ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นลูกค้าแว่นสำเร็จตามแผงลอยข้างถนน ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งขณะนั้นผมเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามีปัญหาสายตาสั้น เพราะก็อยู่กับโลกมัวๆ ก็เลยนึกว่าคนอื่นเขาก็คงเห็นเหมือนๆกันกับเรา ตอนนั้นเรียนอยู่ ม.4/1 โครงการวิทย์ ร.ร.วัดเขมาภิรตาราม มีวันหนึ่ง มีเพื่อนร่วมห้องชื่อปลา เป็นเพื่อนที่ใส่แว่นตลอดเวลา แต่เขาก็ถอดแว่นวางไว้บนโต๊ะบ้างบางที นึกสงสัยก็หยิบมาส่องดูว่าเพื่อนใส่ทำไม ใส่แล้วมันเห็นอะไร พอได้ลองก็ตกใจว่าเขาเห็นกันอย่างนี้หรือ แม้จะลองสวมได้ไม่นาน เพราะปวดหัว แต่รู้เลยว่า โลกที่เราเห็นไม่ได้เหมือนกับโลกที่เพื่อนเห็น จึงเป็นครั้งแรกที่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาสายตา แต่ก็กลัวร้านแว่นเพราะเคยมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับร้านแว่น ซึ่งต้องย้อนกลับไปสมัยที่ตัวเองอายุ 13 ปี
ปัญหาการมองเห็นของผมสมัยนั้นคือ ภาพจะเกิดเงาซ้อนขึ้นมา หลังจากอ่านหนังสือไปสักระยะหนึ่งจะเกิดเป็นเงาซ้อนขึ้นมาเหมือนหนังสือพิมพ์บางหน้าที่พิมพ์มาแล้วหมึกเลอะๆ และได้เข้าไปวัดสายตากับร้านแว่นชื่อดังที่มีสาขาเยอะที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสาขาที่ผมเข้าไปใช้บริการคือ สาขาตลาดบางบัวทอง นนทบุรี พนักงานต้อนรับดีมาก เอาน้ำส้มมาเสิร์ฟ แล้วก็ให้เข้าห้องตรวจ เป็นห้องเล็กๆ ลึกน่าจะไม่น่าเกิน 3 เมตร มีคอมพิวเตอร์วัดสายตาเครื่องนึง ช่างก็ให้มองบอลลูน แล้วก็เอาค่ามาลองเสียบเลนส์ แล้วก็ถามเพื่อให้เลือก เลนส์ที่เราคิดว่าชัด ซึ่งไม่รู้จะบอกยังไง ว่ามันก็ชัดนะ แต่มันรู้สึกตึงๆ จ้าๆ แปลกๆ และ ก็ได้บอกอาการช่าง แต่ช่างก็บอกว่า ใส่แว่นใหม่ๆ ก็เป็นแบบนี้ เดียวก็ชิน จากนั้นก็ให้ไปเลือกกรอบแว่น สรุปว่า ได้กรอบแว่น 4000 บาท เลนส์ 3000 บาท รวมประมาณ 7000 บาท ซึ่งทองคำปี 2541 ประมาณบาทละ 5000บาท ดังนั้นมูลค่าแว่นครั้งนั้น ถ้าเทียบเป็นเงินสมัยนี้ก็น่าจะราวๆ 80,000 บาท และ เป็นการจ่ายแว่นที่ตัวเองรู้สึก โง่ทีสุดเท่าที่เคยทำมา
หลังจากได้แว่น ทันทีที่ใส่รู้สึก ชัดแต่ จ้าและแสบตา ปวดหัวตุบๆ แต่ช่างถามว่าชัดไหม ให้ถอดเข้าถอดออกเทียบกับตาเปล่า ซึ่งผมก็บอกว่ามันชัดกว่า แต่มันแปลกๆ ซึ่งช่างก็บอกว่า ใหม่ๆ ยังไม่ชิน ใส่ไป 3 วันเดี๋ยวก็ชิน พอวันที่สามผมกลับไปใหม่เพราะยังไม่ชิน ช่างก็บอกว่าให้ใส่ต่อไปอีก 5 วัน พอผ่านไป 5 วันก็ยังไม่ชิน จึงกลับไปที่ร้านอีกครั้ง ช่างบอกว่า ประกัน 7 วัน อันนี้มันเลยมาแล้ว ดังนั้นเคลมไม่ได้ ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง สุดท้ายก็ทิ้งไป นั่นคือความโง่ครั้งที่หนึ่ง
