เรื่อง "เห็นคางหมู" หลังใส่เลนส์โปรเกรสซีฟ เกิดจากอะไร ? 

By Dr.Loft,O.D. I 10 Feb 2025

 

Intro

 

มีคนไข้ไม่น้อยที่เริ่มใส่โปรเกรสซีฟครั้งแรกแล้วเห็นภาพสี่เหลี่ยมเป็นคางหมู โดยเฉพาะเวลาดูหน้าจอมือถือหรือไอแพด แต่ก็จะอยู่ช่วงครั้งแรกที่ใส่ จากนั้นอาการดังกล่าวจะค่อยๆลดลงๆ จนเป็นปกติในที่สุด ซึ่งกระบวนการในการปรับตัวนี้ ถ้าเลนส์เทคโนโลยีสูงหน่อยอาจใช้เวลาไม่นาทีไปจนถึง 0-3 วัน จากประสบการณ์การจ่ายเลนส์มาก็มีบ้างที่เห็นเป็นคางหมู แต่ก็ไม่ได้มากนัก ซึ่งคนไข้ที่จะมีอาการดังกล่าวมักจะพบในคนไข้สายตาเอียงสูงๆ หรือคนที่ไม่เคยใส่เลนส์โปรเกรสซีฟมาเลย แล้วมาเริ่มใส่ตอนที่ค่า add สูงๆ ก็จะมีอาการนี้อยู่บ้าง

 

จริงๆเรื่องนี้ผมเคยเขียนมาแล้วครั้งหนึ่งแต่มีลูกศิษย์ถามเรื่องนี้ ก็เลยอยากจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกสักหน่อย ก็จะมีเนื้อหาการคำนวณอยู่บ้างเล็กน้อยเอาไว้อ้างอิง สำหรับเรื่องคางหมูที่ผมเคยเขียนไปก็ลองไปหาอ่านดูได้จากลิ้งที่แนบมานี้ https://www.loftoptometry.com/whatnew/view/101

 

สำหรับตอนนี้ เราก็จะมาไขข้อข้องใจว่า “ทำไมมันต้องคางหมู” แล้วคางหมูเกิดมาจากอะไร แล้วจะแก้อย่างไร มาดูกัน...

 

Visual perception

 

ภาพที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้หรือแม้แต่บทความที่เรากำลังอ่านอยู่นี้ มันเป็นการทำงานของสมองในการประมวลผลเพื่อรับรู้ภาพ หรือ “ visual perception” ซึ่งเกิดจากจอประสาทตาซึ่งทำหน้าที่แปลงพลังงาน photon ที่อยู่ในแสงหลังวิ่งกระทบวัตถุแล้วสะท้อนเข้าตาซึ่งต้องผ่านชั้นต่างๆของ optic ​optical system : ตั้งแต่กระจกตา เลนส์แก้วตา ไปจนถึงจอประสาทตา

 

ถ้าเป็นตาเปล่าของมนุษย์  Optical System ก็จะมีเพียงกระจกตา (cornea) และเลนส์แก้วตา (crystalline lens) ที่ทำหน้าที่ในการบังคับโฟกัสของแสงให้ไปตกบนจอประสาทตา ซึ่งรูปแบบของคลื่นแสงก็เป็นอย่างหนึ่ง ภาพที่เกิดบนจอประสาทตาก็เป็นแบบหนึ่ง คลื่นไฟฟ้าเคมีที่ส่งไปยังสมองก็เป็นแบบหนึ่ง การรับรู้ภาพก็แบบหนึ่ง และ เมื่อเราเติม optical system อื่นเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น เลนส์สายตา หรือ คอนแทคเลนส์ ก็ทำให้รูปแบบของคลื่นแสงเป็นอีกอย่างหนึ่ง สมองก็จะรับรู้ไปอีกแบบหนึ่ง เมื่อรูปแบบคลื่นที่วิ่งผ่าน optical system ที่ต่างกัน (เช่นใส่แว่นกับไม่ใส่แว่น) ก็ย่อมทำให้เกิดการรับรู้ชุดข้อมูลภาพแบบใหม่ (ซึ่งอาจจะไปขัดกับการรับรู้เดิม)​ ทำให้การตีความเพื่อรับรู้ภาพนั้นผิดเพี้ยนไป แต่เมื่อเราใช้ไปสักระยะหนึ่ง เราจะเห็นว่า “ภาพบิดเบี้ยวหรือคางหมู” นั้นเริ่มหายไป นั่นหมายความสมองเราได้ “รับรู้คลื่นแสงที่มาในรูปไฟฟ้าเคมีใหม่ได้เรียบร้อยแล้ว”  ซึ่งอาการดังกล่าว มักจะเกิดกับคนที่ใช้เลนส์โปรเกรสซีฟใหม่ๆ หรือ กับคนที่มีสายตาเอียงมากๆ ที่ต้องแก้สายตาเอียงด้วยกำลังเลนส์สูงๆ

