เปิดโลกโปรเกรสซีฟ ตอนที่ 5

เรื่อง กรอบแว่นแบบไหนเหมาะนำมาทำโปรเกรสซีฟ 

ดร.ลอฟท์ ,เขียนและเรียบเรียง

เรื่องสำคัญที่เรามักจะลืมเวลาจะต้องเลนส์โปรเกรสซีฟก็คือ "การเลือกกรอบแว่น" ซึ่งการเลือกกรอบแว่นนั้นเป็นเรื่องของศาสตร์และศิลป์ ไม่ใช่อะไรก็ได้ หรือจะเลือกตามใจฉันอย่างเดียวหรือคนขายก็เลือกตามใจคนซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนึกถึงความเป็นไปได้และผลกระทบที่จะเกิดจากการเลือกกรอบแว่นที่ไม่เหมาะสมด้วย ซึ่ง 2 สิ่งที่เราใช้ในการพิจารณาคือ functional และ cosmetic ต้องไปด้วยกัน  แต่ในวันนี้จะเป็นการพิจารณาเลือกกรอบแว่นในมุมของศาสตร์ หรือ เลือกแว่นให้ได้ functional ของเลนส์ที่ดีที่สุดเพราะมักจะเป็นเรื่องที่เป็นสาเหตุของการ "ตายน้ำตื้น" คือตั้งใจวัดสายตาแทบตาย ฟิตติ้งอย่างดี พีดีเปะ! เซนเตอร์กริ๊บ! แล้วเลือกเลนส์ก็เอาดีๆ เลย พอใส่แล้ว อ้าว..เฮ้ย..ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า มันเกิดอะไรขึ้น เช็คสายตาซ้ำ เช็คเซนเตอร์ซ้ำ ก็ถูกต้องแล้วนี่หน่า ไหงเป็นงี้  โทรไปโวยวายด่าบริษัทเลนส์ใหญ่เลย ว่าเลนส์คุณมันห่วยแตก โวกวากโวยวาย  เคลมเลนส์มา เป็นแบบเดิมอีก เปลี่ยนค่ายก็เละเหมือนเดิม ซึ่งปัญหาวุ่นวายแบบนี้อาจจะเกิดจากปัญหาง่ายๆเช่นเลือกกรอบแว่นไม่เหมาะสมกับโปรเกรสซีฟก็ได้ และแก้ง่ายๆด้วยการเลือกแว่นใหม่ซะ อะไรๆอาจจะง่ายขึ้นก็ได้ 

กรอบแว่นแบบไหน ที่เหมาะกับการทำโปรเกรสซีฟ 

ในการเลือกกรอบแว่นสำหรับทำเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นมีหัวใจสำคัญคือ "ควรเป็นกรอบแว่นที่สามารถดัดมุมต่างๆได้" และเป็นแว่นที่ "สามารถรักษามุมที่ผ่านการดัดแล้วได้อย่างมีเสถีียรภาพ มีความแข็งแรงแต่ก็ยืดหยุ่นและไม่เสียรูปทรงง่าย" ส่วนเรื่องความโค้งหน้าแว่นนั้นควรเลือกแว่นที่มีความโค้งแต่พอดีประมาณ 5 องศา ส่วนแว่นสปอร์ตที่โค้งมากๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่จะต้องเป็นเลนส์รุ่นที่ใช้เทคโนโลยี individual parameter optimization ซึ่งมีอยู่ในรุ่น Impression ได้แก่ Impression EyeLT2 ,Impression FreeSign3 ,Impression Sport2 ,Impression FashionCurve2  เป็นต้น จึงจะสามารถใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟได้เต็มประสิทธิภาพ

เนื่องจากการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้น จะต้องมีการระบุค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นเข้าในในการคำนวณ เพื่อคำนวณมุมกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อตามองผ่านเลนส์ในแต่จุดบนผิวเลนส์ ซึ่งเลนส์รุ่นพื้นฐานทุกค่ายจะใช้ค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นที่เป็นมาตรฐานค่าหนึ่งซึ่งเป็นค่าที่ผู้ผลิตกรอบแว่น(ที่ได้มาตรฐาน)จะต้องใช้ค่าเดียวกันคือ  ออกแบบแว่นให้มีความโค้งแว่น 5 องศา เมื่อขาแว่นขนานกับพื้นหน้าแว่นจะทำมุมเท 9 องศา และระยะจากผิวหลังเลนส์ถึงกระจกตาจะมีระยะ 13 มม.  ซึ่งค่า standard parameter เหล่านี้ เป็นค่าที่ใส่เข้าไปคำนวณในโปรเกรสซีฟรุ่นพื้นฐาน เช่นกลุ่ม power optimized progressive lens หรือแม้แต่ conventional ที่ออกแบบแม่พิมพ์ก็ต้องคำนวณ position of wear parameter  ใส่เข้าไปด้วย 

ดังนั้นในการเลือกแว่น ควรจะเลือกแว่นที่มีค่าพารามิเตอร์ให้ได้มาตรฐานตามที่กล่าวมาข้างต้น  ซึ่งคงไม่ต้องกังวลอะไรถ้าหากว่าแว่นที่เราเลือกนั้นมีการผลิตที่ได้มาตรฐาน  แต่อย่างไรก็ตาม พารามิเตอร์แว่นที่มาตรฐานอาจจะเปลี่ยนไปตามสรีระของแต่ละคน เช่นกรอบแว่นตา ic!Berlin ที่มีความโค้ง จะโค้งน้อยลงถ้านำไปใส่กับคนหน้าใหญ่ๆ  หรือมุมเทหน้าแว่นจะเทมากขึ้นในคนที่ร่องหูอยู่สูงกว่าแนวสันจมูกหรือมุมเทจะลดน้อยลงในคนที่มีสันจมูกอยู่สูงกว่าแนวร่องหู 

เราไม่สามารถแก้สรีระของเราได้ (เว้นเสียแต่ว่าไปทำศัลยกรรม) แต่เราสามารถดัดแว่นเพื่อชดเชยมุมที่เปลี่ยนจากสรีระของเราได้ ดังนั้นแว่นตาที่ดีและเหมาะสมในการนำมาประกอบเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นจำเป็นจะต้องเป็นแว่นที่สามารถดัดมุมต่างๆได้และหลีกเลี่ยงแว่นที่ดัดไม่ได้ทุกประการ ถ้าเราลองแว่นแล้วรู้สึกว่ามุมไม่เหมาะสมและไม่สามารถดัดได้ แม้เราจะชอบแว่นตัวนั้นมากขนาดไหนก็ตาม อาจจะต้องทำใจไปเลือกกรอบแว่นตัวอื่น เว้นเสียแต่ว่าเราจ่ายไหว ก็ใช้รุ่นที่ใช้เทคโนโลยี individual parameter optimization ได้ แต่ราคาจะสูงกว่าเลนส์ปกติมาก 

ดังนั้นถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของโปรเกรสซีฟและขีดจำกัดต่าง ๆ จะสามารถช่วยให้เราได้เลนส์ที่มีประสิทธิภาพดีในราคาที่เหมาะสม เพียงแค่เลือกกรอบแว่นให้เหมาะสม และสามารถดัดมุมต่างๆได้และการเลือกแว่นและการดัดมุมแว่นนั้นไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์เฉพาะกับเลนส์โปรเกรสซีฟเท่านั้น เลนส์ทุกประเภทก็ใช้หลักการเดียวกันในการออกแบบ 

ดังนั้นบทความเรื่องนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคได้ไอเดียในการเลือกแว่นและช่วยให้ผู้ให้บริการได้เข้าใจเหตุของการดัดแว่น รู้เป้าหมายของการดัดแว่น ช่วยลูกค้าเลือกแว่นได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไข้ตนเองต่อไป 

ดังนั้นในเบื้องต้น เราจะต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า Frame Parameter กันเสียก่อน 

