เปิดโลกโปรเกรสซีฟเลนส์ ตอนที่ 3  

"โปรเกรสซีฟกับการปรับตัว"

สวัสดีแฟนคอลัมน์ทุกท่าน วันนี้ผมขอพูดเรื่องเบาๆเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “โปรเกรสซีฟกับการปรับตัว” แต่จะขอพูดถึงพัฒนาการของเลนส์โปรเกรสซีฟก่อน จะได้เข้าใจถึงความเป็นมาเป็นไปในการพัฒนาเลนส์โปรเกรสซีฟ ว่าเขาพยายามคิดหาทางใหม่ๆในการแก้ปัญหาสายตาผู้สูงอายุอย่างไรบ้าง โดยเริ่มจากเลนส์ชั้นเดียว (Single vision lens), เลนส์สองชั้น (Bifocal lens), เลนส์สามชั้น (Tri-focal lens) จนกลายเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ (Multi-focal, Progressive additional lens) ในที่สุด ในปัจจุบันเรามาทำความเข้าใจกับสิ่งที่ถือว่าเป็นพื้นฐานมากที่สุดเกี่ยวกับเลนส์ก่อนก็แล้วกันซึ่ง ก็คือ Curve หรือ ความโค้งเลนส์นั่นเอง 

“ความโค้งทำให้เกิดค่าสายตา”

ความโค้งของผิวเลนส์ทำเกิดการเบนของแสง (หักเห) และการหักเหจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับค่ากำลังหักเหของตัวเลนส์ ซึ่งเราเรียกกำลังว่า Lens power กำลังหักเหนั้น ก็แปรผันตรงกับค่าความโค้งของผิวเลนส์ เลนส์ที่มีผิวโค้งน้อยๆก็จะมีค่าการหักเหน้อย ส่วนเลนส์ที่มีผิวที่โค้งมากๆก็จะหักเหมาก  ถ้าไม่โค้งเลยก็ไม่หักเหเลย (นึกถึงกระจกหน้าต่างบ้าน)  เราจะสังเกตได้ว่า คอนแทคเลนส์สายตาสั้น -10.00D นั้นบางกว่าเลนส์แว่นตามาก เนื่องจากค่าความโค้งของผิวคอนแทคเลนส์นั้นโค้งมากกว่าเลนส์แว่นตานั่นเอง ดังนั้น พอจะสรุปได้ว่า ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นเลนส์แล้วมันต้องโค้ง ไม่ว่าจะเลนส์กล้อง เลนส์สายตา หรือคอนแทคเลนส์ 

ดังนั้น สรุปได้ว่า

1. โค้งจะมี 1 ค่าสายตา”  เรียกว่า Single Vision Lens

2. โค้ง 2 ค่าสายตา”  เรียกว่า Bifocal (Bi แปลว่า 2)

3. โค้ง 3 ค่าสายตา  เรียกว่า Tri-Focal (Tri แปลว่า 3)

ดังนั้น ถ้า...หลายโค้ง...ก็ต้องมีหลายค่าสายตา และเป็นที่มาของคำว่า Multi-Focal Lens แปลว่า เลนส์ที่สามารถโฟกัสได้หลายระยะ หรือเรียกทั่วๆไปว่า “เลนส์หลายระยะ” หรือ Progressive Lens นั่นเอง  ซึ่งเรามาเริ่่มจากเลนส์ที่เบสิกที่สุดเลยก็คือเลนส์ชั้นเดียว 

เลนส์ชั้นเดียว (Single Vision Lens)

เลนส์ชั้นเดียว คือ เลนส์ที่มีผิวโค้งค่าเดียว (รัศมีความโค้งคงที่) ทำให้เกิดค่าสายตาค่าเดียว ใช้งานได้เพียงระยะเดียว (คือระยะเดียวจริงๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับเราว่าจะทำเลนส์ชั้นเดียวเอาไว้มองไกล มองกลาง หรือมองใกล้)  บางคนอ่านแล้วอาจนึกแย้งอยู่ในใจว่า เลนส์แว่นตาที่เราใส่อยู่ตอนนี้ก็เป็นเลนส์ชั้นเดียวนะ แต่ทำไมถึงสามารถเห็นได้ทุกระยะหล่ะ  ซึ่งถ้าท่านรู้สึกแบบนี้แสดงว่าท่านอายุยังไม่ถึง 40 ปี ซึ่งความจริงนั้น เลนส์ชั้นเดียวที่ท่านใส่อยู่นั้น เป็นค่าสายตามองไกลค่าสายตาเดียว ไว้สำหรับมองไกล แต่ที่ท่านสามารถมองเห็นระยะกลางและระยะใกล้ได้ชัดอยู่นั้นเนื่องจาก อายุของท่านยังไม่มาก เลนส์แก้วตา (Crystalline Lens) ของท่านยังยืดหยุ่นได้ดีอยู่ และยังมีแรงพอที่จะเพ่งดูใกล้ได้ จึงทำให้ท่านสามารถมองใกล้เห็นได้ แต่เมื่อพระคุณท่าน อายุมากๆ เข้า กำลังโฟกัสของเลนส์ตาของพระเดชพระคุณท่านจะลดลง  ทำให้มองใกล้ไม่ชัด ท่านจึงจะเริ่่มเข้าใจส่ิงที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้  ซึ่งอาการของจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าสายตามองไกลเป็นอย่างไร 

คนสายตาสั้น (Myopia)

ถ้าเดิมเราเป็นคนสายตาสั้นอยู่ (Myopia)  แว่นที่เราใช้ประจำแม้จะมองไกลชัด แต่เมื่อเราต้องการอ่านหนังสือใกล้ๆจะต้องเริ่มมองลอดแว่นหรือต้องถอดแว่นเวลาอ่านหนังสือ  ถ้าสั้นมากๆก็ต้องถือใกล้มากๆ  เช่น คนสายตาสั้น -10.00D ก็ต้องดูใกล้ที่ 10 ซม.จึงจะอ่านได้ชัดเจน  แต่ถ้า สายตา -2.00D ก็ดูใกล้ที่ 50 ซม.เห็น และความคมชัด ก็จะอยู่ในช่วงแคบๆ เช่น ถ้าต้องการมองคอมพิวเตอร์ก็จะต้องชะโงกหน้าเข้าหาจอเป็นต้น 

สายตาคนแก่ presbyopia

คนสายตายาว (Hyperopia)