 

ดังนั้นวันนี้ เราจะมาทำความเข้าใจ เหตุและผล ของการเกิดการรับรู้เป็นคางหมู (ในคนไข้บางคน) เพื่อให้คนไข้ได้เข้าใจ และ ให้ความร่วมมือในการรักษาแก้ไขตามหลักทัศนมาตรศาสตร์คลินิก

 

Geometrical Optic

 

สิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจพื้นฐานของ "Geometrical Optic" หรือ “ทัศนศาสตร์เชิงเรขาคณิต" กันเสียก่อน ว่าลักษณะพื้นฐานของโครงสร้าง เลนส์โปรเกรสซีฟ กับ เลนส์ชั้นเดียวที่มีสายตาเอียง มันมีความพิศดารจากเลนส์อื่นๆอย่างไร จึงมักสร้างปัญหาให้กับใครหลายๆคน และ เป็นปัญหาที่นำไปสู่การไม่กล้าจ่าย full correction จนนำไปสู่ศาสตร์จัดสายตามากที่สุด

 

Cylinder power (เลนส์สายตาเอียง)

 

ทั้ง progressive lens และ cylinder lens ต่างก็มีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ “การ varies curve ซึ่งทำให้เกิดการ varies ของ power ( ถ้ายังจำกันได้ว่า ความโค้งทำให้เกิดกำลังหักเห  ถ้าไม่โค้งก็ไม่มีกำลังหักเห (เช่นกระจกหน้าต่างบ้าน)  หรือ ถ้าโค้งของผิวหน้าเท่ากับโค้งของผิวหลังก็จะเกิดการหักล้างของค่ากำลังสายตาเช่นกัน (เช่นแว่นกันแดด) ซึ่งต่างจากเลนส์ spheric ที่ทุก meridian นั้นเป็นโค้งเดียวกันหมดจึงทำให้ power ในทุกแกนนั้นเท่ากันทั้งหมด 

จากรูป แสดงตัวอย่างของการ varies curve แล้วเกิด varied-power ของเลนส์สายตา 0.00 DS เอียง 1.00 DC ตามแนวแกน จากองศาที่ 0 ไปจนถึงองศาที่ 180 ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าแต่ละแกนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงความโค้งซึ่งเป็นเหตุให้ค่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลง และ ระหว่างแกนนั้นก็เชื่อมต่อกันสนิทโดยไม่มีรอยต่อ (เช่นเดียวกันกับเลนส์โปรเกรสซีฟ) 

 

sphero-cylinder lens 

ต่อมา sphero-cylinder lens หรือเลนส์สายตาสั้น/ยาวที่มีแก้สายตาเอียงร่วมด้วย ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันแต่มีการเปลี่ยนแปลงความโค้งตามแนวองศา จากองศา 0 ไป 180 องศา นั่นหมายความว่า ในแต่ละแกนที่เปลี่ยนไปนั้น จะมีกำลังหักเหไม่เท่ากันเลย ทำให้ในการแก้ค่าสายตาด้วยเลนส์สายตาเอียงนั้น เราต้อง fine tuning เพื่อหาแกนขององศาที่แน่นอน ซึ่งถ้าแก้ผิดแกน เราก็จะได้ค่ากำลังที่แกนนั้นๆผิดไป และ ถ้าผิดแกนเดียว แกนอื่นก็ผิดไปทั้งหมด (มันคือการติดกระดุมเม็ดแรกนั่นหล่ะ) และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ถึงได้มีการสอน ต่อๆกันมาว่า “ถ้าคนไข้ไม่เคยใช้เลนส์สายตาเอียง ก็อย่าไปจ่ายให้เขาเต็ม ให้ค่อยๆเริ่มจ่าย หรือ จ่ายแต่น้อยไว้ก่อน  หรือถ้าเขาใช้สายตาเอียงอะไรมา องศาผิดๆมา กำลังสายตาเอียงผิดๆมา ถ้าเขาไม่บ่น ก็อย่าไปแก้ให้เขา” ซึ่งผมก็เคยถูกสอนมา แต่บังเอิญว่า ดื้อ และไม่เชื่อ ก็เลยไม่ทำตาม และ พิสูจน์ด้วยตัวเองต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ว่า ความเชื่อข้างต้นนี้ “เป็นเพียงความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง” แต่ปัญหามันคือ ตรวจผิดตั้งแต่ sphere เป็นผลให้ cylinder ผิดตามมา ไม่ว่าจะองศา หรือ กำลัง ก็ผิดตามกันไปหมด  พอสั่งค่าสายตาเอียงผิดๆไป  เลนส์ขัดมาก็ผิด คนไข้ใส่ไม่ได้ ปรับตัวไมไ่ด้  ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น นั่นก็คือเหตุและผลของเรื่องนี้ และการ full correction นั้น ทุกคนสามารถทำได้ และ ไม่มีใครห้ามทำสิ่งที่ถูกต้อง การทำเรื่องดี ไม่ต้องรอกฎหมายมาบังคับให้ต้องทำดี แต่ควรทำดีโดยธรรมชาติตัวตนของตัวเอง

