เปิดโลกโปรเกรสซีฟเลนส์ ตอนที่ 6

เรื่อง power optimised and base curve effect 

เรื่องโดย ดร.ลอฟท์ ,O.D.

ปัญหาโลกแตกของการออกแบบโครงสร้างโปรเกรสซีฟในอดีตที่สร้างความปวดหัวในกับ lens designer อย่างมากก็คือปัญหา base curve effect (ปัจจุบัน lens designer ของผู้ผลิตเลนส์หลายค่ายก็ยังปวดหัวอยู่ เพราะถ้าแก้ไม่ได้ ก็ยังไม่สามารถเปิดให้สั่ง base curve ได้อิสระ จำต้องเข็นเทคโนโลยีอื่นมาเล่นก่อน )

ย้อนกลับไปที่การออกแบบโปรเกรสซีฟแบบเก่าซึ่งเราเรียกว่า conventional progressive lens โดยการออกแบบนั้นใช้การวางผิวของโปรเกรซีฟไว้ทางผิวหน้าเลนส์จากการหล่อโครงสร้างซึ่งทำสำเร็จจากแม่พิมพ์และขัดค่าสายตาที่ได้จากสั่งสายตาจากร้านแว่นไว้ทางผิวหลังของเลนส์  ขยายความสักนิดกว่า เลนส์โปรเกรสซีฟนั้น เราต้องแยกคิด 2 เรื่องคือส่วนของโครงสร้างโปรเกรซีฟที่มีการไล่ค่าสายตาตามค่า addition กับอีกส่วนหนึ่งคือส่วนของค่าสายตามองไกล ที่ทำให้เราสามารถมองไกลชัด  ดังนั้นการออกแบบโครงสร้างในอดีตนั้น ไม่ได้เอาตัวแปรค่าสายตาของคนไข้จากห้องตรวจไปคำนวณเลย เพราะโครงสร้างนั้นหล่อสำเร็จตั้งแต่ในโรงงาน เมื่อได้ค่าสายตามาแล้วก็นำมาขัดค่าสายตาตามออเดอร์ไว้ที่ผิวหลังของเลนส์ด้วย machanic ธรรมดา  แต่เมื่อสร้างค่าสายตาไปแล้ว จะไปกระทบอะไรกับโครงสร้างที่่ออกแบบมานั้น เป็นเรื่องที่สุดวิสัยที่ conventional progressive lens จะคิดได้ และต้องปล่อยไปตามยถากรรม 

 ดังนั้นรูปปแบบของการผลิตเลนส์โปรเกรสซีฟในอดีตนั้นจึงเป็นเทคนิคการขัดที่ไม่มีความซับซ้อนเท่าใดนัก และการออกแบบโครงสร้างในอดีตก็คือการออกแบบแม่พิมพ์เพื่อเอาไปหล่อโมล (progressive mold) เมื่อหล่อออกมาแล้วจะได้เป็นเลนส์โปรเกรสซีฟกึ่งสำเร็จรูป (คล้ายบะหมี่กึ่งสำเร็จยังไงยังงั้น เทน้ำร้อนรอ 3 นาทีกินได้เลย) เรียกกว่า blank (semi-finish progressive lens) ซึ่งก็เป็นอะไรที่ so simple มากๆ  เทคโนโลยีก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก เพราะถ้ายิ่งคิดเทคโนโลยีมาก ก็จะต้องมีโครงสร้างที่ vareity มากขึ้นตาม นั่นก็หมายความว่า ต้องสร้างแม่พิมพ์มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหลักๆของเลนส์สมัยแต่ก่อนนั้นคุณภาพของโครงสร้างนั้นถูกควบคุมด้วย base curve เพียงอย่างเดียว ถ้าเป็นเลนส์ตระกูลนี้ของโรเด้นสต๊อกได้แก่ Progressiv SI ,ClassicLife ,PureLife ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากโรงงานโรเด้นสต๊อกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เพราะเขาต้องการจะเป็นเจ้าแรกที่ใช้เทคโนโลยีแบบ Fully 3D-free form technology ให้เร็วกว่าเลนส์ค่ายอื่นๆในตลาด  แต่เทคโนโลยีนี้ก็ยังคงมีบ้างประปรายในตลาด เพราะการที่จะข้ามไปเล่นเทคโนโลยีใหม่ แล้วต้องรื้อเอาแม่พิมพ์ไปทิ้ง เอา blank ไปทิ้ง เอาเครื่องมือไปทิ้ง ดูๆแล้วก็หลายสตางค์อยู่ เราก็เลยยังเห็นเลนส์พวกนี้มีอยู่บ้าง หรือไม่ก็เป็นโปรเกรสซีฟลูกผสม กึ่งฟรีฟอร์มกึ่งคอนเวนชั่นนอล หรือ conventional free form progressive lens 

