topic : สายตาสั้นเทียม (Pseudomyoia) ปัญหาที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี

by Dr.Loft ,O.D

public 20 มิ.ย. 2560  


บทนำ

สวัสดีครับ วันนี้เป็นเช้าวันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2560  ซึ่งเรื่องราวในวันนี้ก็ยังคงเป็นในเรื่องพื้นฐานของความผิดปกติของการมองเห็น ได้แก่สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาคนแก่ ซึ่งเราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ กันอยู่แล้ว  แต่วันนี้จะนำเรื่องราวเกี่ยวกับสายตาสั้นเทียม มาเล่าสู่กันฟังบ้าง เพราะยังไม่มีคนพูดถึงกันมากนัก ก็เลยนำมาเขียนในวันนี้ 

สายตาสั้นเทียม มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Pseudo-Myopia อ่านว่า "สู-โด-ไม-โอ-เปีย" (Pseudo แปลว่า ของเทียม ส่วน Myopia คือ สายตาสั้น)  ซึ่งความผิดปกตินี้ พบได้มากในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่  มีสาเหตุมาจากเลนส์แก้วตาทำงานหนักมากเกินไปจนเกิดการล๊อคตัวของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเพ่งของเลนส์ตา (เหมือนใส่เลนส์นูนอยู่ตลอดเวลา) ทำให้มีอาการมองไกลมัว

 

ยิ่งในยุคสมัย 4.0 นี้แล้ว โลกทั้งใบถูกบรรจุไว้ใน Digital Device เล็กๆ ทั้งโลกของเด็กและโลกของผู้ใหญ่ ล้วนอยู่ในมือถือเครื่องเล็กๆ ทำให้ทั้งวันเราถูกดูดสายตาให้จับจ้องอยู่กับมันตลอดทั้งวันทำให้มีโอกาสพบโรคสายตาสั้นเทียมกันมากขึ้น 

ผมมีหลานตัวเล็กๆอยู่ 2 คน คนโตอายุ 7 ขวบ คนเล็กอายุ 3 ขวบ ตั้งแต่จำความได้ผมเห็นหลานของผมนั้นโตมาพร้อมกับ ipad, iphone ตั้งแต่เล็กๆ ภาพที่ผมเห็นอยู่ ณ ตอนนี้ คือ 2 หลานกำลังแย่งมือถือกันเล่นเกมส์อยู่และที่น่าตกใจ คือเล่นตั้งแต่เช้า (พักหน่อยตอนไปเรียน ถ้าเสาร์-อาทิตย์ก็เล่นทั้งวัน) และกลับมาเล่นต่อที่บ้าน จนกระทั่งเข้านอน  ถ้าให้ผมเดาๆเวลาที่หลานผมใช้สายตาในการดูใกล้ในแต่ละวันนั้นไม่ต่ำกว่า 70%  และผมก็เชื่อว่าหลายๆบ้านก็น่าจะมีปัญหาไม่ต่างกันกับเด็ก Gen ปัจจุบันที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีของ Smart Phone  และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา.... “PseudoMyopia”

 

วิถีเปลี่ยน ตาคนเปลี่ยน”

"มนุษย์เป็นสัตว์สังคม....สังคมก้มหน้า"

"สังคมก้มหน้า"

 

Emmetropization 

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า Emmetropization (เอ็ม-เมท-ทโร-ไป๊-เซ-ชั่น) ซึ่งเป็นระบบการพัฒนาระบบการมองเห็นที่เกิดขึ้นในเด็ก ซึ่งมีจุดหมายเพื่อทำให้สายตาเป็นปกติ (Emmetropia) คือไม่สั้น ไม่ยาว โดยร่างกายจะทำการการยืด/หด ความยาวกระบอกตาและการเปลี่ยนแปลงความโค้งของกระจกตา เพราะทั้ง 2 ปัจจัยนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสายตา โดยความยาวของกระบอกตาเปลี่ยนไป 1 มม. จะทำให้สายตาเปลี่ยนไป 3.00D และ รัศมีความโค้งที่เปลี่ยนไปของโค้งกระจกตา 1 มม. จะทำให้สายตาเปลี่ยนไป 6.00D 

