันทั้งสิ้น .
ปัญหาที่สำคัญอย่างมากและเกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรงคือ “การขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน” การกะระยะเบรค ดังนั้นการสอบใบขับขี่ ถ้าไม่ได้ซื้อมา ก็ต้องผ่านการทดสอบเหยบเบรค ซึ่งต้องเห็นความลึกจริง ถึงจะสอบผ่าน
เมื่อคุณทำ monovision พรสวรรค์ที่ธรรมชาตินี้มอบให้มันจะอันตรธานเลือนหายไป จากการมองเห็นแบบนักล่าสู่การมองเห็นแบบเหยื่อที่ต้องคอยระวังภัย มันคุ้มไหม ก็พิจารณากันดูเอา
ถ้าเสี้ยน monovision อย่าพึ่งเอาเลเซอร์ปาดกระจกตาทิ้ง เพราะมันพอกเนื้อเลนส์ที่ปาดทิ้งเอากลับไม่ได้ ดังนั้นให้เอา contact lens มาแก้ไขแบบ mono-vision แล้วลองใช้ชีวิตสักเดือนสองเดือน ดูสิว่า มันอยู่ได้ไหม ถ้ามันอยู่ได้ค่อยทำ ถ้ามันอยู่ไม่ได้ก็อย่าทำ และทำตัวให้หูหนักๆ ตาหนัก ๆ อย่าไปเคลิ้มกับคำโฆษณามากนัก เพราะคิดโดยนักการตลาด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า medical commercial นี่ก็แข็งขันกันแรง และเมื่อจะเอาชนะกันก็ต้องแลกกับศีลธรรมและจรรยาบรรณ เพราะ cost มันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องเร่ง profit มันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เราก็อย่าเป็นเหยื่การตลาด
การรแก้ไขปัญหาสายตาให้คนไข้ด้วยวิธี monovision ไม่ว่าจะด้วยการทำ lasik หรือ ฝังเลนส์แก้วตาเทียมนั้น จะต้องแลกกับ stereopis หรือ การมองเห็นชัดลึกแบบ 3 มิติที่ลดลง ทำให้การกระความลึกนั้นผิดพลาด และ คิดลองคิดเล่นๆว่า ถ้าการมองเห็นความลึกผิดพลาดเกิดขึ้นกับหมอที่กำลังลงมีดผ่าตัดหัวใจหรือสมอง หรือ นักบินที่กำลังเอาเครื่องลงจอดที่ต้องกะระยะลึกของรันเวย์ แต่เราไม่ต้องห่วง เพราะกฎบังคับการบินสากลนั้น มีข้อห้ามสำหรับนักบินไม่ให้ทำ monovision อยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้วยคอนแทคเลนส์หรือด้วยเลสิก ส่วนหมอผ่าตัดเขาก็เข้าใจเรื่องนี้ดีว่า stereopsis มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการผ่าตัด ดังนั้นหมอเขาไม่ใช้วิธีนี้กับตัวเองอยู่แล้วและหมอส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะใส่แว่นอยู่ เพราะ complication ต่ำที่สุดอยู่แล้ว
แต่ทำไมยังมีคนไข้บางคนทำ monovision อยู่ ก็ต้องบอกอย่างนี้ว่า คนไข้ไม่รู้เพราะไม่มีข้อมูล เห็นเขาบอกว่าทำแล้วไม่ต้องใส่แว่น ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องจริง ก็เลยหลงทำวิธีนี้ แล้วก็ลงเอยชีวิตแบบ มัวๆ เงาๆ โฟกัสช้า ลานตาแคบ ปวดหัว ล้าตา ภาพซ้อน อ่านหนังสือไม่ทน แต่ก็ถูกที่เขาบอกว่าไม่ต้องใส่แว่น แต่เขาไม่ได้บอกว่ามันจะชัดเจนหรือสบายในการใช้ชีวิต สบายเรื่องเดียวคือไม่ต้องใส่แว่น(มั้ง) แต่ที่ไม่สบายตลอดไปคือการใช้สายตา