ย้อนกลับไปสัก 10 กว่าปีที่แล้ว เราจะเห็นว่า การแข่งขันทางเทคโนโลยีโปรเกรสซีฟนั้น ไม่มีอะไรมากนัก ส่วนในจะแข่งกันทางด้านจำนวนโครงสร้างว่าเลนส์โปรเกรสซีฟของใครมีโครงสร้างมากกว่าใคร  ซึ่งเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ  แท้จริงแล้ว จำนวนโครงสร้างที่เขาแข่งกันนั้น ก็คือแข่งกันเรื่องว่าใครจะใช้จำนวน base curve ในการคุมค่าสายตามากกว่าใครนั่นเอง เราเรียกว่า base curve system 

ดังนั้นวันนี้ เราจะไปทำความรู้จักกับ base curve ที่เป็นตัวควบคุมชะตาของเลนส์โปรเกรสซีฟ  ว่าเมื่อทำออกมาแล้ว จะได้โครงสร้างที่ดีหรือไม่ และเป็นขีดจำกัดในการผลิตเลนส์โปรเกรสซีฟเลยก็ว่าได้ และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แม้จะเป็นยุค 4.0 อย่างในปัจจุบัน ปัญหา base curve effect ก็ยังคงตามหลอกหลอน lens desiner อยู่ บางค่ายก็แก้ได้ บางค่ายก็ยังแก้ปัญหาเป็นลิงติดแหกันอยู่ ก็เลยยกเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง 

Base curve คืออะไร 

Base curve เขียนย่อว่า BC คือความโค้งของผิวหน้าเลนส์แว่นตา (แต่ถ้าเป็นคอนแทคเลนส์ base curve จะใช้เรียกโค้งของผิวหลังเลนส์)  ซึ่งเป็นตัวกำหนดผิวหลังเลนส์อีกที เช่น ถ้าเราจะทำเลนส์ค่าสายตา 0.00 เราอาจจะใช้เลนส์ที่มี base cuve 5  เอามาขัดโค้งหลังให้มีค่าสายตา -5.00 ก็จะได้ค่าสายตา 0.00 หรือจะเอา BC 3 มาขัดผิวหลังด้วยโค้ง -3 ก็จะได้สายตา 0.00 เช่นกัน ดูเหมือนว่าเราจะเอาเลนส์โค้งอะไรมาทำค่าสายตาก็ได้ แต่ความจริงทำแบบนั้นไม่ได้เพราะมีกฏทางฟิสิกส์อยู่ว่า เลนส์ BC หนึ่งๆ จะมีค่าสายตาที่ดีที่สุดกับ base curve นั้นเพียง 1 ค่าสายตาเท่านั้น และถ้าหากค่าสายตาใดไม่เหมาะกับ base curve แล้ว ก็จะทำเกิดความคลาดเคลื่อนของสายตาจาก unwated oblique astigmatism 

ดังนั้นถ้าเราสังเกตเลนส์สายตาในชีิวิตประจำวันเราจะเห็นว่า ถ้าสายตาสั้นมากๆ เลนส์ที่มาจะมีผิวโค้งหน้าเลนส์ที่แบนๆ  ส่วนค่าสายตาที่เป็นสายตายาว (เลนส์บวก) จะมีผิวหน้าเลนส์ที่โค้งมาก ยิ่งบวกมากก็ยิ่งโค้งมาก ยิ่งลบมาก็ยิ่งแบนมาก 

โดยผู้ที่ค้นพบความสัมพันธ์นี้คือ Wollaston และ ostwalt และได้เขียนกราฟแสดงความสำพันธ์ของ base curve และค่าสายตาเอาไว้ ดังกราฟบน  ดังนั้นในการออกแบบเลนส์สายตาไม่ว่าจะเป็น single vision lens หรือ progressive lens จะไม่สามารถหนี base curve effect พ้นไปได้ 

