Rodenstock Road 2 : Safety, Driven by Vision. 

Confidence behind the wheel with Rodenstock Road driving glasses

Rodenstock Road นั้นถือว่าเป็นเลนส์น้องใหม่ของ Rodenstock ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกที่เมือง Munich, Germany เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2016 และเริ่มขายในไทยได้เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งในไทยเองก็ยังไม่ได้เปิดตัวเป็นทางการ เพราะยังไม่เห็นมี Sample หรือ Tools ใดๆ หรือแม้แต่ Pricelist ปัจจุบันก็ยังไม่มี ราคาเป็นทางการก็ยังไม่ทำออกมา  เซลล์เลนส์ของโรเด้นสต๊อกเองก็ยังไม่เคยได้ลอง ซึ่งผมเคยทำงานให้โรเด้นสต๊อกอยู่ 3 ปี ก็พอรู้สไตล์เยอรมันว่า มีดีเยอะมากแต่ไม่โชว์ คือ Know but Don’t Show  ซึ่งต่างจากการ Show but don’t know  

แต่การเป็นแบบ Know but don't show ก็เป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งที่มนุษย์นั้นชอบของที่แว๊บๆแวมๆ มีอะไรมาครอบๆ คลุมๆ ไว้ก็ชอบกัน ดู The Mask Singer เป็นตัวอย่าง แค่เอาหน้ากากมาครอบไว้ ก็กระตุ้นต่อมลำไย ของคนได้ทั้งประเทศ (รวมถึงผมด้วย) ใช่แล้วเสือชีต้าคือพี่ บี พีรพัฒน์ จริงๆด้วย 

กลับมาเข้าเรื่องเราต่อ คือ ทำให้ผมต้องไปศึกษาหาความรู้เอง โลกสมัยนี้แคบมาก ให้ได้ภาษาอย่างเดียว อยากรู้อะไรก็เสกได้หมด เด็กในยุคนี้ถ้าใฝ่รู้นะคงจะเก่งมากๆ  เมื่อศึกษารู้แล้วก็เลยซื้อมาลองเอง ชอบ ก็เลยลงมือเขียนบทความวันนี้  เผื่อไว้เป็นข้อมูลให้กับคนที่กำลังมองหาเลนส์สำหรับรถ ลองแล้วจะชอบ  ฟันธง!!!

ความเป็นมาของเทคโนโลยีเลนส์สำหรับขับรถ 

การขับขี่รถยนต์ขณะที่มีฝนตกหรือมีฝุ่นหนาแน่นนั้น เป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับผู้ขับขี่อยู่มากเหมือนกัน เพราะต้องใช้ความไวของสายตาในการปรับโฟกัสกลับไปมาอย่างรวดเร็วเนื่องจากทัศนวิสัยรอบๆตัวไม่ค่อยดี  ทั้งยังต้องคอยกะระยะห่างของรถที่อยู่ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง เพราะทุกเสี้ยววินาทีนั้นคือชีวิต ทำให้ต้องใช้สมาธิในการขับขี่มากกว่าปกติ และยิ่งเจอไฟรถคันหน้าที่เป็นหลอด LED สาดเข้ามาแล้วยิ่งทำให้ทัศนวิสัยที่มีอยู่น้อยนิดนั้นแทบจะไม่เหลือเลย  ซึ่งปัญหานี้โรเด้นสต๊อกนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาเลนส์ที่มาแก้ปัญหาที่จุดนี้ เพื่อให้การขับขี่นั้นปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมถึงหลายค่ายก็มีเลนส์ประเภทนี้อยู่เหมือนกันแต่่แตกต่างกันที่ละเอียดในเรื่องการดีไซน์  แบรนด์อื่นมุ่งเน้นไปที่สีของโค้ตติ้งอย่างเดียว แต่โรเด้นสต๊อกพัฒนาโครงสร้างให้ต่างจากเลนส์โปรสซีฟทั่วไปด้วย ดังนั้น จะขอพูดเฉพาะในส่วนของโรเด้นสต๊อกอย่างเดียวก็แล้วกัน 

การออกแบบเลนส์ (Road lens design)