ความสำคัญของ Frame Parameter   

Frame Parameter คือลักษณะหรือตำแหน่งของเลนส์แว่นตาที่ทำมุมกับแนวการมองของผู้สวมใส่ (Line of sight) ซึ่งส่งผลต่อมุมที่ตากระทำต่อเลนส์ขณะมองไปยังตำแหน่งต่างๆ นั่นเอง ซึ่งแว่นแต่ละแบบนั้นก็มีลักษณะของ parameter ที่แตกต่างกันไป เช่น แว่นหน้าตรงไม่โค้งไม่เท การมองก็จะตั้งฉากกับเลนส์ ส่วนแว่นสปอร์ตกรอบโค้งๆ ก็จะทำมุมกับแนวการมองมากน้อยแตกต่างกันไปตามความโค้งมากน้อยของกรอบแว่น  และเมื่อเราเหลือบมองไปยังตำแหน่งต่างๆบนผิวเลนส์ ก็จะเกิดมุมที่แตกต่างกันไป เช่นถ้าเรามองตรงก็ทำมุมค่าหนึ่ง เมื่อเราเหลือบตาลงเพื่ออ่านหนังสือก็เกิดมุมอีกค่าหนึ่ง  ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องรู้ตำแหน่ง reference point ที่ตำแหน่ง primary gaze ว่าขณะมองตรงนั้นเกิดมุมที่แนวการมองกระทำกับเลนส์แว่นตาเกิดเป็นมุมเท่าไหร่ และมุมที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความคลาดเคล่ื่อนเท่าไหร่ และนอกจากนี้ softwear จะสามารถคำนวณต่อไปได้กว่า เมื่อแนวการมองหลุดจากตำแหน่ง reference point ไปยังตำแหน่งต่างๆ จะเกิดมุมที่เปลี่ยนไปเท่าไหร่ และสร้างความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นเท่าไหร่ เพื่อจะได้ทำการคำนวณและชดเชยความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการมองแบบทำมุม 

ดังนั้นในการประกอบเลนส์เข้ากับกรอบแว่นจะต้องให้ได้เซนเตอร์ตามที่ออกมาจริงๆ เพราะการฟิตติ้งที่ไม่ได้เซนเตอร์นอกจากจะทำให้ตำแหน่งการใช้งานไม่เหมาะสมแล้ว ยังจะทำให้มุมที่คำนวณเอาไว้นั้น เกิดความคลาดเคลื่อนไปทั้งหมด บางทีเราอาจจะคิดเองว่า ใส่แว่นไปแว่นก็เลื่อนและทำให้เซนเตอร์เคลื่อนอยู่ดี เรื่องนั้นคงไม่เถียง เพียงแต่จะบอกให้คิดว่า “เช่นเดียวกับรถยนต์ว่าทำไมต้องตั้งศูนย์ ทั้งๆที่รู้ว่าขับๆไปศูนย์ก็เสียอยู่ดี” แต่ที่ต้องตั้งศูนย์ก็เพราะว่ารถที่ตั้งศูนย์แม้ว่าขับไปแล้วศูนย์จะเสียบ้างก็เพียงเล็กน้อย ซึ่งสามารถกลับมาตั้งใหม่ได้  แต่ถ้าศูนย์เสียตั้งแต่ออกจากโชว์รูม แล้วทนขับไป อันนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เช่นเดียวกันกับการประกอบแว่น ต้องให้ได้เซนเตอร์ที่แม่นยำและเมื่อใส่ๆไปมันหลวมหรือไปเผลอนั่งทับก็เอามาตั้งศูนย์ใหม่ แต่ถ้ามันเสียตั้งแต่ตอนฝนเลนส์แล้วจะดัดแว่นยังไงก็ไม่สามารถทำให้ได้ศูนย์ ฉันไดก็ฉันนั้น

และผลกระทบของพารามิเตอร์แว่นที่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างเลนส์ที่คนมีปัญหาสายตาเคยมีประสบการณ์ตรงกันก็คือ เมื่อต้องการเอาแว่นกันแดดโค้งๆหรือแว่นสปอร์ตไปทำสายตา ถ้าเลนส์ที่ใช้ไม่ได้ออกแบบมาเฉพาะแว่นกรอบโค้ง เวลาใส่จะรู้สึกว่ามึนๆ เมาๆ กะระยะผิด ใส่ไม่สบายหรือเวียนหัว จนหลายๆคนเชื่อว่าแว่นโค้งๆนั้นๆนำมาทำแว่นสายตาไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วเทคโนโลยีปัจจุบันนั้นทำได้สบายมาก และใช้งานได้ดีมากด้วย ทุกคนใส่ได้ และมีบางคนที่บอกว่าแว่นโค้งดีกว่า (ส่วนตัวคิดว่าเกิดจากกรอบที่โค้งโอบหน้าทำให้ลานตาที่เห็นภาพคมชัดสามารถมองได้เต็มลาน ไม่ติดขอบแว่นมากกว่า) เพียงแต่ว่าเลนส์พวกนี้จะต้องใช้ค่าพารามิเตอร์แว่นเฉพาะบุคคลขณะสวมใส่เข้าไปคำนวณด้วย 

ทำไมแว่นดีๆส่วนใหญ่ไม่ทำแว่นหน้าตรง

แว่นที่หน้าตรง ไม่โค้ง ไม่เท ใส่กับเลนส์แบนๆน่าจะเป็นแว่นที่ดี เนื่องจากเลนส์มันตั้งฉากกับแนวการมองเมื่อเรามองตรง เหมือนกับ ชุดเลนส์บน phoropter หรือ trial frame ที่เอาไว้เสียบเลนส์ตอนวัดสายตา เพราะจะทำให้การมองตั้งฉากที่สุด และน่าจะไม่ทำให้เกิด unwanted oblique astigmatism จาก lens tilt  แต่ทำไมกรอบแว่นตาแบรนด์ดีๆ และได้มาตรฐานนั้นออกแบบให้มีความโค้งอยู่ค่าหนึ่ง และมีมุมเทอยู่ค่าหนึ่ง  

ที่ออกแบบเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า การใช้ลูกตามองของคนเราในชีวิตประจำวันนั้น การเคลื่อนที่ของลูกตาจะเคลื่อนเป็นวิถีโค้งรอบๆจุดหมุน ซึ่งเราเรียกจุดสมมติของการหมุนนี้ว่า center of rotation  ดังนั้นแว่นที่ดีจะต้องออกแบบมาให้มีความโค้งพอดีและสอดรับกับแนวการเคลื่อนที่ของลูกตาที่มีลักษณะการเคลื่อนที่เป็นวิถีโค้ง เพื่อให้เวลามองหลุดจากตำแหน่งมองตรงนั้น เกิดการตั้งฉากกับเลนส์มากที่สุด  ดังนั้นความโค้งที่เหมาะสมที่สุดจึงอยู่ที่ 5 องศา และใช้ lens demo ที่มี base curve 5 ในการประกอบ  

ถ้าแว่นมีมุมโอบหรือมีมุมเทที่ไม่เหมาะสม ก็จะเกิดปัญหาคือ เลนส์จะตั้งฉากกับเลนส์เฉพาะตำแหน่งมองตรง แต่เมื่อเหลือบตาลงต่ำลง มุมที่ตากระทำกับเลนส์จะเกิดมุมมาก รวมขณะเหลือบมองซ้าย/ขวาด้วย ซึ่งมุมที่เกิดขึ้นจะความคลาดเคลื่อนของค่าสายตา และภาพมัวที่เกิดขึ้นจากเลนส์แต่ละข้างจะทำให้มุมมอง 2 ตานั้นแคบลง ใส่ไม่สบาย  

Frame Parameter 3 ค่าที่ต้องรู้?

