หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “เลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคล” อยู่บ้าง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง งงๆบ้าง หรือบางทีก็มีคำถามขึ้นมาในใจว่า “ในยุคที่เทคโนโลยีมันไปไกลขนาดนี้มันสามารถทำให้เฉพาะกับเราได้แค่ไหน”แล้วมันจะต่างจากเลนส์ปกติพื้นฐานทั่วไปอย่างไร ดังนั้นวันนี้เราจะมาคุยกันในเรื่องนี้กันสักเล็กน้อย
คนในปัจจุบันนั้นมีความอัตลักษณ์ที่สูงกว่าในอดีตมาก รองเท้า เสื้อผ้า กระเป๋า เข็มขัด เบาะรถยนต์ที่ขับ กรอบแว่นตา นาฬิกา สารพัดเหล่านี้ ถ้าเป็นไปได้ ทุกคนอยากจะได้อันดีๆที่สามารถสั่งตัดขึ้นมาเฉพาะเราคนเดียว เหมาะกับเราคนเดียว แล้วใช้งานได้ดีและเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือความปัจเจกของคนในยุคปัจจุบัน เราไม่ต้องการมีเยอะ แต่ต้องการดีๆแค่อันเดียว เพียงพอ
เมื่อมองถึงเรื่องเกี่ยวกับแว่นตาซึ่งมีอยู่ 2 ส่วนประกอบกันคือ กรอบแว่นตากับเลนส์สายตา ถ้าพูดถึงกรอบแว่นตาเฉพาะบุคคลที่สามารถสั่ง customized ให้พอดีกับใบหน้า และมีรายละเอียดการสั่งทำที่ถือว่าละเอียดที่สุดและได้รับการยอมรับทั่วโลกก็คงจะหนีไม่พ้นแบรนด์แว่นตาของลินด์เบิร์กจากประเทศเดนมาร์ก ว่ากันว่าความละเอียดของแบบในการสั่งทำกรอบลินด์เบิร์กนั้น มีแบบที่แตกต่างกันได้มากกว่า 6 ล้านแบบ ต้องยอมรับว่าเป็นแบรนด์เดียวในโลกประสบความสำเร็จสูงสุดกับกรอบแว่น custom made ซึ่งความสำเร็จที่ผมหมายถึงนั้น ไม่ใช่จำนวนยอดขาย ไม่ใช่จำนวนชิ้น ไม่ใช่ความโตของบริษัท แต่ผมหมายถึง Value ของ Brand หรือ value ของแว่นตาต่ออันที่มีค่ามากเมื่ออยู่บนใบหน้าผู้ทีสวมมันอยู่ เพราะถ้าจะแข่งกันด้วยความ mass โลกนี้ก็คงไม่มีใครสู้ luxottica ที่มีสารพัดแบรนด์เนมอยู่ในมือ แต่ถ้าแข่งกันเรื่อง value แล้ว Lindberg เหนือกว่าเยอะ ดังนั้นใครที่ใช้ลินด์เบิร์กอยู่แล้วไม่สั่งคัสตอม นั่นก็ถือว่า “เสียของ” และเป็นเรื่องน่าเสียดายเพราะลินด์เบิร์ก ไม่ได้คิดค่าคัสตอม ดังนั้นจะสั่งคัสตอม หรือเลือกจากสต๊อก ก็ราคาเดียวกัน
กลับมาดูที่เลนส์สายตากันบ้างว่าเขามีความพยายามในการออกแบบโครงสร้างเลนส์เฉพาะบุคคลอย่างไรบ้าง
ในมุมมองส่วนตัว ถ้าจะว่ากันที่ Big Change เกี่ยวกับเทคโนโลยีเลนส์โปรเกรสซีฟนั้นมีอยู่ 2 ครั้ง