 

ศึกษาสายตาเอียงอย่างละเอียดเพิ่มเติมได้จากลิ้งที่แนบมา https://www.loftoptometry.com/สายตาเอียงและแนวทางการแก้ไข

 

Progressive Additional  lens ( เลนส์โปรเกรสซีฟ)

 

เลนส์โปรเกรสซีฟจะมีการ varies curve ลงมาในแนวดิ่ง โดยเริ่มจากตำแหน่งมองไกล (Design point at far ,DF) ลงไปถึงตำแหน่งอ่านหนังสือ (Design point at near ,DN) แต่มีลักษณะพิเศษก็คือ ไล่ค่าความโค้งเพื่อให้เกิดการไล่ค่าสายตา (ตามกำลัง addition) โดยไม่ทิ้งรอยหรือสเตปบนผิวเลนส์  เราจึงเรียกว่า “เลนส์หลายระยะไร้รอยต่อ” หรือ progressive additional lens (PALs)

 

จากทั้ง 3 รูปบน แสดงให้เห็นว่า เมื่อนำเลนส์ที่มีความโค้งต่างกันมาต่อกันจะทำให้เกิดรอยแยกของชั้นบริเวณรอยต่อ (รูปแร) ซึ่งเราสามารถผสานหรือหลอมให้เนื้อเลนส์ส่วนบนและส่วนล่างให้เชื่อมกันได้โดยการใช้ Plus cylinder power  ซึ่งในรูปเป็นตัวอย่างการตัดเอาเนื้อเลนส์ส่วนที่ต้องการจะนำมาประสานออกเป็นมุม 90 องศา และแทนที่ช่องว่างนั้นด้วย Plus cylinder ก็จะสามารถทำให้เลนส์ส่วนบนและส่วนล่างสามารถเชื่อมกันได้สนิท (รูปล่าง) 

 

 

เป็นไปได้อย่างไร ที่การเอาส่วนของความโค้งหลายๆโค้งมาต่อกันโดยที่เลนส์นั้นเรียบใสและไม่มีรอยต่อ ซึ่งต่างจากเลนส์สองชั้นที่เราเห็นรอยต่อชัดเจนเป็นเส้นแนวนอน และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของสิ่งนี้ก็คือ  “การขัดโครงสร้างของค่าสายตาเอียงเข้าไปลบรอยต่อนั่นเอง” เราเรียกส่วนเกินที่เติมเข้าไปเพื่อลบรอยนี้ว่า “unwanted oblique astigmatism” ซึ่งเป็นเหตุให้เลนส์โปรเกรสซีฟมีภาพบิดเบี้ยวและสนามภาพที่มีจำกัด (...ส่วนทำไมว่าบิดเบี้ยวแล้วต้องเป็นคางหมูนั้น เราทดในใจไว้ก่อน)

 

 

ทำไมต้องคางหมู

 

ทีนี้เราก็รู้แล้วว่า เลนส์โปรเกรสซีฟกับเลนส์สายตาเอียง ต่างก็มีการ varies curve เพื่อให้เกิดการ varies power  แต่ทำไมมันถึงต้องมีภาพบิดเบี้ยวหรือบิดเบือน เช่นว่า เห็นมือถือเป็นคางหมูเป็นต้น

 

Lens power คือกำลังหักเหที่มีอยู่บนผิวเลนส์สายตา ซึ่งหน้าที่ของมันคือ สามารถเปลี่ยนแปลงการลู่ของแสงได้ คือบังคับให้แสงเบนแบบลู่เข้า (converge ray) เช่นเลนส์บวก หรือ บังคับให้แสงเบนแบบลู่ออก (diverge ray) เช่นเลนส์ลบได้ ดังนั้นเลนส์ที่มีกำลังสูงๆ ก็จะมีคุณสมบัติการบังคับการเบนของแสงนี้มากนั่นเอง

 

