คนไข้หญิง อายุ 57
#ปวดศีรษะ บริเวณเบ้าตา #เมื่อยคอบ่อย ใส่เลนส์โปรเกรสซีฟได้ไม่นาน ใส่ๆถอดๆ ไม่ติดตา เพราะปวดหัวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดูใกล้ๆ #มีน้ำตาไหลตลอดเวลา #แสบๆตา เป็นมานานเกือบ 10 ปี แสบๆ ไปพบหมอ บอกว่าปกติ ไม่มีพยาธิสภาพเกี่ยวกับโรคตา
มองไกล : มัว
มองใกล้ : มัวมาก
พบจักษุแพทย์ครั้งสุดท้ายเมื่อ 1 ปีที่แล้ว สุขภาพตาปกติ ขั้วตาโต เฝ้าระวังต้อหิน ความดันตาปกติ
เคยทำเลเซอร์ เพื่อเจาะรูระบายน้ำในช่องลูกตาออก เพื่อลดความดันตา
สุขภาพแข็งแรง
VA (ตาเปล่า) : 20/200 OD,OS,OU
VA (แว่นเดิม progressive lens )
R +2.50 20/30
L +2.50 20/30
Add +2.75
R +3.50 -0.62x80 20/15
L +3.75 -0.62 x83 20/15
Add +1.75
NRA +1.00
PRA -1.00
Phoria : อยู่ในเกณฑ์ค่า norm
Assessment
1. Compound hyperopic astigmatism
2. Presbyopia
3. Eye irritation and tearing while wearing the spectacle
Plan
1. Full Corrected with Progressive additional lens
R +3.50 -0.62x80 20/15
L +3.75 -0.62 x83 20/15
Add +1.75
2. Education : อธิบายให้คนไข้ได้เข้าใจถึงปัญหาของสายตายาว ว่าปัญหาน้ำตาไหลตลอดเวลาที่เกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากว่าการใช้สายตาที่ไม่ถูกต้องกับสายตาจริงของตัวเอง ทำให้เลนส์ตานั้นต้องทำงานหนัก เพื่อเพ่งภาพให้ชัดอยู่ตลอดเวลา และการที่ระบบการมองเห็นมันต้องเพ่งเครียดตลอดเวลาทำให้มีน้ำตาไหล แสบตา อยู่ตลอดเวลา ใส่แว่นไม่ทน และแนะนำคนไข้ไปว่า การที่จะจ่ายสายตาแบบเต็ม หรือ Full corrected นั้นอาจจะจะทำให้มองไกลมัวเล็กน้อยในช่วงแรก จะต้องปรับตัวกับสายตาใหม่เล็กน้อย และอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้น
เมื่อ 1 อาทิตย์ผ่านไป คนไข้แวะเข้ามาดัดแว่น ดีใจที่คนไข้มีความสุขกับแว่นใหม่ น้ำตาที่เคยไหลพรากมาเป็นสิบปีนั้น ลดลงจนแทบไม่เหลือให้เห็น การมองเห็นคมชัด คนไข้ปรับกับเลนส์คู่ใหม่ในเวลา 3 วัน
เคสนี้เป็นลักษณะอาการของคนที่เป็นสายตายาวมองไกลมาก (Mixed Hight Hyperopia) ซึ่งทำให้ระบบการโฟกัสของเลนส์ตานั้นต้องทำงานหนักมาก และหนักตลอดเวลา ทำให้เกิดลักษณะอาการข้างเคียงตามมาหลายๆอย่าง เช่น มองภาพไม่ชัดทั้งไกลและใกล้ แสบๆร้อนๆที่บริเวณลูกตา ตาแดงๆดูไม่สดใส เหมือนคนนอนไม่พอ น้ำตาไหล ระคายเคืองตลอดเวลา เนื่องจากระบบมันถูก Stress ตลอดเวลา
สิ่งที่ต้องระวังเมื่อเจอคนไข้ Hyperopia คือ ต้องรีดค่าสายตามองไกลให้หมด ไม่งั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกหลายอย่าง เช่น