โดยครั้งที่สำคัญที่สุดคือ ครั้งที่โรเด้นสต๊อกได้พัฒนากระบวนการขัดเลนส์แบบใหม่คือ Free Form Technology ในการขัดโครงสร้างโปรเกรสซีฟเข้าไปบนผิวเลนส์โดยตรงโดยไม่ต้องหล่อโครงสร้างผ่านแม่พิมพ์แบบ conventional แบบในอดีต ซึ่งสำเร็จในปี 1999 ในเลนส์รุ่นชื่อว่า Multigressiv2 ซึ่งในขณะนั้น การ direct surfacing ยังทำได้เฉพาะบนกรอบแว่นที่มีค่าพารามิเตอร์มาตรฐาน ถัดจากนั้น 1 ปีก็เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2000 หลังจาก Rodenstock ได้เปิดตัวเลนส์ Impression ILT ขึ้นมาครั้งแรก โดย ILT นั้นมาจากคำว่า Individual Lens Technology ซึ่งนับได้ว่าเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลครั้งแรก ซึ่งในยุคนั้นเป็นอะไรที่ทั้งฮือฮาและเป็นเรื่องใหม่ เพราะว่าการวัดสายตาประกอบเลนส์โปรเกรสซีฟในอดีตนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก เพราะสายตาที่วัดออกมาไม่สามารถนำไปคำนวณโครงสร้างอะไรได้อยู่แล้ว แต่เมื่อมี Impression ILT เกิดขึ้นมาทำให้มีภาระที่ต้องทำเพ่ิมเติมอีกมากมาย ซึ่งปัจจุบัน แม้จะล่วงเลยมา 17 ปีแล้ว แต่การวัดพารามิเตอร์ของกรอบแแว่นตาก็ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับใครหลายๆคน และยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเลนส์หลายๆแบรนด์ (ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่เป็นอย่างนั้นจริงๆ )
ปัจจุบัน Impression ILT ได้พัฒนาต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์หลายๆตัวในไลน์การผลิต Impression เช่น Impression Mono ,Impression Mono Sport ,Impression Hyperop ,Impression Myop ,Impression FashionCurve และพัฒนาต่อยอดมาหลาย Generation เป็น Impression EyeLT ,Impression EyeLT2 เป็นต้น และก็ตามธรรมเนียมนวัตกรรมอะไรก็ตามที่ออกมาแล้ว ล้ำหน้าตลาดเกินไปและไปเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ให้บริการหรือเพิ่มภาระงาน ก็ต้องเป็นเป้าในช่วงแรก โดนเหน็บอยู่พักใหญ่ๆ แต่ปัจจุบันเลนส์เฉพาะบุคคลประเภทเฉพาะกรอบแว่นนี้ หลายๆค่ายก็พยายามจะพัฒนาเทคโนโลยีตัวเองให้มีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ที่จะสำเร็จอย่าง Impression ก็ยังคงหาได้ยากอยู่ เพราะเขาทำมานานมาก มี Knowhow ที่เกิดจากการเรียนรู้ระหว่างช่วงเวลานั้นมากมาย
ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เลนส์เฉพาะบุคคลนั้น คงอยู่ที่มนุษย์สามารถพัฒนา cnc free form มาใช้ในกระบวนการขัดเลนส์ และการเกิดฟรีฟอร์ม เทคโนโลยีขึ้นมา ทำให้ lens designer มีอิสระในการออกแบบโครงสร้างมากขึ้นและโครงสร้างเลนส์ที่ดีนั้นต้องยึดติดกับแม่พิมพ์อีกต่อไป