การสร้างแม่พิมพ์โปรเกรสซีฟในอดีต 

ในการผลิตโปรเกรสซีฟในยุคแรกๆนั้น จะใช้การขัดโครงสร้างลงบนแม่พิพม์ (mold) ให้เป็นโครงสร้างที่มีค่าแอดดิชั่นต่างๆ ตั้งแต่ add +0.75 ไปจนถึง add +3.00 (หรือบ้าๆหน่อยก็ไปจนถึง add +4.00)  ด้วยการไล่สเตปละ +0.25D ไปเรื่อยๆ  ดังนั้นเลนส์โปรเกรสซีฟในแต่ละรุ่นก็จะมีแม่พิมพ์โปรเกรสซีฟที่มีค่า addition อยู่ประมาณ 12-14 แอดดิชั่น  แต่ละ addition ก็จะสามารถทำค่าสายตาได้ตั้งแต่ ​-10.00 ถึง +8.00 และทำค่าสายตาเอียงได้ถึง -4.00D โดยประมาณ 

ทีนี้ กลับไปที่เรื่อง base curve effect ที่ว่าไว้ว่า base curve หนึ่งๆ เมื่อนำไปทำค่าสายตาสายตา จะสามารถทำได้ดีเพียงค่าสายตาเดียวเท่านั้น ดังนั้นการออกแบบแม่พิมพ์ ก็ควรจะออกแบบให้แต่ละ addition นั้นให้มีจำนวณ base curve มากพอ เพื่อให้สามารถครอบคลุมทุกค่าสายตา เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่อง base curve effect  แต่ในความเป็นจริงในทางลงเพื่อทำธุรกิจ มันไม่สามารถที่จะทำแม่พิมพ์โปรเกรสซีฟที่หลากหลายขนาดนั้นได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเรื่องต้นทุนการสร้างแม่พิมพ์์ เพราะถ้าจะซอย base curve กันละเอียดขนาดนั้น ตามค่าสายตา เราคงจะเห็นสต๊อก blank ล้นโรงงานเป็นแน่แท้ และต้นทุนการทำ mass แบบนั้นก็คงจะมโหฬาร  

เปรียบง่ายๆว่า เหมือนกับไซต์เสื้อทำไมถึงต้องทำเป็น S ,M ,L  หรือเบอร์รองเท้า ทำไมไม่ทำให้มีเบอร์ละเอียดกว่า 0.5  ก็เพราะว่าถ้าทำแบบนั้นมันไม่คุ้มในการที่จะทำธุรกิจ เพาะสต๊อกรองเท้ามันจะบาง ดังนั้นคับหลวมบ้างนิดๆหน่อย ก็ปรับตัวกันเอา

ดังนั้น ในการหล่อ blank progressive ของเลนส์ conventional progressive lens นั้น จะใช้การ group ค่าสายตาเป็นช่วงๆ แล้วใช้ base curve เดียวคุมค่าสายตาตลอดทั้งช่วงนั้น  เช่น ค่าสายตา -2.00 ถึง -4.00 ก็จะใช้ base curve เดียวคุมสายตาช่วงนั้นทั้งหมด  ทำให้ semi-finished progressive ของแต่ละ addition นั้นถูกออกแบบให้เข้าหาค่าสายตาตรงกลาง (mean power) ของช่วงค่าสายตานั้นเท่านั้น  เช่นถ้าค่าสายตาที่สั่งนั้นตรงกับค่า mean power พอดี เช่นค่าสายตา -3.00D ก็จะได้โครงสร้างโปรเกรสซีฟที่ดีที่สุด  แต่ถ้าเกิดว่าค่าสายตาของคนไข้นั้น มีค่าที่ต่างจาก mean power มากๆ เช่นมี sphere/cyliner ที่ต่างจากค่าสายตากลางมากๆ ก็จะทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนของค่ากำลังหักเหจากปัญหา base curve effect  ซึ่งทำให้เกิด oblique astigmatism ส่งผลให้เกิดภาพบิดเบี้ยวเพ่ิมมากขึ้น สนามภาพแคบลง มีการย้ายตำแหน่งของแนว surface astigmatism ที่เกิดจากการผลิต (ขยะ distortion ย้ายที่ไปรบกวนสนามภาพ)  ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าค่าสายตาจริงนั้น ต่างจากค่ากลางมากน้อยแค่ไหน  เลนส์โปรเกรสซีฟในสมัยแต่ก่อนจึงมีปัญหาเรื่อง ใช้ได้ดีในบางค่าสายตา และ ใส่ไม่ค่อยดีในบางค่าสายตา และใส่ไม่ได้เลยในบางค่าสายตา  ดังนั้นคนที่เคยมีประสบการณ์อันน่าสะพึงกลัวกับเลนส์โปรเกรสซีฟ อาจจะเจอไอ้เจ้า base curve effect นี้ก็เป็นไปได้ 