ขณะที่มีการขับขี่นั้น ผู้ขับขี่จะต้องกลอกลูกตาไปมาอย่างรวดเร็ว จากการใช้สายตาในการมองมาตรวัดความเร็ว ละสายตาไปมองกระจกหลัง ชำเลืองตาไปมองกระจกข้าง เหลือบตาไปดู GPS ซึ่งในการมองแต่ละจุดนั้นใช้เวลาเสี้ยววินาที และในเสี้ยววินาทีนั้นต้องได้รายละเอียดที่ครบถ้วนเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีโอกาสให้ผิดพลาด ทำให้ตานั้นต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งระยะที่ใช้ในการขับรถนั้น จะเป็นระยะไกลและระยะกลางมากที่สุด (แต่ในเมืองไทยวันศุกร์ตอนเย็นนั้น อาจจะใช้ระยะใกล้มากสุด เขี่ยเฟสบุ๊คเพลินๆ ไม่ก็ selfy เพราะรถติดมว๊ากกกกกก) 

ดังนั้น สำหรับโครงสร้างของ Road สำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น จะออกแบบโดยแหวกสนามภาพมองไกลให้กว้างมากเป็นพิเศษ รองลงมาคือระยะกลาง และสุดท้ายคือใกล้ซึ่งให้ Piority น้อยสุด แต่ก็ดูใกล้ได้ อ่านหนังสือทั่วๆไปได้ แต่อ่านต่อเนื่องยาวๆ ไม่ตอบโจทก์เท่าไหร่   มันออกจะคล้ายๆ Impression FreeSign ที่ออกแบบโค้งสร้างโดยเน้นมองไกลเป็นพิเศษ ระยะกลางเป็นรอง เพื่อให้เหมาะสมกับการขับรถมากที่สุด และเพื่อให้การโฟกัสภาพนั้นสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เก็บรายละเอียดได้มากในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อให้การขับขี่นั้นมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น (ถ้าไม่เมานะ)

Solitaire Protect Road 2 

ผิวมัลติโค้ตที่เป็นตัวพรีเมี่ยมของโรเด้นสต๊อก คือ Solitaire Protect Plus 2 ซึ่งจัดว่าเป็น Coating ตัวท็อปของเขา  ซึ่งสำหรับเลนส์สำหรับขับรถนั้น นอกจากโรเด้นสต๊อกจะออกแบบโครงสร้างให้พิเศษกว่าเลนส์โปรเกรสซีฟทั่วไปแล้ว  การคิดค้นผิวโค้ตติ้งนั้นก็สำคัญ เพราะเทคโนโลยีการเคลือบผิวเลนส์นั้น ส่งผลโดยตรงต่อการจัดระเบียบแสงที่วิ่งผ่านเลนส์  ดังนั้น โค้ตติ้งที่ดีๆ ก็จะช่วยจัดระเบียบแสงให้หักเหได้ดี ยอมให้แสงผ่านได้ดี มีการสะท้อนกลับน้อย  แต่สิ่งที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับ Road lens คือ Solitaire Protect Road 2 ซึ่งใช้การย้อมสีนำ้ตาลแดงเข้าไป 12% ให้เลนส์มีสีออกชาๆบางๆ เป็น Filter อ่อนๆ ซึ่งช่วยป้องกันแสงสะท้อนที่จะสะท้อนกลับทางผิวหลังของเลนส์ และลดแสงฟุ้งที่เกิดจากไฟหน้าจากรถยนต์ที่วิ่งสวนเข้ามา ทำให้มองเห็นสิ่งที่อยู่ระหว่างแสงลักษณะนี้ได้ดีขึ้นและยังสามารถลดความรำคาญลงได้ 87% (แต่ถ้ารำคาญคนนั่งข้าง อันนี้ Roasy ช่วยไม่ได้จริงๆ) 

DNEye and PD-Optimized Correction 

โรเด้นสต๊อกนั้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่สำคัญหลายๆเทคโนโลยี  มีเทคโนโลยีที่สำคัญที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของโรเด้นสต๊อก คือ Eye Lens Technology  หรือ EyeLT  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่ Cover เทคโนโลยีย่อยไว้ทั้งหมด  ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยี Wavefont technology มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1994   ต่อยอดมาจนเป็น WaveFront Online Optimization สำหรับใช้ในการออกแบบโครงสร้างเลนส์เฉพาะบุคคลอย่าง Impression Individual lens Technology หรือ  ILT ในปี 2000 และล่าสุดต่อยอดมาเป็น Eye Lens Technology หรือ EyeLT ในปี 2010 และแตกยอดเป็นผลิตภัณฑ์เลนส์ต่างๆอีกมากมาย 