นอกจากความสามารถนี้ของเลนส์นี้แล้ว เลนส์ก็ยังมีคุณสมบัติของการทำให้เกิดกำลังขยายด้วยเช่นกัน ว่าแต่ทำไมเลนส์ที่มีกำลังในการหักเห ถึงได้เกิดเป็นกำลังขยายได้ ซึ่งเราจะต้องไปดูที่พื้นฐาน Geometrical Optic กัน

 

Lens power and Magnification

 

เลนส์ที่มีกำลังหักเหนั้นสามารถสร้างกำลังขยายได้ เนื่องจากว่า เลนส์ท่ีมีกำลังหักเหแสง ย่อมทำให้แสงที่วิ่งผ่านเลนส์นั้นๆ เกิดการเบนของแสงที่จะไปตกเกิดเป็นภาพบนจอรับภาพ นอกจากนี้แล้วเลนส์ที่มีกำลังต่างกัน ย่อมทำให้ขนาดภาพที่เกิดนั้นต่างกัน หรือ เลนส์บวกกับเลนส์ลบต่างก็ทำให้ให้เกิดลักษณะภาพขยายที่ต่างกันเช่นกัน ซึ่งเราสามารถอธิบายด้วยสมการทาง Geometrical Optic ได้ดังนี้ ซึ่งมีสมการที่เกี่ยวข้องกันอยู่ 3 สูตร (จริงๆเป็นความรู้ เลนส์นูน เลนส์เว้า ตอน ม.3)

 

M=f/(u-f)=I/O= v/u

 

โดย

M คือกำลังขยาย

f คือความยาวโฟกัส

u คือระยะวัตถุ , v คือระยะภาพ

I ขนาดของภาพ ,O ขนาดของวัตถุ

 

การแทนเครื่องหมาย

ให้ f เป็น + สำหรับเลนส์นูน ( ภาพจริง หัวกลับ ตกหลังวัตถุ)

             - สำหรับเลนส์เว้า (ภาพเสมือน หัวตั้ง ตกหน้าวัตถุ)

 

    u เป็น + วัตถุวางหน้าเลนส์​

             - วัตถุวางหนังเลนส์​

 

    v เป็น + แสงตัดกันหลังเลนส์​ (เกิดภาพจริง)

              - แสงตัดกันหน้าเลนส์​ (เกิดภาพเสมือน)

 

M เป็น +  ภาพจริง หัวกลับ

          -  ภาพเสมือน หัวตั้ง

 

ตัวอย่างเช่น

หากระยะวัตถุ (u) เป็น 20 cm และระยะภาพ (v) เป็น 40 cm กำลังขยาย (M) จะเป็นเท่าไร ?

แทนค่า M= v/u

             =40/20

             = 2

ดังนั้น ภาพมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของวัตถุ

 

นอกจากนี้เรายังมีความสัมพันธ์ระหว่าง กำลังขยายของเลนส์กับระยะโฟกัสและระยะวัตถุและระยะภาพมาใช้คำนวณร่วมกันได้ว่า

 

M=f/(u-f)

ซึ่งจากความสัมพันธ์ดังกล่าวเราจะเห็นว่า กำลังขยาย (M) จะขึ้นอยู่กับ

1.ระยะโฟกัสของเลนส์ (f) ว่า ถ้าเลนส์มีระยะโฟกัสสั้นกว่า (กำลังหักเหมาก) จะให้กำลังขยายที่มากกว่า

2.ระยะวัตถุ (u) ว่า เมื่อวัตถุอยู่ไกล้เลนส์มากขึ้น (u น้อยลง) กำลังขยายจะมากขึ้น

 

ตัวอย่างการคำนวณ

หากเลนส์มีระยะโฟกัส f = 10 ซม. และ วัตถุอยู่ที่ระยะ u=15 ซม. กำลังขยายจะเป็นเท่าไร

M=f/(u-f) = 10/(15-10) = 10/5 = 2

ตอบ ภาพมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของวัตถุ และ เป็นภาพจริงหัวกลับ เนื่องจาก M เป็นบวก

 

คำนวณแสงและเลนส์ อนุบาลหมีน้อย เอาพอเป็นสังเขปไว้ให้รู้ว่า เลนส์นอกจากว่ามันเบนแสงได้แล้ว มันยังทำให้เกิดกำลังขยายได้อีกด้วย

 

สรุปก็คือ เลนส์สายตาที่มีกำลังหักเห จะทำให้ภาพของวัตถุที่เราเห็นนั้นมีขนาดเปลี่ยนไป ตามกำลังและประเภทของเลนส์  โดยเลนส์บวกจะขยายภาพวัตถุ (magnify) ส่วนเลนส์ลบจะลดขนาดของวัตถุ (minify) และกำลังขยายนี้จะมากขึ้นในเลนส์ที่มีกำลังสายตาสูงขึ้น

 

แล้วสิ่งนี้เกี่ยวกับคางหมูที่เกิดขึ้นบนเลนส์โปรเกรสซีฟและเลนส์สายตาเอียงอย่างไร ?