Monovision ทำให้ฟังก์ชั่นการทำงานร่วมกันของสองตารวนอยู่แล้วด้วยตัวของมันเอง หลักพื้นฐานที่คนไม่รู้เรื่องก็ต้องรู้คือ ดวงตามันเรียนรู้ที่จะทำงานพร้อมกันทั้งสองตาตั้งแต่เกิด ว่าจะต้องเคลื่อนที่อย่างไร เพ่งอย่างไร ในการมอง แล้วอยู่ๆก็จับมันแยกกันทำงาน ด้วย monovision เมื่อคนไข้ใช้สายตามองด้วยตาข้างหนึ่ง อีกข้างก็จะต้องถูกกดสัญญาณทิ้งเพื่อไม่ให้รบกวนกัน ดูแล้วก็ทรมานใช่ย่อย แต่คนที่เชื่อในเทคนิคนี้ก็มักจะมีไม้ตายคือ “ฝึก ๆ ๆ ๆ ฝึกใช้ตาข้างเดียว” ประเด็นคือทำไมต้องฝึกในเมื่อมันมีวิธีที่ดีกว่าและไม่ต้องฝึก พอฝึกไม่ได้ ก็ให้กลับไปใส่แว่น ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมไม่ให้ลองคอนแทคเลนส์ตั้งแต่ทีแรก ถ้าฝึกไม่รอดก็แค่แกะทิ้ง แต่ให้แก้ด้วยแว่นได้ มันจะดีหรือกับ anisometropia ที่เกิดขึ้นจาก monovision
เรื่องนี้หลายคนมักมองข้าม ไม่รู้ทำไม คือเรามักจะลืมพื้นฐานเรื่อง triad (pupil constriction , accommodation และ convergence) กล่าวคือระบบนี้มันถูกเลี้ยงหรือถูกควบคุมโดยเส้นประสาทจากการสองเส้นเดียวกัน คือ Cranial nerve 3 ,CN3 และ เป็นการทำงานแบบ เข้า1 ออก 2 นั่นหมายความว่า แม้ว่าเรากระตุ้นระบบประสาทไปที่อวัยวะข้างหนึ่ง อีกข้างจะตอบสนองด้วยเสมอ เช่น เรากระตุ้นการเพ่งที่ตาข้างหนึ่ง อีกข้างก็จะเพ่งด้วยในปริมาณที่เท่าๆกันแม้จะหลับตาอยู่ก็ตามแต่ เช่นถ้าเราส่งไฟฉายไปที่รูม่านตาของข้างหนึ่ง อีกข้างก็จะหดด้วย แม้ว่าตาข้างนั้นหลับอยู่ก็ตาม
อีกอย่าง ทั้ง 3 ระบบนี้ ไม่ว่าเรากระตุ้นอันไดอันหนึ่ง อีก 2 ระบบที่เหลือก็จะตอบสนองด้วย เช่นถ้าเรากระตุ้นให้เลนส์ตามีการเพ่ง กล้ามเนื้อตาก็จะมี convergence และ รูม่านตาก็จะมีการหดตัว และก็เป็นเช่นนั้น
จากความรู้พื้นฐานที่กล่าวมา ผมถามกลับว่า ถ้าคนไข้ monovision ตาข้างหนึ่งมองไกล อีกข้างมองใกล้ แล้ว accommodation จะต้องทำตัวอย่างไร ในเมื่อกระตุ้นข้างหนึ่งอีกข้างจะต้องถูกกระตุ้นด้วยในปริมาณที่เท่าๆกัน แล้วคิดหรือว่า ความแม่นยำของการ accommodate ในแต่ละระยะนั้นจะทำได้รวดเร็วแบบฉับพลันทันที ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นคนไข้ monovision นั้นโฟกัสช้าอยู่แล้ว
และไม่ใช่แค่ monovision พวกที่ชอบจัดสายตาให้สองข้างมันเท่าๆกัน เคยคิดเรื่องนี้ไหมว่า accommodation จะต้องทำตัวยังไงในเมื่อ accommodation ไม่ได้ถูก balance ให้ respond เท่าๆกัน ผลก็คือเกิด fluctuation of accommodation กล้ามเนื้อตาไม่ได้พัก เพราะจะ adjust ให้ข้างหนึ่งชัดอีกข้างก็มัว จะเอาอีข้างที่มัวให้ชัด อีชัดเดิมก็มัว ไปๆมาๆ อย่างนี้ ผลคือตาล้า ดังนั้นพวกเชื่อแนวคิดจัดสายตากับพวก monovision เป็นกลุ่มคนแนวคิดเดียวกัน เพราะไม่เข้าใจเรื่อง binocular vision
Monovision ไม่มีทางที่จะได้เห็นชัดเหมือนคนที่สายตาปกติอยู่แล้ว เพราะไม่สามารถที่จะเห็นชัดพร้อมๆกันทั้งสองตาได้ในเวลาเดียวกัน ถ้าข้างหนึ่งชัดอีกข้างจะมัว ไม่ว่าจะมองอะไรก็ตาม ดังนั้นมันจึงเป็นความชัดและมัวในเวลาเดียวกัน ลานตาก็จะแคบเพราะในแต่ละระยะที่มองเห็นนั้น ลานตาชัดที่เกิดขึ้นก็เกิดจากตาข้างเดียว และ มีภาพมัวจากตาอีกข้างมารบกวน