ในแว่นตาแต่ละอันนั้น จะมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันไปตามแต่ละดีไซน์ ซึ่งเราเรียกลักษณะทางกายภาพที่ทำให้แว่นเกิดมุมนั้นว่า Frame Parameter ซึ่งมี 3 ค่าที่ต้องรู้จักคือ

1.ความโค้งหน้าแว่น (Face Form Angle ,FFA) ซึ่งความโค้งของหน้าแว่นนั้นมีอยู่หลายระดับตั้งแต่…

“Zero Wrap”

กรอบแว่นประเภทนี้คือแว่นสำหรับลองค่าสายตาในห้องตรวจ (Trial Frame) ซึ่งมีช่องต่างๆสำหรับเสียบเลนส์ ซึ่งจะออกมาให้มีลักษณะ หน้าตรง (FFA=0) เพื่อให้ขณะวัดสายตานั้น ตามองตรงผ่านเลนส์แบบตั้งฉากที่สุด เพื่อไม่ให้สายตานั้นคลาดเคลื่อนขณะทำการตรวจวัดสายตา  ปกติเราจะไม่พบแว่นประเภทนี้ในท้องตลาด เว้นเสียแต่ว่าเป็นแว่นกันแดดแฟชั่น ที่ทำหน้าแบนๆ แล้วฉาบปรอท เพื่อให้เกิด mirror effect สะท้อนบนผิวเลนส์ 

“Ideal Wrap”

แว่นที่ได้มาตรฐานจะมีความโค้งอยู่ค่าหนึ่งซึ่งเหมาะสมที่จะนำมาทำเลนส์สายตาหรือเลนส์โปรกเกรสซีฟมากที่สุด ซึ่งกรอบแว่นตาที่ได้มาตรฐานโลกอย่าง LINDBERG รุ่นที่เป็นแว่นสายตา จะออกแบบให้แว่นมีความโค้ง 5 องศาทุกตัว รวมถึงแบรนด์อื่นๆในท้องตลาด ดังนั้น lens designer จะออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟ โดยนำค่าพารามิเตอร์ที่ได้จากกรอบที่เป็น ideal wrap นี้ไปใช้เป็นตัวแปรในการออกแบบเลนส์  ซึ่งจะมีความโค้งอยู่ 5 องศา (FFA=5)  

“Medium Wrap”

กลุ่มนี้จะเป็นแว่นกลุ่มกึ่งสปอร์ต ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเริ่มมีความโค้งอยู่ประมาณ 7-15 องศา ซึ่งแว่นกลุ่มนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมของ Frame Designer แบรนด์กึ่งสปอร์ต อย่าง  Lindberg Spirit 8,Porsche Design ,ic!Berlin , Markus-T , Okley, Mikita เป็นต้น

ซึ่งแว่นตาที่มีความโค้งระดับนี้ จะเริ่มส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของเลนส์ ทั้งเลนส์ชั้นเดียวหรือเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งผู้ที่เลือกแว่นประเภทนี้ ถ้าจะนำไปใช้กับเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นจะต้องทำใจกับราคาเลนส์ที่สูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาชดเชยมุมที่เกิดขึ้นจากความโค้งดังกล่าว เนื่องจากเลนส์โปรเกรสซีฟโครงสร้างมาตรฐานนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับกรอบแว่นที่โค้งระดับนี้

“High Wrap”

กลุ่มนี้จะเป็นแว่นกลุ่ม “สปอร์ตจ๋า” ซึ่งมีความโค้งผิดธรรมชาติ โดยจะมีความโค้งตั้งแต่ FFA 15-25 องศา ซึ่งถือว่าสูงมาก และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อความคลาดเคลื่อนของค่าสายตาหรือโครงสร้างในระดับรุนแรงเกินที่จะใส่ได้ แต่ปัจจุบันนั้นมีเทคโนโลยีเข้ามารองรับกับความโค้งระดับนี้อยู่ ซึ่งถ้าเป็นเลนส์ในค่าย Rodenstock จะต้องเป็นรุ่น Impression Sport2 ,Impresison FashionCurve2, Perfalit Sport2,Impression Mono Sprot2 และ Perfalit Mono Sport2 จึงจะมีเทคโนโลยีที่สามารถ support ความโค้งระดับนี้ได้

“Extreme Wrap”

กรอบแบบนี้คล้ายๆจะเป็น “หมวกกันน๊อค”เข้าไปทุกที ซึ่งมีความโค้งจะอยู่ที่ 25-30 องศา ซึ่งปัจจุบัน ไม่มี Choice อื่นนอกจาก Rodenstock Impression Sport และ Impression mono Sport ที่สามารถทำได้ ซึ่งราคาก็ดุเอาเรื่อง!

ทำไมขณะวัดสายตา ต้องวัดแบบตั้งฉาก?

ก่อนจะไปเข้าใจถึงเหตุผล ผมจะพาไปดูห้องตรวจก่อน ว่าทำไมการจัดระบบทุกอย่างในห้องตรวจ ต้องเป็นการจัดเพื่อให้แสงอยู่ในระบบตั้งฉากทั้งหมด  สำหรับท่านที่เคยมาใช้บริการวัดสายตาที่ Loft Optometry ก็จะเห็นว่า ก่อนที่จะทำการวัดนั้นเราจะจัดท่านั่งให้กับคนไข้ในอิริยาบถที่สบายและผ่อนคลายที่สุด โดยปรับทั้งมุมองศาของพนักพิง พี่พักแขน และที่รองศีรษะ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องที่สุด ซึ่งเก้าอี้ที่ผมใช้นั้นเป็น topcon japan ซึ่งเขาออกแบบมาให้เข้ากับสรีระ  มีหมอนรองศีรษะที่สามารถปรับให้ศีรษะตรง ซึ่งเก้าอี้ดีๆบ้านเรานั้นหายากมาก เพราะราคาสูง และ supplyer ไม่นำเข้ามา เพราะขายยาก ส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยให้คนไข้ชะโงกหน้าเข้าหาเครื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการตรวจมากมาย ถ้าหากว่าตาไม่ได้มองผ่านตรงกลางเซนเตอร์ของเครื่องวัด 

หลังจากจัดท่านั่งให้เข้าที่ได้แล้ว ผมจึงเซตหัว Phoroptor (หัวกะโหลกวัดสายตา) เข้าหาคนไข้และล๊อคตำแหน่งของ Phoroptorไว้ไม่ให้มีการบิดหรือหมุนของ phoroptor และปรับที่รองศีรษะให้เลนส์ห่างตาพอดี และปรับแนวการมองของคนไข้นั้นตั้งฉากกับเลนส์ จากนั้นจึงเริ่มวัดสายตา และฉากรับโปรเจ็คเตอร์ตรวจสายตานั้นต้องตั้งฉากกับแนวการมอง ไม่สูงหรือต่ำกว่าแนวสายตา ซึ่งสามารถปรับสูงต่ำได้จากเก้าอี้ไฟฟ้า

หลังจากวัดสายตาบน Phoroptor เสร็จแล้ว ผมก็จะนำค่าสายตาที่ได้จาก Phoroptor นั้นมาเซตบนเลนส์เสียบ(Trial Frame) ซึ่งผมใช้ Trial Frame ของ Oculus Germany ซึ่งเป็นตัวที่ถือว่าดีและเสถียรที่สุดทในปัจจุบัน และสามารถปรับมุมได้ละเอียดมาก และทำการวัดละเอียด (Fine Tuning) เพื่อกรองเอาความคลาดเคลื่อนออกให้หมด และเค้นเอาสายตาที่บริสุทธิ์จริงๆออกมา จึงเป็นอันเสร็จพิธีการวัดสายตา

 

ถ้าสังเกตอีกนึดหนึ่ง คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับวัดค่ากำลังสายตาของเลนส์ (Lensometer) นั้น จะออกแบบให้มี 3 ขาเพื่อทำการยึดเลนส์ให้ติดกับฐานเพื่อป้องกันเลนส์มีการเอียงทำมุมกับลำแสงขณะอ่านเลนส์ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อให้เลนส์ตั้งฉากขณะทำการวัดกำลังเลนส์นั่นเอง

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ก็เพื่อให้เห็นถึงความจำเป็นว่าระบบต่างๆนั้น ถูกออกแบบมาให้ตั้งฉาก เพื่อลดการคลาดเคลื่อนที่จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการมองแบบทำมุม 

 

ทำไม...แสงที่ไม่ตั้งฉากจึงทำให้ค่าสายตาเคลื่อน?