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า เลนส์ทั้งสองประเภทนี้มีการ vaires curve ตลอดเวลา (เพื่อให้เกิด varies power)  ต่างกันที่เลนส์โปรเกรสซีฟนั้น varies ตามแนวดิ่ง ขณะที่เลนส์สายตาเอียงนั้น varies ตามแนวองศา ดังนั้น เมื่อโค้งมีการเปลี่ยนแปลง ย่อมทำให้ power มีการเปลี่ยนแปลง และ แต่ละ power ก็มีกำลังขยายไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดการขยายของภาพไม่เท่ากัน เป็นเหตุ

 

สำหรับโปรเกรสซีฟนั้น ตำแหน่งมองไกลมีกำลังบวกที่น้อยกว่า (กำลังขยายน้อยกว่า) ส่วนตำแหน่งอ่านหนังสือ มีกำลังบวกที่มากกว่า (กำลังขยายมากกว่า) ดังนั้นเวลามองผ่านเลนส์โปรเกรสซีฟในช่วงแรกๆ บางคนจะเห็นว่าจอสี่เหลี่ยม ดูเหมือนมันจะป้านๆ เป็นคางหมู แต่เมื่อเราใช้ไปสักระยะหนึ่ง ความคางหมูจะลดลง จนเห็นหน้าจอเป็นปกติ ซึ่งคำอธิบายนี้ก็คือระบบประสาทของเรานั้นได้เรียนรู้สัญญาณภาพใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงสามารถตีความข้อมูลที่ได้จากตาไปยังสมองนั้นได้ถูกต้อง

 

อีกจุดหนึ่งที่ต้องระวังสำหรับนักจัดสายตาพึงตระหนักก็คือ “การ under plus ในคนไข้ hyperopia จะอ้างความเคยชินคนไข้หรือคนไข้ติดเพ่งหรือจ่ายเต็มกลัวคนไข้มัวอะไรก็ช่าง แต่แน่ๆคือทำให้เราต้อง over addition เพื่อให้คนไข้ยังสามารถเห็นชัดที่ 40 ซม.ได้  ซึ่งทุกๆครั้งที่ under plus ไปหนึ่งสเตปก็จะต้อง over add ไปหนึ่งสเตปเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ก็จะยิ่งทำให้เกิด distortion ที่มากขึ้น (เห็นเป็นคางหมูมากขึ้น)

 

อนึ่งการไม่มีรอยต่อนั้น เกิดจากการขัด unwanted oblique asigmatism เข้าไปเพื่อสมานรอยต่อ ซึ่งมันก็คือสายตาเอียง(ที่ไม่ใช่ของเรา แต่เป็นเทคนิคการกลบรอยต่อ) ก็จะทำให้เกิด magnify ตามบริเวณ periphery ของเลนส์โปรเกรสซีฟด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับบริเวณขอบๆ ซึ่งการ varies curve นั้นค่อนข้างจะเร็วกว่าโซนใช้งาน ดังนั้นเวลาคนไข้มองไปที่ขอบๆ ก็จะรู้สึกว่ามันโค้งๆ บิดเบี้ยวไปบ้าง โดยเฉพาะกับเลนส์โปรเกรสซีฟกลุ่ม low-tech

 

นอกจากนี้ เลนส์โปรสซีฟจะมีเทคนิคที่ทำให้เลนส์ให้บางโดยขัดปริซึมในแนว vertical เข้าไป เรียกว่าเทคนิค slap-off prism เพื่อไป balance vertical prism ที่ induce จากที่คนไข้ต้องเหลือบตาลงต่ำเพื่อดูใกล้ (มองหลุดเซนเตอร์) ซึ่งในกรณีที่คนไข้สองข้างต่างกัน ก็จะ induce prism imbalance ขึ้นมา ซึ่งทางผู้ออกแบบเลนส์จะต้องขัด slab-off prism เพื่อบาลานซ์ดังกล่าว ซึ่งตัวปริซึมที่ใส่เข้าไปนี้ก็จะมี aberration ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ( ณ จุดนี้จะเห็นว่าในฝั่งผู้ผลิตเลนส์นั้นก็จะห่วงเรื่อง vertical imbalance ที่มันจะ induce prism  , แต่ในมุมของฝั่งนักจัดสายตาแล้ว ไม่เคยสนใจอะไรพวกนี้เลย แล้วยัง(มีหน้า)มาสอนต่อ บอกต่อกันแบบไม่สงสัยในความ(ไม่)รู้เหล่านั้นเลย) 

 