เกิดขึ้นในปี 2007 เมื่อโรเด้นสต๊อกได้พัฒนาเลนส์โปรเกรสซีฟที่ออกแบบมาเฉพาะพฤิตกรรมแต่ละบุคคลในเลนส์รุ่น Impression FreeSign 3 ที่ผู้บริโภคสามารถออกแบบมุมมองโครงสร้างโปรเกรสซีฟให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้สายตาของตนเองได้อย่างอิสระ จากเดิมที่โครงสร้างโปรเกรสซีฟนั้นถูกออกมาแบบ perefect balance หรือค่าเฉลี่ยจากคนส่วนมากว่าต้องการระยะการใช้งานแบไหน และจากนั้นมาถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีเทคโนโลยีที่ถือว่าเป็น big change มีเพียง minor change เล็กๆน้อยๆ ละเอียดขึ้นเท่านั้นเอง และโครงสร้างเลนส์โปรเกรสซีฟเกือบทั้งหมด ยังยึดอยู่กับคอริดอร์เพียงไม่กี่ค่าเท่านั้น ซึ่งเราจะมาดูคำว่าเลนส์เฉพาะบุคคลว่ามีความพยายามที่จะพัฒนาเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลไปในทิศทางใดบ้าง
เลนส์เฉพาะบุคคลนั้นเขาแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1.เฉพาะกรอบแว่นขณะสวมใส่ (individual position of wear)
2.เฉพาะพฤติกรรมของการใช้สายตา (Personal vision demand)
เรามาดูอย่างแรกก่อน
ในการออกแบบกรอบแว่นตาละอันของแต่ละแบรนด์นั้น ก็มีแนวคิดการออกแบบที่แตกต่างกันไป เช่น Lindberg เขาเน้นเป็นแว่นฟังก์ชั่นใช้งานทั่วไปไม่เน้นแว่นสปอร์ต ดังนั้นจะไม่ค่อยเน้นที่เป็นแว่นโค้งเท่าไหร่นัก (ยกเว้น Lindberg Spirit 8) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน้าโค้งปกติประมาณ 5 องศา บางแบรนด์ก็ยืนหยัดความเป็นแว่นสปอร์ตอย่าง Okley ก็จะออกแบบแว่นที่เน้นความโอบกระชับกับใบหน้าซึ่งเหมาะกับกีฬาสปอร์ต โค้งส่วนใหญ่ก็เริ่มจาก 10 องศาขึ้นไป
ดังนั้นแว่นแต่ละแบรนด์นั้นถูกออกแบบเพื่อจุดประสงค์ไม่เหมือนกัน จึงมีลักษณะทางกายภาพที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งลักษณะทางกายภาพของแว่นตาที่ทำให้เกิดลักษณะมุมที่แตกต่างกันเราเรียกว่า frame parameter ซึ่งประกอบไปด้วย ความโค้งแว่น(FFA) มุมเทหน้าแว่น(CVD) และระยะห่างจากเลนส์ถึงกระจกตา(PTA) ซึ่งค่าเหล่านี้เมื่อมีความแตกต่างกัน จะทำให้แนวของตาที่มองผ่านเลนส์เกิดมุมตกกระทบที่แตกต่างกัน แล้วเกิดเป็นความคลาดเคลื่อนบนตัวเลนส์ขึ้นมา
ดังนั้นเมื่อคนที่มีปัญหาสายตามองไกลและใส่แว่นอยู่ แต่อยากใส่แว่นโค้งสปอร์ต หรือแว่นกันแดดโค้งๆ ดูบ้าง ก็ปรากฏว่าเกิดอาการมึนเมา คลื่นไส้อาเจียนตามมา ใส่ไม่ได้ และถ้าแว่นที่โค้งมากก็จะยิ่งมีอาการมากตามและแว่นแต่ละอันเมื่อสวมอยู่บนใบหน้าแต่ละคนก็จะเกิดมุมที่ไม่เหมือนกัน
ดังนั้นเมื่อมีปัญหานี้เกิดขึ้นมา lens designer ก็ต้องพยายามหาวิธีชดเชยความคลาดเคลื่อนบนผิวเลนส์ที่เกิดจากแว่นกรอบโค้ง ซึ่งผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วใน โปรเกรสซีฟตอนที่ 5 ลองไปหาอ่านดูกัน