ถ้าเดิมเราเป็นคนสายตายาวมองไกล (Hyperopia)  โดยปกติคนสายตายาวมองไกลนั้นถ้าไม่ยาวมาก เลนส์ตาสามารถเพ่งสู้เพื่อมองไกลได้ ซึ่งทำให้มองไกลชัดปกติ แต่มักจะมีปัญหาเวลาดูใกล้  ซึ่งเมื่อเริ่มเข้า 40 จะต้องเริ่มยื่นกระดาษหรือหนังสือห่างออกไป แต่อาการจะหนักกว่าคนที่ไม่มีค่าสายตามองไกลในวัยเดียวกัน คือ เพื่อนๆวัยเดียวกันที่ไม่มีปัญหาสายตามองไกลยังสามารถอ่าน 40 ซม.ได้สบายๆ แต่ท่านจะต้องยื่นกระดาษออกห่างๆ  และถ้าเป็นสายตายาวมองไกลมากๆ มองไกลจะเริ่มมัวลง (คล้ายๆกับคนสายตาสั้น) แต่ต่างจากคนสายตาสั้นที่เขานั้นถอดแว่นดูใกล้ได้ แต่มัวแบบคนสายตายาวนั้น มัวทั้งไกลและใกล้ มักจะมาพร้อมกับอาการ ตาแดงก่ำๆไม่สดใส  ปวดหัว ปวดเบ้าตา ไม่สบายตา ร่วมด้วย

(Note : สายตายาวก็เรื่องหนึ่ง สายตาคนแก่ก็เรื่องหนึ่ง อย่าเอามาปนกัน)

 

คนสายตาปกติ (Emmetropia)

คนสายตาปกติ (Emmetropia) คือ ไม่มีสายตามองไกลเลย (สายตา 0.00)  มองไกลก็จะคมชัดสบายดี แต่จะมัวเฉพาะเวลาดูใกล้ เนื่องจากเลนส์ตาเสื่อมถอยไปตามวัย  ซึ่งจะรู้สึกว่าต้องเพ่งเมื่ออ่านหนังสือหนังในระยะใกล้ 

ในการแก้ไขปัญหาสายตาคนแก่นั้น ก็มีอยู่หลากหลายวิธี และการแก้ไขด้วยเลนส์ชั้นเดียวเพื่อให้มองระยะใดระยะหนึ่งคมชัดนั้น ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด ประหยัดที่สุดและไม่ต้องการเวลาในการปรับตัว แต่ก็ตามชื่อคือเห็นชัดเพียงแค่ในระยะใดระยะหนึ่ง เช่น ดูใกล้อย่างเดียวก็จะไม่สามารถใส่ดูคอมพิวเตอร์หรือใส่ขับรถได้ หรือเลนส์สำหรับทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ก็ไม่สามารถขับรถหรืออ่านหนังสือได้ คือมันชัดอยู่ระยะเดียวจริงๆ ซึ่งเลนส์ชั้นเดียวหรือเลนส์ระยะเดียวก็มีดีไซน์อยู่หลายรูปแบบ เช่น Spheric, Aspheric, Double Aspheric, Multi-Aspheric, Atoric ลองไปหาอ่านดูเพิ่มเติมในเรื่องเลนส์ Plus Technology ตามลิ้ง http://www.loftoptometry.com/whatnew/view/64

 

เลนส์สองชั้น (Bifocal lens)

เมื่อเลนส์ชั้นเดียวเริ่มสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้งานที่ต้องถอดเข้าถอดออก บ้างก็ต้องมองลอดแว่น บ้างก็ยกแว่นขึ้นเวลามองระยะต่างๆ หรือแว่นอ่านหนังสือชัดแต่กลับมองคอมพิวเตอร์ไม่ชัด ทำให้เกิดความวุ่นวายพอสมควร จึงมีความคิดที่จะทำให้เกิดเลนส์มีโฟกัสทั้งระยะไกลและระยะใกล้จะได้ไม่ต้องถอดแว่นเข้าแว่นออก เลยกำเนิดเป็นเลนส์ที่มี 2 โค้งในเลนส์เดียว เมื่อมี 2 โค้งก็แสดงว่ามี 2 ค่าสายตา ชั้นบนเอาไว้มองไกล ส่วนชั้นล่างไว้ดูใกล้  ทำให้เกิดเป็นเลนส์สองชั้น (Bifocal)  ซึ่งเป็นเลนส์ 2 ระยะ ใช้งานได้ไกลกับใกล้ แต่ไม่สามารถใช้งานระยะกลางได้ และเนื่องจากความแตกต่างของค่าสายตาแรงมาก จึงทำให้เกิดภาพกระโดดขณะเหลือบผ่านรอยต่อ ที่เราเรียกว่า Image jump 

แต่ปัญหาที่รุนแรงกว่า Image jump คือ "มันไม่สวย" เป็นเลนส์ที่มีรอยต่อชัดเจนมาก จะว่าไปแล้วคนสมัยนี้นั้นอายุ 60 ปี ก็ไม่แก่นะครับ ปั่นจักรยาน ตีกอล์ฟ ตีแบตกันปร๋อ แต่คิดดูว่าต้องใส่เลนส์สองชั้น บอกอายุซะขนาดนั้น  อุตส่าห์ทำทั้ง Filler ทั้ง Botox ทั้งร้อยไหม มาตายด้วยเลนส์สองชั้นโชว์รอยต่อ ใครจะทนรับได้ 

ตัวอย่างเลนส์ 2 ชั้นที่มีจำหน่ายกันในตลาดเลนส์ ได้แก่

Flat Top

เลนส์สองชั้นแบบ “แฟลตทอป” จะมีความกว้างของเลนส์อ่านหนังสือตั้งแต่ 25-45 มม. และเลนส์สองชั้นแบบนี้มีข้อดีคือ ปรับตัวได้ง่าย ทำให้ FT Bifocal ได้รับความนิยมซึ่งขนาดมาตรฐานของ FT จะอยู่ที่ 28 มม. และด้วยความเป็นที่นิยมเลนส์ชนิดนี้จึงมีทางเลือกให้เล่นเยอะ เช่น ทำเป็นกันแดดโพลารอยด์ หรือเลนส์เปลี่ยนสี ซึ่ง FT นั้นมีเอกลักษณ์คือมีเส้นแบ่งชัดเจนสำหรับมองไกลกับมองใกล้ บ้านเราส่วนใหญ่ใช้แบบนี้

Round Top

เลนส์สองชั้นแบบ Round Top บางทีเราก็ เรียกว่า คริบท๊อค (Kryptok) ซึ่งขนาดของวงกลมอ่านหนังสือมี 22, 25 และ 28 มม.ให้เลือก ซึ่งเลนส์ประเภทนี้สามารถมีพื้นที่อ่านหนังสือได้สูงขึ้นมาหน่อยเนื่องจากมีเนื้ออ่านหนังสือยกขึ้นจากโค้งของ Round Top

Curve Top

เลนส์สองชั้นชนิดนี้ จะมี Segment ด้านบนของเลนส์เป็นลักษณะโค้ง จึงเป็นที่ของชื่อ Curve Top ซึ่งมีให้เลือก 3 ขนาดคือ 28,35 และ 45 มม. ปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว

Executives

เลนส์สองชั้นที่ผ่ากลางเลนส์นี้มีชื่อ เรียกว่า Executive ซึ่งเป็นเลนส์ผ่าครึ่งบนไว้มองไกล ครึ่งล่างไว้อ่านหนังสือ บางครั้งที่เราเอาเลนส์ชนิดนี้ ไปใช้ในการรักษาเด็กตาเหล่เข้าที่เกิดจากการเพ่งที่มากเกินไปในเด็ก (Accommodative Esotropia) หรือในบางอาชีพหรืองานบางชนิด ที่ต้องการเนื้อเลนส์สำหรับมองใกล้กว้างๆ เลนส์ชนิดนี้ก็จะตอบโจทก์ได้ดี ซึ่งโรเด้นสต๊อกจัดเลนส์ชนิดนี้อยู่ในกลุ่ม Manufaktur  ซึ่งเราจะพบเลนส์ประเภทนี้ได้กับคุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยาย ที่มีอายุมากๆ  แต่ก็ยังพบมีใช้บ้างในปัจจุบัน แต่ก็ลดลงเรื่อยๆทุกปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากเลนส์ชนิดนี้มี “รอยต่อ” ที่ดูแล้วไม่สวยและบ่งบอกอายุและที่สำคัญ “ระยะกลาง” ประมาณ 60 ซม.-4 เมตร ก็จะหายไปด้วย ทำให้แว่นประเภทนี้ นอกจากความไม่สวยแล้วยังทำให้การใช้งานในชีวิตประจำวันลำบากอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยุคปัจจุบันที่ต้องทำงานบน“คอมพิวเตอร์” เป็นหลักแล้ว ต้องบอกว่าเลนส์พวกนี้แทบจะตอกฝาโลง เพราะไม่สามารถใช้งานในระยะคอมพิวเตอร์ (80 ซม.) ได้

เลนส์ 3 ชั้น (Tri-Focal) 

เนื่องจากเลนส์ 2 ชั้นนั้นไม่มีระยะกลาง ทำให้เกิดเป็นเลนส์ 3 ชั้นขึ้นมา เพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็ม Function แต่ไม่สนใจเรื่อง Cosmetic เลย คือ ผมว่าคนสมัยนี้นะ 60 ก็ยังไม่แก่นะ จะให้ใส่แว่นแบบนี้ ผมว่าไม่ไหว  จึงพบได้น้อยมากๆ สำหรับเลนส์ 3 ชั้น 


 

“หลายชั้น หลายค่าสายตา : Multifocal Lens”

เลนส์โปรเกรสซีฟ (Progressive additional lens) เป็นเลนส์ที่สามารถใช้งานได้ทุกระยะ ทั้งไกล-กลาง-ใกล้ โดยไม่มีรอยต่อแบบเดิมและกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ในอนาคตคาดว่าจะแทนที่เลนส์สองชั้นแบบเดิมได้ทั้งหมด  เนื่องจากสามารถใช้งานได้ทุกระยะและยังได้ในเรื่องความสวยงาม ดูไม่แก่ และเลนส์โปรเกรสซีฟสมัยนี้นั้น ก็ออกแบบโครงสร้างได้ดีมากๆ ใช้เวลาปรับตัวเพียง 2-3 วันก็สามารถปรับตัวได้แล้ว หรือในรุ่นดีๆนั้นแทบจะไม่ต้องการเวลาในการปรับตัวเลย และราคาเลนส์โปรเกรสซีฟสมัยนี้ก็ถือว่าจับต้องได้ดังนั้นเรามาเข้าใจคอนเซปต์เลนส์ชนิดนี้กันสักเล็กน้อย 

จากปัญหา...เลนส์ชั้นเดียวมองได้ระยะเดียว เลนส์สองชั้นมองได้สองระยะ ดังนั้น ถ้าจะเอาทุกระยะก็ต้องทำโค้งหลายๆโค้งก็จะได้หลายๆสายตา จึงมีการพัฒนาเลนส์ชนิดนี้ขึ้นมาซึ่งเราเรียกเลนส์ประเภทนี้ว่า Progressive lens  โดยการออกแบบที่ค่อยๆเปลี่ยนความโค้งที่ละเอียดมากถึงมากที่สุดจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน (ลูบดูแล้วไม่สะดุด แต่ใส่แล้วรู้ว่ามีการไล่ระยะ) หรือถ้าเอานาฬิกาวัดโค้ง (Lens Clock) จับก็จะรู้ว่ามีการไล่ค่าความโค้ง การไล่ค่าความโค้งของผิวเลนส์ให้ค่อยๆเพิ่มขึ้นของค่าตาบวก เขาจึงเรียกกว่า “Progressive Additional Lens” 

“เลนส์โปรเกรสซีฟ (Progressive Additional Lens)”

สิ่งที่ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟได้รับความนิยมมากในคนสมัยปัจจุบัน และอย่างที่ร้านลอฟท์ ออพโตเมทรีเอง ผมก็จ่ายเลนส์โปรเกรสซีฟเพื่อแก้ปัญหาสายตายาวในผู้สูงอายุ 99.99%  ไม่เคยจ่ายเลนส์สองชั้น มีเลนส์ชั้นเดียวบ้าง 2-3 คู่ในรอบ 3 ปี และ Reject rate ในการใส่เลนส์โปรเกรสซีฟมีอยู่ 2 ท่าน ท่านหนึ่งนั้นมีปัญหาตาอย่างมาก ทั้งทำเลสิกและทำการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาเทียมซ้ำถึงสองครั้งในตาข้างเดียวกัน มีมุมเหล่ที่สูงมากทั้งแนว Hyperphoria และ Esophoria  แม้แต่เลนส์ชั้นเดียวก็ยังไม่สามารถปรับตัวได้ โปรเกรสซีฟจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อีกเคสก็ลักษณะใกล้เคียงกันมีความซับซ้อนของโรคทางตามาก แต่สำหรับคนไข้ที่ไม่มีพยาธิสภาพทางตาแล้ว ส่วนตัวผมยังไม่พบว่ามีใครที่ไม่สามารถใส่เลนส์โปรเกรสซีฟไม่ได้ ดังนั้น ผมคิดว่าเหตุที่คนไข้ทุกคนสมัยนี้เลือกแก้ปัญหาสายตาสูงวัยด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น มีเหตุผล 3 ประการ คือ

1. อิสระ

“พกแว่นอันเดียว เที่ยวทั่วไทย ได้ทุกงาน  ใช้งานได้ทุกระยะ” ซึ่งต้องยอมรับว่ากิจกรรมของคนสมัยนี้นั้น มีความหลากหลายสูงมาก เช้าขับรถส่งลูก สายประชุม บ่ายตีกอล์ฟ เย็นปั่นจักรยาน ค่ำดูหนัง กลางคืนเล่นเฟส คือ ครบทุกอย่าง ดังนั้น เลนส์ที่จะตอบโจทก์ชีวิตประจำวันของคนสมัยนี้ก็คือ เลนส์โปรเกรสซีฟ