อาการเครียดดวงตา เมื่อยล้าดวงตา นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติกับคนไข้ monovision เป็นธรรมดา เพราะการมองเห็นในแต่ละระยะนั้นเป็นการทำงานของตาข้างใดข้างหนึ่ง ขณะที่สัญญาณภาพที่เกิดขึ้นจากตาอีกข้างนั้นถูกกดสัญญาณ (suppression) และ เมื่อใช้ชีวิตจริงที่ต้องมองวัตถุในแต่ละระยะที่ห่างออกไป สมองก็มีภาระที่จะต้องพิจารณาว่า จะ suppress สัญญาณจากตาข้างไหน จากนั้นก็จะอาศัยแรง accommodation จากตาที่ถูกบังคับให้ทำงานให้ทำหน้าที่ในการดู ทำให้มีภาระมากในการที่จะเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นผลให้คน monovision นั้นเหนื่อยล้าดวงตาได้ง่าย
หลักความคิดเรื่อง monovision ที่หวังว่าคนไข้จะไม่ต้องใส่แว่นแล้วแลกกับปัญหาต่างๆมากมายนั้น มันเป็นเรื่องที่มโนกันไปเอง เพราะเราก็รู้ๆกันอยู่แล้วว่า การผ่าตัดด้วยเลสิกไม่เคยทำให้คนไข้เป็น plano แบบ emmetropia ได้เลย ร้อยละ 99 เป็น mixed compound hyperopic astig. อยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็ว่ากันไป เพราะมันทำเป็นศูนย์มันทำได้ยาก และ ส่วนใหญ่ก็ทำให้เป็นบวก(ยาว) ไว้ก่อน แล้วให้คนไข้เพ่งเอา เพราะคนไข้ที่ทำเลสิกก็เพราะไม่อยากใส่แว่น แค่เขาสามารถถอดแว่นแล้วมองเห็นได้เขาก็แฮปปี้แล้ว จะ hyperope หรือไม่เดี๋ยวก็ว่ากันอีกที ใช้สายตานานๆดูใกล้นานๆแล้วปวดตาก็ว่ากันอีกที นั่นคือปัญาหาที่หนึ่ง
ปัญหาถัดมาคือ เราไม่สามารถทำ monovision ให้คนไข้เป็น anisomeropia แบบ full demand ที่ 40 ซม. คือ add +2.50ได้ เพราะสายตามันต่างกันเกินไป และมันปรับตัวได้ยาก ดังนั้นไอ้ที่ทำๆ monovision กันส่วนใหญ่ก็ต่างกันประมาณ +1.00D ถึง +1.25D แล้วมันจะอยู่ได้สักกี่ปีสำหรับ add +1.00D สุดท้ายแล้วก็ดูใกล้ไม่เห็นอยู่ดี ต้องกลับมาใส่แว่นอยู่ดี แต่ต้องทำยากกว่าเดิมเพราะสายตามันต่างกันมาก กระจกตาก็ไม่เรียบเหมือนเดิมจาก micro-scar หลังเลสิกอีก แล้ว binocular vision ที่ต้องเสียไประหว่างนี้ มองยังไงมันก็ไม่คุ้ม
Monovision ไม่ใช่เรื่องที่สามารถปรับตัวได้ง่ายๆหรือปรับได้ทุกคน ที่อยู่ๆกันได้คือทนเอาและไม่อยากมีปัญหากับคนที่ทำให้ เพราะทำไปแล้ว กระจกตาถูกเลเซอร์เจียร์เนื้อทิ้งไปแล้วนั้นไม่สามารถงอกใหม่ได้ เสียแล้วจึงมักจะเสียเลย ถอยกลับหลังไม่ได้ และที่แน่ๆคือ micro-scar บางคนก็มองเป็นเรื่องของเวรของกรรม monovision จึงเป็นสิ่งที่คนไข้ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มาก ไม่มีอะไรที่ดีฝ่ายเดียว ในดีมีเสีย ในเสียมีดี ก็พิจารณากันดูเอา
การทำเลสิก มันทำให้เกิด micro-scar.อยู่แล้วบนกระจกตา ซึ่งตำราเขาก็เขียนเอาไว้ และเมื่อแสงวิ่งผ่านกระจกตาที่ผิวไม่เรียบก็จะต้องเกิดการกระเจิงของแสง ก็เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นด้วยเลสิกมันสร้างปัญหาของมันด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะทนได้มากได้น้อยแค่ไหนกับแสงฟุ้งที่เกิดขึ้นในเวลากลางคน ผมมีคนไข้ที่เป็นหมอฟันและไม่สามารถขับรถได้เลยในเวลากลางคืนเพราะแสงมันฟุ้งมากหลังทำเลสิก และทางแก้ไขก็ไม่มีเพราะกระจกตามันไม่เหมือนเดิมแล้ว กลายเป็นคนที่ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาได้ด้วยตัวเอง แม้โตแล้วยังต้องให้แม่ขับรถไปรับไปส่ง นี่เรื่องจริง