“lens tilt induce oblique astigmatism” อธิบายว่า “แสงที่ผ่านเลนส์แบบทำมุมทำให้ค่าสายตาคลาดเคลื่อน เนื่องจากแสงที่ผ่านเลนส์แบบทำมุมจะทำให้เกิด ความคลาดเคลื่อนของกำลังหักเหจากผลของ Unwanted Oblique Astigmatism ผลคือ เกิดความคลาดเคลื่อนของสายตา สั้น-ยาว-เอียงที่ไม่ได้สั่งแถมขึ้นมา(unwanted oblique astig.) มีปริซึม(unwanted prism) เกิดขึ้นมา ทำให้สายตาที่คลาดเคลื่อนเหล่านี้เข้าไปรบกวนโครงสร้างหลักของเลนส์โปรเกรสซีฟ (รวมถึงเลนส์ชั้นเดียวด้วย) ทำให้แนวของ surface oblique astigmatism ที่เกิดจาการออกแบบโครงสร้างโปเกรสซีฟนั้นเกิดการย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ส่งให้ binocular field of view นั้นลดลง คือมุมมองของโปรเกรสซีฟนั้นแคบลง ปรับตัวลำบาก เมา มึน เวียนหัว อยากอาเจียน ใส่แว่นนานไม่ได้ ใส่ไม่ทน นั้นเอง 

ดังนั้นขณะวัดสายตาจึงต้องจัดเครื่องมือให้เกิดการมองแบบตั้งฉากมากที่สุด เพื่อไม่ให้สายตานั้นถูกรบกวนจากตัวแปรของ lens tilt  ส่วน lens designer จะต้องติ้งต่างว่า สายตาที่ร้านส่งไปให้นั้นเป็นการวัดจากระบบที่ตั้งฉาก แล้วใช้ softwear คำนวณต่อว่า สายตาที่ได้จากระบบที่ตั้งฉากนั้น เมื่อไปอยู่ที่ตำแหน่งของการสวมใส่จริงแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนั้นแว่นที่ดีจึงจำเป็นต้องมีค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสม หรือสามารถดัดให้เหมาะสมได้ 

ซึ่งการมองผ่านเลนส์แบบทำมุมเกิดได้ทั้งจากพารามิเตอร์ของกรอบแว่น (FFA,PTA) และเกิดจากการเหลือบตาลงต่ำขณะดูใกล้ หรือมองไปยังตำแหน่งต่างๆนอกจาก primary gaze ซึ่ง Lens Designer จะต้องทำการคำนวณชดเชยมุมตกกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละตำแหน่ง เพื่อให้ได้ optic ที่มีคุณสมบัติดีที่สุด  

ดังนั้นเทคโนโลยีการออกแบบเลนส์โปรเกรสซีฟจึงมีหลักๆอยู่ 2 แบบคือ

1.ทำยังไงจะให้ optic ดีที่สุดบนกรอบแว่นมาตรฐานกลุ่มนี้คือกลุ่ม power optimized  ได้แก่เลนส์กลุ่ม Multigressiv ของโรเด้นสต๊อก ได้แก่ Multigressiv MyView2 ,Multigressiv MyLife2 ,Multigressiv Mono 2 ,Multigressiv Mono Plus2 เป็นต้น 

2.จะทำยังไงให้ optic ดีในทุกกรอบแว่น กลุ่มนี้เป็น individual lens technology ได้แก่เลนส์กลุ่ม Impression ทั้งหลาย เช่น Impression EyeLT2 ,Impression FreeSign3 ,Impression Sport 2 เป็นต้น 

รูปซ้ายมือนั้น เป็นการวัดสายตาแบบตั้งฉาก ซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นในห้องตรวจที่จะต้องจัดระบบให้ตั้งฉาก  ส่วนรูปกลางนั้นเป็นรูปแสดงการใช้งานโปรเกรสซีฟจริง ซึ่งแว่นจะต้องมีมุมเทอยู่ค่าหนึ่ง และเมื่อดูใกล้ จะต้องเหลือบตาลงต่ำ ซึ่งทำให้เกิดการมองแบบทำมุม  ส่วนรูปขวามือนั้นเป็นรูปที่เกิดจาการวัดค่ากำลังเลนส์ด้วยเครื่องวัดกำลัง ซึ่งจะต้องวัดขณะที่แสงวิ่งผ่านเลนส์แบบตั้งฉาก  ดังนั้นขณะวัดสายตา ขณะวัดกำลังเลนส์ ขณะใช้งานจริงนั้น มุมตกกระทบไม่เหมือนกัน ซึ่ง lens designer จะต้องนำค่าต่างๆเหล่านี้ไปคำนวณในการออกแบบโครงสร้างเลนส์

 

มุมเกิดขึ้นเมื่อไหร่

Frame Parameter ทำให้แสงวิ่งผ่านเลนส์แบบทำมุมและทำให้สายตาเกิดความคลาดเคลื่อน ซึ่งมีอยู่ 3 ตัวแปรคือ1.มุมเทหน้าแว่น (pantoscopic tilt) 2.ความโค้งหน้าแว่น (face form angle) และ 3. ระยะห่างระหว่างเลนส์ถึงกระจกตา(Cornea vertex distant)

Pantoscopic Tilt Angle ,PTA

คือมุมเทหน้าแว่น ซึ่งเราเรียกมุมนี้ว่ามุม Panto (แพนโท) มีชื่อเต็มว่า Pantoscopic tilt angle เขียนย่อๆว่า PTA  ภาษาไทยจะใช้คำว่า "มุมเทหน้าแว่น" ซึ่งเป็นมุมที่มีการบิดตัวรอบแนวแกนนอน (Horizontal Axis) ซึ่งโดยปกติแว่นที่ได้มาตรฐานจะมีมุม panto อยู่ที่ 8 องศา

Face Form Angle ,FFA

ความโค้งหน้าแว่นหรือ Frame Wrap หรือ Face Form Angle ซึ่งเขียนตัวย่อว่า FFA   ภาษาไทยใช้คำว่า "ความโค้งหน้าแว่น" (ส่วนความโค้งของหน้าเลนส์จะเรียกว่า Base Curve) ความโค้งหน้าแว่นเป็นมุมที่เกิดขึ้นจากการบิดตัวของเลนส์รอบแกนตั้ง(Vertical Axis) ซึ่งFFAนั้นขึ้นกับBrand designerว่าต้องการให้กรอบแว่นนั้นโค้งมากหรือน้อยแค่ไหน เช่นถ้าแว่นสายตามาตรฐานทั่วไปก็จะมี FFA อยู่ที่ 5-6 องศา ส่วนกรอบที่ออกแนวสายตาสปอร์ตอย่าง ic!Berlin หรือ Porsche Design ก็จะมี FFA อยู่ที่ 10-15 องศา และกรอบที่โค้งจ๋าเช่นกรอบสปอร์ต Okley หรือ กรอบกันแดด Porsche Design ก็จะมีโค้งตั้งแต่ 15-30 องศา

Cornea Vertex Distant,CVD

Cornea Vertex Distant หรือค่า CVD  แม้ว่าจะไม่ใช่มุม แต่ก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกำลังสายตาสั้นยาว เมื่อเลนส์อยู่ใกล้-หรือห่างตา เช่น เลนส์สายตาสั้น(minus lens)เมื่ออยู่ใกล้ตา ค่ากำลังสายตาสั้นจะมากขึ้น ดังนั้นในการจ่ายคอนเทคเลนส์จึงต้องปรับสายตาลงจากแว่นตา เป็นต้น แต่ CVD จะมี effect อย่างมีนัยสำคัญก็ต่อเมื่อสายตา มากกว่า 4.00D ขึ้นไป  ซึ่งในการออกแบบเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น จะใช้ค่า CVD อยู่ที่ 12.5-13.5 มม.