โง่ครั้งสอง ตอนนั้นบวชเณรอยู่ มีรถหน่วย มาตัดแว่นที่วัด เขาก็ set เครื่องมือกลางศาลา แล้วก็วัดสายตาคล้ายๆกับร้านชื่อดัง แล้วได้แว่นมาอันนึง ครั้งนั้นทำไปอีก 3000 บาท ให้รอหนึ่งสัปดาห์ แล้วเขาก็ส่งไปรษณีย์มา แล้วก็ใส่ไม่ได้ เหมือนเดิม แถมยังติดต่อไม่ได้ด้วย เพราะสมัยนั้นไม่ได้มีช่องทางติดต่อง่ายเหมือนสมัยนี้ ก็เลยต้องทิ้งอีกเช่นเคย
จากประสบการณ์ที่เลวร้ายทั้งสองครั้งทำให้ผมเข็ดขยาดกับการทำแว่นราคาแพง แต่จบด้วยการทิ้งทุกครั้ง แล้วก็เลือกที่จะอยู่แบบมัวๆ ซึ่งโชคดีที่ผมเป็นสายตาสั้นและมีสายตาเอียงเล็กน้อยๆ ก็เลยดูใกล้สบายหน่อย มองไกลไม่เห็นก็ไม่ต้องไปดูมัน และ ก็ใช้ชีวิตแบบนั้น จนกระทั่งเรียน ม.ปลาย หลังจากได้ลองหยิบแว่นเพื่อนปลามาส่องดู หลังจากนั้นระหว่างเดินทางกับบ้านซึ่งต้องผ่านตลาดน้ำนนท์ เห็นแผงลอยขายแว่นตาสำเร็จรูป ก็เลยหยิบลองเอาอันที่ชอบ ซื้อมาน่าจะ 150 บาท แต่ก็ใส่ติดตาไม่ได้ ก็จะพกใส่กระเป๋า เวลาจะดูป้ายรถเมล์ก็จะหยิบมาส่องดูว่าสายอะไร เพราะเคยขึ้นรถผิดสายไปหนหนึ่งก็เข็ด
เรื่องข้างต้นเป็นประสบการณ์ไม่ดีที่ผมเจอในการทำแว่น จนต้องไปเล่นเสี่ยงกับแว่นสำเร็จรูป แล้วก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ จนต้องเลือกที่จะเรียนสาขาที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น อย่างน้อยก็เพื่อตอบคำถามปัญหาตาของตัวเอง นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ ดร.ลอฟท์ ในช่วงชีวิตมัธยม จนเกิดเป็น loft optometry ในปัจจุบัน
ประเทศไทยเป็นประเทศที่แปลกในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพราะกฎหมายมักจะมีรูให้ทนายศรี (ธนญชัย) มองหาช่องทางเพื่อเอาตัวรอด เรียนกฎหมายก็เพื่อหารูเพื่ออุดไม่ก็เพื่อมุด นักกฎหมายเก่งๆคือหารูเก่ง อุดก็เก่ง มุดก็เก่ง ซึ่งในหลายๆเรื่องก็เป็นแบบนั้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสาธารณสุขด้านสายตา