เท้าความกันสักนิดว่า Wavefront Technology นั้นเป็นเทคนิคการคำนวณ เปลี่ยนวิธีกรคำนวณแบบเดิมที่พิจารณาแสงเดินทางเป็นเส้น (Light ray) มาเป็นการคำนวณโดยพิจารณาแสงเดินทางเป็นคลื่น (Wavefront) ซึ่งทั้งคู่นี้ก็มีดีมีเสียแตกต่างกันไป  Light ray นั้นจะคำนวณเป็นจุด ส่วนใหญ่จะคำนวณเฉพาะ Reference point  คือ จุดหลักที่ใช้มอง เพราะต้องคำนวณตั้งแต่แสงวิ่งเข้าไปผ่านผิวหน้า ผ่านเลนส์ ผ่านผิวหลัง แล้วเกิดการหักเห  พอเลนส์มีการเอียงทำมุม ก็คำนวณอีกแบบ ซึ่งจะไล่เป็นจุดทั่วทั้งเลนส์เกรงจะไม่เสร็จในปีนี้  แต่ Wavefront นั้นช่วยประหยัดเวลาการคำนวณได้เยอะ เพราะคำนวณที่เป็นแผงทั่วทั้งเลนส์ สามารถ Optimized ทั่วทั้งเลนส์ได้ดีและรวดเร็วกว่า และเมื่อพารามิเตอร์แว่น หรือตัวแปรต่างๆเปลี่ยนไป ก็จะทำให้ Wavefornt เปลี่ยนไป ซึ่งทำให้เรา Detect ได้ง่าย แก้ไขได้ง่าย  ซึ่งเทคโนโลยีนี้ Rodenstock ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกของโลกที่คิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี 1994 และต่อยอดเป็น HOA consideration technology ในปีเดียวกัน  จดสิทธิบัตรยาว 10 ปี พอหลังจากปี 2004 ก็จะเริ่มเห็นว่ามีเลนส์ค่ายอื่นเริ่มนำเรื่อง HOA มาเล่นบ้างในปี 2006 เรื่องราวมันก็เป็นแบบนี้แหล่ะ 

กลับมาต่อที่เรื่องของเรา 

เรามาตัดดูแค่เฉพาะส่วนที่ ช่วยลดแสงฟุ้งในเวลากลางคืนกันดีกว่า เพราะเรากำลังพูดถึงเลนส์  Road อยู่ ซึ่งแน่นอนว่า แสงฟุ้ง หรือ Glare นั้นถือว่าเป็นปัญหาหลักของการขับรถ แล้ว EyeLT มาช่วยได้อย่างไร 

ทำไมแสงถึงฟุ้ง 

ภาพที่ไม่ชัด หรือมีแสงฟุ้งนั้น แสดงว่า มีการคลาดเคลื่อนของการโฟกัสภาพ เช่น คนสายตาสั้นหรือสายตาเอียงนี่เห็นภาพเลยเพราะถ้าไม่ใส่แว่น แสงจะฟุ้งมาก  มัวมาก ขับรถไม่มีความมั่นใจเลย  แต่พอใส่แว่นที่มีค่าสายตาถูกต้องกับตัวเองแล้ว มองไกลชัด อ่านหนังสือชัด เหมือนคนปกติ 

แต่เคยสังเกตุไหมว่า ทำไมเวลากลางคืนนั้นชัดน้อยกว่ากลางวัน หรือกลางคืนจะว่าชัดมันก็ชัดนะ แต่แสงมันก็ยังฟุ้งอยู่ แสงฟุ้งนี้เกิดจากอะไร  แสดงว่า มันยังมีความคลาดเคลื่อนของการโฟกัสภาพอยู่ 

ความคลาดเคล่ื่อนของแสงเรา เรียกว่า Aberration ซึ่งมีอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับหยาบ ซึ่งเราเรียกว่า Lower Order Aberration หรือย่อว่า LOA  ซึ่งได้แก่ ปัญหาสายตาที่วัดได้จากห้องตรวจสายตาปกติ ได้แก่ สายตา สั้น สายตายาว สายตาเอียง หรือสายตาที่ต้องแก้ด้วยปริซึม  ซึ่งเมื่อเราวัดสายตาถูกต้อง และแก้ด้วยเลนส์ให้ถูกต้องแล้ว คนไข้จะสามารถอ่านตัวหนังสือที่มีความคมชัดในระดับ 20/20 ได้เช่นเดียวกับคนปกติ  