จารูปบนนั้นแสดงถึง สนามภาพคมชัดของเลนส์โปรเกรสซีฟของ conventional progressive lens รุ่นเดียวกันเมื่อนำแม่พิมพ์ไปขัดค่าสายตาที่ match และไม่ match กับ base curve  รูปซ้ายมือ แสดงถึงโครงสร้างโปรเกรสซีฟถูกรบกวนจาก base curve effect เนื่องจากค่าสายตาที่สั่งมานั้น มีค่าที่ต่างจากค่า optimised mean power ของ blank มาก  ส่วนรูปขวานั้นพบว่า สนามภาพใช้งานของโปรเกรสซีฟนั้นไม่ถูกรบกวนจาก base curve effect เลย เนื่องจากว่า ค่าสายตาที่สั่งไปนั้น มีค่าตรงกับ optimised mean power ของ blank พอดี 

ดังนั้นเลนส์ที่ยังใช้การหล่อโครงสร้างโปรเกรสซีฟผ่านแม่พิมพ์นั้น คุณภาพจะดีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ ค่าสายตาของคนไข้ว่ามีค่าใกล้เคียงกับ optimised mean power ของ blank หรือไม่ 

ดังนั้นการแข่งขันในอดีตจึงแข่งกันเรื่องว่าเลนส์ค่ายไหนจะสามารถ เพ่ิม base curve คุมในแต่ละ addition ได้มากกว่ากัน  เนื่องจากว่า ยิ่งเลนส์ค่ายไหนสามารถเพิ่มจำนวน base curve ในการคุมค่าสายตาได้ละเอียดมากเท่าไหร่ ก็จะสามารถซอยช่วงค่าสายตาให้้น้อยลง และมี base curve ที่ใกล้เคียงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหา base curve effect ได้มากขึ้นตามมา

สมัยแต่ก่อนเราจะได้ยิน เรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับจำนวนโครงสร้าง เช่นเลนส์รุ่นนี้ดี เพราะมีโครงสร้างมากถึง 72 โครงสร้าง (มากตรงไหน) ซึ่ง 72 โครงสร้างนั้นเกิดจากจำนวนความน่าจะเป็นของ Base curve :Addition เช่น เลนส์รุ่นนี้ ทำทั้งหมด 12 แอดดิชั่น แต่ละแอดดิชั่นใช้ base curve คุมทั้งหมด6 ค่า ดังนั้นความน่าจะเป็นที่ทำให้เกิดโครงสร้างที่แตกต่างกันจะได้จาก (จำนวน addition)x(จำนวน base curve)  = (12)(6)=72 โครงสร้างเป็นต้น  แต่การมี 72 โครงสร้างไม่ได้หมายความว่าจะมีแม่พิมพ์เพียง 72 แบบ แต่ต้องมีอย่างน้อยมากถึง 1920 แบบ ดั่งรูปล่าง ในการที่ต้องสต๊อก blank เพื่อรอค่าสายตา  

 

ดังนั้นการแข่งขันเทคโนโลยีโปรเกรสซีฟจะมุ่งสู่การเพ่ิมจะนวน base curve มากกว่าที่จะเพ่ิมจำนวน addition เนื่องจากถ้าเราวัดสายตาถูกต้องค่า addition จะไม่มีทางเกิน +2.50D ที่ระยะ 40 ซม. เว้นแต่วัดสายตามองไกลผิด หรือเป็นค่า add ที่ใกล้กว่า 40 ซม.  แต่สมัยนี้ ถ้าใครมาคุยกันเรื่อง 72 โครงสร้างนั้น ถือว่า “ไดโนเสาร์” ไปแล้ว  เพราะโครสร้างปัจจุบันนั้น ว่ากันที่หมื่นล้านโครงสร้างกันแล้ว  