เลนส์สายตาและคอนแทคเลนส์ จัดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ และ ต้องมี อย. ดังนั้นเลนส์ทุกคู่ที่ใส่มาในซอง จะต้องมีเลขที่ อย. ไม่ว่าจะเป็นเลนส์สายตาหรือคอนแทคเลนส์ ดังนั้นบริษัทผู้ผลิตเลนส์รายใหญ่ๆ ที่จะขายในประเทศไทยจะต้องเข้ามาตรฐานของ อย. แต่เป็นเรื่องตลกที่เลนส์จีนสำเร็จรูปที่ขายกันเกลื่อนในบ้านเรา ไม่ต้องมีอย. ก็ได้ ประหนึ่งว่า อย.นั้นก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรในวงการเลนส์สายตา ใครใคร่ถูกก็ถูกไป ใครใคร่ผิดก็ผิดไป สบายๆ ตามประสาไทยๆ โดยให้สิทธิของผู้บริโภคเป็นคนกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ยังไงยังงั้น
แต่เรื่องนี้ก็พูดยากอยู่เพราะบางคนอาจจะมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีกับแว่นตาคือ ตั้งใจเก็บเงินทำแว่นดีๆ แล้วกลับไม่ได้ดี ใส่ไม่ได้ เคลมก็ไม่รอด เบื่อเคลมก็ย้ายร้าน ย้ายไปก็ไม่รอดอีก สุดท้ายก็ต้องต้องทิ้งแว่นไปเป็นขยะ ไม่ก็บริจาคกรอบแว่นส่งต่อให้มูลนิธิคนยากไร้ไป แล้วก็เหมาว่าแว่นอะไรก็ไม่ดีทั้งนั้น งั้นก็เอามันถูกๆ ใส่ไม่ได้ก็ทิ้งไปแบบนี้ก็มี ซึ่งเรื่องแบบนี้ผู้ให้บริการแว่นตาก็มีส่วนที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างนั้นด้วย คือทำแพงแล้วใส่ไม่สมราคาที่โฆษณาเอาไว้
ว่าด้วยเรื่องโฆษณา ไม่มีโฆษณาใดที่ประดิษฐ์คำได้เวร์วังอลังการเท่ากับวงการขายของที่เกี่ยวกับตา และดูเหมือนจะมีความชอบธรรมในการทำโอเวอร์ด้วย เพราะประสาทการมองเห็นเป็นประสบการณ์ส่วนตัว แบ่งปันให้ใครไม่ได้ ชัดก็ชัดคนเดียว เห็นก็เห็นคนเดียว ไม่เหมือนกินอาหารถ้าอร่อยก็ยังแบ่งกันอร่อยได้ ถ้าหอมก็แบ่งกันหอมได้ ถ้าเสียงดีก็แบ่งกันฟังได้ แต่ประสาทตาของใครของมัน ดังนั้นไอ้คนโฆษณาก็เพ้อพบไปเรื่อย จริงไม่จริงไม่รู้ เพราะตาใครก็ตามัน แล้วว่าไม่ได้ด้วยนะ เพราะมันเป็นประสบการณ์ส่วนตัว ดังนี้แล....
ดังนั้นบทความเรื่องนี้ ก็ขอเป็นหนึ่งอาวุธทางความคิด เมื่อผู้บริโภคต้องตัดสินใจกระทำบางสิ่งบางอย่างกับตาของตัวเอง ว่าจะเลือกทางไหนดี ทางหนึ่งเป็นทางที่ดีอยู่แล้วแต่ค่าทางด่วนแพง แต่อีกทางก็ประหยัดดีแต่ดูจะเสี่ยงและเต็มไปด้วยอันตราย ดังนั้นถ้าจะเลือกทางประหยัด ก็คงต้องรู้ว่าเส้นทางที่ว่านั้นเราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง จะได้ชั่งใจดูว่า จะเสี่ยงไหม ซึ่งวันนี้ผมจะพรรณาให้ฟัง
แว่นสำเร็จคือแว่นตาที่ทำเสร็จแล้ว ใส่ถุงพร้อมขายตามร้านสะดวกซื้อและร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปหรือข้างถนนตลาดนัดก็มี ราคาเริ่มตั้งแต่ 25 บาท ไปจนถึง 250 บาท ถ้ายกโหลพวงละ 180 บาท เหมาไปได้ ตลาดสำเพ็งมีเพียบ ถ้าเป็นคนขี้หลงขี้ลืมก็ซื้อหลายอันไปไว้ตามจุดต่างๆของบ้าน ถ้าหายก็ซื้อใหม่ ฟังดูเหมือนตลกแต่แว่นพวกนี้เขามี target ของเขาจริงๆ โดยไม่ต้องรู้ว่าอะไรจะตามมา (ผมเคยมีช่วงเวลาที่โง่มาก่อน) งั้นวันนี้ มารู้กันว่า อะไรจะตามมาบ้าง แต่ก่อนอื่น เราควรจำไปทำความรู้จักแว่นกันสักหน่อยว่ามมันมีอะไรอยู่ในนั้นมากกว่า ชองกลมๆเหลี่ยมๆ แล้วใส่เลนส์เข้าไปได้