จาก ไดอะแกรม เขียวบนสุด คือการหักเหแสงที่สมบูรณ์แบบ (ไม่มีความคลาดเคลื่อน)   ลงมาแถวที่สองเป็นความคลาดเคล่ื่อนของแสงที่เกิดจากปริซึม  แถวที่สามเป็นความคลาดเคลื่อนของแสงที่หักเหผ่านเลนส์สายตาสั้น/ยาว เอียง ดังนั้นแถว 2-3 คือ Lower order aberration  ส่วนแถว 4-5 เป็นความคลาดเคลื่อนในระดับละเอียดหรือ higher order aberration ก็จะมีชื่อแปลกๆเช่น Coma ,Trefoil etc. 
Higher Order Abberation จะส่งผลกระทบต่อการมองเห็นมากขึ้น เมื่อขนาดของรูม่านตาใหญ่ขึ้น

 

ดังนั้น แว่นที่ใส่มองไกลชัดกลางวัน แต่เมื่อใช้สายตาในเวลากลางคืน แม้จะมีความคมชัด แต่ก็ยังเห็นมีแสงฟุ้งๆ โดยเฉพาะรอบๆดวงไฟอยู่ ซึ่งแสดงว่า มีความคลาดเคลื่อนในระดับที่ละเอียดลงไป เราเรียกว่า Higher Order Aberration เขียนย่อว่า HOA ซึ่งมันมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น Coma, Trifoid ซึ่งไม่สามารถวัดด้วยเครื่องมือปกติหรืือวัดด้วยการถามตอบแบบปกติทั่วไปได้ เนื่องจาก HOA ของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับผลรวมของค่าสายตาที่วิ่งผ่านกระจกตาผ่านเลนส์ตาในรูม่านตาแต่ละขนาด ก็มีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ในการวัดนั้นจะต้องใช้เครื่อง Aberrometer ซึ่งของโรเด้นสต๊อก คือ DNEye Scan ซึ่งช่วยวัด HOA ในคนไข้แต่ละคน หรือแต่ละสภาวะแสงได้ 

ซึ่งในการออกแบบเลนส์นั้นจะนำ HOA ไปคำนวณร่วมกับ LOA ซึ่งได้จากห้องตรวจปกติ และออกแบบโครงสร้างเลนส์ให้แก้ทั้ง LOA และ HOA ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็จะสามารถลดแสงฟุ้งในเวลากลางคืนได้ 

แต่เนื่องจากว่า HOA นั้นเป็นความคลาดเคล่ื่อนระดับละเอียด ดังนั้น มันจะให้ประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อ LOA ได้ถูกแก้ไขจนหมดจดแล้วเท่านั้น  แต่ถ้ายังวัดสายตาผิดอยู่ ยังแก้สายตาเอียงไม่หมดอยู่ แกนขององศาเอียงยังผิดอยู่ HOA ที่ได้จาก DNEye ก็คงไม่ได้ช่วยอะไร  

อุปมาเหมือนการปั้นช้างและปัดเงาช้าง การวัดสายตาที่ถูกต้องเเหมือนกับการปั้นช้างให้มีรูปทรงที่สวยงาม (LOA)  ส่วนกระบวนการปัดเงาช้างนั้นเหมือนกับ HOA  ดังนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะปัดเงา ถ้าช้างยังไม่ปั้นเป็นรูปเป็นร่าง  เราจะได้ก้อนอะไรเงาๆ มาสักอย่างหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ช้างแน่ๆ 