Pupillary Distant ,PD

พีดี หรือ PD มาจากคำว่า Pupillary Distant  คือระยะจากรูม่านตาของตาข้างหนึ่งไปถึงกึ่งกลางของรูม่านตาอีกข้างหนึ่ง แม้ว่าตำแหน่งของพีดี เป็นตัวแปรที่เกิดขึ้นจากใบหน้าขอแต่ละคน ไม่ได้เกิดขึ้นจากกรอบ แต่ก็จัดว่าเป็นพารามิเตอร์เฉพาะบุคคลเพราะว่าเป็นตำแหน่งที่ไปกระทำกับพารามิเตอร์ของกรอบแว่นตาสำหรับเป็นจุดอ้างอิงของการเกิดมุม ซึ่งโดยปกติหน้าของคนเรามักไม่สมมาตร เช่น ตาข้างหนึ่งอาจจะสูงกว่าตาอีกข้างหนึ่งเล็กน้อย และระยะจากกึ่งกลางจมูกถึงรูม่านตาของตาข้างซ้าย อาจจะมีระยะไม่เท่ากับของข้างขวาก็ได้ ดังนั้นในการวัดพีดี จึงจำเป็นต้องวัดแยกเป็น Monocular PD เพื่อนำไปวางเซนเตอร์ให้ถูกต้องที่สุด  

ทำไมแว่นอันเดียวกัน อยู่บนหน้าแต่ละคนแล้วค่ามุมไม่เท่ากัน?

ในหน้าแต่ละคนนั้นมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมืือนกัน ดังนั้นกรอบแว่นตาตัวเดียวกันเมื่อไปสวมใส่อยู่บนใบหน้าของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ทำให้ค่าพารามิเตอร์ได้แก่ PT ,CVD,FFA นั้นเปลี่ยนไป 

ในการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้น เขาจำเป็นจะต้องติ้งต่างเอาเองว่า ในภาวะที่ใบหน้าที่สมบูรณ์แบบใส่กรอบแว่นที่สมบูรณ์แบบนั้น เกิดมุมอย่างไร แล้วออกแบบโครงสร้างเฉพาะสำหรับสถานการณ์นั้นๆ ดังนั้นค่าที่ใช้ในการคำนวณจึงเป็นค่า Average Value 

แต่ในสถานการณ์การใช้แว่นจริงเมื่ออยู่บนใบหน้าของแต่ละคนนั้นเปลี่ยนไป และถ้ายิ่งเปลี่ยนไปจากค่ากลางมากๆ ก็จะทำให้เกิดผลกระทบในทางลบเกิดขึ้นกับประสิทธิภาพของเลนส์  ดังนั้นเทคโนโลยีในการออกแบบเลนส์จึงต้อคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อมาแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อเราเลือกกรอบแว่นตาที่โค้งมากๆ จะต้องใช้เลนส์เทคโนโลยีพิเศษสำหรับแว่นกรอบโค้งจึงจะสามารถใช้งานได้ เราเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า individual parameter optimization  technology  ตัวอย่างเช่น เลนส์ในกลุ่ม Impression ของ Rodenstock 

แต่ละใบหน้าที่เปลี่ยนไป จะส่งผลกระทบอะไรกับพารามิเตอร์ของกรอบแว่นบ้าง

“Individual face form angle”

แว่นส่วนใหญ่แล้วจะมีหน้าแว่นที่สามารถบิดตัวหรืองอตัวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรอบแว่นเซาะร่องโลหะยอดนิยมอย่าง ic!Berlin,Markus-T,Mytita,Porsche Design(บางรุ่น),Rodenstock(บางรุ่น) ซึ่งกรอบพวกนี้หน้าแว่นจะแอ่นไปแอ่นมาตามความหุบ-ถ่างของขาแว่น ถ้าคนหัวโต กะโหลกใหญ่ ขาแว่นจะกางขณะสวมใส่ ทำให้ FFA ลดน้อยลงมากว่าปกติ ถ้าคนหัวเล็ก กะโหลกแคบ ขาแว่นก็จะตรงปกติ ทำให้ FFA ไม่ค่อยเปลี่ยน  ดังนั้นแว่นอันเดียวกัน เมื่ออยู่บนหน้าแต่ละคนจะให้ค่าจะไม่เท่ากัน

Individual pantoscopic tilt angle

แว่นมาตรฐานทั่วไปที่มีมุมPanto 8 องศานั้น เราอ้างจากการวัดมุมเทขณะที่แนวของขาแว่นนั้นขนานกับพื้น “แต่สรีระของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน”

คนที่สันจมูกสูงกว่าร่องหู : วางคนร่องหูนั้นอยู่ต่ำกว่าสันจมูกมาก ทำให้มุม panto นั้นลดน้อยลง และบางคนนั้นน้อยจน panto เป็น 0 หรือติดลบ เลยก็มี ทำให้คนกลุ่มนี้นั้นมีปัญหากับการใส่เลนส์โปรเกรสซีฟมาก ดังนั้นถ้าคนไข้มีปัญหา ระยะกลางใกล้ใช้งานลำบากหรือแคบเกินไป ช่างแว่นตาต้องพิจารณามุม panto นี้เป็นอันดับต้นๆ

คนที่สันจมูกอยู่ต่ำกว่าร่องหู : จะทำให้ panto มากกว่าปกติ ซึ่งมุม panto ที่มากนั้น (ไม่เกิน 11 องศา) ส่งผลดีกว่า panto ที่น้อยหรือ panto ติดลบ ทำให้คนไข้กลุ่มนี้สามารถปรับตัวเข้ากับเลนส์ได้ง่ายกว่า (base on corrected prescription)

Cornea Vertex Distant  (CVD)

ความชิด/ห่าง ของเลนส์กับกระจกตานั้น ส่งผลโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงของค่ากำลังสายตา  โดยเฉพาะในคนที่สายตามาก ๆ  เช่นสายตาสั้นถ้าแว่นอยู่ห่างตา มองไกลจะมัว เพราะค่าสายตาจะลดลง ในทางตรงกันข้าม ยิ่งเข้าใกล้ตาก็ยิ่งชัดเพราะค่าสายตาจะเพ่ิมมากขึ้น และเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องปรับค่าสายตาคอนแทคเลนส์ในคนไข้ที่มีสายตาสั้นมากๆ 

นอกจากนี้ความชิด/ห่าง ของแว่น จะส่งผลต่อภาพบิดเบี้ยว ความแคบกว้าง และลักษณะการเหลือบ เมื่อใช้งานเลนส์โปรเกรสซีฟอีกด้วย  เมื่อเลนส์ชิดตามาก ข้อดีคือ ผู้สวมใส่จะรู้สึกว่าโครงสร้างกว้างขึ้น  ภาพบิดเบี้ยวน้อยลง มองไกลชัด แต่เหลือบอ่านหนังสือยาก เป็นต้น  การออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟจึงต้องบังคับ CVD ที่เหมาะสมไว้ประมาณ 13 มม.  แต่ความโด่งความแฟ๊บของสันจมูกของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ทำให้แว่นที่ดีต้องมีแป้นจมูกที่สามารถดัดชดเชยกับความสูงของสันจมูกด้วย 

ผลกระทบเมื่อพารามิเตอร์กรอบแว่นเปลี่ยนไป

รูปแบบและปริมาณมุมที่เกิดขึ้นเมื่อพารามิเตอร์แว่นมีการเปลี่ยนแปลงจากค่ามาตรฐานจะทำให้ประสิทธิภาพของเลนส์นั้นลดต่ำลง  มุมที่เปลี่ยนไปจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของสายตาเกิดขึ้นบนเลนส์ในแต่ละข้าง (monocular aberration) และเมื่อความคลาดเคลื่อนของเลนส์ข้างซ็ายและขวามารวมกัน ทำให้ลานสายตาขณะมองพร้อมกันทั้งสองตานั้นถูกจำกัดให้แคบลง (รูปขวาล่าง)

ส่วนเลนส์โปรเกรสซีฟที่เทคโนโลยีเก่าที่ใช้การผลิตแบบ conventional โดยการหล่อโครงสร้างสำเร็จนั้น โครงสร้างจะถูกทำลาายด้วย base curve effect ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว (รูปกลางบน) ยิ่งถ้าต้องมาเจอกับแว่นที่มีพารามิเตอร์ต่างจากค่ามาตรฐานมากๆ นั้นใช้งานไม่ได้อยู่แล้ว 