สาระของกรอบแว่นจริงๆคือเรื่อง “parameter “ ซึ่งก็คือลักษณะของแว่นขณะที่เราสวมใส่บนใบหน้า ( position of wear ) ซึ่งมันจะเป็นตัวกำหนดว่าเลนส์ที่ตาเราต้องมองผ่านนั้น ทำมุมอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้ เราต้องเข้าใจลักษณะการเคลื่อนที่ของลูกตาของเราก่อน
ตาของเราเมื่อมีการเคลื่อนที่ จะเคลื่อนที่รอบจุดหมุน (ไม่ได้สไลด์ขวา/ซ้าย/บน/ล่าง) ดังนั้นแว่นตาจะต้องออกแบบให้เกิดความโค้งที่จำเพาะและเหมาะสมต่อลักษณะของการกวาดสายตาวิถีโค้ง ซึ่งแว่นดีๆ เขาจะออกแบบมาบนมาตรฐานเดียวกันคือ หน้าแว่นโค้ง 5 องศา (ไม่นับแว่นสปอร์ตที่จะต้องโค้งกว่ามาตรฐาน และ แว่นที่ไม่โค้งหรือโค้งแอ่นออกที่ไม่ได้มาตรฐาน) และ ถ้าเราสังเกตุ เราจะเห็นว่า lens demo ที่ติดมากับกรอบแว่นจะมี base curve 5 พอดี เพื่อให้เข้ากับกรอบแว่นโค้งมาตรฐาน 5 องศา
เมื่อโค้งแว่น โค้งเลนส์ สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่วิถีโค้งรอบจุดหมุนของดวงตา มันจะทำให้ แนวการมอง (visual axis) ที่มองผ่านเลนส์จะมีความตั้งฉากมากที่สุด เมื่อแสงผ่านเลนส์แบบฉาก การโฟกัสก็จะสมบูรณ์ ความคลาดเคลื่อนของแสงจากแสง off-axis เช่น unwanted oblique astigmatism ก็จะน้อย จุดชัดก็เยอะขึ้น การกวาดตาก็ได้กว้างขึ้น
กลับไปที่แว่นสำเพ็ง ถามจริงๆว่า เขาจะให้ความสำคัญทุกอย่างในราคากรอบพร้อมเลนส์ 50 บาทหรือไม่ แต่ไม่แน่ เขาอาจจะเป็นพ่อพระก็ได้ อยากทำบุญให้คนยากไร้ ทำดีๆขายถูกๆ ขาดทุนช่างมัน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ขออนุโมทนาสาธุด้วย ขอให้เจริญๆ มีทุนทำแว่นดีๆ ในราคาขาดทุน ตลอดไป สาธุ
การทำแว่นที่มี position of wear ออกมาดี คือมีความโค้ง 5 องศา มุมเท 9 องศา ระยะห่างตาที่เหมาะสมพอดี 12 มม. จากนั้นก็ทำพิมพ์ขึ้นมาแล้วก็ฉีดพลาสติกเข้าไป ก็ดูจะไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า แว่นตัวเดียวกัน อยู่ในแต่ละคนซึ่งมีลักษณะทางสรีระต่างกัน ก็ย่อมให้มุมที่ต่างกันเช่นกัน ดังนั้น แว่นมันจึงสมควรจะต้องดัดได้ ถ้าดัดไม่ได้ก็ต้องอาศัยคนใส่ที่บล๊อกหน้าแบบ super model ถ้า perfect อย่างนั้นก็ไม่ว่ากัน