แต่แม้ว่าเราไม่ได้ใช้ DNEye ในการวัด HOA ในรูม่านตาของแต่ละคน  แต่ผู้ใช้เลนส์ก็ยังสามารถได้รับประโยชน์จากการลด HOA โดยการใช้ค่ากลางของรูม่านตาของแต่ละคน ในการคำนวณชดเชย HOA ซึ่งก็สามารถช่วยลดแสงฟุ้งได้ในระดับหนึ่่ง  โดยประสบการณ์กว่า 140 ปี ทำให้โรเด้นสต๊อกมี Data base มากมายในการนำไปคิดคำนวณ  ซึ่งโรเด้นสต๊อกเรียกว่า EyeModel ซึ่งมันจะเป็นข้อมูลถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงภายในลูกตามนุษย์เมื่อใช้งานในแต่ละสภาวะ และเป็นที่มาของเชื่อ Eye Lens Technology 

เลนส์ทั่วไป
Rodenstock  Road2 with Solitaire Protect Road2 

Individual Effect Optimization 

อีกสิ่งหนึ่่งที่โรเด้นสต๊อกให้ความสำคัญกับเลนส์ Road คือ Spatial Vision 

Spatial Vision คืออะไร 

Spatial Vision คือ ความสามารถในการแยกรายละเอียดของวัตถุขนาดเล็ก ขณะมีการเคลื่อนที่ได้ นึกถึงเรานั่งดูรถแข่ง ดูที่ล้อของมัน สังเกตไหมเวลาล้อมันหมุน ตอนที่มันค่อยๆออกตัว เราจะมองเห็นก้านของล้อแม๊คกำลังหมุน แต่เมื่อรถวิ่งเร็ว เราจะเห็นเหมือนว่าแม๊คมันหมุนถอยหลัง นั่นเพราะว่า ความเร็วของการเคลื่อนที่่ของล้อนั้น มันเร็วเกินกว่าที่เราจะแยกแยะได้ เราก็เลยเห็นมันเป็นกลุ่มที่กำลังเคลื่อนที่ช้าๆ ตรงข้ามกับทิศเดิม และถ้าเร็วมากๆ เราจะมองไม่เห็นซี่เลย 

ดังนั้น Spatial Vision นั้นมีความจำเป็นในการขับขี่ ซึ่งการที่เราจะมี Spatial Vision ได้ดีนั้น สองตาของเราที่มองผ่านเลนส์ซ้ายและขวาที่ผ่านจุดคู่สมกันนั้น จะต้องให้ภาพที่คมชัดและมีลักษณะที่เหมือนกัน จึงจะทำให้การรวมภาพนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเก็บรายละเอียดได้เร็วขึ้น ซึ่งสำคัญในการกะระยะระห่างการขับขี่เช่นแซงหรือว่าถอยหลังเข้าซอง 

เอาหล่ะ มาถึงขนาดนี้แล้ว ไปดูเลยว่ามันมีรุ่นไหนให้เล่นบ้าง 

Progressive lens สำหรับขับรถ มีให้เลือก 3 รุ่น คือ Impression Road2, Multigressiv Road2 และ Progressiv Road2  มีทุก index 

Single Vision Lens : เลนส์ชั้นเดียวสำหรับขับรถ มีให้เลือกหลายรุ่น ได้แก่ Perfalit Road2, Perfalit Mono Plus Road2, Multigressiv Mono Road2, Multigressiv Mono Plus Road2, Impression Mono Road2 และ Impression Mono Plus Road2

ทิ้งท้าย 

ก็เป็นผลิตภัณฑ์อีกตัวที่น่าสนใจสำหรับเลนส์โรเด้นสต๊อก ท่านที่ขับรถบ่อย โดยเฉพาะขับกลางคืน ลองหาไปลองใช้ดู เชื่อว่าท่านต้องชอบ แต่สำคัญที่สุดคือ เมาได้แต่อย่าขับครับ รับรองจ่าไม่จับแน่นอน   สำหรับ Technology update วันนี้ขอบจบกันไปเท่่านี้ ขอขอบคุณทุกท่านสำหรับการติดตามครับ พบกันใหม่ตอนหน้า สำหรับตอนนี้ขอกล่าวคำว่า สวัสดีครับ  ขอให้เที่ยววันหยุดไปกราบแม่ และเดินทางปลอดภัยกันทุกท่านครับ

ดร.ลอฟท์​ (Somyot Phengtavee ,O.D.)



คลินิกทัศนมาตร์ ลอฟท์ ออพโตเมทรี 

578 ซ.วัชรพล  ท่าแร้ง บางเขน กทม. 10220

T. 090 553-6554

Line ; loftoptometry 

 

BackUp Slide : Rodenstock Road2