ผลกระทบจาก base curve effect นี้ ใช่ว่าจะเกิดกับการขัดแบบ conventional เพียงอย่างเดียว  แต่สามารถเกิดได้กับเลนส์ฟรีฟอร์มด้วยเช่นกัน เพราะถ้ายังเป็นเลส์ฟรีฟอร์มแต่ยังใช้รูปแบบการผลิตแบบหล่อโครงสร้างสำเร็จทางผิวหน้าอยู่แล้วใช้การขัดสายตาด้วยฟรีฟอร์มทางด้านหลัง ถ้าไม่มีเทคโนโลยีที่ละเอียดพอในการจัดการ ก็จะได้รับผลกระทบจาก base curve effect เช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็เห็นอยู่่่บ่อยๆ ว่า เลนส์ฟรีฟอร์มหลายๆตัวในปัจจุบันก็ยังรู้สึกไม่ค่อยต่างกับเลนส์แบบ conventional ซึ่งก็มีส่วนถูกต้อง เพราะว่า freeform นั้นใช้ soft tools คือซอฟแวร์ในการออกแบบโครงสร้าง และมี hard tools คือหุ่นยนต์ขัดโครงสร้างหัวเข็มสร้างจากเพชรขนาดไมครอน ที่ทำงานตาม soft tools ดังนั้นถ้าความสามารถของ soft tools ไม่ดีพอ ก็ไม่สามารถจะสร้างสรรค์โครงสร้างโปรเกรสซีฟให้ดีได้ 

เทคโนโลยีที่่จะมาจัดการกับ base curve effect 

ฟรีฟอร์ม เทคโนโลยี นั้นถือว่าเป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยให้ lens designer นั้นมีอิสระในการออกแบบโครงสร้างและไม่ติดอยู่กับขีดจำกัดของการผลิตแบบเดิมที่ทำได้แค่เพียงออกแบบแม่พิมพ์ให้ดีเท่าที่ปัจจัยจะอำนวย  

ข้อดีของ free form ชื่อมันก็บอกอยู่่่ว่า free form หมายความว่า “สร้างรูปร่างอะไรก็ได้” ซึ่งรูปแบบการสร้างพื้นผิวนั้นก็ขึ้นอยู่กับ softwear เป็นตัวกำหนด ดังนั้น lens designer จะออกแบบโครงสร้างเลนส์ในรูปแบบของ softwear (soft tools) และสร้างหุ่นยนต์ฟรีฟอร์มที่ถือหัวขัดเล็กกว่าปลายเข็มซึ่งสร้างจากเพชรถูกสร้างขึ้นมาให้สามารถเขียนโครงสร้างบนผิวเลนส์ได้อิสระตามแบบที่กำหนดจากซอฟแวร์  ซึ่งความท้าทายของ lens designer คือจะสามารถออกแบบโครงสร้างเลนส์และสั่งงานเครื่องฟรีฟอร์มให้สามารถขัดพื้นผิวโปรเกรสซีฟให้มีความละเอียดและซับซ้อนมากๆหรือสามารถคำนวณชดเชยตัวแปรต่างๆ เช่น individual parameter และ base curve effect  ได้มากน้อยแค่ไหน  ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเป็นฟรีฟอร์มแล้วอะไรๆจะดีทั้งหมด (เอาเข้าจริง ฟรีฟอร์มไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่า กระบวนในการขัดโครงสร้าง ส่วนจะขัดให้ดีหรือขัดให้เลวนั้นก็ขึ้นอยู่กับ soft tools )

แต่ในเรื่องนี้ จะขอพูดเฉพาะในส่วนของการใช้ freeform technology ในการแก้ไขปัญหา base curve effect  และจะขอพูดเฉพาะในส่วนเทคนิคของเลนส์โรเด้นสต๊อกก่อน เพราะผู้เขียนถนัดเลนส์ค่ายนี้มากเป็นพิเศษ ส่วนเลนส์ค่ายอื่นเขาแก้ยังไง ก็ลองไปถามๆดู ส่วนใหญ่จะใช้ผิวหน้าเป็น aspheric ซึ่งก็พอจะแก้ขัดได้อยู่บ้าง  แต่ปัญหาที่ตามมาคือหน้าเลนส์จะแบน และเลือกโค้งเลนส์ให้สวยเหมือน lens demo ไม่ได้  