เคลื่อนมากน้อยแค่ไหนไปดูกราฟกัน 

กราฟต่อไปนี้ เป็นกราฟลายเส้นที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นที่ส่งผกระทบต่อประสิทธิภาพของเลนส์โปรเกรสซีฟ ซึ่งทำให้คุณภาพของเลนส์นั้นไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นกราฟที่ผมได้จาก lab ของ Rodenstock และอยากเอามาให้ได้ศึกษากัน 

เส้นแต่ละสีแสดงถึงเลนส์โปรเกรสซีฟแต่ละแบบ ได้แก่ 

เส้นสีน้ำเงิน (blue) : เป็นเลนส์เฉพาะบุคคล (individual progressive lens ) เช่น Impression2

สีแดง (red) : เป็นเลนส์กลุ่ม power optimized progressive lens (MyView2,MyLife2)

สีเขียว (green) : เป็นเลนส์เทคโนโลยีเก่าที่ใช้การผลิตแบบ conventional แต่ยังมีการคำนวณ position of wear เข้าไปในการออกแบบแม่พิมพ์โปรเกรสซีฟ 

ซึ่งประสิทธิภาพเลนส์ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้ ใช้ค่าสายตา +2.50 Add +2.00D  ซึ่งนำไปคำนวณเพื่อหาประสิทธิภาพของเลนส์ที่เปลี่ยนไปเมื่อค่าพารามิเตอร์เปลี่ยน ซึ่งเป็นกราฟที่สามารถอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า ความกว้างของสนามภาพถูกทำให้หดแคบได้จาก monocular aberration ที่เกิดจากพารามิเตอร์ที่เปลี่ยนไปจากตำแหน่งปกติ 

#pantoscopic tilt effect

กราฟแรกที่ยกมาซึ่งเป็นประสิทธิภาพของเลนส์ที่เปลี่ยนไปเมื่อ pantoscopic tilt เปลี่ยน และเปลี่ยนแบบลดลงเท่าๆกัน เมื่อมุมมากขึ้นหรือลดลงจากค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นหลักฐานที่บอกได้ชัดเจนว่า ประสิทธิภาพเลนส์ที่ลดลงนั้นเกิดจากมุมตกกระทบที่เปลี่ยนไปจริงๆ ไม่ได้เกิดจากตัวแปรอื่น 

จากรูปบนจะเห็นว่า ที่ตำแหน่ง panto ที่เป็นค่ามาตรฐาน(ของโรเด้นสต๊อก) ทั้งเลนส์โปรเกรสซีฟแบบ individual และ Power-Optimised ต่างก็มีประสิทธิภาพเท่ากัน  แต่เมื่อค่า pantoscopic tilt angle มีการเปลี่ยนแปลงจากค่ากลาง ประสิทธิภาพเลนส์ทุกตัวที่ไม่ใช่ individual progressive lens นั้นลดลงอย่างรวดเร็ว และที่ panto เป็น 0 ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในแว่นกรอบเล็กหรือกรอบสปอร์ต เลนส์ทุกชนิดที่ใช้ค่า standard parameter นั้นมีประสิทธิภาพลดต่ำลงกว่า 50%  ในขณะที่ individual progressive lens นั้นยังสามารถคงประสิทธิภาพเลนส์ได้ 90% อยู่

# Pupillary Distant Effect

ส่วน ความแตกต่างของพีดีจากค่าพีดีมาตรฐานนั้น  ไม่ได้ทำให้การมองแล้วเกิดมุมมีความแตกต่างกันเท่าไหร่นัก ประสิทธิภาพเลนส์จึงไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่  แต่ปัจจัยของพีดีนั้น จะไปส่งผลโดยตรงกับการออกแบบการเยื้องของ inset ของโปรเกรสซีฟมากกว่า เนื่องจากว่า พีดีที่มีความแคบ/กว้าง ไม่เท่ากันนั้น จะทำให้เกิดการเหลืบเข้าที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการออกแบบ individual inset จะต้องอาศัยค่า individual pd ในการคำนวณ จึงจะทำให้ near zone และ intermediate zone นั้นมีสนามภาพที่กว้างและเหมาะสมกับการใช้งาน 

#Face form angle effect

ผลกระทบของความโค้งหน้าแว่น ( face form angle) ต่อประสิทธิภาพเลนส์นั้นเกิดขึ้นจากหลายๆปัจจัย อย่างแรกก็คือ เมื่อแว่นมีความโค้งมาก ขณะที่เรามองตรงก็จะเกิดการมองแบบทำมุม ซึ่งก็จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนบนเลนส์แต่ละข้าง (monocular aberration)  และเมื่อเราเราเหลือบซ็ายหรือเหลือบขวา แนวของตาที่กระทำกับมุมของเลนส์ข้างซ้ายและข้างขวาก็ไม่เท่ากันอีกด้วย จากลักษณะแว่นที่โอบเข้ตามใบหน้า รวมถึงระยะห่างจากตาถึงผิวหลังของเลนส์แต่ละข้างก็จะไม่เท่ากัน ดังนั้นด้วยเหตุนี้ face form จึงส่งผลกระทบกับโครงสร้างโปรเกรสซีฟรุนแรงมาก  

แว่นที่มีหน้าแว่นที่โค้งเพียง 10 องศา ก็สามารถทำให้โครงสร้างโปรเกรสที่ไม่ได้ออกแบบบน individual parameter มีประสิทธิภาพลดต่ำลงกว่า 50%  ในขณะที่เลนส์ individual progressive lens ยังคงมีประสิทธิภาพครบ 100% 

# cornea vertex distant effect

ผลกระทบของ cornea vertex distant นั้นเหมือนกับผลของ pupillary distant คือไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างโปรเกรสซีฟมากนัก  ซึ่งจากกราฟนี้จะยกตัวอย่าง 2 ค่าสายตาคือ +2.00D และ +5.00D โดยมี Add เท่ากันคือ +2.00D

จากกราฟค่าสายตา +2.00D จะพบว่า  ประสิทธิภาพเลนส์ของ power-opimized progressive  lens กับ invidual progressive Lens ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก เมื่อค่า cvd มีการเปลี่ยนแปลง 

แต่เมื่อค่าสายตามากขึ้น ก็จะพบว่า cvd นั้นจะเริ่มมีผลต่อประสิทธิภาพของเลนส์ แต่อย่าไรก็ตามแต่ CVD ของแว่นส่วนใหญ่นั้นจะมีค่ากลางอยู่ที่ 13 มม. และมีแป้นจมูกสำหรับการปรับระยะห่างตรงนี้อยู่แล้ว เว้นเสียแต่ว่าเลือกกรอบแว่นที่ไม่มีแป้นจมูก อาจจะหาที่ปรับยากสักหน่อย 

Source:

1 G. Esser et al., “Die Performance individueller Gleitsichtgl.ser” [The performance of individual progressive lenses], DOZ 01/2006

ทำไม..การรู้ frame parameter จึงสำคัญ?