และยิ่งทำออกมาแล้วเกิด refractive error เหลืออยู่ด้วยแล้ว ก็ทวีคุณกันไปอีก และแน่นอนมันก็เป็นอย่างนั้น อยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย แต่ถ้าจะบอกว่าการทำแว่นก็ refractive error เหลืออยู่ เพราะใครๆที่ขายแว่นเขาก็จัดสายตา ปัดนุ่นนี่นั่น ให้สายตามันเท่าๆกัน ทำให้องศาเอียงมันใกล้เคียงกัน แต่นั่นไม่ใช่มาตรฐานการทำงานของผม เพราะผมยึดถือในแนวทาง full correction ทำถูกต้อง ตรงไปตรงมา ใส่ยากง่ายมันอยู่ที่ aberration ว่ามากหรือน้อย ปัจจัยบางอย่างสร้าง aberration มาก บางอย่างก็น้อย การเลือกเทคโนโลยีเลนส์ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เหล่านี้ไม่ต้องเชื่อแต่ให้ตรวจสอบ (don’t trust ,just varify)
สุดท้ายก็คงต้องกลับไปถามตัวเองว่า คุ้มไหมที่จะลดวิวัฒนาการของสัตว์นักล่าไปอยู่ระดับเดียวกับสัตว์กินพืชด้วย monovision เพราะมีหลากหลายวิธีที่เราไม่ต้องใส่แว่นและยังสามารถยืนอยู่ในสถานะบนสุดของห่วงโซ่อาหาร โดยไม่ต้องทิ้ง Gift ที่จักรวาลนี้มอบไห้
ถ้าคุณรู้ว่า “นักบิน” ที่กำลังขับเครื่องบินที่คุณนั่งอยู่นั้น ใส่คอนแทคเลนส์หรือทำเลสิกแบบ monovision มา และต้องรับผิดชอบชีวิตบนเครื่องกว่า 300 ชีวิต คุณว่ามันเสี่ยงมากหรือน้อยแค่ไหน ?
และถ้าสิ่งเหล่านี้คือคำอธิบาย ว่า monovision ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการบังคับเครื่องบินให้ปลอดภัยด้วยเหตุและผลต่อไปนี้ คุณจะมีความคิดเห็นเช่นไร
ความชัดลึกของการมองเห็นลดลง (reduce depth perception) เนื่องจาก monovision จะแก้สายตาข้างหนึ่งไว้สำหรับมองไกล และอีกข้างสำหรับดูใกล้ ซึ่งการแก้สายตาด้วยวิธีนี้จะไประบบกวนระบบการมองเห็นแบบสองตา (binocular vision) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อ depth perception ทำให้การกระยะทางผิดพลาด เช่นขณะลงจอดบนรันเวย์
Monovision ต้องอาศัยสมองในการกดสัญญาณภาพของอีกตาหนึ่งขณะมองด้วยตาอีกข้างหนึ่ง เรียกว่า suppression ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้เวลานาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งในการควบคุมบังครับเครื่องบินในภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากมีปุ่มเต็มไปหมดที่ต้องการความรวดเร็วแม่นยำในการลงมือตัดสินใจ
Monovision คือการทำข้างหนึ่งไว้มองไกล อีกข้างไว้ดูใกล้ ดังนั้นเมื่อมองไกลก็จะได้ลานตาที่ชัดจากตาเพียงข้างเดียว ส่วนอีกข้างมองไม่เห็นเพราะมองได้เพียงลานตามองใกล้ ดังนั้นลานตาโดยรวมทั้งมดแทนที่จะมองได้ครบทั้ง 170 องศา ก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียว และ อาจส่งผลต่อการรับรู้สถานการณ์อันตรายที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเครื่องได้