เนื่องจากเลนส์โปรเกรสซีฟช่วยให้ ไม่ต้องพกแว่นหลายอัน เช่น มองไกลอันหนึ่ง มองคอมพ์อันหนึ่ง อ่านหนังสืออันหนึ่ง หรือคนสายตาสั้นใส่แว่นมองไกลได้ แต่เวลาต้องอ่านหนังสือหรือดูใกล้ก็ต้องมองลอดแว่นและพอจะไปมองคอมพิวเตอร์ใส่แว่นก็ไม่ชัดถอดแว่นก็ไม่ชัด  อันนี้เป็นความยุ่งยากของคนวัย 40 ซึ่งโปรเกรสซีฟจะให้ความอิสระตรงนี้คือไม่ต้องพกแว่นหลายอัน  อันเดียวจบครบหมดทุกอย่าง สบาย สะดวก มีความสุข  นั่นคือความอิสระภาพของการใช้ชีวิตประจำวัน 

 2. ได้ความหนุ่มความสาวกลับมาอีกครั้ง

สมัยยังหนุ่มยังสาวนั้น จะมองอะไร จะใกล้ จะกลางหรือไกลก็สามารถมองเห็นได้ชัดในเสี้ยววินาที พอแก่แล้วจะมองอะไรก็ยากไปหมด  ต้องเพ่ง ต้องพกแว่นเยอะ ต้องยืดแขน โปรเกรสซีฟเลนส์สามารถคืนความหนุ่มความสาวในการมองเห็นกลับมาได้  ทำให้สามารถทำงานหรือทำงานอดิเรกได้สนุกมากขึ้น ไม่ติดๆขัดๆ เหมือนเลนส์ชั้นเดียว

 

3. สวยงาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ไม่มีใครอยากแก่” ถึงต้องมี นิติพล วุฒิศักดิ์ พรเกษม ผุดเป็นดอกเห็ดไปหมด ทั้งโบท๊อก ร้อยไหม ลบเท้ากา เลเซอร์ผิว โมหน้า  แม้ว่าเทคโนโลยีความงามจะสามารถ “ช่วยพราง”อายุได้(บ้าง)  แต่ถ้าต้องยื่นมือห่างออกไปยามที่ต้องอ่านหนังสือ หรือเล่นไอแพด หรือถ้าต้องมองลอดแว่นเวลามองไกล หรือต้องใส่แว่นที่มีรอยต่อ  ที่อุตส่าห์ทำมาก็หมดกันอุตส่าห์ทำโบท๊อก ร้อยไหม  ดังนั้น เลนส์โปรเกรสซีฟอันเดียว เที่ยวทั่วไปได้สบาย และยังดูสวยงาม ไม่บ่งบอกอายุอีกด้วย 

“โปรเกรสซีฟกับการเขียนเสือ”

มีคนจำนวนมากที่กลัวเลนส์โปรเกรสซีฟ อาจจะประสบพบเจอปัญหาจากการใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟ หรืออาจเพราะมีเพื่อนพ้อง พี่น้อง ปู่ย่าตายาย “เขียนเสือ” ไว้ว่า “อย่าไปใช้เลยโปรเกรสซีฟ มันน่าเกลียดน่ากลัว ใส่ไม่ได้เวียนหัว คลื่นเหียนวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม จนต้องสูดดดดดม ยาหม่องตราถ้วยทองนั้น” ทำให้คนจำนวนมาก เกิดมโนไปต่างๆนานา เกิดความขยาดหวาดกลัว นึกไปต่างๆนาๆ และไม่กล้าใช้  ทำให้เสียโอกาสดีๆที่จะได้ชีวิตใหม่  เสียดายโอกาสที่จะเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้ง เสียดายโอกาสที่จะได้ใส่แว่นอันเดียวเที่ยวทั่วไป ทำให้ต้องทนทุกทรมานใส่แว่นขี้เหร่ๆ มองลอดแว่น เพียงเพราะ... “เขาว่า”

 

ดังนั้น ถ้าเห็นเขาว่าเสือน่ากลัว “ก็ดูให้มันดีว่ามันเสือหรือมันแมว” มันน่ากลัวจริงหรือเปล่า เอาเข้าจริง ผมเชื่อว่า "ทุกคนสามารถใส่เลนส์โปรเกรสซีฟได้ และใส่ได้อย่างดีและสบายด้วย" เพียงแต่โปรเกรสซีฟเลนส์ ต้องการค่าสายตาที่ถูกต้อง Fitting ที่ถูกต้อง เลือกโครงสร้างเลนส์ให้มันถูกต้องกับค่าสายตา เลือกกรอบแว่นเหมาะสม ดัดแว่นได้พอดี ประกอบแว่นให้ถูกต้อง ไม่ต้องรอ “หมอลักษณ์”มาฟันธง  ผมเองก็ฟันได้ครับ  “ใส่ได้และใส่ดีด้วย...ฟันธง!!!”

ใหนๆ ก็พูดมาก็นาน มาเข้าเรื่องหลักของวันนี้ซึ่งก็คือ เรื่องของการปรับตัวเข้ากับเลนส์โปรเกรสซีฟ ว่าทำไมเลนส์โปรเกรสซีฟต้องปรับตัว และจะปรับได้ไหม ใช้เวลานานแค่ไหน และมีไหมที่จะปรับไม่ได้ เดี๋ยวมาว่ากัน 

“โปรเกรสซีฟกับการปรับตัว”

ความยากง่ายของการปรับตัวให้เข้ากับเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น จากการ Follow up ทุกๆ 3 ,7,15 วัน พบว่ามากกว่า 70 % นั้น ใช้เวลา 3-4 วันก็สามารถใช้งานได้สบายในชีวิตประจำวันแล้ว ส่วนอีก 25% นั้นใช้ได้ภายใน 2 วัน และอีก 5% สามารถใส่ได้ปกติตั้งแต่วันแรก และจะปรับตัวได้เต็มที่ประมาณ 2 อาทิตย์ที่ไม่รู้สึกว่ามีภาพบิดเบี้ยวมากวน  แต่ประเภทที่ว่าหลายอาทิตย์หรือเป็นเดือนแล้วก็ยังใส่ไม่ได้อย่างที่เขาว่าๆกัน อันนี้ส่วนตัวผมไม่เคยพบ และทุกเคสไม่เคยจบแบบประเภทที่ว่า ต้องเชียร์อัพรุ่นที่สูงขึ้นแม้แต่คู่เดียว เพราะรุ่นพื้นฐานปัจจุบันนี้รองรับปัญหาได้เกือบทั้งหมด 

ทำไมเลนส์โปรเกรสซีฟจำเป็นต้องปรับตัว 

การเปลี่ยนค่ากำลังเลนส์หรือเปลี่ยนค่าสายตาหรือเปลี่ยนไปใช้เลนส์โปรเกรสซีฟ จะทำให้ Visual perception เปลี่ยน

สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ แท้จริงตาของเราไม่ได้เห็นภาพ เพียงแต่ตาเรานั้นมีเซลล์ประสาทที่ไวต่อแสง ทำหน้าที่รับแสงที่ไปกระทบกับวัตถุแล้วสะท้อนและเกิดการหักเหเข้าตาของเรา ในรูปของพลังงาน Photon ซึ่งเป็นลักษณะของอนุภาคที่มีพลังงาน ที่จอประสาทตาเราจะมีเซลล์ที่ไวต่อ Photon ของแสง เมื่อแสงวิ่งเข้ามาก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงาน Photon เป็นสัญญาณไฟฟ้าและวิ่งไปที่สมอง สมองจะทำหน้าที่เปลี่ยนสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งมาจากจอรับภาพ กลายเป็นภาพที่เรามองเห็น ดังนั้น เราเคยเห็นโลกเป็นอย่างไร ชัด มัว เอียง เงาซ้อน ก็จะเกิด Visual perception แบบนั้นจำไว้ในสมอง 

เมื่อเราเปลี่ยนเลนส์ หรือแก้ค่าสายตา หรือไปใช้เลนส์โปรเกรสซีฟ ก็จะทำให้สัญญาณไฟฟ้าที่ส่งไปยังสมองนั้น มีการเปลี่ยนรูปแบบ ทำให้สมองต้องเกิดการเรียนรู้รูปแบบของสัญญาณกันใหม่ ต้องปรับจูนการตีความกันใหม่ ทำให้เรารู้สึกแปลกๆ ในช่วงแรก และหลังจากที่สมองเราปรับตัวกับรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าใหม่ได้แล้ว เราก็จะรู้สึกปกติ ภาพที่มัวจะมัวน้อยลง ภาพที่เบี้ยวจะไม่เบี้ยว โครงสร้างที่ดูเหมือนแคบในตอนแรกจะกว้างขึ้น และจะสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

# ทำไมเลนส์ชั้นเดียวปรับตัวง่ายกว่า

ที่เราสามารถปรับตัวเข้ากับเลนส์ชั้นเดียวได้เร็วกว่า ก็เนื่องจากว่า เลนส์ชั้นเดียวนั้น มีเพียง Power เดียว ไม่ว่าแสงจะมาจากตำแหน่งไหนของเลนส์ตาก็จะโฟกัสที่ตำแหน่งเดียว ในขณะที่เลนส์โปรเกรสซีฟนั้น แต่ละจุดนั้นไม่เหมือนกันเลย ทำให้แสงที่วิ่งผ่านมาจากตำแหน่งต่างๆนั้น สร้างรูปแบบไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ทำให้สมองต้องเรียนรู้ความหลากหลายของรูปแบบไฟฟ้าที่มากกว่าเลนส์ชั้นเดียว จึงต้องใช้เวลาให้สมองได้เรียนรู้ให้ครบทุกตำแหน่ง ทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับตัวนานกว่าเลนส์ชั้นเดียว 

แต่เราจะพบว่า อาจต้องมีการปรับตัวบ้างสำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้เลนส์โปรเกรสซีฟมาก่อน แต่จะปรับตัวได้เร็วแทบจะในทันทีสำหรับคนไข้ที่ใช้โปรเกรสซีฟมานานแล้ว เนื่องจากสมองเคย Memory ลักษณะของรูปแบบไฟฟ้าที่เกิดจากโครงสร้างโปรเกรสซีฟแล้ว

ดังนั้น อาการของคนเริ่มใส่โปรเกรสซีฟครั้งแรก อาจจะมีอาการภาพไหวๆ วูบวาบบ้าง เวลาเดินเหมือนรู้สึกโคลงเคลงบ้างเหมือนเดินบนเรือ อาจมีอาการมัวด้านข้างบ้าง หรือมีภาพบิดเบี้ยวหรือภาพล้มๆเอียงๆอยู่บ้าง แต่เมื่อปรับตัวได้แล้ว เราจะรู้สึกเหมือนตาเปล่า  แต่ก็มีไม่น้อยเหมือนกันที่สามารถใส่ได้เลยโดยไม่รู้สึกถึงภาพบิดเบี้ยว ดังนั้น เรื่องการปรับตัวนั้นขึ้นกับหลายๆตัวแปร เช่น

i. โครงสร้างของเลนส์ 

โครงสร้างเลนส์นั้นดูเหมือนจะเป็นคำตอบเกือบทั้งหมด เนื่่องจากเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นดูๆก็เป็นเลนส์ใสๆเหมือนๆกัน  ซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายโครงสร้างมาก ทำในไทยก็มี จีนก็มี เกาหลีก็มี ใต้หวันก็มี ฝรั่งเศส  เยอรมัน มีหมด ดีไม่ดี หลังกระทรวงกลาโหมก็อาจจะมี ลองไปเดินดูดีๆเผื่อเจอ  ราคาก็มีตั้งแต่ ซื้อกรอบฟรีเลนส์ ไปจนถึงคู่ละเป็นแสนก็มี  ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าอันไหนดี ส่วนใหญ่ก็เอาคนขายว่า 

ความหมายของผมในประเด็นนี้ก็คือว่า "โครงสร้างเลนส์ที่ดีนั้นช่วยให้เราปรับตัวได้ง่ายและรวดเร็ว" อย่างในรูปบน ถ้าโครงสร้างที่ได้มานั้นเป็นเหมือนรูปซ้าย ไม่ต้องทายก็บอกได้ว่าคงไม่สามารถปรับตัวได้ในชาตินี้แน่นอน  แต่ถ้าโครงสร้างได้อย่างในรูปขวานั้น คงจะสามารถปรับตัวได้แทบจะในทันที  แต่โครงสร้างที่จะดีได้นั้น มีองค์ประกอบอยู่มากมายกว่าจะทำให้มันดีได้ และผู้ผลิตต้องมีเทคโนโลยีที่สูงมากพอที่จะชดเชยตัวแปรต่างๆให้เกิดความคลาดเคลื่อนให้น้อยที่สุด มีการบิดเบี้ยวของภาพที่น้อยที่สุด ตัวอย่างโครงสร้างที่จัดว่าดีที่สุด(ในโลก) ปัจจุบันก็คงจะเป็น โปรเกรสซีฟรุ่น Impression FreeSign3 จากค่าย Rodenstock ของเยอรมนี 

ii. ความถูกต้องของค่าสายตา

หลายๆคนมักจะ เริ่มต้นก็ถามผมเลยว่า "เลนส์รุ่นไหนดี" ที่จริงแล้วผมบอกแบบนั้นไม่ได้ เพราะเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นไม่ใช่ของที่ทำสำเร็จ มันสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปต่างๆนาๆ ตามค่าจากตัวแปรที่เราใส่ค่าเข้าไป  เลนส์ที่ดีคือ เราสามารถ Input ตัวแปรต่างๆที่่ส่งผลต่อการออกแบบโครงสร้างเข้าไปได้ครบถ้วน และสามารถนำตัวแปรที่เราใส่เข้าไปเพื่อไปคำนวณโครงสร้างเฉพาะสายตาแต่ละคู่เฉพาะคนได้  