เพราะว่าในการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้นจำเป็นต้องนำค่าเหล่านี้ ทั้ง FFA,CVD, PTA ไปพิจารณาร่วมกับค่าสายตาสั้น/ยาว/เอียง /พีดี/ ค่าแอดดิชั่น ที่ได้จากการวัดในห้องตรวจ เพื่อออกแบบ optic ที่ดีที่สุดออกมาในทุกค่าสายตาและกรอบแว่นทุกแบบ และด้วยสาเหตุว่า สรีระโครงหน้าของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว “มนุษย์ไม่เคย symmetry” ทำให้แว่นแต่ละอันนั้นเมื่ออยู่บนใบหน้าของแต่ละคน ก็จะให้ค่าพารามิเตอร์ที่แตกต่างกันไป

ในมุมของผู้ให้บริโภค : จะได้มี Guide ในการเลือกกรอบแว่นสำหรับนำมาทำเลนส์สายตา เพราะในบางทีเราไม่มีสิทธิ์เลือกแว่น แต่แว่นจะเป็นคนเลือกเรา แต่ถ้าเกิดเลือกแว่นที่ได้แต่ความสวย แต่ฟังก์ชั่นไม่ได้ ก็จะต้องทนทุกทรมานกับการปรับตัวให้เข้ากับแว่นหรือปรับไม่ได้เลย และแว่นบางประเภทต้องใช้เลนส์แพงจึงจะใส่ได้ และถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้เราสามารถเลือกแว่นที่ทำให้ความจำเป็นในการใช้เลนส์แพงลดลงได้

ในมุมของผู้ให้บริการ : ในบางเคสนั้น เราไม่สามารถตามใจคนไข้ได้ และต้องบอกให้ผู้บริโภคนั้นเข้าใจ เหตุและผลว่าทำไมเขาจึงไม่สามารถเลือกกรอบบางประเภทได้ เพื่อให้ง่ายต่อการทำงานของเรา และช่วยประหยัดสตางค์ในกระเป๋าของคนไข้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้เลนส์ที่ราคาแพงมากๆ  และความรู้ความเข้าใจทำให้เราตระหนักถึงผลที่จะเกิดขึ้น ทำให้เราใส่ใจในการวัดค่าพารามิเตอร์ รีดค่าที่บริสุทธิ์นั้นออกมา เพราะว่าเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลนั้นต้องการค่าจริง และไม่ใช้ค่ากลาง ถ้าวัดผิดก็คือโครงสร้างผิด ซึ่งอาจสร้างความผิดหวังให้กับคนไข้ได้ และการตามใจลูกค้าจนลืมเหตุและผลในการเลือกแว่นเพราะกลัวลูกค้าหลุด ไม่กล้าให้ลูกค้าเปลียนกรอบแต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ลูกค้าใช้เลนส์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงพอ  สุดท้ายลูกค้าก็ปรับตัวไม่ได้ งานไม่จบอยู่ดี และยังทำให้เสียความรู้สึกต่อลูกค้าภายหลัง

Lens Designer ใช้พารามิเตอร์อะไรในการออกแบบโครงสร้าง?

คำตอบเรื่องนี้แบ่งเป็น 2 โครงสร้าง คือเลนส์กลุ่ม power optimized และเลนส์กลุ่ม individual progressive lens งั้นเรามาดูกลุ่ม Power Optimized ก่อน

“Power Optimized Progressive Lens”

โดยธรรมชาติแล้ว lens designer นั้นไม่สามารถรู้ได้ว่า แว่นที่ผู้บริโภคเลือกนั้นขณะใส่อยู่บนหน้าแล้วมีพารามิเตอร์เป็นอย่างไร แล้วจะทำอย่างไรจึงจะสามารถ Optimize โครงสร้างโปรเกรสซีฟให้มีสนามภาพกว้างที่สุด บิดเบี้ยวน้อยที่สุด โดยไม่รู้ค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่น โดยมีตัวแปรที่รู้มีเพียง “ค่าสายตา ค่าแอดดิชั่น และค่าค่าพีดี”

คำตอบก็คือใช้ค่า Standard Parameter หรือใช้ค่าพารามิเตอร์มาตรฐานในการออกแบบ โดยการสมมติในใจว่า “สายตานี้จะถูกนำไปใช้บนกรอบแว่นที่มีค่าพารามิเตอร์มาตรฐาน ซึ่งมีความโค้งหน้าแว่น 5 องศา,มีมุมเทหน้าแว่น 8 องศา,ห่างลูกตา 13มม.”

หมายความว่า ประสิทธิภาพของโครงสร้าง Power Optimize นี้จะสามารถให้ประสิทธิภาพสูงสุดได้ ต้องนำไปประกอบบนแว่นที่มี FFA=5 ,CVD=13,PT=8  และถ้าปรากฏว่าค่าพารามิเตอร์ขณะสวมใส่ไม่ได้เป็นไปตามค่าดังกล่าว ผู้ให้บริการจำเป็นต้องดัดแว่นให้ได้ตามค่าข้างต้น จึงจะสามารถรีดประสิทธิภาพของเลนส์ให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม แต่ถ้าไม่สามารถดัดได้ หรือคนไข้ไม่ยอมให้ดัด จำเป็นต้องใช้เลนส์อีกประเภทหนึ่งคือ เลนส์โปรเกรสซีฟกลุมนี้ ได้แก่ Rodenstock Multigressiv MyLife2 ,Multigressiv MyVeiw2

“Individual Progressive Lens” หรือ “เลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล”

เลนส์โปรเกรสซีฟชนิดนี้ เป็นเลนส์เฉพาะคนซึ่งจะรอตัวแปรที่จำเป็นทั้งหมด ไม่ว่าจะตัวแปรค่าสายตาหรือตัวแปรค่ากรอบแว่น ขนาดของกรอบแว่น ทรงกรอบแว่น ระยะที่ใช้อ่านหนังสือ นำมาคำนวณแบบคู่ต่อคู่แล้วเริ่มสร้างขึ้นมาเฉพาะคนคนเดียว

ซึ่งเลนส์ประเภทนี้ได้แต่ Rodenstock กลุ่ม Impression Family ได้แก่ Impresison FreeSign2 ,Impresison2,Impressoin FashionCurve2 ,Impression Sport2,Impression Hyperop,Impression Myop.

เครื่องมือวัดค่า individual parameter

ตัวแปรเฉพาะบุคคลที่ต้องสั่งเพิ่มเติมคือ “ตัวแปรพารามิเตอร์กรอบแว่นเฉพาะบุคคล” คือ ความโค้งหน้าแว่น,มุมเทหน้าแว่น และระยะห่างระหว่างเลนส์ถึงกระจกตา โดยใช้เครื่องมือที่โรเด้นสต๊อกออกแบบมาคือ Impression Measuring Tool ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดค่าพารามิเตอร์แบบแมนนวล หรือจะใช้เครื่อง ImpressionIST 3 ซึ่งเป็นการวัดแบบ 3D Video centering System ซึ่งเป็นการวัดแบบดิจิทัล

ImpressionIST3

ImpressionIST เป็นเครื่องมือ Real 3D Video centering Data ที่สามารถวัดค่าพารามิเตอร์เฉพาะบุคคลแบบดิจิทัล ได้เที่ยงตรงและแม่นยำมาก แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวแปร posture ต่างๆ ของคนไข้ขณะถูกตรวจวัดและความชำนาญของผู้ตรวจวัดด้วย

Impression Measuring Tool box

Rodenstock พัฒนาเครื่องมือวัดค่าพารามิเตอร์แบบแมนนวล ที่สามารถใช้งานง่าย ทำความเข้าใจง่าย และให้ค่าที่แม่นยๆ ซึ่งในกล่องจะมีเครื่องมือสำหรับวัดทั้ง FFA ,CVD และ PT มาให้ สำหรับวัดเพื่อดัดแว่นในกลุ่ม Power Optimization และ เพื่อสั่งเลนส์ในกลุ่ม Individual progressive lens

ข้อควรระวังในการใช้เลนส์เฉพาะบุคคล

เลนส์เฉพาะบุคคลนี้ก็มีจุดเปราะบาง เนื่องจากไม่มีค่ากลางเลย เนื่องจากการคำนวณโครงสร้างจะรออกแบบโดยใช้ค่าจริง สายตาจริง กรอบแว่นจริงขณะสวมใส่  ซึ่งถ้าวัดสายตาผิด วัดพารามิเตอร์ผิด ค่าผิดๆเหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นค่าจริง ซึ่งจะทำให้โครงสร้างนั้นแย่กว่าความเป็นจริง ซึ่งผู้ให้บริการต้องหมั่นฝึกฝนจนชำนาญและเชี่ยวชาญจริงๆ ไม่อย่างนั้นปัญหาอาจจะตามมาได้

กรอบแว่นที่เหมาะกับการทำเลนส์โปรเกรสซีฟ?