การใช้ตาเพียงข้างเดียว มันล้าด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะไม่มีตาอีกข้างมาช่วยประคองโฟกัสเพราะถูก suppress อยู่ และ ระบบ binocular function กับ accommodation ก็ถูกตัดขาดจากกัน จึงไม่มีตัวช่วยใดในคนไข้ monovision ทำให้คนไข้ monovision นั้นเกิดอาการเมื่อยล้าตาได้ง่าย แน่นอนว่ามันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคุมบังคับของนักบินโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นนักบินที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยความลึกเพื่อให้การบินปลอดภัย ตั้งแต่การลงจอด (landing) ที่ต้องกะประมาณระยะทางที่แม่นยำ เพื่อตัดสินใจความสูงจากบนฟ้าไปยังสนามบิน และตำแหน่งของเครื่องบินขณะสัมผัสกับพื้นรันเวย์ เหล่านี้ถ้าเป็น monovision ที่คนไข้ต้องใช้เวลาในตัดสินใจ ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาด
เครื่องบินมีขนาดที่ใหญ่มาก และ เวลาเข้าจอดในพื้นที่แคบๆ ก็ต้องอาศัยความสามารถในการเห็นแบบชัดลึก เพื่อให้การเข้าจอด หรือ การเตรียม take off นั้นปลอดภัย ไม่อย่างนั้นแล้ว อาจจะทำให้ปีกเครื่องบินชนสิ่งของต่างๆได้ หรือแม้แต่ชนกันเอง
ขณะบินอยู่นั้น ลำอื่นก็บินอยู่เช่นกัน ดังนั้นการมองเห็นต้องชัดเจนและรู้ว่าอยู่ที่ระยะเท่าไหร่ และจะหลบกันอย่างไรไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่อย่างนั้นคงไม่เห็นโศกนาฎกรรมแน่นอน
ในสหรัฐอเมริกาและเกือบทุกประเทศนั้น หน่วยงานด้านการบินไม่ให้ใช้ monovision สำหรับการบิน เนื่องจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้น นักบินต้องตรวจสุขภาพความพร้อมสำหรับการบินเสมอ เพื่อเลือกวิธีการรักษาหรือแก้ไขสายตาที่ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด
เมื่อได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ยังจะ monovision กันอยู่อีกไหม แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่ามันไม่ดีไปเสียทุกเรื่อง อย่างที่บอกว่า “ถ้าจะเอาไปดูลิเก ส่งไลน์ กวาดลาน ตัดกิ่งไม้ คลุกข้าวให้หมา monovision ก็คงจะพอได้ แต่ถ้างานที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายหรือเกี่ยวกับความลึกโดยตรง เช่นหมอผ่าตัด หมอทำฟัน นักบิน(กะระยะสนามบินพลาด) นักปีนเขา(กะระยะหินที่จะจับพลาด) นักกีฬา(กะระยะตำแหน่งลูกพลาด)
ทีนี้ ถ้าผมต้องการสุนทรียะในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะตัดกิ่งไม้ คลุกข้าวให้หมา ให้อาหารแมว ดูลิเก ตอบไลน์ ก็อยากจะเห็นแบบชัดๆ เห็นความลึกจริง ไม่ต้องมีภาพมัวจากตาอีกข้างมารบกวน มันจะดีกว่าแค่ไหน แม้ไลฟ์สไตล์มันไม่คอขาดบาดดตาย มันก็มีค่าทางใจ ไม่อย่างนั้นผมจะซื้อทีวี OLED 4K หรือไปเที่ยวดูวิวสวยๆทำไม ดูพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก ถ้าผมจะ compromise การมองเห็นของตัวเอง ผมจะใช้มือถือจอดีๆทำไม จะต้องใช้จอแบบ retina dispay ไปเพื่ออะไร เพราะคนไข้ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการใช้ชีวิตที่หยาบขนาดที่จะต้องยอมใช้ชีวิตแบบ monovision แต่ที่เขาตัดสินใจทำเพราะไปสร้างความคาดหวังให้เขาว่าไม่ต้องใส่แว่น เพราะแท้จริงแล้วถ้าเขารู้ว่า monovision มันไม่ดีขนาดนี้ ไม่มีใครเขายอม compromise การมองเห็นของตัวเองหรอก