ดังนั้นกระบวนการนี้ เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาการของสายตามนุษย์ที่เกิดขึ้นในช่วงเด็ก โดยการปรับนั้นจะปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ดังนั้นถ้าใครมี main far point  คือ ipad 40 ซม. ตาก็จะปรับให้โฟกัสสบายที่ 40 ซม. (คือมองไกลเป็นสายตาสั้น)  ส่วนใครที่มี main far point ที่ระยะอนันต์ ตาก็จะปรับเพื่อให้โฟกัสให้สบายที่ระยะอนันต์ คือสายตาปกตินั่นเอง 

 

คนสมัยก่อนไม่ค่อยเป็นสายตาสั้น 

วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนนั้น  การใช้สายตาจะเน้นไปที่การมองไกลเพื่อทำงานกลางนาไร่หรือออกล่าสัตว์ ดังนั้นระบบต่างๆของลูกตาถูกพัฒนาเพื่อมองไกลเป็นหลัก ทำให้คนสมัยก่อนจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสายตาสั้นมากนักเนื่องจากดวงตาจะพัฒนาให้แสงจากระยะอนันต์นั้นหักเหลงบนจอรับภาพพอดีโดยที่เลนส์ตาอยู่ในภาวะผ่อนคลายหรือไม่ต้องเพ่ง แต่จะต้องเพ่งก็ต่อเมื่อต้องการดูใกล้เท่านั้น  

 

วิถีชีวิตคนปัจจุบัน ตรงกันข้ามกับคนสมัยก่อนคือเปลี่ยนจากมองไกลเป็นหลักมาใช้สายตาในการดูใกล้เป็นหลัก ทั้ง Smart phone, Tabet, Iphone, Ipad หรือโน้ตบุค คอมพิวเตอร์ ล้วนแต่เป็นการมองที่ระยะใกล้แทบทั้งสิ้น

 

ในการดูใกล้นั้น โฟกัสของภาพจะไปตกหลังจอรับภาพ ทำให้เลนส์ตาต้องเพ่งเพื่อดึงภาพกลับมา ซึ่งเราเรียกว่ากระบวนการ Accommodation  และร่างกายก็เริ่มเรียนรู้วิธีที่จะลดกำลังเพ่ง คือ ยืดความยาวกระบออกตาออกไปรับโฟกัสที่ตกห่างออกไปรับโฟกัส กระบอกตาก็ยาวขึ้น (ยาวขึ้น 1 มม.จะทำให้สายตาเปลี่ยน 3.00D)  

 

เมื่อกระบอกตายาวขึ้น สายตาก็จะ Shift ไปทางสายตาสั้นมากขึ้นและคนสายตาสั้นคือดูใกล้ชัดโดยเลนส์ตาไม่ต้องเพ่ง  แต่พอมองไกล (Object เลือนห่างออกไป) จุดโฟกัสก็เลื่อนไปตกหน้าจุดรับภาพ ทำให้มองไกลมัว เราเรียกว่า สายตาสั้น  ซึ่งจากรายงานปัจจุบันพบการเพิ่มของจำนวนเด็กที่สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ มีรายงานว่าคนสายตาสั้นจะเพิ่มขึ้น ครึ่งโลก ในปี 2020

จากการคาดการณ์จากงานวิจัย พบว่าในปี 2020 คาดการว่า มนุษย์ครึ่งโลกจะเป็นมีปัญหาสายตาสั้น 

จากการวิจัยเชิงสำรวจ พบว่าคนทั้งโลก มีแนวโน้มเป็นสายตาสั้นมาก เพิ่มขึ้น

อ่านเอกสารงานวิจัยเกี่ยวกับระบาทวิทยาการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นได้ที่ลิ้ง http://www.who.int/blindness/causes/MyopiaReportforWeb.pdf

 

“สายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia)”

 