ขึ้นชื่อว่าเลนส์ ไม่ว่าจะเลนส์อะไร เลนส์สายตา คอนแทคเลนส์ เลนส์แก้วตา กระจกตา เลนส์แก้วตาเทียม เลนส์กล้อง เลนส์ส่องทางไกล เลนส์ดูดาว ล้วนมีลักษณะทางกายภาพที่เหมือนกันคือ “มีความโค้ง” โดยเลนส์จะมีโค้งหน้าและโค้งหลัง ซึ่งถ้าเป็นเลนส์สายตาจะเป็นเลนส์ชนิด meniscus คือผิวหน้าเป็นโค้งนูน ส่วนผิวหลังเป็นโค้งเว้า หรือ ถ้ามองไปที่กระจกตาจะเป็นแบบ meniscus เช่นกัน แต่เลนส์แก้วตาจะโค้งนูนสองด้าน ( bi-convex) สรุปคือ เลนส์จะต้องมีลักษณะที่โค้ง ดังนั้นกระจกบ้าน ไม่มีความโค้งจึงไม่จัดว่าเป็นเลนส์
เลนส์กันแดด ที่ไม่มีสายตาเพราะ โค้งหน้าเท่ากับโค้งหลัง ค่าสายตาจึงหักล้างกันเป้น 0.00 ดังนั้นจะบอกว่าเลนส์กันแดดไม่มีสายตาไม่ได้ เพราะจริงๆคือมันมีค่าสายตา 0.00D
เลนส์สายตา จะมีผิวโค้งหน้ากับโค้งหลังไม่เท่ากัน และ ผลต่างคือค่าสายตา จริงๆเราสามารถเอานาฬิกาวัดโค้งวัดผิวหน้าเลนส์และหลังเลนส์ จากนั้นรวมกำลังแบบพีชคณิต (เอาเครื่องหมายมาด้วย โดยโค้งหน้าเป็นบวก โค้งหลังเป็นลบ) เราก็จะได้ค่าสายตาของเลนส์นั้นๆ เช่น ผิวหน้าโค้ง +5.00 , ผิวหลังโค้ง -6.00D ดังนั้นค่าสายตา = (+5)+(-6)=-1.00D
เลนส์มีหน้าที่สำคัญคือ สามารถบังคับการลู่ของแสงได้ (เปลี่ยน vergence ของ ligh ray) เช่นแสงวิ่งมาตรงๆ เลนส์เว้าก็สามารถบังคับทิศทางแสงให้มันลู่เข้าหากันได้ หรือเลนส์ลบก็สามารถบังคับให้มันถ่างออกจากกันได้ คนสายตายาว โฟกัสตกไกลเกินไป ก็ใช้เลนส์นูนเพื่อช่วยให้มันลู่เข้าเร็วขึ้น หรือ คนสายตาสั้น โฟกัสตกเร็วเกินไป ก็เลนส์เว้าถ่างแสงให้มันเลื่อนโฟกัสถอยหลังออกไป
ดังนั้นในทาง physiology เลนส์จะมี 2 จุดใหญ่ๆที่มีฟังก์ชั่นต่างกัน คือ จุดศูนย์กลางเลนส์ (optical center) และ จุดที่ไม่ใช่ optical center ซึ่งก็คือจุดรอบๆที่ไม่ใช่ศูนย์กลางเลน (lens periphery) ส์นั่นเอง
Optical center คือจุดที่มีแต่คุณสมบัติของการบังคับ vergence ของแสงเพื่อเกิดโฟกัสตามกำลังเลนส์ โดยที่ไม่มีปริซึมอยู่ ขณะที่จุดอื่นๆนอก OC จะเป็นจุดที่มีทั้ง power และ prism ทำให้มีคุณสมบัติทั้งเปลี่ยน vergence ของแสงและย้ายตำแหน่งภาพจาก prism effect ยิ่งห่างจาก OC มากเท่าไหร่ ปริซึมก็แรงมากเท่านั้น ซึ่งเราคำนวณได้จากสมการ prism = cF โดย c คือระยะห่างที่หลุดจาก OC มีหน่วยเป็นเซนติเมตร และ F คือกำลังเลนส์มีหน่วนเป็น Diopter
เช่น เลนส์ -10.00D มองหลุดเซนเตอร์ 10 มม. (1ซม.) จะเกิดปริซึม P=1(10)=10 prism ส่วนตำแหน่งก็ดูเอาว่า ประกอบเซนเตอร์เคลื่อนไปทางไหน ศึกษาเรื่อง จ่ายปริซึมทำไมจากลิ้งค์ที่แนบมา https://www.loftoptometry.com/ เลนส์ปริซึมจ่ายเพื่ออะไร ?
