โดยเทพชัย กับ Prime Time Nation
ร้านวัดสายตา ประกอบแว่น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ขณะที่คนส่วนใหญ่ เลือกวัดสายตาตัดแว่นตามร้านสะดวก ซึ่งมีให้เลือก ตั้งแต่ร้านใหญ่ในห้าง ร้านตามตลาดนัด หรือแม้กระทั่งรถเร่ และการวัดสายตาด้วยเครื่องเพียงอย่างเดียว ทำให้ต้อง"เสี่ยง"กับ ปัญหาสายตาเสื่อม เพราะได้แว่นไม่ตรงกับค่าสายตา หาก "ช่างแว่น" ไม่มีความเชี่ยวชาญพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดูแลคนไทย 20 ล้านคนที่กำลังมีปัญหาสายตาได้อย่างไร และความพยายามผลักดันกฎหมายมาควบคุมคุณภาพร้านแว่น ที่ยืดเยื้อมานาน จะเป็นไปได้แค่ไหน
ดิศรณ์ สังข์อ่อง นักศึกษามหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 2 สายตาสั้นมาตั้งแต่เด็ก เปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย จนจำนวนแว่นที่เคยใช้ไม่ได้ และไม่เคยวัดสายตากับผู้เชี่ยวชาญดิศรณ์วัดสายตาตัดแว่น ตามความสะดวกและตามกำลังเงิน แต่สิ่งหนึ่งที่ดิศรณ์อาจไม่เคยใส่ใจเลยก่อนหน้านี้ คือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อสายตา แต่ดิศรณ์ก็สัมผัสได้ถึงความผิดปกติ เมื่อแว่นที่ตัดมาใหม่ทำให้มีอาการเวียนหัวดิศรณ์เป็นเพียงหนึ่งในคนไทยจำนวนหลายล้านคนที่มีปัญหาสายตา และแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด คือการตัดแว่นจากร้านหรือบริการที่สะดวกและราคาถูกที่สุด และส่วนใหญ่จบลงด้วยปัญหาเหมือนกัน นั่นคือการได้เลนส์แว่นตาที่ไม่ตรงกับค่าสายตาที่เปลี่ยนไปและไม่น้อยหาทางออกด้วยการเปลี่ยนร้านแว่นไปเรื่อยๆ
ไพร์มไทม์ ตรวจสอบจากกลุ่มคนทำงานที่มีปัญสายตากว่า 10 คน ถึงการเลือกร้านแว่น ก็ได้ข้อมูลแทบไม่ต่างกัน คือ เลือกร้านที่สะดวกในห้างสรรพสินค้า ร้านขนาดใหญ่ ที่มีหลายสาขา เพราะน่าเชื่อถือ และบางครั้งก็เลือกเพราะโฆษณาคุ้นตาคุ้นหู แถมยังมีโปรโมชั่นลดราคา ขณะที่กลุ่มวัยรุ่น จะเน้นเลือกร้านที่มีกรอบแว่นแฟชั่นทันสมัยให้เลือก และราคาไม่สูงมากนัก
"ร้านวัดสายตา ประกอบแว่น เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ขณะที่คนส่วนใหญ่ เลือกวัดสายตาตัดแว่นตามร้านสะดวก"
แต่สิ่งที่พฤติกรรม ทั้งสองกลุ่มหมือนกัน คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้ไปวัดสายตากับผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาล เพื่อนำค่าสายตามาให้ร้านแว่นตัดเลนส์ให้ เพราะเชื่อว่าเครื่องวัดสายตาคอมพิวเตอร์ในแต่ละร้าน คงมีประสิทธิภาพไม่ต่างกันนักความเชื่อเช่นนี้ กลับก็ทำให้หลายคนมีปัญหาหลังจากใช้แว่นใหม่ แล้วต้องปวดหัว เวียนหัว จนต้องกลับไปให้ทางร้านแก้ไข วัดสายตาให้ใหม่ ขณะที่บางคนกลับไปใช้บริการร้านเดิมที่เคยตัดแล้วไม่มีปัญหา
ปธิกร สุทาวัน เจ้าของกิจการร้านเเว่น ที่มีประสบการณ์ทำงานในร้านเเว่นขนาดใหญ่มานาน 20 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านเป็นของตัวเองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีลูกค้าบางส่วนที่ตัดแว่นไป พอนำไปใส่แล้วปวดหัว จนต้องกลับมาให้ช่วยแก้ไข ขณะที่ลูกค้าร้านแว่น บางรายถึงกับทดลองไปวัดสายตาตามร้านแว่น 3 ร้าน และผลปรากฎว่า ค่าสายตาทั้ง 3 ครั้ง ไม่ตรงกัน
กระทู้พันธ์ุทิพย์เกี่ยวกับการวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์เชื่อได้แค่ไหน https://pantip.com/topic/32286865/comment8
เครื่องวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า Auto Refractor ตามร้านค้าแว่นตา เริ่มมีใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2521หรือ 39 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้วัดสายตา โดยการให้ค่าสายตาเป็นตัวเลขสำเร็จรูป เพื่อให้แสงสามารถผ่านเข้าไปในลูกตา ไปยัง Fovea หรือจุดศูนย์กลางการเห็นได้ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพระบุถึงข้อดีของเครื่องมือนี้คือ ใช้งานง่าย ทำให้ได้ค่าสายตารวดเร็ว แต่ข้อเสีย คือค่าที่ได้จากเครื่องมือนี้ อาจไม่ตรงกับความจริง ความน่าเชื่อถือประมาณ 80%