ดังนั้น ด้วยรวมๆปัจจัยหลายๆอย่าง ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟนั้นมีความซับซ้อนสูงกว่าเลนส์ระยะเดียวธรรมดาทั่วไป มันจึงมีทั้งเลนส์ดีและไม่ดี ซึ่งราคาไม่เท่ากัน ไม่ใช่ว่าโปรเกรสซีฟอะไรก็เหมือนกันไปหมด

 

ส่วนสายตาเอียงนั้น การเปลี่ยนแปลงของสายตาจะวิ่งจาก sphere meridian (บวกมากกว่า)   ไปยัง cylinder meridian (บวกน้อยกว่า) ซึ่งทั้งสอง meridian นี้จะฉากกัน 90 องศา ดังนั้นเราจึงมักพูดถึงเพียง cylinder meridian เพราะเรารู้กันว่า sphere meridain มันฉากกัน 90 องศา จึงไม่ต้องพูดถึงก็สามารถรู้ได้

 

ระหว่างที่มีการ varies curve ไปตามแกนนี้เอง ทำให้แต่ละแกนนั้นมี power ที่ต่างกันตลอดเวลา และ กำลังขยายก็ต่างกันตลอดเวลาเช่นกัน ทำให้คนที่มีสายตาเอียงมากๆ เวลาใส่เลนส์สายตาเอียงเต็มๆ จะรู้สึกไม่ค่อยสบาย เพราะเลนส์มันมีความซับซ้อนและมี aberration มาก

 

สาเหตุดังกล่าวนำไปสู่ การพยายามกดเอียงให้มันต่ำที่สุด แต่ก็ทำให้คนไข้มองไม่ชัด ศรีธนญชัยก็เลยอัดสายตาสั้นใส่ให้เพิ่มเข้าไปให้ชัด เขาเรียกว่าทำ Spherical-Equivalent เรียกเท่ๆว่าทำ S.E.  ซึ่งเป็นมุกที่ใช้(ตั้งแต่ไดโนเสาร์ยังไม่สูญพันธุ์)ในการจ่าย contact lens แบบไม่มีสายตาเอียง แต่เทคโนโลยีเลนส์สมัยนี้เขาไปไกลมากแล้ว ไม่ต้องจัดสายตากันแล้ว ถ้าใครยังสอนเด็กจัดสายตากันอยู่ก็ไปอัพเดตความรู้กันหน่อยก็ดี ไปศึกษาเลนส์ Atoric Design ดูบ้าง ( ศึกษาก็คือศึกษาจริงๆ ไม่ใช่ไปถามนักการตลาดที่ขายเลนส์ เพราะมันมีแต่ข้อดีแต่หาที่ไปที่มาไม่ได้ )  เลนส์ปัจจุบันไม่ได้มีแค่เลนส์ shperic / aspheric หรือ ย่อบาง/ไม่ย่อบาง หรือ โค้ตนุ่นนี่นั่น  แต่มันมีเลนส์ที่เขาสามารถออกแบบให้สามารถจัดการกับพวก aberration ต่างๆเหล่านี้ได้ โดยที่ไม่ต้องไปจัดสายตา

 

สรุปเหตุของคางหมูได้ว่า

 

อาการเห็นสี่เหลี่ยมเป็นคางหมู ในคนไข้ที่เริ่มใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟใหม่ๆ ด้วยเหตุว่า

จุดมองไกล (DF) เป็นจุดที่ภาพบิดเบือนต่ำสุด อะไรๆก็ดูชัดกว้างสบายดี

จุดมองใกล้ (DN) เป็นจุดที่มีกำลังขยายสูงสุด เพราะ addition สูงสุด และ เป็นจุดที่ห่างเซนเตอร์มากที่สุด (คือ induce vertical prism effect มากสุด) ทำให้ภาพเส้นตรงในแนวตั้งนั้นดูเอียง

ด้านข้างของเลนส์โปรเกรสซีฟ คือภาพบิดเบือนจากการขัดโครงสร้าง unwanted oblique astigmtism เข้าไปเพื่อประสานรอยต่อ ซึ่งภาพบิดเบือนจะเพิ่มขึ้นเมื่อมองหลุดโซนของสนามภาพไปในแนวด้านข้าง

 

จะลดปัญหาการเห็นเป็นคางหมูได้อย่างไร

 

1. Lens technology

เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการกับ aberration ต่างๆ ที่เกิดบนโครงสร้างโปรเกรสซีฟ ซึ่งอย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่า ปัญหาของเลนส์โปรเกรสซีฟคือ aberration และ เหตุของ aberration นั้นก็มากมายเหลือเกิน ผู้ผลิตเลนส์ที่ดีจะพัฒนาวิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีต่างๆเพื่อที่จะแก้ไข aberration ที่จะเกิดจากสาเหตุต่างได้ดี