นิยาม

สายตาเทียม นั้นไม่ได้เป็นสายตาสั้นปกติทั่วไป เพราะเป็นของชั่วคราว สั้นชั่วคราว เกิดขึ้นเนื่องมาจาก “ระบบกลไกการโฟกัสของเลนส์ตา (Accommodative System) ถูกกระตุ้นต่อเนื่องยาวนานมากเกินไป (Over stimulate) ทำให้กล้ามเนื้อภายในลูกตา (Ciliary muscle) ทำงานหนักจนตะคิวกิน (Accommodative spasm)" และไม่ยอมคลายตัว ทำให้เลนส์ตาป่องตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้เลนส์มีคุณสมบัติการเป็นเลนส์นูนสูงขึ้น รวมแสงมากขึ้น ทำให้แสงถูกดึงมาตกก่อนจอรับภาพ) เมื่อละสายตาจากการมองใกล้ไปมองไกล จึงทำให้มองไกลไม่ชัดหรือเป็นสายตาสั้น (แบบชั่วคราว) และจะกลับมาปกติหลังจากกล้ามเนื้อคลายตัว ด้วยความที่มันสามารถกลับไป-กลับมาแบบนี้ เราจึงเรียกว่า “สายตาสั้นเทียม”

 

ดังนั้น ถ้าคนไข้มีอาการ “มองไกล เดี๋ยวชัด เดี๋ยวไม่ชัด แบบประเดี๋ยวประด๋าว โดยเฉพาะหลังจากทำงานดูใกล้มาเป็นเวลานานๆ ซึ่งปัญหานี้เกิดจากความยืดหยุ่นของ Accommodation ทำงานไม่ไหวแล้ว เรียกภาวะ Accommodative infacility  พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานดูใกล้เป็นเวลานาน แต่ถ้าเป็นกันยาว Spasm ทีหลายๆวัน แบบนี้เป็นอาการสำคัญของคนสายตาสั้นเทียมซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก

 

อาการ

อาการหลักของคนสายตาสั้นเทียม คือ "มองไกลมัว" แต่อาการมักจะเกิดหลังจากการใช้สายตาดูใกล้เป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือ เล่นคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน) เนื่องจากการดูใกล้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อภายในลูกตาทำงานหนักมากเกินไปจนเกิดการเกร็งค้างของกล้ามเนื้อ (Spasm) แต่เนื่องจากเป็นสะสมแบบเรื้อรัง ก็นำไปสู่อาการมัวตลอดเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ได้ 

 

สายตาสั้นเทียม ยังทำให้เกิดอาการ ปวดเครียดรอบๆดวงตา (Eyestrain), แพ้แสง (Photophobia), ภาพซ้อน (Double vision), ปวดศีรษะ, ปวดไมเกรน และอาจมีอาการลามไปยังอวัยวะต่างๆ ได้แก่ บริเวณหน้าผาก เหนือท้ายทอย ลามไปที่ไหล่ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่เกิดจากระบบโฟกัสที่ถูกควบคุมผ่านประสาทบริเวณก้านสมองที่อยู่บริเวณเหนือท้ายทอย ทำงานหนักมากเกินไป ทำให้เกิดอาการปวดดังกล่าว

 

ดังนั้น ถ้ามีอาการปวดเครียดบริเวณรอบดวงตา ปวดหัวเรื้อรัง เป็นไมเกรนเรื้อรัง ปวดบริเวณท้ายทอย อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการบ่งชี้ว่าเรามีปัญหาเหล่านี้ ต้องไปตรวจดูโดยละเอียด

 

การซักประวัติ

สายตาสั้นเทียมนั้น โดยทั่วไปจะพบในเด็กเล็กที่ชอบดูใกล้มากๆ (ใกล้มากเกินไป) ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อ Ciliary muscle ต้องทำงานหนักต่อเนื่องตลอดเวลา จนเป็นตะคิวในที่สุด  ดังนั้น สายตาสั้นเทียมนั้น มักเกิดขึ้นใน "เด็กที่มีสายตามองไกลปกติหรือมีสายตายาวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมีพฤติกรรมมองใกล้ตลอดเวลา" และที่สำคัญเราไม่สามารถบอกได้ว่ากล้ามเนื้อที่ควบคุมระบบ Accommodation นั้นจะคลายตัวเมื่อไหร่ 

 