ในการจัดการกับปัญหา base curve effect นั้น เริ่มขึ้นหลังจากที่ Rodenstock สามารถพัฒนาเครื่องขัดแบบฟรีฟอร์ม ที่สามารถขัดโครงสร้างเข้าไปที่ผิวเลนส์ได้โดยตรงโดยไม่ต้องหล่อผ่านแม่พิมพ์อย่างในอดีต (ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นเลนส์รุ่น Multigressiv 2 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1999 ก่อนที่จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในปี 2000 กับเลนส์ Impression ILT อันโด่งดัง และดังจนมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งมีการแตกไลน์ออกไปหลายกลุ่ม ) โดยสามารถพัฒนาซอฟแวร์เพื่อคำนวณโครงสร้างโปรเกรสซีฟจากค่าสายตาจริงของแต่ละคน จาก base curve ที่เลือก รวมไปถึงค่าพารามิเตอร์ที่เลือกแบบคู่ต่อคู่  โดยชดเชยค่าความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากตัวแปรต่างๆผ่านซอฟแวร์ เพื่อหาโครงสร้างที่ดีที่สุด แล้วจึงสั่งให้หุ่นยนต์ฟรีฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเฉพาะสร้างโครงสร้างตามแบบ ทำให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของ base curve effect  ได้ทั้งหมด และทำให้โครงสร้างโปรเกรสซีฟของโรเด้นสต๊อกนั้นไม่ compromised จาก base curve effect หรือจาก individual parameter 

ซึ่งในการที่จะทำแบบนี้ได้นั้น ต้องยกลิกรูปแบบการผลิตโปรเกรสซีฟที่ต้องอาศัยการหล่อแม่พิมพ์ เพราะการออกแบบแม่พิมพ์นั้นไม่สามารถออกแบบโครงสร้างได้จากค่าสายตาหรือกรอบแว่นเฉพาะคนได้ และการออกแบบที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรู้ตัวแปรที่สำคัญทั้งหมดแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถคำนวณชดเชยได้  และนั่นเป็นสาเหตุที่เลนส์โปรเกรสซีฟของโรเด้นสต๊อกนั้นเป็นแบบ backside progressive  เนื่องจากเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถขัดโครงสร้างที่ออกแบบขึ้นมาเฉพาะคนขัดเข้าไปโดยตรง  และยังได้เรื่องความสวยงามคือ ผู้สวมใส่สามารถเลือกผิวโค้งของหน้าเลนส์ได้อย่างอิสระ แว่นที่ออกมาจึงมีความสวยงามเหมือน original 

การจัดการกับปัญหา base curve effect นั้น Rodenstock จัดการอยู่ 2 ระดับ คือ spherical power optimise lens  และ fully power-optimisation lens 

1.Spherical Power-Optimisation  progressive lens 

การจัดการกับปัญหา base curve ในขั้นแรกนั้นใช้กับเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่น Progressiv PureLife Free 2  โดยหลักการของเทคโนโลยีีนี้คือ โรเด้นสต๊อกจะใช้วิธีการคำนวณโครงสร้างโปรเกรสซีฟบนซอฟแวร์ โดยใช้ค่าสายตา sphere จากค่ายตาจริงๆหรือถ้าสายตาที่สั่งมามีสายตาเอียงอยู่ก็จะเอาค่าที่เป็น spherical equivalent มา optimize เพื่อดูว่าในค่าสายตา sphere equivalent เท่านี้เมื่อทำบน base curve ที่สั่งมานี้ จะ induce ให้เกิด unwanted oblique astigmatism  มากเท่าไหร่ ที่ตำแหน่งไหน ซึ่งซอฟแวร์จะทำการคำนวณความคลาดเคลื่อน (aberration) ที่จะเกิดขึ้น  จากนั้นก็ทำการ optimise เพื่อแก้ aberration ที่เกิดขึ้น  ผลลัพธิ์ที่ได้คือ สามารถกำจัด baes curve effect ที่เกิดบนค่าสายตา sphere ได้ทั้งหมด ทำให้โครงสร้างโปรเกรสซีฟไม่ได้รับผลกระทบ และยังมีสนามภาพใช้งานดีเท่ากับโครงสร้างในอุดมคติที่มี base curve เหมาะสมกับค่าสายตา  แต่เนื่่องจากค่าที่นำไป optimise นั้นเป็นค่าสายตาจาก spherical equivalent ดังนั้น ในค่าสายตาที่มีสายตาเอียงมากๆ (> 1.50) จะเริ่มได้รับผลกระทบจาก base curve effect  แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับเลนส์โปรเกรสซีฟแบบ conventional แล้วก็ถือว่าดีกว่ากันอยู่มาก 