 

2. Fitting

การฟิตติ้งตำแหน่งเซนเตอร์ของโปรเกรสซีฟนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ไม่มีโอกาสให้พลาดได้เลย เนื่องจาก visual field บนโครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้น ไม่ได้กว้างเวอร์วังเหมือนที่เซลล์ขายเลนส์บอกเรา เพราะความจริงมันไม่ได้กว้างอย่างนั้น และ ยิ่ง addition สูงเท่าไหร่ ภาพบิดเบือนก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  ดังนั้นการผิดพลาดของการฟิตติ้งแม้เพียงเล็กน้อยสามารถสร้างปัญหาได้มากสำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟ  ดังนั้นเลิกซะนะ สำหรับคนที่วัด PD รวมแล้วเอามาหารครึ่ง  หรือ ไม่เคยสนใจ fitting high คนตาสูงต่ำไม่เท่ากันก็ฟิตให้มันเท่ากันแบบนี้ มันใช้ไม่ได้ เพราะโปรเกรสซีฟมันมี power-chanal ของมันอยู่ และแต่ละช่องมองนั้นเวลาคนไข้กวาดตาลงคนจะได้เจอ power ที่เท่าๆกันจึงจะสามารถรวมภาพกันได้ดี (ผู้ผลิตเขา concern binocular vision แต่มาพังจากงานหยาบๆของคนฟิตติ้ง มันไม่คุ้ม)

 

3.จัดสายตา

อีกประเภทคือพวกที่ไม่เข้าใจคำว่าแก่นของการทำ “Binocular Balancing” ว่าทำไปทำไมหรือทำไปเพื่ออะไร เพราะพวกที่ไม่เข้าใจจะคิดว่า ขั้นตอนการทำ binocular balancin ด้วยการ induce prism 3BUOD / 3BDOS แล้วเกิดเป็น 2 ภาพ แล้วถามคนไข้ว่า “บนกับล่าง อันไหนชัดกว่ากัน” จากนั้นก็ทำการ fogging ให้ทั้งสองภาพชัดเท่ากัน จากนั้นก็ fog/unfog จนคนไข้เห็น VA 20/20 นั้น ทำไปเพื่ออะไร  ตอนสอนก็สอนว่าต้องจ่าย MPMVA (maximum plus ,maximum visual acuity  / minimum-minus , maximum visual acuity) 

 

แต่พอจ่ายจริง เวลาเห็นว่าสายตาสองข้างคนไข้ต่างกันมาก (anisometroap) จะเริ่มหลอน แล้วมโนไปเองว่า Anisometropia มันจะ induce Aniseikonia อาจจะทำให้เกิดภาพซ้อน จากนั้นก็ทำการปัดสายตาที่ไม่เท่ากัน (ที่ตัวเองบาลานซ์มาตามขั้นตอนมากับมือ) ให้มันเท่าๆกัน โดยไม่สนใจ(หรือไม่เข้าใจ) ว่า accommodation เป็นระบบที่เข้าหนึ่งออกสอง คือกระตุ้นเพ่งข้างอีกอีกข้างจะเพ่งในปริมาณที่เท่าๆกัน ทีนี้พอแต่ละข้างถูกกระตุ้นไม่เท่ากัน แล้วจะให้ accommodation respond ยังไง   แล้วพอไปทำเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ ที่โครงสร้างมันมี channel-power เรียงลงมาในแนวดิ่งเหมือนขั้นบันได แล้วถ้าจัดสายตามาโดยไม่สนใจว่า accommodation ว่าจะ balance หรือไม่ เวลาคนไข้เหลือบตาลงต่ำขณะผ่านแต่ละ channel จะต้องเพ่งให้ได้กำลังตามสายตาข้างไหน (ในเมื่อต้องเพ่งไม่เท่ากัน)

 

ดังนั้นขั้นตอนการทำ binocular balance จึงไม่ใช่การ balance power ให้มันเท่ากัน (หรือหัวหดจนกระทั่งไปก๊อบค่าสายตาเก่ามาจ่ายให้คนไข้) แต่มันเป็นการ balance accommodation ให้มัน respond เท่าๆกัน ด้วยการสร้างโฟกัสที่กระตุ้นจอประสาทตาเท่าๆกัน (ห่างจอประสาทาเท่าๆกัน) และ การ full correction คือการทำให้คนไข้เสมือน emmetropia อีกครั้ง ไม่ใช่ย้ายจาก refractive error หนึ่งไปสู่อีก error หนึ่ง พอเอาค่าผิดๆเหล่านี้ไปจ่ายปริซึม มันจึงพากันพังหมด นั่นเอง

 