ดังนั้น การวัดตาเด็กเล็กนั้นต้องระมัดระวังให้มากๆ เพราะว่าถ้าเด็กเป็นสายสั้นเทียมจริง แล้วไปจ่ายเลนส์สายตาสั้นให้ จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมา คือ เลนส์ตาจะยิ่งเพ่งหนักขึ้น  และถ้าหนักมากก็ อาจจะทำให้เกิดตาเหล่เข้าได้ Accommodative Esotropia ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และควรพาบุตรหลานไปพบทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์จะดีกว่า  

 

การตรวจวินิจฉัย 

"ความแตกต่างระหว่าง สายตาสั้นจริง กับ สายตาสั้นเทียม"

 

สั้นแท้ (True Myopia)

1. มองไกลมัว...(มัวยังไงก็มัวอย่างนั้น...มัวได้มัวดี...มัวทั้งวี่ทั้งวัน)

2. อัตราความมัวคงที่.....("มัว..ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง")

3. ไม่ปวดหัว...แต่ "มัวเฉยๆ"

4. ทำ Retinoscope แล้ว.. "แสงจาก pupil reflect คงที่" ไม่กลับไปกลับมา

5. ม่านตาขยาย.... สายตาสั้น  Accom คลาย "ม่านตาขยาย"

6. มี Exophoria... สายตาสั้น Accom น้อย  ทำให้ Accomodative Convergence ต่ำ  เลยเป็น Exophoria

7. Cycloplegic Refraction หรือไม่ Cyclo ก็เหมือนๆ กัน (เพราะสายตาสั้น Accom ไม่ทำงานอยู่แล้ว)

 

สั้นเทียม (Pseudo Myopia)

1. มองไกลมัว...(อาการคล้ายๆกับสายตาสั้นจริงๆ)

2. เดี๋ยวชัด..เดี๋ยวไม่ชัด....(วันนี้คืนดีสายตาก็เปลี่ยนกลับไปกลับมา เดี๋ยวเพิ่มเดี๋ยวลด)

3. ปวดหัว คลื่นเหียน วิงเวียน ปวดศรีษะ อยากจะอาเจียน  (คล้ายๆอาการเมารถอยู่เหมือนกัน)

4. สาดไฟ Retinoscope แล้วแสงวิ่งกลับไปกลับมา

5. รูม่านตาหดเล็ก  (Accom มาก ทำให้รูม่านตาหด เพราะใช้เส้นประสาทเส้นเดียวกัน CN3)

6. มี Esophoria (Accom มาก เกิด Accommodative Convergence มาก ทำให้เกิดตาเหล่เข้าแบบซ่อนเร้น (Esophoria)

7. พวกนี้ต้องหยอดยา Cycloplegic ถึงจะนิ่ง

 

“วิธีแก้ปัญหาที่แนะนำ”

1. บริหารระบบโฟกัส โดยใช้ Lens Rock +/-2.00 D (Flipper) และบริหารกล้ามเนื้อตาโดยการฝึก Convergence Visual Training โดยใช้ Flipper +/-2.00 เพื่อเพิ่ม Amplitude & Facility ของ Accommodation  

 

2. หยอดยาคลายกล้ามเนื้อตา (Cycloplegic Refraction) เพื่อให้เลนส์คลายตัวก่อนทำวัดสายตา (ส่งให้จักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตร์)

 

3. จ่ายเลนส์ Addition เพื่อช่วยในการอ่านหนังสือดูใกล้  เลนส์บวกที่จ่ายเพื่อให้ดูใกล้นั้น ไม่ได้จ่ายเพื่อแก้สายตาสั้นเทียมโดยตรง แต่ก็เพื่อให้ระบบ Accommodation ทำงานน้อยๆ เพื่อลดการถูกกระตุ้นให้เป็นสายตาสั้นเทียม  ดังนั้น ในบางเคส จำเป็นต้องจ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟเพื่อลดกำลังเพ่งของเลนส์ตาในเด็ก 

 