ส่วนกลุ่มที่ไม่ควรใช้เครื่องวัดสายตานี้ คือ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ เพราะความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่า 50% รวมไปถึงคนที่มีปัญหาการเพ่ง การปรับโฟกัส เพราะมักได้ค่าสายตาที่ไม่ถูกต้อง ส่วนมากแล้วจะสั้นกว่าปกติ
ตัวอย่างค่าที่ได้จากเครื่อง Auto วัดสายตาคน คนเดียวกัน ในเวลาต่อเนื่องกัน (ดร.ลอฟท์ วัดสายตาตัวเองด้วย ระบบคอมพิวเตอร์ และเขียนไว้ในกระทู้พันธ์ุทิพย์)
ผู้ที่มีปัญหาตาเข โรคตาที่แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ตามปกติ เช่น หนังตาตก ต้อกระจก จะมีโอกาสเกิดค่าสายตาเอียง ทั้งที่ไม่มีตาเอียง หรืออาจมีค่าสายตาเอียงมากเกินจริงสำหรับ คนอายุ 40 ขึ้นไป ที่เริ่มสายตายาว เครื่องพวกนี้ ก็ไม่สามารถบอกค่าสายตา
สำหรับการดูหนังสือหรือทำงานระยะใกล้ได้การวัดสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ ยังไม่สามารถแสดงถึงอาการของโรคตา ไม่บ่งชี้ถึงความสามารถในการมองเห็นว่า และคุณภาพการมองเห็น จึงอาจสรุปได้ว่า ค่าสายตาที่ได้จากเครื่องวัดสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้กันในปัจจุบันอย่างเดียวนั้น ไม่อาจเชื่อถือได้ เพราะเป็นเพียงค่าสายตาเบื้องต้น จึงไม่เหมาะนำไปใช้ประกอบแว่นสายตา เพราะอาจก่อให้เกิดอาการ เวียนหัว ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน มองไม่ชัดในบางระยะ เห็นภาพซ้อน อาจทำให้ผู้ใช้เสี่ยงประสบอุบัติเหตุได้สถานการณ์ปัญหาสายตาของคนไทย
จากงานวิจัยทางจักษุสาธารณสุข ในปี 2554 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้ความเสี่ยงทางด้านสายตาและสุขภาพตาเพิ่มมากขึ้น และจากลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการใช้สายตากับอุปกรณ์ หลากหลายรูปแบบที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากขึ้น จึงเกิดปัญหาสายตาล้าเนื่องจากอุปกรณ์ดิจิทัล หรือ Digital Eye Strain ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาสำคัญในสังคมยุค Thailand 4.0โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ภายใต้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อคัดกรองสายตาผิดปกติในนักเรียนทั่วประเทศ มีรายงานผลสำรวจสายตาเด็กไทยอายุ 3-12 ปี ในช่วงปี 2554-2555 พบเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติถึงเกือบ 7%
ปัจจุบันคาดว่า น่าจะมีเด็ก ที่สายตาผิดปกติราวๆ 5 แสน 7 หมื่นคน โดยจำนวน 3 แสน 5 หมื่นคน จำเป็นต้องใส่แว่น และมีเด็กที่ตัดแว่นแล้ว 8 หมื่นคน แต่มีจำนวนที่ใส่แว่นถูกต้องกับค่าสายตาประมาณ 2 หมื่นคน
ดังนั้น จึงมีเด็กมากกว่า 3 แสนคนที่จำเป็นต้องใส่แว่น และ หากเด็กกลุ่มนี้ยังตัดแว่นไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจ หรือตาเหล่ ขณะที่ ผลศึกษาขององค์การอนามัยโลก สภาทัศนมาตรศาสตร์โลก และองค์การเพื่อป้องกันอาการตาบอดสากล คาดการณ์ว่า ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย จะมีประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลทางด้านสายตาและสุขอนามัยของระบบการมองเห็นไม่น้อยกว่า 20 ล้านคนโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาอย่างถูกต้องและมีคุณภาพ เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