ดังนั้นอย่าไปเที่ยวโฆษณาว่า “monovision”มันดีหรือมันคือทางออกเดียวของชีวิต เพราะมันแสดงถึงความขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ binocular vision จนพลาดตัด Gift ที่ธรรมชาตินี้มอบให้ทิ้งไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อนึ่งผมก็ไม่ได้มีปัญหากับคนที่อยากทำเลสิก แม้ส่วนตัวผมเองก็รู้ว่ามันมี complication มากมาย แต่บางคนก็จำเป็นเช่นคนที่สายตาสูงๆ แว่นหนาๆ อย่างน้อยที่สุดก็สามารถใช้แว่นที่บางลงมา ดูสวยขึ้น แต่ที่ผมมีปัญหาคือ การโฆษณาที่เกินความจริง ไม่ว่าจะคำว่าอิสระจากแว่นด้วยความคมชัดระดับ 4k อันนี้ผมว่า มัน commercial เกินไป แต่คงเป็นเรื่องของนักการตลาดที่เขาเป็นคนทำมากกว่า เขาไม่มีความรู้ความเข้าใจพอก็เลยยิงโฆษณาไปแบบนั้น ส่วนหมอเองก็อาจจะยุ่งจนลืมอ่านเนื้อหาในโฆษณาก็เลยปล่อยโฆษณาเหล่านั้นออกไป
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “บทความเรื่องนี้จะไปถึง ผู้จะทำหรือผู้ที่กำลังคิดจะทำ monovision ก่อนที่จะถูกทำ แล้วเดือดร้อนมาหาข้อมูลทีหลัง (ซึ่งหลายคนเป็นอย่างนั้น) แต่ถ้าอ่านแล้ว พิจารณาถี่ถ้วนแล้ว ยังอยากจะทำอยู่ อันนี้ก็ไม่ว่ากัน และ ขอว่าอย่ามาให้ช่วยทำแว่นให้ดีเหมือนก่อนทำ monovision เพราะขาเทียมหรือจะไปสู้ขาแท้มาตั้งแต่เกิด กระจกตาที่ผ่านการเจียร์ทิ้งไปแล้วก็ยากที่จะราบเรียบเหมือนกระจกตาธรรมชาติที่ได้มาตั้งแต่เกิด แต่ถ้าเผลอทำ ก็ถือว่าเรื่องมันเลยไปแล้วก็ต้องทนรับมัน และ อยู่กับมันให้ได้
อนึ่ง บทความเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึงคนใดคนหนึ่งเป็นสำคัญแต่กล่าวถึง วิธีการทางคลินิกแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นทางเลือกเดิน ไม่ใช่ทางที่จำเป็นต้องเดิน และ อาจมีเส้นทางอื่นที่เดินง่ายกว่า สบายเท้ากว่า วิวข้างทางที่สวยกว่า และ น่าเดินกว่าเส้นทางนี้
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม พบกันใหม่ตอนหน้า ช่วงหลังๆมานี้ก็ห่างหายไปบ้าง เนื่องจากกำลังง่วนอยู่กับงานอดิเรกซึ่งใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็หวังว่าจะได้พบกันบ่อยขึ้น
1.mono vision ดี/เสีย...อย่างไหนมากกว่ากัน ?? https://www.loftoptometry.com/MonoVision_CaseStudy
2.คิดให้ดีก่อนบอกลาแว่นไปหาเลสิก ! https://www.loftoptometry.com/Lasik_sugery
3.เคสสายตายาวหลังทำเลสิก ( hyperopia after lasik surgery)
https://www.loftoptometry.com/Case_study_ hyperopia after lasik surgery
https://www.loftoptometry.com/Case_study
https://www.loftoptometry.com/hyperopic post lasik_surgery_case
4.Lasik ดีไหม ? : https://www.loftoptometry.com/Lasik_Pros_Cons
note : หากอยากทราบเรื่องอะไร ให้เข้า Google แล้วพิมพ์ส่ิงที่ตัวเองสนใจ แล้วตามด้วย (,loftoptometry) และถ้าพิมพ์แล้วไม่เจอ inbox เข้า facebook แจ้งผมได้ ผมจะได้เขียนให้ เพราะอยากจะเขียนเก็บไว้ เผื่อวันหนึ่งจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ยังพอมีมรดกทางความคิดเกี่ยวกับวิชาชีพให้คนรุ่นหลังๆได้ศึกษาต่อได้