แต่ถ้าเกิดว่าตัวแปรที่เรา Input เข้าไปนั้นไม่ถูกต้อง แน่นอนได้ว่า Output ก็ย่อมจะไม่ถูกต้องตามแน่นอน ดังนั้น การที่จะมาสรุปได้ว่า เลนส์รุ่นไหนดีกว่ารุ่นไหนนั้นคงตอบได้หลังจากที่แน่ใจว่า ค่าสายตาที่วัดได้นั้นถูกต้องแม่นยำเสียก่อน  แล้วท่านคิดว่า การวัดสายตาในบ้านเรานั้นเชื่อถือได้แค่ไหน (คิดในใจ) เอาจริงนะ ผมไม่ค่อยได้เห็นว่ามีการแข่งขันทางด้านฝีมือ ด้านเทคนิค หรือเครื่องไม้เครื่องมือหรือวิชาการ ต่างจากโรงพยาบาลที่แข่งกันในเรื่องของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีการรักษา หรือเทคนิคการรักษา หรือความเฉพาะทาง แต่พอมองลงมาในวิชาชีพแว่นตาเรากับพบเพียงแต่  "โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ลดราคา ตลอดปีตลอดชาติ"  จริงๆผมเศร้าใจนะ แต่ก็พยายามยามอยู่ เพื่อต้องการที่จะยกระดับร้านแว่นตาให้อยู่สูงขึ้นไปเป็นเรื่องของสถานพยาบาล มากกว่าจะเน้นขายเพียงสินค้า (ขอโทษ ถ้าแรงไป พอดีมันขึ้นมาพอดี จะลบก็เสียดาย)

สรุปได้ว่า โปรเกรสซีฟนั้นจะมีการออกแบบโครงสร้างตามค่าสายตาสั้น ยาว เอียงของแต่ละคน  ดังนั้น ถ้าค่าสายตาผิดเลนส์โปรเกรสซีฟคู่นั้นก็ย่อมผิดตามไปด้วย ทำให้ปรับตัวไม่ได้ เช่นเดียวกับการตัดสูท ทางผู้ผลิตนั้นมีช่างตัดสูทที่มีฝีมือมาก ตัดได้ทุกทรง ทุกแบบ พอดีตัวเปะ แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราวัดสเกลร่างกายเราผิด รอบอก รอบเอว รอบแขน รอบรักแร้ ความยาวแขนผิด  ช่างเขาก็ทำสูทผิดๆมาให้เราเพราะเราวัดไซต์ผิด แล้วจะโทษช่างไหมว่าช่างทำสูทมาแล้วใส่ไม่สบาย ซึ่งถ้าโทษแบบนี้ถือว่าเห็นแก่ตัวมาก และไม่ยอมรับความผิดอะไรเลย  เลนส์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าวัดสายตาผิดแล้วเลนส์มันก็ทำผิดมาเปะตามที่เราสั่ง แล้วจะโทษโครงสร้างเลนส์ว่ามันใช้ไม่ได้แบบนี้ไม่แฟร์

3. ความถูกต้องของการวางเซนเตอร์เลนส์ (Fittign) และการประกอบเลนส์ (Glazing)

เรื่องฟิตติ้งสำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่มากๆ มากขนาดที่ว่า ต่อให้วัดสายตาถูกต้อง เลือกโครงสร้างที่ดี เลนส์คู่เป็นล้าน แต่ถ้าเกิดว่าฟิตติ้งเซนเตอร์ผิด เลนส์ดีๆก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ใส่ไม่ได้ ปรับตัวไม่ได้ หรือใช้งานได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะได้รับ  

คำว่า การ Fitting นั้น หมายความว่า แว่นที่เราเลือกมาทำโปรเกรสซีฟนั้น ขณะที่เราใส่แว่นอยู่บนหน้านั้น จุดตรงกลางของรูม่านตาของเรานั้นมองผ่านตำแหน่งไหนของเลนส์ ช่างแว่นจะทำเครื่องหมายที่ตำแหน่งนั้น  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกิดจากจุดตัดของแกน x ที่ได้จากค่า Pupillary Distant (PD) และแกน Y ที่ได้จากค่า Fitting hight (FH)  ซึี่งต้องเอาค่าทั้ง 2 นี้ ในการสั่งเลนส์ให้ได้สเป๊คตามตำแหน่งฟิตติ้ง 

เมื่อได้เลนส์กลมๆ มาแล้ว เราจะทำการประกอบเลนส์เพื่อเอาเซนเตอร์นั้นไปวางที่ตำแหน่งของตาดำ ซึ่งได้จากค่าของ PD  และ FH  และตัดเลนส์ให้ได้ขนาดและรูปทรงและศูนย์กลางตามที่ฟิตต้ิงเอาไว้  ซึ่งความคลาดเคลื่อนแม้เพียง 1 มม. นั้นสามารถสร้างปัญหาให้กับเลนส์โปรเกรสซีฟได้  ดังนั้น ช่างแว่นตาที่ทำหน้าที่ฝนประกอบ จะต้องระมัดระวังเร่ื่องนี้ให้มาก 

และเนื่องจากเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น จะมีการกำหนดโครงสร้างในการมองระยะไกล กลาง และใกล้ ด้วยคอริดอร์และ Strict มากด้วย คือ ไม่อะลุ่มอะหล่วยกับความคลาดเคลื่อนเลย ดังนั้น ถ้ามีความคลาดเคลื่อนของการ Fitting หรือการฝนประกอบจะทำให้ตำแหน่งต่างๆที่ได้ถูกวางเอาไว้ให้ใช้งานสบาย จะเคลื่อนทั้งหมดการปรับตัวจะยากลำบากมากๆ 

ตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากการ Fitting

    “เหลือบลึก” ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจาการวาง Fitting Cross ต่ำเกินไป (หรือแว่นไหล) หรือวัดสายตาผิด

    “มองไกลไม่ชัด” อาจเกิดจากวัดสายตาผิด หรือวาง Fitting Cross สูงเกินไป

   “วูบวาบ” ซึ่งอาจเกิดจากแว่นโค้งน้อยหรือมากเกินพอดี (หรือโครงสร้างเลนส์ไม่ดี)

   “ภาพบิดเบี้ยว” อาจเกิดจากวัดสายตาผิด แว่นโค้งมากเกินไป หรือโค้งน้อยเกินไป (หรือโครงสร้างเลนส์ไม่ดี)