สถานการณ์ที่ต้องป้องกันแก้ไขกลับสวนทางกับจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาที่มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนคนที่มีปัญหาสายตา โดยเฉพาะ นักทัศนมาตร ซึ่งทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาสายตาและทำงานร่วมกับจักษุแพทย์ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่าปัจจุบันจำนวนร้านแว่นตาในประเทศ ที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ 5,000 ร้าน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 7,000 - 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขที่แท้จริง มีมากกว่า 7,000 ร้าน
ขณะที่มีนักทัศนมาตร ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ เพียงแค่ 172 คน และจำนวนที่ผลิตได้ในแต่ละปี ประมาณ 70-80 คน ซึ่งในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีนักทัศนมาตรที่จบจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ รามคำแหง รังสิต และนเรศวร รวม 656 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่ออัตราส่วนประชากรของประเทศ ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานทางสาธารณสุขไว้ว่า จะต้องมีนักทัศนมาตรอย่างน้อย 1 คนต่อประชากร 6 พันคน ซึ่งประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน ควรมีนักทัศนมาตรไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน
ดังนั้น จึงเป็นเหตุจำเป็น ที่ต้องให้ "ช่างแว่นตา" ยังทำอาชีพนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ โดยผ่อนปรนด้วยประกาศกระทรวงสาธารณสุข ต่ออายุหนังสืออนุญาตให้บุคคลทำการประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยทัศนมาตรศาสตร์ พ.ศ.2550 ไปจนกว่าจะมีกฏหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ซึ่งช่างแว่นเหล่านี้ มีทั้งรุ่นเก่า รุ่นใหม่ ที่สืบทอดอาชีพจากบรรพบุรุษ ได้รับการฝึกฝน ถ่ายทอดความรู้ต่อๆ กันมา และปัจจุบัน มีการอบรมตามหลักสูตรวิชาชีพ เทคนิคช่างแว่นตาระยะสั้น เช่น สมาคมส่งเสริมวิชาการแว่นตาแห่งประเทศไทย สมาคมนักทัศนมาตรศาสตร์ไทยชมรมผู้ประกอบอาชีพแว่นตา โดยค่าใช้จ่ายเริ่มตั้งแต่ 2 หมื่น 5พันบาท เพื่อออกมาประกอบอาชีพ ทั้งเป็นลูกจ้างและเป็นเจ้าของกิจการเองทุกวันนี้
การเป็นเจ้าของร้านแว่นตา ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก เพียงแค่มีเงินลงทุนซื้อกรอบแว่นและเครื่องวัดสายตา ก็ทำได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีที่ตั้งแน่ชัด แค่เช่าที่ตามตลาดนัดก็สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีกฏหมายควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบแว่นสายตา ตามมาตรฐานสากล ที่กำหนดให้ ต้องมีบุคลากรเฉพาะทาง ด้านสายตาเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาทัศนมาตรเป็นผู้ควบคุมดูแลร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาทัศนมาตรเป็นสาขาในการประกอบโรคศิลปะ ของไทย ยังค้างอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายถึงแม้กระทรวงสาธารณสุข พยายามจะผลักดันให้กฎหมายควบคุมคุณภาพร้านแว่นรวมทั้งช่างแว่นตาที่จะต้องเข้ารับการอบรมให้ผ่านมาตรฐาน
"ร้านขายแว่นยังผุดเป็นดอดเห็ด ร้านแว่นรายใหญ่ขยายตัวไม่หยุด ความเสี่ยงคือประชาชน"
แต่ความจริงในสังคมที่ร้านขายแว่นยังคงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ในทุกชุมชน รถเร่ขายแว่นราคาไม่กี่ร้อยบาท เข้าถึงทุกตรอกซอกซอยทั่วประเทศ และนั่นคือตัวเลขธุรกิจมหาศาลนี่จึงเป็นความท้าทาย "กฎหมายใหม่" ที่พยายามผลักดันกันมาหลายปี ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขณะที่เรายังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ในขั้นวิกฤต ขณะที่ธุรกิจร้านแว่นรายใหญ่รายย่อยก็ยังขยายตัวไม่หยุด และผู้ที่รับความเสี่ยงก็คือประชาชน"
โดย เทพชัย ใน Prime Time
อ่านต่อที่: http://www.nationtv.tv/main/program/PRIMETIME/378543878/