เนื่องจากการที่เราไป Under corrected Hyperopia คือ การจ่ายแบบไม่ Full corrected แม้จะทำให้คนไข้มองไกลชัดขณะตรวจตา เนื่องจากเลนส์ตาสามารถเพ่งชดเชยส่วนที่เหลือได้ แต่การที่เลนส์ตาต้องเจียดแรงที่มีอยู่น้อยนิดไปมองไกล ทำให้แรงดูใกล้นั้นเหลือน้อยเต็มที ทำให้เราต้องชดเชยค่า Addition ที่สูงเกินจริง การที่เราจ่าย Add เกินจริง แม้ว่าจะช่วยให้คนไข้สามารถดูใกล้ที่ 40 ซม.ได้ แต่ถ้าเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟแล้ว โครงสร้างจะหายนะมากๆ เพราะการที่ Addition ขยับขึ้น 1 สเตป นั้นทำให้ภาพบิดเบี้ยวนั้นทวีสูงขึ้นในอัตรา 1:3 (3 เท่าของแอดดิชั่นที่เพิ่ม คือได้ function แต่ก็ได้ขยะบิดเบี้ยวขึ้นมา 300%) ยิ่งเรา Under Corrected Hyperopia มากเท่าไหร่ ก็จะต้องยิ่ง Over Addition มากขึ้นเท่านั้น และถ้าเคสลักษณะนี้ เลนส์ต่อให้เทคโนโลยีเทพขนาดไหนก็เอาไม่อยู่
การที่เราไม่ Full Corrected คนไข้ที่เป็น Hyperopia แม้ว่าจะทำให้คนไข้ชัดในวันนี้ แต่จะมัวในวันหน้า เนื่องจากวันนี้ที่เรากำลังวัดสายตาอยู่ คนไข้มองไกลชัดจากเลนส์ตาใช้การเพ่งสู้เอา วันใดวันหนึ่งที่คนไข้เหนื่อยล้า เพลีย ก็จะทำให้เลนส์ตานั้นมีแรงน้อยลง ทำให้มองไกลนั้นโฟกัสไม่ได้ ก็จะเริ่มมัว แต่ลักษณะจะเป็นแบบ เดี๋ยวมัวเดี๋ยวชัด บางวัน Fresh หน่อยก็จะมองไกลชัด วันไหนนอนน้อยก็จะมองไกลมัว
เหมือนตอไม้ที่อยู่ในน้ำ ถ้าเปรียบตอไม้ คือ ปัญหาสายตายาว และเปรียบน้ำ คือ กำลังของการเพ่งของเลนส์ตา ยามที่น้ำสูงเราก็จะมองไม่เห็นตอ พอยามน้ำลดตอก็โผล่ขึ้นมา แต่ละวันน้ำขึ้นลงไม่เท่ากัน บางวันตอก็โผล่สูงขึ้น บางวันตอก็โผล่ต่ำลง เป็นๆหายๆ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เป็นอยู่อย่างนั้น แต่การที่จะดูว่าตอที่อยู่ในน้ำนั้นมีขนาดเท่าไหร่ ก็จะต้องวิดน้ำออก ถ้าเป็นเลนส์ตาก็จะต้องใช้การหยอดยา Cycloplegic หรือ ทำการ Fogging ขณะทำ refraction จึงจะได้ค่าที่แท้จริงออกมา
ทีนี้การ Full Corrected คนไข้ Hyperopia นั้น จะต้อง Educate ให้มาก เพราะเลนส์ตาที่เพ่งมาตลอดทั้งชีวิต จู่ๆจะมาให้คลายตัวให้หมดนั้น ธรรมชาติร่างกายจะ Reject แต่ควรบอกอาการที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ว่ามองไกลจะมัวอยู่ 2-3 วัน หรืออาจถึงสัปดาห์ (แต่มัวที่ว่านี้เป็นเพียงความรู้สึกเฉยๆ เพราะคนไข้อ่านได้ 20/20 เท่ากับคนปกติ เพียงแต่ Contrast มันต่ำเท่านั้น) หลังจากนั้นระบบต่างๆจะดีขึ้น มองไกลชัดขึ้น กลางชัดขึ้น ใกล้ชัดขึ้น และจะสบายในที่สุด