   “ระยะกลางหรือระยะอ่านหนังสือแคบ” ซึ่งเกิดจากค่าสายตาผิด หรือ แอดดิชั่นมากไป หรือมุมเทหน้าแว่นไม่เหมาะสม (หรือโครงสร้างเลนส์ไม่ดี)

ส่วนตัวผมนั้น ซีเรียสกับเรื่องนี้มาก จึงลงทุนซื้อเครื่อง CNC จากเยอรมันที่ออกแบบมาเฉพาะการตัดเลนส์เจียรนัยเลนส์โดยเฉพาะ ซึ่งความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า 0.2 mm เพื่อให้ความตั้งใจของผมนั้นสำเร็จสมประสงค์ คือ วัดสายตาถูกต้อง เลือกเลนส์ถูกต้อง วางตำแหน่งฟิตติ้งถูกต้อง ฝนประกอบถูกต้อง ดัดแว่นถูกต้อง ส่งมอบ และ Educate ให้รู้จักการใช้งานเบื้องต้น จึงไม่เคยพบปัญหาว่าคนไข้ใส่ไม่ได้แม้แต่คนเดียว 

4. การดัดแว่น (Frame Adjustment)

เลนส์โปรเกรสซีฟนั้นเป็นเลนส์ที่ Sensitive ต่อมุมที่แนวการมองของตา (Line of sight) กระทำต่อเลนส์อย่างมาก ดังนั้น ในการที่วิศวกรจะออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟโครงสร้างเลนส์ให้ดีได้นั้น ต้องการรู้มุมตกกระทบที่ตากระทำกับเลนส์ที่แน่นอน เพื่อจะได้รู้ต่อว่า เมื่อเรามองหลุดจากตำแหน่งอ้างอิงนี้จะเกิดมุมที่เปลี่ยนไปอย่างไร  ซึ่งตัวแปรที่จะทำให้เกิดมุมนี้ ได้แก่ ความโค้งหน้าแว่น (Face form angle), มุมเทหน้าแว่น (Pantoscopic tilt angle), และระยะห่างจากเลนส์ถึงกระจกตา (Cornea vertex distant)  ซึ่งทั้ง 3 ค่านี้จะทำให้เกิดมุมในแนวแกน X ,Y ,Z ตามลำดับ  

แต่โดยปกติเวลาเราสั่งเลนส์ หลายๆรุ่นนั้นไม่ต้องสั่งค่าพารามิเตอร์ 3 ตัวนี้ เนื่องจากผู้ผลิตจะกำหนดค่ามาตรฐานขึ้นมาเองว่า แว่นตาที่ได้มาตรฐานนั้นต้องมีค่าพารามิเตอร์เป็นอย่างไร  ซึ่งทุกค่ายจะใช้ค่าพารามิเตอร์ใกล้เคียงกัน คือ โค้ง 5 องศา, มุมเท 8 องศา และห่างลูกตา 13 มม. ซึ่งเป็นค่ามาตรฐาน นั่นหมายความว่า เราต้องดัดแว่นให้มีค่าพารามิเตอร์เท่ากับที่ผู้ผลิตออกแบบเลนส์มา จึงจะสามารถรีดประสิทธิภาพได้สูงสุดและสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ 

ถ้าดัดแว่นไม่ได้ หรือ ไม่อยากดัดแว่น จะทำอย่างไร 

กรอบบางประเภทก็ไม่เอื้อที่จะดัดแว่น เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น แว่นกันแดดกรอบโค้ง เราชอบมันเพราะว่ามันโค้ง เราคงไม่อยากดัดให้มันหน้าตรง ดังนั้น ในแว่นที่มีลักษณะเช่นนี้ จะต้องเลือกโครงสร้างที่เปิด Option ให้เราสามารถใส่ค่า Individual Parameter ได้ ตัวอย่างเช่น เลนส์ในกลุ่ม Impression Family ของโรเด้นสต๊อก ได้แก่ Impresssion EyeLT 2, Impression FreeSign3, Impression Sport2, Impression FashionCurve2 เป็นต้น  จึงจะสามารถคงประสิทธิภาพได้เต็มร้อยบนแว่นกรอบที่โค้งมากๆ 

ลักษณะของผลกระทบของค่าพารามิเตอร์แต่ละตัว 
ผลของ Cornea Vertex Distant 
CVD (Cornea Vertex Distant) เป็นการวัดหาระยะยะจาก หลังเลนส์ (Back vertex) ไปจนถึงยอดของกระจกตา (Corneal Apex) เนื่องจากระยะ CVD ที่เปลี่ยนไป จะทำให้สายตาเปลี่ยนไป ในคนที่เป็นสายตาสั้น ซึ่งใส่เลนส์เว้าหรือเลนส์ลบ เมื่อเลนส์ใกล้ตาจะทำให้ค่ากำลังหักเหของเลนส์เพิ่มขึ้น ในขณะที่คนที่เป็นสายตายาว ซึ่งใช้เลนส์บวกค่ากำลังหักเหจะลดลงเมื่อเลนส์ใกล้ตา โดยเฉพาะกับคนไข้ที่สายตามากๆ (4.00D ขึ้นไป)  แต่่ในค่าสายตาที่น้อยกว่านี้ อาจจะส่งผลไม่มากนัก  ดังนั้น ในการใช้คอนแทคเลนส์จะต้องทดค่าสายตา เนื่องจากระยะของเลนส์แว่นตากับคนแทคเลนส์นั้นไม่เท่ากัน จะทำให้ได้ผลรวมของค่าสายตาไม่เท่ากัน 
ผลของ Patoscopic tilt angle
PT (Pantoscopic tilt) หรือมุมเทหน้าแว่นนั้น ส่งผลรุนแรงมากต่อโปรเกรสซีฟและเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าใส่สบายหรือไม่สบาย  จุดประสงค์ที่แว่นมี Panto ก็เพื่อให้ Optical center และ Visual Axis วิ่งไปตัดกันที่ Center of rotation พอดี  ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความสบายขณะสวมใส่โดยตรง ดังนั้น แว่นที่ได้มาตรฐานจะทำให้มีมุม panto มา 8 องศา  ทำให้ผู้ผลิตเลนส์ต้องออกแบบโครงสร้างมาสำหรับมุมเท 8 องศา นั่นหมายความว่าเราต้องดัดแว่นให้ได้มุมเทเท่านี้ จึงจะทำให้คนไข้สามารถใช้งานโปรเกรสซีฟได้เต็มประสิทธิภาพ  และมุมเทที่เหมาะสมนั้นยังช่วยให้การเหลือบตาดูใกล้นั้นทำได้ง่ายขึ้น สบายตาขึ้น 
ผลของ Face Form Angle 
Face Form Angle (FFA) เป็นค่าความโค้งหน้าแว่น ความโค้งทำให้เกิดการมองแบบทำมุม ซึ่งจะ Induce ให้เกิด Oblique astigmatism ทำให้เกิดปัญหาการใช้งาน สนามภาพแคบ ปรับตัวยาก  แต่ถ้าไม่มีเลยก็จะทำให้เกิด Unwanted oblique astig ได้เช่นกัน ดังนั้น FFA ที่สวยงามนั้นอยู่ที่ 5 องศา  ถ้าโค้งมากกว่านี้ จะทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนของค่าสายตา ทำให้สายตาสั้นยาวเอียงผิดเพี้ยนไป และทำให้เกิดสายตาเอียง หรือ ปริซึม ที่ไม่ได้ต้องการเกิดขึ้นมาอีกด้วย 