ดังนั้น การประกอบเลนส์ จะต้องประกอบให้ศูนย์กลางรูม่านตานั้นอยู่ตรงตำแหน่ง optical center เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจาก prism effect ตำแหน่งที่ว่านั้น เราเรียกว่าตำแหน่ง PD ( pupillary distant) ถ้าวางมาไม่ตรง ก็จะต้องเจอปริซึมแน่ๆ
ปริซึมจะไปย้ายตำแหน่งภาพ ทำให้กล้ามเนื้อตาต้องบังคับลูกตาให้ย้ายตามตำแหน่งภาพที่ถูกย้ายด้วยกำลังของปริซึม เพื่อพยายามมากก็เครียด ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน นั่นหล่ะครับ
ถามกลับ “แว่นสำเพ็งสำเร็จรูป” เขาทำเสร็จแล้ว ประกอบเสร็จแล้ว แล้วเขาไปเอาค่า PD เรามาจากไหน คำตอบคือเขา โนสน โนแคร์ อยู่แล้ว (พ่อพระอีหยังหว่ะ) และ ส่วนใหญ่ PD ของตาแต่ละข้างก็ไม่เท่ากัน ตาสูงต่ำไม่เท่ากัน หูสูงต่ำไม่เท่ากัน แล้วแว่นสำเร็จเขาทำอะไรอยู่ ซึ่งผมก็ไม่รู้ แต่ที่รู้ๆคือ “ทำบาปในคราบนักบุญ” ขายแว่นราคาถูกไร้มาตรฐานให้คนไม่รู้ (ผมอดีตฐานะผู้บริโภคที่สมัยยังโง่อยู่ ผมไม่ได้รู้สึกว่า แว่นผิดๆ ราคาถูกๆ ไม่ใช่เป็นการทำบุญ ยิ่งเป็นแว่นแพงที่ใช้ไม่ได้ยิ่งบาปทวีคูณ)
กำลังเลนส์แว่นตาสำเร็จรูป มันจะมีเบอร์เขียนไว้เลยว่า ค่าสายตาเท่าไหร่ ซึ่งสองข้างเท่ากัน และ ไม่มีสายตาเอียง แต่ประสบการณ์ทำคลินิก 10 ปี ยังไม่เคยมีคนไข้สายตา 0.00 เลยแม้แต่คนเดียว (ถ้ามีเขาก็คงไม่ต้องดั้นด้นมาถึงลอฟท์กระมัง) และ น้อยกว่า 1% ที่ไม่มีสายตาเอียง และ น้อยกว่า 1% ที่ค่าสายตาสองข้างเท่ากัน และ ผมก็ไม่เคยจัดสายตาที่ไม่เท่ากันให้มันเท่ากัน
ดังนั้น แว่นสำเร็จรูปต้องทำใจข้ามจุดถูกต้องนี้ไป อีกนัยหนึ่งคือโอกาสที่คนซื้อแว่นสำเร็จแล้วจะได้ค่าตรงกับตาของตัวเองนั้นมีน้อยกว่า 1% เพราะมันทำ mass ไม่ได้ แต่มันคนละกรณีกับเรื่อง “ชัด” ก็อย่างที่ผมพูดบ่อยๆคือ “ชัด..แค่ชัด...ชัดไม่ได้บอกอะไร” สายตาที่ถูกต้อง...ชัดเสมอ แต่ชัดอย่างเดียวไม่ได้แปลว่าสายตาถูกต้อง เพราะอันอาจจะเป็นค่าที่เกินมาแล้วเลนส์ตาเราเพ่งเอาก็ได้
ใส่แว่นผิดแล้วตาพังยังไง...ท่านที่สนใจ ผมเคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน ลองไปหาอ่านดูนะครับ ตามลิ้งที่แนบมานี้ ....https://www.loftoptometry.com/อันตรายจากการใช้แว่นที่ผิด
ในกระบวนการผลิตเลนส์จะมี 3 ส่วนหลักๆ คือ เนื้อวัสดุ กระบวนการขัด และ กระบวนการเคลือบผิวเลนส์