4. สายตาสั้นเทียมมักเกิดร่วมกับ High Exophoria  

คนไข้ที่มี High Exphoria จะทำให้กล้ามเนื้อตาต้องเหลือบเข้ามาเพื่อชดเชย (Convergence) ทำให้กล้ามเนื้อตา medial rectus ต้องทำงานหนัก เมื่อ convergence ทำงานหนัก ก็จะไปกระตุ้นการเพ่่งของเลนส์ตาจากระบบ Accommodative Convergence (มี Vergence ที่ไหนมี Accom ที่นั่น เพราะมันเรื่องเดียวกัน)   ดังนั้น Exo มาก ทำให้ต้อง convergence มาก ก็ไปกระตุ้น Accom มากๆ ก็เลยทำให้เกิดสายตาสั้นเทียมได้ 

ดังนั้น การทำ Visual Training โดยฝึกระบบ Positive fusional vergence นั้นเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหาสายตาสั้นเทียม

 

การควบคุมสายตาสั้นเทียม (Pseudo Myopia Control )

“ธรรมทั้งหลายเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นย่อมดับแต่เหตุ”  พุทธพจน์นั้นเป็น อะกาลิโก  ไม่จำกัดกาล

 

“สมุทัย” ของสายตาสั้นเทียม คือ “Over Accommodation Respond” และทำอย่างไรถึงจะ “Relax Accommodation” นั่นแหล่ะทางแก้

 

จะ “Plus add, Visual Training, Cycloplegic Refraction,” หลังจากได้พิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการ ด้วยปัญญาไตร่ตรองดีแล้ว ก็พึงจ่ายตามปัญญานั้นได้ 

 

สายตาสั้นเทียมนั้น มักไม่ค่อยเกิดในผู้ใหญ่ เพราะแรงของเลนส์แก้วตานั้นจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เลนส์ตาไม่ได้มีแรงมากพอที่จะไปเพ่งจนเกิดการเกร็งค้างเหมือนอย่างเด็กๆ  แต่มักจะเกิดในรูปแบบของการ มัวชั่วขณะจากการปรับโฟกัสช้ามากกว่า (Accommodative infacility) คือ โฟกัสในการเปลี่ยนระยะช้า ซึ่งในเคสลักษณะนี้ ควร Full Corrected มองไกล และใช้ plus อ่อนๆ สำหรับดูใกล้ ก็จะทำให้การเปลี่ยนระยะทำได้เร็วขึ้น 

 

“ทิ้งท้าย”

ปัจจุบันเริ่มมีเคสลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าเด็กไม่ว่าผู้ใหญ่ และบ่อยครั้งเวลาผมตรวจตาช่วงเย็นหรือกลางคืน จะต้องนัดคนไข้มาช่วงเช้าของวันใดวันหนึ่ง แล้วปรากฏว่าสายตาสั้นลดลงอย่างมาก  ซึ่งผมพบบ่อยอย่างมีนัยสำคัญ  และมีเคสไม่น้อยที่ตกใจกับสายตาตัวเองว่า ทำไมสั้นมันลดลง ผมบอกว่า สั้นมันเท่าเดิม  แต่ของเก่าที่ใช้มาตลอดนั้น มัน Over มา และถ้าเป็นลักษณะนั้น ผมจะต้องนัดตรวจซ้ำก่อนสั่งเลนส์  

 

ฝากถึงผู้ปกครองที่มีลูกเล็กในยุคนี้ คงต้องมีเวลาพาเขาไป Outdoor มากขึ้น พาไปทำกิจกรรมที่เขาสามารถฝึกใช้สายตาในทุกระยะ ให้ร่างกายเขาได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ไม่ได้ใช้งานระยะใกล้ระยะเดียว กระบวนการพัฒนา ก็จะไปในทิศทางที่ถูกต้อง  ลดการเพิ่มขึ้นของสายสั้นได้ และหากมีบุตรหลาน  สงสัยว่าจะมีปัญหาสายตา ก็แวะเข้ามาตรวจได้ที่คลินิก  ผมยินดีตรวจให้เด็กๆฟรี  

 

อบคุณสำหรับการติดตามครับ 

ดร.ลอฟท์ 


578 Wacharapod Rd ,Bnagkhen , BKK 10220

T.090 553 6554