คนไข้ที่เป็นสายตายาวมากๆ และมีสายตาเอียงร่วมด้วย หรือที่เราเรียกว่าสายตา Mixed hyperopia astigmatism หมายความว่า จุดโฟกัสนั้นตกหลังจอรับภาพทั้งสองแกน แต่สองแกนที่ตกหลังจอรับภาพนั้น ตกกันคนละตำแหน่ง
โดยธรรมชาตินั้น เลนส์ตาจะ Accommodate ให้จุด Circle of least confusion ซึ่งเป็นจุดสมมุติที่อยู่ระหว่าง 2 โฟกัสนั้นให้อยู่ใกล้จอรับภาพมากที่สุด เพราะเป็นจุดที่ชัดที่สุด
ดังนั้น ถ้าเราแก้แกนที่เป็นแกน Sphere ไม่หมด เราจะไม่สามารถหาสายตาเอียงเจอ เพราะมันถูกกลบด้วย Circle of least confustion และมีโอกาสวัดพลาดสูงมากถ้าเช็คด้วย ชาร์ต เขียว/แดง
ห้ามเลือกกรอบใหญ่ ห้ามเลือกเลนส์สำเร็จ เพราะจะทำให้เลนส์หนาและหนักมาก
ความพิเศษของทางแล๊ปที่สั่งขัดค่าสายตาของสายตาสั้นกับสายตายาวนั้นไม่เหมือนกัน เนื่องจากลักษณะของเลนส์บวกกับเลนส์ลบนั้นไม่เหมือนกัน เลนส์ลบขอบจะหนาตรงกลางจะบาง ในขณะที่เลนส์บวกนั้นกลางจะหนาแต่จะบางที่ขอบ
เลนส์ลบ เนื่องจากจุดบางสุดอยู่ที่ตรงกลางอยู่แล้ว ดังนั้น การสั่งเลนส์เผื่อใหญ่ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเราเลือกกรอบเล็ก เราก็สามารถตัดขอบทิ้งได้ ยิ่งกรอบเล็กมากเราก็จะสามารถตัดขอบทิ้งได้เยอะ
เลนส์บวก นั้นจุดหนาสุดอยู่ตรงกลาง ยิ่งเราสั่ง Diameter ใหญ่มากๆ ตรงกลางก็จะหนามาก ถ้าเราสั่ง Diameter มาตรฐานมา ต่อให้เราใช้กรอบเล็ก ตัดขอบทิ้งเยอะ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะตรงกลางก็หนาอยู่ดี (ดูรูปที่แนบมาประกอบ)
ดังนั้น เลนส์ตาบวก จะต้องเลือกกรอบที่ขนาดไม่ใหญ่มาก บอกขนาดให้ละเอียดทั้งความกว้างกรอบ ความสูงกรอบ สะพานจมูกแว่น รวมถึง ค่าพีดี ค่าฟิตติ้ง รวมถึงรูปทรงกรอบด้วย แล๊ปเขาจะขัดบางให้พอดีกรอบ คือ เลนส์มาอาจดูเว้าๆแหว่งๆ แต่พอตัดเข้ากรอบแล้วจะพอดี และจะได้เลนส์บางเจี๊ยบเลย ยิ่งถ้าสามารถเลือกกรอบเต็มได้ เราจะสามารถทำบางแบบใบมีดได้เลย
เขาเรียกเทคนิคทำย่อบางสำหรับตาบวกนี้ว่า Center Thickness Optimisation จากรูปที่แนบมา ในส่วนของการวางเซนเตอร์ก่อนฝน จะเห็นว่าขนาดของเลนส์นั้น พอดีกลับเลนส์ที่จะฝนประกอบพอดีๆ คือ ไม่ต้องทำมาเผื่อ เลนส์ก็จะบางขึ้น โดยไม่ต้องใช้ High index ให้เสียสตางค์เพิ่ม
เอาหล่ะ เอาเท่านี้ก่อน เดี๋ยวมีเคสน่าสนใจจะมาเล่าให้ฟังใหม่ หวังว่าบทความเรื่องนี้จะมีประโยชน์กับผู้ที่สนใจ ไม่มากก็น้อย
ขอบคุณสำหรับการติดตาม
ดร.ลอฟท์