เลนส์ปัจจุบันนี้มีพลาสติกเป็นสารตั้งต้น แต่ไม่ใช่ว่าพลาสติกอะไรก็ได้ เพราะมันต้องมีค่าความใส (abbe number) เพื่อลดการคลาดเคลื่อนของโฟกัสของแสงขาวได้ โดยเฉพาะกับการคลาดเคลื่อนของสี (chromatic aberration) จึงต้องมีการพัฒนาวิจัยส่วนผสมต่างๆในการสร้างเนื้อเลนส์เหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งหลักๆที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันนั้นใช้ของบริษัท Mitsui Chemicals (Japan) ซึ่งบริษัทนี้เขาเน้นผลิตวัสดุเลนส์สำหรับใช้ทางการแพทย์แต่ไม่ได้ทำเป็นเลนส์สายตา ซึ่งเกือบจะทุกบริษัทจะใช้เนื้อวัสดุจากบริษัทนี้เพื่อในไปเป็นสารประกอบตั้งตั้นในการทำเลนส์สายตา ที่เราเรียกติดปากกันว่าเนื้อ MR ก็คือ Mitsui Resin นั่นเอง ซึ่งเป็นเนื้อเลนส์กลุ่ม High Index คุณภาพสูง และ ที่คุ้นเคยกันได้แก่ : ศึกษาผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับ mitsui : https://jp.mitsuichemicals.com/en/special/mr/
MR-8 (index 1.6) : คุณสมบัติเหนียว น้ำหนักเบาและบางกว่า CR-39 (index 1.5)
MR-7 (index 1.67) : บาง เบา ใส เหนียวพอที่จะใช้กรอบเจาะ
MR-10 (index 1.67) : เหนียวและทนต่อการแตกได้ดีกว่า MR-7
MR-174 (index 1.74) : บางเกือบสุด ค่าความใส(abbe)ยังดีอยู่ เหมาะกับสายตาสูงๆ เนื้อเปราะ เจาะไม่ได้
MR-175 (index 1.76) : บางสุดในปัจจุบัน (แต่เขา exclusive ให้กับบริษัท Tokai) จึงไม่มีเนื้อเลนส์ชนิดนี้ในบริษัทเลนส์อื่นๆ
เลนส์สายตาราคาถูกหลักสิบบาทจริงๆก็ระบาดอยู่พอสมควรในตลาดแว่นบ้านเรา ที่เขาเอาไว้ทำโปรโมชั่นกรอบพร้อมเลนส์ 290 บาทนั่นหล่ะ เลนส์พวกนี้เป็นเลนส์คุณภาพต่ำจากประเทศจีน ไม่ต้องมี อย. จึงสามารถทำเลนส์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานออกมาขายได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือทำไมราคาเลนส์ถึงถูกได้ขนาดนั้น ซึ่งเหตุผลเท่าที่ดูๆ ก็พอจะสรุปได้ว่า
เลนส์ราคาถูกเหล่านี้ใช้เนื้อเรซินคุณภาพต่ำซึ่งบางโรงงานอาจจะใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ส่งผลให้ทั้งคุณภาพของเลนส์และคุณภาพเชิงออพติกนั้นต่ำ ซึ่งต่างจากเรื่องเนื้อ MR ที่พูดไปข้างต้นโดยสิ้นเชิง จึงสามารถทำราคาให้ถูกได้
คุณภาพเนื้อวัสดุเลนส์เกรดต่ำเหล่านี้เกี่ยวข้องกับ chromatic aberration โดยตรง ซึ่งเลนส์ low cost เหล่านี้มักจะมีค่า abbe ที่ต่ำ ทำให้แสงเมื่อวิ่งผ่านเลนส์แล้วเกิดการแยกสเปคตรัมสีรุ้งออกมา ยิ่งสายตาสูงๆ และ มองหลุด optical center มากๆ ก็จะยิ่งเจอ chromatic aberration มาก เวลาอ่านหนังสือก็จะเห็นว่าขอบหนังสือมีขอบสีรุ้งๆขึ้นมา
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เลนส์ low cost เหล่านี้ ไม่มีงบพอที่จะทำผิว multi-coating ดีๆได้ ดังนั้น แสงฟุ้งกระจาย แสงสะท้อน, glare ,flare เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