แว่นที่เหมาะสมกับการทำเลนส์โปรเกรสซีฟนั้น จะต้องได้ค่ามาตรฐาน มีความยืดหยุ่นแต่แข็งแรง มีความทรงรูปอยู่ได้ดีไม่ผิดรูปผิดร่างหรือบิดเบี้ยวง่าย มีแป้นจมูกสำหรับการดัดเพื่อปรับเซนเตอร์ มีบานพับที่สามารถดัดมุมเทหน้าแว่นได้ เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกกรอบแว่นมาทำโปเกรสซีฟและพยายามหลีกเลี่ยงกรอบแว่นพลาสติกเนื่องจากแว่นพลาสติกนั้นไม่เอื้อต่อการดัดแว่นมากนัก เว้นเสียแต่ว่าผู้สวมใส่มีสรีระที่เหมาะสับแว่นตัวนั้นจริงๆ แต่ถ้าต้องการอิสระในการเลือกกรอบหรือไม่ต้องการการดัดใดๆ ก็ใช้เลนส์ individual progressive lens แทน

สรุป

1.แสงที่วิ่งผ่านเลนส์แบบทำมุมทำให้เกิด “สายตาคลาดเคลื่อน” ทำให้มีค่า unwanted sphere ,cylinder,prism แถมมา ซึ่งเราเรียกความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจาก lens tilt นี้ว่า Unwanted Oblique Astigmatism เช่นเดียวกันกับที่เกิดจาก base curve effect  ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสถัดไป 

2.Oblique Astigmatism ที่ถูก induce ขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างของเลนส์โปรเกรสซีฟ ทำให้สนามภาพหลักนั้นแคบลง จากภาพบิดเบี้ยวมีการย้ายตำแหน่งจนผิดรูปร่าง ทำให้ปรับตัวยากหรือปรับไม่ได้เลย และมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ อยากอาเจียน 

3.Power Optimize Progressive Lens เป็นเลนส์กลุ่มที่คำนวณโครงสร้างจากค่าสายตาจริง พีดีจริง บนกรอบแว่นที่มีค่าพารามิเตอร์(ขณะสวมใส่)ที่ได้มาตรฐาน ดังนั้นเลนส์กลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องใช้แว่นที่มีค่าพารามิเตอร์มาตรฐาน และที่สำคัญต้องสามารถดัดได้ เลนส์กลุ่มนี้ได้แก่ Multigressiv MyView2,Multigressiv MyLife2

4.Individual Progressive lens เป็นเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล ที่ต้องการตัวแปรเฉพาะบุคคลและออกแบบมาเฉพาะคน ดังนั้นผู้บริโภคจึงสามารถเลือกกรอบแว่นตาได้อย่างอิสระ ซึ่งผู้ให้บริการจะเป็นคนวัดค่าพารามิเตอร์ให้ โครงสร้างโปรเกรสซีฟที่ได้จะไม่ถูกกระทบจากค่าพารามิเตอร์เมื่อหลุดจากค่ามาตรฐานมากๆ  เลนส์กลุ่มนี้ได้แก่ Impression2 ,Impression FreeSign3, etc.

5.แว่นอันเดียวกัน อยู่บนหน้าแต่ละคน พารามิเตอร์อาจไม่เท่ากัน เนื่องจากสรีระ เช่นความกว้างแคบของกะโหลกศีรษะ ระดับความสูงของสันหูกับแนวสันจมูกไม่เท่ากัน ดังนั้น บางทีเราไม่สามารถเลือกกรอบแว่นบางประเภทได้ แต่แว่นจะเป็นคนเลือกเราแทน

ติดตามอ่านโปรเกรสซีฟเพิ่มเติมได้ตามลิ้งค์ที่แนบมาครับ
เปิดโลกโปรเกรสซีฟ ตอนที่ 1 : กำเนิดโลกโปรเกรสซีฟ

เปิดโลกโปรเกรสซีฟ ตอนที่ 2 : ตัวแปรที่ทำให้โครงสร้างโปรเกรสซีฟพัง

เปิดโลกโปรเกรสซีฟ ตอนที่ 3 : โปรเกรสซีฟกับการปรับตัว

เปิดโลกโปรเกรสซีฟ ตอนที่ 4 หลักพื้นฐานในการออกแบบเลนส์โปรเกรสซีฟ (ตอน1)

เปิดโลกโปรเกรสซีฟ ตอนที่ 5 : กรอบแว่นแบบไหนที่เหมาะนำมาทำโปรเกรสซีฟ

เปิดโลกโปรเกรสซีฟ ตอนที่ 6 : Base Curve Effect ส่งผลอย่างไรกับโปรเกรสซีฟ

การใช้เลนส์โปรเกรสซีฟแก้ปัญหากล้ามเนื้อตาในเด็ก

Rodenstock Multigressiv MyLife 2 : โปรเกรสซีฟที่ออกแบบโครงสร้างตามพฤิตกรรมผู้สวมใส่จริง

Rodenstock Road2 : โปรเกรสซีฟที่ออกแบบเฉพาะทางสำหรับการขับขี่

หัวใจ 3 ห้องของโปรเกรสซีฟ ถ้าเข้าใจ ใครก็ใส่โปรเกรสซีฟได้

ทิ้งท้าย

บทความวันนี้ ดูจะลากยาวสักหน่อย เพราะไม่รู้จะเขียนให้สั้นได้อย่างไรให้เข้าใจได้ง่ายๆ และก็อยากให้เรื่องของการเลือกกรอบแว่นจบในคอนเทนต์เดียวอันนี้ จะได้หาได้ง่ายๆ ซึ่งผมมีความมุ่งหวังให้ผู้บริโภคนั้นมีความเข้าใจในการเลือกกรอบแว่นมากขึ้น ไม่ใช่เลือกตาใจตัวเองอย่างเดียวโดยไม่สนใจความเป็นไปได้แต่พอทำเป็นเลนส์ออกมาแล้วก็ต้องมาทะเลาะกับร้านแว่น ส่วนผู้ให้บริการเองก็จะได้เป็นพี่เลี้ยงในการช่วยลูกค้าเลือกกรอบแว่นให้เหมาะสมกับการทำโปรเกรสซีฟ และเข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องดัดแว่นให้ได้พารามิเตอร์มาตรฐานเมื่อทำงานกับโปรเกรสซีฟ และจะทำอย่างไรเมื่อไม่สามารถดัดแว่นให้เข้าสู่มาตรฐานได้ คือต้องเลือกเลนส์ที่ใช้เทคโนโลยีเลนส์สูงขึ้นไปและหวังว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้อ่านพอสมควร

ผมจะหาเวลาเขียนเกี่ยวกับ limitation ต่างๆของโปรเกรสซีฟให้ผู้อ่านเข้าใจทั้งหมด จากนั้นก็จะเริ่มเขียน topic เกี่ยวกับ lens technology ที่ใช้ในแต่ละตัวว่า ในปัญหาสายตาของเรา กรอบแว่นที่เราเลือก ขนาดพีดีของเรา และพฤติกรรมการใช้สายตาของเราแบบนี้ ควรจะใช้เลนส์รุ่นไหน ที่ได้ของที่คุ้มค่าคุ้มราคามากที่สุด (best performance price)ขอบคุณทุกำลังใจ ที่ติดตามอ่านกันเรื่อยมา และไม่ทิ้งกัน ผมจะพยายามหาเวลาเขียนให้ได้ครับ ช่วงนี้อาจจะทำออกมาช้าไปบ้าง เนื่องจากภารกิจ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลามานั่งเขียน และการเขียนแต่ละครั้งนั้นก็ต้องใช้ อารมณ์มากพอสมควร เพื่อให้สามารถพูดเรื่องยากให้ง่ายได้  

สำหรับเนื้อหาในวันนี้ ขอลากันไปเพียงเท่านี้ ขอบคุณแฟนคอลัมน์ทุกท่าน ที่ติดตามอ่าน และให้กำลังใจกันด้วยดีเสมอมา ติดตามกันใหม่ในตอนหน้า สวัสดีครับ

ดร.สมยศ เพ็งทวี ,O.D. 


Loft Optotometry

578 Wacharapol Rd.,Tha-rang,Bangkhen,Bkk 10220

T.090-553-6554

line ID : loftoptometry

Follow : www.facebook.com/loftoptometry