ดังนั้น การดัดแว่นนี่เป็นเรื่องที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงแค่ดัดให้แว่นแน่นหรือดัดไม่ให้ไหล แต่มีศาตร์และศิลป์อยู่ข้างในที่ค่อนข้างซับซ้อน  และเครื่องไม้เครื่องมือในการดัดนั้นก็มีความจำเป็นและออกแบบมาสำหรับการดัดให้เหมาะสมในแต่ละจุด

5. เทคโนโลยี (Lens Technology)

เทคโนโลยี CNC-Free Form ถือเป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีการผลิตแบบเดิม ซึ่งเป็นแบบ Conventional ที่ใช้การหล่อโครงสร้างผ่านแม่พิมพ์ ซึ่งใช้ต้นทุนการสต๊อกแม่พิมพ์สูงมาก และไม่มีความยืดหยุ่นต่อปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกับโครงสร้างเลนส์  ซึ่ง CNC-Free Form สามารถตอบโจทก์การ Customized เลนส์สายตาเฉพาะคน และปัจจุบันนั้น ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีก็มุ่งไปสู่การสร้างเลนส์เฉพาะบุคคลมากขึ้น

เลนส์จะถูกจะแพงนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อพลาสติกที่เอามาผลิต (มีบ้างแต่เล็กน้อย) แต่ขึ้นกับเทคโนโลยีที่นำไปคำนวณออกแบบหรือชดเชยค่าต่างๆ ชดเชยภาพบิดเบี้ยวต่างๆ และชดเชยตัวแปรต่างๆให้มีโครงสร้างที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปัจจัยที่ส่งผลต่างๆเช่น ค่าสายตา สั้น ยาว เอียง ระยะห่างระหว่างตาดำทั้งสองข้าง, ความโค้งของกรอบแว่น , มุมเทของกรอบแว่น และระยะห่างระหว่างหลังเลนส์ถึงกระจกตา  เป็นต้น ซึ่งตัวแปรเหล่านี้สำคัญในการนำไปออกแบบเลนส์  ซึ่งเลนส์เทคโนโลยีสูงหรือต่ำนั้นต่างกันที่การนำค่าตัวแปรเหล่านี้ไปคำนวณ ไม่ใช่ว่าเลนส์โปรเกรสซีฟราคาเรือนแสนจะไม่มีภาพบิดเบี้ยว แต่เทคโนโลยีระดับสูงนั้นสามารถจัดการภาพที่บิดเบี้ยวนั้นให้ดูเสมือนน้อยลง  เมื่อภาพบิดเบี้ยวนั้นน้อยลง สนามภาพก็จะดูว่ากว้างขึ้น มีพื้นที่ให้ใช้มากขึ้น ที่เราเชื่อกันว่าเลนส์แพงๆสนามภาพมันจะกว้างนั่นแหล่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีใครสามารถขัดชดเชยแก้ปัญหาพารามิเตอร์ได้ดีแค่ไหน

ดังนั้น เทคโนโลยีจึงมีความสำคัญในการจัดการกับภาพบิดเบี้ยวด้านข้าง สามารถแก้ไขโครงสร้างที่เสียหายจากค่าพารามิเตอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ให้สามารถกลับมามีโครงสร้างที่ดีเหมือนเดิมได้ และสามารถจัดวางตำแหน่งการใช้งานได้เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของแต่ละคนได้ ซึ่งในภาคต่อไปผมจะมาเล่าให้ฟังว่าเทคโนโลยีที่สำคัญๆของการผลิตเลนส์นั้นมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

มาถึงตรงนี้อยากจะสรุปสั้นๆว่า เลนส์ที่ดีนั้น คือ เลนส์ที่สามารถชดเชยความคลาดเคลื่อนที่จะเกิดจากตัวแปรต่างๆ เช่น ค่าสายตา (สั้น ยาว เอียง ค่าแอดดิชั่น) ค่าพีดี  ค่าความโค้ง มุมเท รวมถึงสามารถทำให้ตาทั้งสองข้างที่มองผ่านเลนส์นั้นสามารถ Synchronized กันได้ดี เกิดเป็น Binocular Vision ที่สมบูรณ์แบบ  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะ Concern ถึงเรื่องโครงสร้าง คือ สายตาต้องถูกต้องแม่นยำก่อน  ถ้าค่าสายตาผิดเสียแล้ว โครงสร้างที่ดีใช้เทคโนโลยีสูงขนาดไหน ก็คงจะคำนวณผิด คล้ายกับเครื่องคิดเลขที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำสูง แต่ใส่ค่าไปผิด แล้วจะให้ผลลัพธ์ถูกต้องได้อย่างไร ก็อยากจะฝากไว้สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ให้บริการ ว่าอย่าหยุดที่จะเรียนรู้ในการที่จะรีดค่าสายตาออกมาให้แม่นยำที่สุด อย่ามุ่งเพียงแค่เชียร์ขายเลนส์แพงแล้วจะกว้างเท่านู้นเท่านี้ คือ อย่าไปเชื่อตามเทรนเนอร์ทั้งหมด (รวมถึงตัวผมด้วย) เพราะเขามีหน้าที่ขายของจะดีจะเลวก็ต้องว่าดีไว้ก่อน  แต่เราต้องลงมือทำจริง พิสูจน์ด้วยตัวเองจริง แล้วก็เก็บข้อมูล รับรองได้ว่า ลูกค้าจะชื่นชอบในกระบวนการทำงานของท่าน แม้ท่านเจอปัญหาท่านจะหาทางออกได้เอง และการวัดสายตาและการฟิตติ้ง เป็นตัวแปรที่ท่านสามารถควบคุมได้ แต่โครงสร้างเลนส์ก็ต้องอาศัยความคาดหวังว่าผู้ผลิตจะทำดีๆมากให้ และเราไม่สามารถคุมตัวแปรนี้ได้  เอาหล่ะก็อยากจะฝากไว้ 

พบกันใหม่ใน เปิดโลกโปรเกรสซีฟเลนส์ตอนที่ 4 ครับ ส่่วนจะชื่อว่าตอนอะไรนั้น ขอคิดก่อนครับ 

ขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตามครับ 

ดร.สมยศ เพ็งทวี, O.D. (dr.loft)

คลินิกสายตา ลอฟท์ ออพโตเมทรี  ; ถ.วัชรพล  บางเขน กทม. T.0905536554