เมื่อเราเริ่มมีเทคโนโลยีฟรีฟอร์ม เราก็เริ่มสามารถออกแบบพื้นผิวของเลนส์ได้อิสระขึ้น ขีดจำกัดน้อยลง ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาค่าสายตาคลาดเคลื่อนจากแว่นโค้งได้อย่างหมดจดในปัจจุบัน (ท่านที่อยากรู้เรื่องเลนส์ฟรีฟอร์มลองไปอ่านดูได้ที่ลิ้ง.....Free form technology ดีกว่าเทคโนโลยีเก่าอย่างไร)
ดังนั้น เลนส์ประเภทแรกนี้ เรียกเรียกได้ว่า เป็นเลนส์เฉพาะบุคคลได้เช่นกัน แต่ถ้าจะให้เรียกให้ถูก ก็ควรจะเรียกว่า “เลนส์ที่ออกแบบมาเฉพาะกรอบแว่นขณะสวมใส่อยู่บนใบหน้าของแต่ละคน”
เลนส์เฉพาะบุคคลประเภทนี้ มีทั้งที่เป็นเลนส์ชั้นเดียว ได้แก่ Impression Mono 2 , Impression Mono Plus2 และเลนส์โปรเกรสซีฟเช่น Impression EyeLT2 ,Impression Hyperop 2 ,Impression Myop 2, Impression Ergo2 หรือกรอบแว่นทรงสปอร์ตที่โค้งๆ ก็จัดเข้ากลุ่มนี้ทั้งหมดเช่น Impression Sport2 ,Impression Mono Sport2 ,Impression FashionCurve 2 เป็นต้น ซึ่งเลนส์ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเลนส์ของค่ายโรเด้นสต๊อกทั้งหมด สังเกตุได้ว่าจะมีคำว่า “Impression” แล้วตามด้วยชื่ออะไรสักอย่าง นั่นแสดงว่าเป็น เลนส์ที่ออกแบบมาเฉพาะกรอบแว่นขณะสวมใส่ นั่นหมายความว่า เป็นเลนส์ที่ต้องสั่งค่าพารามิเตอร์ของกรอบแว่นแนบไปพร้อมกับค่าสายตาด้วย เพราะต้องนำไปคำนวณโครงสร้างใหม่เฉพาะค่าสายตากับพารามิเตอร์ของกรอบแว่น ถ้าวัดสายตาหรือพารามิเตอร์ผิด การคำนวณก็จะผิดเช่นกัน เช่นเดียวกับการตัดสูท แล้ววัดสเกลร่างกายผิด สูทก็จะทำมาผิดเช่นกัน และสิ่งที่ไม่ควรกระทำเลยก็คือว่า ขี้เกียจวัดแล้วบอกว่าใช้ค่ามาตรฐาน ถ้าจะทำอย่างนั้นก็ซื้อเสื้อ s,m,l ใส่จะดีกว่า ประหยัดเงินด้วย และแต่ละค่าจะต้องวัดขณะสวมใส่อยู่บนใบหน้าจริงๆ สาเหตุนั้นผมพูดไว้โดยละเอียดในตอนที่ 5 แล้ว ลองไปอ่านทบทวนดูนะครับ >> เปิดโลกโปรเกรสซีฟเลนส์ตอนที่ 5 : การเลือกกรอบแว่นให้โปรเกรสซีฟ
สำหรับเลนส์โปรเกรสซีฟที่ออกแบบตามพารามิเตอร์กรอบแว่นขณะสวมใส่นั้น ทำให้โครงสร้างไม่ได้รับผลกระทบจากพารามิเตอร์แว่นที่เปลี่ยนไป(จากค่ามาตรฐาน) ส่วนโครงสร้างหลักนั้นยังใช้การกำหนดโครงสร้างแบบบาลานซ์ด้วยคอริดอร์ xs,m,l ซึ่งผู้บริโภคถ้าเลือก “คอริดอร์”แบบไหนก็จะต้องปรับตัวกับโครงสร้างที่กำหนดไว้นี้ หมายความว่า สนามภาพใช้งานระยะไกล กลาง ใกล้ จะถูกกำหนดไว้แล้วว่าควรจะให้น้ำหนักของสนามภาพในแต่ละระยะกว้างอย่างละกี่เปอร์เซนต์ เพราะโครงสร้างโปรเกรสซีฟมีพื้นที่ใช้งานที่จำกัด ดังนั้นต้องจัดสรรให้เหมาะสม ซึ่งความเหมาะสมนี้ lens designer จะเป็นกำหนดให้ โดยอ้างอิงจากการวิจัยและสำรวจความพึงพอใจจากกลุ่มตัวอย่าง และได้ดีไซน์ที่จากค่ากลางเอามาออกแบบโครงสร้างที่เรียกว่า balance
จุดกำเนิดเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะพฤิตกรรมแต่ละบุคคล หรือ personal vision demand progressive lens นั้นมีเรื่องจากว่า เลนส์โปรเกรสซีฟที่ใช้การกำหนดโครงสร้างแบบ balance นั้นไม่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนบางกลุ่ม ที่มีกิจกรรมที่เฉพาะมากๆไปทางด้านใดด้านหนึ่ง
ดังนั้น lens designer จึงต้องมาคิดต่อว่า เมื่อโครงสร้างโปรเกรสซีฟมีอยู่อย่างจำกัดแล้วทำไมไม่ออกแบบให้สนามภาพที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานเลยหล่ะ” ทำไมต้องใช้จากค่ากลาง เพราะคนแต่ละคนก็มีหลากหลายอาชีพ มีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน ต้องการน้ำหนักในสนามภาพมองไกล กลาง ใกล้ ที่ไม่เหมือนกัน เช่น
นักธุรกิจที่ต้องขับรถติดต่อลูกค้าตลอดทั้งวันและดูไลน์ติดต่อลูกค้า กลับบ้านดูทีวี นานๆจะกลับไปดู PC บ้างนิดหน่อย ก็อยากได้สนามภาพมองไกลที่กว้างๆ ระยะกลางดีๆ ใกล้ไม่ต้องกว้างมากก็ได้ เพราะมือถือจอเล็กนิดเดียว เอาไว้เขี่ยเฟสอย่างเดียว ก็ควรจะมีโครงสร้างที่ตอบโจท์ชีวิตประจำวันแบบนั้น
โปรแกรมเมอร์ สนาปนิก วิศวกรออกแบบกราฟิก หรือ ฟรีแลนซ์ทำกราฟิก ทำเว็บไซต์ ที่คุยแต่กับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น มีจังหวะมองไกลตอนขับรถกลับบ้านนิดหน่อยหรือขับไปกินก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอยเล็กน้อย ก่อนที่จะกลับมาทำงานหน้าคอมพ์ต่อ คงจะต้องการโปรเกรสซีฟที่มีสนามภาพในระยะกลางกว้างสุดๆ มองใกล้ดีๆ ตำแหน่งการใช้งานเหมาะสม ไม่ต้องเงยหน้ามากเวลามองหน้าจอ ส่วนมองไกลนานๆขับรถทีนึง ก็ควรจะมีโครงสร้างที่ออกแบบได้อิสระ ที่เน้นระยะกลางใกล้เป็นพิเศษ
นักผจญภัย ที่มีกิจกรรมที่ผาดโผน ชีวิตมีการกระโดดโลดเต้นตลอดเวลา ตาต้องคอยเหลือบซ้ายเหลือบขวาบนล่างตลอดเวลา ก็คงจะไม่ต้องการเลนส์ที่เหลือบไปแล้วเจอแต่ภาพบิดเบี้ยว กะระยะผิด และเลนส์ที่ต้องการคงจะเป็นเลนส์ที่มองไกลกว้างและเสถียรภาพมาก ไม่มีภาพวูบวาบรบกวนเวลามองไกล ระยะกลางดีๆหน่อย ภาพไม่ล้ม dynamic vision ดีๆ มองใกล้แคบหน่อยไม่เป็นไร เอาแค่พอดูนาฬิกา อ่านไลนส์ เขี่ยเฟสบุ๊ค พอ ก็ควรจะมีเลนส์ที่สนองความต้องการแบบนี้
เมื่อความต้องการของปัจเจกบุคคลนั้นแตกต่างกันมากและทุกคนก็เชื่อว่า life style ของตัวเองนั้นมีความสำคัญที่สุดเสมอ และต้องมีสินค้าที่สามารถสนอง need เฉพาะตัวเองได้ lens designer จึงต้องพยายามคิดค้น หาเทคโนโลยีมาสนองความต้องการเฉพาะบุคคลนี้ เกิดเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะพฤติกรรมแต่ละบุคคลขึ้นมา ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะคำนวณโครงสร้างจาก personal vision demand เข้าไปด้วย ซึ่งจะไม่ได้กำหนดโครงสร้างที่ตายตัวแบบ s,m,l อีกแล้ว
ทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะพฤิตกรรมแบบนี้ ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาในการปรับตัว หรือถ้าจะปรับก็เป็นระยะเวลาสั้นๆ เพราะว่าโครงสร้างถูกออกแบบให้สอดคล้องพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สวมใส่อยู่แล้ว
แต่ความยากของการสั่งเลนส์ประเภทนี้น่าจะอยู่ที่ความรู้ความเข้าใจในโพรดักซ์ และวิธีในการที่จะรีดหา personal vision demand ที่แท้จริงของผู้สวมใส่ และการปรับแต่งโครงสร้างซึ่งต้องใช้ softwear ที่ออกแบบมาเฉพาะ เพื่อให้เฟ้นหา lifestyle แท้จริง จึงจะออกแบบเฉพาะความต้องการขึ้นมา เพราะถ้าเลือกมาแล้วไม่ได้เป็นความต้องการของผู้สวมใส่จริงๆ ก็อาจจะใส่ยากกว่าเลนส์มาตรฐานก็เป็นได้ เช่น เอาโครงสร้างของคน adventure มาให้ programmer ใส่ก็คงจะทรมานน่าดู เป็นต้น
เลนส์กลุ่มนี้ มีอยู่ 2 รุ่นคือ Imression FreeSign 3 และ Multigressiv MyLife 2 สำหรับท่านที่สนใจอยากจะศึกษาเลนส์ทั้ง 2 ตัวนี้ ก็ลองไปอ่านเล่นดูนะครับ
Impression FreeSing 3 อ่านเพิ่มเติม >> http://www.loftoptometry.com/ImpressionFreeSign
Multigressiv MyLife 2 อ่านเพิ่มเติม >> http://www.loftoptometry.com/MultigressivMyLife2
เลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลนั้นมีอยู่ 2 แบบ คือเฉพาะกรอบแว่น และ เฉพาะพฤติกรรม ซึ่งในการเลือกใช้เลนส์เฉพาะบุคคลนั้น ถ้าหาว่าเราเลือกกรอบแว่นที่ปกติ หน้าแว่นไม่โค้งนัก มีมุมเทหน้าแว่นที่ดัดได้ ก็ไม่ต้องใช้ตัวที่เฉพาะกรอบแว่นก็ได้ ให้เลือกเลนส์เฉพาะพฤติกรรมเช่น Multigressiv MyLife 2 แทน แต่ถ้าเลือกแว่นกรอบโค้งก็จะเป็นจะต้องใช้เลนส์เฉพาะกรอบแว่น ส่วนจะใช้เลนส์เฉพาะกรอบแว่นพร้อมกับเฉพาะพฤิตกรรมด้วย หรือจะใช้พร้อมกับโครงสร้าง perfect balance ก็พอ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับกำลังจ่าย เพราะราคาก็สูงเอาเรื่องถ้าจะเอาทั้งคู่ คือเลนส์ Impression FreeSign 3
คิดว่าพอจะเป็นไอเดียให้กับท่านที่มองหาเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะตัวท่านอยู่ ทั้งหมดทั้งมวล มันจะไม่มีค่าอะไรเลย ถ้าสายตาที่วัดได้ไม่ถูกต้อง ยิ่งผิดมาก การคำนวณก็จะยิ่งผิดมาก การวัดพารามิเตอร์ก็ต้องแม่นยำและ รวมไปถึงการเลือกตัวแปรพฤติกรรมเพื่อนำไปคำนวณได้เหมาะสม ประสิทธิภาพเลนส์จึงจะเหมาะสมกับเฉพาะบุคคลแท้จริง