การทำโค้ตต้ิง พอทำดีไม่ได้ ก็ไม่ทนต่อรอยขีดข่วน โค้ตก็จะลอก แตกลายงา ย่น ในเวลาอันรวดเร็ว
เลนส์พวกนี้จะใช้กรรมวิธีการหล่อเป็นเลนส์สายตาผ่านแม่พิมพ์ โดยโมล์จะมีโมล์หน้ากับหลัง แล้วนำมาประกบกัน จากนั้นมันจะเกิดช่องว่างระหว่างโมล์สองอันนั้น จากนั้นก็ฉีดน้ำยาเรซินเข้าไป ทิ้งให้แห้งแล้วเอาไปอบ พอแกะออกมาก็จะได้เลนส์สายตา ซึ่งโมล์ตัวหนึ่งๆน่าจะหล่อเลนส์ได้เป็นหมื่นชิ้น (โมล์แพงต้องเอาให้คุ้ม) แน่นอนว่า เมื่อโมล์มันสึก มาตรฐานย่อมไม่เหมือนเดิม ดังนั้นเลนส์พวกนี้ค่าสาตาไม่ค่อยตรง ไม่ขาดก็เกิน บางที optical center ไม่อยู่ตรงกลางเลนส์แต่กลับไปอยู่ที่ขอบๆเลนส์ก็มี คนทำเลนส์ก็สักแต่ว่ายัดเลนส์เข้ากรอบไม่ได้สนใจเซนเตอร์ ไม่พ้นที่คนไข้จะต้องเจอ prism effect เครียดเบ้าตา ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายตา ตามมา
ดูเป็น clip : https://www.facebook.com/share/p/18jJ9YZ7Rq/
Low cost เลนส์พวกนี้ทั้งหมดมาจากจีน เรื่องจริยธรรมในการผลิตคงไม่ต้องบรรยายมาก ไม่อย่างนั้นถ้าเข้าไทยก็คงจะเข้า อย. กันหมด ไม่ได้ bully แต่พูดเรื่องจริง ดังนั้นแม้ว่าข้างซองจะเขียนเสกอะไรขึ้นมาก็ตาม เชื่อไม่ได้ทั้งหมด เพราะทุนในการเคลือบยูวี ดีๆ ในเลนส์ดีๆนั้น ซื้อเลนส์ low cost พวกนี้ได้หลายคู่ ดังนั้นเลนส์หลักสิบบาทจะมากันยูวี มันดูจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ ลองนึกถึงกันแดดตลาดนัดอันละ 50 บาท แปะสติ๊กเกอร์ UV400 มันไปได้จริงๆหรือ
ถ้าฉุกเฉิน จำเป็นต้องใช้เช่น แว่นประจำหักระหว่างเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศและไม่มีแว่นสำรอง ก็พอใช้ได้ แต่อย่าใช้นาน ตาจะพังเอา
สายตาน้อยๆ เอียงน้อยๆ ก็พอจะใส่แก้ขัดได้ เพราะความคลาดเคลื่อนมันก็จะน้อยตามตัวคูณของกำลังค่าสายตา
แต่คนที่ควรหลีกเลี่ยง คือ คนที่มีสายตาเอียงเยอะๆ ซึ่งเลนส์แว่นสำเร็จพวกนี้ไม่มีสายตาเอียง คุณจะเลือกให้ชัดคุณต้องเลือกเลนส์ที่มีสายตาสั้นเกินค่าจริง เพื่อหา spherical equivalent แต่ถ้าเอียงเกินไปมากๆ S.E. ก็เอาไม่อยู่
สุดท้ายก็สุขภาพของใครของมัน ผมเพียงแต่นำเสนอข้อมูลในด้านหนึ่ง ส่วนท่านๆอ่านแล้วจะเข้าตาซ้ายทะลุตาขวา ก็ไม่เป็นไร รู้ไว้ใช้ว่า ใส่บ่าแบกหามก็พอ
ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตาม และ ขอบคุณแฟนเพจที่ comment มาสร้าง inspire หาเรื่องเขียน หากท่านไหนอยากให้เขียนหรืออยากรู้เรื่องอะไร comment ไว้นะครับ เดี๋ยวผมจะเขียนให้อ่านพอบรรเทิง แล้วพบกันใหม่ตอนหน้า
สวัสดีครับ
ดร.ลอฟท์
578 ซ.วัชรพล ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220
โทร 090 553 6554
line: loftoptometry