ดังนั้น ลองพักเรื่องจัดสายตาแล้วมาศึกษา full-correction แล้วทำสิ่งที่ถูกต้องตรงมาตรงไปดีกว่า  เลนส์สมัยนี้ดีกว่าเมื่อร้อยปีก่อนมาก  ความรู้บางอย่างมันก็ถูกต้องในบริบทที่เรายังฝนเลนส์ด้วยหินหรือด้วยมือ แต่ไม่ใช่ในยุคดิจิทัลฟรีฟอร์มอย่างในปัจจุบัน  ก็คงต้องฝากถึงคนที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น consult clinic ช่วยสอนเด็กด้วยวิถีที่ถูกต้อง อย่าสอนว่าคนนั้นคนนี้จัดสายตาเก่ง มันมีแต่จ่ายถูกกับจ่ายผิดแค่นั้น  และ เมื่อก่อนผมก็เป็นคนหนึ่งที่เคยถูกสอนมาอย่างนั้นว่า การตรวจสายตาคือการทำยังไงก็ได้ให้คนไข้ใส่ได้ ผิดๆถูกๆ ก็ทำให้เขาใส่ได้ กลายเป็นว่าค่าที่ใส่ง่ายที่สุดคือ “ค่าที่ชิน” คนไข้ใส่ผิดๆมา แต่ถ้าเขาชินก็จ่ายๆแบบเดิมให้เขาไป (เอาตัวให้รอด) แต่พอได้ทำงานจริงๆกลับพบว่า “ เราสามารถจ่ายเลนส์ตามค่าที่ถูกต้องได้แบบตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องจัด เพียงแต่เราต้อง varify ให้ได้ว่านั่นเป็นค่าที่ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่เป็นค่าที่เรามโนไปเองว่ามันถูกต้อง” that’s..the point.

 

3.Adaptation

อย่างที่พูดไปแล้วข้างต้นว่า  ภาพที่เราเห็นนั้น มันเป็นการตีความของสมองเมื่อได้รับคลื่นไฟฟ้าเคมีที่จอประสาทตาเราส่งให้สมอง ซึ่งมันจะมี pattern ของมันตามระบบเชิงออพติกเดิมที่มีอยู่ เช่นเดิมไม่ใส่แว่น รูปแบบภาพบนจอตาก็อย่างหนึ่ง  ใส่แว่น full correction รูปแบบภาพบนจอตาก็เป็นอย่างหนึ่ง  ใส่แว่นที่ผ่านการจัดสายตามา รูปแบบภาพบนจอตาก็เป็นอีกอย่าง

 

ดังนั้น เมื่อเราทำการแก้ไขระบบออพติกใหม่ เช่น เปลี่ยนค่าสายตา เปลี่ยนแกนสายตาเอียง เปลี่ยนพารามิเตอร์แว่น เป็นต้น เหล่านี้ก็จะทำให้รูปแบบสัญญาณภาพที่ส่งไปสมองนั้นมีรูปร่างที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งก็เป็นเรื่องของสมองที่จะต้องเกิดการเรียนรู้ใหม่  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ไม่ควรจะเกิน 1 สัปดาห์ หรือนานที่สุดก็ไม่เกิน 2 สัปดาห์​  สำหรับผมทำงานเฉลี่ยคนไข้ปรับตัวประมาณ 0-3 วัน สำหรับเลนส์ full correction ส่วนตัวผมไม่เคยจัดสายตา ตรวจเจออย่างไร จ่ายไปอย่างนั้น ตรงมาตรงไป แต่สำคัญคือต้องเลือกเทคโนโลยีเลนส์ให้เหมาะกับปัญหาของสายตาที่เป็นอยู่  ถ้าปัญหาซับซ้อนมากแต่คนไข้จ่ายเลนส์ hi-tech ไม่ไหว ก็จะต้องอธิบายในเรื่องเวลาการปรับตัว หรือ ผลข้างเคียงในช่วงแรกให้คนไข้เข้าใจ  เมื่อเข้าใจ คนไข้ก็จะให้ความร่วมมือ การรักษาของเราก็ประสบผลสำเร็จ

ดังนี้แล...

 

ท้ายสุด ก็เหมือนเดิม ขอบคุณพี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ ทุกท่านสำหรับการติดตาม และ ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความเรื่องนี้จะทำให้ท่านที่สงสัย ได้ลดความสงสัยลงได้บ้าง ไม่มากก็น้อย 

พบกันใหม่ตอนหน้า

สวัสดีครับ

ดร.ลอฟท์


 

 578 Wacharapol rd ,Tharang ,Bangkhen ,BKK 10220

Mobile : 090-553-6554

lineID : loftoptometry

fb : www.facebook.com/loftoptometry