ส่วนตัวสำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟรุ่นมาตรฐานนี้ (Progressiv PureLife Free 2) จัดว่าเป็นฟรีฟอร์มรุ่นพื้นฐานที่มีหน่วยก้านที่ดีมากเลยหล่ะ ทั้งสามารถเลือก base curve ได้สวยงามเหมือน lens demo และสามารถจัดการกับ base curve effect ได้ในทุกค่าสายตา sphere และ สายตาเอียงนั้นก็สามารถ cover เนียนๆได้ถึงเอียง cyl-1.50 แบบสบายๆ ในราคาที่จับต้องได้ (ประมาณหมื่นกลางๆ)

2.Fully power-optimised progressive Lens 

การจัดการกับปัญหา base curve effect แบบหมดจดนั้นเริ่มที่เทคโนโลยี Unique Customization ซึ่งจัดว่าเป็น fully power-optimised progressive lens ที่ทำให้เราเลิกกังวลเรื่อง base curve ไปได้เลย ไม่ว่าสายตาจะเป็นเท่าไหร่ สั้น / ยาว / เอียง เท่าไหร่ก็สามารถจัดการได้อย่างสมบูรณ์แบบ  โดยการ optimise โครงสร้างนั้นจะคำนวณจากค่าสาตาสั้นหรือยาวจริง สายตาเอียงจริง รวมไปถึงแกนขององศาเอียงจริง  เพื่อจัดการ unwanted cylinder ที่เกิดขั้นจาก base curve effect 

ผลที่ได้คือ โครงสร้างเลนส์ไม่ถูกรบกวนจาก base curve effect แล้ว ทำให้ไม่มี unwanted astigmatism เข้าไปรบกวนในสนามภาพใช้งาน ดังนั้น visual field ของตาข้างขวาและข้างซ้ายก็จะสามารถเกิดสนามภาพที่กว้างและสมมาตรกัน ทำให้เมื่อเกิดการรวมภาพจะเกิด binocular vision แบบสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนไข้ที่มี anisometripai ที่ค่าสายตาสองข้างต่างกันมากๆ ก็สามารถออกแบบโครงสร้างให้สมบูรณ์แบบได้  

เทคโนโลยีนี้ จะเริ่มใช้ในเลนส์โรเด้นสต๊อกกลุ่ม Perfection และ Excellence  ได้แก่เลนส์ Impression ทุกรุ่นและเลนส์กลุ่ม Multigressiv เช่น MyLife2 และ MyView2 

เอาหล่ะ พอหอมปากหอมคอกับเรื่องราวของ base curve effect คิดว่าน่าจะพอได้ไอเดียอยู่บ้าง เกี่ยวกับผลกระทบนี้  ซึ่งต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีสายตาเอียงมากๆ ยิ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องเจอกับปัญหานี้  ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาก็คือ เลือกเลนส์ที่มีเทคโนโลยีในการรองรับปัญหา base curve effect ซึ่งค่ายอื่นผมไม่ถนัด แต่ถ้าค่ายโรเด้นสต๊อกหล่ะทางของผม  ซึ่งก็จะเริ่มมีจากรุ่น PureLife free2 ขึ้นไป   ดังนั้นถ้าคนไข้มีปัญหากับการปรับตัวกับโปรเกรสซีฟ ซึ่งเราเช็คซ้ำแล้วพบว่าสายตาถูกต้อง เซนเตอร์ถูกต้อง มุมแว่นถูกต้อง สรุปเลยครับน่าจะเป็นที่เลนส์ และน่าจะมาจากเรื่องนี้แหล่ะ base curve effect 

ทิ้งท้าย 

ขอบคุณเช่นเคย สำหรับแฟนคอลัมน์ ที่ติดตามอ่านให้กำลังใจกันด้วยดีเสมอมา  หวังว่าจะได้ความรู้ติดไม้ติดมือกันไปบ้าง เพื่อเป็นไอเดียในการทำงานต่อไป กระผม ดร.ลอฟท์ ขอตระเตรียมตัว เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าก่อน เพราะจะเดินทางไปเขาค้อในช่วงค่ำนี้  สวัสดีครับ 

ดร.ลอฟท์ 

Ref : Rodenstcok Tip and Technology (2015)


LOFT OPTOMETRY

"You're in Good Hand"

578 soi Wacharapol  Bangkhen Bkk 10220 

T.090-553-6554

line : loftoptometry